การขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเทศกาลด้านวัฒนธรรม

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเทศกาลด้านวัฒนธรรม

บทความโดย
นายธณัฐ พวงนวม
นายกานต์  แจ้งชัดใจ
นางสาวณัฏฐธิดา  จันภักดี

บทนำ

ภาพที่ 1 แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์

ที่มา: https://www.museumthailand.com สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566

เมื่อกล่าวถึงบริบทของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอาจประกอบด้วยหลายลักษณะ ซึ่งหนึ่งในลักษณะที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยอาศัยการท่องเที่ยว โดยอาจเป็นในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco-Tourism) การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Argo-Tourism) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) ซึ่งในปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural) นั้นเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นนิยมกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวยังคงให้ความสำคัญกับการมีประสบการณ์ร่วมในสังคม ประวัติศาสตร์ ประเพณี ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย อาทิ จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนวัฒนธรรมเชื้อสายจีนที่มีการสืบทอดเทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพมาเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 100 ปี รวมทั้งมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเทศกาลด้านวัฒนธรรมของเทศบาลนครนครสวรรค์ บทความฉบับนี้คณะผู้เขียนจึงขอนำเสนอข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดนครสวรรค์และเทศบาลนครนครสวรรค์ รวมทั้งแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเทศกาลด้านวัฒนธรรม
โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ในลำดับต่อไป

2. ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดนครสวรรค์และเทศบาลนครนครสวรรค์

สำหรับข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของจังหวัดนครสวรรค์ ในปี 2564 อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จังหวัดนครสวรรค์มีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) เท่ากับ 109,316 ล้านบาท ประกอบด้วยภาคการเกษตร 28,090 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคนอกการเกษตร 81,226 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด
โดยภาคนอกการเกษตร ประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม 24,687 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22
ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 56,539 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 2 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) ของจังหวัดนครสวรรค์
ในปีดังกล่าวมีมูลค่าเท่ากับ 119,856 บาท

ภาพที่ 2 ผลิตภัณฑ์จังหวัด จังหวัดนครสวรรค์

ที่มา: สศช. ประมวลผลโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการคลัง พบว่า ดัชนี RSI เดือนกรกฎาคม 2566 ของจังหวัดนครสวรรค์อยู่ที่ระดับ 56.2 โดยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าดัชนี RSI ประเทศและภาคเหนือ อย่างไรก็ตามดัชนี RSI ของจังหวัดนครสวรรค์ยังอยู่ในระดับที่เกิน 50.0 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ อันเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ต่อเนื่อง รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 3

ภาพที่ 3 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค

ที่มา: กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.

ภาพที่ 4 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่

ที่มา: กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.

สำหรับดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (SEFI) ที่พัฒนาและจัดทำโดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.
 ซึ่งประกอบด้วย 88 ตัวชี้วัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบ่งชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน 2) การศึกษา 3) สาธารณสุข 4) กำลังซื้อ 5) ปัญหาความท้าทายด้านทรัพยากรมนุษย์
และ 6) สิ่งแวดล้อม จากการพิจารณา SEFI แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ตำบลนครสวรรค์ออก ซึ่งเป็นพื้นที่ใน
ความดูแลของเทศบาลนครนครสวรรค์ เป็นพื้นที่มีดัชนี
SEFI เป็นที่เป็นอันดับที่ 1 ของจังหวัดนครสวรรค์ (จาก 129 ตำบลในจังหวัดนครสวรรค์) โดยมีจุดแข็งในด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เทศบาลนครนครสวรรค์กลับประสบกับปัญหาความท้าทายด้านทรัพยากรมนุษย์ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสาธารณสุข รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 4

ทั้งนี้ เมื่อเราพิจารณาเครื่องชี้วัดภาคบริการตัวอื่น ๆ ได้แก่ จำนวนผู้เยี่ยมเยือนของจังหวัดนครสวรรค์
พบว่า ในเดือนมิถุนายน 2566 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยของจังหวัดนครสวรรค์อยู่ที่ 176,931 คน ซึ่งชะลอตัว
จากเดือนก่อนหน้า แต่มีจำนวนที่มากกว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ซึ่งมีจำนวนเพียง 976 คน
และจำนวนผู้เยี่ยมเยือนดังกล่าวได้ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในช่วงที่ขยายตัวได้หลังจากที่ชะลอตัวมากในช่วงการแพร่ระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงปี 2563 –  2564 รายละเอียดปรากฏตามภาพที่ 5

ภาพที่ 5 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนของจังหวัดพิษณุโลก (หน่วย คน)

ที่มา: กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.

3. แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเทศกาลด้านวัฒนธรรมของเทศบาลนครนครสวรรค์

จากรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า จังหวัดนครสวรรค์มีจุดแข็งในภาคบริการโดยเฉพาะ
ในด้านการท่องเที่ยวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องประกอบกับเทศบาลนครนครสวรรค์ซึ่งมีจุดแข็งจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ในด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม
และด้านโครงสร้างพื้นฐาน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเทศกาล
ด้านวัฒนธรรมขึ้นในพื้นที่ ในการนี้ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ร่วมกับวารสารการเงินการคลัง
ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากคุณจตุรวิทย์  นิโรจน์ธนรัฐ (คุณจตุรวิทย์ฯ) รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครสวรรค์ มาถ่ายทอดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวของการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเทศกาลด้านวัฒนธรรม ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ประจำเดือนสิงหาคม 2566 เมื่อวันที่
24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

คุณจตุรวิทย์  นิโรจน์ธนรัฐ
รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครสวรรค์

3.1. ภาพรวมนโยบายในการขับเคลื่อนท้องถิ่นของเทศบาลนครนครสวรรค์

คุณจตุรวิทย์ฯ ได้ให้ข้อมูลว่า จังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนได้จากเทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากกว่า 100 ปี ประกอบกับจุดเด่นทางด้านการบริหารจัดการคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งเสริมให้ทัศนียภาพโดยรอบของสถานที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัดเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมา ทั้งนี้ ภายใต้วิสัยทัศน์ของเทศบาลนครนครสวรรค์ “นครน่าอยู่ เคียงคู่เจ้าพระยา พัฒนานวัตกรรม สร้างสังคมสุขภาวะ” ทำให้มีการผลักดันแนวคิดในการส่งเสริมนโยบายการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart city) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส และผู้ประสบภัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค การพัฒนาด้านการศึกษาท้องถิ่น การพัฒนาด้านการกีฬา ตลอดจนการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เทศบาลนครนครสวรรค์เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เทศบาลนครนครสวรรค์ยังมีการขับเคลื่อนแนวคิดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้จุดเด่นทางด้านการบริหารจัดการคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อม จึงส่งผลให้ที่ผ่านมาเทศบาลนครนครสวรรค์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นประจำปี 2564 ด้านสิ่งแวดล้อมจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยที่ได้รับรางวัล United Nations Public Service Awards 2022 จากองค์การสหประชาชาติ (United Nations)

3.2. แนวทางในการดำเนินงานที่ผ่านมาของเทศบาลนครนครสวรรค์

คุณจตุรวิทย์ฯ ได้อธิบายว่า การดำเนินงานของเทศบาลนครนครสวรรค์ที่ผ่านมาดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “นครน่าอยู่ เคียงคู่เจ้าพระยา พัฒนานวัตกรรม สร้างสังคมสุขภาวะ” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) นครน่าอยู่ โดยการปรับปรุงคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เทศบาลมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น เช่น การปรับปรุงคุณภาพน้ำประปา การพัฒนาและสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น โดยสำหรับการพัฒนาและสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวนั้นสะท้อนได้จากการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่เพิ่มขึ้นในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์รวมไปถึงการสนับสนุนงานเทศกาลต่างๆ ในพื้นที่ อาทิเทศกาลหุ่นโคมไฟนครสวรรค์ ซึ่งได้มีการจัดเทศกาลดังกล่าวขึ้นเป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว นอกจากนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ทางเทศบาลนครนครสวรรค์กำลังผลักดันอยู่ในปัจจุบันคือ การแก้ไขผังเมืองในเขตเทศบาลโดยการเพิ่มพื้นที่ในการประกอบธุรกิจให้มีมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีการกระจายตัวทางเศรษฐกิจตลอดจนนำไปสู่การขยายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเทศบาลนครนครสวรรค์และจังหวัดนครสวรรค์ต่อไป

2) เคียงคู่เจ้าพระยา เนื่องจากจังหวัดนครสวรรค์มีภูมิประเทศติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีแนวคิดในการสร้างสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นจังหวัดที่อยู่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่มาของ “พาสาน” ซึ่งเป็นอาคารเชิงสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา

ภาพที่ 6 พาสาน สิ่งก่อสร้างสุดล้ำของจังหวัดนครสวรรค์

ที่มา: https://www.paiduaykan.com สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566

3) พัฒนานวัตกรรม ที่ผ่านมาเทศบาลนครนครสวรรค์ได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการบริหารจัดการภายใต้โครงการ Smart City ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ Smart Environment Smart Energy Smart Living และ Smart Governance นอกจากนี้ยังมีโครงการ Super Node ซึ่งเป็นการวางโครงข่ายพื้นฐานอัจฉริยะทางด้านดิจิตอล เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาเทศบาลนครนครสวรรค์ได้ในอนาคต โดยปัจจุบันเทศบาลนครนครสวรรค์ได้นำแอปพลิเคชันดังกล่าวเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในเทศบาล รวมทั้งมีการใช้งานโปรแกรมต่างๆ เช่น โปรแกรมการบริหารงานจัดการขยะ โปรแกรมการศึกษา และโปรแกรมเกี่ยวกับการช่างและการขออนุญาตก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น

4) สร้างสังคมสุขภาวะ นอกจากการปรับปรุงคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นแล้วการสร้างความสุขให้กับประชาชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ก็มีความจำเป็นเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น มีอุทยานสวรรค์ที่เปรียบเสมือนปอดให้กับเทศบาลนครนครสวรรค์ รวมทั้งมีการบริหารจัดการขยะโดยเปลี่ยนจากบ่อฝังกลบซึ่งเป็นรูปแบบเก่าเป็นการนำพลังงานขยะมาใช้ทดแทน นอกจากนี้มีการส่งเสริมความสุขของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่มีประมาณร้อยละ 23 ของประชากรในเขตเทศบาลทั้งหมด โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาผู้สูงอายุ การมีโรงพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุ และการบริการด้านการดูแลสุขภาพ (Health care) เพื่อดูแลผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ

3.3 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยอาศัยเทศกาลด้านวัฒนธรรมของเทศบาลนครนครสวรรค์

ภาพที่ 7 งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพของจังหวัดนครสวรรค์

ที่มา: https://chillpainai.com สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566

คุณจตุรวิทย์ฯ ได้เล่าว่า เทศกาลซึ่งถือเป็นจุดเด่นของจังหวัดนครสวรรค์คือเทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพโดยจัดขึ้นเป็นประจำระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเทศกาลดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ประเพณีการแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ การเชิดสิงโตที่ตระการตา และการแสดงศิลปะของชาวจีน โดยในแต่ละปีสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากการจัดงานเทศกาลดังกล่าวได้ถึง 195,000 คนต่อปี และเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 1,000 คนต่อปี ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 497 ล้านบาท อย่างไรก็ดี รูปแบบการจัดงานในปัจจุบันมีความแตกต่างจากในอดีตค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการพัฒนารูปแบบของกิจกรรมการแสดงแสงสีเสียงเข้ามาประกอบการแสดงเพิ่มมากขึ้นและมีการประชาสัมพันธ์เป็นวงกว้างเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงประเพณีสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ เทศบาลนครนครสวรรค์จึงได้มีการจัดสรรงบประมาณบางส่วนเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการขับเคลื่อนเทศกาลดังกล่าว

3.3. กุญแจสำคัญ (Key Success) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยเทศกาลทางวัฒนธรรมของเทศบาลนครนครสวรรค์

          คุณจตุรวิทย์ฯ ได้สรุปว่า กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยอาศัยเทศกาลด้านวัฒนธรรมของเทศบาลนครนครสวรรค์คือความเข้มแข็งของชุมชนชาวจีนในจังหวัดนครสวรรค์ที่มีการสืบทอดวัฒนธรรมดังกล่าวมาเป็นระยะเวลายาวนาน ตลอดจนความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนภายในจังหวัดนครสวรรค์ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเทศกาลทางวัฒนธรรมให้สามารถดำรงต่อไปได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเทศบาลนครนครสวรรค์และจังหวัดนครสวรรค์ได้ต่อไป

สุดท้ายนี้ทางคณะผู้เขียนขอบคุณ ดร. พิสิทธิ์  พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง และคุณชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารการเงินการคลังที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ สำหรับรายการ Local Reach เอื้อมลึก
ถึงภูมิภาค และในเดือนถัดไปรายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค จะพาทุกท่านไปเรียนรู้แนวคิดการพัฒนาภูมิภาคที่ไหน สามารถติดตามได้ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ของวารสารการเงินการคลังต่อไป

นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวณัฏฐธิดา จันภักดี
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน