บทความโดย
ดร.เกริกฤทธิ์ ฉายศิริกุล
“การค้าชายแดน” เป็นการค้าระหว่างประเทศรูปแบบหนึ่ง ที่มีพื้นฐานมาจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีพรมแดนทางบกติดต่อกัน หรือแม้จะมีแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน แต่หากมีทำเลที่ตั้ง สภาพทางภูมิศาสตร์และเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อกัน มีการไปมาหาสู่กัน มีภาษาและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน มีลักษณะทางกายภาพ รวมถึงวิถีการดำรงชีวิตที่คล้ายกัน ก็มีโอกาสในการค้าขายร่วมกันได้ โดยในปัจจุบัน ความเจริญได้เข้าไปสู่ชุมชนชายแดนมากขึ้น เกิดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปมีส่วนผลักดันให้เมืองชายแดนเติบโตเป็นเมืองแห่งโอกาส และเป็นประตูการค้าที่มีรูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย เช่น ตลาดการค้าชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ศูนย์การขนส่งชายแดน การท่องเที่ยวเมืองชายแดน นอกจากนี้ การค้าชายแดนได้พัฒนารูปแบบทางการค้าออกไปอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งการค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยผ่านด่านศุลกากร และการค้าชายแดนแบบไม่เป็นทางการ (การค้าที่ไม่ผ่านด่านศุลกากร
ไม่ปฏิบัติพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง โดยอาจเป็นการค้าขายสินค้าเล็กน้อยที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันตามแนวชายแดนไปจนถึงการลักลอบหนีศุลกากร) รวมถึง การค้าผ่านแดน เพื่อส่งออก-นำเข้าสินค้าผ่านพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดไทยไปและ/หรือมาจากประเทศที่สาม เช่น เวียดนาม จีนตอนใต้ สิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง (Disruptive Technology & Innovation) รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุข ที่เห็นได้ชัด คือ การปิดประเทศ ปิดเมือง หรือการปิดด่านการค้าต่างๆ การจำกัดการเดินทาง และการทำงานที่บ้าน (Work From Home) รวมถึงการใช้วิถีชีวิตปกติแบบใหม่ (New Normal) การอยู่ในสังคมโลกเสมือนจริง (Virtual World) และการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจวิถีใหม่ (New Normal Economy) ด้วยการทำธุรกรรมหรือการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล ทั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจวิถีใหม่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนของไทยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น มาตรการปิดด่านชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มาตรการคัดกรองบุคคลข้ามแดนหรือจำกัดรถสินค้า การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ มาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานขนส่งและพาหนะที่ใช้ขนส่ง มาตรการด้านกฎระเบียบสุขอนามัยพืชและสัตว์ที่อาจเป็นพาหะนำเชื้อโรค รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้กับการค้าระหว่างประเทศ การปฏิบัติพิธีการศุลกากร ธุรกรรมการเงินออนไลน์ การผ่านแดนของคนและสินค้าด้วยช่องทางระบบดิจิทัลที่อาจส่งผลให้เกิดการค้าชายแดนวิถีใหม่ที่ท้าทายและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
สำหรับประเทศไทย การค้าชายแดนเริ่มเป็นที่รู้จักและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ภายหลังการประกาศใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าเมื่อปี พ.ศ. 2531 (ประมาณ 35 ปี จนถึงปัจจุบัน) ประกอบกับประเทศไทยมียุทธศาสตร์การค้ามุ่งสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องแสวงหาแหล่งวัตถุดิบและตลาดระบายสินค้า ซึ่งไม่มีที่ใดเหมาะสมเท่ากับตลาดการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีพรมแดนติดต่อกัน มีความพร้อมด้านภูมิศาสตร์และวัตถุดิบ รวมทั้งยังเป็นแหล่งลงทุนสำหรับธุรกิจไทยในอนาคต ทั้งนี้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการค้าชายแดนเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) เริ่มมีการวางบทบาทเมืองชายแดนให้เป็นประตูการค้าที่สำคัญของประเทศ โดยการเปิดด่านการค้าชายแดนเพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค โดยมีการให้ความสำคัญกับการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ระบุถึงเป้าหมายการส่งเสริมการลงทุน การค้าชายแดน และการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ในหมุดหมายที่ 5 กำหนดให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยจะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการคมนาคมขนส่งของอาเซียน มีการกำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องนำไปปฏิบัติ เหล่านี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าการค้าชายแดนมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมาทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจวิถีใหม่ที่อาจเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าชายแดนในอนาคต อาทิเช่น Stay-at-home Economy คือการมีบ้านเป็นที่ทำงาน ห้องประชุม และมีกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล Touchless Society เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดการสัมผัส ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นสำคัญ e-Payment คือระบบการชำระเงินค่าสินค้าและบริการแบบออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน การสั่งงานด้วยเสียง (Voice Recognition) รวมทั้งการจำลองโลกเสมือนจริง (Augmented Reality) และการเกษตรแบบออร์แกนิกเชิงฟื้นฟู (Regenerative Organic) ที่ให้ความสำคัญกับการรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึง การดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เห็นได้จากการลดการใช้ภาชนะพลาสติกและโฟม การเพิ่มพลังงานทางเลือกหลายรูปแบบเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ และการเข้ามาของรถไฟฟ้าอีวีในภาคการขนส่ง
ทั้งนี้ ในส่วนของการค้าชายแดน ผู้เขียนมีความเห็นว่า การเข้ามาของ “Disruptive Innovation” หรือ นวัตกรรมทางธุรกิจที่ได้สร้างสินค้าและบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดหรือครอบครองตลาดส่วนใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง จึงเป็นการแทนที่ธุรกิจเดิมหรือสร้างตลาดใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่และมีผลกระทบสูงต่อตลาดตามที่กล่าวมาข้างต้น อาจเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการค้าชายแดนจากการค้าขายหน้าร้านหรือค้าขายผ่านตัวแทนแบบเดิมขึ้นมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์โดยผู้ซื้อสามารถติดต่อกับผู้ขายได้โดยตรงและมีแพลตฟอร์มทางการค้ารองรับและอำนวยความสะดวกรองรับการทำสัญญาซื้อขาย การทำธุรกรรมทางการเงิน จนถึงการให้บริการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร สอดคล้องกับ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินว่า e-Commerce จะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมต่างๆ ครอบคลุมกิจกรรมตั้งแต่การสั่งซื้อสินค้า การขนส่งสินค้า การผ่านพิธีการศุลกากร และการชำระเงิน เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมด้านดิจิทัลสูงและมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง ร้อยละ 69.5 เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ และเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยร้อยละ 59.5 คนไทยใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ตต่อวันมากถึง 8.44 ชั่วโมง (ใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5.07 ชั่วโมง/วัน) โดยเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ มากถึงร้อยละ 83.6 นอกจากนี้ แนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจน คือการเข้ามาของกลุ่มบริษัทอาลีบาบา (Alibaba Group Corporate) กลุ่มบริษัทค้าปลีกออนไลน์อันดับหนึ่งของประเทศจีน ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้านการค้าบนระบบดิจิทัล แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการท่องเที่ยวไทย การจัดตั้งศูนย์ส่งออกสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ณ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อขยายช่องทางการซื้อขายระหว่างประเทศจีนและไทย รวมถึงการค้าผ่านแดนและข้ามแดนรูปแบบใหม่ (Cross-Border e-Commerce: CBEC) ซึ่งเป็นวิธีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไปยังเขตปลอดอากร (Free Trade Zone) หรือคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) โดยผ่านกฎระเบียบพิเศษของทางศุลกากร และจำหน่ายผ่านทางแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce อาทิเช่น ประเทศจีนมีแพลตฟอร์ม Tmall Global, Kaoka.com, Jingdong International และ Suninginternationnal รองรับการค้าในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งเป็นวิธีการนำเข้าที่สะดวก และใช้เอกสารน้อยกว่าการนำเข้าแบบทั่วไป สำหรับความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง CBEC และการส่งสินค้าไปจีนปกติ คือ การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี การปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรที่รวดเร็วและยกเว้นเอกสารควบคุมหรือใบอนุญาตต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกทั้งหมด (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1: ความแตกต่างระหว่าง Cross-Border e-Commerce และการนำเข้าแบบทั่วไป (กรณีสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาต)
ประเด็น/ข้อพิจารณา | Cross-Border e-Commerce | การนำเข้าแบบทั่วไป |
1. ภาษีศุลกากร | ยกเว้นภาษีศุลกากร (ไม่ต้องใช้ใบรับรองแหล่งกำเนิด) | เสียภาษีศุลกากรตั้งแต่ร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 40 (ประเทศในอาเซียนต้องใช้ใบรับรองแหล่งกำเนิด C/O เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีศุลกากร) |
2. ภาษี | ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 13 (ชำระเพียงร้อยละ 70 ของภาษีต้องเสีย) | ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 13 (ชำระเต็มจำนวน) |
3. วิธีการเก็บภาษี | สามารถนำของเข้าไปยังเขตปลอดอากรหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน และสามารถผ่านพิธีการศุลกากรแบบพิเศษ รวมถึงการชำระภาษีก็ต่อเมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้า | ชำระภาษีทันทีที่มีการนำเข้าสินค้า |
4. ใบอนุญาตนำเข้า | ยกเว้นการขอใบอนุญาตนำเข้า | ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า |
5. ใบรับรองมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า | ไม่มีข้อกำหนดด้านกฎระเบียบและการควบคุมที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นการสุ่มตรวจสอบคุณภาพของสินค้าโดยศุลกากร | ต้องมีใบพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าขาเข้าและขาออก รวมถึงใบอนุญาต/ใบรับรองสินค้าที่เกี่ยวข้อง |
6. ช่องทางการจำหน่าย | จำหน่ายได้เฉพาะบนแพลตฟอร์มออนไลน์ CBEC | จำหน่ายได้ทุกช่องทาง ทั้งทางออนไลน์และหน้าร้าน |
7. วิธีการขนส่ง | ส่งตรงจากต่างประเทศ หรือส่งจากคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) ในประเทศจีน | ส่งจากโกดังสินค้าในจีน |
8. กลุ่มเป้าหมาย | เหมาะกับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการค้าขายตลาดจีน | แบรนด์สินค้าที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ ผ่านการทำวิจัยในตลาดจีนแล้ว |
9. ข้อดี | ประหยัดเวลาในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ลดจำนวนพ่อค้าคนกลางในห่วงโซ่อุปทาน สามารถขนส่งตรงจากต่างประเทศทีละชิ้น เมื่อมีการสั่งซื้อ ป้องกันความเสี่ยงกรณีขายสินค้าไม่ได้สินค้าหมดอายุหรือเสียหายจากการเก็บรักษา | – ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เนื่องจากสามารถขนส่งสินค้าไปเก็บไว้ที่โกดังของบริษัทตัวเองในจีนก่อนล่วงหน้า ซึ่งจะประหยัดกว่าการขนส่งตรงจากต่างประเทศทีละน้อยชิ้น เมื่อมีการสั่งซื้อ – ส่งของให้ลูกค้าได้รวดเร็วกว่า |
10. ข้อเสีย | – จำกัดและควบคุมช่องทางจำหน่ายโดยรัฐบาลจีน – อุปสรรคด้านภาษาที่ใช้ภาษาจีนเป็นหลัก – มีสินค้าที่คล้ายกัน/เหมือนกันบนแพลตฟอร์ม CBEC จำนวนมาก | – ต้นทุนการดำเนินงานสูง – กระบวนการส่งออก-นำเข้าแบบปกติ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของทางการจีนอย่างเคร่งครัด – อาจมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในสินค้าที่มีการควบคุมของทางการจีน (Non-Tariff Barriers: NTBs) |
สำหรับ กรณีของการค้าไทย-จีน ทางการจีนสนับสนุนให้มีการทำธุรกรรมการค้าข้ามประเทศผ่านช่องทางออนไลน์และแอปพลิเคชันต่างๆ แล้วใช้การขนส่งด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายจีน-ลาว (China-Laos Railway) โดยต้นทาง ณ ด่านโม่ฮาน มณฑลยูนาน ประเทศจีน มีระบบคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) และโลจิสติกส์รองรับอย่างครบวงจร เพื่อจัดส่งสินค้าที่มีความต้องการสูงจากต่างประเทศโดยเฉพาะ จากนั้นจึงส่งผ่านขบวนรถไฟขนส่งสินค้าข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แล้วจึงขนถ่ายสินค้าและปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ ด่านศุลกากรหนองคาย ส่งผลให้สามารถจัดส่งสินค้าได้ทันทีเมื่อมีคำสั่งซื้อ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพด้านต้นทุนค่าขนส่งและโลจิสติกส์ (แผนภาพที่ 1)
แผนภาพที่ 1: เส้นทางการขนส่งสินค้าทางบก จีน-ไทย
จากที่กล่าวมาข้างต้น ภายใต้การเติบโตของนวัตกรรมทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้การค้าออนไลน์ข้ามแดนจะเข้ามาเป็นแนวโน้มหลักของการค้าชายแดนในอนาคตที่หลากหลายทั้งในรูปแบบ B2B B2C และ C2C ซึ่งจะเป็นจังหวะและโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการค้าชายแดน ต้องมีความพร้อมที่จะปรับตัว ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และเปิดโอกาสในการทำธุรกิจมาสู่รูปแบบการค้าออนไลน์ข้ามแดนที่ไม่จำกัดเฉพาะตลาดจีนแต่ยังมีตลาดใหญ่ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง นั้นคือ ตลาดประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม) ภายใต้บริบททางการค้าที่มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลมาร์เก็ต การขนส่งที่มีความหลากหลาย (Multimodal Transport) มากขึ้น กิจกรรมการค้าชายแดนแบบเดิมอาจต้องปรับเปลี่ยนไป สำหรับโครงการในอนาคต รัฐบาลไทยได้เตรียมพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม ซึ่งมีการเตรียมพื้นที่บริเวณสถานีประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าและปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่ทันสมัย รวมถึง จัดวางระบบการเปลี่ยนถ่ายจากทางถนนสู่ระบบราง รองรับสินค้าข้ามแดนจากลาว-จีนและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างครบวงจร เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นประตูการค้าชายแดนและเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียนในอนาคต
สำหรับเนื้อหาในบทความต่อไป ผู้เขียนจะนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มหรือแนวคิดด้านการบริหารจัดการชายแดนรูปแบบใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น แนวโน้มการผ่านแดนของคนและสินค้าแบบไร้รอยต่อด้วยการออกแบบเชิงนวัตกรรม (Frictionless by design) แนวโน้มการมีและเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพ (มีความน่าเชื่อถือและเป็นข้อเท็จจริง) ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง (From trust to true) และแนวโน้มการมาของพรมแดนเสมือนจริงในโลกเสมือนจริง (Virtual frontier) ขอบคุณครับ
เอกสารอ้างอิง:
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. “ข้อมูลการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนสาธารณรัฐประชาชนจีน (Cross-Border e-Commerce).” (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: https://www.ditp.go.th/contents_attach/ 584566/584566.pdf, 2562.
เกริกฤทธิ์ ฉายศิริกุล. “ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าชายแดนของกรมศุลกากร เพื่อรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ กรณีศึกษา ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา.” (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.fpojournal.com/case-of-sadao-customs-house-in-songkhla, 2566.
ธนาคารกรุงเทพ. “มองแนวโน้มตลาดค้าชายแดน 2564 ความหวังอยู่ตรงไหน?” (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokbanksme.com/en/cbec, 2564.
ธนาคารแห่งประเทศไทย. “เศรษฐกิจติดดิน: เปิดประตูการขนส่งเส้นทางใหม่คว้าโอกาสให้การค้าไทยจากรถไฟจีน – ลาว”, BOT พระสยาม Magazine. 1 (มกราคม – มีนาคม 2565). หน้า 42-45.
วราวุฒิ เรือนคำ. “การค้าชายแดน โอกาสภายใต้วิกฤต Covid-19.” (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://iiu.oie.go.th/images/hotissue/pdf/20200815120156.pdf, 2563.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. “คาด E-Commerce ดันการค้าชายแดน เพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 2566.” กระแสทรรศน์: K-Econ Analysis. 24 (2928), 2561. หน้า 1-8.
Canham J., Ellanti, P., Fanguy, M., Berger, S., and Pollman, P. “Borders 2030: From vision to reality Trends shaping the future of border services.” (Online). Available: https://www.accenture.com/us-en/insightsnew/public-service/borders-2030, 2022.
Christensen, C.M., Raynor, M.E., and McDonald, R. “What Is Disruptive Innovation?” (Online). Available: https://hbr.org/2015/12/what-is-disruptive-innovation. 2015.
ดร.เกริกฤทธิ์ ฉายศิริกุล
ด่านศุลกากรภูเก็ต กรมศุลกากร
ผู้เขียน