การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายสวัสดิการสังคม:กรณีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายสวัสดิการสังคม:กรณีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

บทความโดย
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล

บทสรุปผู้บริหาร

ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) คือ เครื่องมือในการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้จ่ายรัฐบาล (หรือการลดอัตราภาษี) ว่าเงินที่รัฐบาลใช้ในการดำเนินนโยบายการคลังก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นกี่เท่าของเงินตั้งต้น

ทั้งนี้ หากใช้แนวคิดตัวคูณทางการคลังในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายสวัสดิการสังคม กรณีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่า ตัวคูณทางการคลังของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้การคำนวณแบบเศรษฐกิจเปิด (Opened Economy) ในสถานการณ์ปกติตัวคูณทางการคลังมีค่า 1.74 เท่า ขณะที่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีค่า 2.50 เท่า สะท้อนความมีประสิทธิภาพของนโยบายการคลังในช่วงวิกฤต

ดังนั้น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสในสังคม และลดความเหลื่อมล้ำแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย (Target) ตามวัตถุประสงค์ของโครงการแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหภาคในภาพรวมและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้อีกด้วย

1.บทนำ

โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการฯ) ที่เริ่มครั้งแรกในปี 2559 และครั้งที่ 2 ในปี 2560 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกของบุคคลที่มาลงทะเบียน เพื่อให้การจัดสรรสวัสดิการของหน่วยงานภาครัฐมีประสิทธิภาพสูงสุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย (Target) โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพ ซึ่งส่งผลให้การกระจายรายได้ของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ล่าสุดในปี 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการฯ และมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีการลงทะเบียนใหม่ (โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565) มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการสังคมของภาครัฐให้แก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้สิทธิได้ตามวงเงินในบัตร โดยที่ผ่านมาผู้มีรายได้น้อยมักใช้สิทธิประโยชน์ค่อนข้างเต็มวงเงินคือ สิทธิประโยชน์ในการซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐเป็นหลัก บทความฉบับนี้จึงต้องการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้ถือบัตรสวัสดิการว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร

2.แนวคิดการคำนวณตัวคูณทางการคลัง กรณีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

2.1 ความโน้มเอียงในการบริโภคหน่วยที่เพิ่มขึ้น (Marginal Propensity to Consume: MPC) ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบปิด (Closed Economy)

John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้เขียนทฤษฎีแนวคิดทฤษฎีการบริโภค อธิบายโดยสรุปได้ว่า รายได้ที่ใช้จ่ายได้หรือรายได้หลังหักภาษี (Disposable Income) ของบุคคล จะถูกแบ่งออก 2 ส่วน คือ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนหนึ่งและการออมอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจะถูกใช้จ่ายเพื่อบริโภค อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเงินออม โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้ใช้ความโน้มเอียงในการบริโภคหน่วยที่เพิ่มขึ้น (Marginal Propensity to Consume: MPC) เป็นเครื่องมือในการวัดค่าของการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของรายได้ 1 หน่วย ทั้งนี้ พฤติกรรมการบริโภคของประชาชนจะมีความแตกต่างกันไปตามระดับรายได้ กล่าวคือ MPC ของผู้มีรายได้สูงจะมีค่าต่ำกว่า MPC ของผู้มีรายได้น้อย เนื่องจาก ผู้มีรายได้น้อยนั้นการจัดหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของตัวเองและครอบครัว ย่อมมีความสำคัญและจำเป็นมากกว่าการออมและการลงทุน ในทางตรงกันข้ามผู้มีรายได้สูงจะบริโภคลดลงและออมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตนเองและครอบครัวมีปัจจัยพื้นฐานที่เพียงพอต่อการดำรงชีพแล้ว

หากใช้หลักความโน้มเอียงในการบริโภคหน่วยที่เพิ่มขึ้น ในกรณีของผู้มีรายได้น้อยนั้นย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าคนที่มีรายได้สูง จากการคำนวณ MPC โดยอาศัยข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน (Household Socio-Economic Survey: SES) ล่าสุดปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยกำหนดให้ค่า MPC คำนวณจากรายได้หลังหักภาษี (Disposable Income Income) ซึ่งเป็นรายได้ที่หักภาษีเงินได้ ภาษีบำรุงท้องที่ และค่าบริการทางการเงินและค่าธรรมเนียม ขณะที่รายจ่ายคำนวณเฉพาะรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค

ผลการศึกษา พบว่า ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย (Quintile 1) มีค่า MPC เท่ากับ 0.78 แปลว่า หากครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น 100 บาทจะทำให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น 78 บาท แต่สำหรับครัวเรือนรายได้สูง (Quintile 5) MPC มีค่า 0.19 แสดงว่าหากครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น 100 บาทก็จะบริโภคเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอยู่ที่ 19 บาท เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อประชาชนมีรายได้มากขึ้น สัดส่วนรายได้ที่นำไปใช้บริโภคจะลดลง รายละเอียดดังรูปที่ 1 อย่างไรก็ดี งานศึกษาฉบับนี้สมมติให้ MPC ของประชาชนทั่วไปเท่ากับ MPC ของครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง (Quintile 3) หรือมีค่าเท่ากับ 0.63

รูปที่ 1 ความโน้มเอียงในการบริโภคหน่วยที่เพิ่มขึ้น (Marginal Propensity to Consume: MPC)
จำแนกตามระดับรายได้

ที่มา: ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ คำนวณโดยผู้เขียน

จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของผู้มีรายได้น้อยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ 99.9 ของวงเงินที่ได้รับทั้งหมด จึงกำหนดให้ MPC ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่ากับ 0.99 โดยอาศัยสมมติฐานว่าการซื้อสินค้าและบริการของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นเป็นอุปสงค์ใหม่ (New Demand) ดังนั้น การที่ผู้มีรายได้น้อยมีวงเงินในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 100 บาท ก็จะทำให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการที่เป็นส่วนเพิ่มใหม่มูลค่า 99 บาท

2.2 ความโน้มเอียงในการนำเข้าหน่วยที่เพิ่มขึ้น (Marginal Propensity to Import: MPM)

          ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Opened Economy) ภาคการค้าระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญ โดยการบริโภคของประชาชนนั้น นอกจากจะได้มาจากการผลิตในประเทศแล้ว ยังสามารถนำเข้าสินค้าเพื่อมาบริโภคได้เช่นกัน โดยเมื่อประชาชนในประเทศสั่งสินค้านำเข้ามาจะต้องชำระค่าสินค้า ทำให้ปริมาณเงินตราต่างประเทศลดลง และรายได้ลดลง ถ้าต้องการพิจารณาว่าเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะทำให้ปริมาณสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นเท่าใด ค่าที่ได้นี้เรียกว่าความโน้มเอียงในการนำเข้าสินค้าหน่วยที่เพิ่มขึ้น (Marginal Propensity to Import : MPM)

ในกรณีของประชาชนทั่วไป จากการวิเคราะห์ด้วยตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต พบว่า ค่า MPM เท่ากับ 0.18 ขณะที่กรณีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การคำนวณ MPM นั้นจะพิจารณาจากรายการสินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อในร้านธงฟ้าประชารัฐ โดยงานศึกษาของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนใหญ่ซื้อข้าวสารสูงถึงร้อยละ 25.2 ของค่าใช้จ่าย รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์ซักผ้าและของใช้ประจำวันที่มีสัดส่วนร้อยละ 13.8 และ 12.1 ตามลำดับ รายละเอียดดังรูปที่ 2 ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนการนำเข้าสินค้า (Import Content) ของสินค้าผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อในร้านธงฟ้าประชารัฐผ่านการวิเคราะห์ด้วยตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต พบว่า อาหารแห้ง ผลิตภัณฑ์ซักผ้า และของใช้ในชีวิตประจำวัน มีสัดส่วนการนำเข้าสูงเป็น 3 ลำดับแรก โดยมีสัดส่วนการนำเข้าที่ร้อยละ 41.5 34.2 และ 29.8 ตามลำดับ เมื่อนำข้อมูลทั้งสองชุดมาคำนวณค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก จะได้ค่า MPM ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่ากับ 0.15 รายละเอียดดังตารางที่ 1 ดังนั้น ผลการวิเคราะห์จึงชี้ให้เห็นว่า MPM ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่ำกว่า MPM ของประชาชนทั่วไป

รูปที่ 2 สัดส่วนรายการสินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อในร้านธงฟ้าประชารัฐ

ที่มา: โครงการกิจกรรมยกระดับศักยภาพร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐในการติดตาม
       ผลการดำเนินโครงการธงฟ้าประชารัฐ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

ตารางที่ 1 ความโน้มเอียงในการนำเข้าหน่วยที่เพิ่มขึ้นของผู้ถือบัตรสวัสดิการใช้ซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐ

ที่มา: ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ล่าสุดปี 2558 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คำนวณโดยผู้เขียน

3.การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้เศรษฐกิจแบบเปิด (Opened     Economy) โดยพิจารณาปัจจัยการบริโภคภายในประเทศและการนำเข้าสินค้าประกอบการคำนวณ

ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) คือ การวิเคราะห์การใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นนั้น (หรือการลดอัตราภาษี) จะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเท่าใด โดยเมื่อภาครัฐให้วงเงินให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินดังกล่าวจะโอนเงินจากรัฐบาล (Transfer) ไปสู่ประชาชนผู้ถือบัตร ความต้องการซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายจะยังไม่เพิ่มขึ้น และ GDP ยังคงเดิม โดยเงินจะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อผู้ถือบัตรนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ โดยอาศัยสมมติฐานว่าการซื้อสินค้าและบริการนั้นเป็นอุปสงค์ใหม่ (New Demand) ในระบบเศรษฐกิจ ตามสัดส่วน MPC และ MPM ที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภค การนำเข้า และ GDP เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ รายจ่ายเงินโอนดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อรอบหมุนเวียนการใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนี้

รอบที่ 1 ภาครัฐให้วงเงินแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือเป็นเงินโอนจากรัฐบาลไปยังผู้ถือบัตรสวัสดิการความต้องการสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายจะยังไม่เพิ่มขึ้น GDP ยังคงเดิม

รอบที่ 2 ประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการจับจ่ายซื้อสินค้าซึ่งจะเกิดจะบริโภคและนำเข้าตามสัดส่วน MPC และ MPM ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ (GDP) ขึ้น

รอบที่ 3 เมื่อประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้จ่าย และผลักดันให้ GDP สูงขึ้นในรอบก่อนหน้าทำให้รายได้ประชาชนทั่วไปในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จึงเกิดการบริโภคและนำเข้าเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน MPC และ MPM ทำให้มีเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจส่งผลให้ GDP เพิ่มสูงขึ้น

รอบถัดไป เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในรอบที่ 3 อย่างไรก็ดี ค่าตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ตั้งแต่รอบที่ 10 มีแนวโน้ม (Converge) เข้าสู่ 0 ทั้งนี้ สามารถสรุปการหมุนเวียนของเงินและการใช้จ่ายในรอบต่าง ๆ ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รายละเอียดดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 การหมุนเวียนของเงินและการใช้จ่ายในรอบต่าง ๆ ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ที่มา : คู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP โดยตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers)
         สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ภายใต้สมมุติฐาน MPC และ MPM ที่กล่าวมาข้างต้น หากการคำนวณดำเนินต่อไปหลายๆ รอบ สามารถคำนวณค่าตัวคูณทางการคลัง กรณีสถานการณ์ปกติ ได้เท่ากับ 1.74 เท่า นั้นหมายความว่า การที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้หรือการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้น 100 บาท จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 174 บาท รายละเอียดดังตารางที่ 3

ตารางที่ 3 การคำนวณค่าตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกรณีสถานการณ์ปกติ

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

หมายเหตุ: สมมติฐานในการคำนวณ ค่าตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กรณีสถานการณ์ปกติ มีรายละเอียดดังนี้

  • ค่า MPC ของประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือ a เท่ากับ 0.99 (คำนวณจากข้อมูลของ กองนโยบายภาษีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)
  • ค่า MPC ของประชาชนทั่วไป หรือ b เท่ากับ 0.63 (คำนวณจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
  • ค่า MPM ของประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือ c เท่ากับ 0.15 (คำนวณจากข้อมูลการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้ซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐ และคิดสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต)
  • ค่า MPM ของประชาชนทั่วไป หรือ d เท่ากับ 0.18 (คำนวณจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตล่าสุดปี 2558 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
  • ∆ คือ การเปลี่ยนแปลง, ∆GDP = ∆C + ∆I+ ∆G+ ∆X- ∆M

