เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย

เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย

บทความโดย
วารสารการเงินการคลัง

  1. ประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริบทโลกเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศทั่วโลกอย่างน้อย 2 มิติคือ มิติแรก เกิดมหาอำนาจใหม่ คือ สหภาพโซเวียตที่มีการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์  และสหรัฐอเมริกาที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยต่างฝ่ายต่างขยายความเชื่อในระบอบการปกครองของตนไปยังประเทศต่าง ๆ ขณะที่สหรัฐฯ พยายามเผยแผ่การปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยไปสู่ประเทศต่าง ๆโดยเฉพาะประเทศอาณานิคมที่เพิ่งประกาศเอกราช ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ World Bank และIMF เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้

          ในเวลานั้น มหาอำนาจใหม่ทั้ง 2 ประเทศเลี่ยงการเผชิญหน้ากันโดยตรง เพราะตระหนักถึงมหันตภัยของระเบิดนิวเคลียร์  จึงเกิดสงครามตัวแทน (สงครามเย็น) ของทั้ง 2 ฝ่ายในหลายภูมิภาคของโลกแทน และสงครามตัวแทนที่สร้างความหวาดวิตกไปทั่วภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยมากที่สุด คือสงครามอินโดจีน ในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งสหรัฐฯ มองประเทศไทยเป็น strategic location ในการสนับสนุนกำลังพลและด้วยความกลัวคอมมิวนิสต์จะยึดประเทศ รัฐบาลไทยจึงอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพหลายแห่ง

          มิติต่อมาคือ การเกิดระบบการเงินโลกใหม่ สหประชาชาติจัดตั้ง World Bank กับ IMF เพื่อให้ความช่วยเหลือกับประเทศสมาชิกหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การเป็นสมาชิก World Bank และ IMF ทำให้ไทยได้รับความช่วยเหลือจากทั้ง 2 องค์กรมาก กล่าวคือธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อการพัฒนาประเทศ ให้คำปรึกษาทาง วิชาการและเทคนิค ส่วน IMF ทำหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านการเงิน การเสริมสร้างเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ           ในส่วนของบริบทประเทศไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษกดดันให้ไทยมีสถานะเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม แต่สหรัฐฯเห็นว่า ขบวนการเสรีไทยเข้าร่วมกับสหรัฐฯ ต่อต้านฝ่ายอักษะ และด้วยความพยายามของทุกฝ่ายสุดท้ายไทยรอดพ้นจากสถานะนั้น ในด้านความมั่นคง ไทยต้องเผชิญกับปัญหาร่วมในภูมิภาคคือปัญหาคอมมิวนิสต์แทรกซึมในชนบทมากขึ้น โดยในปี 2494 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยประกาศให้การสนับสนุนการปฏิวัติประชาชนด้วยวิธีรุนแรงและการทำสงครามยืดเยื้อ และในด้านเศรษฐกิจ สงครามโลกส่งผลกระทบต่อ

เศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ค่าเงินบาทตกต่ำ และเงินเฟ้อ เนื่องจากความจำเป็นในการพิมพ์เงินออกมาใช้ในช่วง สงคราม ทุนสำรองเงินตราไม่เพียงพอต่อการบูรณะประเทศ และรายได้รัฐบาลไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

  1. ช่วงฟื้นตัวหลังภาวะสงคราม ในปี 2504-2514

ระหว่างปี 2504 – 2514 เป็นช่วงที่ประเทศต่าง ๆ ฟื้นตัวจากภาวะสงครามและมุ่งพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพโดยมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.1 และ7.9 ตามลำดับ (ภาพ 2-1) ทุนสำรองเงินตราของประเทศมีมากขึ้น แบงก์ชาติสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศเข้าทุนสำรอง ค่าเงินบาทคงที่ และเสถียรภาพทางการเมืองอยู่ในระดับสูง

ภาพ 2-1 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเทียบกับโลก
ที่มา: World Development Indicators

ทว่าภัยคอมมิวนิสต์ ยังคุกคามความสงบภายในและทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นรัฐบาลจึงเร่งสร้างความเจริญในชนบทซึ่งเป็นกลยุทธ์ สำคัญในการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ ควบคู่กับการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ ที่วางไว้ โครงการลงทุนในประเทศช่วงนี้เกือบทั้งหมดเป็นของภาครัฐ (ภาคเอกชนไทยยังไม่มีบทบาท) ซึ่งเน้นการพัฒนาด้านการคมนาคม การสาธารณูปโภค การศึกษา สาธารณสุข ระบบชลประทาน การประปา และการผลิตไฟฟ้า เพื่อยกระดับคุณภาพีชีวิตคนไทย ให้ประชาชนมีต้นทุนการดำเนินชีวิตต่ำลง และสร้างรากฐานไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ช่วยให้ภาคเอกชนเติบโตได้ในระยะต่อไป อย่างไรก็็ดีี ภาคการคลังยังคงมีปัญหางบประมาณขาดดุลเรื้อรังมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพ 2-2) จึงต้องอาศัยการกู้ยืมเงินทั้งจากแหล่งภายในและต่างประเทศ

