การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค
(APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปี 2565

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค
(APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปี 2565

บทความโดย
นางสาวอัจฉรา ชิดเครือ
นางสาวรชยา เกาลวณิชย์

บทคัดย่อ

เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก โดยมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ถึงร้อยละ 62 ของโลก และมีสัดส่วนการค้าเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าทั่วโลก โดยในปี 2565 ประเทศไทยได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคอีกครั้งหลังจากที่ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อปี 2535 และการประชุมระดับผู้นำเมื่อปี 2546

ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี 2565 นี้ กระทรวงการคลังรับผิดชอบจัดการประชุมภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ประกอบด้วย 3 การประชุม ได้แก่ 1) การประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน 2) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค ในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 มีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธาน และ 3) การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29 ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน

สำหรับกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคประจำปี 2565 กระทรวงการคลังในฐานะประธานการประชุมได้กำหนดประเด็นสำคัญ (Priorities) ที่ต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน” ได้แก่ 1) การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance)โดยมุ่งเน้นการหาแนวทางในการจัดหาแหล่งทุนให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ รวมถึงการจัดหาแหล่งทุนเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และ 2) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) โดยพัฒนาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ การเชื่อมโยงการชำระเงินในภาคการเงินและการระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) เพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกันของภูมิภาคเอเปค

อนึ่ง การดำเนินการตามประเด็นสำคัญทั้งสองด้านนั้นจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเอื้อให้เกิดการลงทุนและโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในขณะที่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในงานด้านการเงินการคลังจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งทุนและการเข้าถึงบริการของภาครัฐ ลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดน และพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะนำเสนอ (Showcase) ผลสำเร็จและแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินการในประเด็นหลักข้างต้นให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลกอีกด้วย

ความเป็นมาของเอเปคและกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Process: APEC FMP)

เอเปคหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยการริเริ่มของนาย Bob Hawke นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในขณะนั้นที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพึ่งพาทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกันระหว่างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเอเปคมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การพัฒนาด้านสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค โดยการดำเนินการของเอเปคจะยึดหลักการฉันทามติ (Consensus) และความสมัครใจ (Voluntarism) ของทุกฝ่าย ความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก และคำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจและสังคม และระดับการพัฒนาของสมาชิก

เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกปัจจุบันประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ รวมถึงมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้งเอเปคมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือร้อยละ 38 ของประชากรโลก มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ถึงร้อยละ 62 ของโลก มีสัดส่วนการค้าเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าทั่วโลก หรือประมาณร้อยละ 48 มีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงเข้ามาในกลุ่มสมาชิกเอเปคถึงร้อยละ 68 ของการลงทุนโดยตรงทั่วโลก และเขตเศรษฐกิจเอเปคยังมีศักยภาพในการลงทุนในต่างประเทศมากถึงกว่าร้อยละ 86 ของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศทั่วโลก[1] โดยทั้ง 20 เขตเศรษฐกิจในเอเปคล้วนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย


[1] สัดส่วนดังกล่าวเป็นของปี 2563, Asia-Pacific Economic Cooperation, “APEC in Charts 2021”, https://www.apec.org/docs/default-source/publications/2021/11/apec-in-charts-2021/221_psu_apec-in-charts-2021.pdf?sfvrsn=50537c36_2

ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อปี 2563 ได้กำหนดวิสัยทัศน์เป็นเป้าหมายการดำเนินการของเอเปคใน 20 ปีข้างหน้า เรียกว่า “วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040)” โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าว มุ่งผลักดันปัจจัยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 3 มิติ ได้แก่ 1) การค้าและการลงทุน 2) นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และ 3) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน

การประชุมเอเปคเป็นการสร้างโอกาสให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้อันจะนำไปสู่การดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยการประชุมเอเปคจัดขึ้นทุกปี ซึ่งเขตเศรษฐกิจจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ และในปี 2565 ไทยได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลกนี้อีกครั้ง หลังจากที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อปี 2535 และการประชุมระดับผู้นำเมื่อปี 2546

กรอบการประชุม APEC FMP เป็นกรอบการประชุมภายใต้การประชุมเอเปค ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง โดยเป็นการประชุมหารือระหว่างกระทรวงการคลังของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาคและการเงินในระดับภูมิภาค รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังร่วมกัน ซึ่งในแต่ละปีประกอบด้วยการประชุมใน 3 ระดับ ดังนี้

1. การประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: APEC FCBDM) เป็นการประชุมครั้งแรกของปีเพื่อกำหนดกรอบและวางแผนการดำเนินงานในช่วงระยะเวลา 1 ปี ของการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมภายใต้กรอบ APEC FMP

2. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials’ Meeting: APEC SFOM) เป็นการประชุมเพื่อหารือประเด็นด้านการเงินการคลังที่สำคัญ ติดตามประเด็นและดำเนินการตามกรอบที่กำหนดจากการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปคเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค

3. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) เป็นการหารือในระดับนโยบายเพื่อรับทราบถึงผลการดำเนินงานตามกรอบการประชุมที่กำหนดไว้และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ในประเด็นด้านเศรษฐกิจการคลังและการเงินที่สำคัญ อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงบริการทางการเงิน การจัดการทางการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงทางภัยพิบัติ เป็นต้น

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินภายใต้กรอบ APEC FMP ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินภายใต้กรอบ APEC FMP มีการดำเนินงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรมในหลายด้าน โดยเฉพาะเมื่อปี 2558 ที่ประชุม APEC FMM ได้มีมติรับรองแผนปฏิบัติการเซบู (Cebu Action Plan) ซึ่งกำหนดให้เขตเศรษฐกิจดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญเพื่อการพัฒนาด้านการเงินการคลังตามบริบทของแต่ละเขตเศรษฐกิจ โดยแบ่งออกเป็น 4 เสาหลัก (Pillar) ได้แก่ (1) การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงิน (Promoting Financial Integration) (2) การเร่งรัดการปฏิรูปและเพิ่มความโปร่งใสทางการคลัง (Advancing Fiscal Reforms and Transparency) (3) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน (Enhancing Financial Resiliency) และ (4) การเร่งรัดการลงทุนและการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Accelerating Infrastructure Development and Financing)

ที่มา: 2015 APEC Finance Ministers’ Statement

และในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันให้มีแผนปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 และการรองรับสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มเติม โดยไทยได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวในหลายด้านที่เป็นประโยชน์และส่งผลกับประชาชน เช่น

การขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินและการให้ความรู้ทางการเงิน (Expand Financial Inclusion and Literacy) /เสาหลักที่ 1 ข้อเสนอที่ 1B

1) การดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อกำหนดแนวนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและส่งเสริมการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนที่มีคุณภาพ โดยมุ่งเน้นโครงการที่ส่งเสริมด้านการออมและการเข้าถึงสวัสดิการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักบริหารจัดการเงินมากขึ้น เช่น โครงการชีวิตดีมีออมของธนาคารออมสิน โครงการผลักดันการสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย (Code of Conduct) ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

2) การจัดทำร่างแผนการให้ความรู้พื้นฐานทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการดำเนินงานเรื่องการให้ความรู้ทางการเงินระดับประเทศ เพื่อให้คนไทยตระหนักรู้และเห็นถึงความสำคัญของการบริหารการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งให้คนไทยมีความรู้ความสามารถและมีวินัยทางการเงิน สามารถตัดสินใจวางแผน และบริหารจัดการการเงินของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การปฏิรูปนโยบายการคลัง (Fiscal Reforms) /เสาหลักที่ 2 ข้อเสนอที่ 2A

มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและความยั่งยืนทางการคลัง โดยเฉพาะการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางเพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของรัฐ รวมทั้งแผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยกำหนดให้แผนการคลังระยะปานกลางมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Policy) /เสาหลักที่ 3 ข้อเสนอที่ 3A

การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการคลังในการหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการพัฒนานโยบายและเศรษฐกิจมหภาคระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงการประสานการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเพื่อรับมือกับความเสี่ยงและความท้าทายทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน และเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชน ตลอดจนหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกและระดับประเทศ เช่น Standard and Poor, Moody’s และ Fitch Rating เป็นต้น เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการดำเนินมาตรการสำคัญของรัฐบาล เช่น มาตรการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น

การประชุมภายใต้กรอบ APEC FMP ในปี 2565

ในปี 2565 ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคได้กำหนดหัวข้อหลักของการประชุมเอเปค คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” ซึ่งจะคำนึงถึงการสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในบริบทโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มแข็ง เปิดกว้าง เชื่อมโยงและสมดุล สนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในทุกมิติผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model โดยกำหนดการประชุมภายใต้กรอบ APEC FMP จำนวน 3 การประชุม ได้แก่ 1) การประชุม APEC FCBDM ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2565 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุม 2) การประชุม APEC SFOM มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธานการประชุม และ 3)การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 29 มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 19 – 21 ตุลาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ สถานที่และรูปแบบของแต่ละการประชุมจะมีการพิจารณาความเหมาะสมตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย

สำหรับกรอบการประชุม APEC FMP นั้น กระทรวงการคลังได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น เพื่อร่วมกันกำหนดประเด็นสำคัญ (Priorities) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน” หรือ “Advancing digitalization, Achieving sustainability” โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นรูปธรรม แบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

1. ประเด็นที่ 1 การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance)

ซึ่งมุ่งเน้นการหาแนวทางในการจัดหาแหล่งทุนเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งทุนผ่านตลาดทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการออกมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุน
การดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่

1.1 การจัดหาแหล่งทุนของภาครัฐ

โดยกล่าวถึงการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งไทยได้มีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อนำไปใช้ในโครงการเพื่อสังคม (Social Project) และสิ่งแวดล้อม (Green Project) เช่น โครงการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 โครงการพัฒนาพื้นที่และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และโครงการรถไฟสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ซึ่งจัดเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ประเภทการขนส่งพลังงานสะอาด (Clean Transportation) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการจราจรติดขัดจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนด้วย

ทั้งนี้ การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนดังกล่าว ปัจจุบันมีวงเงินอยู่ที่ 1.97 แสนล้านบาท โดยถือเป็นการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนครั้งแรกของประเทศไทยและเป็นพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนรุ่นแรกของภูมิภาคอาเซียนที่ออกโดยรัฐบาล อีกทั้งได้มีการจดทะเบียนใน Luxembourg Green Exchange (LGX) ของตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Stock Exchange: LuxSE) ซึ่งเป็นช่องทางที่แสดงข้อมูลตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อสังคม และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน และเผยแพร่ข้อมูลการสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของประเทศไทยสู่นักลงทุนในระดับสากล

1.2 การจัดหาแหล่งทุนของภาคเอกชน

โดยรัฐจะสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bond) เพิ่มขึ้น เพื่อเร่งให้เกิดโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น รวมทั้งจะออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการธุรกิจโดยคำนึงถึงหลักการสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ภาคเอกชนไทยมีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับสากล โดยล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 S&P Global ได้ประกาศอันดับด้านความยั่งยืน (S&P Global Sustainability Awards) ซึ่งบริษัทไทยผ่านเกณฑ์การประเมินและติดอันดับมากถึง 41 บริษัท สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลี อันสะท้อนถึงศักยภาพของธุรกิจไทยในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่โดดเด่นและความเชื่อมั่นต่อบริษัทของไทยในสายตาผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

2. ประเด็นที่ 2 การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของภาครัฐ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่

2.1 การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้

อาทิ การนำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจและช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” เป็นต้น ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้น

2.2 การหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมโยงการชำระเงินในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Payment Connectivity)

เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างเขตเศรษฐกิจสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งมีต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินลดลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมของภาคธุรกิจและบุคคลธรรมดาและยังเป็นการอำนวยสะดวกทางการค้า รวมถึงการค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปค

2.3 การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และการส่งเสริมภาคธุรกิจในการระดมทุนผ่านตลาดทุน

ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs และเป็นโอกาสที่ให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงการลงทุนได้มากยิ่งขึ้น เช่น การระดมทุนจากสาธารณะโดยผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กและขนาดย่อมผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (Crowdfunding) เป็นต้น

เมื่อวันที่ 16-17 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุม APEC FCBDM มีผู้แทนจากสมาชิกเอเปคเข้าร่วมทั้งหมด 20 เขตเศรษฐกิจ พร้อมกับผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ หน่วยสนับสนุนด้านนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit: APEC PSU) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  (International Monetary Fund: IMF) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group: WBG) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และผู้แทนภาคเอกชนจากสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) โดยได้เห็นชอบแผนงานความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุม APEC FMP 2565 (APEC FMP Work Plan 2022) ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญทั้งด้านการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) และด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่ไทยเสนอ

สำหรับการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมาชิกเอเปคส่วนใหญ่ได้ออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อช่วยฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนการใช้เครื่องมือทางด้านการเงินและการคลังต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การทำประกันภัยเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Insurance) การออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bond) และการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (Green Taxes) เป็นต้น นอกจากนี้ สมาชิกเอเปคเห็นว่า การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนยังคงเป็นทางเลือกสำคัญในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสมาชิกเอเปค และในส่วนของการระดมทุนของภาคเอกชนนั้น ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ของตลาดทุนทั้งระบบเพื่อให้สอดรับกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ในส่วนของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ที่ประชุม APEC FCBDM ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภาคการเงิน รวมทั้งการระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในตลาดทุน ทั้งนี้ สมาชิกเอเปคส่วนใหญ่เห็นพ้องกับข้อเสนอของไทยในการส่งเสริมการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดน (Cross-Border Payment and Remittance) โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการจัดการข้อมูล การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital Identification) ความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) และการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีด้วยเทคโนโลยีด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุม FCBDM ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials) หารือในรายละเอียดเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างสมาชิกใน 2 ประเด็นสำคัญข้างต้น และดำเนินการตามกรอบที่กำหนด เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค

ความร่วมมือของเอเปคที่ผ่านมาได้ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และเป็นเวทีให้เขตเศรษฐกิจได้หารือในประเด็นที่จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าและบริการ เสริมสร้างโอกาสในการลงทุนสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจและของภูมิภาคเอเปคโดยรวม โดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคถือเป็นการเสริมสร้างบทบาทของไทยในประชาคมระหว่างประเทศ มีส่วนช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทย ส่งเสริมการค้าและการลงทุน อีกทั้งถือเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะได้ผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายของไทย ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

การผลักดันความร่วมมือภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน” ของกระทรวงการคลัง ทั้งในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) จะเอื้อให้เกิดการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในขณะที่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งทุนและการเข้าถึงบริการของภาครัฐ ลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดน และพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยผู้ประกอบการรายย่อย อีกทั้งเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะนำเสนอ (Showcase) ผลสำเร็จและแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินการในประเด็นหลักข้างต้นให้เป็นที่ประจักษ์ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินมาตรการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำผลการหารือจากการประชุมเอเปคมาพัฒนางานด้านการเงินการคลังและสร้างสรรค์นโยบายเพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป

อัจฉรา ชิดเครือ

นางสาวอัจฉรา ชิดเครือ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน

นางสาวรชยา เกาลวณิชย์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน