บทความโดย
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
ดร. กวิน เอี่ยมตระกูล
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงษ์
1. บทนำ
แนวทางหนึ่งในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth) สามารถทำได้โดยการใช้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เพื่อให้การพัฒนากระจายไปในพื้นที่ต่างๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งการพัฒนาที่มีความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่โดยส่วนใหญ่จะมาจากการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่สามารถตอบโจทย์ที่สอดคล้องกับปัญหาของพื้นที่นั้นๆ ดังตัวอย่างกรณีประเทศสเปน และประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งสองประเทศนี้ได้มีการประยุกต์การนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มาใช้ในการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เป็นสำคัญ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของหลายประเทศในโลกในการออกแบบและพัฒนา Smart City ในขณะนี้ เนื่องจากจะสามารถแก้ปัญหาที่เป็น Pain Point ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ตนเองได้ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากประชาชน ภาคธุรกิจ และภาควิชาการ ไปพร้อมกันกับภาคการเมืองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีของประเทศจีน ก็มีแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่น่าสนใจมากเช่นกัน แต่จะเน้นการวางนโยบายจากส่วนกลางมากกว่าประเทศอื่น ดังจะได้กล่าวถึงรายละเอียดในลำดับถัดไป
2. การพัฒนาเมืองของประเทศสเปน
ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างในกรณีของนครบาร์เซโลน่า และกรุงมาดริด ซึ่งเป็นกรณีการพัฒนาเมืองผ่านแนวคิดเมืองอัจฉริยะที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่เป็นสำคัญ
2.1 นครบาร์เซโลน่า
นครบาร์เซโลน่า เป็นเทศบาลนครหนึ่งในแคว้นปกครองตัวเอง (Autonomous Community) คาทาโลเนีย และปรากฏในรายงานการจัดอันดับสุดยอดเมืองอัจฉริยะ Understanding the Challenges and Opportunities of Smart Cities 2019 ซึ่งจัดทำโดย Philips Lighting และ SmartCitesWorld ว่าเป็น 1 ใน 3 ของ Smart City ที่ดีที่สุดของโลก ร่วมกับ Singapore และ London
ในภาพรวมของการพัฒนาเมืองจะเห็นได้จากแผนการพัฒนาเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมของสภาเมืองบาร์เซโลน่า ซึ่งทำทีละ 10 ปี โดยเมื่อ 10ปีก่อน ได้มีแผน Barcelona Vision 2020 ประกอบด้วยกลยุทธ์ต่างๆ อาทิ
(1) Barcelona Growth เป็นการใช้เทคโนโลยีสร้างให้เกิด platform economy ซึ่ง platform หนึ่งที่ยกตัวอย่างคือ เรื่อง Digital Health ซึ่งเมืองบาร์เซโลน่ามีองค์ประกอบหลายอย่างที่สนับสนุนการเติบโตในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา การมี R&D ที่สูง การมี Startup เกิดขึ้นจำนวนมาก การมีสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ ตลอดจนการมีโรงพยาบาลที่มีคุณภาพหลายโรงพยาบาลในพื้นที่ จึงเกิดเป็น Ecosystem ที่ดึงดูดผู้มีทักษะสูง (Talent) และธุรกิจ Startup ด้านธุรกิจสุขภาพ ทำให้เกิดการพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจหลายอย่าง ไม่เพียงแต่การสื่อสารระหว่างคนไข้กับหมอทางไกลแบบ Telemedicine ที่เรารู้จักกันทั่วไปเท่านั้น แต่รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีในการสร้างเครื่องมือแพทย์ให้คนใช้รักษาที่บ้านซึ่งมีทั้งเครื่องมือที่ใช้รักษาทางกายภาพและทางสุขภาพจิตด้วย ตลอดจนการเข้าถึงยา การวินิจฉัยโรคเบื้องต้นโดยไม่ต้องพบหมอ และระบบช่วยสื่อสารระหว่างหมอและคนไข้ต่างชาติ เป็นต้น
(2) Barcelona Global เป็นการดึงดูดความร่วมมือจากภาคเอกชนจากทั่วโลก ให้เกิดแพลตฟอร์มของความคิดจากภาคประชาชน ในการพัฒนาความสามารถและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การดึงดูดนักเรียนต่างชาติให้ต้นทุนการศึกษาไม่แพงเกินไป การดึงดูดคนที่มี Talent จากต่างชาติ เช่น การมี Information Center ให้คนย้ายเข้ามาได้ง่ายขึ้น และการให้ Residency Permit ที่ง่ายขึ้น เป็นต้น
(3) การสร้าง Branding ของเมือง โดยต้อง Identify DNA ของเมืองก่อน จากนั้นจึงสร้างให้เกิดความแตกต่าง (Differentiation) แล้วจึงมีวิธีการสื่อสาร (Communication) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อดึงดูด Talent จากต่างประเทศให้เข้ามาสร้างมูลค่าในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาจะมีตัวอย่างของ Brand ที่ได้พยายามสร้างขึ้น อาทิ Mobile World Capital เพื่อให้บาร์เซโลน่าเป็น Platform ของ Application ภาคบริการ และ Advance Contend โดยมี Duty Free Zone สำหรับผู้ประกอบการด้าน Mobile Technology และ Digital Technology ต่างๆ เป็นต้น ทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองบาร์เซโลน่า ไม่ใช่แค่เพียงสถานที่ที่ต้องการมาท่องเที่ยว ศึกษา แต่ยังเป็นสถานที่ที่รองรับธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย
สำหรับในปี 2020 สภาเมืองได้ออกแผนการพัฒนาเมืองฉบับใหม่หรือ New Strategic Plan 2030 ซึ่งจะเน้นการใช้นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งมี 3 เสาหลัก ได้แก่ 1) การสร้างความเข็มแข็งให้กับเมืองจากการมี Basic Needs ที่ดี เช่น อากาศดี อาหารดี น้ำสะอาด พลังงานสะอาด ที่อยู่อาศัยที่ไม่แพงเกินไป 2) การทำให้เมืองเป็น Urban Laboratory ที่ใช้นวัตกรรมและความสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ และ 3) การสร้างเครือข่ายที่มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ผ่านการพัฒนาการศึกษาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความหลากหลายและเท่าเทียมมากขึ้น
อันที่จริง จะเห็นได้ว่าทั้งแผนฉบับปัจจุบันและแผนฉบับก่อนหน้าเป็นแนวทางที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ทำให้การพัฒนาเมืองมีความต่อเนื่องชัดเจนกล่าวคือ เป็นการเน้นเรื่องของการสร้างมูลค่าจากเทคโนโลยี การศึกษา และดึงดูด Talent และธุรกิจจากภายนอกให้มาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง
สำหรับในด้านของการมีปฏิสัมพันธ์หรือการมีส่วนร่วมกับประชาชนนั้น รัฐบาลท้องถิ่นได้ดำเนินโครงการสำคัญในลักษณะ Data Driven อย่างน้อย 2 Platform ได้แก่
1) City OS Platform เป็นการใช้ประโยชน์ของ Big Data โดยเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของเมือง เช่น การจราจรขนส่ง การใช้พลังงาน การควบคุมสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ รวมทั้งข้อมูลสาธารณะ (Open Data) ผสมเข้าด้วยกันแบบ Real-Time รวมทั้งการคาดการณ์สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น อุบัติเหตุหรือภัยพิบัติ เพื่อสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
2) Decidim Platform (ภาษาคาตาลันแปลว่า We Decide) ได้รับรางวัลอันดับสอง Most Innovative Open Source Program จาก European Commission เป็นระบบถาม-ตอบเพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น และขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการฐานข้อมูลของรัฐ สิ่งเหล่านี้ได้ช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถทราบข้อมูล ความต้องการของประชาชน และนำข้อมูลเหล่านั้นไปออกแบบนโยบายของเมืองที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้
หากพิจารณาลึกลงไปว่า Pain Points หรือปัญหาของเมืองคืออะไร และควรออกแบบ Smart City อย่างไร ส่วนหนึ่งอาจะต้องพิจารณาลักษณะโดยทั่วไปของเมืองบาร์เซโลน่าว่าเป็นเมืองใหญ่อันดับสอง (รองจากกรุงมาดริด) มีประชากรประมาณ 1.6 ล้านคน ในขณะที่เป็นเมืองซึ่งรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากที่สุดในสเปนในแต่ละปี (ประมาณ 10-12 ล้านคนต่อปี) ทำให้มีปัญหาความแออัด มีขยะสูงถึงราว 1.3 ล้านตัน/ปี และมีการใช้น้ำในปริมาณที่สูงถึง 107.5 ลิตรต่อคนต่อวัน จึงนำมาสู่การพัฒนาเมืองด้านต่าง ๆ อาทิ
1) การค้นหาที่จอดรถอัจฉริยะผ่านแอปพลิเคชัน ApparkB เทศบาลนครบาร์เซโลน่าได้ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะฝังอยู่ภายใต้พื้นถนนบริเวณ Parking Spot โดยจะแสดงพื้นที่ว่างที่สามารถจอดรถได้ให้กับผู้ขับรถผ่านแอปพลิเคชัน ApparkB ผู้ใช้งานสามารถชำระค่าที่จอดผ่านแอปพลิเคชันได้โดยตรง การบริการนี้ช่วยลดปัญหาการจราจรและลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ เนื่องจากผู้ขับขี่สามารถทราบและควบคุมรถไปที่จุดจอดรถได้ทันที ไม่จำเป็นต้องวนหรือชะลอเพื่อหาที่จอดรถ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรและการปล่อยมลพิษจากรถยนต์
2) ระบบไฟจราจรบนท้องถนนอัจฉริยะ (ทั้งไฟส่องสว่างและไฟจราจร) บาร์เซโลนายังมีระบบไฟจราจรอัจฉริยะที่มีตัวเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหว อุณหภูมิ และสภาพอากาศ สามารถปรับเปลี่ยนความสว่างเองได้ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม และปรับความสว่างอัตโนมัติ เมื่อมีประชาชนเดินผ่านยามค่ำคืน ช่วยลดและป้องกันปัญหาการเกิดอาชญากรรมในช่วงกลางคืน ระบบไฟจราจรอัจฉริยะของบาร์เซโลนาสามารถเปลี่ยนเป็นไฟเขียวทันทีเมื่อตรวจพบรถพยาบาลและรถฉุกเฉินวิ่งเข้าใกล้ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยกู้ชีพภายในเมืองเพิ่มอัตรา การรอดชีวิตให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายภายในเมือง
3) การติดตั้งระบบเซนเซอร์ที่ถังขยะ ถังขยะภายในเมืองบาร์เซโลนาเป็นถังขยะอัจฉริยะที่ดูดขยะที่คนนำไปทิ้งลงไป Storage Tank ใต้ดิน นับเป็นการลดมลพิษด้านกลิ่นขยะภายในเมือง นอกจากนี้ ทุก Storage Tank ยังติดตั้งระบบวัดปริมาณขยะที่แสดงผลออนไลน์ ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการเก็บขยะสามารถวางแผนการเก็บขยะได้แม่นยำและทราบถึงความถี่ในการเก็บขยะแต่ละจุดภายในเมือง เนื่องจากบาร์เซโลน่ามีปัญหาเรื่องปัญหาขยะล้นเมืองจนเกิดปัญหามลพิษด้านกลิ่นขยะภายในเมือง ซึ่งเป็นผลมาจากการมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนจำนวนมาก
4) การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน บาร์เซโลนาเป็นเมืองแรกของโลกที่ออกกฎหมายสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Thermal Ordinance) เพื่อกระตุ้นให้ตึก อาคาร บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ฯลฯ เช่น การกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของการใช้พลังงานในอาคารว่าต้องมาจากพลังงานโซล่าหรือพลังงานสะอาดเท่าใด เป็นต้น
5) การปรับการใช้พื้นที่สาธารณะ โดยเมืองบาร์เซโลนามีแผนในการยึดคืนถนนในเมืองจากรถยนต์ และตั้งเป้าลดมลพิษด้วยการสร้างพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่ทางเท้า และจัตุรัสสาธารณะ ซึ่งสภาเมืองได้ประกาศว่าภายในปี 2030 ถนนทั้ง 21 สายในย่าน Eixample ของเมืองนี้จะถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นสถานที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าโครงการ Super Blocks ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2016 (เป็นบริเวณที่ปลอดจากการใช้รถยนต์ในพื้นที่สาธารณะ) การสัญจรของยานพาหนะต่าง ๆ จะได้รับอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะรอบปริมณฑลเท่านั้น โดยปล่อยให้ยานยนต์สำหรับผู้อยู่อาศัย ตลอดจนบริการที่จำเป็นหรือการจัดส่งเท่านั้นที่สามารถเข้ามายังในพื้นที่เขตเมืองได้ และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องเปิดทางให้กับคนเดินเท้าและจักรยานก่อน รวมถึงจำกัดความเร็วรถยนต์ไม่เกิน 10 กม./ชม. โดยการศึกษาของแผนการนี้ยังคาดการณ์ว่าการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวทั้งหมด 1.19 ล้านครั้ง จะลดลง 230,000 ต่อสัปดาห์ เนื่องจากผู้คนเปลี่ยนไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือเดินทางด้วยการเดินเท้าหรือขี่จักรยานแทน
2.2 กรุงมาดริด
กรุงมาดริด เมืองหนึ่งภายใต้ Autonomous Community หรือแคว้นปกครองตนเอง Community of Madrid มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับเมืองบาร์เซโลน่ากล่าวคือ เทศบาลกรุงมาดริดเป็น 1 ใน 5 เทศบาลที่มีประชากรมากที่สุดในยุโรป (ประมาณ 3.2 ล้านคน) ที่ต้องรับมือกับการบริหารจัดการทรัพยากรเมืองจำนวนมาก อาทิ ขยะ 1 ล้านตัน/ปี การใช้น้ำ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี รถยนต์บนถนนกว่า 1.7 ล้านคัน เสาไฟทาง 2.52 แสนต้น อาคารสาธารณะ 835 แห่ง และต้นไม้ 7.5 แสนตัน อีกทั้งยังเป็นเมืองที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมากในแต่ละปี (ประมาณ 7-8 ล้านคนต่อปี)
แผนการพัฒนาเมืองของกรุงมาดริดฉบับปัจจุบันเน้นการพัฒนาในหลายด้านสำคัญ อาทิ 1) ด้านเศรษฐกิจ โดยการลดภาษี ลดอุปสรรคราชการ ส่งเสริมSMEs สร้างแรงดึงดูดด้านการท่องเที่ยว 2) ด้านสังคม ช่วยผู้ด้อยโอกาส เปราะบาง ส่งเสริมการศึกษาทั่วถึง 3) ด้านการพัฒนาเมือง ให้เป็นเมืองสะอาดยั่งยืน 4) ด้านวัฒนธรรมเน้นการเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่างเป็นสากล และ 5) การมีส่วนร่วมและความโปร่งใส
ในช่วงที่ผ่านมา สภาเมืองได้ดำเนินโครงการที่น่าสนใจในการพัฒนากรุงมาดริดให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้บริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ
1) “MiNT, Madrid Intelligence” เป็นแพลตฟอร์มรวมศูนย์ข้อมูลของหลายระบบไว้ด้วยกัน เพื่อให้บริการด้านการจัดการชุมชนเมืองและสร้างการสื่อสารระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และช่วยป้องกันปัญหาการจัดการทับซ้อนของหลายหน่วยงาน ระบบ MiNT ครอบคลุมการบริการหลายด้าน อาทิ ระบบไฟบนพื้นที่สาธารณะ การติดตั้งระบบท่อระบายน้ำ การซ่อมแซมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการจราจร ทางเดิน สะพาน และโครงสร้างต่าง ๆ การขนส่งระบบตู้สินค้า การทำความสะอาดเมือง การรดน้ำต้นไม้ ระบบการจัดการพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ อุทยานประวัติศาสตร์ วนอุทยาน อุปกรณ์ประกอบถนน (street furniture) พื้นที่สำหรับเด็กเล็กและผู้ใหญ่ พื้นที่สันทนาการ การใช้ก๊าซ ไฟฟ้า พลังงานเชื้อเพลิงและน้ำ ข้อมูลที่จอดรถ เป็นต้น คล้ายกับ City OS Platform ของกรุงบาร์เซโลน่า
2) “Decide Madrid” เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ คล้ายกับ Decidim ของบาเซโลนาเช่นกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การดำเนินการของภาครัฐในเมืองมาดริดมีความโปร่งใส โดยขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ ซึ่งที่น่าสนใจมากคือรวมไปถึงการใช้จ่ายเงินงบประมาณของสภาเมือง ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ (1) การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budgeting) ซึ่งประชาชนสามารถจัดทำข้อเสนอการใช้จ่ายสำหรับโครงการต่างๆ ในเมืองมาดริดได้ในวงเงินรวม 100 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,700 ล้านบาท (2) ประชาชนสามารถพัฒนาข้อเสนอเพื่อพัฒนากฎหมายใหม่ในเขตอำนาจศาลของสภาเมืองได้โดยตรง (3) ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับการดำเนินการของสภาเมืองผ่านกระบวนการปรึกษาหารือได้ โดยตรง (Consultations) และ (4) ประชาชนสามารถเสนอข้อเสนอแนะหรือข้อคัดค้านที่เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ กับสภาเมืองได้ ในช่วงที่ผ่านมา Decide Madrid ประสบความสำเร็จในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ในโครงการสร้างจัตุรัส “Plaza de España” ของเมือง ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีประชาชนเกือบ 3 หมื่นคนที่มีส่วนร่วมในการเสนอและลงคะแนนเสียง
ตัวอย่างการพัฒนาเมืองที่สำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน กระตุ้นและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงรองรับการขยายตัวของเมือง และรักษาสิ่งแวดล้อม ของกรุงมาดริด มีดังนี้
1) โครงการ Madrid New North (Madrid Nuevo Norte) เป็นโครงการปรับปรุงและพัฒนาเมืองครั้งใหญ่ในเขตตอนเหนือของกรุงมาดริด เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง โดยพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ซึ่งรวมไปถึงโครงการที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งพื้นที่ราว 60% เป็นการก่อสร้างใหม่ ดังนั้น จะเกิดการสร้างงานต่างๆ และพื้นที่ 80% จะเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อที่จะช่วยส่งเสริมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น ใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน และโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน และศูนย์กีฬา เป็นต้น ทั้งนี้ สภาเมืองได้อนุมัติโครงการแล้ว ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างแล้วในปีช่วงปลายปี 2563 และคาดว่าจะใช้เวลา 25 ปีกว่าจะสร้างแล้วเสร็จสิ้นทั้งโครงการภายในปี 2588
2) Madrid Central เป็นโครงการเขตปล่อยควันเสียต่ำ โดยประกาศห้ามให้รถยนต์เก่า ซึ่งเป็นต้นตอของการเกิดมลพิษ วิ่งเข้าเขตเมือง โดยสภาเมืองได้กำหนดเขตพื้นที่ Madrid Central ราว 5 ตารางกิโลเมตรใจกลางเมืองของกรุงมาดริด จากปัญหาความแออัดและมลพิษของเมือง เพื่อลดค่ามลพิษในใจกลางเมืองหลวงลงราวร้อยละ 40 และเป็นการจัดสรรพื้นที่ให้ประชาชนหันมาใช้การเดินเท้า การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ หรือการใช้จักรยานในเมืองแทน ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินการนี้ ทางรัฐบาลท้องถิ่นจะมีการตรวจประเภทและขึ้นทะเบียนรถยนต์แต่ละคันที่ในกรุงมาดริด ซึ่งจะต้องติด “ฉลาก” การปล่อยค่าไอเสียของประเภทรถยนต์ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฮบริด ได้รับการติดฉลาก “eco label” จะได้รับอนุญาตให้สามารถขับเข้ามาในพื้นที่ใจกลางเมืองได้ รวมถึงสามารถจอดรถที่พื้นที่จอดรถสาธารณะได้โดยไม่มีการจำกัดเวลาจอด โดยโครงการนี้ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องมลพิษในเมืองมาดริด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา เมืองมาดริดมีปัญหาผู้เสียชีวิตจากมลพิษพุ่งสูงถึง 30,000 คนต่อปี ตามการรายงานขององค์การสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป
3. การพัฒนาเมืองของประเทศญี่ปุ่น[1]
ในภาพรวมของการพัฒนาเชิงพื้นที่ของญี่ปุ่นนั้น มีปัญหาร่วมกันเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ระดับชาติอยู่อย่างน้อย 3 ประการ คือ 1) ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ 2) ปัญหาการจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และ 3) ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่จึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นจากส่วนกลางร่วมด้วยโดยเป็นหน่วยงานที่ผสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการในพื้นที่ หน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเรียกว่า Japan Smart Community Alliance (JSCA) โดยมีบทบาทในด้านการวิจัยพัฒนาการวางแผนพัฒนาเมืองตามแนวทาง Smart city ในระดับชาติ ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการให้การสนับสนุนช่วยเหลือการพัฒนา Smart City ในระดับพื้นที่ผ่านเครือข่ายทางวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างๆ
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการพัฒนา Smart City 2 เมืองของญี่ปุ่นคือ Fujisawa Smart Town และ Kashiwa Smart Living City โดยทั้งสองเมืองเป็นเทศบาลนคร และเป็นเมืองปริมณฑล (Satellite City) ของมหานครในภูมิภาคคันโตของประเทศญี่ปุ่นหรือมหานครโตเกียว (Tokyo Metropolitan) ซึ่งมีประชากรหมุนเวียนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ซึ่งทั้งสองเมืองนี้ต่างก็ประสบปัญหาร่วมกันในฐานะเมืองปริมณฑล ทั้งปัญหาการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร และเขตที่พักอาศัย รวมถึงปัญหาประชากรแฝง งบประมาณเงินอุดหนุนที่ไม่พอเพียง ปัญหาคุณภาพชีวิตต่างๆ
[1] โครงการวิจัยถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาการบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน สถาบันพระปกเกล้า
3.1 เมือง Fujisawa
เมื่อพิจารณาในระดับพื้นที่ ในกรณีของเมือง Fujisawa นั้น จะพบว่าเป็นเมืองที่มีเขตอุตสาหกรรมหนักอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์บรรทุกของ Isuzu , อุตสาหกรรมเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Panasonic ทำให้เงื่อนไขและสภาพปัญหาที่เมืองเผชิญคือความมั่นคงด้านพลังงาน และปัญหาด้านการจัดการพลังงาน แนวทางการพัฒนาของเมืองจึงมุ่งไปที่การพัฒนา Smart Energy โดยการนำ Concept เรื่อง Smart Power grid และ Smart Reusable Energy เข้ามาใช้ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติในข้อที่ สาม คือ แก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนพลังงาน
ดังนั้น การพัฒนาเมืองจึงเป็นในลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรองรับการพัฒนาระยะยาวไปสู่เมืองอัจฉริยะด้านพลังงาน โดยร่วมกันพัฒนากับ Panasonic และมหาวิทยาลัยโตเกียวช่วยออกแบบระบบและให้คำปรึกษาองค์กรบริหารเมือง และตั้งชื่อโครงการว่าเป็น Panasonic Fujisawa Sustainable Smart Town ซึ่งให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาพลังงานสะอาด เช่น การเน้นใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือน และสาธารณูปโภคสาธารณะต่างๆ และการใช้พลังงานทดแทนต่างๆ เช่น พาหนะไฟฟ้า เพื่อลดCO2 การลดการใช้น้ำด้วยการเก็บกักน้ำฝน เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อตอบโจทย์ระดับประเทศในด้านภัยพิบัติ ยังมีการออกแบบเมืองเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถมีชีวิตรอดได้ด้วยตัวเอง 3 วันจนกว่าจะมีผู้เข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ รวมทั้งการไม่มีเสาไฟฟ้า สายโทรศัพท์ต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุเมื่อมีภัยพิบัติอีกด้วย
3.2 เมือง Kashiwa
เมือง Kashiwa หรือ Kashiwa no ha ในจังหวัดจิบะนั้น มีลักษณะของอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากกรณีเมือง Fujisawa อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากรูปแบบธุรกิจที่ขับเคลื่อนเมืองคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ส่วนอุตสาหกรรมก็เป็นอุตสาหกรรมเบา ได้แก่โรงกลั่นเบียร์ยี่ห้อ Asahi , บริษัทผลิตอาหาร Ito Ham และ บริษัทกลั่นสุรา Nikka Whisky เป็นต้น ทำให้โจทย์การพัฒนาของเมืองตามแนวทาง Smart city ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องพลังงานเป็นประเด็นสำคัญในระยะสั้น แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองเพื่อการอยู่อาศัยอัจฉริยะ (Smart living City) โดยให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ รวมถึงพัฒนาธุรกิจบนฐานของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (เช่น การจัดให้มีลานอพยพหากเกิดเหตุภัยธรรมชาติ) และการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุล้วนรวมอยู่ในแผนการพัฒนาด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ในระดับชาติข้อที่ 1 และ 2
ดังนั้น เมือง Kashiwa no ha จึงมุ่งเน้นพัฒนาระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะด้านการอยู่อาศัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นหลัก เน้นพัฒนาด้านระบบสาธารณะสุข (Smart Care) , ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) และ การอยู่อาศัย (Smart Living) ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ (Smart Industry – Economy)
ขั้นตอนของการดึงดูดผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake Holder) เข้าสู่กระบวนการพัฒนาและเริ่มสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ในกรณีของ Kashiwa นั้น ได้ดึงเอาบริษัท Mitsufudosan ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของพื้นที่เข้ามามีบทบาทหลักในแง่ของการออกแบบระบบและวางผังการพัฒนาเมืองร่วมกับองค์กรเมือง ในขณะที่การออกแบบเทคโนโลยี รวมถึงฐานข้อมูลเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ภายใต้ความร่วมมือของ JSCA ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ภาครัฐ (Public Sector) , ภาคเอกชน (Private Sector : ผู้ประกอบการ และประชาชน) และภาคส่วนการวิจัยและพัฒนา (R&D or Academia Sector)
4. การพัฒนาเมืองของประเทศจีน
กรณีของประเทศจีน มีลักษณะที่แตกต่างไปจาก 2 ประเทศข้างต้น เนื่องจากมีลักษณะที่เป็นการดำเนินนโยบายจากส่วนกลางมากกว่ากล่าวคือ เป็นนโยบายที่ระบุอยู่ในแผนพัฒนา 5 ปีของประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในแผนพัฒนาฉบับที่ 13 (ปี 2016-2020) ต่อเนื่องมาจนถึงแผนพัฒนาฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) ในปัจจุบัน ได้ระบุในเรื่องของการดำเนินนโยบาย China’s Cluster City Plan โดยกำหนดการพัฒนาเป็นกลุ่มเมือง (Cluster) จำนวน 19 City Clusters ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบาย City Cluster ข้างต้น เกิดจากปัญหาในเรื่องของอัตราการเติบโตของประเทศที่ชะลอลง จากการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งในระยะยาวจะค่อนข้างเป็นเรื่องยากที่ประเทศจีนจะสามารถเติบโตได้ในอัตราที่สูงอย่างที่ผ่านมา ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามหากลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ โดยส่วนหนึ่งอาศัยการสร้าง City Cluster เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในเศรษฐกิจเนื่องจากคนเมืองมีแนวโน้มที่จะบริโภคมากกว่าคนที่อยู่นอกเมือง และที่สำคัญในด้านอุปทานหรือการผลิตนั้น เชื่อว่าความเป็นเมืองจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากการประหยัดต่อขนาด การย่นระยะเวลาเดินทาง และประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแรงงานเมื่อมีแรงงานมาอยู่รวมกัน อีกทั้งยังมุ่งหวังให้ชุมชนเมืองพัฒนาเป็นกลุ่มก้อนเพื่อทวีกำลังระหว่างกัน และไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของความเจริญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างกันอีกด้วย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างกลุ่มเมืองที่ใหญ่ที่สุด 3 กลุ่ม ได้แก่
4.1 Greater Bay Area Cluster (GBA)
GBA Cluster ประกอบด้วยเสินเจิ้นเป็นศูนย์กลางและแวดล้อมด้วยกวางโจว ฮ่องกง มาเก๊า โดยจะเห็นได้ว่าเมืองเหล่านี้พื้นฐานเดิมก็เป็นเมืองที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับสูงอยู่แล้ว เป็นที่ตั้งของหัวเว่ย และเทนเซน เจ้าของสิทธิบัตรทางปัญญากว่าครึ่งหนึ่งของจีนทั้งประเทศก็อยู่ในพื้นที่นี้ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น Silicon Valley ของจีน ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่นี้จึงเป็นการต่อยอดเมืองนวัตกรรมและมุ่งต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตด้านต่างๆ
ขนาดพื้นที่ของ GBA คิดเป็นไม่ถึงร้อยละ 1 ของจีนแผ่นดินใหญ่ และจำนวนประชากรในพื้นที่นี้อยู่ที่กว่า 86 ล้านคน คิดเป็นไม่ถึงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งประเทศ แต่ความสำคัญของ GBA คือ การสนับสนุน GDP ของแผ่นดินใหญ่ถึงร้อยละ 12 อยู่ที่ราว 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2562 หรือเรียกได้ว่า มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับเศรษฐกิจของแคนาดา นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า GDP ของเขตเศรษฐกิจนี้จะเติบโตแตะ 4.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2573
GBA Cluster เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลจีนใช้เป็นกลไกในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ รวมความเชี่ยวชาญและความชำนาญของแต่ละมณฑล/เมือง ทั้งในด้านการเงิน การผลิต และเทคโนโลยี ขณะเดียวกันพยายามลดอุปสรรคด้านต่าง ๆ แก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายบุคลากร เงินทุน และเทคโนโลยี ได้สะดวกขึ้น
มณฑลกว่างตุ้งและเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้กรอบ GBA ได้เร่งดำเนินงานด้านกฎระเบียบและโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุน อย่างด้านกฎระเบียบและมาตรการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประกาศมาตรการดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง มาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการยกเว้นภาษีด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นต้น
จากการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูง ทำให้ GBA มีโครงการสำคัญอย่างการสร้างเส้นทางรถยนต์เชื่อมระหว่างฮ่องกง–มาเก๊า–จูไห่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าระหว่าง Sea to Land และ Land to Sea ให้ขนส่งสินค้าได้รวดเร็วขึ้น สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมฮ่องกง–เสินเจิ้น–กวางโจว เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยวและการเดินทางของนักธุรกิจ
นอกจากนี้ GBA เสริมสร้างการพัฒนาร่วมกันระหว่างองค์กร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยในกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า ปรับปรุงระบบกรอบการทำงานที่ประกอบด้วย “Two Corridors” (กวางโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง และกวางโจว-จูไห่-มาเก๊า) และ “Two Pivots” (เขตความร่วมมือด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซินเจิ้น-ฮ่องกงในเหอเทาและเขตความร่วมมือกวางตุ้ง-มาเก๊าในเหิงฉิน) สำหรับนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งชาติที่ครอบคลุมและอำนวยความสะดวกในการไหลของปัจจัยนวัตกรรมข้ามพรมแดน และเร่งการก่อสร้างทางรถไฟระหว่างเมือง ประสานงานรูปแบบการทำงานของท่าเรือและสนามบิน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรการขนส่งและการบิน ปรับปรุงรูปแบบพิธีการศุลกากรให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากร สินค้า และยานพาหนะที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ
4.2 Cluster ปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย
Cluster นี้เน้นไปในเรื่องของการขยายเมืองเพื่อลดความแออัดและปัญหามลพิษของเมืองหลวง โดยมีการย้ายโรงงานออกจากปักกิ่งไปอยู่ในบริเวณโดยรอบเป็นต้น
จีนพยายามจัดลำดับความสำคัญในลดหน้าที่การทำงานของปักกิ่งที่ไม่จำเป็นต่อบทบาทของปักกิ่งในฐานะเมืองหลวง จัดโครงสร้างระบบนโยบายที่สอดคล้องกัน และดำเนินโครงการสำคัญๆ หลายโครงการเพื่อลดภาระหน้าที่ที่ไม่จำเป็นดังกล่าวของเมือง และกระจายความเป็นเมืองออกไปยังพื้นที่ชนบท อาทิ การย้ายโรงงานออกจากปักกิ่งไปอยู่ในบริเวณโดยรอบรวมถึงโรงงานเก่าที่มีปัญหาด้านมลพิษกว่า 2,500 แห่ง ก็จะถูกสั่งปิดถาวรหรือให้ปรับปรุง และทางปักกิ่ง เพิ่มประสิทธิภาพมาตรการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศด้วยการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานถ่านหิน มาใช้พลังงานอื่นที่สะอาดกว่าตามที่พักอาศัย โดยเฉพาะในย่านตัวเมือง จะไม่ให้มีการเผาถ่านหิน ไม่ใช่แค่ตามบ้านเรือน แต่การคมนาคมและใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะที่ปักกิ่งเมืองหลวง ก็ออกนโยบายใช้พลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า แทนพลังงานเดิม โดยสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลสร้างจุดชาร์จแบตอย่างเพียงพอ ขนส่งมวลชนสาธารณะก็ถูกสนับสนุนให้มีการ Transform มาใช้พลังงานไฟฟ้าเช่นกัน อย่างรถเมล์ไฟฟ้า และแท็กซี่ โดยเมื่อปี 2017 ปักกิ่งออกนโยบายเปลี่ยนรถแท็กซี่รุ่นเก่ากว่า 70,000 คัน แทนที่ด้วยรถแท็กซี่ไฟฟ้า นอกจากที่ปักกิ่ง ในจีนมีการใช้รถแท็กซี่ไฟฟ้ามาหลายปีแล้ว เช่น ที่เซินเจิ้น, เซี่ยงไฮ้, หังโจว
นอกจากนี้ปรับปรุงการวิจัยขั้นพื้นฐานและความสามารถด้านนวัตกรรมดั้งเดิมของศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งปักกิ่ง ให้บทบาทอย่างเต็มที่กับบทบาทของเขต รวมไปถึงเร่งการก่อสร้างพื้นที่นำร่องและเขตพัฒนาขั้นต้น และส่งเสริมนวัตกรรมของระบบการจัดการ จีนจะรับรองการพัฒนาคุณภาพสูงของศูนย์บริหารของเทศบาลนครปักกิ่งในเขตตงโจว และส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการของตงโจวกับซาฮะและเซียงเหอในมณฑลเหอเป่ย และยังส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของพื้นที่ใหม่เทียนจินปินไห่
4.3 Cluster กลุ่มปากแม่น้ำแยงซี
Cluster นี้มีเซี่ยงไฮ้ เป็นเมืองหลัก และล้อมรอบด้วย เจ้อเจียง และเจียงซู เป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในประเทศ มีความโดดเด่นจากการเป็นเมืองท่าสำคัญของจีน และเป็นศูนย์กลาง logistic ของจีน จึงพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การต่อเรือ ยานพาหนะพลังงานทางเลือก ระบบรางที่ทันสมัย และเทคโนโลยีการบินและอวกาศ
มณฑลและเทศบาลนครที่อยู่ตามแนวชายฝั่งแม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของจีน ได้รับบทบาทใหม่ที่มีความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกด้วยแนวทางที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจีนจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ป้องกันการพัฒนาที่มากเกินไป และใช้แนวทางแบบองค์รวมเพื่อดำเนินการปกป้องทั้งทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงระดับสากลและระบบอุตสาหกรรม จีนจะเร่งการพัฒนาทางเดินนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแถบนวัตกรรมอุตสาหกรรมตามแนวเซี่ยงไฮ้และหนานจิงในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเพื่อปรับปรุงแม่น้ำแยงซี
นอกจากนี้ ยังเร่งการเชื่อมต่อโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐาน บรรลุความครอบคลุมอย่างเต็มรูปแบบของรถไฟความเร็วสูงในเมืองต่างๆ ในระดับจังหวัดขึ้นไปในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และเริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือน มกราคม 2564 ช่วยส่งเสริมการพัฒนาและการผสานภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ซึ่งประกอบด้วยเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และอันฮุย ด้วยการเชื่อมต่อทางรถไฟความเร็วสูงหลายสายทั่วทั้งภูมิภาค และส่งเสริมการกำกับดูแลแบบบูรณาการของกลุ่มท่าเรือ อีกทั้ง ยังพัฒนาสนามบินนานาชาติหงเฉียวให้เป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างบทบาทของ Lingang New Area ของ Shanghai Pilot Free Trade Zone (FTZ) ในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดอย่างเข้มข้น และพัฒนาร่วมกันของ FTZ นำร่องในเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู เจ้อเจียงและอันฮุย และเร่งการแบ่งปันบริการสาธารณะและเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายทรัพยากรการศึกษาและการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพสูงอีกด้วย
โดยสรุป จะเห็นได้ว่า การพัฒนาเชิงพื้นที่ของแต่ละประเทศมีแนวนโยบายที่ความแตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากปัญหาหรือ Pain Point ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ที่แตกต่างกัน เพื่อตอบโจทย์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเหมาะสมภายใต้บริบทของประเทศและพื้นที่นั้นๆ บทเรียนจากประเทศเหล่านี้น่าจะช่วยจุดประกายให้การพัฒนาเชิงพื้นที่ของไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและยั่งยืนต่อไป
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
ดร. กวิน เอี่ยมตระกูล
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงษ์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน