บทความโดย
ชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
วิมล ปั้นคง
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
1. สถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งในมิติของการส่งออก การจ้างงาน และจำนวนผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานที่มีจำนวนมากกว่า 2,500 ราย และประเทศไทยยังคงรักษาความเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยผลิตรถยนต์จำนวนมากกว่า 1.9 ล้านคัน ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็กและรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า ในปี ระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2565 มีจำนวน MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่ขึ้นทะเบียนกับ สสว. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2554 มีจำนวน 2,357 รายและเพิ่มขึ้นไปสูงสุดในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 5,989 ราย และหลังจากนั้นจำนวน MSMEs ในอุตสาหกรรมดังกล่าวก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในพ.ศ. 2565 มี MSMEs ในอุตสาหกรรมดังกล่าวที่ขึ้นทะเบียนกับ สสว. จำนวน 2,504 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Enterprises) จำนวน 1,513 ราย ผู้ประกอบการขนาดย่อม (Small Enterprises) จำนวน 789 ราย และผู้ประกอบการขนาดกลาง (Medium Enterprice Enterprises) จำนวน 202 ราย ตามลำดับ รายละเอียดดังภาพที่ 1
เมื่อพิจารณาในที่ตั้งสถานประกอบการของในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศไทย ซึ่งรวม MSMEs และวิสาหกิจขนาดใหญ่ จะพบว่า ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนส่วนใหญ่ 3 อันดับแรก จะตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคกลาง ตามลำดับ โดยสถานประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนสถานประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ จำนวนสถานประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมีจำนวนเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับภาพรวมของจำนวน MSMEs ในประเทศไทย จากข้อมูลของ สสว. ณ สิ้นปี 2565 สถานประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมีจำนวน 1,501 ราย ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 1,525 ราย รายละเอียดดังภาพที่ 2
สำหรับการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์พบว่า ณ สิ้นปี พ.ศ. 2566 มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 41,116.55 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศมาโดยตลอด ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าหมวดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 70 ของหมวดอุตสาหกรรมดังกล่าวที่ส่งออกไปต่างประเทศ รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 3 และ 4 ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของหมวดย่อยสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่ครองสัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 70 ของหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่ส่งออกไปจะพบว่า รถยนต์นั่งครองสัดส่วนการส่งออกมากที่สุด ตามมาด้วยส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ รถปิคอัพ รถบัสและรถบรรทุก และรถแวน ตามลำดับ รายละเอียดปรากฏดังภาพที่ 5
ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาข้อมูลการส่งออกสินค้าของ MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจาก Dashboard SME Big Data ของ สสว. พบว่า สินค้าส่งออกในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่ส่งออกระหว่างปี พ.ศ. 2556 – 2566 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท และมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในปี พ.ศ. 2564 มากกว่า 31,154 ล้านบาท อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่า สัดส่วนการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ซึ่งครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกรวมในหมวดอุตสาหกรรมดังกล่าว ตามมาด้วยผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยตามลำดับ รายละเอียดปรากฏดังภาพที่ 6
จากข้อมูลล่าสุดของสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม (2566) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดเผยประเทศปลายทางการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ณ พฤษภาคม พ.ศ. 2564 พบว่า ประเทศส่งออกหลักของสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมดังกล่าว 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 2) สหรัฐอเมริกา 3) แอฟริกาใต้ 4) อินโดนีเซีย 5) มาเลเซีย 6) เวียดนาม 7) อินเดีย 8) อาร์เจนตินา 9) จีน และ 10) บราซิล อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยเฉพาะจากการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้าได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกัน มาตรการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน (US – China Trade War) ส่งผลให้ภาคการผลิตไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่แปรผันอย่างรวดเร็ว และกระตุ้นให้ผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
จากข้อมูลข้างต้นที่ได้นำเสนอไปจึงเป็นสาเหตุผลให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ สคพ. เลือก MSMEs ของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ดำเนินการศึกษา และประเมินศักยภาพการส่งออกในอนาคต โดยดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยการประเมินศักยภาพและส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) (โครงการวิจัยฯ)
2. การประเมินศักยภาพของ MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
สำหรับโครงการวิจัยฯ คณะผู้วิจัยได้ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแบบแบบสอบถามเพื่อใช้สำหรับประเมินศักยภาพการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และได้จัดส่งให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนกว่า 100 ราย โดยแบบสอบถามดังกล่าวได้แบ่งประเด็นคำถามออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ข้อมูลพื้นฐานของสถานประกอบการที่ร่วมตอบแบบสอบถาม และ 2) การประเมินศักยภาพในการขยายตลาดการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ จากการประเมินคำตอบจาก MSMEs ที่ร่วมตอบแบบสอบถามดังกล่าว พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 40 ของตัวแทนสถานประกอบการที่ตอบแบบสอบถามมองว่าความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ในด้านการเติบโต ร้อยละ 64 คาดว่าอุตสาหกรรมจะเติบโตต่ำในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการแข่งขันในระดับสูง ได้แก่ การลงทุนในเครื่องจักรใหม่ คุณภาพผลิตภัณฑ์ และการเข้าถึงตลาดสมัยใหม่ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกในระดับสูง ได้แก่ การขยายการผลิต ข้อมูลการตลาด และ การคุ้มครองสิทธิบัตร สำหรับการส่งออก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ส่งออกอยู่แล้วกว่า 73 ราย มีแผนจะขยายการส่งออกต่อไป โดยเป้าหมายหลักคือ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และ อเมริกา
3. ปัญหาและอุปสรรคของ MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำด้านการผลิตยานยนต์เพื่อส่งออกในภูมิภาคเอเชีย และส่งผลให้ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของประเทศไทยมีความเข้มแข็งจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมจากการอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน อย่างไรก็ดี จากกระแสความนิยมของยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลกได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุปสงค์ในรถยนต์ที่มีระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน จากสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไปสู่ยานยนต์พลังงานสะอาดได้ส่งผลกระทบต่อ MSMEs ในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของประเทศไทยที่เป็นกลไกสำคัญในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองต่อบริษัทผลิตยานยนต์สัญชาติต่างประเทศ เพื่อส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการศึกษาของคณะผู้วิจัย โดยการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการสามารถสรุปปัญหาและอุปสรรคของ MSMEs ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและส่งผลกระทบต่อการขยายตลาดการส่งออกไปต่างประเทศได้ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไม่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ :
อ้างอิงการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนการประกอบในโรงงานผลิตรถยนต์ หรือชิ้นส่วน OEM ในประเทศไทยมีความสามารถแข่งขันในกลุ่มชิ้นส่วนรถกระบะเป็นหลัก นอกจากนี้ ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของประเทศไทยยังคงเสียเปรียบด้านคุณภาพเมื่อเทียบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในต่างประเทศ
(2) เสียเปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน
จากการศึกษาพบว่า จากกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าได้ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายในมีแนวโน้มหดตัวลง และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ขยับตัวไปแข่งขันในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้ากลับต้องเผชิญปัญหาด้านต้นทุน เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่แหล่งผลิตวัตถุดิบหลักของยานยนต์ไฟฟ้า เช่น มอเตอร์และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้าไปแข่งขันในอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย โดยเฉพาะที่มีลักษณะเป็น MSMEs ขาดอำนาจต่อรองของกับผู้ผลิตยานยนต์ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ และประเทศไทยยังขาดศูนย์วิจัยและทดสอบมาตรฐานชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่
(3) เผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier)
หลายประเทศได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน และรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นได้เริ่มประกาศใช้มาตรการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นโยบายแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป ซึ่งได้มีการประกาศบังคับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) การกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิก จากการดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบสำคัญต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีลักษณะเป็น MSMEs ในประเทศไทยในฐานะผู้รับจ้างผลิตที่ใช้วัตถุดิบที่อยู่ในข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งถ้าไม่สามารถปรับตัวได้ทันอาจจะต้องแบกรับต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้น และสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด รวมถึงความสามารถในการแข่งขันในอนาคต
(4) การขาดแคลนการสนับสนุนจากภาครัฐที่เพียงพอ
ที่ผ่านมา หลาย ๆ รัฐบาลจะได้มีความพยายามที่จะสนับสนุนผู้ประกอบในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนผ่านการดำเนินมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSMEs ทั้งการสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน การสนับสนุนด้วยนโยบายภาษีผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้เกิดการขยายการลงทุน รวมถึงการสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการขยายตลาดไปต่างประเทศให้แก่ MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากกระแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการ MSMEs ในอุตสาหกรรมดังกล่าวประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ไม่สามารถเข้าถึงการสนับสนุนดังกล่าวจากภาครัฐได้
4. ข้อเสนอแนะจากการศึกษา
จากผลการศึกษาจะเห็นว่าในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยประกอบด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก เช่นเดียวกับด้านการส่งออกที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีบทบาทหลักเช่นกัน อย่างไรก็ตาม MSMEs ในอุตสาหกรรมนี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ และยังบางส่วนยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าสู่ตลาดส่งออก แต่อย่างไรก็ตาม MSMEs ยังคงเผชิญกับความท้าทายสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ความท้าทายเหล่านี้ส่งผลให้ MSMEs ต้องปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้คณะผู้วิจัยได้ทำผลประเมินจากแบบสอบถามเพื่อใช้สำหรับประเมินศักยภาพการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมาใช้ประกอบการพิจารณา และสามารถสรุปข้อเสนอได้ดังนี้
(1) ส่งเสริมการเข้าสู่ตลาด (Market Entry Promotion)
ภาครัฐจำเป็นต้องทำงานเชิงรุกทางด้านการตลาด ร่วมมือกับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงสถาบันการศึกษาจัดทำฐานข้อมูลด้านการตลาดเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการขยายตลาดการส่งออก เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มของ MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถมองเห็นโอกาสในการทำตลาดสินค้าต่าง ๆ ในตลาดต่างประเทศใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถไปจัดแสดงสินค้า ณ งานเทศกาลหรืองานแสดงสินค้าต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะตลาดการส่งออกที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่ายธุรกิจในระยะยาวและการหาทิศทางความต้องการของลูกค้าใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา หรือการจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้า ณ สำนักงานในต่างประเทศ เพื่อสามารถจัดแสดงสินค้าของผู้ประกอบการได้ตลอดทั้งปี เป็นต้น
(2) ส่งเสริมฐานการผลิตให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
ภาครัฐควรมุ่งเน้นการเสริมสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ของอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตให้เข้มแข็งเช่นเดียวกับที่เคยดำเนินการกับอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในในอดีต ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาสร้างมาตรฐานให้แก่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์แห่งอนาคตที่เป็น MSMEs ให้มีคุณภาพและสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตชาวต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาควรเข้ามามีส่วนสำคัญในการผลักดันนวัตกรรมใหม่ ๆ นอกจากนี้ ควรสนับสนุน MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนผลิตในเชิงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับกระแสความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความตระหนักเรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
(3) เสริมสร้างความสามารถทางเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการและบุคลากร
ภาครัฐควรผนึกกำลังกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา รวมถึงบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติอื่นที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งอนาคตที่ทันสมัยและพร้อมที่จะถ่ายทอด รวมถึงฝึกฝนองค์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าวให้แก่บุคลากรในประเทศไทยผ่านการยกระดับทักษะ (Upskill) รวมถึงการสร้างทักษะ (Reskill) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้สำหรับรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียข้างต้น ร่วมพัฒนาต่อยอดหลักสูตรการอบรมตามที่ได้ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้แก่สถานประกอบการ MSMEs รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต
(4) สนับสนุนเชิงนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
การดำเนินมาตรการส่วนใหญ่จะมีลักษณะ One-size-fit-all กล่าวคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่น ๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่อดังกล่าวได้เช่นเดียว และธนาคารผู้เป็นเจ้าของสินเชื่อจะมุ่งเน้นการพิจารณาความครบถ้วนในการจัดส่งเอกสารของผู้ประกอบการมากกว่าการพิจารณาแผนธุรกิจและประเมินความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ
5. บทสรุป
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และมีผู้ประกอบการ MSMEs มากกว่า 2,500 รายที่เกี่ยวข้องกับผลิตชิ้นส่วนและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมนี้ การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์สำเร็จรูปเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน อย่างไรก็ตาม MSMEs ในอุตสาหกรรมนี้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการแข่งขันกับผู้ผลิตจากประเทศอื่นที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เช่น จีน และอินเดีย นอกจากนี้การลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน แต่ MSMEs หลายรายยังขาดแคลนเงินทุนและความเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการผลิต จากการศึกษาของ พบว่า ภาครัฐยังคงมีบาทบาทสำคัญที่จะมีส่วนช่วย MSMEs ในอุตสาหกรรมดังกล่าวให้สามารถเผชิญความท้าทายและขยายตลาดการส่งออกไปยังต่างประเทศไทยในอนาคตได้
นอกจากนี้คณะผู้วิจัยได้พิจารณาข้อมูลการศึกษาร่วมกับการประมวลผลจากแบบสอบถามในการประเมินศักยภาพที่ได้จัดทำร่วมกับคณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสามารถสรุปข้อเสนอแนะในการส่งเสริมให้ MSMEs ในอุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถขยายตลาดการส่งออกไปต่างประเทศได้ จำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ส่งเสริมการเข้าสู่ตลาด 2) ส่งเสริมฐานการผลิตให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น 3) เสริมสร้างความสามารถทางเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการและบุคลากร และ 4) สนับสนุนเชิงนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
สุดท้ายนี้ สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจรายงานการศึกษาฉบับเต็มของ”โครงการวิจัยการประเมินศักยภาพการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ประเทศไทย” ซึ่งนอกจากจะมีรายละเอียดการศึกษาของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนแล้ว ยังมีรายละเอียดการศึกษาของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมแฟนชั่น สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ สคพ. (https://www.itd.or.th/en/)
กิตติกรรมประกาศ
บทความฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการประเมินศักยภาพและส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ปีงบประมาณ 2566 โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
อ้างอิง
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร. (ม.ป.ป). ข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย. https://tradereport.moc.go.th/th
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน). (2567).การประเมินศักยภาพการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMES) ประเทศไทย.https://www.itd.or.th/en/
สำนักงานส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม. (2566). สินค้าชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์. https://www.ditp.go.th/contents_attach/963608/963608.pdf
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. (ม.ป.ป). Dashboard SME Big Data. https://www.smebigdata.com/home
________. (ม.ป.ป). ชุดข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. https://data.go.th/dataset/number-of-employment
นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นายวิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย สถาบันระหว่างประเทศ
เพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
ผู้เขียน