บุรีรัมย์โมเดล เมืองต้นแบบของการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์

บุรีรัมย์โมเดล เมืองต้นแบบของการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์

บทความโดย
นางสาวจรัลรัตน์ พงศ์ภานุสิทธ์
นางสาวนภัสวรรณ บุญช่วย

ในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายให้สามารถปลูก หรือสูบกัญชาได้อย่างเสรี เช่น ประเทศแคนนาดา สหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก โดยเฉพาะในประเทศแคนนาดา ที่อนุญาตให้สูบกัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างเต็มที่ มาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2561 แต่กำหนดอายุขั้นต่ำที่จะซื้อหากัญชาได้ตั้งแต่อายุ 18 หรือ 21 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละจังหวัด สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน รัฐบาลได้ประกาศให้กัญชาถูกกฎหมาย หรือประกาศปลดล็อคกัญชาเสรี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้ในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์ ส่วนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ยังคงต้องขออนุญาต และถือได้ว่าเป็นสมุนไพรควบคุม ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

          บทความนี้จะนำทุกท่านไปยังจังหวัดนำร่องของการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการปลูกกัญชาแบบเกษตรอินทรีย์ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับกัญชาได้เป็นอย่างดี แต่ก่อนที่เราจะพูดถึงการดำเนินงานของจังหวัดบุรีรัมย์นั้น เรามาทำความรู้จักกับจังหวัดบุรีรัมย์กันก่อน บุรีรัมย์ ความหมายตามชื่อของเมืองคือ เมืองแห่งความรื่นรมย์ที่น่าอยู่สำหรับคนในท้องถิ่นและเป็นเมืองที่น่ามาเยือนสำหรับคนต่างถิ่น บุรีรัมย์มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูได้จากแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ดังแสดงในภาพที่ 1  

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543-2563
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เมื่อเรามองในส่วนของภาคการผลิต พบว่า ภาคเกษตรกรรม ถือเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจบุรีรัมย์ โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 23 จากภาคการผลิตทั้งหมด ซึ่งหากเทียบกับสัดส่วนผลิตภัณฑ์จังหวัดของทั้งประเทศ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 9 และ 20 จากภาคการผลิตทั้งหมด (ดังภาพที่ 2)
ยิ่งไปกว่านั้น ความสำคัญของภาคเกษตรกรรมยังส่งผลให้ ในปัจจุบัน บุรีรัมย์กลายเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนแปลงจากการปลูกสมุนไพรพื้นบ้านสู่การปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ และต่อยอดไปถึงพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของจังหวัดบุรีรัมย์

ภาพที่ 2 สัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดในแต่ละภาคของการผลิต ปีพ.ศ. 2563
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการคำนวณของผู้เขียน

เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดและการบริหารจัดการอุตสาหกรรมกัญชาของจังหวัดบุรีรัมย์มากยิ่งขึ้น สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และวารสารการเงินการคลัง ได้มีโอกาสสัมภาษณ์
คุณธนพร พรสง่ากุล นักวิชาการวิสาหกิจ ศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จังหวัดบุรีรัมย์ เกี่ยวกับการดำเนินงาน และผลกระทบต่าง ๆ ของการพัฒนาบุรีรัมย์โมเดล โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

คุณธนพร พรสง่ากุล
นักวิชาการวิสาหกิจ ศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน

1.บทบาทและหน้าที่ของวิสาหกิจเพลาเพลินฯ

          วิสาหกิจเพลาเพลินฯเริ่มมีบทบาทและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกัญชาในส่วนของต้นน้ำมาก่อน กล่าวคือ การปลูกกัญชาเชิงการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นตัวยา และส่งต่อให้กับโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง แต่ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนหน้าที่ของอุตสาหกรรมกัญชาในส่วนของปลายน้ำเพิ่มมากขึ้น ผ่านการปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ โดยทำการปลูกกัญชงเพื่อส่งต่อไปให้กับภาคอุตสาหกรรม และต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เนื่องจากกัญชงมีสรรพคุณในการต้านการอักเสบเป็นหลัก จึงสามารถนำมารักษาสิวได้ ตัวอย่างของสินค้าจากกัญชงที่ทางวิสาหกิจเพลาเพลินฯ ทำการผลิต คือ น้ำมันนวด ครีมบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์กาแฟ และผลิตภัณฑ์ชา

          การปลูกกัญชา กัญชง ของวิสาหกิจเพลาเพลินฯจะใช้การปลูกในรูปแบบระบบปิด ซึ่งโดยทั่วไปสามารถปลูกได้ทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ การปลูกในระบบปิด โรงเรือนเพาะปลูกพืช (Green house) และระบบแปลงเปิด โดยแต่ละรูปแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน กล่าวคือ การปลูกในระบบปิดสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ทั้งหมด แต่การปลูกในรูปแบบนี้มีต้นทุนในการผลิตที่สูง ในส่วนของการปลูกแบบโรงเรือนเพาะปลูกพืช (Green house) จะช่วยป้องกันโรคแมลง แต่ยังคงต้องพบเจอปัญหาเกี่ยวกับความชื้นและเชื้อรา สุดท้ายคือ การปลูกแบบระบบแปลงเปิด จะใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุด แต่อาจพบกับความเสี่ยงในการเกิดโรคแมลง และการปนเปื้อนของสารต่าง ๆ จากบริเวณใกล้เคียง ที่อยู่ในดินหรือน้ำ อย่างไรก็ตาม การปลูกในแต่ละรูปแบบจะให้สารสำคัญต่าง ๆ เช่น CBD และ THC ในปริมาณต่างกัน โดยสามารถเรียงรูปแบบการปลูกที่ให้ปริมาณสารสำคัญมากที่สุดไปน้อยที่สุด ได้แก่ การปลูกในระบบปิด โรงเรือนเพาะปลูกพืช (Green house) และระบบแปลงเปิด ตามลำดับ ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คุณธนพรมีความคิดเห็นว่า สามารถเลือกได้ทั้งรูปแบบโรงเรือนเพาะปลูกพืช (Green house) และการปลูกในระบบปิด เพราะสามารถปลูกได้หลายรอบต่อปี กล่าวคือ การปลูกในระบบปิดจะสามารถปลูกได้ 6 รอบต่อปี และการปลูกแบบโรงเรือนเพาะปลูกพืช (Green house) สามารถปลูกได้ 3 รอบต่อปี

2.การส่งเสริมและการพัฒนาการปลูกกัญชา เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

          การขับเคลื่อนการปลูกกัญชาของจังหวัดบุรีรัมย์สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจนั้น ทางวิสาหกิจเพลาเพลินฯ
ได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอด และแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น การต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ยา โดยทางวิสาหกิจจะทำการผลิตตัวยา เพื่อส่งต่อให้กับโรงพยาบาล
คูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และองค์การเภสัชกรรม นอกจากนี้วิสาหกิจเพลาเพลินฯ ยังได้ร่วมมือกับบริษัทเพลาเพลินฯ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่าง ๆ เช่น น้ำมันนวด เซรั่มบำรุงผิว เป็นต้น ภายหลังจากการนำกัญชามาผลิต
เป็นสินค้าเชิงพาณิชย์สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับวิสาหกิจเพลาเพลินฯได้เป็นอย่างมาก เช่น มูลค่าของสินค้าประเภทชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของกัญชา เพิ่มขึ้นจาก 180 บาทเป็น 250 บาท เนื่องจากการใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ และมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน คือ การปลูกที่ได้มาตรฐาน GAP ทั้งในส่วนของคุณภาพดิน คุณภาพน้ำ และสภาพแวดล้อมในการปลูก การตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ทั้งการตรวจเชื่อรา การตรวจปริมาณสารต่าง ๆ รวมถึงการตรวจวัดการปนเปื้อนของสารต่าง ๆ เช่น โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ ในส่วนของการผลิตสินค้ายังคำนึงถึงมาตรฐาน GMP เช่น การตรวจความคงตัวของสินค้า และการตรวจค่าสารสำคัญของสินค้า เพื่อแจ้งกับทางองค์การอาหารและยา (อย.) ก่อนที่จะนำสินค้าไปจัดจำหน่าย สิ่งเหล่านี้สร้างความน่าเชื่อถือ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์กัญชาและกัญชง ส่งผลให้วิสาหกิจเพลาเพลินฯสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาและกัญชง คิดได้ประมาณร้อยละ 10 – 15 จากราคาสินค้าในรูปแบบเดิม ซึ่งสินค้าที่เพิ่มมูลค่าได้มากที่สุด คือ สินค้าประเภทเครื่องสำอาง

          สำหรับการส่งเสริมการปลูกกัญชา และกัญชง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านในจังหวัดบุรีรัมย์
ทางคุณธนพรให้ความคิดเห็นว่า ควรพิจารณาในส่วนของปลายน้ำก่อน กล่าวคือ ผู้ที่ต้องการปลูกกัญชา กัญชง ต้องรู้ว่าจะนำกัญชา หรือกัญชงไปผลิตสินค้าประเภทใด เพื่อที่จะรู้ว่าควรใช้วิธีการ และกระบวนการในการผลิตอย่างไร นอกจากนี้คุณธนพรยังเสนอว่า ชาวบ้านที่มีเงินทุนไม่สูง อาจจะประกอบธุรกิจอื่น ๆ แทนการปลูกกัญชาและกัญชง เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานในการผลิตสินค้าจากกัญชาและกัญชง ค่อนข้างกว้าง ชาวบ้านอาจเลือกที่จะไปผลิตปุ๋ย หรือดิน เพื่อนำมาจัดจำหน่ายแทน

3.การแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอกวิสาหกิจ

          การดำเนินงานของวิสาหกิจเพลาเพลินฯ พบเจอกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งจากกระบวนการผลิตของวิสาหกิจ และปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายนอกวิสาหกิจ เช่น ปัญหาการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และการเข้าถึงข้อมูลของชาวบ้านที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยปัญหาแรกที่พบคือ รูปแบบในการปลูกกัญชาและกัญชง เนื่องจากมีรูปแบบในการปลูกที่หลากหลาย ทางวิสาหกิจเพลาเพลินฯ จึงพยายามเลือกรูปแบบที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม และลดการบนเปื้อนของสารเคมีได้ดีที่สุด ซึ่งคือการปลูกในระบบปิด เพื่อที่จะสามารถคงสารต่าง ๆ ที่อยู่ในกัญชาและกัญชง เช่น CBD และ THC ไว้ใช้สำหรับทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ในปริมาณที่มากที่สุด การปลูกในรูปแบบนี้ต้องพบกับปัญหาต้นทุนในการปลูกที่สูง แต่สามารถปลูกได้หลายรอบต่อปี จึงสามารถทดแทนในส่วนของต้นทุนการผลิตที่สูงได้ ถัดมาคือปัญหาในการเลือกเมล็ดพันธุ์ เพราะเมล็ดพันธุ์กัญชาและกัญชงในประเทศไทย มีปริมาณสาร THC ที่สูง แต่มีปริมาณสาร CBD ต่ำ โดยทางการแพทย์ การรักษาโรคต่าง ๆ จะใช้สัดส่วนของสาร CBD:THC ที่แตกต่างกัน เช่น การรักษาโรคลมชักจะใช้สัดส่วน 20:1 นอกจากนี้ การผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็มีความต้องการที่จะต้องใช้สาร CBD ที่สูง ทางวิสาหกิจเพลาเพลินฯ จึงพยายามแก้ปัญหา โดยการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ที่มีปริมาณสาร CBD สูง เพื่อลดปริมาณเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก และสามารถผลิตสินค้าจากกัญชาและกัญชงได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ปัญหาสุดท้ายคือ ปัญหาการประชาสัมพันธ์ และการเข้าถึงข้อมูลของชาวบ้าน ทั้งขั้นตอนในการปลูก และการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยแก้ไขผ่านการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงส่งเสริมอุตสาหกรรม และสถาบันอาหาร

4. ผลสำเร็จของการนำกัญชามาเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัด

          การดำเนินงานของวิสาหกิจเพลาเพลินฯ เริ่มมีบทบาทในการพัฒนาการปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการต่อยอด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสินค้า อีกทั้งในปัจจุบัน หลายหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ และเอกชน เริ่มให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมกัญชาและกัญชง เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ มีการให้องค์ความรู้ และการฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อยอด และการสร้างมาตรฐานในการปลูกกัญชา กัญชง ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนากัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัดบุรีรัมย์ ยังสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานในการทำการเกษตรอยู่ก่อนแล้ว จึงถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ เพราะสามารถปลูกกัญชาและกัญชงเป็นอาชีพเสริมได้

5. กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาบุรีรัมย์โมเดล

          กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อต่อยอดให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ สำหรับความคิดเห็นของคุณธนพร คือ ความร่วมมือของทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อขับเคลื่อนให้จังหวัดบุรีรัมย์สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชาได้อย่างสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกกัญชา กัญชง อย่างถูกต้องและครบถ้วน นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอด และพัฒนาการปลูกกัญชา กัญชงทางการแพทย์หรือทางพาณิชย์ ไปสู่ในระดับสากล และได้รับการยอมรับจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก และอีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน คือ ความรู้ ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับกัญชา กัญชง อย่างถูกต้อง เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าของการพัฒนาบุรีรัมย์โมเดลต่อไปในอนาคต