บทความโดย
ชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
ธณัฐ พวงนวม
กานต์ แจ้งชัดใจ
1. บทนำ
เป็นที่ทราบกันดีว่า การท่องเที่ยวภายในประเทศ (Domestic Tourism) เป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภูมิประเทศที่มีความหลากหลาย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ รวมถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละภาคเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเลือกที่จะเดินทางไปเยี่ยมชมสิ่งที่ได้กล่าวมา สำหรับจังหวัดพิษณุโลกก็เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ธรรมชาติที่หลากหลาย รวมถึงเป็นที่ตั้งของหลวงพ่อพระพุทธชินราช พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ได้รับการยกย่องว่ามีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ ซึ่งเทศบาลนครพิษณุโลกได้เล็งเห็นถึงศักยภาพดังกล่าวจึงได้ดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองโดยอาศัย Domestic Tourism ผ่านการสร้างความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชนเพื่อให้เศรษฐกิจของพื้นที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการประยุกต์เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยบทความฉบับนี้คณะผู้เขียนจะนำเสนอข้อมูลเศรษฐกิจและข้อมูลด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งแนวคิดการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองโดยอาศัยการท่องเที่ยวภายในประเทศของเทศบาลนครพิษณุโลก รายละเอียดปรากฏดังจะได้นำเสนอในลำดับต่อไป
2. ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดพิษณุโลก และเทศบาลนครพิษณุโลก
สำหรับข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลก ในปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จังหวัดพิษณุโลกมีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) เท่ากับ 101,120 ล้านบาท ประกอบด้วยภาคการเกษตร 23,892 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด
และภาคนอกการเกษตร 77,228 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด โดยภาคนอกการเกษตร ประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม 13,973 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 63,255 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด (รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 1) ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) ของจังหวัดพิษณุโลกในปีดังกล่าวมีมูลค่าเท่ากับ 113,013 บาท
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการคลัง พบว่า ดัชนี RSI เดือนมิถุนายน 2566 ของจังหวัดพิษณุโลกอยู่ที่ระดับ 79.4 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า RSI ของภาคเหนือ และ RSI ของประเทศ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการ
โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยจากภาคการลงทุนจากการขยายกิจการของผู้ประกอบการในพื้นที่ (รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 2)
สำหรับดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (SEFI) ที่พัฒนา และจัดทำโดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ซึ่งประกอบด้วย 88 ตัวชี้วัด มีวัตถุประสงค์เพื่อบ่งชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน 2) การศึกษา 3) สาธารณสุข 4) กำลังซื้อ 5) ปัญหาความท้าทายด้านทรัพยากรมนุษย์ และ 6) สิ่งแวดล้อม โดย SEFI แสดงให้เห็นว่า พื้นที่เทศบาลนครพิษณุโลกมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 12 ของตำบลที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก และเป็นอันดับที่ 11 ของตำบลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองพิษณุโลก นอกจากนี้ เทศบาลนครพิษณุโลกยังมีจุดแข็งด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสาธรณสุข และด้านเศรษฐกิจ ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เทศบาลนครพิษณุโลกกลับประสบกับปัญหาความท้าทายด้านทรัพยากรมนุษย์ (รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 3)
เมื่อเราพิจารณาดูที่เครื่องชี้วัดภาคบริการตัวอื่น ๆ ได้แก่ จำนวนผู้เยี่ยมเยือนของจังหวัดพิษณุโลก พบว่า ในเดือนมิถุนายน 2566 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยของจังหวัดพิษณุโลกอยู่ที่ 226,971 ซึ่งชะลอตัว จากเดือนก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย แต่มีจำนวนที่มากกว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติ ซึ่งมีจำนวนเพียง 10,198 คน และจำนวนผู้เยี่ยมเยือนดังกล่าวได้ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในช่วงที่ขยายตัวได้หลังจากที่ชะลอตัวมากในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงปี 2563 – 2564 (รายละเอียดตามภาพที่ 4)
3. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองโดยอาศัย Domestic Tourism ของเทศบาลนครพิษณุโลก
จากรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนว่า เทศบาลนครพิษณุโลกมีจุดแข็งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังมีศักยภาพในการพัฒนาอีกด้วย ในการนี้ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ร่วมกับวารสารการเงินการคลังได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก ดร.เปรมฤดี ชามพูนท (ดร.เปรมฤดีฯ) นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพิษณุโลก มาถ่ายทอดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวของการพัฒนาและขับเคลื่อนเทศบาลนครพิษณุโลก โดยอาศัย Domestic Tourism ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ประจำเดือนกรกฎาคม 2566 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม2566 ที่ผ่านมา โดยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
3.1. ภาพรวมของการพัฒนาเทศบาลนครพิษณุโลก
ดร.เปรมฤดีฯ กล่าวว่า พื้นที่ของเทศบาลนครพิษณุโลกถือเป็นศูนย์กลางของจังหวัดพิษณุโลกและภาคเหนือตอนล่าง โดยพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลกนั้นมีประวัติศาสตร์มายาวนานประกอบกับประชาชนในจังหวัดมีวิถีชีวิตที่น่าสนใจ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมของเมืองที่มีความสวยงามและมีความน่าสนใจเช่นกัน นอกจากนี้ เมืองพิษณุโลกยังมีเขตอนุรักษ์เมืองเก่ารวมไปถึงพระพุทธชินราชซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศตลอดจนวัดวาอารามที่มีความงดงามซึ่งเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัด จึงทำให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยหนาแน่นและเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวอีกเมืองหนึ่งของประเทศโดยที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดพิษณุโลกมีเป้าหมายที่จะพัฒนาและส่งเสริมจังหวัดพิษณุโลกให้เป็นศูนย์กลางของอินโดจีนอีกด้วย
นอกจากนี้ เทศบาลนครพิษณุโลกมีการขับเคลื่อนเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งที่ผ่านมาเทศบาลนครพิษณุโลกได้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้สำหรับบริการประชาชนในพื้นที่มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการรับเรื่องร้องทุกข์ออนไลน์ การติดตั้งสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ ที่พักผู้โดยสารอัจฉริยะ และเครื่องกรองฝุ่นควัน PM 2.5 ขนาดใหญ่ เป็นต้น จากความพยายามดังกล่าวส่งผลให้เมื่อปีที่ผ่านมาเทศบาลนครพิษณุโลกได้รับรางวัลด้าน Smart City จากกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ นอกจากการเป็น Smart City แล้ว เทศบาลนครพิษณุโลกยังมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมให้พื้นที่ในเทศบาลนครพิษณุโลกเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ผ่านแนวคิด “เมืองน่าอยู่ เมืองน่าท่องเที่ยว และเมืองน่าลงทุน” โดยเริ่มต้นที่การสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ถึงการส่งเสริมการเป็นเมือง Creative Economy และก้าวต่อไปคือการต่อยอดในสิ่งที่มีอยู่ด้วยการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มและมีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
3.2. นโยบายและกลไกที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองโดยอาศัย Domestic Tourism
สำหรับการขับเคลื่อนเมืองด้วยการอาศัย Domestic Tourism หรือการท่องเที่ยวภายในประเทศนั้นเป็นสิ่งที่เทศบาลนครพิษณุโลกได้เล็งเห็นความสำคัญและดำเนินนโยบายส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่อยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด อีกทั้งการที่เมืองพิษณุโลกมีที่ตั้งที่สามารถเชื่อมโยงไปยังจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคเหนือตอนบนได้ จึงทำให้มีอัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมที่หลากหลายและผสมผสานกันอย่างลงตัว โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านอาหารที่สามารถดึงดูดผู้คนให้มาลิ้มลองและสัมผัสกับอัตลักษณ์เฉพาะตัว ยกตัวอย่างเช่น การจัดเทศกาลมหกรรมอาหารในทุก ๆ ปี เป็นต้น
3.3. อุปสรรคในการดำเนินงานในการพัฒนาเทศบาลนครพิษณุโลกที่ผ่านมา
สำหรับอุปสรรคต่อการพัฒนาเทศบาลนครพิษณุโลกที่สำคัญคือ การที่ประชากรในเขตเทศบาลลดลงจากการที่ย้ายถิ่นฐานออกจากเทศบาล เนื่องจากพื้นที่บริเวณเทศบาลส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของหน่วยงานราชการ ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เหลือพื้นที่ในการที่จะให้ประชาชนเข้าไปพัฒนาน้อยลงเรื่อย ๆ โดยที่ผ่านมาเทศบาลนครพิษณุโลกได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมให้เป็นเมือง Creative Economy และพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ต่าง ๆ ในพื้นที่ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น
นอกจากนี้ ดร.เปรมฤดีฯ ได้ระบุว่า ยังมีอีกหนึ่งอุปสรรคต่อการพัฒนาเทศบาลในหลาย ๆ แห่ง คือ อำนาจในการตัดสินใจของเทศบาลซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด กล่าวคือ การตัดสินใจในการดำเนินการกิจการต่าง ๆ ของเทศบาลถูกจำกัดไว้ด้วยกฎเกณฑ์จากส่วนกลาง กล่าวคือ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งอุปสรรคดังกล่าวได้ส่งผลให้การพัฒนาเทศบาลต่างๆ ล่าช้าตามไปด้วย
3.4. กุญแจสำคัญ (Key Success) ในการใช้ Domestic Tourism เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเทศบาลนครพิษณุโลก
ในส่วนของกุญแจสำคัญในการใช้ Domestic Tourism เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเทศบาลนครพิษณุโลก ดร.เปรมฤดีฯ ระบุว่า ภารกิจของเทศบาลมีหลายด้านทั้งการพัฒนา การแก้ไขปัญหาตลอดจนการส่งเสริม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสุดที่จะทำให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ประชานในพื้นที่เทศบาลให้ความร่วมมือในการทำภารกิจของเทศบาลเสมอมา และการที่มีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเทศบาลพิษณุโลกให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตต่อไป
นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน