นักเศรษฐศาสตร์กับพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษ (Economist’s Travelling to the Museums)

นักเศรษฐศาสตร์กับพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษ (Economist’s Travelling to the Museums)

บทความโดย
วณัช บัณฑิตาโสภณ

1. บทนำ

โลกเป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เมืองแต่ละเมืองก็เป็นประวัติศาสตร์ในตัวมันเอง เมืองหลายเมืองมีอายุหลายร้อยหลายพันปี เมืองอีกหลายเมืองก็เป็นศูนย์กลางของทั้งการเมืองและเศรษฐกิจโลก การตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ที่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของโลกเกิดขึ้นที่นี่ ความร่วมมือปรองดอง ความแตกแยกร้าวฉาน เรื่องหนึ่งสานต่อสู่อีกเรื่องหนึ่ง นวัตกรรมใหม่ๆ ถูกคิดค้นขึ้น ยกระดับโลกไปสู่มิติใหม่ และมหานครลอนดอนแห่งนี้คือหนึ่งในเมืองเหล่านั้น

ผมมีโอกาสรับทุนรัฐบาลแบบพิเศษ (ทุน UIS) มาศึกษาต่อที่ SOAS, University of London ประเทศสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยของผมตั้งอยู่ใจกลางลอนดอนจึงมีโอกาสที่ดีมากมายได้เดินไปตามย่านนู้นย่านนี้ เข้าออกพิพิธภัณฑ์หลักๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์แปลกๆ อยู่เสมอ ตลอดจนได้เดินทางไปสก๊อตแลนด์ทางตอนเหนือและเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์ที่นั่นมาครั้งหนึ่ง

ผมค้นพบว่าการเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แท้จริงแล้วคือการเดินทางย้อนเวลา แม้ว่าโลกทั้งโลกหรือเมืองทั้งเมืองคือประวัติศาสตร์ในตัวมันเองดังที่กล่าวไว้แล้วตอนต้น แต่ด้วยความเคยชินจากการใช้ชีวิตในเมืองเราอาจมองไม่เห็นเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ตามตึกรามบ้านช่องที่เราเดินผ่าน ตามร่องรอยบนเสาหรือสะพานที่เราสัญจรผ่านเป็นประจำ การเข้าพิพิธภัณฑ์จึงเป็นการเดินเข้าไปอยู่ในโลกอีกโลก โลกที่พาเราเดินทางย้อนเวลาไปยังยุคสมัยและสถานที่ที่เราสนใจ

2. สาระสำคัญ

พิพิธภัณฑ์ในลอนดอนนั้นมีหลายรูปแบบ พิพิธภัณฑ์หลักๆ ที่พลาดไม่ได้ซึ่งถือเป็น Signature ของกรุงลอนดอนประกอบด้วย British Museum, V&A Museum, Natural History Museum, Museum of London และ Tate Modern

2.1 British Museum

หากจะเทียบพิพิธภัณฑ์ชั้นยอดของโลก นอกจาก Louvre ของฝรั่งเศส The Met หรือ Smithsonian ของสหรัฐฯ แล้ว British Museum ก็อยู่ในระดับเดียวกัน โดย British Museum นั้นรวบรวมโบราณวัตถุ ตลอดจนงานศิลป์มากมายจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่อียิปต์โบราณ อินเดีย จีน และโบราณวัตถุของอังกฤษเอง เรียกว่ารวบรวมอารยธรรมแทบทั้งหมดของโลกไว้ในที่เดียวกัน ครั้งหนึ่งอังกฤษเคยได้ชื่อว่าเป็น “จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” ในอีกมุมหนึ่ง ร่องรอยของความยิ่งใหญ่ดังกล่าวได้ถูกจัดแสดงไว้ ณ ที่นี้ ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ที่อังกฤษจะนำเอา “สมบัติของชาติ” ของประเทศอื่นมาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของตน ยกตัวอย่างงานจัดแสดงที่สำคัญ เช่น Rosetta Stone ที่ไปขุดมาจากอียิปต์ กับชิ้นส่วนของ Acropolis ที่ยกทั้งแผงมาจากนครเอเธนส์ ประเทศกรีซ เป็นต้น เคยมีคนกล่าวว่า หากรัฐบาลอังกฤษคืนสิ่งของที่จัดแสดงให้ประเทศต้นทาง ใน British Museum อาจไม่หลงเหลืออะไรอยู่เลยก็ได้

โถงกลางของ British Museum, หน้าบานหนึ่งของวิหาร Parthenon และ หิน Rosetta (ที่มา: ผู้เขียนและ Egypt Independent)

2.2 Natural History Museum

ผมรู้สึกตื่นตาตั้งแต่เดินออกจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน South Kensington เมื่อเดินมาทาง Exhibition Road ถนนถูกปูด้วยหินอย่างดีแตกต่างจากถนนทั่วไป ซึ่งบอกชัดถึงการให้ความสำคัญแก่คนเดินเท้ามากกว่ารถยนต์ เมื่อเดินไปทางทิศเหนือ 2 แยก จะพบกับอาคารสไตล์ Victorian อยู่สองฟากฝั่งของถนน ซ้ายมือคือพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ หรือ Natural History Museum ขณะที่ขวามือคือพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับศิลปะ หรือ V&A Museum

อาคารสไตล์ Victorian ของ Natural History Museum (ที่มา: ผู้เขียน)
โครงกระดูกวาฬที่ห้อยอยู่ภายในห้องโถงหลัก (ที่มา: ผู้เขียน)

โครงกระดูกวาฬห้อยตระหง่านในอาคารสไตล์วิคตอเรียนดูต้องตาตรึงใจให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางมาที่นี่สักครั้งหนึ่ง ในอดีตเมื่อหลายปีก่อนโครงกระดูกไดโนเสาร์เคยตั้งอยู่ในห้องโถงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นโครงกระดูกวาฬห้อยลงมาจากเพดานราวกับพวกเรากำลังดำดิ่งลงไปในมหาสมุทรเมื่อหลายหมื่นหลายพันปีก่อน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของบ้านเรา แต่อยู่ในระดับที่กว้างและครอบคลุมกว่า

นอกจากสิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ แล้ว Natural History Museum ยังอยู่ติดกับ Science Museum ที่จัดแสดงวิทยาการและสิ่งประดิษฐ์ด้านต่างๆ เช่น บอลลูนและเครื่องบินในยุคแรกๆ ที่มนุษย์ใฝ่ฝันอยากจะบินขึ้นไปบนท้องฟ้า พาหนะสมัยสงครามโลก จรวดประเภทต่างๆ เป็นต้น ทั้งสองพิพิธภัณฑ์เชื่อมกันอย่างเป็นเนื้อเดียวกันจนผู้เข้าชมแทบไม่รู้สึกตัวเลยทีเดียวว่ากำลังเดินเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ 2 แห่งที่แยกกันอยู่

2.3 V&A Museum

V ย่อมาจาก พระนางเจ้าวิคตอเรีย (Victoria) ขณะที่ A คือ เจ้าชายอัลเบิร์ต (Albert) สามีของพระนางเจ้าวิคตอเรีย ทั้งสองพระองค์ครองราชย์ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์อังกฤษที่กลายเป็นจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินอย่างเต็มตัว อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมอินเดีย หลายพื้นที่ในเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ นอกจากโบราณวัตถุที่ส่วนใหญ่จัดแสดงที่ British Museum แล้ว งานศิลป์จำนวนมากยังถูกเก็บรักษาและจัดแสดงที่นี่ มีคอลเลคชันของผลงานศิลปะตั้งแต่ยุคคลาสสิค (Classical Period) จนถึงยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ซึ่งจัดได้ว่าพิพิธภัณฑ์ V&A เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีงานศิลปะอยู่มากที่สุดในโลก

2.4 Museum of London

ลอนดอนเป็นเมืองที่มีเรื่องเล่ามากมายจนต้องมีพิพิธภัณฑ์หนึ่งอุทิศให้กับเรื่องราวของเมืองโดยเฉพาะ พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองลอนดอนหรือ Museum of London แห่งนี้ บอกเล่าทุกมิติเกี่ยวกับเมืองเท่าที่พอจะนึกขึ้นได้ เมืองลอนดอนตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยโรมันในชื่อว่า Londinium เมืองผ่านการเปลี่ยนแปลงในยุคกลาง ยุคอุตสาหกรรม จนถึงยุคสมัยใหม่ พื้นที่ขยายขึ้นเรื่อยๆ สิ่งปลูกสร้างเปลี่ยนแปลงโฉมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เกิดโศกนาฏกรรมเช่น ไฟไหม้ใหญ่ (The Great Fire of London) ในปี ค.ศ. 1666 เมืองถูกทิ้งระเบิดโดยทหารเยอรมันในปฏิบัติการที่เรียกว่า The Blitz สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเมืองที่มีการต่อสู้เพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคมทั้งชนชั้นแรงงานและคนผิวสี เป็นเมืองที่จัดโอลิมปิก 3 ครั้ง (ปี ค.ศ. 1908 1948 และ 2012) ลอนดอนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และยังเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลงของประเทศอังกฤษและสหราชอาณาจักรได้เป็นอย่างดี

ด้านหน้า Museum of London (ที่มา: ผู้เขียน)

2.5 Tate Modern

หลายสิบปีมานี้เทรนด์ที่เรียกว่า Brownfield Development หรือก็คือการนำพื้นที่เก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาพัฒนาได้กลายเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามอง เช่น การเปลี่ยนโรงงานถลุงเหล็กให้เป็นศูนย์การค้าในเมืองพิตต์สเบิร์ก (Pittsburg) มลรัฐเพนซิลเวเนีย (Pensylvania) สหรัฐฯ กลับมาที่กรุงลอนดอน ณ ฟากหนึ่งของแม่น้ำเทมส์ บริเวณที่เชื่อมต่อกับสะพานมิลเลนเนียม (Millennium Bridge) อันเลื่องชื่อ โรงไฟฟ้าเก่า (Bankside Power Station) ถูกเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tate Modern จัดแสดงงานศิลปะสมัยที่ใหม่กว่าพิพิธภัณฑ์ V&A คือ ศิลปะของอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ในขณะที่ศิลปะของนานาชาติที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีตั้งแต่ยุคสมัยใหม่และร่วมสมัย (International Modern and Contemporary Art)

บรรยากาศภายใน Tate Modern ซึ่งมองเห็นเค้าโครงของโรงไฟฟ้าเก่า (ที่มา: ผู้เขียน)
ตัวอย่างการจัดแสดงงานศิลปะภายใน Tate Modern (ที่มา: ผู้เขียน)

2.6 Imperial War Museum (IWM)

อังกฤษเป็นประเทศที่แทบไม่เคยแพ้สงคราม อย่างน้อยๆ ก็ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ กระนั้นใช่ว่าอังกฤษจะไม่ได้รับความบอบช้ำจากการทำสงคราม IWM หรือพิพิธภัณฑ์สงครามแห่งนี้เก็บสะสมและบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้น IWM มีอยู่หลายที่ทั้ง IWM หลัก บริเวณ Lambeth North, HMS Belfast เรือรบที่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์และตั้งตระหง่านริมแม่น้ำเทมส์ใกล้ London Bridge รวมถึง Churchill War Rooms ห้องบัญชาการของวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณ Government Complex ติดกับ St James’s Park

IWM หลัก บริเวณ Lambeth North (ที่มา: ผู้เขียน)
โมเดลจำลองค่ายกักกันนักโทษ Auschwitz ในเยอรมนีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่มา: ผู้เขียน)
รูปปั้นเหยื่อที่จะเกิดขึ้นหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ สะท้อนความกลัวในช่วงทศวรรษ 1960
ซึ่งเป็นจุดที่น่ากลัวจุดหนึ่งของสงครามเย็น (ที่มา: ผู้เขียน)

2.8 The National Archive

The National Archive แปลตรงตัวคือหอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นชาติที่เข้าไปมีบทบาทกับประเทศต่างๆ และเป็นผู้เล่นหลักในการขีดเขียนประวัติศาสตร์โลก หลักฐานของเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างจึงถูกเก็บไว้ที่นี่ รวมถึงสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่เซอร์จอห์น เบาริ่ง ทำกับสยามสมัยรัชกาลที่ 4

ปกติแล้วสนธิสัญญาใดๆ จะมีอย่างน้อย 2 ฉบับ สำหรับสนธิสัญญาเบาว์ริ่งฉบับของฝ่ายสยามอยู่ที่หอจดหมายเหตุของประเทศไทยย่านเทเวศร์ ขณะที่สนธิสัญญาฯ ของฝ่ายจักรวรรดิอังกฤษถูกนำมาเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุที่ใกล้

Kew Garden แห่งนี้บรรยากาศด้านหน้า The National Archive (ที่มา: ผู้เขียน)
ภาพหน้าปกของสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่ทางอังกฤษเก็บไว้ (ที่มา: ผู้เขียน)

แต่กระนั้นการได้เข้าไปเยี่ยมชมเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ลักษณะนี้อาจทำไม่ได้โดยง่าย ผมได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์ชาวไทยท่านหนึ่งที่ SOAS ติดต่อกับคนไทยอีกท่านหนึ่งที่ทำงานอยู่ที่หอจดหมายเหตุที่อังกฤษแห่งนี้ แต่เข้าใจว่าหากต้องการเข้าถึงเอกสารจริงๆ สามารถทำเรื่องแจ้งความประสงค์มายัง The National Archive ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะอีกอย่างเอกสารเหล่านี้ ก็ผ่านเวลาล่วงเลยมาเกือบ 200 ปีแล้ว

2.9 British Library

British Library คือห้องสมุดสาธารณะที่คนทั่วไปสามารถสมัครสมาชิกเพื่อไปใช้บริการได้โดยภายในประกอบด้วยห้องอ่านหนังสือหลายห้อง Café ร้านอาหาร และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการในลักษณะพิพิธภัณฑ์ แม้ British Library จะได้ชื่อว่าเป็นห้องสมุด แต่ก็ทำหน้าที่เก็บของสำคัญไม่แพ้พิพิธภัณฑ์หรือหอจดหมายเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เอกสารสำคัญภาษาไทยที่ถูกเก็บไว้ที่ British Library อาทิ หนังสือพิมพ์ไทยเก่าๆ จดหมายเหตุและพงศาวดารของไทย ซึ่งเอกสารบางชิ้นไม่สามารถหาได้แล้วในประเทศไทย เช่น ตำราคชศาสตร์ พระมาลัย เป็นต้น

2.10 Bletchley Park

หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game (2014) จะรู้ว่าสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญอย่างไร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารทางทหารเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ยุทธวิธีในการรบ และการยกระดับกำลังการผลิตทั้งยุทธปัจจัยและเสบียง กองทัพอังกฤษพยายามหาวิธีในการถอดรหัสเครื่องเข้ารหัสของกองทัพเยอรมนีที่เรียกว่า อีนิกม่า (Enigma) โดยพยายามรวบรวมนักคณิตศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ เพื่อคิดค้นเครื่องจักรประมวลผลความเป็นไปได้นับล้านค้นหารหัสที่กองทัพเยอรมนีตั้งขึ้นแบบวันต่อวัน แอลัน ทัวริง (Alan Turing) บิดาของคอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งในนั้น

หลังจากล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายปี โปรเจคนี้ก็ประสบความสำเร็จ ทีมของแอลัน ทัวริง คิดค้นเครื่องจักร (ในภาพยนตร์เรียกว่า Christopher Machine ซึ่งเป็นชื่อของคนที่แอลันแอบชอบในวัยเด็ก แต่ในประวัติศาสตร์จริงเครื่องจักรนี้มีชื่อว่า Bombe Machine) ที่ทำให้กองทัพอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถถอดรหัสการสื่อสารทั้งหมดของกองทัพเยอรมนีและล่วงรู้ตำแหน่งทั้งหมดของกองทัพเยอรมนี ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตอบโต้ที่นำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในที่สุด

Bletchley Park คือสถานที่ที่เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้น Bombe Machine คือจุดเปลี่ยนของเครื่องจักรกลประมวลผลที่จัดได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นของคอมพิวเตอร์ในโลก

ผมประทับใจในความพยายามเหล่านี้ ภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game ให้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตกับผม ชีวิตของแอลันนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การทำงานเป็นทีมเพื่อคิดค้นเครื่องจักรที่โลกไม่เคยมีมาก่อนไม่ใช่เรื่องง่าย เขาต้องทะเลาะกับลูกทีม ปะทะประสานความคิดแถมยังมีเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง แอลันเป็นคนรักเพศเดียวกันซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับแม้ในสังคมอังกฤษในสมัยนั้น ซึ่งภายหลังสงครามจบไม่กี่ปี แอลันก็ฆ่าตัวตาย

ผมหลงใหลในเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทั้งในระดับชีวิตมนุษย์และนัวตกรรมระดับโลก ผมนั่งรถไฟจากสถานี Euston ไปยังสถานี Bletchley ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของลอนดอนก่อนถึงเมือง Milton Keynes 1 สถานี ใน Bletchley Park นั้นประกอบไปด้วยอาคารหลายหลังจัดแสดงเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเป็นการนำพื้นที่การทำงานจริงระหว่างสงครามโลกมาจัดแสดง

รูปปั้น Alan Turing ที่เปรียบกับการซ้อนเป็นชั้นๆ ของข้อมูลจำนวนมหาศาล (ที่มา: ผู้เขียน)

3. สรุป

การท่องเที่ยวเป็นเรื่องของรสนิยม บางคนชอบความหรูหรา บางคนชอบความบ้านๆ บางคนชอบเมือง ขณะที่บางคนชอบธรรมชาติ บทความนี้อยากนำเสนอว่าการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และการท่องเที่ยวในพิพิธภัณฑ์เปรียบเสมือนการท่องเที่ยวไปในกาลเวลา ทำให้เรารู้ที่มาที่ไปของสถานที่นั้นๆ ของเมืองนั้นๆ ของประเทศนั้นๆ และของยุคสมัยต่างๆ ที่เราสนใจได้ดีขึ้น โดยปกติแล้วหากเดินทางมาอังกฤษก็ควรจะมาตั้งต้นที่ลอนดอนซึ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ไม่ยาก ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องของพิพิธภัณฑ์ในสก๊อตแลนด์ ผมจับ (Catch) รถไฟจากลอนดอนสถานี Euston ขึ้นไปทางตอนเหนือ ด้วยเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ภาพที่เห็นทำให้ผมกลับมามองอังกฤษที่ผมเคยรับรู้ในมุมใหม่อีกครั้ง จนกว่าจะถึงตอนหน้า ขอให้ทุกท่านจงมีความสุข ไว้เจอกันครับ

วณัช  บัณฑิตาโสภณ

วณัช บัณฑิตาโสภณ
เศรษฐกรปฏิบัติการ สำนักนโยบายการคลัง
ผู้เขียน