“เชียงใหม่โมเดล” การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้านการเกษตร

“เชียงใหม่โมเดล” การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้านการเกษตร

บทความโดย
นางสาวคงขวัญ ศิลา
นายกานต์ แจ้งชัดใจ

เมื่อพูดถึงจังหวัดเชียงใหม่ หลายคนมักจะนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมหลายๆ แห่ง เช่น วัดพระธาตุดอยสุเทพ และดอยอินทนนท์ เป็นต้น อีกทั้งจังหวัดเชียงใหม่ยังเป็นจังหวัดจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นส่วนที่สำคัญเช่นกัน โดยในปี 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) ของจังหวัดเชียงใหม่มีมูลค่าเท่ากับ 207,731 ล้านบาท สามารถแบ่งออกเป็นภาคเกษตร 46,650 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด ภาคอุตสาหกรรม 26,088 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 164,964 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด (รายละเอียดตามรูปที่ 1)

ภาพที่ 1 แผนภูมิวงกลมแสดงผลิตภัณฑ์จังหวัดเชียงใหม่

จากผลิตภัณฑ์จังหวัดที่กล่าวถึงข้างต้น จะสังเกตได้ว่าภาคการเกษตรนั้นมีส่วนสำคัญถึงร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด โดยจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 1,835,425 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 14.61 ของพื้นที่รวมของจังหวัด โดยพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว และทำพืชสวน ตามลำดับ สำหรับพืชเศษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ กระเทียม หอมแดง และส้มเขียวหวาน เป็นต้น ประกอบกับดัชนีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานของจังหวัดเชียงใหม่ (ประมวลผลโดยกระทรวงการคลัง) พบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ป่าต่อพื้นที่จังหวัด เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ และพื้นที่ชลประทานต่อพื้นที่ทำการเกษตร เป็นอันดับที่ 19 ของประเทศ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าภาคการเกษตรนับเป็นหนึ่งในภาคการผลิตที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยการพัฒนาด้านการเกษตรจะเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับจังหวัดต่อไป

ทั้งนี้ วารสารการเงินการคลัง และสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.นเรศ ศิริเกษร หัวหน้าโครงการเชียงใหม่โมเดล เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เกี่ยวกับโครงการเชียงใหม่โมเดล โครงการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้านการเกษตร รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการเกษตร โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้


ดร.นเรศ ศิริเกษร หัวหน้าโครงการเชียงใหม่โมเดล

ความเป็นมา และความคืบหน้าของโครงการเชียงใหม่โมเดล

โครงการเชียงใหม่โมเดล เป็นโครงการที่ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชุมชนด้วยองค์ความรู้ และนวัตกรรมบริการ โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ (บพท.) คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และหน่วยงานระดับท้องถิ่น

โครงการเชียงใหม่โมเดลเกิดขึ้นจากปัญหาที่เกษตรกรมีรายได้ตกต่ำ ผลผลิตตกต่ำ และยังมีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ทำให้โครงการได้คิดโจทย์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การสร้างกำลังคนให้ความมั่นคงในอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว และการสร้างทีมนวัตกรบริการ

เป้าหมายของโครงการ

  1. เกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาทต่อครัวเรือน
  2. เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อมาพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้จากระบบการเกษตร
  3. สร้างทีมนวัตกรรมในการให้บริการทางการเกษตร (Service Provider)

กรอบแนวคิดของการวิจัย

ปัญหาในพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงานตัดแต่งกิ่ง พ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ขาดการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ผลผลิตด้อยคุณภาพ ราคาผลผลิตตกต่ำ และขาดช่องทางการตลาด ทำให้ต้องมีนวัตกรบริการเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการสร้างคน สร้างงาน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การตัดแต่งกิ่ง (ลำไยและมะม่วง) การตัดแต่งผลลำไย การห่อผล โดรนฉีดพ่น (Spraying Drone) และ ตลาดขายของรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ (Market Place) เป็นต้น เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้  โดยกิจกรรมการตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งช่อผลลำไย และ โดรนฉีดพ่น จะเป็นการยกระดับผลผลิตและคุณภาพผลผลิต ซึ่งจะเป็นรายได้หลักให้กับเกษตรกร ส่วนการห่อผลจะเป็นการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าผลผลิต ผ่านการแปรรูปและการเพิ่มมูลค่าสินค้าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานการผลิต  และสำหรับ Market Place เป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเพื่อจะสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นต่อไป

จุดเด่นของโครงการ

  • การขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ โดยคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร และภาคีเครือข่าย
  • มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีส่วนร่วมในการติดตั้งชุดองค์ความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิจัย และนวัตกรรมบริการขยายผลสู่อาชีพนวัตกรบริการ
  • กระบวนการลงมือทำ พาทำ เกี่ยวกับเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์
  • การบริหารโครงการมีโครงการกลางที่ช่วยติดตามประเมินผลให้สำเร็จตามเป้าหมาย
  • การขับเคลื่อนการบริหารโครงการมีการติดตามจากแหล่งทุน บพท. โดยจะมีการประเมินทุก ๆ 8 เดือน หรือ 12 เดือน

ความคืบหน้าและการดำเนินการในปัจจุบัน

สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินการในปัจจุบันของกิจกรรมในโครงการเชียงใหม่โมเดล สามารถแบ่งออกเป็น ดังนี้

  1. กิจกรรมนวัตกรบริการ : มีการให้บริการโดรนพ่นสาร มีการให้บริการตัดแต่งกิ่ง ตัดต่อช่อผลลำไย มีการให้บริการห่อผลมะม่วง พัฒนา Chiangmai Model Application (CMA)
  2. กิจกรรมการส่งเสริมการผลิตลำไยคุณภาพ และการผลิตลำไยนอกฤดู : เกิดนวัตกรบริการในการตัดแต่งกิ่งลำไย เกิดการเรียนรู้ชุมชนการตัดแต่งกิ่งลำไยแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรสามารถใช้สารกระตุ้นการออกดอกที่ต้นทุนต่ำกว่าใช้สารแบบเดิม และเกษตรกรสามารถผลิตลำไยให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น
  3. กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตมะม่วง : เกิดนวัตกรกลุ่มบริการตัดแต่งกิ่งมะม่วง เกิดนวัตกรโดรนพ่นสาร และเกิดนวัตกรผลิตมะม่วง
  4. กิจกรรมพืชผักสวนครัว ผักงอก และสมุนไพร : มีการผลิตผักสวนครัวเพิ่มขึ้น เช่น ชะอม เชียงคา อัญชัน เป็นต้น รวมไปถึงเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งได้รับมาตรฐานการรับรองเป็นที่ยอมรับจาก USDA Organic (United States Department of Agriculture)
  5. การปลูกดาวเรืองตัดดอกเพื่อยกระดับคุณภาพการผลิต : มีการปลูกดอกเรืองแบบโน้มต้นผลผลิตสูง มีการปลูกพืชแบบปลอดภัยจากการใช้สารชีวภาพกำจัดโรคและแมลงโดยไม่ใช้สารเคมี และมีการแปรรูปชาดอกดาวเรืองเพื่อสุขภาพ
  6. กิจกรรมการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : มีการส่งเสริมให้เกิดโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐานจำนวน 1 แห่งที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
  7. กิจกรรมการแปรรูปผลผลิต : เกิดผลิตภัณฑ์ชาลำไย ชาดาวเรือง ชาดอกดาวเรืองผสมอัญชัน ชาดอกดาวเรืองผสมใบเตยและหญ้าหวาน เป็นต้น ซึ่งได้รับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว
  8. ตลาดชุมชนวิถีเกษตร : มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดระเบียบตลาดใหม่ให้เอื้อต่อการซื้อขายและท่องเที่ยว มีการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก จัดพื้นที่จอดรถ ความสะอาด และความร่มรื่น

ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ

สำหรับปัญหาในการดำเนินการของโครงการเชียงใหม่โมเดลมีดังนี้

  • ระยะเลาของโครงการไม่สอดคล้องกับฤดูการผลิต ทำให้เมื่อโครงการสิ้นสุดไม่สามารถประเมินผลลัพธ์ของโครงการได้
  • ข้อจำกัดในด้านการทำการตลาดออนไลน์ เนื่องจากเกษตรหลายราย ไม่มีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำการตลาดออนไลน์
  • โครงการนี้มีกิจกรรมที่ออกแบบตามแผนธุรกิจที่เป็นห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ที่เชื่อมโยงกันหลายกิจกรรม ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนจึงยังไม่มีมากนัก
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้มีปิดตลาดวิถีเกษตรชุมชน ถึง 6 เดือน
  • สถานการณ์โลกร้อนมีผลต่อการออกดอกออกผล

ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ (Key success) ของโครงการ

โครงการนี้จะสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ต้องมีการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยหลายประการ สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการเชียงใหม่โมเดล คือ “คน งาน เงิน ตลาด”

นางสาวคงขวัญ ศิลา

เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

กานต์ แจ้งชัดใจ

เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน