สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อในยุคโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน

สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อในยุคโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน

บทความโดย
ชานน ลิมป์ประสิทธิพร
วาสนา  บุญพุ่ม 

สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อในยุคโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน

เงินเฟ้อกลายมาเป็นหนึ่งในประเด็นที่สังคมจับตามองอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง หลังจากเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายที่หลากหลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยผันผวนอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 ถึง 2565 ที่ผ่านมา ดังนั้น บทความนี้จะมาสรุปสาระสำคัญของสถานการณ์เงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต

รูปที่ 1: Timeline เงินเฟ้อไทยในปี 2563  ถึง 2566
  1. สถานการณ์เงินเฟ้อในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีจุดเริ่มต้นจากการไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในช่วงปลายปี 2562
ซี่งพบครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน โดยองค์กรอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศวันที่ 30 มกราคม 2563 และได้ประกาศให้เป็นโรคระบาดทั่วไปในวันที่ 11 มีนาคม 2563 สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center: EOC) ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2563 เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ต่อมาผู้ป่วยได้ทยอยเพิ่มขึ้น
ทั้งผู้ป่วยที่เดินทางจากต่างประเทศเข้าไทยและผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐในปี 2563 ส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก หลายประเทศได้ออกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และนโยบายการคลังเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2563
หดตัวที่ร้อยละ – 6.2 ต่อปี เทียบกับปี 2562 เป็นการหดตัวที่สูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2541 ที่ร้อยละ -7.6 ต่อปี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวก็ปรับลดลง ส่งผลให้การบริโภคของประชาชนลดลงในภาพรวม จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 2563  อยู่ในระดับต่ำ (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี ที่ร้อยละ -0.9 และ 0.3 ตามลำดับ) ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่
ร้อยละ 1.0 – 3.0 และเป็นการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวครั้งแรกในรอบ 5 ปี รายละเอียดดังรูปที่ 2

ขณะที่ในช่วงปี 2564 สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะมีการระบาดหลายระลอก แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ประกอบกับรัฐบาลเริ่มทยอยเปิดประเทศจากโครงการ Phuket Sandbox ในการนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 มีจำนวน 4 แสนคน นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว กระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน และช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ขณะที่เงินเฟ้อปี 2564 ขยายตัวขึ้นแต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ยทั้งปี ที่ร้อยละ 1.2 และ 0.2 ตามลำดับ ) 

          สำหรับในช่วงปี 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตลดลง รวมถึงจำนวนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการ ความครอบคลุมของประชาชนที่ได้รับวัคซีนสูง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ 2 ฉบับ เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 65 เรื่อง 1) ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2565 และ 2) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565  โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับจะมีผลยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย  แล้วกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป 

รูปที่ 2: อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย รายเดือน
ที่มา : CEIC คำนวณโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สศค.
  • สถานการณ์เงินเฟ้อในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ในช่วงต้นปี 2565 สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้ง
ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนเริ่มรุนแรงขึ้น จนกระทั่งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เริ่มมีการเปิดฉากการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ผลกระทบของสงครามนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียโดยสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร

รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกพลังงานและอาหารกว่าร้อยละ 40 ของโลก โดยเฉพาะข้าวสาลี น้ำมันดอกทานตะวัน ธัญพืช และก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตปุ๋ยและพลังงาน การคว่ำบาตรรัสเซียจึงส่งผลให้สินค้ากลุ่มพลังงาน อาทิ น้ำมัน ก๊าซ เป็นต้น และสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลเชื่อมโยงไปยังต้นทุนในการผลิตสินค้าในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก

ในส่วนของประเทศไทย เงินเฟ้อไทยได้รับผลกระทบมาจากด้านอุปทาน (Cost-Push Inflation) เป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จากต้นทุนการผลิต ระดับราคาสินค้าพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และส่งผ่านมายังผู้บริโภคจะเห็นได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาผู้บริโภคที่ต่างมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 -3 ของปี 2565  ทำให้ไทยต้องเผชิญกับภาวะ
เงินเฟ้อ ในภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวไม่เต็มที่ รายละเอียดดังรูปที่ 3

รูปที่ 3 : ความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า คำนวณโดย สศค.

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ เดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 5.98 โดยองค์ประกอบที่ส่งผลกระทบ
ต่อเงินเฟ้อ ได้แก่  1) หมวดอาหารสำเร็จรูปที่ร้อยละ 1.42 2) หมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ร้อยละ 1.00 3) หมวดเนื้อสัตว์ ที่ร้อยละ 0.93 และ 4) หมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่าง ที่ร้อยละ 0.73โดยได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเป็นปัจจัยที่ไม่สามารรถควบคุมได้ รายละเอียดดังรูปที่ 4

รูปที่ 4: องค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนตุลาคม 2565 (YTD) 
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า คำนวณโดย สศค.
  • ปัจจัยรองที่ส่งผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงปี 2563 – 2565

ในช่วงปี 2563 – 2565 ยังมีปัจจัยรองในประเทศที่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เช่น การแพร่ระบาดโรค
อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะหมวดเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยได้อยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายลง ทำให้เกิดความกังวลว่าไทยจะเข้าสู่ Stagflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวจนส่งผลให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มสูงจากปัจจัยด้านอุปทาน (Supply Shock) เกิดการผลิตสินค้าลดลง ผลผลิตในระบบเศรษฐกิจลดลงอย่างรวดเร็ว และทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น แต่จากนิยามดังกล่าว เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะ Stagflation
แต่อย่างใด ณ เวลานั้น เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของเงินเฟ้อเกิดจากกลุ่มสินค้าเฉพาะกลุ่ม และไม่ได้เกิดในวงกว้าง อีกทั้งอัตราการว่างงานไตรมาสที่ 2 ปี 2565 อยู่ในระดับต่ำที่ 1.37

นอกจากนี้ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ที่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 10.16 ต่อดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI)  อีกทั้ง สถานการณ์
น้ำท่วมเกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2565 แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรของประเทศ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อสัดส่วนต่อดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) กว่าร้อยละ 5.47

  • มุมมองคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต ปี 2565 และ 2566

อัตราเงินเฟ้อในปี 2565 และ ปี 2566 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2565 เฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 2.6 และคาดการณ์ปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2566 เฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ รายละเอียดดังรูปที่ 4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) แนวโน้มราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มลดลง จากปัญหาของห่วงโซ่อุปทานโลกที่คลี่คลายลง 2) การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรในรอบถัดไปในปี 2566 ซึ่งจะกระทบดัชนีหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำปะปาและแสงสว่างอย่างมีนัยสำคัญ แต่เนื่องด้วยมาตรการของรัฐที่เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ไม่กระทบต่อค่าครองชีพประชาชนมากนัก 3) การส่งผ่านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ อาจยังมีอยู่ แต่ไม่มากเท่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีการขึ้นราคาสินค้าที่จำเป็นไปบ้างแล้ว ประกอบกับแนวโน้มต้นทุนของผู้ประกอบปรับตัวดีขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีราคาผู้ผลิตที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 รายละเอียดดังรูปที่ 5 และ 4) ปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันเมื่อเทียบปีก่อน จะเป็นปัจจัยทอนต่อการสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในปี 2566

รูปที่ 5: ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน รายปี
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า คำนวณโดย สศค. (คาดการณ์ ณ เดือน ตุลาคม 2565)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญ รวมถึงแนวโน้มการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศในช่วงหลังของปีขยายตัวขึ้น แต่อาจไม่ก่อให้เกิดแรงผลักดันของเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยด้านอุปสงค์ หรือ Demand Pull ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ข้างต้น แม้ว่ายังมีปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเงินเฟ้ออยู่บ้าง แต่อาจไม่ร้อนรุนแรงดังช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น หากไม่มีเหตุการณ์ผันผวนเกิดขึ้นในอนาคต สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวลงสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 

  • ความท้าทายเงินเฟ้อในอนาคต

          ในระยะยาว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะกลับมาอยู่ที่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 1.0 – 3.0
อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างที่จะมาปฏิวัติและปฏิรูปเศรษฐกิจไทย เช่น การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้พลังงานสะอาดและสามารถทดแทนการผลิตเชื้อเพลิงได้ในอนาคต เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (Zero Emissions) และความ
ไม่แน่นอนของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สะท้อนจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค ทำให้เงินเฟ้อมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าปัจจัยเหล่านี้จะกระทบต่อเงินเฟ้อประเทศไทยมากน้อยแค่ไหนในอนาคต

แหล่งอ้างอิง

BBC News ไทย. 2022. “หมูแพง : จะคุมระบาดโรค ASF ในหมูใน 1 ปี ได้หรือเปล่า และใครคือผู้อยู่รอด.” BBC. 21 มกราคม. https://www.bbc.com/thai/thailand-60061088.

Jessie Yeung, Adam Renton, Rob Picheta, Ed Upright, Aditi Sangal, Adrienne Vogt, Melissa Macaya, และ Maureen Chowdhury. 2022. “Russia attacks Ukraine.” CNN. 24 February. https://edition.cnn.com/europe/live-news/ukraine-russia-news-02-23-22/h_82bf44af2f01ad57f81c0760c6cb697c.

กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. 2022. “ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 และ 2566.” ข่าวกระทรวงการคลัง. 28 ตุลาคม. https://www.fpo.go.th/main/getattachment/News/Press-conference/16993/186-2565-%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8.

งานโรคติดต่ออุบัติใหม่ กลุ่มพัฒนาวิชาการโรคติดต่อ. 2021. “สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มาตรการสาธารณสุข และปัญหาอุปสรรคการป้องกันควบคุมโรคในผู้เดินทาง.” 18 สิงหาคม. https://ddc.moph.go.th/uploads/files/2017420210820025238.pdf.

ธนาคารแห่งประเทศไทย. 2021. “รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ปี 2563.” 20 มกราคม. https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AnnualReport/AnnualReport/AanualReport2563.pdf.

รัฐบาลไทย. 2022. “กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป ยกเลิกโควิด-19 จากการเป็นโรคติดต่ออันตราย.” ข่าวทำเนียบรัฐบาล. 21 กันยายน. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/59491?fbclid=IwAR18JvaXJYbbJsEqupqWjKmzYrLOkqWYlOtFZj0YbkZ4t2wKV49L_1ThUOc.

นายชานน ลิมป์ประสิทธิพร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาววาสนา บุญพุ่ม
—–
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน