กรณีศึกษา One Belt One Road ต่อผลทางเศรษฐกิจไทย

กรณีศึกษา One Belt One Road ต่อผลทางเศรษฐกิจไทย

1. บทนำ

นางสาวภัทราพร คุ้มสะอาด
นายสิรวิชญ์ ฉันทพงศ์

เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว จาง เซียน ทูตของราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้คิดค้นเส้นทางสายไหม ที่เชื่อมต่อระหว่าง จีน เอเชียกลาง และอาหรับ ซึ่งได้กลายเป็นเส้นทางส่งออกผ้าไหมหลัก และเป็นเส้นทางสำคัญ ช่วยให้อาณาจักรจีนรุ่งเรืองมามากกว่าหลายร้อยปี

จาง เซียน ทูตของราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น
ภาพจากเว็บไซต์ http://www.jiewfudao.com

ต่อมาในปลายปี 2556 ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนนายสี จิ้นผิง ได้เป็นผู้ริเริ่มความคิด โดยใช้ทางรถไฟ ถนน ท่อ และโครงข่ายสาธารณูปโภคในการเชื่อมต่อจีน กับ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ครอบคลุมมากกว่า 60 ประเทศ และใช้งบประมาณกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ถัดมาในปี 2558 สภารัฐจีนได้แบ่งแผนปฏิบัติการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road: OBOR) ออกเป็น 2 ส่วน วงแหวนเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) โดยวงแหวนเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบกจะเชื่อมจีนกับยุโรปผ่าน 3 เส้นทางคือ อ่าวเปอร์เซีย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมหาสมุทรอินเดีย ส่วนเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเชื่อมต่อผ่านทางภูมิภาคทางน้ำ ทั้งนี้ โดยรวมแล้วตลอดเส้นทางมีประเทศที่เกี่ยวข้องกว่า 60 ประเทศ

สำหรับบทความนี้ผู้เขียนได้เรียบเรียงข้อมูลพื้นฐานและสาระสำคัญเกี่ยวกับโครงการ OBOR รวมถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทยกับกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องในโครงการ OBOR ผ่านช่องทางการค้า ตลอดจนนำไปสู่การวิเคราะห์กรณีศึกษาในสมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติมาช่วยในการคาดการณ์ผลต่อเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย

2. ทำความรู้จักกับ One Belt One Road

โครงการ One Belt One Road (OBOR) เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักของจีน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อผลักดันการเชื่อมโยงและเส้นทางการค้าในภูมิภาค โดยเป็นการเพิ่มบทบาทของผู้ประกอบการจีนในเวทีสากลและโอกาสในการเข้าถึงตลาดโลกของจีน ผ่านมาตรการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้โครงการประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่

โครงการ One Belt One Road (OBOR)

(1) วงแหวนเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) เพื่อเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านทางเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก

(2) เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) จะเป็นการเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเส้นทางเดินเรือที่ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกา

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงข่ายการเชื่อมโยงระหว่างประเทศและเส้นทางเพิ่มเติมที่เชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจสำคัญอีกด้วย โดยมี 6 ระเบียงเศรษฐกิจสำคัญซึ่งอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายของโครงการ OBOR ได้แก่ จีน-มองโกเลีย-รัสเซีย สะพานเศรษฐกิจยูเรเชียใหม่ จีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก จีน-ปากีสถาน บังคลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา จีน-คาบสมุทรอินโดจีน

โดยเป้าหมายสำคัญของ OBOR มี 5 ประการสำคัญ ได้แก่ การประสานนโยบายด้านความร่วมมือทางยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ใน OBOR การเชื่อมโยงระบบสาธารณูปโภคการปรับปรุงเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างระเบียงการคมนาคมระหว่างประเทศ และการพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน อีกทั้งยังให้ความสำคัญรวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอีกด้วย โดยเฉพาะท่อส่งก๊าซและน้ำมัน สายส่งไฟฟ้าข้ามแดน และการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาค
ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการดังกล่าวคือการยกเลิกสิ่งที่เป็นอุปสรรคทางการค้า การลงทุน และก่อตั้งเขตการค้าเสรี ซึ่งมีประเทศในพื้นที่เป้าหมายของโครงการ OBOR จำนวนประมาณ 65 ประเทศ (นับรวมจีน) ทั้งนี้ สามารถจัดเป็น 7 กลุ่มได้ดังนี้[1]

3. ความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยกับกลุ่มประเทศในพื้นที่เป้าหมายโครงการ OBOR

จากการจัดกลุ่มประเทศในพื้นที่เป้าหมายของโครงการ OBOR ซึ่งมีอยู่กว่า 60 ประเทศนั้นถูกแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มด้วยกัน โดยหากพิจารณาด้านความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับในแต่ละกลุ่มประเทศดังกล่าวจะพบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2560 ที่ไปยังกลุ่มประเทศ OBOR คิดเป็นประมาณร้อยละ 34.8 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่ด้านการนำเข้าสินค้าของไทยปี 2560 จากกลุ่มประเทศ OBOR คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30.5 ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยรายการสินค้าสำคัญทั้งด้านการส่งออกและนำเข้าจากกลุ่มประเทศทั้ง 7 กลุ่มมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

3.1 กลุ่มประเทศ South Asia

ประกอบด้วย 8 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา อัฟกานิสถาน เนปาล มัลดีฟส์ ภูฏาน ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกไปกลุ่ม South Asia ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.1 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่มูลค่าการนำเข้าปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

3.2 กลุ่มประเทศ Southeast Asia

ประกอบด้วย 11 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว บรูไน ติมอร์ตะวันออก ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกไปกลุ่ม Southeat Asia ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 59.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 25.2 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่มูลค่าการนำเข้าปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 41.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 18.6 ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

3.3 กลุ่มประเทศ Central Asia

ประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่ม Central Asia ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 66.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.03 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่มูลค่าการนำเข้าปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 46.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 0.02 ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

3.4 กลุ่มประเทศ West Asia and North Africa

ประกอบด้วย 16 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน อิหร่าน ตุรกี อิสราเอล อียิปต์ คูเวต อิรัก กาตาร์ จอร์แดน เลบานอน บาห์เรน เยเมน ซีเรีย ปาเลสไตน์ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกไปกลุ่ม West Asia and North Africa ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.1 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่มูลค่าการนำเข้าปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 8.3 ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

3.5 กลุ่มประเทศ Central and Eastern European

ประกอบด้วย 16 ประเทศ ได้แก่ โปแลนด์ โรมาเนีย สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย บัลแกเรีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย สโลวีเนีย เอสโตเนีย โครเอเชีย แอลเบเนีย เซอร์เบีย มาซิโดเนีย บอสเนีย และเฮอร์เซโกวีนา ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกไปกลุ่ม Central and Eastern European ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.9 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่มูลค่าการนำเข้าปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 994.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.45 ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

3.6 กลุ่มประเทศ The other States of the CIS

ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ ยูเครน อาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย เบลารุส จอร์เจีย มอลโดวา ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกไปกลุ่ม The other States of the CIS ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 159.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.07 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่มูลค่าการนำเข้าปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 666.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

3.7 กลุ่มประเทศอื่นๆ (มองโกเลีย รัสเซีย)

ประกอบด้วย 2 ประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย และรัสเซีย ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกไปกลุ่มดังกล่าวในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 1.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่มูลค่าการนำเข้า
ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.9 ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

จากรายละเอียดรายการสินค้าส่งออกและนำเข้าของไทยดังที่กล่าวไปข้างต้นนั้น เมื่อสรุปในภาพรวมมูลค่าการค้าและดุลการค้าระหว่างไทยในแต่ละกลุ่มประเทศจะพบว่า มี 4 กลุ่มประเทศที่ไทยเกินดุลการค้า ได้แก่ กลุ่ม South Asia, Southeast Asia, Central Asia และกลุ่ม Central and Eastern European ซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าหมวดอุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์ และผลไม้ เป็นสำคัญ ขณะที่อีก 3 กลุ่มประเทศที่ไทยขาดดุลการค้า ได้แก่ กลุ่ม West Asia and North Africa, The Other States of the CIS และกลุ่ม Other Countries โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าหมวดแร่และเชื้อเพลิง พลังงาน สินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นสำคัญ (แผนภาพด้านล่าง)

4. กรณีศึกษา

การศึกษาในครั้งนี้ ผู้เขียนได้ตั้งสมมติฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการ OBOR ต่อผลทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศต่าง ๆ และเศรษฐกิจไทย เพื่อคำนวณผลที่อาจเกิดขึ้นทางเศรษฐกิจหากโครงการ OBOR เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ โดยในการศึกษาผู้เขียนได้นำเครื่องมือ Leontief Tool[1] ที่ใช้ฐานข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table: IO Table) ของ OECD ปี 2544 ซึ่งเป็น Global IO Table ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างประเทศทั่วโลก

สมมติฐานที่ผู้เขียนตั้งไว้ในการศึกษาครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) หากโครงการ OBOR ทำให้ภาพรวมการค้าของจีนดีขึ้น และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกสามารถส่งออกไปยังจีนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากกรณีฐาน และ (2) หากโครงการ OBOR ทำให้ภาพรวมการค้าของจีนดีขึ้น และกลุ่มประเทศใน OBOR ที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยในสัดส่วนที่สูง (ประเทศกลุ่ม Southeast Asia) สามารถส่งออกไปยังจีนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากกรณีฐาน

5. ผลการศึกษา

          กรณีที่ 1 หากโครงการ OBOR ทำให้ภาพรวมการค้าของจีนดีขึ้น และส่งผลให้ทุกประเทศทั่วโลกสามารถส่งออกไปยังจีนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะส่งผลต่อเศรษฐกิจแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับกรณีฐาน
ดังแผนภาพด้านล่าง

สำหรับผลการเปลี่ยนแปลงต่อภาพรวมเศรษฐกิจรายประเทศ หากเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ข้างต้น จะเห็นว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ โดยจะส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.32 0.20 และ 0.18 จากกรณีฐาน ตามลำดับ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่ประเทศดังกล่าวมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนในระดับที่ค่อนข้างสูง สำหรับในกรณีของเศรษฐกิจไทยได้รับผลบวกที่ร้อยละ 0.1 จากกรณีฐาน ทั้งนี้ เมื่อดูรายละเอียดแยกตามรายสาขาการผลิตของไทยพบว่า สาขาการผลิตที่อาจได้รับผลดีจากสมมติฐานดังกล่าว 3 อันดับแรก ได้แก่ หมวดคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ หมวดเคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เป็นสำคัญ

ในกรณีที่ 2 หากโครงการ OBOR ทำให้ภาพรวมการค้าของจีนดีขึ้น และกลุ่มประเทศใน OBOR ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยในระดับสูง อย่างเช่นกลุ่ม Southeast Asia และกลุ่ม Central and Eastern European สามารถส่งออกไปยังจีนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะส่งผลให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับกรณีฐานดังแผนภาพด้านล่าง

สำหรับผลการเปลี่ยนแปลงต่อภาพรวมเศรษฐกิจรายประเทศ หากเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ข้างต้น จะเห็นว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ โดยส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.07 0.05 และ 0.04 จากกรณีฐาน ตามลำดับ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่ประเทศดังกล่าวมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนในระดับสูง

สำหรับในกรณีของเศรษฐกิจไทยได้รับผลบวกที่ร้อยละ 0.02 จากกรณีฐาน ทั้งนี้ เมื่อดูรายละเอียดแยกตามรายสาขาการผลิตของไทย พบว่า สาขาการผลิตที่อาจได้รับผลดีจากสมมติฐานดังกล่าว 3 อันดับแรก ยังคงเป็น หมวดคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ หมวดเคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยางพาราและพลาสติก เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ World Bank โดยใช้ฐานข้อมูลจาก UN Comtrade[1] ได้แสดงข้อมูลด้านการส่งออกของกลุ่มประเทศใน OBOR และกลุ่มประเทศนอก OBOR ซึ่งสามารถแบ่งเป็น สินค้าขั้นกลาง[2] (Intermediate goods) และสินค้าขั้นสุดท้าย[3] (Final goods) โดยสามารถเห็นถึงพัฒนาการในช่วงระยะ 20 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2538 – 2558) จากภาพด้านล่างจะเห็นได้ว่าการค้าของประเทศในกลุ่ม OBOR ส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลาง
โดยเป็นสินค้าที่ใช้เพื่อการนำไปผลิตสินค้าชนิดอื่น ๆ ในขั้นตอนต่อ ๆ ไป ซึ่งสอดคล้องกับผลคาดการณ์ในสาขาการผลิตของไทยที่สินค้าขั้นกลางส่วนใหญ่ได้รับผลดีหากการค้าของจีนและกลุ่มประเทศใน OBOR ที่เป็นคู่ค้าของไทยดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในกรณีศึกษาดังกล่าวยังเป็นเพียงผลจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการค้าของจีนเพียงปัจจัยเดียว ซึ่งในสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลกอาจมีความผันผวนในบางช่วงเวลา นโยบายการค้าของประเทศต่าง ๆ ระดับอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับฐานข้อมูล IO Table ซึ่งเป็นโครงสร้างในปี 2554 โดยข้อจำกัดดังกล่าวอาจส่งผลให้ผลการคาดการณ์มีความคลาดเคลื่อนและยังไม่ครอบคลุมผลการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด

6. สรุป

จากการศึกษาและคาดการณ์ผลการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นทางเศรษฐกิจด้วยวิธีการ Leontief ภายใต้สมมติฐานสำคัญ 2 ประการของผู้เขียนดังที่กล่าวไปในหัวข้อข้างต้นนั้น เป็นคาดการณ์ในมุมมองที่หากโครงการ OBOR สามารถดำเนินการได้สำเร็จสมบูรณ์ตามแผนการดำเนินงานและเป้าหมายของจีนที่ได้ตั้งไว้ และทำให้เกิดความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศที่ดีขึ้นในระยะถัดจากนั้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคการค้าและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการเชื่อมโยงกับจีน รวมทั้งประเทศไทยซึ่งมีจีนและบางกลุ่มประเทศใน OBORเป็นคู่ค้าสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงหรือข้อจำกัดด้านอื่นทางเศรษฐกิจเข้ามาประกอบกันในการคาดการณ์ครั้งนี้

ภัทราพร คุ้มสะอาด
ผู้เขียน

งานหลักเป็นเศรษฐกร ชื่นชอบการถ่ายภาพ ท่องเที่ยว และตระเวนกินทั่วราชอาณาจักร
หัดออกแบบกราฟฟิคบ้าง ชอบกดไลค์ ถูกใจกดซื้อได้ที่
https://www.shutterstock.com/g/Puizz088

เอกสารอ้างอิง

  • พนันดร อรุณีนิรมาน. “ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ (Trade War Impact on Thai Economy)”
  • ปรีดี บุญซื่อ. 19 พฤษภาคม 2017. เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 “One Belt, One Road” จะเปลี่ยนโฉมหน้าเส้นทางการค้าโลกอย่างไร. https://thaipublica.org/2017/05/pridi48/ สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2561
  • Jinchen, Tian. “‘One Belt and One Road’: Connecting China and the World.” https://www.mckinsey.com/Industries/Capital-Projects-and-Infrastructure/Our-Insights/One-Belt-and-One-Road-Connecting-China-and-the-World, July 2016.
  • Huang, Zheping. “Your Guide to Understanding OBOR, China’s New Silk Road Plan.” https://Qz.com/983460/Obor-an-Extremely-Simple-Guide-to-Understanding-Chinas-One-Belt-One-Road-Forum-for-Its-New-Silk-Road/, 15 May 2017.
  • Balanika, Vasilik Pigka. “THE IMPACT OF TRADE OPENNESS ON ECONOMIC GROWTH.” File:///C:/Users/Macroa/Downloads/356613-Pigka-Balanika.pdf.
  • Li, Yuan, and Hans Jörg Schmerer. “Trade and the New Silk Road: Opportunities, Challenges, and Solutions.” https://www.tandfonline.com/Doi/Full/10.1080/14765284.2017.1347473, 23 June 2017.
  • Boffa, and Mauro. “Trade Linkages between the Belt and Road Economies.” 
    http://Documents.worldbank.org/Curated/En/460281525178627774/Pdf/WPS8423.Pdf
    ,
    1 May 2018.
  • Ruta, Michele. “Three Opportunities and Three Risks of the Belt and Road Initiative.” 
    https://Blogs.worldbank.org/Trade/Three-Opportunities-and-Three-Risks-Belt-and-Road-Initiative, 5 Apr. 2018.
  • Wong, Ai Ai, and Stanley Jia. “Belt & Road: Opportunity & Risk The Prospects and Perils of Building China’s New Silk Road.” https://www.bakermckenzie.com/-/Media/Files/Insight/Publications/2017/10/BeltRoad/baker_mckenzie_belt_road_report_2017.Pdf?La=En.

คำอธิบายเพิ่มเติม

Photo by Diego Jimenez on Unsplash