4.เปรียบเทียบการคำนวณค่าตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ภายใต้เศรษฐกิจแบบเปิด(Opened Economy) ของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กับสถานการณ์ปกติ

ประสิทธิภาพของนโยบายการคลังในกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ล่าสุดปี 2565 ที่ศึกษาค่าตัวคูณทางการคลังของ 91 ประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ค่าตัวคูณทางการคลังหลังจากสถานการณ์โควิด-19 จะสูงกว่าสถานการณ์ทั่วไปถึงสองเท่า ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา          

ทั้งนี้ หากคำนวณค่าตัวคูณทางการคลังของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเปรียบเทียบระหว่างช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 -ไตรมาสที่ 3 ปี 2564) และสถานการณ์ปกติ (ไตรมาสที่ 4 ปี 2564-ปัจจุบัน)จะพบว่าตัวคูณทางการคลังในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะสูงถึง 2.50 เท่า ซึ่งหมายความว่า วงเงินที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับเพิ่มขึ้น 100 บาท จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 250 บาท เนื่องจากในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ภาคเอกชนจะชะลอการลงทุน สภาพคล่องทางการเงินในตลาดการเงินจะอยู่ในระดับสูง ภาครัฐจึงสามารถดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ โดยไม่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ตัวคูณทางการคลังในช่วงดังกล่าวจึงมีค่าสูงกว่าสถานการณ์ปกติ รายละเอียดของสมมติฐานและค่าตัวคูณทางการคลัง สรุปได้ดังตารางที่ 4

ตารางที่ 4 เปรียบเทียบการคำนวณค่าตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ภายใต้เศรษฐกิจแบบเปิด
(Opened Economy) ของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กับสถานการณ์ปกติ

ที่มา: คำนวณโดยผู้เขียน

หมายเหตุ: สมมติฐานในการคำนวณ ค่าตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ของโครงการบัตรสวัสดิการ
แห่งรัฐ กรณีสถานการณ์โควิด-19 มีรายละเอียดดังนี้

  • ค่า MPC ของประชาชนทั่วไป ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สมมติให้เท่ากับ MPC ของครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยเท่ากับ 0.78 เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งอาจจะทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้โดยทั่วไป ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวการดำเนินนโยบายการคลังมักจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขณะที่ในช่วงสถานการณ์ทั่วไป สมมติให้เท่ากับ MPC ของครัวเรือนผู้มีรายได้ปานกลาง (Quintile ที่ 3) เท่ากับ 0.63 (คำนวณจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
  • ค่า MPC ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้เท่ากับ 0.99 ทั้งช่วงสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ทั่วไป (ข้อมูลจากกองนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)
  • MPM ของประชาชนทั่วไปและผู้ถือบัตรสวัสดิการในสถานการณ์โควิด-19 สมมติให้ลดลงร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทั่วไป อ้างอิงจากข้อมูลการนำเข้าสินค้าปี 2563 ที่ลดลงประมาณร้อยละ 10.0 ต่อปี (คำนวณจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตล่าสุด ปี 2558 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมการค้าภายใน และธนาคารแห่งประเทศไทย

5.บทสรุป

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นการดำเนินนโยบายการคลังแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย (Targeted Policy) เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และรักษาการใช้จ่ายของครัวเรือน ผ่านการเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ รวมทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือในการการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างทั่วถึงและตรงจุด

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะพบว่า ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้การคำนวณแบบเศรษฐกิจเปิด (Opened Economy) พบว่า ในสถานการณ์ปกติตัวคูณทางการคลังมีค่า 1.74 เท่า ขณะที่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีค่า 2.50 เท่า สะท้อนความมีประสิทธิภาพของนโยบายการคลังในช่วงวิกฤต อย่างไรก็ตาม การคำนวณข้างต้นเป็นเพียงการคำนวณอย่างง่ายเบื้องต้นและมีสมมติฐานประกอบค่อนข้างมาก หากสมมติฐานของ MPC และ MPM เปลี่ยนไปหรือวิธีคำนวณเปลี่ยนไปย่อมส่งผลต่อผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปได้

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน