นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว กรณีศึกษา สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (Digital economy policy from developed countries: case studies of USA and EU)

นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว กรณีศึกษา สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (Digital economy policy from developed countries: case studies of USA and EU)

บทความโดย
นางสาวอัจฉราพร ทองสรรค์
นางสาวอัญวีณ์ วรารัศมีรัตน์

ปัจจุบัน โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digitalisation) ที่มีการพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลในการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรมหรือกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินธุรกิจและการลงทุน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและนำไปสู่การใช้ชีวิตแบบ New Normal เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ก็ยิ่งทำให้เกิดความจำเป็นในการพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ การประชุมออนไลน์ การสั่งซื้ออาหารและสินค้าต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชันและช่องทางออนไลน์ รวมถึงการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์และการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารแทนการจ่ายเงินสด เป็นต้น ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจึงถูกผลักดันให้ก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่รองรับกิจกรรมและรูปแบบธุรกิจในยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว และภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดนโยบายและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการนำประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล

เมื่อสภาพแวดล้อมและรูปแบบเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น หลายประเทศทั่วโลกจึงได้ตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ “Digital Economy” ซึ่งเป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเข้าสู่การเป็นประเทศดิจิทัล โดยปัจจุบันแต่ละประเทศมักจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนงานเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลดิจิทัลโดยเฉพาะ รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล การส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น บทความนี้จึงขอหยิบยกนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในส่วนของ “สหรัฐอเมริกา” และ “สหภาพยุโรป” ซึ่งถือเป็นประเทศผู้นำของโลกในการผลักดันประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการต่อยอดไปใช้เป็นแนวทางพื้นฐานในการออกนโยบายด้านดิจิทัลของประเทศไทยได้

สหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) เป็นประเทศมหาอำนาจของโลกในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Google Amazon Facebook Oracle หรือ Apple ดังนั้น การดำเนินนโยบายด้านดิจิทัลของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นที่จับตามองของทั่วโลกมาโดยตลอด ซึ่งนโยบายด้านดิจิทัลที่สำคัญของสหรัฐฯ มีดังนี้

1. ยุทธศาสตร์รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Strategy)

สหรัฐฯ เป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการเตรียมตัววางแผนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) โดยเริ่มต้นขึ้นในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา หลังจากโอบามาเข้ารับตำแหน่งในปี 2552 นั้น คำสั่งแรกของโอบามาคือการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล (Open Government Data) ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2555 สหรัฐฯ ได้ออกยุทธศาสตร์รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Strategy) โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ ประกอบด้วย (1) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐบาลดิจิทัลที่มีคุณภาพสูงได้ทุกที่ทุกเวลาบนอุปกรณ์ใดก็ได้ (2) เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถปรับตัวเข้ากับโลกยุคดิจิทัล และส่งเสริมการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูล ด้วยวิธีที่ชาญฉลาด ทันสมัย และปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม และ (3) เพื่อสนับสนุน Open Government Data เพื่อเพิ่มศักยภาพและกระตุ้นการสร้างนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงปรับปรุงคุณภาพของการให้บริการประชาชน ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์รัฐบาลดิจิทัลของสหรัฐฯ ได้วาง 4 หลักการที่ครอบคลุมรูปแบบการใช้งานบริการดิจิทัลทั้งหมดของประชาชน ดังนี้

1.1  หลักการข้อมูลเป็นศูนย์กลาง (Information-Centric Approach)

เป็นการเปลี่ยนผ่านจากการบริหารจัดการเอกสาร (Documents) สู่การบริหารจัดการข้อมูลเปิด (Open Data) ซึ่งข้อมูลเปิดนั้นจะถูกนำไปพัฒนาต่อยอด และนำเสนอในรูปแบบที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคข้อมูลนั้น

1.2 หลักการการใช้แพลตฟอร์มร่วมกัน (Shared Platform Approach)

โดยส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้แพลตฟอร์มการทำงานร่วมกัน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน และส่งเสริมให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถใช้มาตรฐานเดียวกันได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยในการรับ-ส่งข้อมูล

1.3 หลักการลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer-Centric Approach)

คือการทำความรู้จักผู้ใช้งาน โดยสร้าง จัดการ และนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชันมือถือ หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถกำหนดรูปแบบ แบ่งปันเนื้อหา และใช้ข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ

1.4 หลักการแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัว (Platform of Security and Privacy)

สนับสนุนนวัตกรรมที่ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) รวมถึงการใช้บริการดิจิทัลเพื่อปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัว

2. นโยบายด้านดิจิทัลระหว่างประเทศ

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการกำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในเวทีระหว่างประเทศ 3 เรื่อง ประกอบด้วย

2.1 สนับสนุน Free and Open Internet ภายใต้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy)

ซึ่งสหรัฐฯ สนับสนุนการสื่อสารไร้พรมแดนที่เชื่อมโยงถึงกัน (Open and Interoperable Communication) โดยลดอุปสรรคให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งถือเป็น Internet Rule ฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ที่ได้ผ่านสภา Congress และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2554 โดยมีคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (The Federal Communications Commission: FCC) เป็นผู้ควบคุมดูแล ทั้งนี้ หลักการของ “Open Internet” มีความสอดคล้องกับหลักความเป็นกลางบนอินเทอร์เน็ต (Net Neutrality) โดยจะไม่ควบคุมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต (Internet Content) หรือการใช้งาน (Application) แต่จะวางหลักเกณฑ์ไว้เป็นกรอบเท่านั้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่มีสิ่งใดหรือใครมาขัดขวางการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ บนอินเทอร์เน็ต โดยหลักเกณฑ์พื้นฐานที่สำคัญของ “Open Internet” กำหนดให้ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ต้องปฏิบัติตามมีดังนี้

  • ความโปร่งใส (Transparency) – ผู้ให้บริการบรอดแบนด์จะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเครือข่าย และข้อตกลงทางการค้าของบริการ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
  • ไม่มีการปิดกั้น (No Blocking) – โดยผู้ให้บริการบรอดแบนด์ทั้งเทคโนโลยีบรอดแบนด์โทรศัพท์พื้นฐานที่ใช้กันทั่วไป (Digital Subscriber Line: DSL) การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสายเคเบิ้ล (Cable Modem) หรือผู้ให้บริการบรอดแบนด์ประเภทอื่น จะไม่สามารถปิดกั้นเนื้อหาที่ถูกต้องตามกฎหมายได้
  • ไม่มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่สมควร (No Unreasonable Discrimination)

2.2 ยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

2.3 ยืนยันการสนับสนุนการปกป้องเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในต่างประเทศ

โดยจัดการกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade Practices) และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (IP Theft) รวมถึงมุ่งมั่นให้สหรัฐฯ เป็นผู้นําด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงต่อไป

3. นโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในกฎหมายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 โดยแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน American Jobs Plan มีเป้าหมายในการสร้างงานหลายล้านตำแหน่งและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ งบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2565 นั้น มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) จำนวน 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลหรือเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ค่าบริการไม่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและธุรกิจดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ทำงานในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนากำลังคน การวิจัยนวัตกรรม ตลอดจนระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของสหรัฐฯ ประจำปีงบประมาณ 2565 มีรายละเอียดดังนี้

3.1  การพัฒนา Broadband Internet หรือบรอดแบนด์ความเร็วสูง

เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และลดช่องว่างสังคมทางดิจิทัล (Digital Divide) หรือความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดจากโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียมกัน และป้องกันไม่ให้ประชาชนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตที่สูงเกินไป

3.2  ขยายโอกาสให้กับธุรกิจของชนกลุ่มน้อย (Minority)

เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคทางเชื้อชาติที่มีมาอย่างยาวนาน โดยจัดสรรงบประมาณ 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 จากปี 2564 เพื่อสนับสนุนกองทุนสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชุมชน (Community Development Financial Institutions Fund: CDFI) ในการให้สินเชื่อแก่สตาร์ทอัพ (Start-up) และธุรกิจขนาดเล็กของชุมชนต่าง ๆ

3.3  สนับสนุนสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ โดยแรงงานสหรัฐฯ (Made in America)

โดย American Jobs Plan ให้ทุนกับสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institute of Standards and Technology: NIST) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ จะสามารถจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมการผลิตแห่งใหม่เพิ่มอีก 2 แห่ง จากเดิมที่มีสถาบันที่เปิดตัวไปก่อนหน้าโดยกระทรวงกลาโหมและกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ

3.4  มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในด้านวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D)

โดยการเพิ่มทุนสนับสนุนงานวิจัยให้กับหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ เช่น มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (National Science Foundation: NSF) องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration: NASA) กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (Department of Energy: DOE) NIST เป็นต้น เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในทุกสาขาธุรกิจ นำไปสู่การฟื้นฟูความเป็นผู้นำ
ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลกของสหรัฐฯ

3.5 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการลงทุนด้านนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์

โดยวิจัยและศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กระตุ้นการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และเพิ่ม
การสังเกตการณ์ การพยากรณ์ และการบริการข้อมูลด้านสภาพอากาศ

3.6 ยกระดับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security)

สหรัฐฯ มีแผนปรับปรุงระบบ IT ของรัฐบาลให้ทันสมัยมากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพด้าน IT ของบุคลากรภาครัฐ โดยใช้งบประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนกองทุน Technology Modernization Fund (TMF) ทั้งนี้ TMF มีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการพัฒนาระบบบริการดิจิทัลสาธารณะ เพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างมลรัฐของสหรัฐฯ

ภาพที่ 1: US Digital Infrastructure Strategy

4. สินทรัพย์ดิจิทัล(Digital Asset)

นอกจากแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแล้ว แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน American Jobs Plan ยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำธุรกรรมและการเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ซึ่งได้กำหนดให้โบรกเกอร์หรือแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องรายงานต่อกรมสรรพากร สำหรับธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ ที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 300,000 บาท) และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหาร กระตุ้นให้รัฐบาลพิจารณาความเสี่ยงและผลประโยชน์ของสกุลเงินดิจิทัล โดยเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาดอลลาร์สหรัฐดิจิทัล ทั้งนี้ เอกสารข้อเท็จจริงของทำเนียบขาวระบุว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลกมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขมูลค่าจาก 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พุ่งสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2564) ในระยะเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น

แม้ว่าการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกคำสั่งควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เป็นการแสดงความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในระบบการเงินของโลก แต่การเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลยังส่งผลกระทบในมิติอื่น ๆ ของประเทศ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค ความมั่นคงทางการเงิน ความมั่นคงของชาติ ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ เป็นต้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว โดยออก 7 มาตรการสำคัญ ได้แก่

(1) การคุ้มครองผู้บริโภคและนักลงทุน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ
(2) การรักษาเสถียรภาพทางการเงินของสหรัฐฯ และของโลก รวมถึงลดความเสี่ยงเชิงระบบ
(3) การบรรเทาความเสี่ยงด้านการเงินและความมั่นคงของชาติที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างผิดกฎหมาย
(4) การส่งเสริมความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
(5) การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ปลอดภัยและราคาไม่แพงอย่างเท่าเทียม
(6) การสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและรองรับการพัฒนาและการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบ
(7) การประเมินโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ศักยภาพ และความเป็นไปได้ของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) โดยรัฐบาลสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ดำเนินการวิจัย พัฒนา และประเมินมูลค่าสกุลเงินดิจิทัลดอลลาร์ต่อไป

ที่มา: United States Digital Service, The White House, United States Chamber of Commerce, United States Bureau of Economic Analysis (BEA), กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปนั้นก็เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโลกดิจิทัลเช่นเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา โดยสหภาพยุโรปต้องการสร้างอำนาจอธิปไตยทางดิจิทัลของสหภาพยุโรป (Digital Sovereignty) ที่เปิดกว้างและเชื่อมต่อถึงกัน ผลักดันนโยบายดิจิทัลที่เสริมสร้างบทบาทของประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ เพื่อสร้างโลกดิจิทัลแห่งอนาคตที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มีความยั่งยืนและมั่งคั่งยิ่งขึ้น อีกทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นำไปสู่การใช้ชีวิตแบบ New Normal ยิ่งทำให้สหภาพยุโรปเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและทักษะที่จำเป็นในการทำงาน การศึกษา และการมีส่วนร่วมต่อสังคม รวมถึงจุดอ่อนที่สหภาพยุโรปต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังต่อไปนี้

1. แผนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล

สหภาพยุโรปได้วางแผนพัฒนาแนวทางการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล หรือ Digital Transformation โดยตั้งเป้าให้สัมฤทธิ์ผลในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 สหภาพยุโรปจึงได้เสนอเข็มทิศดิจิทัลและเป้าหมายดิจิทัลสำหรับ ปี 2573 (Digital Compass 2030) เพื่อระบุแนวทางและเป้าหมายด้านดิจิทัลของสหภาพยุโรปในรูปแบบนโยบายที่เป็นรูปธรรม โดยแบ่งเป้าหมายดิจิทัลได้ 4 ด้าน ดังนี้

1.1 ทักษะ (Skills): ประชาชนที่มีทักษะด้านดิจิทัลและผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะด้านดิจิทัลสูง

โดยกำหนดเป้าหมายว่า ผู้ใหญ่อย่างน้อยร้อยละ 80 ควรมีทักษะด้านดิจิทัลขั้นพื้นฐาน และควรมีการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) อย่างน้อย 20 ล้านรายในสหภาพยุโรป รวมถึงควรมีการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในสายงานด้าน ICT

1.2 โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure): โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

โดยกำหนดเป้าหมายว่า ทุกครัวเรือนในสหภาพยุโรปควรมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ความเร็วสูง 1 กิกะบิตต่อวินาที (Gigabit per second: Gbps) และทุกพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัยควรเข้าถึงเครือข่าย 5G ได้ อีกทั้ง สหภาพยุโรปควรผลิตสารกึ่งตัวนำที่ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductors) ที่ทันสมัยและยั่งยืนให้ได้ร้อยละ 20 ของการผลิตทั่วโลก และติดตั้งจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Edge nodes) ที่ปลอดคาร์บอนและมีความปลอดภัยสูงจำนวน 10,000 ชิ้นในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ สหภาพยุโรปควรมีคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยระบบควอนตัมเครื่องแรก

1.3 ภาคธุรกิจ (Business): การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของภาคธุรกิจ

โดยกำหนดเป้าหมายว่า บริษัทร้อยละ 75 ควรใช้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัลอย่างเช่นคลาวด์ (Cloud) และ Big Data รวมถึงควรนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาใช้ อีกทั้ง สหภาพยุโรปควรเพิ่มจำนวนบริษัท Startup ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณสามหมื่นล้านบาท) หรือที่เรียกกันว่าบริษัท
ยูนิคอร์นเป็นสองเท่า นอกจากนี้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) มากกว่าร้อยละ 90 ควรมีศักยภาพด้านดิจิทัลในระดับพื้นฐาน

1.4 บริการสาธารณะของภาครัฐ (Public Services): การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในองค์กรภาครัฐ

โดยกำหนดเป้าหมายว่า บริการภาครัฐที่สำคัญทั้งหมดควรเปิดให้บริการผ่านระบบออนไลน์ และในส่วนของระบบสาธารณสุขอิเล็กทรอนิกส์ ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงเวชระเบียนหรือประวัติการรักษาอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองได้ รวมถึงประชาชนร้อยละ 80 ควรใช้ระบบการระบุตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์

ภาพที่ 2: เข็มทิศดิจิทัลและเป้าหมายดิจิทัลสำหรับปี 2573 (Digital Compass 2030) ของสหภาพยุโรป
ที่มา: เว็บไซต์ทางการของสหภาพยุโรป (http://ec.europa.eu)

2. การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

สหภาพยุโรปได้จัดตั้งโครงการ Digital Europe ขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เพื่อเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและกำหนดแนวทางการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลและมีการกำหนดงบประมาณระยะยาว 7,600 ล้านยูโร สำหรับโครงการ Digital Europe ระหว่างปี 2564 – 2570 ใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุนในคอมพิวเตอร์ที่มีขีดความสามารถสูง (Supercomputer) การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอย่างทั่วถึง

3. การดำเนินนโยบายดิจิทัลอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างดำเนินนโยบายเป้าหมายด้านดิจิทัลควบคู่กับด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกเหนือจากเป้าหมายดิจิทัลที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น สหภาพยุโรปยังได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการใช้วัสดุหมุนเวียนในสหภาพยุโรปเป็นสองเท่าในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า เพื่อปรับเปลี่ยนสินค้าในตลาดยุโรปให้เป็นสินค้าที่ยั่งยืนและมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว โดยสหภาพยุโรปได้เล็งเห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงการทำงานของภาคธุรกิจและภาครัฐเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการใช้วัตถุดิบ (Raw Materials) รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้วัสดุหมุนเวียนหรือวัสดุทุติยภูมิมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาระบบการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ โดยจะสามารถช่วยปฏิรูปภาคการผลิตและการบริโภคให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสะดวกรวดเร็วมากขึ้น และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การใช้เทคโนโลยีในการช่วยลดการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ การใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าขยะโดยรักษาคุณสมบัติของทรัพยากรให้คงไว้เพื่อให้นำมารีไซเคิลได้ การใช้เทคโนโลยีในการออกแบบสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ที่มา: เว็บไซต์ทางการของสหภาพยุโรป (http://ec.europa.eu) กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ (https://europetouch.mfa.go.th) และเว็บไซต์ http://Thaieurope.net

จากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปถึงประเทศไทย

จากตัวอย่างนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปข้างต้น ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของภาครัฐในการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นต้น โดยในส่วนของประเทศไทยเอง รัฐบาลก็มีการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยี และเข้าสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand) หรือไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี หรือการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ การศึกษา การสาธารณสุข การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ การผลักดันนโยบายด้านดิจิทัลของต่างประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องควรจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีทั้งสองนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและแรงงาน รวมถึงการออกกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับธุรกิจดิจิทัลและข้อมูลสารสนเทศ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


นางสาวอัจฉราพร ทองสรรค์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน

นางสาวอัญวีณ์ วรารัศมีรัตน์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน