สัมภาษณ์พิเศษ ดร. อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สัมภาษณ์พิเศษ ดร. อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

1. ท่านมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจในปี 2020 อย่างไร

ภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง แต่ไม่ละเลยต่อการเตรียมรับมือผลกระทบของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยและทั่วโลก

ดร. อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เริ่มต้นจากภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 12 ของ GDP นักท่องเที่ยวหดหาย ธุรกิจท่องเที่ยวซบเซากะทันหัน ต่อมาผลกระทบขยายวงไปยังภาคการอุตสาหกรรมทำให้ห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศขาดตอน การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงัก ท้ายที่สุดผู้ประกอบการขาดรายได้ สภาพคล่องไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงถึงขั้นปิดกิจการ ตลอดจนประชาชนทั่วไปขาดรายได้ เผชิญความเสี่ยงอาจถูกเลิกจ้างงานจำนวนหลายแสนคน

ทั้งนี้ หากพิจารณาการประเมินเศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารพัฒนาเอเชีย (6 มี.ค.63) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงประมาณร้อยละ -0.1 ถึง -0.4 จากผลกระทบของไวรัส COVID-19  โดยมีภาคท่องเที่ยวที่หดตัวลงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน ในช่วงประมาณร้อยละ -0.7 ถึง -2.0 โดยได้รับผลกระทบหลักจากภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตที่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกับประเทศจีนส่งผลให้มีความต้องการการผลิตสินค้าน้อยลง

กระทรวงการคลังได้ติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งทุกหน่วยงานก็มีการประเมินภาวะเศรษฐกิจไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ซึ่งจะเอื้อต่อการดำเนินนโยบายการคลังและการเงินที่สอดประสานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะมีการประเมินและคาดการณ์เศรษฐกิจอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งในช่วงสิ้นเดือนเมษายนนี้

สถาบันจัดอันดับเครดิตมองว่า เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งและมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่าง ๆ ทั้งบริษัท Fitch Ratings (Fitch) บริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) และบริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีต่อเศรษฐกิจไทยจาก ระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงบวก (Positive) โดยให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านบวกของประเทศไทยที่มาจาก
(1) ภาคการคลังที่แข็งแกร่งและระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับต่ำ
(2) ฐานะการเงินระหว่างประเทศและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง (Solid External Balance Sheet and Liquidity)
(3) การดำเนินนโยบายการเงิน  การคลังที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา และ
(4) การมียุทธศาสตร์ชาติซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี และการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่น่าจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี รวมทั้งการมีเสถียรภาพทางการเมือง (Political Stability) ที่น่าจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ (Economic Reform) และการบริหารงาน (Public Administration) เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth)

นอกจากนี้ รายงานการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2563 ของธนาคารโลก (Ease of Doing Business Report 2020) ได้จัดอันดับ ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 21 ของโลก ดีขึ้น 6 อันดับจากอันดับที่ 27 ในปีที่แล้ว นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดของไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยทั้งในด้านภาคการบริการ ภาคการผลิต ภาคเกษตรกรรม และภาคประชาชน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาในระยะสั้น โดยล่าสุด COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายช่องทาง อาทิ


(1) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ เดือนกุมภาพันธ์ ลดลงถึงร้อยละ 44 ซึ่งรายได้ของผู้ประกอบการและบริษัทในส่วนนี้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 12 ของ GDP
(2) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคมหดตัวร้อยละ -4.6 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเลิกกิจการและเลิกจ้างงาน และ
(3) ค่าเงินบาทอ่อนลงโดยตั้งแต่ต้นปีถึง 11 มี.ค.63 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงร้อยละ -5.8 ซึ่งก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้บ้าง

2.กระทรวงการคลังมีนโยบายหรือมาตรการที่เข้ามาดูแล ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาอย่างไรบ้าง

จากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยข้างต้น กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยยึดหลัก ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย และชั่วคราวตามจำเป็น เพื่อบรรเทาผลกระทบและเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ รวมถึงแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1 ซึ่งแบ่งเป็นมาตรการด้านการเงิน 4 มาตรการ มาตรการด้านภาษี 4 มาตรการ และอื่น ๆ อีก 4 มาตรการ รวมทั้งหมด 12 มาตรการ

สำหรับมาตรการการเงิน ประกอบด้วย

1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย

2. มาตรการปรับโครงสร้างทางการเงิน เช่น พักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

3. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อให้ภาคธุรกิจ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

4. มาตรการสินเชื่อโดยสำนักงานประกันสังคม ให้ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท คิดดอกเบี้ยต่ำ 3 % ระยะเวลา 3 ปี

มาตรการทางภาษี ประกอบด้วย

1. มาตรการคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเดิม 3% เหลือ 1.5% มีผลตั้งแต่ เม.ย.-ก.ย.63

2. มาตรการลดภาระผู้ประกอบการ โดยนำดอกเบี้ยจ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า

3. มาตรการช่วยบรรเทาภาระผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ และจ้างงานลูกจ้างต่อ โดยให้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า

4. มาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการเร็วขึ้น โดยหากยื่นแบบชำระภาษีทางอินเตอร์เน็ต จะคืนภายใน 15 วัน และหากยื่นที่สำนักงานสรรพากร จะคืนภายใน 45 วัน

และ มาตรการอื่นๆ เช่น

1. มาตรการลดภาระค่าน้ำ-ค่าไฟ การคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า

2. มาตรการลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง

3. มาตรการลดภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ราชพัสดุ

4. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ด้วยการลดขั้นตอนและลดเวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง

5. มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยให้ผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) สามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มอีก 2 แสนบาท จากเดิมหักลดหย่อนได้ 2 แสนบาท (ลงทุนในระยะเวลา1 เม.ย.-30 มิ.ย.63)

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดงบกองทุนสำรองจำนวน 2 หมื่นล้านบาท ไว้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น ลูกจ้างที่ตกงาน ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และต้องการเสริมศักยภาพของบุคลากร เป็นต้น

3. หลังการสิ้นสุด ไวรัส COVID-19 ท่านมองว่าความท้าทายเศรษฐกิจไทยอนาคตมีอะไรบ้าง

ในระยะยาว ประเทศไทยยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องได้รับการตอบสนองอย่างถูกต้องด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในหลายมิติ ดังนี้

1. ปัญหากับดักรายได้ปานกลางเป็นความท้าทายหนึ่งที่สำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ปัจจุบันเรามีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 6,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี แต่ถ้าเราจะเป็นประเทศ High-income เราต้องมีรายได้สูงถึงประมาณ 12,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี และถ้าเศรษฐกิจไทยขยายตัวปีละ 3% – 4% เราจะใช้เวลา 15 – 20 ปี จึงจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง แต่ถ้าเราสามารถ Transform ให้เศรษฐกิจขยายตัวประมาณ 4% – 5% ซึ่งจะช่วยให้เราย่นระยะเวลาเหลือเพียง 10 – 15 ปีเท่านั้นและในระยะสั้นตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปี 2560 – 2564) ได้กำหนดเป้าหมายว่า สัดส่วนคนจนของประเทศไทยจะต้องลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 6.50 ในปี 2564 จากร้อยละ 7.87 ในปี 2560

2. ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยยังคงไม่ทันกับประเทศอื่น การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ WEF ล่าสุดในปี 2019 เราอยู่ที่ 38 ของโลก ย้อนไปเมื่อปี 2005 เราอยู่ในอันดับที่ 33 ของโลก แต่ประเทศที่ไล่หลังเราขยับเข้ามาใกล้เรามากขึ้น เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ดังนั้น ประเทศไทยต้อง Transform ให้มี New Engine of Growth เพื่อให้เราเติบโตแบบ Exponential Growth เพราะแค่ Potential Growth อาจจะไม่พอ ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราต้องเร่งพัฒนา เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้าน Digital ด้าน FinTech  ด้าน FisTech การนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ การสร้าง Digital Society เป็นต้น

3. ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เราจำเป็นต้องสร้างความสมดุลของเศรษฐกิจ โดยต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในประเทศ (Local Economy) เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการในสัดส่วนที่สูงถึง 77% ของ GDP ในขณะที่การลงทุนภาครัฐและเอกชนมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำรวมกันไม่ถึง 25% ของ GDP เราจึงต้อง Transform เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

4. ลดความเหลื่อมล้ำและการกระจายการเติบโตไม่ทั่วถึง ความไม่สมดุลในเชิงพื้นที่ เราจะพบว่า กทม.และปริมณฑล และ EEC รวม 9 จังหวัด มี Gross Provincial Product หรือ GPP ถึงราว 60% ของ GDP ที่เหลือ 40% ของ GDP เป็นสัดส่วนรวมกันของ GPP ของ 68 จังหวัดที่เหลือ ดังนั้น เราต้อง Transform เครื่องยนต์การเติบโตเชิงพื้นที่ให้กระจายไปภูมิภาคต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เพื่อสร้างความสมดุลของการเจริญเติบโตในแต่ละพื้นที่ (Inclusive Growth)

5. ประเทศไทยแต่เดิมมุ่งเน้นการลดความยากจนแบบถ้วนหน้า ซึ่งไม่ได้เจาะจงแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาเราใช้นโยบายแก้ความยากจนและนโยบายสวัสดิการแบบถ้วนหน้า (Universal) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในภาพรวมไม่ได้เจาะจงที่ปัญหา กระทรวงการคลังจึงริเริ่มโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้เราทราบว่าผู้มีรายได้น้อยคือใครบ้าง อยู่ที่ไหน จังหวัดอะไร ตำบลอะไร มีรายได้เท่าใด และขาดโอกาสอะไรบ้าง ในประเด็นนี้ เราได้ Transform จากแบบถ้วนหน้าเป็นแบบ Targeted หรือแบบถูกฝาถูกตัวแล้ว ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ในปัจจุบันเราสามารถเจาะจงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้ เพื่อให้การจัดทำนโยบายต่อจากนี้ไปสามารถช่วยผู้มีรายได้น้อยให้มีภาระค่าครองชีพที่ลดลงมีการพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้พ้นจนอย่างยั่งยืน

6. เตรียมความพร้อมรับความท้าทายในอนาคต

– เพื่อให้ก้าวทันกับ Digital Disruption ภาครัฐต้องปรับตัว โดยการนำเอา Digital มาขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเพื่อเตรียมพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ Digital Economy ผ่านการใช้ National E-Payment และการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 ประเภท

– ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีกำลังแรงงานลดลง จึงต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานที่สนองความต้องการของเศรษฐกิจได้จริง โดยประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งตามนิยามคือมีประชากรอายุเกิน 60 ปี 10% ของจำนวนประชากร และถ้าสัดส่วนนี้แตะ 20% จะเรียกว่าสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ จากการประมาณการคาดว่าอีกไม่เกิน 10 ปี เราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ปัญหาที่ตามมาคือ กำลังแรงงานจะลดลง ในขณะที่ปัจจัยทุนและการใช้เครื่องมือเครื่องจักรยังไม่สามารถแทนที่ได้ทัน สิ่งที่เราต้อง Transform คือ ทำอย่างไรให้ประเทศสามารถผลิตแรงงานที่มี Productivity ได้มากขึ้น และสนองความต้องการของเศรษฐกิจได้จริงรวมทั้งเตรียมความพร้อมเรื่องสวัสดิการทางสังคม ซี่งจะมีภาระการคลังเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในด้านสวัสดิการสังคม การดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็กแรกเกิด เป็นต้น ในขณะที่รายได้ภาครัฐก็ไม่สามารถหาเพิ่มขึ้นได้มากนัก แม้จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และการขยายฐานภาษี ดังนั้น เราต้องเร่ง Transform เรื่องโครงสร้างภาษีต่าง ๆ เพื่อให้ความสามารถในการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งใช้เครื่องมืออื่น ๆ มาช่วยแบ่งเบาภาระในการลงทุนของรัฐ เช่น PPP และ Thailand Future Fund (TFF) เป็นต้น     

ท่านมองอนาคตในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างไร

“เป้าหมายการปฏิรูปใน 3 ด้าน เพื่อเพิ่มบทบาทนโยบายการเงินการคลัง และมุ่งสู่กระทรวงการคลังเพื่อการพัฒนา”

จากความท้าทายข้างต้น ทำให้กระทรวงการคลังต้องคำนึงถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ Thailand 4.0 และบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ 3 ประการ ซึ่งเป็นเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กระทรวงการคลังยึดถือมาโดยตลอด ได้แก่

เป้าหมายที่ 1 การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและคลัสเตอร์ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน และปรับปรุงพัฒนากฎระเบียบเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจและการลงทุน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นของภาครัฐ และลดภาระทางการคลังในระยะยาว

เป้าหมายที่ 2 การลดความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าที่ผ่านมาการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยลดระดับปัญหาความเหลื่อมล้ำลงได้อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่ได้หมดไปจากประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องผลักดันมาตรการการเงินการคลังเพื่อปฏิรูปการกระจายรายได้และการถือครองทรัพย์สินที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายที่ 3 การสร้างความยั่งยืนทางการคลัง โดยการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการคลังและก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายด้านการคลังที่เกิดจากภาระในการให้สวัสดิการเพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชน โดยลดข้อจำกัดการลงทุนโดยงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้จากภาครัฐอีกด้วย

5. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านต้องการบอกอะไรกับนักลงทุน

กระทรวงการคลังจะประเมินสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะพิจารณามาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อไป

ในระยะต่อไป กระทรวงการคลังมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนบทบาทจากหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะการคลังและเศรษฐกิจมหภาค มาเป็นกระทรวงการคลังเพื่อการพัฒนาเชิงรุก ด้วยการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน สร้างความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ ความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกระดับรวมถึงเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เสมอภาค และยั่งยืนยิ่งขึ้น ผมขอเรียนว่า เราจะทำงานอย่างหนักเพื่อฝ่าฟันมรสุมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไปให้ได้ พร้อม ๆ กับสร้างความเข้มแข็งในระยะยาวของประเทศต่อไป