การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

บทความโดย
นายธณัฐ พวงนวม
นายกานต์  แจ้งชัดใจ
นายภูมิภูรี เลาห์ขจร

1. บทนำ

นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในปี 2558 ในเขตพื้นที่3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ทำให้พื้นที่ใน 3 จังหวัดนั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์จังหวัดของทั้งสามจังหวัด ประกอบกับมีเม็ดเงินลงทุนทั้งจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ 3 จังหวัด ในรูปแบบต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Public-private Partnership หรือ PPP และการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายและอุตสาหกรรมและบริการต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันว่า บุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจภายหลังการสิ้นสุดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Disruptive Technology) และปัญหาด้านสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จึงเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนาทักษะและศักยภาพของแรงงานโดยอาศัยแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning เพื่อยกระดับทักษะของแรงงานให้มีความพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกดังกล่าว และ EEC ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าวและได้ร่วมมือกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ด้วย โดยรายละเอียดจะเป็นอย่างไรสามารถติดตามได้ในบทความ “การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)”

2. ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจของ EEC สำหรับข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของ EEC ในปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC มีผลิตภัณฑ์จังหวัดรวม (Gross Provincial Product: GPP) เท่ากับ 2,364,867 ล้านบาท ประกอบด้วยภาคการเกษตร 64,727 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์ของทั้ง 3 จังหวัด และนอกภาคการเกษตร 2,300,139 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของผลิตภัณฑ์ของทั้ง 3 จังหวัด ทั้งนี้ นอกภาคการเกษตร ประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม 1,642,344 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 657,795 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าใน GPP ของทั้ง 3 จังหวัดพื้นที่ EEC นั้น มีสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมสูงมาก สะท้อนให้เห็นความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมที่ว่าภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก

ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการคลัง พบว่า ดัชนี RSI ในเดือนกุมภาพันธ์ของทั้ง 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC ชะลอตัวเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 69.9 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50.00 โดยได้รับจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ของสินค้าอุตสาหกรรมในต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นสำคัญ ประกอบกับในภาคบริการเองได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 1

ภาพที่ 1 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค จัดทำโดยกระทรวงการคลัง

จัดทำโดย: กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
รับผิดชอบการจัดทำข้อมูลโดย นายกานต์  แจ้งชัดใจ เศรษฐกรปฏิบัติการ

เมื่อเราพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ของทั้ง 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC ผ่านดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (SEFI) ซึ่งพัฒนาและจัดทำโดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. โดยอาศัยตัวชี้วัด 88 ตัว เพื่อบ่งชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข กำลังซื้อ ปัญหาของทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม พบว่า 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC มีค่าดัชนี SEFI ที่สูงกว่าค่าดัชนี SEFI เฉลี่ยของประเทศ โดยจังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจสูงที่สุดจากทั้ง 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC  ทั้งนี้ เมื่อเราพิจารณาลงไปในรายละเอียด โดยเฉพาะด้านการศึกษาเป็นจุดแข็งหลักของทั้ง 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC ซึ่งสามารถรองรับการพัฒนาศักยภาพให้ผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าว สามารถตอบสนองต่อการเติบโตในอนาคตได้ รายละเอียดปรากฏในภาพที่ 2

ภาพที่ 2 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (SEFI) ของพื้นที่ EEC

จัดทำโดย: กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
รับผิดชอบการจัดทำข้อมูลโดย นายสัณหณัฐ  เศรษฐศักดาศิริ เศรษฐกรชำนาญการ

3. ทิศทางการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

จากรายละเอียดที่ได้กล่าวไปข้างต้น กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับวารสารการเงินการคลัง และคณะทำงานบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรมองค์กร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เชิญ ดร.อภิชาติ  ประเสริฐ (ดร.อภิชาติฯ) มาถ่ายทอดรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ชั้น 7 อาคารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

ดร.อภิชาติ ประเสริฐ
รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

จากการเสวนา ดร.อภิชาติฯ ได้เน้นย้ำถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Disruptive Technology) และปัญหาด้านสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ส่งผลให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสภาวะด้านแรงงานขาดแคลน และได้มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการส่งเสริมการสร้างทักษะต่าง ๆ โดยอาศัยแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning เพื่อยกระดับทักษะของแรงงานให้มีความพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกรวมทั้งความต้องการของตลาดในอนาคต

3.1 แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)         

สำหรับแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ Lifelong Learning ดร. อภิชาติฯ ได้กล่าวว่า หากเปรียบแนวคิดดังกล่าวในมุมมองเศรษฐศาสตร์ Lifelong Learning ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ 1) ด้านอุปสงค์ (Demand) คือความตระหนักรู้ต่อความจำเป็นในการพัฒนาทักษะและความรู้ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดแรงงาน 2) ด้านอุปทาน (Supply) คือ พื้นที่เรียนรู้ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ โดยพื้นที่เรียนรู้ที่เป็นทางการ ได้แก่ สถานศึกษาที่มีการบรรจุหลักสูตรต่าง ๆ รวมไว้ด้วยกัน เพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ประกอบการทำงาน และพื้นที่เรียนรู้ที่ไม่เป็นทางการซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ตามอัธยาศัย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหลายประเทศและ 3) ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ซึ่งเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน ผ่านการสร้างนโยบายในการพัฒนาผู้เรียนและแหล่งเรียนรู้ให้มีความสอดคล้องกันด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น นิยามของคำว่า Lifelong Learning จึงหมายถึง ระบบที่ประกอบด้วยผู้เรียนที่มีความต้องการในการเรียนรู้ พื้นที่เรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

3.2 บทบาทของ OKMD ในการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของ EEC

คุณอภิชาติฯ ได้อธิบายว่า OKMD เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารและจัดการความรู้ให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ผ่านการสร้างสังคมการเรียนรู้ในภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลอันนำไปสู่การสร้างรายได้และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา OKMD เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรของประเทศผ่านกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Process) ภายใต้กิจกรรมค่าย Innovation Bootcamp ซึ่งประกอบด้วย 4 ห้องเรียน ได้แก่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IOT) เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Drone & Aviation) และเทคโนโลยีเกมและแอนิเมชัน (Game & Animation) โดยใช้วิธีการสอนตามหลักการพัฒนาสมองที่เรียกว่า Brain Based Learning หรือ BBL ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในพัฒนาสมองในแต่ละช่วงวัยที่มุ่งเน้นการเรียนรู้จากสิ่งที่คุ้นเคยและใกล้ตัวของผู้เรียน เช่น การเรียนรู้ภาษาที่เริ่มต้นจากภาษาพูดแล้วค่อยพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ภาษาเขียน หรือทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่เริ่มต้นจากโปรแกรมพื้นฐานที่คุ้นเคยแล้วค่อยพัฒนาไปสู่โปรแกรมที่ซับซ้อนขึ้น เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของ EEC บทบาทของ OKMD เปรียบเสมือนอุปทานที่สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่ EEC ผ่านการสร้างพื้นที่และต้นแบบการเรียนรู้ การประชาสัมพันธ์โครงการ รวมทั้งการจัดกิจกรรมด้านการเรียนรู้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve ใน EEC ภายใต้แนวทางการส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ดังนี้

1) การจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ เพื่อทำงานอย่างใกล้ชิดกับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการเลือกสาขาวิชาชีพที่จะรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

2) การจัดทำกิจกรรมประกอบหลักสูตร และจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการขยายผลต่อไป

3) การจัดค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ New S-curve จำนวน 4 กิจกรรม ได้แก่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IOT) เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Drone & Aviation) และเทคโนโลยีเกมและแอนิเมชัน (Game & Animation) ซึ่งใช้กลไกการจัดการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด STEAM ซึ่งประกอบด้วย 5 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) ศิลปะ (Art) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ร่วมกับ การจัดการเรียนรู้ตามหลักการ BBL

3.3 ความท้าทายของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของ EEC

ดร.อภิชาติฯ เสริมว่า ประเทศไทยมีความท้าทายในประเด็น Lifelong Learning เนื่องจากยังขาดหลักสูตรที่เหมาะสมและบุคลากรที่มีทักษะซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับภาครัฐซึ่งเป็นผู้ออกแบบนโยบายควรปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน อาทิ หลักสูตรที่รองรับ New S-Curve เพื่อให้ประเทศสามารถหลุดพ้นกับดักด้านรายได้ผ่านการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ประเทศ การออกแบบนโยบายจึงไม่ควรเป็นแบบ One Size Fits All โดยควรเริ่มจากการปฏิรูปการศึกษาและส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งเริ่มจากคนซึ่งเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่จะต้องได้รับดินดีคือการเรียนรู้ ปุ๋ยดีคือการศึกษา การวิจัย และการพัฒนา น้ำดี คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อเจริญเติบโต และการดูแลเอาใจใส่ดีคือการสร้างแรงจูงใจให้ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในขณะเดียวกันภาคเอกชนควรสนับสนุนการเรียนรู้ของบุคลากรในองค์กรเพื่อให้มีทักษะที่จำเป็นในการทำงานและสามารถต่อยอดการพัฒนาไปสู่การสร้างมูลค่าให้แก่องค์กรในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

โดยสรุป แนวคิด Lifelong Learning จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกรวมทั้งความต้องการของตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการช่วยให้การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของ EEC รวมทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศสามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่องและสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ทางคณะผู้เขียนขอขอบพระคุณ ดร.นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลังและคุณชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง ที่ร่วมผลักดันให้เกิดแนวคิดในการสร้างสรรค์บทความดี ๆ

นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน