เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต

1. บทนำ

บทความโดย
กันตา ศุขสาตร
ภูริดา ปราบสูงเนิน
ณิชาพัชร์ เจริญศึกษา

          ในปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Situation) ที่ไม่เพียงแต่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน แต่ยังทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนและส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจขึ้นทั่วโลก ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าวและประกาศว่า “โลกในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคโลกร้อน (Global Warming) เข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling)”

          เพื่อแก้ยับยั้งความรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าว ภาครัฐและภาคเอกชนในหลายประเทศทั่วโลกจึงได้หามาตรการเพื่อควบคุมและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง รวมถึงได้ทำความตกลงระหว่างประเทศร่วมกัน อาทิ การเข้าร่วมพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยหลักการของข้อตกลงดังกล่าวได้อนุญาตให้ประเทศต่าง ๆ สามารถกำหนดหลักการซื้อขายก๊าชเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) และอนุญาตให้ประเทศที่ปล่อยก๊าชเรือนกระจกจนในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่เหลือให้แก่ประเทศอื่นได้ หรือที่ในปัจจุบันเรียกกันว่า“คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)”

      ในการนี้ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (กศม.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับวารสารการเงินการคลัง และคณะทำงานบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรมองค์กร สศค. ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก คุณจักรี  พิศาลพฤกษ์ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มาแบ่งปันเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลแอปพลิเคชั่น Webex โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

คุณจักรี  พิศาลพฤกษ์
เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

1. ตลาดคาร์บอน (Carbon Market) หรือตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต

          สำหรับประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้คำนิยามไว้ว่าเป็นสื่อกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยน “คาร์บอนเครดิต” โดยใช้แนวคิดการใช้กลไกตลาดเป็นแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลง และยังทำให้ผู้ที่ก่อมลพิษ หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีต้นทุนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องบรรเทาหรือชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลก และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวน โดยตลาดคาร์บอนสามารถแบ่งได้หลัก ๆ ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

          1.1 ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) ที่ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่่อนุญาตให้ปล่อยในแต่ละปี จากนั้นจะให้ จัดสรรหรือ จัดประมูลสิทธิ/ใบอนุญาตการปล่อย CO2 ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการสามารถนำใบอนุญาตมาซื้อขายแลกเปลี่ยน ได้ตามความต้องการ

          1.2 ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ผู้ประกอบการหรือองค์กรทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตามความสมัครใจ จากโครงการที่มีการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและสามารถนำไปขายให้แก่ผู้ที่ต้องการได้ โดยอาจทำการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายหรือการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้ฮและผู้ขายโดยตรง (Over-the-Counter: OTC) คล้ายกับตลาดหุ้น ซึ่งผู้ประกอบการหรือองค์กรจะซื้อคาร์บอนเครดิตไปทำอะไรไม่ได้มีการบังคับ

2. การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing)

การใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ใด ๆ ที่ส่งผลโดยตรงให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่าย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่

          2.1 ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้เป็นภาคบังคับ (Mandatory) ซึ่งรัฐอาจกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap) และจัดสรรสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปของใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Allowance) แก่ผู้ผลิต ถ้าผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าจำนวนในใบอนุญาต ก็สามารถนำใบอนญาตที่เหลือไปขายต่อได้ หรือถ้าผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินโควต้าที่ได้รับ ก็ต้องซื้อใบอนุญาตต่อจากผู้ผลิตรายอื่นเกิดการซื้อขายขึ้น (Trade) เป็นระบบจำกัดปริมาณแล้วแลกเปลี่ยน (Cap-and-Trade)

          ในปัจจุบันมีประเทศที่นำระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้ไปแล้วกว่า 36 ประเทศ โดยกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปมีระบบการค้าใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลก (EU ETS) โดยมีการซื้อขายกันในราคาที่ค่อนข้างสูง และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังผู้ผลิตรายอื่นที่อยู่นอกสหภาพยุโรป

          2.2 ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) คือ มาตรการที่กำหนดราคาคาร์บอนโดยตรง คำนวณจากระดับความเข้มข้นของคาร์บอน (Carbon Content) ของพลังงานเมื่อถูกเผาไหม้ หรือถูกปล่อยออกจากกระบวนการผลิตจากอุตสาหกรรมนั้น ๆ ซึ่งประเทศไทยจัดเก็บเป็นภาษีในลักษณะของภาษีสรรพสามิต (Excise Tax)

          2.3 คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้

          2.4 การกำหนดราคาคาร์บอนภายใน (Internal Carbon Pricing) คือ เครื่องมือที่องค์กรใช้เพื่อประเมินมูลค่า (Value) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรให้อยู่ในรูปแบบตัวเงิน (Monetary Value) องค์กรกำหนดขึ้นเองเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยให้องค์กรเข้าใจบริบท สถานการณ์ และต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจ ตัวอย่างองค์กรที่นำมาใช้ เช่น กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) ที่มีการนำมาปรับใช้ในองค์กร เป็นต้น โดยประเทศไทยใช้ระบบนี้ในสัดส่วนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

3. การชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจก

สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

3.1 Carbon Reduction/Avoidance Projects คาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากการทำโครงการที่มีการลดหรือเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงกว่ากรณีปกติ

3.2 Carbon Removal Projects คาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากการทำโครงการที่ดูดกลับก๊าซเรือนกระจกมากักเก็บไว้ เช่น การดูดก๊าซและจัดเก็บโดยตรง (Bio-Energy with Carbon Capture and Storage: BECCS)การดักจับจากอากาศ (Direct Air Carbon Capture: DAC) และการดักจับจากน้ำทะเล (Direct Ocean Capture: DOC) เป็นต้น โดยโครงการคาร์บอนเครดิตทำได้หลากหลายขึ้นอยู่กับการดำเนินงาน

4. กลไกการให้เครดิต (Crediting Mechanism)

          ระบบหรือวิธีการที่ใช้ในการมอบคาร์บอนเครดิต ให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

4.1 International crediting mechanisms  หรือ กลไกการให้เครดิตระหว่างประเทศ  หมายถึง ระบบหรือวิธีการที่ใช้ในการมอบคาร์บอนเครดิต ให้แก่ประเทศที่ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยกลไกที่ได้รับความนิยม ได้แก่

1) กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) CDM อนุญาตให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว ลงทุนในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา และรับคาร์บอนเครดิต ไปชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง
2) Joint Crediting Mechanism (JCM) ริเริ่มโดยประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก JCM คล้ายกับ CDM แต่มีข้อกำหนดที่ยืดหยุ่นกว่า และมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมเทคโนโลยีสีเขียว
3) Article 6 of the Paris Agreement หรือข้อตกลงปารีส กำหนดกรอบสำหรับกลไกการตลาดคาร์บอนใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถแลกเปลี่ยน คาร์บอนเครดิต กันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น                             

4.2 National/Subnational Crediting Mechanisms  หรือ กลไกการให้เครดิตระดับชาติ/ระดับท้องถิ่น หมายถึง ระบบหรือวิธีการที่ใช้ในการมอบ คาร์บอนเครดิต ให้แก่บุคคลหรือองค์กรภายในประเทศเดียวกัน โดยอาจครอบคลุมทั้งระดับประเทศ (National) และระดับจังหวัด/ภูมิภาค (Subnational) แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ กลไกการให้เครดิตแบบบังคับใช้ตามกฎหมาย (Mandatory Crediting Mechanism) มักใช้ระบบการค้าใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Scheme: ETS) และกลไกการให้เครดิตแบบสมัครใจ (Voluntary Crediting Mechanism) มักใช้ในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ดำเนินการภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศแคนาดามีตลาดคาร์บอนหลายตลาด ตั้งแต่ระดับประเทศ (National) จนถึงระดับภูมิภาค (Subnational) ในแต่ละมลรัฐ โดยแต่ละมลรัฐอาจมีตลาดเครดิตคาร์บอนเพื่อกำหนดแผน ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงอาจมีนโยบายสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้น ๆ ด้วย ในส่วนของประเทศไทยโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ดำเนินการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

4.3 กลไกการให้เครดิตอิสระ (Independent crediting mechanisms) หมายถึง ระบบหรือวิธีการที่ใช้ในการมอบคาร์บอนเครดิต ให้แก่บุคคลหรือองค์กร โดยดำเนินการโดยองค์กรอิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐหรือภาคเอกชนใด ๆ ซึ่งได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งกลไกการให้เครดิตอิสระเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลไกการตลาดคาร์บอน (Carbon Market) ช่วยให้ผู้ซื้อและผู้ขายคาร์บอนเครดิตสามารถทำธุรกรรมกันได้อย่างมั่นใจ และมีโครงการดังนี้
1) The Verified Carbon Standard: VCS หรือเรียกว่า VERRA คือ โครงการที่ออกคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) มาแล้วกว่าร้อยละ 60 เนื่องจากการครอบคลุมคาร์บอนเครดิตที่ค่อนข้างหลากหลาย ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ป่าไม้และพื้นที่ชุ่มน้ำ (Forest and Wetland) การปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่ง (Transport Efficiency Improvements) กิจกรรมทางทะเล (Sea-based Activities) ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐานอื่น ๆ หากสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ สามารถขอการลงทะเบียนได้
2) The Gold Standard: GS มีเป้าหมายในการดำเนินโครงการลดคาร์บอนในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง (Low and Medium Income Counties) เป็นหลัก โดยต้องตอบโจทย์ UN SDGs อย่างน้อย 3 ข้อ และมีการรายงานผลกระทบแก่ชุมชน
3) Climate Action Reserve (CAR)
4) American Carbon Registry (ACR) มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งที่เหมือนกัน คือ เพื่อลดการปล่อยก๊าซในแคลิฟอร์เนีย โดยโครงการ CAR จะเน้นการดักจับก๊าซมีเทนในเหมืองถ่านหิน (Coal Mine Methane Capture) ระบบรวบรวมก๊าซชีวภาพ การกำจัดขยะ (Landfill Gas Collection) ทุ่งหญ้า (Grassland) ป่าไม้ (Forestry) การทำนา (Rice Cultivation) และในส่วนโครงการ ACR จะเน้นการลดการปล่อยก๊าซชนิดพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น ก๊าซที่ทำลายชั้นโอโซน และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) ได้รับความไว้วางใจจาก ICAO ที่เป็นมาตรการ CORSIA โดย 4 โครงการข้างต้น เป็นระบบการลงทะเบียนหลักที่ภาคสมัครใจสามารถลงทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้หากสอดคล้องกับมาตรฐานที่ใช้ ซึ่งจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน

ประเทศไทยมีโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเดินรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Bangkok e-bus) มีวัตถุประสงค์เพื่อริเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โครงการดังกล่าวคาดว่าส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก 100 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ต่อคันต่อปี หรือ 500,000 tCO2eq ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการ T-VER สามารถถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (ITMOs) หลังจากได้รับการรับรองสอดคล้องกับข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิสและข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส เป็นต้น

5. Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER

ประเทศไทยมีตลาด Carbon Credit ชื่อว่า Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER หรือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย โครงการนี้พัฒนาโดย อบก. และริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีตลาดคาร์บอนเครดิต ในปัจจุบันสำหรับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนพบว่า ประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อจัดตั้งตลาด Carbon Credit ของตนเอง

สำหรับประเทศไทย มีประเภทโครงการที่สามารถขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการ T-VER ดังนี้ 1) พลังงานทดแทน คือ การเปลี่ยนพลังงานรูปแบบปกติเป็นพลังงานสะอาด การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น 2) การจัดการในภาคขนส่งที่ดี ยกตัวอย่างเช่น การปรับเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ 3) การจัดการของเสีย ไม่เพียงแค่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอยที่ถูกวิธีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดการน้ำเสียในชุมชนและอุตสาหกรรมด้วย4) โครงการในภาคป่าไม้และพื้นที่สีเขียว รวมถึง 5) การเกษตร ทั้งสองประเภทนี้มุ่งเน้นการลด ดูดซับ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และภาคเกษตร 6) การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เป็นการปรับปรุงการใช้พลังงานในอาคาร โรงงานและครัวเรือนให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเมื่อโครงการเหล่านี้ได้รับการขึ้นทะเบียนในโครงการ T-VER ก็จะได้รับเครดิตเป็นคาร์บอนเครดิต โครงการ T-VER จะครอบคลุมการลดก๊าซเรือนกระจกเพียง 3 ชนิดจากทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกหลัก ส่วนก๊าซชนิดอื่นที่เหลือมักพบในอุตสาหกรรมพิเศษและอาจไม่เกี่ยวข้องกับโครงการทั่วไป ระยะเวลาการคำนวณเครดิตคือ 7 ปี และสามารถต่ออายุได้ 1 ครั้ง ยกเว้นโครงการประเภทป่าไม้ซึ่งมีระยะเวลา 10 ปี และสามารถต่ออายุได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

ขั้นตอนของการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนหลัก และ 7 ขั้นตอนย่อย โดยในขั้นตอนแรก คือ ขึ้นทะเบียนโครงการ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนย่อยได้ดังนี้ 1) พิจารณาขอบเขตการดำเนินโครงการ 2) การจัดทำเอกสาร ข้อเสนอโครงการ 3) ตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ โดยจะมีผู้ประเมินภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง และหลังจากได้รับการรับรองจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายต้นทุนประเมินแก่ผู้พัฒนาโครงการ 4) ขึ้นทะเบียนโครงการ ต่อมาในขั้นตอนสอง คือ รับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนย่อยได้ ดังนี้ 5) ติดตามผลและจัดทำรายงาน 6) ทวนสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยแจ้ง อบก. เพื่อขอคาร์บอนเครดิตจากโครงการที่เราดำเนินการ และต้องมีการตรวจสอบโครงการจากผู้ประเมินภายนอก โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ อบก. จำนวน 5000 บาทต่อคำขอขึ้นโครงการ และ 7) ขอรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งต้นทุนส่วนนี้ค่อนข้างแพง ทางภาครัฐก็พยายามเร่งให้เกิดการพัฒนาผู้ประเมินภายนอกให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้มีการแข่งขันและลดต้นทุน

นอกจากโครงการ T-VER แล้วยังมี Premium T-VER ที่เป็นมาตรฐานที่สูงขึ้น เพื่อสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้พัฒนามาร่วมกับ VERRA ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองคาร์บอนเครดิตที่มีสัดส่วนมากที่สุดในโลก โครงการ Premium T-VER จะครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 ชนิดตามพิธีสารเกียวโต นอกจากคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) จะรวมถึง สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เพอฟลูโอโรคาร์บอน (PFCs) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3)แต่การดำเนินโครงการตามมาตรฐานนี้อาจจะยากขึ้นและมีค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การขึ้นทะเบียนโครงการป่าไม้ โดยโครงการปลูกป่าอาจจะได้รับคาร์บอนเครดิตจำนวนนั้นเลย แต่ถ้าเข้าระบบ Premium T-VER อาจมีการจัดการความเสี่ยงในกรณีที่ป่าอาจต้องเผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลให้เสียหายและลดประสิทธิภาพของโครงการ ดังนั้น คาร์บอนเครดิต ที่ได้จาก Premium T-VER อาจจะไม่เท่ากับโครงการที่เข้าระบบปกติ แต่การเข้าระบบ Standard T-VER ซึ่งปัจจุบันก็มีการพัฒนาโครงการ Premium T-VER ที่มีผู้สนใจขอขึ้นทะเบียนจำนวน 21 โครงการ มีโครงการปลูกป่าของ กฟผ. เป็นโครงการนำร่องจะเริ่มดำเนินการในต้นปี พ.ศ. 2568 คาดว่าจะมีเครดิตออกสู่ตลาดในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า

รูปแบบประเภทโครงการที่สามารถขึ้นทะเบียนโครงการ Premium T-VER จะคล้ายกับโครงการ Standard T-VER อย่างไรก็ตาม Premium T-VER จะเน้นโครงการประเภทป่าไม้ (Land use) และโครงการที่ใช้เทคโนโลยีอย่าง Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS เป็นหลัก โดยโครงการทั้งสองประเภทนี้
ที่ขึ้นทะเบียนใน Premium T-VER จะคิดระยะเวลาการคิดเครดิต (Crediting Period) 15 ปี ) ซึ่งยาวกว่า T-VER 10 ปี และสามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง ส่วนโครงการอื่น ๆ จากเดิม กำหนดระยะเวลาการคิดเครดิต 7 ปี จะเหลือ 5 ปี

6. วิธีการซื้อขาย Carbon Credit (Carbon Credit Trading)

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1) รูปแบบทวิภาค (Over-the-Counter) ผู้ซื้อและผู้ขายจะติดต่อกันโดยตรงเพื่อขอซื้อคาร์บอนเครดิตและเมื่อมีการตกลงซื้อขายกันแล้ว จะแจ้ง อบก. เพื่อโอนคาร์บอนเครดิตมายังบัญชีผู้ซื้อ และ 2) รูปแบบศูนย์ซื้อขาย (FTIX platform) มี Platform ชื่อว่า FTIX เป็นตัวกลางในการซื้อขาย ซึ่ง อบก. ได้ร่วมพัฒนากับสภาอุตสาหกรรมไทย โดยมีลักษณะการดำเนินงานคล้ายกับตลาดหลักทรัพย์ สามารถช่วยจับคู่ผู้ซื้อกับผู้ขายเจอกันได้ง่ายขึ้นโดยผู้ขายสามารถประกาศราคาคาร์บอนเครดิตของตน และผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อตามความต้องการ โดยเมื่อมีการเงื่อนไขที่ตรงกันแล้ว ระบบจะโอนคาร์บอนเครดิตไปยังบัญชีผู้ซื้ออัตโนมัติ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เริ่มมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน (เมษายน พ.ศ. 2567) มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยไปแล้วประมาณ 3.2 ตัน และมูลค่าการซื้อขายรวม 292 ล้านบาท โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 90 บาทต่อตัน อย่างไรก็ดี การซื้อขายคาร์บอนเครดิตประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการภาคสมัครใจยังไม่มีการกำหนดราคากลาง ดังนั้น ต้นทุนการบริหารจัดการจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคาของผู้ขาย นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ซื้อด้วย เช่น การให้ความสำคัญต่อโครงการที่มีผลประโยชน์ต่อชุมชน หรือโครงการนี้อยู่ในชุมชนที่เดียวกับโรงงานของผู้ซื้อ เมื่อพิจารณาโดยรวม โครงการที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด คือ โครงการประเภทชีวมวล ซึ่งมีสัดส่วนการซื้อขายในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 41 และมีราคาต่อตันค่อนข้างต่ำที่ 36 บาทเมื่อเทียบกับโครงการประเภทอื่น ๆ ส่วนโครงการป่าไม้ มีราคาต่อตันเริ่มต้นตั้งแต่ตลาดเปิดที่ 290 บาทต่อตัน และปี พ.ศ. 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 510 บาทต่อตัน มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ขั้นต่ำที่ร้อยละ 23 ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด

7. ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มมากขึ้นในระยะถัดไป ได้แก่

          7.1 More Firms engaging New-Zero คาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจและเห็นความสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับแนวนโยบายของหลาย ๆ ประเทศที่ตั้งเป้าหมายในระดับประเทศว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) และคาดว่า ในอนาคตจะมีจำนวนประเทศที่ร่วมให้คำมั่นสัญญาในการดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มากขึ้นได้

          ปัจจุบันมี 97 ประเทศทั่วโลกที่ได้ตั้งเป้าหมายจะบรรลุ Net-Zero Emission ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 80.7 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก (Global GHG Emission) อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลีย บราซิล อินเดีย รัสเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะบรรลุผลได้ภายในปี 2050 สำหรับประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายจะบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และจะบรรลุ Net-Zero Emission ภายในปี 2065 ในกลุ่มประเทศที่ได้มีการตราหรือกำหนดเป้าหมาย Net-Zero Emission ในตัวกฎหมายจะมีการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างเข้มงวดและอาจส่งผลต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มากขึ้น

          7.2 Stricter Standards มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มจะเข้มงวดมากขึ้นทั่วโลก เห็นได้จากการออกกฎหมายหรือดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ อย่างยุโรปที่เป็นผู้นำด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมมีการดำเนินโครงการที่น่าสนใจ อาทิ Fit for 55, Emission Trading Scheme, Carbon Border Adjustment Mechanism และ Renewable Energy Directive ทางด้านสหรัฐฯ จะมีกฎหมาย Fair, Affordable, Innovative and Resilient Transition and Competition Act. ที่เน้นการดำเนินโครงการพลังงานสะอาด Rewording Efforts to Decrease Unrecycled Contaminants in Environments (REDUCE) Act เพื่อเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic Resins) จากโรงงานผู้ผลิตและผู้นำเข้าในอัตราเพิ่มขึ้น รวมถึง Clean Competition Act สำหรับจีนจะมีโครงการ Roadmap และแผนปฏิบัติการด้านการใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เริ่มครอบคลุมถึงการปล่อยก๊าซมีเทนมากขึ้น รวมถึงการลดการใช้พลาสติก และการเป็น Hub ผลิตไฮโดรเจน อาทิ China national & Regional ETS, Roadmap to restrict the use of plastic products, Renewable Energy and Green Hydrogen development Roadmap และ Methane Emission Reduction Action Plan และสำหรับประเทศไทยก็ได้มีการดำเนินโครงการอย่าง Voluntary Carbon Offsetting Scheme และ TH Taxonomy รวมถึงมีร่าง พรบ. Draft Climate Change Act และมีแผนที่จะกำหนด Carbon Tax

          โครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้น อาจช่วยให้มีการขอขึ้นทะเบียน Carbon Credit ที่มากขึ้น และเมื่อมี Supply Carbon Credit ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอื่น ๆ สามารถเข้าถึงหรือซื้อ Carbon Credit ได้ในราคาที่ถูกลง ในขณะเดียวกันหากรัฐบาลมีมาตรการที่กำหนดให้โครงการมีการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ผู้ประกอบการอาจใช้สิทธิ์ (Quota) การปล่อยคาร์บอนที่มีไปใช้ในโครงการของตนเองเพื่อตอบโจทย์มาตรการของรัฐก่อนในช่วงต้น ซึ่งจะทำให้ไม่มีสิทธิ์เหลือเพียงพอที่จะไปขอขึ้นทะเบียน Carbon Credit สำหรับปล่อยสู่ตลาด และอาจะนำไปสู่ภาวะภาวะขาดแคลนอุปทาน (Supply Shortage) Carbon Credit ได้ในช่วงแรก และทำให้ราคา Carbon Credit เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องพิจารณาถึงความเพียงพอของจำนวนโครงการที่มีต่อการกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

          ตัวอย่างมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับ Carbon Credit ที่น่าสนใจ ได้แก่

          1) มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทที่ในยุโรปมีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU’s Emission Trading System: EU ETS) เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในยุโรป โดยถือเป็นการสร้างความเท่าเทียมด้านต้นทุนราคาคาร์บอน และปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ และเร่งให้ประเทศคู่ค้าของยุโรปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

          2) มาตรการ Carbon Offsetting and Reducing Scheme for International Aviation (CORSIA) ที่กำหนดให้ภาคการบินที่มีการบินระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีการชดเชยการปล่อยคาร์บอนโดยผู้ประกอบการอาจใช้ Carbon Credit ในมาตรฐานที่กำหนดมาชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนของบริษัทตนเองแทนได้ ซึ่งจะทำให้สายการบินมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนลง อาทิ ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ หรือเปลี่ยนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากแบบธรรมดามาเป็นแบบ Sustainable Aviation Fuel แทน

          3) มาตรการของ International Maritime Organization (IMO) ขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งของสหประชาขาติ ที่ตั้งเป้าหมายและกำหนดให้ผู้ประกอบการเดินเรือทางทะเลต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ผ่าน 2 มาตรการหลัก คือ 1) ดัชนีประสิทธิภาพพลังงานของเรือที่มีอยู่ (Energy Efficiency Existing Ship Index: EEXI) และ 2) ดัชนีความเข้มข้นของคาร์บอน (Carbon Intensity Indicator: CII)

          7.3 Carbon Tax/ETS การจัดเก็บภาษีคาร์บอนในได้มีการบังคับใช้แล้วใน 31 ประเทศทั่วโลกซึ่งการจัดเก็บภาษีคาร์บอนสามารถทำได้หลายรูปแบบ ในอัตราภาษีที่แตกต่างกันตามความเข้มงวดของการดำเนินนโยบาย อาทิ ประเทศในยุโรปอย่างอุรุกวัย ลิกเตนสไตน์ และสวิตเซอร์แลนด์จะมีกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนในอัตราที่สูงประมาณ 127 – 132 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งสูงกว่าประเทศในเอเชีย (ญี่ปุ่น สิงคโปร์) ชิลี และแอฟริกาใต้ที่จัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าประมาณ 2 – 18 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทั้งนี้ ในหลายประเทศอย่างสิงคโปร์อนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถนำ Carbon Credit ในพื้นที่มาใช้ลดหย่อนการปล่อยคาร์บอนของตนได้ในสัดส่วนที่กำหนด และผู้ประกอบการจะต้องชดเชยการปล่อยคาร์บอนส่วนเกินที่เหลือในอัตรา 18 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปีแรก และอัตราจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นในปีถัดไป ดังนั้น จะเห็นได้ว่า มาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนสามารถส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อขาย Cabon Credit ได้

          ขณะนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมจัดตั้ง พรบ. Climate Change Act โดยกรมสรรพสามิตกำลังพิจารณาเปรียบเทียบความเหมาะสมของมาตรการระหว่างการจัดเก็บภาษีทางอ้อมจากการใช้เชื้อเพลิง และจัดเก็บภาษีทางตรงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

8. ความท้าทายและแนวโน้มเกี่ยวกับตลาด Carbon Credit ในอนาคต (Challenges and Trend)

          จากผลสำรวจการปรับตัวของภาคธุรกิจในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า และผู้ประกอบการที่ได้เริ่มดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมแล้วมีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ขณะที่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62 ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีการวัดและเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตปริ้นท์อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญอันดับต้นในการดำเนินแผนการหรือโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระยะถัดไป

          จากการสำรวจผู้เล่นในตลาดคาร์บอน T-VER ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยร่วมกับ อบก. พบว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของผู้เล่นในตลาดคาร์บอนที่ได้ดำเนินการด้าน Climate Action แล้ว ด้วยการพัฒนาโครงการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ได้มีการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือกำหนดเป้าหมายขององค์กรในการเป็น Carbon Neutrality หรือ Net-zero Emission ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และอยู่ในภาคการผลิตเป็นหลัก ขณะเดียวกันร้อยละ 95 ของผู้เล่นในตลาดต้องการให้มีการพัฒนามาตรฐานเครดิตให้สามารถใช้ได้ในระดับสากล และกว่าร้อยละ 60 ของผู้เล่นในตลาดต้องการใช้มีมาตรการภาคบังคับ ดังนั้น จะเห็นว่ายังมีโอกาสอีกมากโดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs และในโครงการคาร์บอนเครดิตที่เป็นที่นิยม อย่างโครงการด้านป่าไม้ พลังงานทดแทน และการจัดการของเสียที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาร่วมผลักดันและสนับสนุนเพื่อพัฒนาและขยายกลุ่มผู้เล่นในตลาดคาร์บอนได้มากขึ้น

9. บทสรุป (Summary)

การวัดและรับรอบ Carbon Footprint/Carbon Emission เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีการดำเนินการและต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกัน แม้ว่าโครงการคาร์บอนเครดิตด้านป่าไม้ CCUS จะเป็นหนึ่งในอุปทานคาร์บอนเครดิตที่ได้รับความนิยม แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่าจะนำ Carbon Credit จากการดำเนินโครงการด้านป่าไม้ไว้ใช้เองเป็นหลักไม่ได้นำเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้โครงการด้านป่าไม้ยังมีข้อจำกัดในการพัฒนา เนื่องจากต้องใช้เวลาและเอกสารในการดำเนินการที่นาน รวมถึงกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการอาจจะไม่คุ้มกับการดำเนินการนัก เนื่องจากมีต้นทุนในการดูแลรักษาที่มาก และมีค่าเสียโอกาสที่อาจได้รับจากการลงทุนในโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า อีกทั้ง ปัจจุบันมาตรฐานการบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของไทยยังไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการพัฒนาตลาดคาร์บอนของไทยให้มีผู้เล่นในตลาดเพิ่มมากขึ้นและมีราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่สูงขึ้น

          สุดท้ายนี้ทางคณะผู้เขียนขอขอบคุณ ดร. พิสิทธิ์  พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ดร.พงศ์นคร  โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค และ ดร. นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง และนายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง
ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคสำหรับ “รายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ตลอดมา

นางสาวกันตา ศุขสาตร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวภูริดา ปราบสูงเนิน
เศรษฐกร
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน