การพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

การพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

บทความโดย
ดร. กุสุมา คงฤทธิ์

บทนำ

ในศตวรรษที่ 21 ประเทศต่างๆ ได้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจกระแสใหม่อันเกิดจากการที่เศรษฐกิจโลกได้เคลื่อนเข้าสู่เศรษฐกิจแบบฐานความรู้ หรือที่เรียกกันว่า “Knowledge-based economy” ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใช้การจัดการความรู้มาช่วยสร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ [2] โดยความรู้ถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการผลิต การกระจายสินค้าและการบริการ ที่สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ ตัวความรู้และเทคโนโลยีเองถือเป็นสินค้าอย่างหนึ่งได้เช่นกัน โดยที่ผู้ค้นพบหรือผู้ที่ลงทุนทำวิจัยจนทำให้เกิดความรู้ และนวัตกรรมสามารถต่อรองค้าขายหรือสงวนสิทธิองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ค้นพบโดยการจดสิทธิบัตร และองค์ความรู้นั้นเป็นสิทธิทางปัญญา ความรู้จึงเปรียบเสมือนเป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Productive asset) ด้วยเหตุดังกล่าวการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานมาจากความรู้ จึงเป็นที่ยอมรับกันว่าช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถทางการผลิต (Productivity)

บทความนี้มุ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจฐานความรู้อันจะนำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) ซึ่งเป็นแนวนโยบายการพัฒนาที่สำคัญของหลายประเทศในปัจจุบัน รวมทั้งประเทศไทย โดยบทความได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

1. กรณีศึกษาจากสาธารณรัฐเกาหลีในเรื่องเศรษฐกิจฐานความรู้ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยการถอดบทเรียนพัฒนาการทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกาหลีที่มีการใช้ปัจจัยความรู้ในภาคอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง

2. ความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยการศึกษาพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและผลของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

3. นโยบายเศรษฐกิจภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการนำเสนอแนวนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ

4. บทสรุป

1. กรณีศึกษาจากสาธารณรัฐเกาหลี: เศรษฐกิจฐานความรู้ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

ในอดีตสาธารณรัฐเกาหลีหรือประเทศเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา แต่ปัจจุบันสาธารณรัฐเกาหลีได้ก้าวเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกาหลีมีความโดดเด่นจากการที่เศรษฐกิจของประเทศถูกยกระดับจากอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก สู่อุตสาหกรรมกลุ่มเคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

จนปัจจุบันผลผลิตและบริการทางด้านความรู้และสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกาหลีเป็นอย่างมาก โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาทิ ชุดอุปกรณ์โทรทัศน์ สารกึ่งตัวนำที่ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แผงหน้าจอ ไมโครชิป คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รวมถึงโทรศัพท์มือถือถูกจัดเป็นหนึ่งในสามของปริมาณสินค้าที่ส่งออกทั้งหมดของประเทศ

ทำให้สาธารณรัฐเกาหลีสามารถสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านยุทธศาสตร์ด้านการส่งออกเทคโนโลยี โดยรัฐบาลได้มุ่งเน้น (1) การลงทุนในด้านการศึกษา หรือการวิจัยและพัฒนา และ (2) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communications Technology: ICT) ซึ่งทั้งการศึกษา วิจัยและพัฒนาบวกกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ อันนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีการสร้างสรรค์ เผยแพร่ความรู้และนำความรู้มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานความรู้
ที่มา: Kozma, Robert B. (2008). “ICT, Education Reform, and Economic Growth: A Conceptual Framework”

เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ประเทศเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จจากการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้สู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ พบว่า มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ (1) การมีระบบนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพในทุกระดับของประเทศทั้งในระดับกิจการผลิต ศูนย์วิจัยและมหาวิทยาลัย กลุ่มคนที่มีความรู้ รวมถึงองค์กรภาครัฐและเอกชนที่มีความสามารถในการจัดหาเผยแพร่ แลกเปลี่ยนและรับเอาความรู้มาปรับใช้อย่างเหมาะสม (Innovation system and technological adoption) (2) การสนับสนุนของรัฐบาลต่อการลงทุนในด้านการศึกษา หรือการวิจัยและพัฒนา ทำให้เกิดการยกระดับของประชากรที่มีการศึกษาและแรงงานที่มีความรู้/มีฝีมือ ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการสร้าง การใช้ และการกระจายความรู้สู่ระบบเศรษฐกิจและสังคม (3) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and communication technologies) ที่ทำให้ประชาชนและธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศจากทั่วทุกมุมโลก [3] และนำข้อมูลนั้นมาสังเคราะห์ กลั่นกรองให้เป็นความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม และ (4) สภาพแวดล้อม ได้แก่ กฎระเบียบข้อบังคับ ทุนทางสังคม (Social capital) หรือความเชื่อถือไว้วางใจ (Trust) และการสื่อสารอย่างเปิดกว้างระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน เป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันในการสร้างและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน

2. ความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อก้าวข้ามไปสู่ “Thailand 4.0” ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเฉกเช่นเดียวกันกับแนวคิดตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยแนวทางการขับเคลื่อนหลักภายใต้โมเดล Thailand 4.0 นั้น เน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่การผลิตเชิงนวัตกรรม การใช้ทุนมนุษย์และเทคโนโลยีแทนที่เงินทุนทางกายภาพ เพื่อนำไปสู่การกระจายความมั่งคั่งและโอกาส ภายใต้ 3 กลไกหลัก ซึ่งประกอบด้วย

(1) กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์

(2) กลไกกระจายรายได้ ด้วยการยกระดับขีดความสามารถ และการเสริมสร้างทักษะให้กับประชาชนและกลุ่มวิสาหกิจ

(3) กลไกการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานทดแทน

เมื่อพิจารณาบริบททางเศรษฐกิจของประเทศไทยพบว่า โครงสร้างการผลิตของไทยในปัจจุบันมีภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นภาคหลักในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทย โดยภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 28 และภาคบริการมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 65 ขณะที่เกษตรกรรมมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 6 ซึ่งน้อยกว่าภาคการค้าปลีกค้าส่ง ภาคการขนส่ง ตลอดจนภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 10 และ 8 ของ GDP ตามลำดับ (ภาพที่ 2) ข้อเท็จจริงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีการพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆ ของไทยมีลักษณะเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป หรือการรับจ้างผลิตสินค้า หรือที่เรียกว่า OEM (Original Equipment Manufacturer) ซึ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวาง รวดเร็ว และหลายช่องทาง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีข้อมูลและทางเลือกในการตัดสินใจซื้อมากขึ้น การแข่งขันที่มากขึ้นนี้ทำให้ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานการผลิต (Production-based economy) สู่การเป็นเศรษฐกิจที่เพิ่มคุณค่าสินค้าและบริการ (Valued – driven economy) ผ่านการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ และเศรษฐกิจฐานความคิดสร้างสรรค์

ภาพที่ 2 พัฒนาการเศรษฐกิจไทยด้านโครงสร้างการผลิต
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คำนวณโดย ผู้เขียน

เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมของไทย โดยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ 87.8) รองลงมาได้แก่ ภาคบริการ (ร้อยละ 12.5) และที่เหลือคือ ภาคเกษตรกรรม [4] และโดยรวมขนาดของเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีสัดส่วนคงที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 – 10 ของ GDP

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ขยายตัวมากในช่วงที่เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตสูง โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2533 – 2538 ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ เช่น อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และระบบซอฟต์แวร์ เมื่อพิจารณาผลของการกระจายรายได้ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ พบว่า ส่วนแบ่งรายได้จะตกอยู่กับแรงงานมากกว่าส่วนแบ่งของผู้ประกอบการ (ส่วนแบ่งทุน) โดยร้อยละ 56 ของรายได้จากผลผลิตจะตกอยู่กับแรงงาน ขณะที่ร้อยละ 44 จะตกอยู่กับเจ้าของปัจจัยการผลิตประเภททุน (หรือผู้ประกอบการ) จะเห็นได้ว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่เพียงแต่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการจ้างงานและสร้างผลตอบแทนในรูปแบบของกำไรแก่ผู้ประกอบการ

3. นโยบายเศรษฐกิจภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

การพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจให้มีความแข็งแกร่งพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and innovation change) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ จะต้องส่งเสริมเศรษฐกิจใน 3 ด้าน ดังนี้

(1) การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (Connectivity – based economy) โดยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์เพื่อเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคและสนับสนุนการกระจายสินค้าและบริการซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้เร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 8 ปี (พ.ศ. 2559-2566) นอกเหนือไปจากการพัฒนาด้านโลจิสติกส์แล้ว ในอนาคตควรมีการส่งเสริมการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายร่วมด้วย เพื่อส่งเสริม Internet of Things (IoT) ซึ่งปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้มีการใช้เครือข่ายที่เรียกว่า LoRaWAN ซึ่งย่อมาจาก Low Power Wide Area Network (LPWAN) ที่ควบคุม สั่งการ และเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ ผ่าน LoRa protocol ซึ่งจากเดิมการเชื่อมอุปกรณ์จะมีความยุ่งยากและซับซ้อน ผ่านการเชื่อมโยงรูปแบบต่างๆ เช่น Mobile Data (เชื่อมต่อระยะไกลได้ แต่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายสูง) WiFi และ Bluetooth (มีข้อจำกัดด้านระยะทาง) และทั้ง 3 อย่างใช้พลังงานสูงในการขับเคลื่อนอุปกรณ์อยู่ตลอด แต่ LoraWAN แก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดย LoraWAN สามารถเชื่อมโยงในระยะไกลได้ ใช้พลังงานน้อย ค่าใช้จ่ายต่ำ และสื่อสารพร้อมๆ กันได้หลายตัว

(2) การสร้างเศรษฐกิจฐานดิจิตอล (Digital – based economy) โดยการลงทุนใน “Soft” infrastructure เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital economy) โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังเป็นเรื่องของ Financial Infrastructure เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินของประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้เร่งดำเนินการโครงการ National e-Payment เพื่อช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของไทย และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่การดำเนินธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด ในส่วนของประชาชนทั่วไป National e-Payment จะขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีค่าใช้จ่ายเหมาะสม สะดวก ปลอดภัยและง่าย (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 รายละเอียดโครงการ National e-Payment
ที่มา: http://www.epayment.go.th

(3) การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge – based economy) โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ การวิจัยและพัฒนารวมถึงนวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญของการเติบโตและเพิ่มผลิตภาพในระยะยาวสำหรับกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging countries) และประเทศกลุ่มรายได้ปานกลาง (Middle-income countries) การปรับเปลี่ยนจากการผลิตที่เน้นใช้แรงงานสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจะเป็นบันไดสำคัญที่ทำให้ประเทศก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง

โดยรัฐบาลได้มีการสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมด้วยมาตรการด้านการเงินการคลังต่างๆ ให้แก่ธุรกิจ SMEs ธุรกิจ Startup ตลอดจนคลัสเตอร์และอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ อาทิ

(1) มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และธุรกิจ Startup

(2) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน

(3) การกระตุ้นให้เอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคตหรือ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

(4) การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์

(5) หักค่าใช้จ่ายพิเศษ 3 เท่า สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

(6) สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs Startup ด้านเทคโนโลยี (พรฎ. 602)

(7) มาตรการยกระดับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) และ

(8) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล เป็นต้น

ภาพที่ 4 แนวทางประชารัฐในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากการส่งเสริมธุรกิจภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้ว ในอนาคตควรมีการสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างรัฐและสถาบันการศึกษา และความเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาร่วมด้วย (ภาพที่ 4)

เนื่องจากสถาบันการศึกษาถือเป็นแหล่งผลิตเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ จึงควรส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้ามาร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย เช่น การสนับสนุนค่าจ้างนักศึกษาจบใหม่ หรือการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วมาฝึกงานกับบริษัทที่ต้องการขยายการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมและความสามารถในการทำการค้าพาณิชย์ [5]

4. บทสรุป

เศรษฐกิจสร้างสรรค์สามารถสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable growth) เนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อต่อยอดต่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ผ่านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม นอกจากนี้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์สามารถเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพของแรงงานได้โดยตรง โดยการถ่ายทอดความรู้ (Knowledge – transfer) ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องตามแนวทางขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ที่เน้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และพัฒนาประชาชนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ที่จะก่อให้เกิดความมั่นคง มั่นคั่งและยั่งยืนสู่ประเทศอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบระหว่างนวัตกรรมจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบวัฒนธรรม และความรู้ท้องถิ่นกับการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างการลงทุนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว การลงทุนในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่า

ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ โดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การยกระดับอุตสาหกรรมจากการผลิตตามคำสั่งไปสู่การออกแบบและการวิจัยและพัฒนามากขึ้น และการส่งเสริมการลงทุนควรคัดเลือกการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีนวัตกรรมมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

ดร. กุสุมา คงฤทธิ์
ผู้เขียน

นักเศรษฐศาสตร์ที่ยังอยากเรียนอะไรอีก หลายอย่าง ชอบสีชมพู
น้องหมา ปลาวาฬ และมีความสุขกับการได้นอนอ่านหนังสือ

[1] ผู้เขียนขอขอบคุณ นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค และดร.สมคิด บุญล้นเหลือ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำหรับข้อแนะนำ และขอขอบคุณภาพประกอบจากส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
[2] Drucker, P. (1969), The Age of Discontinuity; Guidelines to Our Changing Society. New York: Harper and Row.
[3] ประเทศเกาหลีใต้มีครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในอัตราที่สูงประมาณร้อยละ 98.5 ซึ่งหมายความว่า เกือบทุกครัวเรือนมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
[4] พิริยะ ผลพิรุฬห์. (2556), เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการพัฒนาประเทศ; วารสารเศรษฐศาสตร์ปริทรรศน์ สถาบันพัฒนศาสตร์. ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 มกราคม 2556.
[5] ตัวอย่างเช่น Ministry of Science and Innovation ของนิวซีแลนด์ ได้สนับสนุนค่าจ้างนักศึกษาจบใหม่เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ประเทศไทยอาจมีการประยุกต์ใช้มาตรการดังกล่าวโดยเฉพาะการส่งเสริมการทำงานของนักศึกษาใน SMEs (เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่โดยมากมีความสามารถในการสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของนักศึกษาจบใหม่อยู่แล้ว) เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการปฏิบัติงานจริง และรู้จักการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่เพื่อสร้างให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs