การพัฒนาการค้าระบบดิจิทัลระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV

การพัฒนาการค้าระบบดิจิทัลระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV

บทความโดย
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล

1. บทนำ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันส่งผลให้รูปแบบการค้าและการติดต่อซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปสู่การค้าไร้พรมแดนในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ การค้าระบบดิจิทัล (Digital trade) หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ซึ่งเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการทางออนไลน์จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เพียงมีบทบาทต่อเศรษฐกิจในประเทศ แต่รวมถึงการค้าระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเนื่องจากมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของรัฐ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนจึงทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญในการเข้าถึงตลาดใหม่โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (Cambodia, Lao PDR, Myanmar, Vietnam) ที่มีความน่าสนใจทั้งในการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการพัฒนาของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ

การค้าระบบดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นคำที่มักมีการใช้แทนกันอยู่เป็นประจำรวมถึงมีการนิยามทั้งสองคำนี้ไว้อย่างหลากหลาย เช่น

องค์การการค้าโลก (WTO) ให้นิยามว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic commerce หรือ E-commerce) หมายถึง “การผลิต การกระจาย การตลาด การขาย หรือการส่งสินค้าและบริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์”

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ให้ความหมายของธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce transaction) ไว้ว่า “การขายหรือการซื้อสินค้าหรือบริการ ที่ดำเนินการผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยวิธีการที่ออกแบบขึ้นเพื่อรับหรือสั่งคำสั่งโดยเฉพาะ แต่การจ่ายเงินและการขนส่งสินค้าและบริการไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการผ่านทางออนไลน์ ซึ่งการซื้อขายแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สามารถเกิดขึ้นระหว่างองค์กร ครัวเรือน บุคคล รัฐบาล และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ และองค์กรเอกชน” 

ทั้งนี้ ในบทความนี้นิยาม “การค้าระบบดิจิทัล (Digital trade)” ในลักษณะเดียวกับ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce)” โดยกำหนดให้หมายถึง การทำธุรกรรมใดเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านดิจิทัล โดยการชำระเงิน การส่งสินค้า หรือการให้บริการอาจดำเนินการผ่านทางดิจิทัลหรือทางกายภาพก็ได้ ส่วนการค้าระบบดิจิทัลข้ามพรมแดนหรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน คือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีองค์ประกอบของการข้ามพรมแดน เช่น มีการทำธุรกิจหรือการขนส่งข้ามพรมแดน UNCTAD ประมาณการมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โลกปี 2562 อยู่ที่ 26.7 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP โลก ขณะที่มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบ B2C ข้ามพรมแดนปี 2562ประมาณการอยู่ที่ 440 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณร้อยละ 9 ของมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบ B2C ทั้งหมดเท่านั้น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมีแนวโน้มทิศทางที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งทำให้ฐานของผู้บริโภคทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย จากผลการสำรวจของ Facebook IQ ระบุว่า เหตุผลที่ผู้บริโภคนิยมตัดสินใจซื้อสินค้าทางออนไลน์แบบข้ามพรมแดนหลักอันดับแรกคือสินค้านั้นมีเฉพาะในต่างประเทศ รองลงมาคือสินค้ามีราคาถูกกว่าซื้อในประเทศ ผู้บริโภคต้องการค้นหาทดลองสิ่งใหม่ ๆ และสินค้ามีคุณภาพดีกว่า

2. ศักยภาพการค้าระบบดิจิทัล CLMV

ในปี 2565 กลุ่มประเทศ CLMV เป็นตลาดที่มีประชากรราว 177 ล้านคน นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย อีกทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการบริโภครวมถึงวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทยจึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน นอกจากนี้ในด้านเศรษฐกิจเอง กลุ่มประเทศ CLMV ก็มีอัตราการเติบโตของ GDP สูงอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2556-2563 ประเทศ CLMV มีอัตราการเติบโตของ GDP ในแต่ละปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก และมีอัตราการเติบโตของ GDP สูงกว่าไทย แม้ว่าในปี 2564 ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 CLMV จะมีอัตราการเติบโตของ GDP ต่อปีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก เนื่องจากได้รับผลกระทบหนักและยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วนัก อีกทั้งในส่วนของเมียนมายังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองอีกด้วย

ด้านการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มประเทศ CLMV ก็เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยเช่นกัน โดยสถิติของกรมการค้าต่างประเทศระบุว่า ในปี 2565 ไทยมีการค้าชายแดนกับกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา รวม 722,034 ล้านบาท และมีการค้าผ่านแดนกับ CLMV รวมราว 490,022 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วไทยกับ CLMV มีการค้าชายแดนและผ่านแดนมูลค่าสูงถึง 1,212,055 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.89 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย

ตารางแสดงการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศ CLMV ปี 2565

ประเทศคู่ค้าการค้าชายแดน
(ล้านบาท)
การค้าผ่านแดน
(ล้านบาท)
รวม
(ล้านบาท)
กัมพูชา198,3155,730204,044
ส่งออก164,186678164,864
นำเข้า34,1295,05239,181
สปป.ลาว260,081351,247611,328
ส่งออก156,738193,889350,627
นำเข้า103,343157,359260,702
เมียนมา263,63851,117314,755
ส่งออก143,5823,210146,792
นำเข้า120,05647,908167,963
เวียดนาม 81,92881,928
ส่งออก 49,42449,424
นำเข้า 32,50432,504
รวม722,034490,0221,212,055
ส่งออก464,506247,201711,707
นำเข้า257,528242,823500,350
ที่มา :  กรมการค้าต่างประเทศ. (2566). ข้อมูลการค้าชายแดนและผ่านแดน ปี 2565 (ม.ค. – ธ.ค.). https://www.dft.go.th/Portals/3/1.1.4%20%20ชายแดนผ่านแดน%20%20มค.-ธค%202565.pdf

รูปแบบการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศของ CLMV ก็มีการปรับเข้าสู่พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ CLMV มีการแข่งขันกันสูงในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น แข่งขันระหว่างผู้ขายทางออนไลน์ในประเทศนั้น ๆ ที่มีสัดส่วนสูง แข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศที่ราคาต่ำกว่าหรือมีคุณภาพมีเอกลักษณ์มากกว่า โดยในแต่ละประเทศนิยมซื้อสินค้าไทยที่ขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แตกต่างกันไป ดังนี้

  • กัมพูชา : สินค้าแม่และเด็ก อาหารที่มีเอกลักษณ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม (Instagram food) อุปกรณ์สำนักงาน
  • ลาว : สินค้าแม่และเด็ก ผลิตภัณฑ์ความงาม
  • เมียนมา : สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ผงซักฟอก สบู่ ของใช้ซึ่งเป็นของชิ้นเล็ก ขนมทานเล่น
  • เวียดนาม : อาหาร ผลิตภัณฑ์ความงาม

สินค้าไทยที่ขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนยังต้องมีการแข่งขันกับสินค้าท้องถิ่นของประเทศนั้นที่ขายออนไลน์และที่ขายหน้าร้านแบบออฟไลน์ รวมถึงสินค้าจากต่างประเทศอื่นอย่างอินเดีย จีน และเกาหลีที่ได้รับความนิยมใน CLMV เช่นกัน

สถานการณ์ทางการค้าและระบบนิเวศเกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ CLMV มีความแตกต่างกัน โดยผลการประเมินศักยภาพตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ CLMV สามารถสรุปได้ดังนี้

2.1 กัมพูชา (Cambodia : C)

กัมพูชายังมีความพร้อมของระบบนิเวศพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตต่ำแต่ค่าบริการสูงทั้งที่เป็นบรอดแบนด์เคลื่อนที่และประจำที่ ด้านระบบการชำระเงินของกัมพูชาในปี 2564 มีประชากรเป็นเจ้าของบัญชีเพียงร้อยละ 33.4 ตามข้อมูลของ World Bank ประชาชนชาวกัมพูชาชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทางมากกว่า ทั้งนี้ ระบบธนาคารและสถาบันการเงินของกัมพูชาค่อนข้างมีความซับซ้อนทำให้มีผู้เล่นในระบบการเงินการธนาคารจำนวนมาก ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาจึงได้มีการพัฒนาระบบการชำระเงินโดยใช้เทคโนโลยี เช่น Blockchain เข้ามาเพื่อดึงผู้เล่นในตลาดการเงินการธนาคารสู่ระบบเดียวกัน

ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่ากัมพูชาจะมีกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่ยังขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะจึงยังจะยังมีอุปสรรคในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และผู้ทำธุรกรรมทางออนไลน์ต่าง ๆ ขณะที่ความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลของประชาชนยังต่ำ อัตราการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินสูงและ MSMEs ยังมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้านโลจิสติกส์และการขนส่งยังต้องการการพัฒนาอย่างมากจากปัญหาระบบฐานที่อยู่ขาดความชัดเจนทำให้การขนส่งช่วงระยะสุดท้ายจากศูนย์กระจายสินค้าหรือศูนย์บริการไปยังที่อยู่ปลายทาง (Last mile delivery) ยังมีความยากและซับซ้อน ซึ่งปัจจุบันภาคขนส่งมีการพัฒนาโดยผู้ให้บริการเริ่มนำเทคโนโลยีอย่าง GPS มาใช้ประกอบการติดตามพัสดุได้

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-marketplace) ในกัมพูชามีจำนวนมาก แต่ยังไม่มีผู้ครองสัดส่วนในตลาดที่มากอย่างเห็นได้ชัด ผู้เล่นรายใหญ่ของภูมิภาคหรือของโลกยังไม่เข้ามาเจาะตลาดแพลตฟอร์มของกัมพูชาอย่างจริงจัง ตลาดแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของกัมพูชาจึงยังเป็นสนามแข่งขันที่ดุเดือด ขณะที่ภาครัฐกัมพูชาก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะช่วยดึงผู้ประกอบการและผู้บริโภคเข้าสู่แพลตฟอร์มโดยมีภาครัฐเป็นหลักสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้ ในภาพรวมปัจจุบัน ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของกัมพูชาจึงกำลังเติบโตและเป็นตลาดที่น่าจับตามอง

2.2 สปป.ลาว (Lao PDR : L)

หากพิจารณาการจัดอันดับในระดับโลก เช่น B2C E-commerce Index โดย UNCTAD และ Network Readiness Index (NRI) โดย Portulans Institute จัดอันดับความพร้อมด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสปป.ลาวใกล้เคียงกับกัมพูชา แต่ถ้าพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า รูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสปป.ลาว ผู้บริโภคนิยมนิยมซื้อของผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบไม่เป็นทางการที่ไม่สามารถเก็บสถิติได้ โดยคนลาวไม่นิยมใช้แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือ E-marketplace รวมถึงการซื้อของผ่านเว็บไซต์ของผู้ประกอบการที่มีช่องทางซื้อออนไลน์ด้วย ซึ่งภาครัฐสปป.ลาวได้เปิดแพลตฟอร์มมุ่งช่วยเหลือธุรกิจ SMEs สร้างเครือข่ายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในต่างประเทศ เพิ่มช่องทางการตลาด ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในลาวโดยมีลักษณะอุดหนุนบริการส่งฟรีไปยังประเทศในอาเซียน

ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สปป.ลาวยังอยู่ในระยะกำลังเริ่มต้น มีความพร้อมในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างต่ำและต้องมีการพัฒนาในหลายด้าน แม้ว่าในด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ICT ค่าบริการบรอดแบนด์และความเร็วอินเทอร์เน็ตดีกว่าของกัมพูชา แต่ก็ยังถือว่ามีราคาที่สูงและความเร็วยังค่อนข้างต่ำ ด้านระบบการชำระเงินของสปป.ลาวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ประชาชนมีบัญชีธนาคารน้อยคือร้อยละ 37.3 ในปี 2564 ตามข้อมูลของ World Bank ซึ่งคนลาวนิยมใช้เงินสดและการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง ด้านการขนส่งสินค้าพัสดุขนาดเล็กของสปป.ลาวยังมีปัญหาจากระบบฐานทะเบียนที่อยู่ที่ขาดความชัดเจนเช่นเดียวกับกัมพูชา ทำให้ไม่สามารถส่งของตามที่อยู่ได้ถูกต้องโดยอาจต้องใช้วิธีการนัดรับ และแม้ว่าสปป.ลาวจะมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งครอบคลุมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ยังขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะที่ใช้ครอบคลุมทุกกรณีอยู่ นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีปัญหาอัตราการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินสูงมากที่สุดใน CLMV (ร้อยละ 48) และ MSMEs ยังมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเช่นกัน

2.3 เมียนมา (Myanmar : M)

คนเมียนมานิยมซื้อขายทางออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย ในขณะเดียวกันก็มีการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม E-marketplace แต่โดยรวมตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เมียนมายังในระยะเริ่มต้น เนื่องจากขาดความพร้อมในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างมาก และขาดยุทธศาสตร์ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะที่ชัดเจน ซึ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อทิศทางและความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ประกอบกับการที่เมียนมายังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนน้อยและความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลของประชาชนที่ยังต้องการพัฒนาจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นไปได้ช้า รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดด้วย

เมียนมามีค่าบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile broadband) ต่ำ แต่มีค่าบริการบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed broadband) สูงมาก และความเร็วอินเทอร์เน็ตยังช้า ในด้านระบบการชำระเงินคนยังนิยมใช้เงินสดและการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง เนื่องจากขาดความเชื่อมันในการชำระเงินแบบไร้เงินสด และตามข้อมูลของ World Bank ในปี 2564 เมียนมายังมีประชากรน้อยกว่าครึ่งของประเทศที่มีบัญชีธนาคารคือร้อยละ 47.8 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่ากัมพูชาและสปป.ลาว แต่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดของเมียนมาทำได้ยากจากการที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการชำระเงินแบบไร้เงินสด ประชาชนมีอัตราการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินอย่างใดเลยค่อนข้างสูงมาก และการเข้าถึงเงินทุนของ MSMEs ก็ยังคงเป็นปัญหา

ระบบนิเวศด้านที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเมียนมาได้รับผลจากการผูกขาดและขาดการลงทุนในระยะยาวโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับระบบฐานทะเบียนที่อยู่มีปัญหาขาดความชัดเจนทำให้ไม่สามารถจัดส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนไม่เชื่อถือไปรษณีย์ และการขนส่งพัสดุสินค้ามีต้นทุนสูง นอกจากนี้ เมียนมายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาจขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับข้อมูลได้

2.4 เวียดนาม (Vietnam : V)

เวียดนามเป็นประเทศที่ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เติบโตอย่างรวดเร็วมาก และมีตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนามากกว่ากัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลของประชาชนเวียดนามค่อนข้างดี โดยคนเวียดนามนิยมซื้อผ่านโซเชียลมีเดียและมีแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ E-marketplace ที่หลากหลาย ผู้ให้บริการ E-marketplace ทั้งท้องถิ่นและต่างชาติ การแข่งขันในตลาดแพลตฟอร์มจึงค่อนข้างสูง แต่ก็มีผู้ชนะที่มีส่วนแบ่งการตลาดส่วนมากที่ค่อนข้างชัดเจนเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติในระดับภูมิภาค

เวียดนามยังมีค่าบริการบรอดแบนด์ต่ำที่สุดใน CLMV และยังต่ำกว่าไทยด้วย ขณะที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตก็อยู่ในระดับที่เร็ว ด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ICT ของเวียดนามจึงสามารถรองรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงด้านระบบการชำระเงินมีการพัฒนามากแม้ว่าคนเวียดนามจะยังนิยมการใช้เงินสดและชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทางอยู่ แต่แนวโน้มการชำระเงินแบบไร้เงินสดในรูปแบบต่าง ๆ ก็เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งตามข้อมูลของ World Bank ในปี 2565 ประชากรที่เป็นเจ้าของบัญชีก็มีค่อนข้างมากแล้วคือร้อยละ 56.3 ขณะที่อัตราการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และประชาชนยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของบัญชีและข้อมูลในการทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์อยู่ รวมถึง MSMEs ยังมีความยกในการเข้าถึงเงินทุน ขณะที่ในด้านระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของเวียดนามมีความพร้อมมากกว่ากัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริการของผู้ให้บริการขนส่ง แต่ยังมีปัญหาที่ค่าขนส่งยังสูงทำให้การซื้อสินค้าทางออนไลน์ไม่ได้ถูกกว่าซื้อหน้าร้าน

3. แนวทางการพัฒนาความเชื่อมโยงการค้าระบบดิจิทัลระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมีองค์ประกอบเกิดขึ้นในหลายประเทศเกี่ยวเนื่องกัน จึงต้องอาศัยความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ต้องพัฒนาตามกรอบแนวคิดการเชื่อมโยงของดิจิทัล (Framework of Digital Connectivity) โดย ERIA สำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน CLMVT (Cambodia, Lao PDR, Myanmar, Vietnam, Thailand) มีรายละเอียดดังนี้

3.1 การเชื่อมโยงด้านข้อมูลภายใต้โครงสร้างพื้นฐานและบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ICT เพื่อให้สามารถส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดนได้ ดังนั้น ความครอบคลุม คุณภาพ ความเร็ว และความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งผ่านข้อมูลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนด้วย โดยโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ICT ของไทยกับเวียดนามมีการพัฒนามากกว่ากัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา สะท้อนว่าด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ICT นี้ CLMVT ยังมีช่องว่างระหว่างค่อนข้างมาก เป็นอุปสรรคที่จะเชื่อมโยงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้อย่างราบรื่น  นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการใช้งานและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นพื้นฐานของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์คือค่าบริการบรอดแบนด์ใน CLMVT ที่ยังสูงมาก โดยค่าบริการบรอดแบนด์ในทุกประเทศสูงกว่าค่าบริการบรอดแบนด์ตามเป้าหมายของคณะกรรมมาธิการบรอดแบนด์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติซึ่งตั้งไว้ที่ต่ำกว่า 2% GNI ทั้งสิ้น CLMVT จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ICT รวมถึงลดช่องว่างระหว่างกันเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดนได้ นอกจากนี้ การเชื่อมโยงด้านข้อมูลข้ามพรมแดนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของบริการในพื้นที่ไซเบอร์ กฎหมายที่จำกัดการส่งผ่านข้อมูลบางประการข้ามพรมแดน มาตรการป้องกันความปลอดภัย และหน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องซึ่งล้วนส่งผลต่อการไหลของข้อมูลเนื่องจากความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศต่าง ๆ ยังคงเหลื่อมล้ำกัน เป็นเหตุให้เกิดต้นทุนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ กลไกประการหนึ่งที่จะช่วยการพัฒนาดังกล่าวได้คือการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องของประเทศ รวมถึงการเปิดเสรีการแข่งขันด้านการให้บริการ ICT มากขึ้น จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาโดยรวม เพิ่มประสิทธิภาพ ความครอบคลุมของบริการ ในราคาที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

3.2 การเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า

เมื่อมีการซื้อขายสินค้าที่มีรูปร่างผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การขนส่งจะเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่ทำให้การซื้อขายลุล่วงโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ ภายหลังมีคำสั่งซื้อเกิดทางออนไลน์จะต้องดำเนินการต่อในทางกายภาพที่เป็นการขนส่งเพื่อส่งสินค้านั้นไปยังผู้ซื้อ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จึงต้องการระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือ ครอบคลุมตั้งแต่สินค้าออกจากผู้ขายไปจนถึงผู้ซื้อตลอดกระบวนการ ทั้งบริการขนส่งพัสดุ รวมถึง Fulfillment โดยผู้ที่ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อย่อต้องการบริการที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้ใช้งานได้ ทุกประเทศในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์อย่างมากตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบการขนส่งสินค้า ไปจนถึงประสิทธิภาพและราคาในการให้บริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทำให้การขนส่งพัสดุสินค้าเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น

กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมามีปัญหาการขนส่งช่วง Last mile delivery และระบบฐานที่อยู่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้การส่งแบบจากผู้ส่งถึงผู้รับถึงหน้าประตู (Door-to-door) ซึ่งเป็นปัจจัยได้เปรียบของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ความสะดวกสบายมากกว่าซื้อของหน้าร้านปกติจะเสียไป นอกจากนี้ ปัญหาร่วมกันของ CLMVT คือ ต้นทุนการขนส่งยังสูงทำให้แข่งขันกับสินค้าที่ขายผ่านหน้าร้านทางออฟไลน์ได้ยาก การแก้ปัญหาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์จึงต้องเริ่มจากปัญหาโครงสร้างอย่างระบบฐานที่อยู่ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐแต่ละประเทศในการพัฒนาสร้างความชัดเจน ขณะที่ผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ก็ควรต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคโดยมีการให้บริการอย่างเป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ รวมถึงพยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้สามารถติดตามพัสดุได้ตลอดการขนส่งเพิ่มมากขึ้น

ส่วนในการอำนวยความสะดวกทางการค้าสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน CLMVT ยังคงพบปัญหาความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติบริเวณด่านชายแดนและการเก็บภาษีนำเข้าอยู่มาก แต่ปัจจุบันก็มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อช่วยสร้างความโปร่งใสชัดเจนได้มากขึ้น และสามารถลดระยะเวลาและลดต้นทุนในการผ่านสินค้าข้ามพรมแดน ไม่ว่าจะเป็น National Single Window หรือการออกเอกสารทางการค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างมากในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า นอกจากนี้ ไทยเองที่มีการสร้าง National Digital Trade Platform หรือ NDTP ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทยโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่สามารถช่วยติดต่อ รับ-ส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในประเทศ และคู่ค้าต่างประเทศ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และช่วยอำนวยความสำหรับผู้ประกอบการให้ใช้เอกสารน้อยลงและไม่ต้องทำข้อมูลซ้ำซ้อนได้อีกด้วย

3.3 การเชื่อมโยงด้านการเงิน

การชำระเงินในการซื้อขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมการชำระเงินทุกรูปแบบไม่จำกัดว่าต้องเป็นการชำระเงินแบบไร้เงินสดหรือออนไลน์ทั้งหมด ตราบเท่าที่การมีระบบหรือรูปแบบการชำระเงินที่ทำงานได้และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อผู้ขายได้ก็เพียงพอ แม้ว่าบัตรเครดิตกับ E-payment จะทำให้กระบวนการพาณิชอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นง่ายกว่าก็ตาม ซึ่งใน CLMV ยังนิยมใช้เงินสดอยู่มาก และผู้เป็นเจ้าของบัญชียังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย การเชื่อมโยงด้านการชำระเงินแบบข้ามพรมแดนจึงทำได้ยากขึ้น

ปัญหาใน CLMVT รวมถึงหลายประเทศในโลกคือการโอนเงินข้ามประเทศทำได้ยาก มีกฎระเบียบ มีเอกสารต้องที่ต้องแจกแจง และค่าธรรมเนียมก็ยังสูงอีก ทำให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบ B2C ที่จะชำระเงินข้ามพรมแดนเป็นรายคำสั่งซื้อเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนมีความร่วมมือในการพัฒนาด้านการชำระเงินข้ามพรมแดน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์มีการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Cross-border QR Payment ให้ผู้ซื้อสามารถสแกนจ่ายเงินที่ต่างประเทศผ่าน QR code ด้วยแอปพลิเคชันธนาคารของตัวเอง ไทยมีความร่วมมือกับญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมในทุกธนาคาร ซึ่งการชำระเงิน Cross-border QR Payment มุ่งเน้นไปที่กลุ่มของผู้เดินทางเพื่อใช้ชำระเงินแบบไร้เงินสดในต่างประเทศโดยไม่ต้องแลกเงิน แต่แนวทางการชำระเงินนี้หากสามารถพัฒนาเพื่อใช้กับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ในอนาคตจะเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างมาก

3.4 การเชื่อมโยงบูรณาการส่วนของพื้นที่ไซเบอร์กับกายภาพเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

เนื่องจากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นรูปแบบทางการค้าที่มีทั้งองค์ประกอบที่เกิดขึ้นผ่านทางออนไลน์หรือพื้นที่ไซเบอร์ และองค์ประกอบที่เกิดขึ้นทางกายภาพออฟไลน์ จึงต้องมีการเชื่อมโยงบูรณาองค์ประกอบต่าง ๆ ส่วนของพื้นที่ไซเบอร์กับกายภาพที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้ กลไกที่เกี่ยวข้องสำคัญในการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ประกอบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไซเบอร์กับที่เกิดทางกายภาพเข้าด้วยกันคือกฎหมาย ซึ่งกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยในประเทศ CLMVT มีเพียงไทยกับเวียดนามเท่านั้นที่มีกฎหมายหลักที่เป็นพื้นฐานของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ครบทั้ง 4 ด้าน ทำให้เกิดความกังวลในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ โดยเฉพาะในพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน

การพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์หรือนโยบายเฉพาะที่เป็นกรอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสปป.ลาวและเมียนมายังขาดยุทธศาสตร์เฉพาะที่มุ่งด้านการพัฒนาและส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในระดับประเทศ ทำให้การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจทำได้อย่างไม่ตรงจุด นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเอกชนเอกก็สามารถมีบทบาทผ่านเครือข่ายของผู้ประกอบการในการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่และสะท้อนความเห็นความต้องการสู่หน่วยงานของรัฐได้

เพื่อให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนสามารถพัฒนาเชื่อมโยงอย่างสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันแต่ละประเทศต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทำงานอย่างบูรณาการ ประกอบกับความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคและภูมิภาคด้วย ทั้งนี้ การร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของแต่ละประเทศจะช่วยเป็นกลไกขับเคลื่อนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้ รวมถึงการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาคอย่างคณะกรรมการประสานงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ASEAN Coordinating Committee on Electronic Commerce: ACCEC) และเวทีต่าง ๆ ที่ทุกประเทศควรกำหนดทิศทางในเรื่องสำคัญในชัดเจนในทิศทางเดียวกัน

4. แนวทางและโอกาสการลงทุนในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

อุปสรรคหรือความยุ่งยากซับซ้อนที่เกิดขึ้นในพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน รวมถึงช่องว่างของการพัฒนาในระบบนิเวศพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นโอกาสการลงทุนใน CLMVT ทั้งในแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง และในภาคธุรกิจดิจิทัลเอง

ธุรกิจบริการจัดจำหน่ายออนไลน์หรือบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกหรือช่วยเป็นตัวกลางในการขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV เพราะในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการมีความสนใจในการขายสินค้าไปยังประเทศเพื่อบ้านผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นแต่ยังไม่สามารถวางระบบในการซื้อขายหรือทำตลาดได้ด้วยตัวเองทำให้ต้องใช้บริการผู้ให้บริการจัดจำหน่ายออนไลน์หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ครบวงจรเป็นตัวช่วย ภาคธุรกิจนี้จึงจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีโอกาสขยายตัวได้ในอนาคต จึงเป็นทั้งโอกาสในการลงทุนและโอกาสที่ช่วยสำหรับการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนใน CLMVT

แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ ทั้งแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศกัมพูชา เมียนมา และสปป.ลาว ที่ยังมีการแข่งขันและไม่มีผู้ชนะที่ชัดเจน รวมถึงแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน เนื่องจากในกลุ่มประเทศ CLMVT ยังไม่มีแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งรองรับซื้อขายสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างกันที่ได้รับความนิยมและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มุ่งเจาะตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMVT จึงจะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่มีผู้ชนะในตลาดนี้เช่นกัน ทำให้ธุรกิจผู้ให้บริการแพลตฟอร์มพาณฺชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังมีพื้นที่ในการลงทุนสำหรับนักลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มได้

ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ จากปัจจุบันภาคการขนส่งพัสดุในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ยังต้องการการพัฒนาให้มีการใช้การขนส่งที่เป็นระบบและติดตามได้ในการส่งพัสดุ โดยธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ต้องการการเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการท้องถิ่นแต่ละประเทศเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และจากการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ใน CLMVT มีเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์มีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงต้องมีระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยเพราะระบบการขนส่งและกระจายสินค้าเป็นหัวใจสำคัญของการค้าออนไลน์ จึงเป็นโอกาสในการลงทุนการขนส่งพัสดุโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้พร้อมทั้งดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานการบริการและมาตรฐานค่าบริการที่ชัดเจน

ธุรกิจนวัตกรรมกลุ่มฟินเทค (Fintech) หรือเทคโนโลยีทางการเงิน เนื่องจากทิศทางการชำระเงินของโลกจะก้าวเข้าสู่การชำระเงินแบบไร้เงินสดมากขึ้น แต่ประชาชนในกลุ่มประเทศ CLMV ยังนิยมการใช้เงินสด ประกอบกับโครงสร้างพื้นทางทางการเงินและเทคโนโลยีทางการเงินที่ยังขาดการพัฒนาอย่างเพียงพอเพื่อรองรับการเป็นสังคมไร้เงินสดและเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมของผู้ใช้งาน ทำให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการเชื่อมโยงให้เกิดการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนอย่างไร้อุปสรรค ธุรกิจในกลุ่มฟินเทคจึงเป็นโอกาสที่น่าลงทุนอย่างมากและมีแนวโน้มที่จะสามารถพัฒนาเติบโตอย่างก้าวกระโดดในภูมิภาคนี้ทีเดียว

ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง โดยเฉพาะในกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ที่ต้องการการลงทุนจำนวนมากเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้รองรับการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก รวมทั้งเป้นโอกาสของนักลงทุนในการการลงทุนธุรกิจที่จำเป็นและมีแนวโน้มเติบโตได้ดีตามทิศทางการเติบโตของตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ การลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV นักลงทุนต้องมีความเข้าใจกฎหมาย เงื่อนไข และข้อจำกัดในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะหลายธุรกิจมีการควบคุม กำกับดูแลจากภาครัฐที่เข้มงวด เช่น ธุรกิจด้านการเงิน รวมถึงข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติในบางธุรกิจ อีกทั้งนักลงทุนยังต้องทำความเข้าใจลักษณะของธุรกิจแต่ละประเภทที่อาจต้องการการลงทุนขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กแตกต่างกันเพื่อให้สามารถลงทุนในธุรกิจที่เหมาะกับกำลังการลงทุนของตัวเองได้

5. ข้อเสนอแนะ

เพื่อเชื่อมโยงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างกัน อันจะช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อขายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างกันและส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV เพิ่มมากขึ้น การพัฒนาการค้าระบบดิจิทัลหรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ต้องการการดำเนินงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนของไทย และการดำเนินงานของหน่วยงานในประเทศ CLMV ดังนี้

5.1 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐไทย

  1. พัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยรวมศูนย์บริการภาครัฐเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One-stop services) ที่ครบวงจรครอบคลุมการดำเนินการด้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทุกประเภท และผลักดันการยื่นคำขอเอกสารต่าง ๆ ในการนำเข้า-ส่งออกเป็นการดำเนินการทางออนไลน์ทั้งหมดแบบรวมศูนย์ภายใต้แนวคิดเช่นเดียวกับ National Single Window โดยผู้ประกอบการไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน พร้อมทั้งพัฒนาและผลักดันต่อยอด NDTP (National Digital Trade Platform) แพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย โดยขยายขอบเขตให้บริการในพื้นที่ CLMV เพื่อเป็นพื้นฐานช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน
  2. สนับสนุนภาคการขนส่งพัสดุข้ามพรมแดน โดยส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ประกอบการของเร่งด่วน (Express consignment) และส่งเสริมให้ใช้บริการผู้ประกอบการของเร่งด่วนไทยในการบริการขนส่งข้ามพรมแดนเพื่อลดต้นทุนการขนส่งพัสดุสินค้า พร้อมส่งเสริมระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องให้มีความสะดวก รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ ผ่านการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและการอุดหนุนการส่งพัสดุสินค้าข้ามพรมแดนเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน CLMV
  3. พัฒนาเชื่อมโยงระบบการชำระเงินข้ามพรมแดน โดยสามารถพัฒนาต่อยอดจาก Cross-border QR payment ภายใต้โครงการ ASEAN Payment Connectivity โดยความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ให้สามารถชำระเงินผ่านการสแกนจ่าย QR code บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ซึ่งต้องอาศัยการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารกลางต่างประเทศในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน เนื่องจากอุปสรรคสำคัญด้านกฎระเบียบในโอนเงินข้ามประเทศมีหลายประการ
  4. กำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนอย่างชัดเจนซึ่งควรมีการวางเป้าหมายและใช้นโยบายส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยสามารถศึกษาต้นแบบการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรมจากประเทศที่ประสบความสำเร็จ
  5. ขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงบูรณาการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย จะต้องมีการดำเนินงานบูรณาการเชิงรุกทั้งในระดับกระทรวงและระดับกรมเพื่อประสานการทำงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งอาศัยเวทีของอาเซียนอย่างที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers’ Meeting) ในการผลักดันประเด็นด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในภูมิภาคเพื่อความเชื่อมโยงในเชิงรุก หรือประสานความร่วมมือทวิภาคีหรือพหุภาคีเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างกัน
  6. ยกระดับศักยภาพและความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในการค้าระบบดิจิทัลข้ามพรมแดน โดยพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ อย่างครอบคลุม เช่น ความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล (Digital literacy) การทำการตลาดดิจิทัล (Digital marketing) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ตลาดและการวิเคราะห์ผู้บริโภค การเงิน โดยมุ่งเน้นกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

5.2 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาคเอกชนไทย

  1. ผู้ประกอบการที่ต้องการขายสินค้าออนไลน์ควรมีช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็น E-marketplace ไม่ว่าจะในประเทศหรือข้ามพรมแดนเพื่อเริ่มสร้างความคุ้นเคยกับระบบการขายบนแพลตฟอร์ม การทำการตลาด และการบริหารจัดการรายการสินค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้และหาประสบการณ์ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน สะสมข้อมูลลูกค้าในต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้าผ่านระบบออนไลน์
  2. ศึกษาและพิจารณาศักยภาพตลาดเพื่อนบ้านให้เหมาะสมกับธุรกิจและผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการควรศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ตลาด สภาพตลาด และความต้องการของผู้บริโภคเพื่อพิจารณาโอกาสการค้าการลงทุนที่เหมาะสมกับธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังต้องให้ความสำคัญกับการตลาดดิจิทัล (Digital marketing) ในต่างประเทศเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคได้ตรงกลุ่ม รวมถึงทำ Competitive analysis เพื่อเข้าใจคู่แข่งและการแข่งขันในตลาดด้วย
  3. พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและเหมาะกับการขายผ่านออนไลน์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เพื่อดึงดูดลูกค้าและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ประกอบการยังต้องสร้างความรู้จักและเอกลักษณ์ที่น่าจดจำแก่ผลิตภัณฑ์ และคำนึงถึงการกำหนดราคาขายสินค้าในต่างประเทศที่ต้องต้องไม่สูงกว่าที่ขายในไทยมากเกินไปเช่นกัน

5.3 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของ CLMVT

เพื่อให้เกิดการความร่วมมือและการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน กระทรวงพาณิชย์ไทยควรมีบทบาทในขับเคลื่อนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านหรือในภูมิภาคอาเซียนผ่านเวทีที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อผลักดันและเชื่อมโยงการดำเนินงานภายในภูมิภาค นอกจากนี้ ควรมีการผลักดันโดยอาศัยกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ที่ CLMVT เป็นสมาชิก โดยไทยสามารถมีบทบาทเป็นผู้นำเพื่อขับเคลื่อนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจน และสร้างความร่วมมือในการลดช่องว่างของการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกัน รวมทั้งอาศัยกรอบ GMS ที่มีจีนตอนใต้ร่วมด้วย ในการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะในเชิงการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมกันนี้ ไทยยังสามารถให้ความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) แก่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย

ทั้งนี้ การผลักดันการพัฒนาด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรมโดยอาศัยกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ต้องมีการกำหนดเป้าหมาย การดำเนินงาน และการติดตามผลอย่างชัดเจนเพื่อกระตุ้นให้มีการดำเนินงานอย่างเข้มข้นจริงจัง โดยมีข้อเสนอแนะการพัฒนา ดังนี้

  1. ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT โดยเฉพาะกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ให้ครอบคลุม มีประสิทธิภาพ ในราคาที่เข้าถึงได้ ผ่านการดึงนักลงทุนจากต่างชาติและเปิดเสรีการแข่งขันมากขึ้น
  2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อสามารถเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ อำนวยความสะดวกในการขนส่ง ซึ่งสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ประเทศไทย สามารถมีบทบาทสำคัญให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการ ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional loan) และเงินให้เปล่า (Grant) ได้ พร้อมทั้งพัฒนาบริการจัดส่งไปรษณีย์ พัสดุ สินค้าต่าง ๆ ของผู้ให้บริการ โดยสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ มีการแสดงมาตรฐานด้านราคาที่แน่นอน สามารถติดตามการขนส่งสินค้าได้ รวมถึงเปิดเสรีการแข่งขันของบริการไปรษณีย์และพัสดุมากขึ้น
  3. กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา จำเป็นต้องปรับปรุงฐานทะเบียนที่อยู่ให้เป็นระบบเพื่อให้สามารถระบุที่อยู่จัดส่งได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน แน่นอน เป็นประโยชน์ต่อการส่งพัสดุสินค้าแบบ Door-to-door
  4. ส่งเสริมการระบบการชำระเงินทางออนไลน์และบัตรเครดิต รวมถึงประสานความร่วมมือระหว่าง CLMVT ภายใต้ ASEAN หรือ GMS ในการชำระเงินระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกธุรกรรมข้ามพรมแดน รวมถึงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน
  5. ดำเนินมาตรการเพื่อลดอัตราการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งสนับสนุนการใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาสให้ MSMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นทางการ
  6. ส่งเสริมการค้าไร้กระดาษ (Paperless trade) ให้สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่าง CLMVT รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน เพื่อช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา ซึ่งจะทำให้การผ่านของสินค้าข้ามพรมแดนทำได้อย่างรวดเร็วขึ้นและแนวปฏิบัติบริเวณชายแดนในการผ่านสินค้าจะมีความโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ เป็นการส่งเสริมการค้าชายแดนและข้ามแดนระหว่างกัน
  7. ภาครัฐต้องเป็นผู้ดำเนินงานสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นต่อการซื้อขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน มีกฎหมายรองรับและคุ้มครองอย่างครบถ้วนครอบคลุม พร้อมทั้งมีกลไกที่เป็นรูปธรรมในการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนที่ต้องมีกลไกสร้างความเชื่อมั่นอย่างเป็นรูปธรรม
  8. ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนต้องเร่งเพิ่มความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล (Digital literacy) และความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน (Financial literacy) ให้กับทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เพื่อส่งเสริมการซื้อขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน

บรรณานุกรม

Facebook IQ. (2020). The Future of Shopping has Come Early: Perspectives from the Industry. https://www.facebook.com/business/news/insights/the-future-of-shopping-has-come-early-perspectives-from-the-industry

Chen, L. (2020). Improving Digital Connectivity for E-commerce: A Policy Framework and Empirical Note. In Economic Research Institute for ASEAN and East Asia, (pp.7-30), E-commerce Connectivity in ASEAN. https://www.eria.org/publications/e-commerce-connectivity-in-asean/

OECD. (2011). OECD Guide to Measuring the Information Society 2011. OECD Publishing, Paris. https://doi.org/10.1787/9789264113541-en

UNCDF. (2022). Measuring Progress 2021: Financial Inclusion in selected ASEAN countries. https://www.uncdf.org/article/7615/measuring-progress-2021-financial-inclusion-in-asean

UNCTAD. (2021). Estimates of global e-commerce 2019 and preliminary assessment of covid-19 impact on online retail 2020. https://unctad.org/system/files/official-document/tn_unctad_ict4d18_en.pdf

UNESCAP. (2022). Cambodia Financial Inclusion Refresh (2021). https://www.uncdf.org/article/7595/cambodia-financial-inclusion-refresh

World Bank. (n.d.). Account ownership at a financial institution or with a mobile-money-service provider (% of population ages 15+) – Cambodia, Lao PDR, Myanmar, Vietnam, Thailand. https://data.worldbank.org/indicator/FX.OWN.TOTL.ZS?locations=KH-LA-MM-VN-TH World Trade Organization. (n.d.). Electronic commerce. https://www.wto.org/english/tratop_e/ecom_e/ecom_e.htm

นางสาวภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส สำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (ITD)
ผู้เขียน