บันทึกนักเดินทาง บาวาเรีย: ดินแดนแห่งปราสาทเทพนิยาย

บันทึกนักเดินทาง บาวาเรีย: ดินแดนแห่งปราสาทเทพนิยาย

บทความโดย ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ

หนึ่งในงานอดิเรกสมัยเด็กๆ ของเราคือการต่อจิ๊กซอว์ เวลาว่างส่วนใหญ่ของเราจึงหมดไปกับการคัดแยกจิ๊กซอว์ตามสีและลวดลาย ก่อนที่จะค่อยๆ บรรจงวางชิ้นส่วนแต่ละชิ้นตามแบบหลังกล่อง ด้วยจิตใจที่จดจ่อกับการเรียงร้อยกระดาษชิ้นเล็กๆ เหล่านี้ให้เป็นภาพที่สมบูรณ์

จิ๊กซอว์โปรดของเราคือภาพปราสาทหลังใหญ่ราวกับหลุดออกมาจากเทพนิยายเรื่องเจ้าหญิงนิทรา (หรือถ้าเป็นฉบับย่อก็สวนสนุกแดนเนรมิต) ตั้งตระหง่านอยู่บนเขาสูงกลางป่า มีทิวทัศน์เทือกเขาสลับซับซ้อนอยู่ลิบๆ เป็นฉากหลัง ที่กล่องมีคำบรรยายเขียนไว้เพียงว่า Schloss Neuschwanstein

ถึงแม้ชื่อของปราสาทแลดูแปลกแปร่งสำหรับเด็กประถมปลายตอนนั้น แต่กลับติดอยู่ในความทรงจำของเราอย่างมิรู้ลืม เสียแต่ว่า จิ๊กซอว์ภาพนั้นชิ้นส่วนหายไปชิ้นหนึ่ง เราจำได้ดีว่าเป็นชิ้นส่วนของด้านหน้าปราสาท ทำให้ภาพของปราสาทเทพนิยายในความทรงจำของเราเว้าแหว่งไปไม่สมบูรณ์

หากสมัยนั้นมีเครื่องมือค้นหาอย่างกูเกิ้ล เราคงทราบได้ทันทีว่าปราสาทนอยชวานสไตน์แห่งนี้ ที่ถึงจะชื่อยาวอ่านยาก แต่พอจะกล้อมแกล้มแปลเป็นไทยได้ว่า “ปราสาทหงส์หินใหม่” (Neu = New, Schwan = Swan, Stein = Stone) ตั้งอยู่ที่แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี สมัยเรายังนั่งต่อจิ๊กซอว์สมัยเด็กๆ นั้น เยอรมนียังแบ่งแยกเป็น 2 ประเทศฝั่งตะวันตกและตะวันออกอยู่ แคว้นบาวาเรียแห่งนี้มีชื่อเสียงดังก้องโลก นับตั้งแต่เมืองหลวงอย่างเมืองมิวนิค (อ่านออกเสียงแบบเยอรมันว่ามึนเช่น – München) ที่เป็นบ้านของสโมสรฟุตบอลบาเยิร์นมิวนิคชื่อดัง รถยนต์หรูยี่ห้อ BMW ซึ่งย่อมาจาก Bayerische Motoren Werke (แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Bavarian Motor Works หรือ “ยานยนต์บาวาเรีย”) หรือเทศกาลเบียร์อ็อคโตเบอร์เฟส (Oktoberfest) ไปจนถึงเมืองน้อยใหญ่ในแคว้นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่สำหรับเราแล้ว บาวาเรียคือความฝันเพราะปราสาทในจิ๊กซอว์หลังนั้น ปราสาทที่ดิสนี่ย์นำไปใช้เป็นต้นแบบของปราสาทเจ้าหญิงนิทราในการ์ตูนเรื่อง Sleeping Beauty

เวลาผ่านไปนับสิบๆ ปี กว่าเราจะได้เติมเต็มความฝันนี้ ด้วยเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ สู่สนามบินมิวนิค ซึ่งเป็นหนึ่งในสนามบินที่ดีที่สุดของยุโรประดับ 5 ดาวจากการจัดอันดับของ Skytrax ปีล่าสุด เราใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมงกว่าๆ บนฟ้า (ไม่นับเวลาต่อเครื่อง) ไม่กี่อึดใจก็มาถึงมิวนิค จากสนามบินเรานั่งรถไฟ S-Bahn หรือที่เราแอบตั้งชื่อเล่นให้ว่า “รถหวานเย็น” เพียงครึ่งชั่วโมงนิดๆ ก็ถึงที่พักที่เราจองไว้ ซึ่งอยู่ย่านโมซาค (Moosach) แถบตะวันตกเฉียงเหนือของมิวนิคที่ห่างจากใจกลางเมืองและจุดแลนด์มาร์คของตัวเมืองพอสมควร ด้วยว่าเราตัดสินใจยังไม่ท่องเที่ยวในตัวเมืองมิวนิควันนี้ แต่อยากเก็บแรงไว้เพื่อการเดินทางในวันรุ่งขึ้นมากกว่า เวลาที่ต่างกับเมืองไทยถึง 5 ชั่วโมงในฤดูร้อน ทำให้เราสลบไสลไปตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า

จริงๆ แล้ว การเดินทางจากมิวนิคไปยังปราสาทนอยชวานสไตน์นั้นแสนสะดวกเหมือนการเดินทางภายในยุโรปทั่วๆ ไป โดยนักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถไฟจากสถานีรถไฟมิวนิด (München Hauptbahnhof) ไปยังเมืองฟุเซ่น (Füssen) แล้วนั่งรถบัสต่ออีกราวๆ 15 นาที แต่เพราะเราอยากลองสัมผัสประสบการณ์บนเส้นทางสายโรแมนติก (Romantische Strasse หรือ Romantic Road) ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สวยงามผ่านภาคใต้ของเยอรมนี การเช่ารถจึงตอบโจทย์เราได้ดีที่สุด

บนเส้นทางสายโรแมนติก

หลังจากรับรถเช่าที่ศูนย์ ซึ่งไม่ไกลจากโรงแรมที่พักเท่าไหร่ พร้อมกับพยายามปรับสมองให้ชินกับการขับรถชิดขวาพวงมาลัยซ้าย ล้อรถก็ได้ฤกษ์หมุนสักที เราออกจากเมืองมิวนิคด้วยเอาโต้บาห์น (Autobahn หรือ Motorway) สาย 99

ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้ลองขับรถบนเอาโต้บาห์นที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพของถนนที่จากประสบการณ์แล้ว เราขอยกให้เป็นที่ 1 ในโลก อีกทั้งไม่มีการจำกัดความเร็วอีกด้วย ซึ่งต้องชื่นชมความมีวินัยในสายเลือดของคนเยอรมันที่ขับรถกันอย่างเป็นระเบียบ ถึงแม้ว่าบางช่วงจะใช้ความเร็วกันชนิดที่ทำให้คนกรุงเทพฯ อย่างเราหวั่นใจเมื่อมองเห็นตัวเลขความเร็วบนหน้าปัด แต่รถทุกคันก็ “ซิ่ง” อย่างมีระเบียบ คือเมื่อแซงเรียบร้อยแล้วก็จะค่อยๆ เรียงแถวเข้าเลนขวาเสมือนว่าตนเป็นรถช้าทันที ถึงแม้ว่าขณะนั้นจะขับกันอยู่ที่ความเร็วกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ตาม

ปราสาทนอยชวานสไตน์ ปราสาทโฮเฮนชวานเกา และโบสถ์นักบุญโคโลมัน
 (Kirche St. Coloman

จากเอาโต้บาห์นสาย 99 เรามุ่งหน้าลงทางใต้บนเอาโต้บาห์นสาย 96 เพื่อจะเข้าสู่เส้นทางสายโรแมนติกที่เมืองลันดส์แบรก์ อัมเลค (Landsberg am Lech) ซึ่งตลอดเส้นทางเราจะได้ขับรถบนถนนสายเล็กๆ แค่พอรถสวนกันได้ ผ่านเมืองเล็กๆ ระหว่างทาง แต่หากใครมีเวลาจำกัด สามารถใช้ถนนสาย 17 แทนได้ ซึ่งสาย 17 เป็นเส้นเลี่ยงเมือง สามารถใช้ความเร็วได้มากกว่า เพราะสุดท้ายแล้ว ถนนสาย 17 ก็จะบรรจบกลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายโรแมนติกจนไปถึงเมืองฟุเซ่นในที่สุด

ทันทีที่เราเลี้ยวซ้ายครั้งสุดท้ายก่อนเข้าหมู่บ้านโฮเฮนชวานเกา (Hohenschwangau) ภาพของปราสาทในความทรงจำวัยเด็กของเราก็ปรากฏให้เห็นอยู่ไกลลิบๆ มีเทือกเขาสูงเป็นฉากหลัง ด้านขวามือเป็นที่ตั้งของปราสาทขนาดย่อมที่มีชื่อเดียวกับหมู่บ้าน เราจึงรีบหลบเข้าข้างทางเพื่อรัวชัตเตอร์ น่าเสียดายว่าถ้าหากมาถูกจังหวะ ทุ่งหญ้าที่อยู่เบื้องหน้าเราจะเต็มไปด้วยดอกไม้ป่าสีเหลืองบานสะพรั่งตัดกันกับสีฟ้าใสๆ ของท้องฟ้า แต่น่าเสียดายที่วันนี้นอกจากฟ้าจะครึ้มฝนตกปรอยๆ แล้ว ในทุ่งหญ้ายังไม่มีดอกไม้ป่าให้เราเห็นสักดอก ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะฮัมเพลง “เสียดาย” ของพี่เบิร์ดอยู่ในใจ

เราไปถึงหมู่บ้านโฮเฮนชวานเกาตอนใกล้เที่ยง หลังจากแวะรับประทานอาหารกลางวันง่ายๆ สไตล์บาวาเรียน อันประกอบไปด้วยไส้กรอกนานาชนิด เราก็รีบเดินไปดูที่ห้องขายตั๋วเพื่อจะได้พบกับมวลมหาประชาชนที่ต่อแถวยาวเหยียด กะด้วยสายตาน่าจะเกินร้อยคน อาจเพราะวันนี้เป็นวันเสาร์ต้นฤดูร้อน เป็นวันฮอตฮิตสำหรับครอบครัวชาวเยอรมันที่จะพาบุตรหลานมาทัศนศึกษากัน

ทันใดนั้น เราเหลือบไปเห็นเจ้าหน้าที่ถือป้ายที่เขียนหวัดๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า “Next Round 4.30”

เราใจแป้วทันที เพราะถ้าเราเข้าปราสาทนอยชวานสไตน์ได้ตอนสี่โมงครึ่งอย่างที่ป้ายบอก กว่าจะชมปราสาทเสร็จก็ไม่น่าเข้าชมที่อื่นที่ตั้งใจไว้ได้ทัน และตามแผนการแล้ว วันต่อไปเราจะเดินทางออกจากพรมแดนเยอรมนีแล้ว และกว่าจะกลับมาอีกทีก็ใกล้บินกลับเมืองไทย ด้วยความที่รู้สึกมืดแปดด้าน ทำให้ขาของเราก้าวเดินออกจากแถวโดยที่ไม่รู้ตัวเลย รู้ตัวอีกทีเราก็ไปยืนอยู่หน้าเจ้าหน้าที่สาวชาวเยอรมันหน้าตาเคร่งขรึมคนหนึ่ง เราสูดลมหายใจลึกๆ ในใจพลางนึกถึงกิตติศัพท์ของคนเยอรมันที่ใครต่อใครมักบ่นว่าเฮี้ยบและเคร่งครัดต่อกฎที่สุดในยุโรป ก่อนที่จะลำดับเรื่องราวของเราเป็นภาษาอังกฤษให้เธอฟังชุดใหญ่ พร้อมทั้งคิดในใจว่า ณ จุดนี้เราไม่มีอะไรจะเสีย ถ้าเธอไม่สามารถช่วยอะไรเราได้ เราก็จะเข้าใจ และก็แค่เดินกลับไปต่อคิวเหมือนเดิมแค่นั้นเอง

แต่ปรากฏว่าผิดคาด เจ้าหน้าที่คนนั้นรีบแนะนำให้เรารีบไปซื้อตั๋วคู่สำหรับเข้าปราสาทในแคว้นบาวาเรียกี่แห่งก็ได้ภายใน 14 วัน ราคาใบละ 44 ยูโร[1] ซึ่งช่องซื้อตั๋ว 14 วันดังกล่าวนั้นยังว่างอยู่ พร้อมทั้งจองทัวร์ปราสาทนอยชวานสไตน์รอบเกือบสุดท้ายตอนหกโมงเย็นไว้ให้โดยไม่ต้องลัดคิวใคร และบอกให้เรามุ่งหน้าไปปราสาทหลังต่อไปก่อนที่จะกลับมาเข้าชมปราสาทตามรอบของเรา ก่อนเดินจากเธอมาเธอยังย้ำกับเราอีกด้วยว่าให้เรากลับมาถึงหมู่บ้านโฮเฮนชวานเกาก่อนห้าโมงเย็นนะ จะได้มั่นใจได้ว่าได้ชมปราสาทแน่ๆ

เรากล่าวคำขอบคุณเธอไปนับสิบครั้ง พลางรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของเธอที่พยายามหาทางช่วยเราอย่างสุดความสามารถโดยที่ไม่ต้องฝ่าฝืนกฎ นี่คงเป็นเนื้อแท้ของคนเยอรมันสินะ ที่ถึงแม้จะแลดูเข้มงวดแต่ก็เปี่ยมด้วยน้ำใจพร้อมทั้งความตั้งใจเกินร้อยที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

เมื่อได้ตั๋วแล้ว เราจึงรีบบึ่งรถออกจากหมู่บ้านโฮเฮนชวานเกา มุ่งหน้าไปยังจุดหมายต่อไปทันที ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เราตั้งใจไว้ว่าจะต้องมาเยือนให้ได้หากมีโอกาส เนื่องจากตอนเด็กๆ มีผู้ใหญ่ที่นับถือซื้อซีดีของโจฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) คีตกวีชื่อดังก้องโลกชาวเยอรมัน เป็นของฝากจากต่างประเทศ หน้าปกเป็นรูปพระราชวังหลังเล็กๆ มีน้ำพุอยู่ด้านหน้า บนปกซีดีมีเครดิตรูปภาพอยู่ว่า Linderhoff Palace เมื่อค้นคว้าต่ออีกนิดเราจึงได้ทราบว่าพระราชวังลินเดอร์ฮอฟนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากปราสาทนอยชวานสไตน์นัก เราจึงตั้งใจไว้ว่าหากมีโอกาสได้มาเที่ยวนอยชวานสไตน์เมื่อไร จะไม่พลาดแวะเยือนลินเดอร์ฮอฟด้วยอย่างแน่นอน

พระราชวังลินเดอร์ฮอฟตั้งอยู่ในเมืองเอทตัล (Ettal) ใกล้กับชายแดนเยอรมนี-ออสเตรีย ถ้าขับรถจากโฮเฮนชวานเกาจะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงหย่อนๆ เท่านั้น แต่เส้นทางที่สั้นที่สุดจะต้องขับรถบนเอาโต้บาห์น ข้ามพรมแดนเยอรมนีเข้าไปในเขตออสเตรีย ก่อนจะกลับเข้ามาในเยอรมนีอีกครั้ง ถึงจะฟังดูซับซ้อน แต่การข้ามพรมแดนเยอรมนี-ออสเตรียนั้นแทบไม่มีสัญลักษณ์บ่งบอกเลยว่าเรากำลังออกจากประเทศใดไปยังประเทศใด ถ้าจะมีก็มีเพียงป้ายภาษาเยอรมันที่หากมองผ่านๆ ก็อาจสังเกตไม่เห็น เนื่องจากความรู้ภาษาเยอรมันของเรายังค่อนข้างจำกัด กว่าจะรู้ตัวอีกทีเราก็กำลังออกจากออสเตรียกลับเข้ามาในเยอรมนีแล้ว ดังนั้น ก่อนออกจากเขตเมืองฟุเซ่น เราจึงต้องซื้อสติ๊กเกอร์ติดหน้ารถ (Vignette) ของออสเตรียจากปั๊มน้ำมันแถวนั้นเพื่อเป็นการชำระค่าทางหลวงของออสเตรียล่วงหน้า สติ๊กเกอร์ราคา 8 ยูโร1 ใช้ได้ 10 วัน คนขายบอกเราว่าให้แปะไว้ตรงด้านในของกระจกหน้ารถในมุมที่มองเห็นได้ชัด ไม่จำกัดว่าด้านซ้ายหรือขวา

ทิวทัศน์ระหว่างทาง ใกล้พรมแดนเยอรมนี-ออสเตรีย

ถนนสายเล็กมุ่งหน้าสู่พระราชวังลินเดอร์ฮอฟนั้นเลาะเลียบเทือกเขาและทะเลสาบ เส้นทางสุดแสนจะคดเคี้ยวทำเอาทั้งคนขับและผู้โดยสารเมารถไปตามๆ กัน แต่ยังดีที่มีทิวทัศน์ข้างทางสวยๆ เป็นการชดเชย โดยเฉพาะทะเลสาบพลานซี (Plansee) ที่ตั้งอยู่ในเขตออสเตรีย เป็นทะเลสาบขนาดไม่ใหญ่นักตั้งอยู่เบื้องหน้าทิวเขาน้อยใหญ่ น้ำในทะเลสาบนั้นใสและไหลเย็น จนเราต้องขอแอบแวะเอามือวักน้ำขึ้นมาลูบหน้าให้รู้สึกสดชื่นคลายเจ็ทแล็ก

ทะเลสาบพลานซี
น้ำพุหน้าพระราชวังลินเดอร์ฮอฟ ด้านหน้าของตำหนัก

เพียงไม่นานเราก็มาถึงพระราชวังลินเดอร์ฮอฟ ทันทีที่รถจอดเรารีบเข้าไปจองทัวร์ทันที เพราะพระราชวังลินเดอร์ฮอฟนี้ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมปราสาทเองโดยลำพังได้ เราดูนาฬิกาที่บอกเวลา 14.15น. อีกครู่หนึ่งจึงจะถึงรอบที่จองไว้ เราจึงเดินเตร็ดเตร่อยู่ด้านหน้าเพื่อรอเวลา ทันทีที่นาฬิกาบอกเวลา

พระเจ้าลุดวิกที่ 2 แห่งบาวาเรีย

14.30 น. น้ำพุที่อยู่ด้านหน้าก็ถูกเปิดขึ้น ความสูงของน้ำถึงเกือบ 25 เมตรสะกดสายตาทุกคู่และกล้องถ่ายรูปทุกตัวของนักท่องเที่ยวไว้ที่น้ำพุสีทองอร่าม พร้อมๆ กับที่ได้เวลารอบทัวร์ของเราพอดี

ด้านหน้าของพระราชวังลินเดอร์ฮอฟ
ที่จะเปิดน้ำพุทุกครึ่งชั่วโมง

พระราชวังลินเดอร์ฮอฟเป็นวิลล่าหลังย่อมๆ สร้างและตกแต่งในแบบของศิลปะสมัยร็อคโคโค่ (Rococo) โดยพระเจ้าลุดวิกที่ 2 (Ludwig II) แห่งบาวาเรีย เจ้าของสมญา “กษัตริย์เทพนิยาย” (Fairytale king) “พระราชาที่โรแมนติกที่สุดในโลก”กษัตริย์ผู้ฟั่นเฟือนแห่งบาวาเรีย” ฯลฯ เป็นผู้สั่งสร้างด้วยแรงบันดาลใจจากพระราชวังแวร์ซายส์ในฝรั่งเศส ว่ากันว่าพระเจ้าลุดวิกที่ 2 นี้หมกมุ่นกับการสร้างปราสาทพระราชวังหลายแห่งในแคว้นบาวาเรียและผลาญเงินของราชวงศ์ไปสูงลิ่ว จนสุดท้ายถูกเหล่าขุนนางโค่นล้มและอัญเชิญพระอนุชาของพระองค์ขึ้นครองราชย์แทนก่อนที่จะสิ้นพระชนม์อย่างปริศนาไม่กี่วันต่อมา เหลือไว้เพียงปราสาทพระราชวังที่ทรงออกแบบและสั่งสร้าง ตลอดจนผลงานอุปรากรของริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) ซึ่งทรงชื่นชอบและเป็นองค์อุปถัมป์ เป็นดั่งมรดกที่ทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลังให้ศึกษา โดยพระราชวังลินเดอร์ฮอฟและปราสาทนอยชวานสไตน์ที่เราได้เยี่ยมชมในโอกาสนี้ ก็ล้วนแต่เป็นผลงานของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 ทั้งสิ้น

ห้องบรรทม ภาพจาก http://www.schlosslinderhof.de/

เหตุที่พระราชวังลินเดอร์ฮอฟมีกลิ่นอายของพระราชวังแวร์ซายส์ในแง่ของสถาปัตยกรรมและการตกแต่ง ก็เป็นเพราะพระเจ้าลุดวิกที่ 2 คนนี้ทรงชื่นชมในตัวพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ผู้ดำริให้สร้างพระราชวังแวร์ซายส์เป็นอย่างมาก ถึงขั้นว่าทรงมองว่าพระองค์เป็นดั่งเงาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้รับการขนานนามว่า “สุริยกษัตริย์” (le Roi-Soleil หรือ The Sun King) พระองค์ก็ควรเป็น “จันทรากษัตริย์” (The Moon King) เป็นคู่กัน และให้สมกับที่ทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในเวลากลางคืน

วิวจากเขาหลังพระราชวัง

ภายในของพระราชวังลินเดอร์ฮอฟแบ่งเป็น 2 ชั้น แต่ละชั้นมีห้องเพียงไม่กี่ห้อง ใช้เวลาเดินทัวร์เพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็เก็บได้หมด น่าเสียดายที่ห้ามถ่ายภาพด้านในของพระราชวังเพราะการตกแต่งนั้นช่างวิจิตรประณีต หันไปทางไหนก็เห็นแต่สีทองมลังเมลืองแต้มตัดกับเฟอร์นิเจอร์และผนังแต่ละด้าน สมกับค่าก่อสร้างที่สูงถึงกว่า 8 ล้านมาร์กในสมัยนั้น

ปราสาทโฮเฮนชวานเกา
ระหว่างทางเดินขึ้นไปปราสาทนอยชวานสไตน์

หลังจากออกมาจากทัวร์ เราเดินสำรวจบริเวณพระราชวังและสวนด้านนอกอยู่อีกครู่หนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจไม่เข้าชมถ้ำวีนัส (Venus Grotto) เพราะกลัวจะกลับไปไม่ทันรอบเข้าปราสาทนอยชวานสไตน์ น่าเสียดายเหมือนกันเพราะว่ากันว่าถ้ำวีนัสเป็นถ้ำจำลองที่พระเจ้าลุดวิกที่ 2 สั่งให้สร้างขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจจากอุปรากรของวากเนอร์เรื่อง Tannhäuser ภายในถ้ำมีทะเลสาบจำลองและน้ำตก เพื่อให้พระเจ้าลุดวิกที่ 2 สามารถเข้าชมถ้ำอย่างได้อรรถรสบนเรือทองคำลำน้อย เสมือนหลุดมาจากอุปรากรเรื่องดังกล่าว

เราบึ่งรถออกมาจากลินเดอร์ฮอฟ ก่อนเวลาที่ตั้งใจไว้เล็กน้อย ทำให้กลับมาถึงหมู่บ้านโฮเฮนชวานเกาเร็วกว่าที่กำหนด การเดินทางจากหมู่บ้านขึ้นเขาไปยังปราสาทนอยชวานสไตน์มีหลายวิธีตั้งแต่นั่งรถโค้ชคันใหญ่ที่ค่าโดยสารคนละ 2-3 ยูโร ไปจนถึงเหมารถม้า

แต่ในเมื่อเรามาถึงก่อนเวลา เราจึงเลือกเดินขึ้นเขาเพื่อชมบรรยากาศไปพลางๆ ป้ายบอกว่าใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 40 นาที แต่ทางเดินนั้นแม้จะร่มรื่นแต่ก็ค่อนข้างชันทีเดียว ถึงเราจะวิ่งออกกำลังเป็นประจำแต่ก็มีจังหวะที่ต้องหยุดพักดื่มน้ำและสูดลมหายใจลึกๆ ตรงข้างทางบ้าง พลางเหลือบมองคนบาวาเรียน ทั้งหนุ่มสาวและผู้สูงอายุที่หลงใหลการเดินป่า โดยแต่งกายชุดเดินป่ากันอย่างเต็มยศ เดินซอกแซกขึ้นเขาทางลัดซึ่งชันและเต็มไปด้วยหินและกรวด เราถอนหายใจแล้วก้าวเดินต่อไปบนทางสายหลัก ระหว่างทางมีป้ายบอกระยะเวลาในการเดินถึงปราสาทโดยประมาณตั้งอยู่เป็นระยะทำให้ใจชื้นขึ้นได้บ้าง สุดท้ายเราขึ้นมาถึงด้านหน้าปราสาทก่อนจะถึงรอบที่เราจองไว้เล็กน้อย จึงใช้เวลาระหว่างรอเดินสำรวจรอบๆ

ภายนอกของปราสาทนอยชวานสไตน์

อันที่จริง ปราสาทนอยชวานสไตน์ถือว่าเป็นปราสาทที่ค่อนข้างใหม่ อายุไม่ถึง 150 ปี ถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะชวนให้คิดถึงปราสาทยุคกลางเมื่อพันปีที่แล้วก็ตาม เพราะพระเจ้าลุดวิกที่ 2 ได้มีพระดำริก่อสร้างปราสาทนอยชวานสไตน์เมื่อปี ค.ศ. 1868 หลังจากที่วางแผนมาหลายปี ด้วยความหลงใหลในวรรณกรรมยุคกลางและอุดมคติอัศวิน พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ตั้งใจสร้างปราสาทนอยชวานสไตน์ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งพักพิงทางใจยามที่ต้องการหลบหนีออกจากโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้ายและวุ่นวายเข้าสู่โลกของอัศวินยุคกลางที่แสนรัก

ท้องพระโรง ภาพโดย Joseph Albert via Wikimedia Commons

ภายในปราสาทนอยชวานสไตน์ตกแต่งแบบยุคกลาง เครื่องเรือนส่วนใหญ่ทำจากไม้ มีห้องหับมากมาย บ้างได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะยุคกลางแบบสมัยใหม่ บ้างสร้างขึ้นเพื่อจำลองฉากจากอุปรากรของวากเนอร์ คีตกวีคนโปรดของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 แม้ว่าตัวปราสาทจะสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ตามที่ผู้สร้างได้ตั้งใจไว้ก็ตาม น่าเสียดายที่เราไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพด้านในปราสาทเช่นเดียวกับพระราชวังลินเดอร์ฮอฟ เพราะห้องที่เป็นไฮไลต์ของปราสาท ไม่ว่าจะเป็นท้องพระโรง (Throne Hall) หรือหอนักร้อง (Hall of the Singers) นั้น ราวกับพาเราหลุดไปอยู่ยุคกลางที่เต็มไปด้วยอัศวินในชุดเกราะหรือเจ้าหญิงเจ้าชายเลยทีเดียว แต่ที่น่าหดหู่ คือห้องบรรทมของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ถูกปลุกขึ้นกลางดึกของคืนวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1886 จากคนของรัฐบาลบาวาเรียที่ถูกส่งมาคุมตัวพระองค์ไปจากปราสาท โดยอ้างว่าทรงป่วยเป็นโรคจิตเภทไม่อาจบริหารราชการแผ่นดินได้ และขอแกมบังคับให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ก่อนจะสิ้นพระชนม์อย่างปริศนาในอีก 3 วันต่อมา

ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าชมปราสาทนอยชวานสไตน์ปีละกว่า 1.4 ล้านคน  ทำรายได้ให้รัฐบาลบาวาเรียเป็นจำนวนมาก หากดวงวิญญาณของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 สามารถรับรู้ได้ คงจะโสมนัสไม่น้อย ที่มีคนหลายล้านคนมาเยือนปราสาทของพระองค์ด้วยความชื่นชม และร่วมใช้เวลาสั้นๆ จินตนาการถึงเจ้าชาย เจ้าหญิง ชีวิตในยุคกลาง และอัศวินขี่ม้าขาวในเทพนิยาย ที่เป็นภาพแจ่มชัดในมโนจิตของ พระองค์แต่ไม่มีใครในสมัยนั้นเข้าใจ

สะพาน Marienbrücke

หลังจากจบรอบทัวร์ปราสาท เรารีบมุ่งหน้าไปที่จุดสุดท้ายของการเยี่ยมชมปราสาททันที ด้วยว่าจุดสุดท้ายนี้เป็นทีเด็ด เพราะเป็นสถานที่ในความทรงจำยามเยาว์วัยของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 นั่นคือสะพานของพระนางแมรี่ (Queen Mary’s Bridge หรือ Marienbrücke) ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมกลางหุบเขา อยู่ห่างจากตัวปราสาทไปประมาณ 10 นาที จากสะพานของพระนางแมรี่ เราจะมองเห็นด้านข้างของปราสาทนอยชวานสไตน์ได้ชัดเจนที่สุด แต่เนื่องจากสะพานอยู่ระดับที่สูงกว่าตัวปราสาทพอสมควร ทำให้ระยะทาง 10 นาทีเป็นการเดินที่ใช้กำลังขาพอสมควรเพราะเป็นการเดินขึ้นเขาตลอดทาง

เมื่อมาถึง เรารีบก้าวขึ้นสะพานทันที พื้นสะพานโยกเยกเล็กน้อยตามน้ำหนักนักท่องเที่ยวหลายสิบคนที่อยู่บนสะพาน แต่เมื่อมองไปทางซ้ายมือ เราก็ได้พบกับภาพที่คุ้นเคย ภาพที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กแต่ไม่เคยงดงามและสมบูรณ์เช่นนี้มาก่อน ภาพของปราสาทนอยชวานไสตน์ยามต้องแสงอาทิตย์อัสดง… จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายได้ถูกวางลงล็อคแล้ว จิ๊กซอว์แห่งวัยเด็กของเรา ปราสาทในเทพนิยายที่เราใฝ่ฝันถึงตั้งแต่เด็ก บัดนี้เป็นภาพแห่งความจริงที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า

ปราสาทนอยชวานสไตน์เมื่อมองจากสะพาน Marienbrücke

เรายืนมองปราสาทเบื้องหน้าอยู่นานจนเริ่มสัมผัสได้ถึงอากาศที่เย็นลงตามพระอาทิตย์ที่เริ่มคล้อยต่ำ เป็นสัญญาณบอกว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกล่าวคำลากับนอยชวานไสตน์ เราหันหลังให้กับภาพทิวทัศน์ที่คุ้นเคยจากกล่องจิ๊กซอว์ พลางถอนหายใจด้วยความโล่งอกว่าภาพแห่งความทรงจำในวัยเด็กของเราเป็นภาพที่ถูกเติมเต็มแล้ว และคงเป็นภาพเดียวกันที่พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ทรงวาดฝันไว้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ระหว่างเดินกลับ เราสวนทางกับเด็กน้อยหลายคนที่กำลังกึ่งวิ่งกึ่งเดินอย่างสนุกสนานไปยังปราสาท ถึงแม้จะหมดเวลาเข้าชมแล้วแต่เด็กๆ เหล่านั้นคงจะเดินไปดูวิวปราสาทจากสะพานของพระนางแมรี่ เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเด็กๆ จะเคยเห็นปราสาทหลังนี้จากไหนกันนะ? อาจจะเป็นการ์ตูนเรื่องเจ้าหญิงนิทรา หรือาจจะเป็นจิ๊กซอว์เหมือนที่เราเคยเล่นก็ได้.


[1] ราคา ณ มิถุนายน 2558