ภาพ 2-2 ดุลงบประมาณของไทย ปีงบประมาณ 2504 – 2514
ที่่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติิ
  1. เศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤติรอบด้าน ในปี 2515-2529

เศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกดดันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นตลาดการเงินโลกที่ผันผวนมาก วิกฤติราคาน้ำมันโลก2 ครั้ง ทั่วโลกเผชิญกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจตกต่ำขาดแคลนสภาพคล่อง และยังเผชิญกับวิกฤติสถาบันการเงินในประเทศ 2 ครั้ง การลดค่าเงินบาท 3 ครั้ง และวิกฤติการเงินนอกระบบนอกจากนี้ ภัยคอมมิวนิสต์ ยังคุกคามไทยอย่างหนัก ความหวังที่โชติช่วงอย่างเดียวของประเทศคือการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย นำไปสู่การพัฒนาโครงการ Eastern Seaboard ที่ผลักดันประเทศไทยสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลอย่างแท้จริงในระยะต่อมา กล่าวคือ เศรษฐกิจการเงินโลกปลายปี 2514 ตลาดการเงินโลกผันผวนตามที่ประธานาธิบดีนิกสัน ประกาศว่า ธนาคารกลางสหรัฐขอยกเลิกการรับแลกเปลี่ยนดอลลาร์เป็นทองคำจากธนาคารกลางทุกประเทศ ซ้ำเติมด้วยวิกฤติราคาน้ำมันโลก 2 ครั้ง ในปี 2516 และปี 2522 ซึ่งวิกฤติครั้งหลังสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงมาก มิหนำซ้ำสถานการณ์ยังถูกซ้ำเติมจากสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่าน ราคาน้ำมันยิ่งเพิ่มขึ้น และกัดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐซึ่งเป็นผู้ชี้นำคนสำคัญในตลาดการเงินโลกตัดสินใจใช้นโยบายการเงินเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและรัฐบาลสหรัฐดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล (Twin Deficits) (ภาพ 3-1)

ภาพ 3-1 ดุลการค้าและดุลการคลังเทียบกับ GDP ของสหรัฐฯ ปี 2514 – 2529
ที่่มา: Bureau of Economic Analysis, U.S. Department of Commerce

ผลจากการใช้นโยบายการเงินเข้มงวด ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเกือบร้อยละ 20 ต่อปี ในช่วงต้นทศวรรษ 1980s (ภาพ 3-2) ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบ ลอยตัวในตลาดยูโรดอลลาร์” ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 25 ต่อปี ในปี 2524 สร้างผลกระทบรุนแรงต่อประเทศกําลังพัฒนา ที่ส่วนใหญ่พึ่งพาเงินกู้จากแหล่งดังกล่าวในวงเงินค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ ปัญหาที่มากมายในช่วงนั้น ทำให้หลายประเทศเผชิญปัญหาการขาดดุลการชําระเงิน ค่าเงินผันผวน บางประเทศที่ก่อหนี้ต่างประเทศมาก เช่น กลุ่มประเทศในลาตินอเมริกา ที่กู้เงินจากต่างประเทศมากจนไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ต้องเผชิญกับวิกฤติหนี้สาธารณะถึงขั้นพันธบัตรรัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับจึงต้องพิมพ์ธนบัตรมาแก้ปัญหาการขาดดุลภาครัฐ และเกิดเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) ในที่สุด

ภาพ 3-2 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ
ที่่มา: Federal Reserve Bank of St. Louis

เมื่อหลายวิกฤติรุมเร้า เศรษฐกิจผันผวน สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับปัญหา Twin Deficits และเกิดวิกฤติในลาตินอเมริกา เศรษฐกิจจึงตกต่ำทั่วโลก ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนั้น เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน กล่าวคือ น้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่ต้องนําเข้าเกือบทั้งหมด ขณะที่ราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่า เงินเฟ้อในประเทศสูงเกือบร้อยละ 20 ในปี 2523 (ภาพ 3-3) สถานการณ์พลังงานประเทศย่ำแย่ ถึงขั้นพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น สั่งให้โทรทัศน์งดออกอากาศเวลา 18.30 – 20.00 น. เพื่อประหยัดพลังงาน

ภาพ 3-3 ราคาน้ำมันในตลาดดููไบ และอัตราเงินเฟ้อไทยปีี 2514 – 2529
ที่่มา: FRED, Federal Reserve Bank of St. Louis และกระทรวงพาณิชย์

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ทำให้ราคาสินค้าชั้นต้นหลายชนิดตกต่ำตามไปด้วย รายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าหลักของไทยในขณะนั้นลดลงมาก เกิดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนัก (ภาพ 3-4) ภาระหนี้ต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทุนสํารองระหว่างประเทศร่อยหรอ ทำให้ในปี 2524 ต้องลดค่าเงินบาทถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกลดจาก 20.75 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 21 บาทต่อดอลลาร์ และครั้งที่สองลดจาก 21 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 23 บาทต่อดอลลาร์ แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศ ยังไม่น่าไว้วางใจจนถึงจุดวิกฤติปี 2526 เนื้อเงินสํารองทางการเหลือเพียง 2,500 ล้านดอลลาร์ IMF ซึ่งเตือนทางการไทยเรื่องค่าเงินบาทมีมูลค่าสูงเกินพื้นฐานเศรษฐกิจ และควรลดค่าเงินบาท แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเลือกแก้ปัญหาเบื้องต้น โดยการจํากัดการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินไม่ให้เกินร้อยละ 15 ในปี 2527 แทนการลดค่าเงินบาท ซึ่งปรากฏต่อมาว่า ธุรกิจขนาดเล็กล้มละลายเป็นจำนวนมาก ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก และในที่สุดต้องลดค่าเงินบาทอีกครั้งจาก 23 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 27 บาทต่อดอลลาร์ ในปีเดียวกันนั้นเอง

ภาพ 3-4 สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเทียบกับ GDP ของไทย
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

ด้านตลาดเงินและตลาดทุน ปี 2517 ประกาศใช้พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์จึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่บริษัทเหล่านี้จำนวนมากมีปัญหาธรรมาภิบาล อาทิ บริษัท ราชาเงินทุนให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทในเครือและลูกค้าเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทฯ เอง โดยไม่มีหลักประกัน ในเวลาไม่นานราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปถึง 2,470 บาท/หุ้น ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ปี 2521 จากราคาที่ตราไว้ 100 บาท/หุ้น ขณะเดียวกัน กระแสการปั้นหุ้นทำให้ประชาชนให้ความสนใจเข้าไปซื้อขายหุ้นในตลาดเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการเก็งกําไร ราคาหุ้นจึงสูงเกินความเป็นจริงมาก (ภาพ 3-5)

ภาพ 3-5 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ระหว่างปี 2518 – 2529
ที่่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ระบบการเงินอยู่ในภาวะตึงตัว บริษัทราชาเงินทุน ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องรุนแรง ประชาชนขาดความเชื่อมั่น นํามาสู่ วิกฤติในระบบสถาบันการเงินและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครั้งแรกในปี 2522 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “วิกฤติราชาเงินทุน”

นอกจากนี้ ในปี 2527 ได้เกิดวิกฤติการเงินนอกระบบที่เกิดจากวงแชร์ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจนักลงทุนมากหลายวงที่โด่งดังที่สุดคือ “แชร์แม่ชม้อย” เป็นแชร์น้ำมันที่นําเงินจากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ มาจัดสรรคิวแบ่งจ่ายให้ผู้ลงทุนรายเก่าในลักษณะหมุนเวียนกันในลักษณะลูกโซ่ ต่อมาเมื่อวงแชร์หลายวงได้ล้มลง จึงมีผลกระทบรุนแรงต่อระบบการเงิน และซ้ำเติมปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินที่กําลังเผชิญอยู่ขณะนั้น

ประเทศไทยต้องเผชิญกับแรงกดดันเมื่อสหรัฐฯ พ่ายแพ้ในสงครามอินโดจีน ซึ่งทำให้เวียดนาม เขมร และสาวกลายเป็น คอมมิวนิสต์ในปี 2516 ไทยจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน และขณะนั้นหลายพื้นที่ในประเทศเป็นพื้นที่สีแดง แต่โชคดีที่พบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (ปี 2516) ซึ่งเป็นความหวังเดียวที่จะพึ่งพาตัวเองได้ในด้านพลังงาน จากที่ต้องก้มหน้ารับสถานการณ์ราคาน้ำมันสูงขึ้น ๆ อย่างไม่มีทางเลือก และยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ผลักดันให้ภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นฐานการจ้างงานของประเทศในระยะยาว รัฐบาลขณะนั้นจึงพยายามเร่งผลักดันโครงการ Eastern Seaboard ควบคู่กับการต่อสู้กับร้ายคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ

  1. Export Oriented Country ในปี 2530-2539

ผลจากข้อตกลง Plaza Accord ทำให้ญี่ปุ่นที่เคยอาศัยความได้เปรียบจากค่าเงินเยนอ่อน ต้องเพิ่มค่าเงินขึ้นหลายเท่า จึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ที่มีความพร้อมและมีค่าแรงถูก ซึ่งขณะนั้น ญี่ปุ่นประเมินว่า ไทยมีศักยภาพจากการติดตามพัฒนาการและความสำเร็จในโครงการ Eastern Seaboard อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ไทยกลายเป็นจุดหมายสำคัญในการลงทุน และเปิดโอกาสให้ไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก (global supply chain) ในเวลาต่อมา ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นย้ายฐานมาลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศพร้อมใจกันย้ายฐานการผลิตตามญี่ปุ่นเข้ามาอีก (ภาพ 4-1) จนนักวิเคราะห์เปรียบปรากฏการณ์ครั้งนั้นว่า คล้ายปรากฏการณ์ฝูงห่านบิน (flying geese phenomenon)

ภาพ 4-1 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิ
ที่่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทศวรรษนี้ เศรษฐกิจไทยจึงสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด แม้ในปี 2533 จะเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย และปี 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อย แห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ และตามมาด้วยการเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 เมื่อประชาชนแสดงความไม่พอใจต่อความพยายามสืบทอดอำนาจของ รสช. เป็นเหตุให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ยังทรงตัวในระดับสูง (ภาพ 4-2) จนไทยเป็นประเทศเกิดใหม่ที่ทั่วโลกจับตามอง และให้ฉายาว่าเป็นเสื้อตัวที่ 5 แห่งเอเชีย

ภาพ 4-2 Real GDP growth ของไทยปี 2503 – 2563
ที่่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นอกจากนี้ การย้ายฐานการผลิตของหลายประเทศยังมีปัจจัยอื่น ที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในหลายเรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก ฐานะการคลังที่มั่นคง จากทศวรรษก่อนที่รัฐบาลพลเอกเปรม เร่งแก้ปัญหาการลดค่าเงินบาท และลดการใช้จ่ายเกินตัว พร้อมกับทยอยชําระหนี้

เรื่องต่อมา นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของ นายกรัฐมนตรีพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ การใช้ประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวค่าจ้างตามาช่วยสนับสนุนการผลิต ภายในประเทศ และลดทอนกําลังของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคด้วย และหลังจากนั้นไม่นาน (ปี 2534) ปัญหาสงครามเย็นที่เคยสร้างความหวาดระแวงหัวภูมิภาคมาหลายทศวรรษก็ยุติลง ส่งเสริมประชาธิปไตยมากขึ้น ตามแผน “เปเรสตรอยตา” (Perestroika)

เรื่องที่สาม การใช้นโยบายการเงินเชิงรุก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคอินโดจีน ปี 2533 จึงเปิดเสรีการเงินควบคู่กับการผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน โดยยอมรับพันธะข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และปี 2536 จึงอนุญาตให้สถาบันการเงินดำเนินกิจการวิเทศธนกิจ (Bangkok International Banking Facility: BIBF) ซึ่งเป็นบริการที่เปิดให้สถาบันการเงินสามารถรับฝากเงินหรือกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ แล้วนํามาปล่อยสินเชื่อในประเทศไทยได้ (out-in) และยังอนุญาตให้ภาคเอกชนออกตราสารหนี้ไปจําหน่ายในต่างประเทศผ่านบริการวาณิชธนกิจ (investment banking) ที่ได้รับอนุญาต เพื่อแก้ปัญหาเงินออมในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการเงินลงทุน และลดต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการ

เรื่องที่สี่ การปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ เพื่อผลักดันให้ภาคส่งออกสามารถเป็น main engine ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้สมบูรณ์แบบ

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเปิดประเทศสร้างสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า ประเทศต่าง ๆ ต้องทบทวนนโยบายเศรษฐกิจของตัวเองให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และการเจรจาระหว่างประเทศที่สำคัญในยุคนั้นคือ การเจรจาในกลุ่มสมาชิกความตกลงหัวไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า หรือ GATT (The General Agreement on Tariffs and Trade) รอบอุรุกวัย ขณะเดียวกัน หลายภูมิภาคมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศสมาชิกพึ่งพิงกันเองมากขึ้น เช่น ประเทศในยุโรป รวมตัวกันเป็น Singes Europe มีข้อตกลงเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement) เป็นต้น และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย คือ AFTA (ASEAN Free Trade Agreement)

นอกจากนี้ จากความสำเร็จในการจัดงานประชุมประจำปีของสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ในปี 2528 ทำให้ สสต. มั่นใจว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพในการจัดการประชุมในระดับสากล จึงพยายามผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี ของสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2534 และความสำเร็จครั้งนั้น นับเป็นก้าวสำคัญให้ไทยก้าวสู่ระบบ MICE ได้ (Meetings, Incentives, Conferences Exhibitions) และเป็นรากฐานสำคัญให้ภาคการท่องเที่ยวเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินเชิงรุกและเศรษฐกิจร้อนแรงเกินตัว ทำให้ในช่วงปลายทศวรรษประเทศไทยเผชิญปัญหาหลายอย่าง และเกิดความเปราะบางอย่างไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญได้แก่ ราคาสินทรัพย์ทุกอย่างเร่งตัวขึ้น หนี้ต่างประเทศระยะสั้นเพิ่มขึ้น ปัญหาธรรมาภิบาลในระบบสถาบันการเงิน การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินระดับสูง ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นระเบิดเวลาที่พาประเทศเข้าสู่วิกฤติ

  1. วิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540-2543

ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับสูง และมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด จนเศรษฐกิจไทยเป็นที่จับตามองของทั่วโลก แต่แล้วในช่วงปลายทศวรรษ ความเปราะบางที่ซ่อนตัวไว้ก็ต่อย ๆ ปะทุขึ้นมา จนไม่มีใครคาดคิดว่า ไทยจะกลายเป็นต้นเหตุของวิกฤติที่ลุกลามไปทั่วภูมิภาค สถาบันการเงินถูกปิด หุ้นตก ธุรกิจล้มละลาย ตึกร้าง ทั่วกรุงเทพฯ และคนตกงานเป็นจำนวนมาก

วิกฤติครั้งนี้ทำให้ไทยต้องกู้เงินและต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ตามกรอบ IMF โดยไทยปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ด้วยความหวังว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากวิกฤติเร็วที่สุด แต่ IMF กลับจ่ายยาแรงเกินไป ทำให้ภาคการคลังซึ่งเป็น Engine เดียวที่เหลืออยู่ของเศรษฐกิจไทยขณะนั้น ทำงานได้ไม่เต็มที่ เศรษฐกิจปี 2541 จึงหดตัวมาก (ภาพ 5-1) จนต้องมีการเจรจาให้ IMF ปรับสูตรยา และเปิดให้ภาคการคลังเข้ามากอบกู้วิกฤติได้ตามศักยภาพ ควบคู่กับการแก้ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงิน เศรษฐกิจไทยจึงเริ่มขยายตัวได้ แต่ความเชื่อมั่นกลับฟื้นตัวได้ช้า ภาคการคลังจึงต้องเร่งสร้าง momentum ทางเศรษฐกิจ ซึ่งท้าทายไม่น้อย

ทศวรรษก่อนหลายประเทศในภูมิภาคย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย และเกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จำนวนมาก จึงมีการลงทุนมหาศาล แต่เงินออมในประเทศไม่เพียงพอ จึงเกิดปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงตามมา ขณะเดียวกัน กระแสการเก็งกําไรในราคาที่ดินเริ่มมีมากขึ้น เพราะคนไทยเคยอยู่ในสถานการณ์ที่จู่ ๆ มีคนต่างชาติเข้ามาหาซื้อที่ดินเป็นจำนวนมาก ที่ดินซึ่งเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องกลับเป็นของที่ซื้อขายเปลี่ยนมือกัน มาก คนจำนวนหนึ่งซึ่งแห่ซื้อที่ดิน คอนโด เพื่อเก็งกําไร แม้กระทั่งใบจองคอนโดก็ยังสามารถปั้นราคาให้สูงขึ้นได้หลายเท่าตัว

ขณะเดียวกัน ผลจากการดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกของแบงก์ชาติ ทำให้ภาคเอกชนสามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้หลายช่องทางภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หมายความว่า แบงก์ชาติรับประกันว่า ทุกดอลลาร์ที่นําเข้ามา สามารถแลกเป็นเงินบาทได้ 25 บาทต่อดอลลาร์ เหมือนเอกชนได้ทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกับแบงก์ชาติโดยไม่มีต้นทุน และแน่นอนว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” กระแสเงินทุนไหลเข้าประหนึ่งการเติมน้ำมันเข้าไปบนกองเพลิงที่คุกรุ่น และเป็นชนวนให้เกิดวิกฤติปี 2540

ภาพ 5-1 Real GDP growth ของไทยปี 2503 – 2563
ที่่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
  1. การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2544-2549

ยุคนี้เป็นยุคที่บริบทการเมืองโลกเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ซับซ้อน คาดเดายาก เริ่มจากการเกิดวินาศกรรม ที่สหรัฐฯ ในวันที่ 11 กันยายน 2544 สร้างความตระหนกไปทั่วโลก โดยกลุ่มอัลกออิดะห์ของอุซามะฮ์ บิน ลาดิน ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่ อัฟกานิสถาน หลังจากเหตุวินาศกรรม ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช พยายามเรียกร้องให้กลุ่มตอลิบาน ซึ่งปกครองอัฟกานิสถาน ให้ส่งตัวผู้ก่อการร้ายมาให้สหรัฐฯ แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงเป็นชนวนให้เกิดสงครามอัฟกานิสถาน ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นตลอดทศวรรษนี้ ต่อมาในปี 2546 เกิดสงครามในอิรัก โดยสหรัฐฯ และอังกฤษสันนิษฐานว่า ที่รักจะครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงจนคุกคาม ความมั่นคงในภูมิภาค และกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีอิรัก ซัดดัม ฮุสเซน ปิดบังและให้การสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะห์ ดังนั้น การเมืองโลกอยู่ในบรรยากาศของ “การก่อการร้าย” คุกคามในหลายประเทศจนเกิดความหวาดระแวง รวมทั้งประเทศไทยด้วย

จีนเริ่มก้าวขึ้นมาเป็น player สำคัญทางเศรษฐกิจโลก กล่าวคือ หลังจากจีนพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจตลอดทศวรรษ ค.ศ. 1990 และเปิดประเทศตามนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง และได้เข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2544 ทำให้ขึ้นต้องเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาด และปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจโลกายใต้กติกาการค้าโลก (Trade Runs) ซึ่งสามารถทำได้สำเร็จ ภายในเวลาเพียง 2 ทศวรรษ จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 และเป็นผู้นําเข้าอันดับ 2 ของโลก รวมทั้งเป็นที่ดึงดูดการลงทุนเป็นอันดับ 5 ของโลก และขนาดเศรษฐกิจจีนเติบโตเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในปี 2553 ขณะที่กลุ่มประเทศ ASEAN พยายามรวมตัวกันเป็นกลุ่มเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อต่อรองกับมหาอํานาจเศรษฐกิจใหม่

นอกจากนี้ เขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Area กลายเป็น trend การเจรจาการค้าโลก ซึ่งผลักดันให้ไทยลงนาม FTA กับจีน ญี่ปุ่น อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา บาห์เรน เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และผลักดันให้ไทยเป็นผู้นภูมิภาค โดยได้จัดตั้งกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue) ในปี 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประเทศในแถบเอเชียให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน

เศรษฐกิจไทย หลังจากมรสุมเศรษฐกิจพัดผ่านไประหว่างปี 2544 – 2549 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.4 (ภาพ 6-1) ด้วยแรงขับเคลื่อนของภาคส่งออกที่ได้ปัจจัยหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติ และอุปสงค์มหาศาลจากประเทศจีนที่ทำให้การค้าโลกดึกคัก ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เร่งตัวขึ้นทุกประเภท

ภาพ 6-1 Real GDP growth ของไทยปี 2503 – 2563
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เมื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดีขึ้น ประกอบกับบุญเก่าที่เคยทำไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Eastern Seaboard และระบบภาษีที่เอื้อต่อการสนับสนุนการผลิต กําลังผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่พร้อมจะขับเคลื่อนประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นมั่นใจว่า ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในหลายอุตสาหกรรมได้ ทำให้คลื่นลูกที่ 2 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในไทยมีขนาดใหญ่กว่าคลื่นลูกแรก

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปูพื้นฐานไว้ จากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ World Bank และ IMF ที่กรุงเทพมหานคร เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ นับจากปี 2534 ที่เริ่มจัดงานฯ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 5 ล้านคน ได้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 14 ล้านคนในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในเวลาเพียง 15 ปี

อย่างไรก็ดี ในทศวรรษนี้ก็ยังมีปัญหาที่เหนี่ยวรั้งศักยภาพเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 911 ในสหรัฐฯ โรคซาร์สที่ระบาดในเอเชีย (ปี 2546) ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เริ่มปะทุในปี 2547 ตามด้วยการเกิดสึนามิบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันในช่วงปลายปี 2547 และปี 2549 เกิดรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ตามด้วยการวางระเบิดทั่วกรุงเทพฯ ในวันส่งท้ายปีเก่า

นอกจากนี้ หลังวิกฤติปี 2540 ภาคการคลังอ่อนแอลง กล่าวคือ หลังจาก IMF ผ่อนปรนเงื่อนไขใน LOI ทำให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายการคลังขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้น เศรษฐกิจระหว่างปีงบประมาณ 2542 – 2547 และทำให้ขาดดุลเงินสดอยู่ในระดับสูงในช่วงปี 2542-2545

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีภาระที่ต้องทยอยรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาคการเงินตั้งแต่ปี 2541 เป็นผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤติที่ร้อยละ 11.9 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 57.1 ในปี 2544 ในจำนวนนี้เป็นภาระที่เกิดจากการกู้โดยตรงของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ (ที่มิใช่สถาบันการเงิน) และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 24.6 ร้อยละ 17.9 และร้อยละ 13.6 ของ GDP ตามลำดับ (ภาพ 6-2)

ภาพ 6-2 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2539-2564)
ที่มา: สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
  1. เศรษฐกิจยุคใหม่ ในปี 2550-2562

ทศวรรษนี้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงจากทศวรรษก่อน (ภาพ 7-1) เนื่องจาก

ภาพ 7-1 Real GDP growth ของไทยปี 2545 – 2563
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เศรษฐกิจการเมืองโลกเผชิญปัญหารอบด้าน เนื่องจากในปี 2550 – 2551 เกิดวิกฤติการเงินโลก (Global financial crisis) กระทบสภาพคล่องตลาดสินเชื่อทั่วโลก และทำให้ฟองสบู่ตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐอเมริกาแตก เกิดปัญหาการผิดนัดชําระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์ ตามด้วยวิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรป ปี 2553 หลังจากนั้นอังกฤษพยายามถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ซึ่งประเมินผลกระทบและทิศทางการค้า การลงทุนขณะนั้นได้ยาก ทำให้กําลังซื้อในกลุ่มประเทศส่งออกหลักของไทยลดลง ถัดมาคือ ปัญหา geopolitics ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ จนถึง การประท้วงในฮ่องกง นอกจากนี้ มีการนํามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอากรมาใช้อย่างแพร่หลายและลงลึกถึงการกำหนดมาตรฐานในกระบวนการผลิต เช่น ปี 2558 ไทยถูกสหภาพยุโรปกล่าวหาเรื่องมีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUUFishing) เป็นต้น และนับตั้งแต่ปี 2561 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรุนแรงขึ้น และผลกระทบจากสงครามการค้ารุนแรงส่งผลให้มูลค่าส่งออกของไทยในปี 2562 หดตัว (ภาพ 7-2)

ภาพ 7-2 มูลค่าส่งออกปี 2523 – 2563
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
  1. ปัญหาการเมืองไทยจากการต่อสู้ของประชาชนที่มีความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน ทำให้หลายรัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการประเทศได้ จนนํามาสู่การรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ ยังมีปัญหา ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ และในหลายจังหวัดภาคใต้หลายครั้ง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศมาก
  2. ศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยลดลง ขณะที่คู่แข่งในภูมิภาคพัฒนาตัวเองขึ้นมาก เนื่องจากที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐชะลอตัวลง โดยเฉพาะสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐต่อรายจ่ายในงบประมาณต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติ ปี 2540 มาก (ภาพ 7-3) ค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศขาดการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับศักยภาพการผลิตให้เท่าทันประเทศอื่น และปัญหาหนี้ภาค ครัวเรือนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จนบั่นทอนกําลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐและปัญหากฎระเบียบที่มีจำนวนมาก และเอื้อให้เกิดการใช้ดุลพินิจสูง ซึ่งเป็นกลไกสนับสนุนให้ปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงขึ้น ล้วนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง
ภาพ 7-3 สัดส่วนรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนในงบประมาณภาครัฐ
ที่มา: งบประมาณโดยสังเขป สำนักงบประมาณ

นอกจากนี้ Shock ที่สำคัญคือ การเกิดมหาอุทกภัยช่วงปลายปี 2554 ที่ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศ แต่รัฐบาลยังต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อบรรเทาปัญหาและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนด้วย จึงจำเป็นต้องจัดสรรและหางบประมาณมาดำเนินการในเรื่องนี้ และพบว่า กว่าทศวรรษแล้วที่กระทรวงการคลังต้องจัดสรรงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทเพื่อจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ – กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหนี้สินที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติปี 2540 อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทศวรรษนี้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับโชคร้ายเท่านั้น ยังมีสิ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย ได้แก่ ภาคท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จาก 14 ล้านคนในปี 2549 จนถึงปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยมากถึง 40 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน (ภาพ 7-4) จนกลายเป็น new engine of growth ของเศรษฐกิจไทย โดยภาคท่องเที่ยวเติบโตจนมีสัดส่วนใน GDP มากถึงร้อยละ 12 อย่างไรตาม ปี 2561 เกิดโศกนาฏกรรมทางน้ำซากเรือ “ฟีนิกซ์” ล่มกลางทะเลภูเก็ต และนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง

ภาพ 7-4 จำนวนนักท่องเที่ยว
ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2543 – 2550) กรมการท่องเที่ยว (พ.ศ. 2551 – 2562) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

กระบวนการตรากฎหมายใช้ระยะเวลายาวนานโดยต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ในทศวรรษนี้ ผลของรัฐประหาร 2 ครั้ง คือ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ยุบสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นเพื่อทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ การลดลงจากระบบสองสภาเหลือเพียงสภาเดียว และการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจากนักวิชาการและอดีตข้าราชการที่มีประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพ ต่าง ๆ ทำให้การเล่นการเมืองภายในสภาหายไป กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว

  1. สถานการณ์โควิด ในปี 2563-ปัจจุบัน

          ช่วงปลายปี 2562 ไวรัสสายพันธุ์ใหม่เริ่มเผยตัวเป็นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ทำให้รัฐบาลจีนต้องสั่งล็อกดาวน์หลายเมือง เมื่อมีข่าวว่าไวรัสนี้คร่าชีวิตชาวจีนมากขึ้นเป็นลำดับ และในวันที่ 13 มกราคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสนี้เป็นคนแรก ในช่วงแรก คนไทยยังรู้สึกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงที่อิตาลี ที่มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก และข่าว super-spreader ในเกาหลีใต้ จนถึง super-spreader ในสนามมวยและผับในไทย ขณะที่ความรู้เกี่ยวกับไวรัสและพฤติกรรมการแพร่ระบาดมีจํากัด ทำให้เมฆหมอกของความกลัวเข้ามา และอาการที่สะท้อนความกลัวได้ชัดเจนคือ การทุ่มซื้อหน้ากากอนามัย จนโรงพยาบาลขาดแคลน และราคาพุ่งสูงขึ้นเกือบ 20 เท่า นั้นคือสถานการณ์ในมุมสุขภาพกายและจิตของคนทั้งประเทศ

          ในเดือนมีนาคม 2563 หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย เริ่มทยอยใช้มาตรการล็อกดาวน์ และให้ประชาชนลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแทบทุกอย่างในสังคมลง (Social distancing) เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด โดยรัฐบาลสั่งปิดสถานที่สาธารณะ และธุรกิจห้างร้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัด ต่อมาได้มีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามออกนอกเคหสถานยามวิกาล ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด และห้ามการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย โดยมีผลข้างเคียงของมาตรการนี้คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยหมุนเร็วกลับสงบนิ่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง รุนแรง และซึมลึก เศรษฐกิจปั่นป่วนทั่วโลก ตลาดหุ้นตกในลักษณะทิ้งดิ่ง 20 – 30% ทั่วหน้า รวมถึงตลาดหุ้นไทย และที่สำคัญ ตราสารหนี้ไทยก็โดนเทขายด้วย จนกระทั่งกองทุนรวมที่ลงทุน ในตราสารหนี้บางแห่งต้องประกาศปิดการซื้อขายหน่วยลงทุน จนผู้กำหนดนโยบายขณะนั้นกังวลมากว่าจะเกิดวิกฤติในตลาดตราสารหนี้ไทย

          ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจและประชาชนที่พึ่งพิงรายได้จากการเดินทางสัญจรของผู้คนลดลงอย่างไม่เคยปรากฏ ความเดือดร้อนครอบคลุมธุรกิจทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเข้ามา ใช้จ่ายในประเทศเกือบ 40 ล้านคนเหลือ 0 ทันที ซึ่งผู้คนที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่นักบิน แอร์โฮสเตส พนักงานโรงแรม-ร้านอาหาร-บริษัททัวร์ แท็กซี่ และอื่น ๆ ไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้าข้างทาง ตลอดจน SMEs ที่ไม่สามารถค้าขายได้ต้องทยอยปิดกิจการ เมื่อการหารายได้ฝืดเคือง บางคนตกงาน ถูกลดเงินเดือน แต่ภาระหนี้สินรุมเร้า ภาระครอบครัวเป็นสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้ นี่คือปัญหาที่ประชาชนจำนวนมากเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          รัฐบาลในหลายประเทศรวมทั้งไทยจึงต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีทั้งมาตรการการเงินและมาตรการการคลัง โดยรายงานของ World Economic Forum ชี้ว่า เม็ดเงิน ที่รัฐบาลแต่ละประเทศใช้ในการต่อกรกับวิกฤติโควิดนี้ มีจำนวนมากกว่าที่ผ่านมาในอดีตเป็นประวัติการณ์ แม้กระนั้น ปี 2563 ที่เมฆหมอกโควิดปกคลุมทั่วโลก GDP ของไทยติดลบ 6.1% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี และเศรษฐกิจทั่วโลกก็เข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) อย่างไรก็ดี หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายแห่งคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 ต่อปี

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 60 ปี สศค. ภารกิจเพื่อแผ่นดิน จัดทำโดยคณะทำงานด้านการจัดทำหนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลังปีที่ 60 เรียบเรียงโดยวารสารการเงินการคลัง