การขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา

การขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา

บทความโดย
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
นางสาวนภัสวรรณ บุญช่วย

อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอำเภอหนึ่งในโครงการสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของรัฐบาล ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559  (ปี พ.ศ.2560-2563)  เพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่ 3 อำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส  ขับเคลื่อนผ่านหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัด และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นต่างๆ เป็นหน่วยงานด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการขับเคลื่อนงานทุกมิติ  โดยอำเภอเบตงเป็นเมืองต้นแบบการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นในส่วนของการท่องเที่ยวและรายได้ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว เพื่อขยายตัวของเศรษฐกิจในพื้นที่ จึงเกิดโครงการมากมายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เช่น โครงการสนามบินเบตง โครงการจุดชมวิวทะเล หมอกอัยเยอร์เวง หรือสกายวอล์ค โครงการชุมชนท่องเที่ยว เป็นต้น

บทความนี้จะพาผู้อ่านไปติดตามแนวทางและความคืบหน้าของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้เป็นเมืองต้นแบบที่มีการพัฒนาเฉพาะ โดยเฉพาะการพัฒนาที่สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานแบบยั่งยืน เพื่อให้บรรยากาศการท่องเที่ยวพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้และการจ้างงานในท้องถิ่นมากขึ้น

จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดใต้สุดของประเทศและมีอาณาเขตติดกับประเทศมาเลเซีย ตามคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”  ซึ่งเมื่อมองถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Products : GPP) ของจังหวัดยะลาในปีพ.ศ. 2563 มีมูลค่าเท่ากับ 48,816 ล้านบาท เมื่อพิจารณาตามภาคการผลิต สัดส่วนที่มากที่สุดคือภาคบริการคิดเป็นร้อยละ 57 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด ภาคการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 34 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 9 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด (ดังภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 สัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดยะลาแต่ละภาคของการผลิต ปีพ.ศ. 2563

ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เมื่อมองถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดยะลาในด้านการท่องเที่ยว สามารถดูได้จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยเฉลี่ยในปี 2560 – 2562 อยู่ที่ 141,108 คน และจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติเฉลี่ยในปี 2560 – 2562 อยู่ที่ 530,825 คน แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่จำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 (ดังภาพที่ 2)  ที่ 331,052 คน ในปี 2563 จึงเป็นที่น่าสนใจว่าทางโครงการได้ดำเนินการอย่างไร

ภาพที่ 2 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ จังหวัดยะลา ในปีพ.ศ. 2560 – 2565 (ปัจจุบัน)

ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวบรวมโดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดและความเป็นมาของโครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลามากยิ่งขึ้น สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และวารสารการเงินการคลัง ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทวิยาลัยราชภัฏยะลา เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ดร. ณพพงศ์ ธีระวร
ประธานกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ฐานรากและอุตสาหกรรมบริการใน 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทวิยาลัยราชภัฏยะลา

1. จุดเริ่มต้นและเป้าหมายของโครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา (โครงการเบตงหมื่นล้าน)

แรกเริ่มทางดร. ณพพงศ์มีความตั้งใจในการกลับมาพัฒนาพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นบ้านเกิด ประกอบกับการได้รับโอกาสดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  ดังนั้นจึงมีความตั้งใจในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยเล็งเห็นศักยภาพของอำเภอเบตง อำเภอใต้สุด ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีหมอกตลอดปี  จึงได้เกิดเป็นโครงการเบตงหมื่นล้านขึ้น ซึ่งความตั้งใจปั้นเบตงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ โดยมีจุดชมวิวอัยเยอร์เวงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอเบตง เพื่อสร้างรายได้และการจ้างงานในท้องถิ่น  และได้ร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน เพื่อนำไปสู่การกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น การนำโครงการเบตงหมื่นล้านให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยพุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยว จำนวน 2 ล้านคน ให้มาจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่เฉลี่ย 5,000 บาทต่อหัว เพื่อกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน ซึ่งจะได้เม็ดเงินเท่ากับ 10,000 ล้านบาท แผนทั้งหมดจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เกิดการกระจายรายได้และชุมชนในพื้นที่ มีรายได้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

 2. สถานการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์โควิด-19

          ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19  นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ร้อยละ 80-90 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในจังหวัดยะลาเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เช่น นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียเป็นหลัก แต่เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ทางจังหวัดมีการตั้งมาตรการปิดด่านเข้า-ออกระหว่างประเทศทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลง แต่สกายวอล์คทะเลหมอกอัยเยอร์เวงเปิดให้เข้าชมในช่วงปี 2563 ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวคนไทยมากกว่าชาวต่างชาติ เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รอบที่ 1 สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายผู้คนเริ่มท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ยังคงมีมาตรการปิดเมือง (Lockdown)  ผู้คนหันมาท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น 
ทำให้นักท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาเที่ยวที่อำเภอเบตงมากขึ้น  ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นเท่าตัว และทำให้จำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวคนไทย

3. ความคืบหน้าของการขับเคลื่อนโครงการเบตงหมื่นล้าน

          แนวทางในการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 แนวทาง

1. ด้านวิชาการ โครงการได้มีการจัดทำวิจัยในการหาแนวทางเพื่อนำไปปฏิบัติใช้จริง ในการสร้างงานสร้างรายได้ วางแผนการรับมือเมื่อมีจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นไปตามเป้าหมาย และการสร้างกำลังแรงงานในการขับเคลื่อนโครงการ สร้างคุณภาพบัณฑิตเพื่อรองรับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในการเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มีความสามารถในเชิงปฏิบัติเพื่อการประกอบอาชีพ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ยั่งยืน

2. การสร้างเครือข่าย การร่วมมือกับหน่วยอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมองว่าภาคเอกชนเป็นพลังงานขับเคลื่อนที่สำคัญของโครงการ เช่น พ่อค้าแม่ค้า โรงแรม กลุ่มสมาพันธ์ SME จังหวัด ตอนนี้โครงการได้ร่วมมือกับ SME Bank ในการสร้างงานในหลักสูตรไกด์ เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมมากที่สุด และร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเพื่อให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเช่นกัน

3. การส่งเสริมการลงทุน  SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย และคณะกรรมการฯ ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้อำเภอเบตง ยกระดับเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของการท่องเที่ยวประจำภาคใต้ ผ่านมาตรการด้านการเงินและการพัฒนา เพื่อยกระดับธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่อำเภอเบตง และใกล้เคียง สร้างประโยชน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจานรากและอุตสาหกรรมบริการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ SME D Bank จะสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านการเติมทุนโครงการ “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงิน 2,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนา 4 เรื่องในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เช่น กิน, นอน, เที่ยว และการใช้จ่าย เพื่อตอบโจทย์และรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นให้มีผู้ประกอบการ SME  พ่อค้าแม่ค้า รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการใน 3 พื้นที่เป้าหมายคือ 1. ในตัวเมืองเบตง 2. บริเวณ Skywalk ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง และ 3.บริเวณโดยรอบทะเลสาบฮาลาบาลา  ซึ่งตอนนี้ได้เริ่มศึกษาดูงานเพื่อนำองค์ความรู้มาวางรากฐานและต่อยอดในการพัฒนาโครงการเบตงหมื่นล้าน โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายอย่างทะเลสาบฮาลาบาลา ที่ทางคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กำลังผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งใหม่ของพื้นที่ต่อไป

4. ความคืบหน้าของสนามบินเบตง

          สนามบินเบตงได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ซึ่งมีความพร้อมให้บริการตามมาตรฐาน เริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แรก โดยสายการบินนกแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ – เบตง – กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม โดยท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรมว.กลาโหม พร้อมคณะ เป็นประธานในพิธีเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์  แม้ในระยะแรกผู้โดยสารยังมีจำนวนน้อยแต่ต่อมาจำนวนความต้องการของผู้โดยสารเริ่มเพิ่มขึ้นกระทั่งปัจจุบันมีเที่ยวบินพาณิชย์มายังสนามบินเบตงราว 3 วันต่อสัปดาห์ สามารถรองรับที่นั่งได้เที่ยวบินละประมาณ 80 ที่นั่ง ซึ่งหากสถานการณ์เป็นไปในทางที่ดีขึ้นในอนาคต คาดว่าจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพราะสนามบินเบตงจะทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมการเดินทางในพื้นที่จังหวัดภาคใต้และภายในประเทศ ให้มีความรวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งประชาชนจะได้มีทางเลือกในการเดินทางด้วยเช่นกัน

5. เหตุการณ์ความไม่สงบ ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในอำเภอเบตงหรือไม่

          สถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเริ่มในปี 2547 ถึงปี 2554  ซึ่งในปัจจุบันเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ ในพื้นที่ลดลง 90% มีความรุนแรงน้อยลงและเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี  ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมาอำเภอเบตง เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นเพียง 2 ครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถจับตัวผู้ร้ายได้ทุกครั้ง และในช่วง 10 ปีที่ได้เริ่มประชาสัมพันธ์ทะเลหมอกอัยเยอร์เวงนั้นไม่เคยเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเลย ซึ่งสะท้อนถึงการสร้างงานสร้างอาชีพในพื้นที่สามารถลดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ได้

6. ความคืบหน้าในการสร้างงานสร้างอาชีพในท้องถิ่น

          การสร้างมาตรฐานของสถานที่ท่องเที่ยว เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ หรืออาหารเป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว จึงต้องมีการอบรมผู้ประกอบการโฮมสเตย์ โรงแรม ร้านอาหารในพื้นที่ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือให้ได้มาตรฐานที่ดีที่สุด ซึ่งมาตรฐานที่ได้ตั้งไว้ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ในอีกรูปแบบ เช่น การบอกต่อ และได้มีการอบรมในอาชีพไกด์ให้ได้มาตรฐาน ทั้งไกด์มืออาชีพหรือชาวบ้านที่สนใจอยากทำอาชีพไกด์แนะนำนักท่องเที่ยว ทางโครงการได้ร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและ SME Bank สนับสนุนในการอบรมครั้งนี้ นอกจากนี้ การสร้างงานสร้างอาชีพต้องอาศัยจำนวนนักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นการสร้างงานสร้างอาชีพเพิ่มขึ้นด้วย

7. กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

          กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สำหรับความคิดเห็นของดร.ณพพงศ์ คือ ความน่าเชื่อถือ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนให้เป็นผลอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด จึงต้องอาศัยความเชื่อใจจากชาวบ้านในพื้นที่และภาคเอกชน หากชาวบ้านในพื้นที่และภาคเอกชนไม่ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการอาจจะพัฒนาโครงการไม่ได้ทุกมิติ ดังนั้น ความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทางดร.ณพพงศ์ได้มองว่าเป็นแรงขับเคลื่อนโครงการได้มากที่สุด

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน