การพัฒนาเมืองระยองด้วยเทคโนโลยี Metaverse เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน กับบริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด

การพัฒนาเมืองระยองด้วยเทคโนโลยี Metaverse เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน กับบริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด

บทความโดย
นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์
นายกานต์  แจ้งชัดใจ
นางสาวนภัสวรรณ  บุญช่วย

1.บทนำ

ในปัจจุบันที่หลายประเทศบนโลกต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิกาศแปรปรวน (Climate Change) ที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน ดังจะเห็นได้จากการที่หลายภาคส่วนในแต่ประเทศหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) ดังแสดงในภาพที่ 1 และเมื่อพิจารณาปี พ.ศ. 2652 (ค.ศ. 2019) จะพบว่า กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานเป็นแหล่งผลิตก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่สุด รองมาด้วยภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ (รายละเอียดตามภาพที่ 2) ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยได้มีการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้มีหลายภาคส่วนได้ดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งในครั้งนี้ผู้เขียนจะยกตัวอย่างจากบริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด (ระยองพัฒนาเมืองฯ) ที่ได้มีการนำร่องในการดำเนินโครงการการใช้ประโยชน์จาก Web 3.0 Digital Platform หรือ Metaverse มาใช้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เทศบาลนครระยองให้เกิดความยั่งยืน โดยเทคโนโลยี Metaverse เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีแห่งโลกเสมือนจริงที่จำลองสิ่งแวดล้อมของโลกจริง และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และทำกิจกรรมร่วมกัน ผ่านตัวตนที่เรียกว่า อวตาร (Avatar) ในรูปแบบกราฟฟิก 3 มิติ เพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในโลกเสมือนจริงดังกล่าว ทำให้รู้สึกเหมือนชีวิตจริงมากกว่าสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อื่น ๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 

ภาพที่ 1 แนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทยในอดีตและอนาคต

ที่มา: IMF (2019)

ภาพที่ 2 แหล่งที่มาของก๊าซเรือนกระจกในประเทศในปี 2562 (2019)

ที่มา: IMF (2019)

2. ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดระยอง

สำหรับข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง ในปี 2563 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จังหวัดระยองมีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) เท่ากับ 857,191 ล้านบาท ประกอบด้วยภาคการเกษตร 28,164 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคนอกการเกษตร 829,026ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด ทั้งนี้ ภาคนอกการเกษตร ประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม 667,925ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 161,102 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด (รายละเอียดตามภาพที่ 3) อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) เท่ากับ 831,734 บาท ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

ภาพที่ 3 แผนภูมิวงกลมแสดงผลิตภัณฑ์จังหวัดระยอง

ที่มา สศช. ประมวลผลโดย สศค.

ในขณะเดียวกัน สำหรับด้านเศรษฐกิจอาศัยข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการคลัง[1] จะพบว่า ในเดือนตุลาคม 2565 นั้น RSI ของจังหวัดระยองอยู่ที่ระดับ 77.08 ดังแสดงในภาพที่ 4 ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ยังแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจในอนาคตของจังหวัดระยองที่คาดว่าน่าจะยังขยายตัว อันเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนจากบริการการจ้างงานเป็นสำคัญ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ต่อเนื่องเช่นกัน

ภาพที่ 4 กราฟแสดงดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคของจังหวัดระยอง ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน

ที่มา: สศค. กระทรวงการคลัง

3. ความเป็นมาของบริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด และการพัฒนาเมืองระยองด้วยเทคโนโลยี Metaverse

จากรายละเอียดที่กล่าวไปก่อนหน้าเกี่ยวกับการที่ระยองพัฒนาเมืองฯ ได้นำเทคโนโลยี Web 3.0 Digital Platform เพื่อสร้าง Metaverse ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยอาศัยคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ป่าโกงกางกว่า 500 ไร่ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ร่วมกับวารสารการเงินการคลังได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากคุณภูษิต ไชยฉ่ำ (คุณภูษิตฯ) ซึ่งดำรงตำแหน่ง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครระยอง และผู้ร่วมก่อตั้งระยองพัฒนาเมืองฯ มาถ่ายทอดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

คุณภูษิต  ไชยฉ่ำ
รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครระยอง

และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด

จากการสัมภาษณ์คุณภูษิตฯ ได้ให้รายละเอียดว่า “ระยองพัฒนาเมืองฯ เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีเป้าหมายมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน เร่งรัด และสร้างสรรค์ ในทุกวิถีทาง ที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนในเมือง” โดยมีพันธกิจของระยองพัฒนาเมืองฯ  คือ การวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง โดยพิจารณาประเด็นหรือวาระหลักที่จะเป็นปัจจัยทำให้เมืองระยองพัฒนา ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งแวดล้อม การคมนาคมขนส่ง และอื่น ๆ ให้ได้ผลออกมาสอดคล้องกับความต้องการของพลเมือง ทั้งด้านคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข โดยมีพันธมิตรและเครือข่ายทั้งหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนและเครือข่ายกิจการพัฒนาเมืองในจังหวัดต่าง ๆ

          สำหรับด้านการขับเคลื่อนโครงการให้จังหวัดระยองเป็นเมืองอัจฉริยะ (Rayong Smart City) นั้น คุณภูษิตฯ กล่าวว่า ทางเทศบาลนครระยองเป็นแกนกลางทำนโยบายเพื่อช่วยในการขับเคลื่อน ผ่านการสร้างภาคีเครือข่ายทั้งในระดับชุมชน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ และดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยระยองพัฒนาเมืองฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. ซึ่งที่ผ่านมา จังหวัดระยองได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เนื่องจากจังหวัดระยองเป็นที่ตั้งของแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทยและเศรษฐกิจของประเทศไทย ในขณะเดียวกัน จังหวัดระยองก็เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ของประเทศ จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนแนวทางเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม​ เพื่อเปลี่ยนเมืองระยองไปสู่เมืองเศรษฐกิจที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนต่ำ

4. การนำร่องจังหวัดระยองเป็นเมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

การรณรงค์การลดการปล่อยคาร์บอนของจังหวัดระยองดำเนินการอยู่ภายใต้แคมเปญ Rayong : Race to Zero & Go Green (New S – Curve) สอดคล้องเทรนด์โลกที่มุ่งไปสู่ Net Zero รวมถึงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในการพัฒนาเมืองระยองเป็นเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ (Low carbon city) อย่างยั่งยืน ได้นำเทคโนโลยีการวิจัยมาปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นจริง นั่นคือการนำคาร์บอนเครดิตมาปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ทุกคนตระหนัก และรับรู้ถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม ในขณะเดียว จังหวัดระยองมีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม รวมถึงพลาสติกที่มีส่วนสำคัญในการปล่อยคาร์บอน ดังนั้น เพื่อเปลี่ยนแปลงระยองไปสู่เมืองที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ระยองพัฒนาเมืองฯ จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการวางแผนเพื่อขับเคลื่อนโครงการ เริ่มแรกด้วยการนำพื้นที่ป่าโกงกางเก่าแก่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 500 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครระยองมาใช้ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ ป่าโกงกางสามารถสร้างออกซิเจนได้มากกว่าต้นไม้ประเภทอื่น และเทศบาลนครระยองมีพื้นที่รกร้างที่สามารถนำมาปรับให้เป็นพื้นที่สีเขียว ในขณะเดียวกัน เทศบาลได้จดทะเบียนป่าโกงกางเรียบร้อยแล้ว  นอกจากนี้ ระยองพัฒนาเมืองฯ ยังมีแผนที่จะขยายพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมผ่านการพัฒนาพื้นที่รกร้างต่อไปในอนาคต โดยมุ่งหวังที่จะลดการปล่อยคาร์บอนจากโรงงานอุตสาหกรรมและส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้ทางกฎหมายขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากกลุ่มประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปที่มีการคำนวณภาษีคาร์บอนในตัวสินค้าหรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ซึ่งกรณีศึกษาดังกล่าวสามารถนำมาใช้สร้างมาตรฐานให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้ในอนาคต

นอกจากการเพิ่มพื้นที่ป่าในพื้นที่แล้ว ระยองพัฒนาเมืองฯ และเทศบาลนครระยองได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการขยะ และแยกขยะ ซึ่งจะช่วยลดโลกร้อน รวมถึงประหยัดงบประมาณในการจัดการได้เป็นอย่างมาก ผ่านการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการขยะ ยกตัวอย่างเช่น การจัดการขยะเปียกซึ่งจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ถึงปีละ 122,000 ตันต่อปี จากทั้งหมด 300 ล้านตันต่อปี ในขณะเดียวกัน ทางเทศบาลนครระยองสามารถนำขยะเปียกไปแปลงสภาพเป็นปุ๋ยหรือเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้อีกด้วย

แผนการดำเนินงานนำจังหวัดระยองสู่เมืองคาร์บอนต่ำ คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคี ทุกภาคส่วนที่มีส่วน  เช่น บริษัทพัฒนาเมือง เทศบาลนครเมือง ภาคอุตสาหกรรม ชุมชนทั้ง 29 ชุมชน และประชาชน ต้องมีส่วนร่วมและการรับรู้ และเชื่อมโยงกับการทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่มีเป้าหมายร่วมกัน
ในการสร้างความยั่งยืนสู่ชุมชนและเมืองที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน

5. การดำเนินโครงการ Metaverse

สำหรับแนวความคิดการนำเทคโนโลยี Metaverse มาใช้เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงโลกจริง กับโลกเสมือนจริงเพื่อใช้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้น เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ให้ช่วยกันพัฒนาให้จังหวัดระยองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในโลกเสมือนจริง ยกตัวอย่างเช่น การสร้างป่าโกงกางเพื่อให้ผู้คนสามารถร่วมกิจกรรมกันได้ การให้ภาคอุตสาหกรรมสร้างสถานประกอบการในป่าโกงกาง การใช้พื้นที่ป่าโกงกางในโลกเสมือนจริงเป็นแหล่งให้ข้อมูลสำหรับการศึกษา รวมถึงการจำลองพื้นที่ป่าเพื่อใช้ในการขยายพื้นที่สีเขียว และปรับพื้นที่ส่วนบุคคลในโลกเสมือนจริงให้เป็นพื้นที่เขียวร่วมกันได้ โดยระยองพัฒนาเมืองฯ มองว่า เทคโนโลยี Metaverse สามารถเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ให้กับเยาวชนหรือผู้คนในชุมชน รวมถึงสามารถสร้างความตระหนักรู้ในการสร้างพื้นที่สีเขียวได้มากขึ้น  อย่างไรก็ดี ระยองพัฒนาเมืองฯ มองว่า การจะพัฒนาเมืองระยองไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ต้องเริ่มจากการพัฒนาให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อัจฉริยะก่อน (Smart People) ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยถึง 10 ปี และในขณะเดียวกัน ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนร่วมกัน นอกจากนี้ ระยองพัฒนาเมืองฯ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาจังหวัดระยองให้มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับ Mega Trend ต่อยอดความเข้มแข็งของจังหวัดระยองเพื่อยกระดับไปสู่การรองรับอุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคธุรกิจในลักษณะคลัสเตอร์ (Cluster) เพื่อกระจายการลงทุนออกไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังก้าวสู่ทศวรรษแห่ง Electric Vehicle (EV) ที่จะช่วยให้เกิดการจ้างงานไปทั่วทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain System)

6. อุปสรรคของการพัฒนาเมือง Net Zero และเทคโนโลยี Metaverse ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไรและดีกว่าเทคโนโลยีอื่นๆอย่างไรบ้าง

การพัฒนาเมืองระยองให้มุ่งสู่เมืองที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนต้องอาศัยปัจจัยในการขับเคลื่อนอย่างหลากหลาย เพื่อบรรลุเป้าหมาย carbon neutrality นั้น ต้องกำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกันทั้งในระดับบุคคล องค์กร หรือประเทศ และดำเนินการ “ลด” และ “ชดเชย” (lower & offset) การปล่อยคาร์บอนจนเป็นกลาง ซึ่งมาตรการ “ลด” การปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ได้แก่ การลดหรือละกิจกรรมบางอย่างที่ไม่จำเป็น (เช่น กิจกรรมโลจิสติกส์) การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาดขึ้น (การคมนาคม การขนส่ง และการถนอมอาหาร เป็นต้น) และการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ในขณะเดียวกัน สำหรับ “การชดเชย” คาร์บอนที่ยังปล่อยอยู่ผ่านกิจกรรมที่ไปลดคาร์บอนที่อื่น เช่น การปลูกป่าทดแทน การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

7. กุญแจสำคัญของการพัฒนาเมือง

สำหรับกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองระยอง คุณภูษิตฯ ได้กล่าวถึง การประเมินผลความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ของการมีอยู่ของโครงการ และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน และเป็นต้นแบบให้แก่ธุรกิจรวมถึงจังหวัดอื่น ๆ โดยเริ่มจากการพัฒนาและสร้างการเรียนรู้ในกับผู้คนในพื้นที่เพื่อให้สามารถพัฒนาเมืองได้อย่างเต็มที่ และสุดท้ายต่อยอดไปสู่การพัฒนาในระดับประเทศ

นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน