บทความโดย
นายรอม อรุณวิสุทธิ์
บทคัดย่อ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการความร่วมมือจากทุกประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายที่ไทยจะปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2065 ซึ่งมีความร่วมมือระดับประเทศต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนากรอบการจำแนกประเภทของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลเพียงพอในการสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว บทความฉบับนี้ จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือระดับประเทศที่เป็นหลักในการจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของประเทศไทย ได้แก่ มาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงิน (Taxonomy) ขององค์กรไม่แสวงหากำไรด้านพันธบัตรเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Climate Bonds Taxonomy) Taxonomy ของสหภาพยุโรป (EU Taxonomy) และ Taxonomy ของอาเซียน (ASEAN Taxonomy)
Climate Bonds Taxonomy เป็นการสร้างเกณฑ์ระดับกว้างที่มุ่งหวังให้ประเทศอื่นนำไปปรับใช้ตามบริบทของเศรษฐกิจของตัวเอง โดยเฉพาะการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการระบุคุณลักษณะของกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับการลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้นักลงทุนมีมาตรฐานเดียวกันในการตัดสินใจลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ที่ประชาคมโลกได้มีข้อผูกพันตามความตกลงปารีส
สหภาพยุโรปได้จัดทำ Taxonomy ที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายสำหรับบริษัทที่มีกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการอ้างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคม แต่อาจไม่ได้มีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง หรือ Greenwashing ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปมีความพร้อมมากขึ้นในการออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการกีดกันการค้าของสหภาพยุโรปที่ควบคุมสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการปล่อยคาร์บอนที่สูง
ท่ามกลางความท้าทายจากประเทศพัฒนาแล้วในการกดดันให้มีความจำเป็นต้องใช้สินค้าที่มีการลดการปล่อยคาร์บอน อาเซียนได้จัดทำ Taxonomy ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสหภาพยุโรป แต่มีความคำนึงถึงการพัฒนาที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิก และการปรับตัวของบริษัท โดยให้ระยะเวลาในการปรับตัวสูงสุด 5 ปี แสดงด้วยสถานะสีส้ม ชั้น 3 การดำเนินการจำแนกดังกล่าว สร้างความชัดเจนแก่นักลงทุน และทำให้นักลงทุนสามารถวางแผนการลงทุนในระยะยาวในผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น
บทนำ
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดที่โลกต้องเผชิญในปัจจุบัน โดยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการความร่วมมือจากทุกประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน โดยประเทศไทยได้มีคำมั่นต่อประชาคมโลกผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ ความผูกพันต่อข้อตกลงปารีส ซึ่งมุ่งหวังให้อุณหภูมิโลกเพิ่มในช่วง 1.5 องศาเซลเซียส ถึง 2 องศาเซลเซียส เทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (net-zero) ในปี 2065 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประกาศเป้าหมาย net-zero ในปี 2564 ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำโลกด้านสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties 26th : COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายระยะกลางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 จากระดับปี 2005 ภายในปี 2030
การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยบรรลุวัตถุประสงค์ net-zero ดังกล่าว ซึ่งมีความร่วมมือระดับประเทศต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนากรอบการจำแนกประเภทของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลเพียงพอในการสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว บทความฉบับนี้ จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือระดับประเทศที่เป็นหลักในการจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของประเทศไทย ได้แก่ มาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงิน (Taxonomy) ขององค์กรไม่แสวงหากำไรด้านพันธบัตรเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Climate Bonds Taxonomy) Taxonomy ของสหภาพยุโรป (EU Taxonomy) และ Taxonomy ของอาเซียน (ASEAN Taxonomy)
เนื้อหา/ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
นักลงทุนมีความสนใจในการลงทุนในการดำเนินการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีความต้องการเครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถจำแนกกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในตราสารหนี้ที่จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาแนวทางที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องดำเนินการร่วมกันทั้งโลก จึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการ ดังนี้
1. มาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินขององค์กรไม่แสวงหากำไรด้านพันธบัตรเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Climate Bonds Taxonomy)
1.1 ความเป็นมา
Climate Bonds Taxonomy ได้ถูกจัดทำเมื่อปี 2556 โดย Climate Bonds Initiative ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 เพื่อส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจโลกแบบคาร์บอนต่ำที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
Climate Bonds Taxonomy มีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกทรัพย์สิน กิจกรรม และโครงการที่จำเป็นต่อการสร้างเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นตามองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการวิจัยจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) และสถาบันพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) มาปรับใช้ในการพัฒนาหลักเกณฑ์ดังกล่าวที่จะช่วยเพิ่มอุณหภูมิโลกได้ไม่เกิน 2 องศาตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยข้อตกลงปารีส โดยมีหลายประเทศได้นำเอา Climate Bonds Taxonomy ไปปรับใช้ในการพัฒนา Taxonomy ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
Climate Bonds Taxonomy ได้ระบุหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำสำหรับ 8 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง ภาคทรัพยากรน้ำ ภาคอาคาร ภาคการใช้ที่ดินและทรัพยากรทางทะเล ภาคอุตสาหกรรม ภาคการควบคุมของเสียและมลพิษ และภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
1.2 ภาพรวมของกฎเกณฑ์ที่ใช้ใน Climate Bonds Taxonomy
กฎเกณฑ์ที่ใช้ใน Climate Bonds Taxonomy แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ระบบสัญญาณไฟ และการรับรองภาคาส่วนที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานของ Climate Bonds Taxonomy มีรายละเอียด ดังนี้
1.2.1 ระบบสัญญาณไฟ
ระบบสัญญาณไฟใช้ในการจำแนกประเภทของกิจกรรมที่สามารถลดคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- กิจกรรมที่มีสัญญาณไฟสีเขียว มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์โดยอัตโนมัติ
- กิจกรรมที่ระบุด้วยสัญญาณไฟสีส้ม มีแนวโน้มที่จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยการปล่อยคาร์บอนจะเป็นศูนย์ เมื่อสินทรัพย์ดังกล่าวมีรายละเอียดสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่มีการระบุเพิ่มเติม
- กิจกรรมที่ระบุด้วยสัญญาณไฟสีแดง ไม่มีแนวโน้มที่จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
- กิจกรรมที่ระบุด้วยสัญญาณไฟสีเทา จะต้องมีงานวิจัยสนับสนุนเพื่มเติมว่าควรจะเป็นสัญญาณไฟสีเขียว สีส้ม หรือสีแดง
ซึ่งสามารถสรุปได้ตามตารางที่ 1
สัญญาณไฟ | ลักษณะกิจกรรม |
สีเขียว | มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์โดยอัตโนมัติ |
สีส้ม | มีแนวโน้มที่จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยการปล่อยคาร์บอนจะเป็นศูนย์ เมื่อสินทรัพย์ดังกล่าวมีรายละเอียดสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ที่มีการระบุเพิ่มเติม |
สีแดง | ไม่มีแนวโน้มที่จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ |
สีเทา | จะต้องมีงานวิจัยสนับสนุนเพื่มเติมว่าควรจะเป็นสัญญาณไฟสีเขียว สีส้ม หรือสีแดง |
1.2.2 การรับรองภาคส่วนที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานของ Climate Bonds Taxonomy
Climate Bonds Taxonomy มีภารกิจหลักในการคัดกรองพันธบัตร เพื่อพิจารณาว่าสินทรัพย์หรือโครงการที่พันธบัตรได้ลงทุนไป เข่าข่ายของการเงินเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการเงินสีเขียวหรือไม่ โดยมีรายละเอียดตามตารางที่ 2 ดังนี้

1.2.3 ตัวอย่างของเกณฑ์สำหรับกิจกรรมที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานของ Climate Bonds Taxonomy
ผู้วิจัยขอยกตัวอย่างการพิจารณาเกณฑ์สำหรับภาคพลังงานชีวภาพตามตารางที่ 3 ดังนี้

2. มาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินของสหภาพยุโรป (EU Taxonomy)
2.1 ความเป็นมา
EU Taxonomy กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ EU เพิ่มการลงทุนที่ยั่งยืนได้ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในการลงทุนในกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และป้องกันนักลงทุนส่วนตัวจากการโฆษณาที่เป็นสีเขียวเกินจริง (Greenwashing)
EU Taxonomy มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติตามเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป โดยใช้ควบคู่กับข้อบังคับและมาตรฐานอื่น ๆ ดังนี้
- ข้อบังคับการรายงานข้อมูลความยั่งยืนของบริษัท (Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD) ซึ่งกำหนดขอบเขตของบริษัทที่จะต้องเผยแพร่ข้อมูลด้านความยั่งยืนต่อบริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดของสหภาพยุโรป รวม 50,000 บริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลของกิจกรรมและการลงทุนที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นโดย EU Taxonomy บริษัทอื่นอาจจะเผยแพร่ข้อมูลนี้โดยความสมัครใจเพื่อเข้าสู่ตลาดการเงินที่ยั่งยืน
- เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Finance Disclosures Regulation: SFDR) มาตราที่ 5 และ 6 ของ EU Taxonomy ได้ระบุให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมคุณลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (มาตรา 8 ของ SFDR) และที่มีวัตถุประสงค์เป็นการลงทุนที่ยั่งยืนโดยเฉพาะ เปิดเผยสัดส่วนของการลงทุนอ้างอิง (Underlying Investment) ที่สอดคล้องกับ EU Taxonomy
- มาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมทั่วสหภาพยุโรป EU Taxonomy จะช่วยเป็นหลักเกณฑ์ที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ยั่งยืนใช้เป็นมาตรฐาน เช่น มาตรฐานพันธบัตรสีเขียวยุโรป ที่ใช้ EU Taxonomy ในการพิจารณากลุ่มค่าใช้จ่ายสีเขียว
2.2 สาระสำคัญ
2.2.1 หลักเกณฑ์ของ EU Taxonomy
EU Taxonomy ได้กำหนดเงื่อนไขของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด 4 ข้อ ที่จะได้รับรองว่าเป็นกิจกรรมที่มีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม หรือเป็นไปตามมาตรฐานของ EU Taxonomy ดังนี้
1) มีส่วนร่วมอย่างยิ่ง (Substantial Contribution) ในการบรรลุวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อมที่ระบุโดย EU Taxonomy อย่างน้อย 1 ข้อ โดยเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ประกอบด้วย (1) การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) (2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) การใช้และปกป้องทรัพยากรน้ำและทะเลอย่างยั่งยืน (4) การปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (5) การควบคุมและป้องกันมลพิษ และ (6) การฟื้นฟูและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาการมีส่วนร่วมอย่างยิ่งจะเป็นการดำเนินการที่อยู่ในระดับที่สามารถบรรลุเป้าหมายของแผนปฏิรูปยุโรปสีเขียวของสหภาพยุโรป (European Green Deal: EGD)
2) ไม่ส่งผลเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ (No Significant Harm) ต่อเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมที่เหลืออีก 5 ข้อ โดยกิจกรรมที่ถูกพิจารณาว่ามีผลเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ จะเข้าเกณฑ์ดังนี้
2.1) การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – กิจกรรมนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ
2.2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – กิจกรรมนำไปสู่ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และที่คาดหวังในอนาคตต่อตัวกิจกรรม มนุษย์ ธรรมชาติ หรือสินทรัพย์
2.3) การใช้และปกป้องทรัพยากรน้ำและทะเลอย่างยั่งยืน – กิจกรรมมีผลกระทบต่อระบบนิเวศของทรัพยากรน้ำ ซึ่งรวมถึง ผิวน้ำและพื้นน้ำ หรือสภาวะทางสิ่งแวดล้อมของน้ำทะเล
2.4) เศรษฐกิจหมุนเวียน – กิจกรรมนำไปสู่การใช้วัสดุและทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือเพิ่มการสร้างหรือทำลายของเสีย หรือการทำลายของเสียในระยะยาวจะนำไปสู่ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ
2.5) การควบคุมและป้องกันมลพิษ – กิจกรรมนำไปสู่การเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญของการปล่อยมลพิษสู่อากาศ น้ำ และดิน
2.6) การฟื้นฟูและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ – กิจกรรมนำไปสู่ความเสื่อมสลายของสภาพและความยืดหยุ่นของระบบนิเวศ หรือมีผลเสียต่อการสงวนไว้ซึ่งที่อยู่และชีวพันธุ์
3) ทำตามมาตรฐานขั้นต่ำสุด (Minimum Safeguards) ซึ่งกำหนดโดยแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) สำหรับบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines for Multinational Enterprises) และหลักการชี้นำของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนและธุรกิจ (United Nation Guiding Principles on Business and Human Rights) โดยกำหนดหลักการและสิทธิที่กำหนดโดยอนุสัญญาพื้นฐานทั้งแปดที่ระบุในประกาศขององค์การแรงงานโลกบนหลักการพื้นฐานและสิทธิในการทำงาน และสิทธิมนุษยชนสากล
4) บริษัทที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของ CSRD เปิดเผยสัดส่วนกิจกรรมที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดใน EU Taxonomy
2.2.2 ตัวอย่างของการพิจารณากิจกรรมที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานของ EU Taxonomy
ผู้วิจัยขอยกตัวอย่างการพิจารณาเกณฑ์สำหรับภาคพลังงานชีวภาพ รายละเอียดตามตารางที่ 4 ซึ่งสามารถค้นหาได้จาก EU Taxonomy Compass ซึ่งเป็นเครื่องมือของสหภาพยุโรปในการช่วยบริษัทในการค้นหาเกณฑ์ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย
รายการ | รายละเอียด |
ชื่อกิจกรรม | การผลิตก๊าซชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ |
คำบรรยาย | การผลิตก๊าซชีวภาพหรือเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับใช้ในการขนส่ง และการผลิตของเหลวชีวภาพ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหมวดหมู่นี้อาจเกี่ยวข้องกับรหัส NACE D35.21 ตามการจำแนกประเภททางสถิติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำหนดโดยข้อบังคับ (EC) หมายเลข 1893/2006 |
มาตรฐานขั้นต่ำ | 1. มาตรการป้องกันขั้นต่ำที่กล่าวถึงในข้อ (c) ของมาตรา 3 จะต้องเป็นกระบวนการที่ดำเนินการโดยองค์กรที่กำลังดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของ OECD สำหรับบริษัทข้ามชาติและหลักการแนวทางของ UN เกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน รวมถึงหลักการและสิทธิต่าง ๆ ที่กำหนดในอนุสัญญาหลักทั้งแปดฉบับที่ระบุในปฏิญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เกี่ยวกับหลักการและสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการทำงานและในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 2. เมื่อดำเนินการตามกระบวนการที่กล่าวถึงในย่อหน้า 1 ของมาตรานี้ องค์กรจะต้องยึดถือหลักการ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่สำคัญที่กล่าวถึงในข้อ (17) ของมาตรา 2 ของข้อบังคับ (EU) 2019/2088 |
การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | |
เกณฑ์การมี ส่วนร่วมอย่างยิ่ง | 1. ชีวมวลทางการเกษตรที่ใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพหรือเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับการขนส่ง และในการผลิตของเหลวชีวภาพ ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 29 วรรค 2 ถึง 5 ของข้อบังคับ (EU) 2018/2001 ชีวมวลจากป่าไม้ที่ใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพหรือเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับการขนส่ง และในการผลิตของเหลวชีวภาพต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 29 วรรค 6 และ 7 ของข้อบังคับนั้น พืชที่ใช้เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์จะไม่ถูกใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับการขนส่ง และในการผลิตของเหลวชีวภาพ 2. การประหยัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและก๊าซชีวภาพสำหรับการขนส่ง และจากการผลิตของเหลวชีวภาพ ต้องไม่น้อยกว่า 65% ตามวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเกณฑ์การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่กำหนดในภาคผนวก V ของข้อบังคับ (EU) 2018/2001 3. หากการผลิตก๊าซชีวภาพอาศัยการย่อยสลายทางชีวภาพของวัสดุอินทรีย์ การผลิตของเสียที่เกิดจากการย่อยสลายต้องเป็นไปตามเกณฑ์ในหมวด 5.6 และเกณฑ์ 1 และ 2 ของหมวด 5.7 ของภาคผนวกนี้ 4. หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตนำมาเก็บใต้ดิน ก๊าซดังกล่าวจะต้องถูกขนส่งและเก็บใต้ดิน ตามเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 5.11 และ 5.12 ของภาคผนวกนี้ |
เกณฑ์ไม่ส่งผลเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ | 1. ด้านทรัพยากรน้ำ เป็นไปตามเกณฑ์ทั่วไปที่กำหนดโดยสหภาพยุโรป 2. ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน – ไม่ปรากฏ 3. ด้านการป้องกันมลพิษ – สำหรับการผลิตก๊าซชีวภาพ ให้ใช้ฝาครอบอย่างมิดชิดสำหรับที่เก็บของเสียที่เกิดจากการย่อยสลาย สำหรับโรงงานย่อยสลายทางชีวภาพที่จัดการวัสดุมากกว่า 100 ตันต่อวัน การปล่อยก๊าซและน้ำจะต้องอยู่ในระดับที่เท่ากับหรือต่ำกว่าช่วงการปล่อยที่ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ที่ดีที่สุด (Best Available Technique: BAT) ในกรณีที่การย่อยสลายทางชีวภาพของวัสดุอินทรีย์ที่ถูกใช้เป็นปุ๋ยหรือปรับปรุงดินโดยตรงหรือหลังจากการหมักหรือการบำบัดอื่น ๆ จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดสำหรับวัสดุปุ๋ยที่กำหนดในหมวดหมู่วัสดุส่วนประกอบ 4 และ 5 สำหรับของเสียจากการย่อยสลาย หรือ CMC 3 สำหรับการหมัก ตามที่กำหนดในภาคผนวก II ของข้อบังคับ EU 2019/1009 หรือกฎระเบียบแห่งชาติเกี่ยวกับปุ๋ยหรือปรับปรุงดินสำหรับการใช้ในเกษตรกรรม 4. ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ – เป็นไปตามเกณฑ์ทั่วไปที่กำหนดโดยสหภาพยุโรป |
การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | |
เกณฑ์การมี ส่วนร่วมอย่างยิ่ง | 1. กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ดำเนินการใช้วิธีการทางกายภาพและไม่ใช่ทางกายภาพที่ลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่สำคัญต่อกิจกรรมนั้นอย่างมีนัยสำคัญ 2. ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่สำคัญต่อกิจกรรมมีรายละเอียดจากภาคผนวก A ของภาคผนวกนี้ โดยการดำเนินการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากสภาพภูมิอากาศด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้: a. การคัดกรองกิจกรรมเพื่อตรวจสอบว่าความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศใดจากรายการในภาคผนวก A อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงอายุการใช้งานที่คาดหวัง b. ในกรณีที่กิจกรรมถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงจากความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่ระบุในภาคผนวก A จะมีการดำเนินการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากสภาพภูมิอากาศเพื่อประเมินความสำคัญของความเสี่ยงทางกายภาพต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ c. การประเมินวิธีการปรับตัวที่สามารถลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่ระบุได้ การประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากสภาพภูมิอากาศต้องสอดคล้องกับขนาดของกิจกรรมและคาดการณ์อายุการใช้งาน โดยสำหรับกิจกรรมที่มีคาดการณ์อายุการใช้งานน้อยกว่า 10 ปี การประเมินจะใช้การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในระดับที่เล็กที่สุด สำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งหมด การประเมินจะต้องใช้การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศที่มีความละเอียดสูงและทันสมัยในช่วงของสถานการณ์ในอนาคตที่สอดคล้องกับอายุการใช้งานที่คาดหวังของกิจกรรม รวมถึงการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศอย่างน้อย 10 ถึง 30 ปีสำหรับการลงทุนที่สำคัญ 3. การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศและการประเมินผลกระทบ ให้ยึดถือตามแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และคำนึงถึงแนวทางการวิเคราะห์ความเปราะบางและความเสี่ยง รวมถึงระเบียบวิธีที่เกี่ยวข้องตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล่าสุด 4. วิธีการปรับตัวที่ดำเนินการ: 4.1 ไม่ส่งผลกระทบต่อความพยายามในการปรับตัวหรือระดับความสามารถในการต้านทานต่อความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศของบุคคลอื่น ธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรม ทรัพย์สิน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ 4.2 สนับสนุนวิธีการตามธรรมชาติหรือใช้โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวหรือสีน้ำเงินในระดับที่เป็นไปได้ 4.3 สอดคล้องกับแผนและกลยุทธ์การปรับตัวในระดับท้องถิ่น ภาคส่วน ภูมิภาค หรือระดับชาติ มีการติดตามและวัดผลตามตัวชี้วัดที่กำหนดล่วงหน้า และพิจารณาการดำเนินการแก้ไขเมื่อไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดเหล่านั้น 4.4 หากวิธีการที่ดำเนินการเป็นทางกายภาพและประกอบด้วยกิจกรรมที่มีเกณฑ์การคัดกรองทางเทคนิคที่ระบุในภาคผนวกนี้ วิธีการดังกล่าวต้องเป็นไปตามเกณฑ์การคัดกรองทางเทคนิคไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่สำคัญสำหรับกิจกรรมดังกล่าว |
เกณฑ์ไม่ส่งผลเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ | เหมือนกิจกรรมการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ |
3. มาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินของอาเซียน (ASEAN Taxonomy)
3.1 ความเป็นมา
การเติบโตทางอุตสาหกรรมที่รวดเร็วในอาเซียนได้ส่งผลให้เกิดความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณภาพอากาศที่ไม่ดี และ การจัดการขยะ
ASEAN Taxonomy Board (ATB) ได้จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2021 เพื่อพัฒนาและส่งเสริม ASEAN Taxonomy ซึ่งเป็นวิธีการจัดประเภทที่อิงจากวิทยาศาสตร์และครอบคลุมตามการมีส่วนร่วมต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค โดยยึดถือหลักการ 5 ประการ ได้แก่
หลักการที่ 1 ASEAN Taxonomy จะเป็นแนวทางหลักสำหรับทุกประเทศสมาชิก ASEAN โดยให้มีแนวทางร่วมกันในการเสริมสร้างความยั่งยืนระดับชาติของแต่ละประเทศ
หลักการที่ 2 ASEAN Taxonomy จะพิจารณาการใช้ระบบการจัดประเภทที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและระบบการจัดประเภทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องมีการปรับให้เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ ASEAN ที่ยั่งยืน
หลักการที่ 3 ASEAN Taxonomy จะต้องครอบคลุมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกทุกประเทศ
หลักการที่ 4 ASEAN Taxonomy จะต้องจัดให้มีกรอบการทำงานที่เชื่อถือได้ รวมถึงคำจำกัดความจะต้องอ้างอิงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
หลักการที่ 5 ASEAN Taxonomy จะต้องสอดคล้องกับความพยายามด้านความยั่งยืนที่ดำเนินการโดยตลาดทุน ธนาคาร และภาคประกันภัย หรืออย่างน้อยจะต้องไม่ขัดแย้งกัน
ทั้งนี้ ASEAN Taxonomy ครอบคลุมภาคส่วนการผลิต (Focus Sectors) 6 ภาค ได้แก่ (1) ภาคการเกษตร ป่าไม้ และการประมง (2) การไฟฟ้า แก๊ส ไอน้ำ และส่วนปรับอากาศ (3) อุตสาหกรรมการผลิต (4) การขนส่งและการจัดเก็บ (5) ทรัพยากรน้ำ การระบายน้ำทิ้ง และการจัดการของเสีย และ (6) การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคเทคโนโลยี (Enabling Sectors) 3 ภาค ได้แก่ (1) ข้อมูลและการสื่อสาร (2) ภาคอาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค และ (3) การจัดเก็บและการใช้คาร์บอน

3.2 สาระสำคัญ
3.2.1 หลักเกณฑ์ของ ASEAN Taxonomy
หลักเกณฑ์ของ ASEAN Taxonomy สามารถสรุปได้ดังรูปที่ 2 และมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

1) วัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม – ASEAN Taxonomy มีขึ้นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม 4 ประการ ได้แก่
EO1 การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
EO2 การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
EO3 การปกป้องระบบนิเวศที่ดีและความหลากหลายทางชีวภาพ
EO4 ความยืดหยุ่นทางทรัพยากรและการปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
โดยกิจกรรมที่ได้รับการรับรองจาก ASEAN Taxonomy ต้องมีส่วนร่วมในการบรรลุวัตถุประสงค์อย่างน้อย 1 ข้อ
2) เกณฑ์สำคัญ (Essential Criteria) มี 3 ข้อ ดังนี้
2.1) ไม่ส่งผลเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ – กิจกรรมที่บรรลุวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม 1 ข้อ ไม่ส่งผลเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ข้ออื่น
2.2) มีมาตรการบรรเทาที่ช่วยในการปรับตัว – หากมีกิจกรรมที่ส่งผลเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องมีมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 5 ปีที่มีการประเมิน
2.3) สภาวะทางสังคม – กิจกรรมอาจจะบรรลุวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม แต่จะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคม ได้แก่ การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน การป้องกันการใช้แรงงานบังคับและการปกป้องสิทธิของเยาวชน และการบรรเทาผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยข้างสถานที่ที่จัดกิจกรรม
3) การจัดกลุ่มกิจกรรม แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
3.1) การจัดกลุ่มกิจกรรมแบบพื้นฐาน (Foundation Framework) เป็นเกณฑ์พื้นฐานที่แนะนำสำหรับทุกประเทศสมาชิก โดยให้ความสำคัญกับหลักการการมีส่วนร่วมของทุกประเทศ (Inclusivity) โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ แบ่งตามสี ดังนี้
- สีเขียว – กิจกรรมผ่านการประเมินตามหลักการ
- สีส้ม – กิจกรรมผ่านการประเมินตามหลักการ แต่อาจจัดอยู่ในกลุ่มสีส้ม หากยังมีความเสียหายในวัตถุประสงค์ข้ออื่นที่ยังไม่ได้รับการบรรเทา
- สีแดง – กิจกรรมไม่ผ่านการประเมินตามหลักการ
3.2) การจัดกลุ่มกิจกรรมแบบพลัส (Plus Standard Framework) เป็นเกณฑ์ที่ปรับให้เหมาะสมกับการพัฒนาที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ
- สีเขียว – กิจกรรมผ่านการประเมินตามหลักการชั้น 1 (Tier 1)
- สีส้ม แบ่งออกเป็นกิจกรรมที่ผ่านการประเมินตามหลักการชั้น 2 (Tier 2) หรือ Amber Tier 2 และกิจกรรมที่อาจถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีส้ม ชั้น 3 (Amber Tier 3) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผ่านการประเมินตามหลักการชั้น 1 แต่ยังมีความเสียหายในวัตถุประสงค์ข้ออื่นที่ไม่ได้รับการบรรเทา กิจกรรมที่อยู่ในเกณฑ์สีส้ม สามารถเลื่อนไปเป็นสีเขียวได้ หากมีการดำเนินการบรรเทาความเสียหายตามระยะเวลาที่กำหนด
- สีแดง – กิจกรรมไม่ผ่านการประเมินตามหลักการชั้น 1 2 และ 3
3.2.2 ตัวอย่างของการพิจารณากิจกรรมที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานของ ASEAN Taxonomy
ผู้วิจัยขอยกตัวอย่างการพิจารณาเกณฑ์สำหรับภาคการผลิตก๊าซชีวภาพ
เกณฑ์ | เกณฑ์การพิจารณา |
EO1 การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | |
ชั้น 1 (สีเขียว) | การปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 28 กรัม CO2e/MJ ต่อหน่วยความร้อนหรือความเย็นที่ผลิตตลอดอายุการใช้งาน |
ชั้น 2 (สีส้ม ชั้น 2) | การปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 65 กรัม CO2/MJ ต่อหน่วยความร้อนหรือความเย็นที่ผลิตตลอดอายุการใช้งาน |
ชั้น 3 (สีส้ม ชั้น 3) | ไม่มีเกณฑ์ |
เกณฑ์ที่บังคับใช้กับทุกชั้น | 1. การหมักสลายอากาศจากขยะชีวภาพหรือของเสียที่เกิดจากน้ำเสียซึ่งดำเนินการที่สถานที่เผาไหม้เชื้อเพลิงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังนี้: a. ดำเนินการติดตามและแผนฉุกเฉินเพื่อลดการรั่วไหลของมีเทน; b. ก๊าซชีวภาพที่ผลิตในสถานที่ต้องใช้เฉพาะสำหรับกิจกรรมนี้หรือกิจกรรมอื่นที่กำหนดโดย ASEAN Taxonomy; c. ขยะชีวภาพที่ใช้สำหรับการหมักอากาศต้องแยกแหล่งที่มาและเก็บแยกต่างหาก 2. สำหรับสถานที่ที่ติดตั้ง CCUS, CO2 จากการจัดหาพลังงานที่จับได้เพื่อเก็บใต้ดิน ต้องขนส่งและเก็บตามเกณฑ์ TSC สำหรับกิจกรรมการขนส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ใต้ดินอย่างถาวร 3. กิจกรรมต้องตรงตามเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งดังนี้: a. สถานที่การก่อสร้าง อุปกรณ์วัดสำหรับติดตามการปล่อยก๊าซทางกายภาพ เช่น การรั่วไหลของมีเทน ถูกติดตั้ง หรือมีการนำเสนอโปรแกรมการตรวจจับและซ่อมแซมรั่ว; b. สถานที่การดำเนินงาน การวัดทางกายภาพของการปล่อยมีเทนต้องได้รับรายงาน และการรั่วไหลต้องได้รับการแก้ไข |
มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง | การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดอายุการใช้งานเป็นไปตาม ISO 14067: 2018 หรือ ISO 14064-1: 2018. กฎระเบียบสำหรับการตรวจจับและการกำจัดการรั่วไหลของก๊าซต้องเป็นไปตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องใน AMS ที่กิจกรรมดำเนินการ และควรคำนึงถึงหลักการแนวทางการจัดการมีเทน (Methane Guiding Principles) |
EO2 การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | |
ชั้น 1 (สีเขียว) | 1. กิจกรรมต้องมีการดำเนินการโซลูชันทางกายภาพและไม่ใช่ทางกายภาพ (ที่เรียกว่า ‘โซลูชันการปรับตัว’) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงทางกายภาพที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นได้ผ่านการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากสภาพอากาศ (CRVA) ตามที่อธิบายไว้ในภาคผนวก 3; และ 2. ต้องแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมนี้จำเป็นต่อการจัดหาความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ผู้บริโภค โดยคำนึงถึงการหยุดชะงักที่อาจเกิดจากสภาพอากาศในอนาคต ตัวอย่างที่ถือว่าเป็นการสอดคล้องกับกิจกรรมนี้ ได้แก่: a. การดำเนินการของอุปกรณ์ทำความร้อน/ทำความเย็นที่ได้ถูกสร้างขึ้นหรืออัปเกรดให้สามารถดำเนินการได้ดีขึ้นในสภาพน้ำท่วม, พายุ หรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นที่คาดการณ์ไว้; หรือ b. การดำเนินการของอุปกรณ์ตรวจสอบและควบคุมหรือระบบ IT อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำงานหรือบำรุงรักษาอุปกรณ์ทำความร้อน/ทำความเย็นในกรณีของน้ำท่วม, สภาพพายุ หรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นที่คาดการณ์ไว้; หรือ c. การดำเนินการของสถานที่หรืออุปกรณ์เพื่อให้การสนับสนุน, การจัดเก็บ หรือการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน, การบำรุงรักษา หรือการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำความร้อน/ทำความเย็นในกรณีของน้ำท่วม, สภาพพายุ หรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นที่คาดการณ์ไว้. |
ชั้น 2 (สีส้ม ชั้น 2) | ไม่มีเกณฑ์ |
ชั้น 3 (สีส้ม ชั้น 3) | ไม่มีเกณฑ์ |
EO3 การปกป้องระบบนิเวศที่ดีและความหลากหลายทางชีวภาพ | |
ชั้น 1 (สีเขียว) | ไม่มีเกณฑ์ |
ชั้น 2 (สีส้ม ชั้น 2) | ไม่มีเกณฑ์ |
ชั้น 3 (สีส้ม ชั้น 3) | ไม่มีเกณฑ์ |
EO4 ความยืดหยุ่นทางทรัพยากรและการปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน | |
ชั้น 1 (สีเขียว) | ไม่มีเกณฑ์ |
ชั้น 2 (สีส้ม ชั้น 2) | ไม่มีเกณฑ์ |
ชั้น 3 (สีส้ม ชั้น 3) | ไม่มีเกณฑ์ |
คำจำกัดความของการผลิตก๊าซชีวภาพ การผลิตความร้อน/ความเย็นจากเชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวและก๊าซที่ไม่ใช่ฟอสซิลและมาจากแหล่งพลังงานทดแทน
วัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม | กลุ่มที่มีการประเมิน | กิจกรรม มีความเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม | เกณฑ์การประเมิน หากมีความเกี่ยวข้อง |
EO1 | การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | เกี่ยวข้อง | ภาคผนวก 2 ส่วนที่ 2 |
EO2 | การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | เกี่ยวข้อง | ภาคผนวก 2 ส่วนที่ 3 |
EO3 | การปกป้องระบบนิเวศและ ความหลากหลายทางชีวพันธุ์ | เกี่ยวข้อง | ภาคผนวก 2 ส่วนที่ 4 |
EO3 | ผลต่อทรัพยากรน้ำ | ไม่เกี่ยวข้อง | ภาคผนวก 2 ส่วนที่ 4.3 |
EO3 | ผลต่อมลภาวะทางเสียง | ไม่เกี่ยวข้อง | ภาคผนวก 2 ส่วนที่ 4.4 |
EO3 | ผลต่อสภาวะอากาศ | เกี่ยวข้อง | ภาคผนวก 2 ส่วนที่ 4.5 |
EO3 | ผลต่อทรัพยากรดิน | เกี่ยวข้อง | ภาคผนวก 2 ส่วนที่ 4.6 |
EO3 | ผลต่อความหลากหลาย | เกี่ยวข้อง | ภาคผนวก 2 ส่วนที่ 4.7 |
EO4 | ความยืดหยุ่นของทรัพยากรและ การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน | เกี่ยวข้อง | ภาคผนวก 2 ส่วนที่ 5 |
สรุปผล
ความร่วมมือระหว่างประเทศมีส่วนสำคัญในการจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนมาโดยตลอด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอน
Climate Bonds Taxonomy เป็นการสร้างเกณฑ์ระดับกว้างที่มุ่งหวังให้ประเทศอื่นนำไปปรับใช้ตามบริบทของเศรษฐกิจของตัวเอง โดยเฉพาะการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการระบุคุณลักษณะของกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับการลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้นักลงทุนมีมาตรฐานเดียวกันในการตัดสินใจลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ที่ประชาคมโลกได้มีข้อผูกพันตามความตกลงปารีส
สหภาพยุโรปได้จัดทำ Taxonomy ที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายสำหรับบริษัทที่มีกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการอ้างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคม แต่อาจไม่ได้มีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง หรือ Greenwashing ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปมีความพร้อมมากขึ้นในการออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการกีดกันการค้าของสหภาพยุโรปที่ควบคุมสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการปล่อยคาร์บอนที่สูง
ท่ามกลางความท้าทายจากประเทศพัฒนาแล้วในการกดดันให้มีความจำเป็นต้องใช้สินค้าที่มีการลดการปล่อยคาร์บอน อาเซียนได้จัดทำ Taxonomy ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสหภาพยุโรป แต่มีความคำนึงถึงการพัฒนาที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิก และการปรับตัวของบริษัท โดยให้ระยะเวลาในการปรับตัวสูงสุด 5 ปี แสดงด้วยสถานะสีส้ม ชั้น 3 การดำเนินการจำแนกดังกล่าว สร้างความชัดเจนแก่นักลงทุน และทำให้นักลงทุนสามารถวางแผนการลงทุนในระยะยาวในผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงการต่างประเทศ, นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม COP26 World Leaders Summit ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร. เข้าถึงได้จากhttps://www.mfa.go.th/th/content/cop26pm?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b.
[2 พฤศจิกายน 2564]
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ทำความรู้จัก CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เข้าถึงได้จาก https://www.set.or.th/th/about/setsource/insights/article/55-cbam (2024)
ASEAN Taxonomy Board, ASEAN Taxonomy for Sustainable Finance Version 3 (2024)
Climate Bonds Initiative, Climate Bonds Taxonomy (2021)
European Commission, A User Guide to Navigate the EU Taxonomy for Sustainable Activities (2023)
European Commission, EU Taxonomy Compass. Retrieved from https://ec.europa.eu/sustainable-finance-taxonomy/taxonomy-compass (2024)



นายรอม อรุณวิสุทธิ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน