สัมภาษณ์พิเศษ ดร. พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและโฆษกกระทรวง

สัมภาษณ์พิเศษ ดร. พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและโฆษกกระทรวง

1. รู้จัก ดร.พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กับประวัติที่น่าสนใจ

หลังจบปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมได้เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีที่สำนักงานสอบบัญชี KPMG Peat Marwick Suthee ทำได้ประมาณ 2 ปี จึงไปเรียนต่อ MBA สาขาการเงินที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นในปี 2536 เข้าสู่แวดวงราชการโดยเริ่มจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่กองรัฐวิสาหกิจ กรมบัญชีกลาง เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง สศค. เปิดรับสมัครข้าราชการ ผมจึงมาสอบและผ่านการคัดเลือกเป็นข้าราชการระดับ 4 วุฒิปริญญาโท

แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ไปสมัครงานที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ซึ่งขณะนั้นเพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลด้านตลาดทุนโดยเฉพาะและได้รับการคัดเลือกเช่นเดียวกัน เมื่อสอบได้ทั้ง 2 แห่ง จึงได้ไปขอคำแนะนำจากท่านมณีมัย วุฒิธรเนติรักษ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลางซึ่งกำกับดูแลกองรัฐวิสาหกิจในขณะนั้น ซึ่งท่านแนะนำว่า สศค. เป็นคลังสมอง (Think Tank) ที่สำคัญของกระทรวงการคลัง เพราะมีหน้าที่เสนอแนะนโยบายการเงินการคลังและเหมาะกับคนรุ่นใหม่ จึงตัดสินใจเลือกมาทำงานที่ สศค.

ดร. พรชัย ฐีระเวช

2. บทบาทของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ภายใต้กระทรวงการคลัง ในยุคปัจจุบัน

สศค. ได้รับความไว้วางใจในการดำเนินภารกิจเสนอแนะ ออกแบบนโยบาย และผลักดันมาตรการทั้งทางด้านการคลัง การเงิน และเศรษฐกิจ ที่สำคัญต่างๆ ของกระทรวงการคลัง นับเป็นหน่วยงานที่เป็นคลังสมอง (Think Tank) ให้กับกระทรวงการคลัง ในอดีตหลายคนมองว่า สศค. ทำงานบนหอคอยงาช้าง ดำเนินนโยบายจากด้านบนโดยไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของประชาชน ไม่รู้จักประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยได้จริง เพื่อจัดหาความต้องการหรือสวัสดิการที่เฉพาะเจาะจงตรงตัวได้ แต่ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้ปัจจุบันเรามีข้อมูลที่ครอบคลุม นับเป็นการเจาะลึกรายละเอียดและคุณลักษณะของข้อมูลเชิงบุคคล ที่อาจกล่าวได้ว่ามากที่สุดเท่าที่เคยดำเนินการกันมา ทำให้สามารถชี้เป้าผู้มีรายได้น้อยได้ว่าคือใคร อยู่ที่ไหน ยังขาดอะไร และต้องการอะไร

นอกจากนี้ สศค. ได้เริ่มพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สวัสดิการประชาชน โดยการเชื่อมโยงข้อมูลจากการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา และมีความพยายามในการปรับฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและทันสมัย รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการวิิเคราะห์และออกแบบนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต การมีข้อมูลเชิงลึกและมีพลวัตการให้ความช่วยเหลือก็จะยิ่งถูกต้อง รวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น

จากการพัฒนา Big Data ของ สศค. ดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดเพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งในด้านการส่งเสริมสวัสดิการและด้านการยกระดับรายได้ เช่น แพลตฟอร์มที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถตรวจสอบสิทธิ์ ยืนยันสิทธิ์ และรับการช่วยเหลือในกรณีต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ แพลตฟอร์มการเข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพที่รัฐจัดให้ แพลตฟอร์ม Digital Commerce ระดับฐานราก เพื่อเป็นช่องทางการซื้อขายกับร้านค้ารายย่อยโดยตรง เป็นต้น

3. การยกระดับการดำเนินนโยบายการคลังด้วยวิทยาการดิจิทัลสมัยใหม่

ปัจจุบันนับเป็นมิติใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ การเยียวยาประชาชนผ่านแอพลิเคชั่นที่เรียกว่าแอฟเป๋าตังค์ ทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับการใช้จ่ายเงิน/รับเงินผ่านมือถือหรือผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญทำให้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจในการใช้เงินผ่านระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจหรือธุรกรรมออนไลน์ ทำให้คนไทยคุ้นชินและมีประสบการณ์ ดังนั้น การต่อยอด E-commerce หรือ E-Service ก็จะทำได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลจากการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ชิมช้อปใช้ เราไม่ทิ้งกัน และคนละครึ่งระยะที่ 1-3 สศค. ได้พัฒนาขึ้นเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำเร็จแล้ว ซึ่งครอบคลุมประชาชนกว่า 30-40 ล้านคนและผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 1 ล้านราย นอกจากนี้ ยังได้นำข้อมูลดังกล่าวมาต่อยอด วิเคราะห์ วิจัย และนำไปใช้เป็นข้อเสนอแนะในการประกอบการกำหนดนโยบายการคลังอื่น ๆ รวมทั้งจัดทำรายงานสรุปข้อมูล (Dashboard) ผลการดำเนินโครงการสำหรับผู้บริหาร โดยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลแต่อย่างใด ส่วนข้อมูลจากการดำเนินโครงการเราชนะ และโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 กระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการพัฒนาให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเมื่อสำเร็จภาครัฐจะสามารถให้ความช่วยเหลือผ่านการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตรงเป้าหมายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของรัฐบาล

4. การนำองค์กรเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็น E-Government

นอกจากการการนำระบบดิจิทัลมาบริการประชาชนแล้ว สศค. ยังมีการนำระบบ e-Office หรือ paperless มาปรับใช้ นับตั้งแต่วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ทำให้ระบบราชการต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนอกจากต้องทำงานจากบ้าน (Work From Home) เพื่อควบคุม และ ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยการลดความหนาแน่นของพนักงานในที่ทำงาน ยังรวมถึงการสื่อสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ ตลอดจนการประชุมออนไลน์ หรือ Video Conference ซึ่งช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สศค. ยังได้มีการนำระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Saraban) มาใช้ ซึ่งช่วยทำให้ระบบราชการของไทย สื่อสารกันง่ายและรวดเร็วขึ้น  

ปัจจุบัน สศค. มี email address กลาง ของหน่วยงาน (saraban@fpo.go.th) สำหรับใช้รับและส่งหนังสือราชการ ยกเว้นเรื่องลับที่สุดหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ยังมีใช้เอกสารกระดาษ ซึ่งข้อดีที่อีกข้อของระบบระบบสารบรรณ นั่นคือ นอกจากจะสื่อสารกันได้ระหว่างหน่วยงานแล้ว ผู้บริหารยังสามารถลงนามอิเล็กทรอนิกส์ในหนังสือราชการภายในหน่วยงานได้อีกด้วย อีกทั้งยังการมีการสำรองข้อมูล (backup) หนังสือราชการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การจัดการเอกสารเป็นระบบและมีระเบียบมากขึ้น เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการเอกสารสามารถเรียกใช้หรือสืบค้นข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมีความปลอดภัยสูง โดยสามารถตรวจสอบได้ว่ามีผู้ใช้งานรายใดเข้าไปกระทำการใดๆ กับเอกสารที่มีอยู่ในระบบบ้าง

5. ตำแหน่ง ผอ. สศค. พร้อมกับการเป็นโฆษกกระทรวงการคลัง บทบาทที่ท้าทาย

การทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หน่วยงานที่ทำหน้าเสนอแนะและออกแบบนโยบายในหลายมิติ ทั้งการเงิน การคลัง ภาษี การลงทุน เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศ ประกอบกับยังมีีวิกฤตเฉพาะหน้าที่ ต้องมีความรู้กว้างขวางเพื่อสามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอยู่่ตลอดเวลา รวมถึงต้องคำนึงถึงการออกแบบนโยบายที่ยังต้องคงความสมดุลของภาคเศรษฐกิจและการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว นับเป็นความท้าทายมากในระดับหนึ่ง

การเป็นโฆษกกระทรวงการคลังในยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่มีการสื่อสารที่รวดเร็วในปัจจุบัน ก็นับเป็นบทบาทที่ท้าทายไม่แพ้กัน ทั้งนี้ การให้ข้อมูลข่าวสารจากทางการจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือปรับเกมส์ให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งประชาชนเข้าถึงข่าวสารมากขึ้นเท่าไร เนื้อหาการผลิต และการใช้ข้อมูลเท็จในโลกโซเชียล ที่เรียกว่า ข่าวปลอม หรือ Fake News ก็มีมากขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงการคลังปัจจุบันได้มีการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกระทรวงการคลัง (MOF Anti-Fake News Center) ที่จะทำหน้าที่ตอบข้อมูลและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ การจัดการโดยเน้นการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงข่าวสารที่ถูกต้องของส่วนราชการโดยตรงมากขึ้น อาทิ การชี้แจง การแถลงข่าว การตอบคำถามสื่อ และการให้ Digital Literacy กับประชาชนมากขึ้น จะช่วยทำให้สร้างความเข้าใจต่อประชาชนและสาธารณชนมากขึ้น

6. บทบาทของกระทรวงการคลัง กับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและการคลังในอนาคต    (Pandemic สู่ endemic)

ในอนาคตข้างหน้าคงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายด้าน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผมมองว่าโรคโควิด-19 จะยังคงอยู่กับเราไปเรื่อย ๆ แต่อาจลดระดับความรุนแรงของโรคลง โดยเปลี่ยนจาก Pandemic หรือการระบาดทั่วโลกไปเป็น Endemic หรือโรคประจำถิ่น ดังนั้น ต่อไปจากนี้นโยบายที่จะเข้ามาดูแลเศรษฐกิจจะต้องเน้นสร้างภูมิคุมกัน “การฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด หลังจากนั้นจะต้องเร่ง “กระตุ้นเศรษฐกิจ” เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้กับเศรษฐกิจไทยในการแข่งขันในเวทีโลกต่อไป ซึ่งภาครัฐมีแหล่งเงินเพียงพอที่จะทำมาตรการต่าง ๆ ทั้งจากเม็ดเงินจากรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่จะเริ่มลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงเดือนตุลาคม 2564 รวมไปถึงงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท และเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือ   

โดยในช่วงแรกของการเข้าสู่ Endemic ยังคงจำเป็นจะต้องมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือ บรรเทา เยียวยาประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่บ้าง เนื่องจากที่ผ่านมา แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ถือได้ว่ายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยบางส่วนต้องถูกเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการทำงาน และผู้ประกอบการยังค้าขายได้น้อย โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจภาคบริการ โดยจะพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความจำเป็นของแต่ละกิจการ ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ MSMEs สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง เช่น การลดค่าใช้จ่าย การปรับโครงสร้างหนี้ และการเสริมสภาพคล่องผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หรือ SFIs นอกจากนี้ยังปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐสำหรับผู้ประกอบการ MSMEs รวมถึงพัฒนาระบบ e-Commerce Platform สำหรับผู้ประกอบการ MSMEs

สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด นโยบายเศรษฐกิจจะต้องเข้ามาดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกกลุ่ม การฟื้นฟูและพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลัง ได้เตรียมที่จะดำเนินโครงการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ โดยจะพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขการลงทะเบียนให้รัดกุม และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดความซ้ำซ้อนของการได้รับสิทธิ์ของประชาชน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่ได้รับการลงทะเบียน และเพื่อประคับประคองและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนตัวเล็กในสังคมสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการประสานขอนำฐานข้อมูลอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ฐานข้อมูลผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เป็นต้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดกรองคุณสมบัติผู้ที่จะลงทะเบียน ควบคู่กับการปรับปรุงเกณฑ์รายได้

ซึ่งหลังจากที่เศรษฐกิจไทยสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถประคับประคองตนเองในโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม ในระยะต่อไป ผมมองว่ากระทรวงการคลังของเรา จะต้องผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ และสร้างแต้มต่อให้กับเศรษฐกิจไทย โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อรองรับโลกที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิด-19 รวมถึงเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่

  • การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตาม BCG Model หรือ Bio-Circular-Green Economy Model ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งแนวทางในการดำเนินการคือ การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น
  • การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นหลัก ESG (Environment, Social, Governance) หรือการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
    • มิติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากนโยบายเศรษฐกิจที่ยึดหลักการพัฒนาตาม BCG Model แล้ว กระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่สนับสนุนทางการเงินแก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องมือในการระดมทุน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้พัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ เช่น การออก Sustainability Bond หรือพันธบัตร ESG เป็นต้น
    • มิติด้านสังคม ให้ความสำคัญกับการสร้างโครงข่ายความปลอดภัยของสังคม (Social Safety Net) โดยประชาชนทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองดูแลจากภาครัฐอย่างทั่วถึง ในด้านสาธารณสุข การบรรเทาปัญหาความยากจน และการเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ ด้วยกลไกของกองทุนและระบบต่าง ๆ อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนหลักประกันสุขภาพ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งรวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติหรือ กบช. ที่อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติ เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือทางสังคมแก่ประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อบรรเทาภาวะวิกฤตต่าง ๆ อีกทั้งจะต้องช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับประชาชนฐานราก และช่วยให้ MSMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
    • มิติด้านธรรมาภิบาล โดยให้ความสำคัญกับการบริหารภาครัฐที่เน้นหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) หรือหลักการบริหารจัดการที่ดี โดยเมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับภาครัฐ ก็คือการออกแบบนโยบายได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ตรงจุดกับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงมีกลไกที่จะสามารถตรวจสอบการทำงานได้ เพื่อความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน
  • การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยเร่งผลักดันการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่พร้อมทั้งการพัฒนาและลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) การลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อเป็น New Engine of Growth เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพทางการผลิตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP)
  • การส่งเสริม Digital Economy เพื่อเป็นเครื่องมือในการปรับตัว เนื่องจากโลกหลังโควิด-19 ไม่เหมือนเดิม ภาคธุรกิจทำธุรกรรมทางออนไลน์มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีกลไกช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้ภาคธุรกิจ โดยภาครัฐจะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นำเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่าง ๆ มาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้รองรับกับโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Digital Connectivity และผู้ประกอบการเองก็ต้องสามารถเข้าถึงสินเชื่อด้วย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ริเริ่มการนำดิจิทัลมาใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโมบายแอปพลิเคชันในหลายโครงการตั้งแต่โครงการชิมช้อปใช้ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ และเมื่อรวมกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้เราสามารถพูดได้ว่า เข้าสู่ Cashless Society ที่เป็นการโอนข้อมูลแทนการโอนเงิน โดยลดบทบาทตัวกลางทางการเงินแล้ว

สัมภาษณ์โดย
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง
เรียบเรียงโดย
นางสาวคงขวัฐ ศิลา
เลขานุการบรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง
27 ตุลาคม 2564