ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของพื้นที่ EEC ตอนที่ 1

ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของพื้นที่ EEC ตอนที่ 1

บทความโดย
ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ
ดร. กวิน เอี่ยมตระกูล
สัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
ปภัช สุจิตรัตนันท์

1.ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ EEC

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งเป็นที่รู้จักกว่า 30 ปีที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่า Eastern Seaboard โดยโครงการ EEC มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ทั้งด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศและเพิ่มความขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในระยะยาว เมื่อพิจารณา เศรษฐกิจพื้นที่ EEC หรือ Gross Province Productล่าสุด ปี 2563 มีมูลค่า 2,095,357 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.0 ของเศรษฐกิจภาคตะวันออก และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 ของประเทศ โดยโครงสร้างเศรษฐกิจของ EEC ถูกขับเคลื่อนจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ด้วยสัดส่วนสูงร้อยละ 67.0 ของเศรษฐกิจ EEC โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 51.5 รองลงมา คือ ภาคบริการมีสัดส่วนร้อยละ 29.8 ของเศรษฐกิจ EEC  โดยเฉพาะสาขาค้าส่งค้าปลีกที่มีสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของเศรษฐกิจ EEC อย่างไรก็ดี แรงงานผู้มีงานทำในพื้นที่ EEC มีจำนวน 2.07 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการสูงถึง 1.09 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 53 ของผู้มีงานทำใน EEC รายละเอียดดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 โครงสร้างเศรษฐกิจ EEC ปี 2563 และผู้มีงานทำในพื้นที่ EEC ไตรมาส 4 ปี 2563

ที่มา: สำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานสถิติแห่งชาติ

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ EEC ในปี 2563 พบว่า หดตัวที่ร้อยละ -7.0 ต่อปี จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลให้สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการหดตัวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มีสาขาเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร และสาขาประปาและการจัดการของเสียที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 และ 9.7 ต่อปี ตามลำดับ รายละเอียดดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจพื้นที่ EEC ปี 2559-2563 และแนวโน้มปี 2564-2566

ที่มา: สำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
หมายเหตุ: คาดการณ์ ณ มีนาคม 2566

แม้ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจ EEC จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หลังจากนี้คาดว่าเศรษฐกิจ EEC จะทยอยฟื้นตัวอย่างเนื่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)  ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ EEC ในปี 2566 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ว่าปี 2566 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.2-3.8 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการบริการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการเดินทางระหว่างประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นและนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี จากรายได้เกษตรกรและภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ตลอดจนทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ความผันผวนในตลาดการเงินโลกจากการปรับขึ้นจากที่ประเทศเศรษฐกิจหลักได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด และแรงขับเคลื่อนจากใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มลดลงตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทยอยสิ้นสุดลง

2.ความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ของครัวเรือน EEC

ในการพิจารณาความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของพื้นที่ EEC นอกจากจะพิจารณาในมุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับประเด็นความเหลี่อมล้ำและการกระจายรายได้ประกอบด้วย ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในประเทศไทยล่าสุด ปี 2564 แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนใน EEC มีการพึ่งพารายได้ของตนเอง การใช้จ่ายและการถือครองสินทรัพย์ที่เท่าเทียม และภาระการชำระหนี้ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายละเอียดดังนี้

ในส่วนของมิติด้านรายได้ ครัวเรือนทุกระดับรายได้ในพื้นที่ EEC มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการทำงาน แม้แต่ครัวเรือนรายได้น้อยก็เช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากครัวเรือนรายได้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินและรายได้จากเงินช่วยเหลือ สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนในพื้นที่ EEC มีความเข้มแข็ง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงรายได้จากรัฐบาลเป็นหลัก นอกจากนี้ หากพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ของพื้นที่ EEC พบว่า ในปี 2564 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 แม้ว่ารายได้ประจำเฉลี่ยต่อคนในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นจาก 13,998 บาทในปี 2562 เป็น 14,487 ในปี 2564 แสดงถึงการเติบโตที่ทั่วถึง รายละเอียดดังรูปที่ 3

รูปที่ 3 องค์ประกอบของรายได้และค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ของครัวเรือนในพื้นที่ EEC

ที่มา: ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ วิเคราะห์โดยคณะผู้เขียน

หมายเหตุ: รายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน (รวมเงินที่รัฐอุดหนุน) เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ นมโรงเรียน เงินจากรัฐที่เข้าแอปเป๋าตัง การลดค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า เป็นต้น

รายได้จากแหล่งอื่น/ เงินช่วยเหลือ เช่น เงินได้จากประกันชีวิต เงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน เงินเยียวยาโควิด19 เงินชดเชยออกจากงาน เงินชดเชยโควิด เป็นต้น

ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Index) เป็นเครื่องมือในการวัดความไม่เท่าเทียม ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 0 กับ 1 ยิ่งค่าเข้าใกล้ 1 มากเท่าไร แสดงว่าความไม่เท่าเทียมกันยิ่งมีมากขึ้น

* การคำนวณสัมประสิทธิ์ด้านรายได้จากรายได้ประจำ ที่ไม่รวมรายรับอื่น ๆ (เช่น เงินทุนการศึกษา มรดก พินัยกรรม ของขวัญ ประกันสุขภาพ ประกันภัยและประกันชีวิต/ประกันสังคม เงินถูกสลาก เงินรางวัล ค่านายหน้าและเงินได้จากการพนัน เป็นต้น)

ขณะที่มิติด้านรายจ่าย ครัวเรือนรายได้น้อยมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ไปกับสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและเครื่องดื่ม และที่อยู่อาศัย มากกว่าครัวเรือนรายได้สูง ในขณะที่ สัดส่วนการใช้จ่ายหมวดพลังงานค่อนข้างคล้ายคลึงกันในครัวเรือนทุกระดับรายได้ ส่วนการใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การเดินทาง สื่อสาร และสุขภาพ เป็นต้น ครัวเรือนรายได้น้อยจะใช้จ่ายเป็นสัดส่วนน้อยกว่าครัวเรือนรายได้สูง นอกจากนี้ หากพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคของพื้นที่ EEC พบว่า ในปี 2564 ปรับตัวลดลงทั้งภาพรวม และพื้นที่ในเขตและนอกเขตเทศบาล สะท้อนการกระจายด้านรายจ่ายที่ดีขึ้น รายละเอียดดัง รูปที่ 4

รูปที่ 4 องค์ประกอบของรายจ่ายและค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายจ่ายของครัวเรือนในพื้นที่ EEC

ที่มา: ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ วิเคราะห์โดยคณะผู้เขียน
หมายเหตุ:  **การคำนวณสัมประสิทธิ์ด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (เช่น ภาษี เงินบริจาค เงินทำบุญ ค่าเบี้ยประกัน สลากกินแบ่ง ดอกเบี้ยแชร์ ฯลฯ)

อย่างไรก็ดี หากมองในมิติด้านทรัพย์สินในพื้นที่ EEC ก็มีความเข้มแข็งในมิติดังกล่าวเช่นกัน แม้ว่าสัดส่วนสินทรัพย์ของครัวเรือน EEC มีรูปแบบคล้ายกันกับระดับประเทศ อย่างไรก็ดี แม้ว่าสินทรัพย์เฉลี่ยต่อคนในพื้นที่ EEC จะเพิ่มขึ้นจาก 524,257 บาท ในปี 2562 เป็น 529,972 บาท ในปี 2564 แต่ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านความมั่งคั่งสุทธิ (Net Wealth) กลับปรับลดลง แสดงถึงความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง รายละเอียดดังรูปที่ 5

รูปที่ 5 องค์ประกอบของสินทรัพย์และค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านสินทรัพย์ของครัวเรือนในพื้นที่EEC

ที่มา: ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ วิเคราะห์โดยคณะผู้เขียน

หมายเหตุ  ***การคำนวณสัมประสิทธิ์ด้านความมั่งคั่งสุทธิจากผลต่างระหว่างสินทรัพย์รวมและหนี้สินรวม
สินทรัพย์ประกอบด้วย  1) มูลค่า บ้าน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง 2) มูลค่า ยานพาหนะ (ครัวเรือนเป็นเจ้าของ) และ 3) มูลค่า สินทรัพย์ทางการเงิน (บาท)
หนี้สิน จำแนกตามวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม ประกอบด้วย 1) ใช้ซื้อ/เช่าซื้อบ้าน และ/หรือ ที่ดิน 2) ใช้ในการศึกษา
3) ใช้จ่ายอุปโภคบริโภคอื่นๆ ในครัวเรือน 4) ใช้ในการทำธุรกิจ 5) ใช้ในการทำการเกษตร และ 5) อื่น ๆ

นอกจากนี้ หากพิจารณามิติด้านการชำระหนี้ มักมีคำถามว่าในแต่ละเดือนควรมีหนี้แค่ไหนถึงจะเรียกว่าปลอดภัย ซึ่งเครื่องมือที่ใช้วัดว่าหนี้ระดับไหนถึงปลอดภัย เรียกว่า อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวม (Debt to Income Ratio : DTI) ซึ่งตามหลักสากลอัตราส่วนภาระหนี้สินต่อรายได้รวมไม่ควรเกินร้อยละ 30 ของรายได้ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ครัวเรือน EEC มีหนี้สินในสัดส่วนที่ต่ำกว่าระดับประเทศ ขณะที่ภาระในการชำระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน EEC ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 20.7 ซึ่งต่ำกว่าระดับประเทศและต่ำกว่าเกณฑ์สากลโดยทั่วไปควรอยู่ที่ราวไม่เกินร้อยละ 30 แสดงให้เห็นว่า ภาระในการชำระหนี้ของครัวเรือนยังไม่เป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ ครัวเรือน EEC จึงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ รายละเอียดดังรูปที่ 6

รูปที่ 6 หนี้ครัวเรือนและหนี้สินสินต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน EEC

ที่มา: ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ วิเคราะห์โดยคณะผู้เขียน
หมายเหตุ: ข้อมูลที่นำมาใช้คำนวณเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้ และมีการชำระหนี้ ขณะที่รายได้คำนวณจากรายได้หลังหักภาษี  (Disposable Income) ซึ่งไม่นับรวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ ภาษีบำรุงท้องที่ ค่าบริการทางการเงินและค่าธรรมเนียม          

3.บทสรุป

          จากการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ของพื้นที่ EEC จะพบว่า เศรษฐกิจ EEC มีความเข็มแข็ง ทำให้ EEC เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมแรงจูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น ในระยะถัดไป หากประเทศไทยต้นการหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง นอกจากจะต้องเร่งปรับโครงสร้างด้านการลงทุนให้สอดคล้องกับบริบทของโลกแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับปรับทักษะแรงงาน โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ของแรงงานให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต้องมีการปฏิรูปกฎระเบียบของภาครัฐ เน้นการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ตลอดจนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย ก็จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง สมดุล และยั่งยืน  ทั้งนี้ ในบทความตอนที่ 2 คณะผู้เขียนจะกล่าวถึงความพร้อมด้านปัจจัยพื้นทางเศรษฐกิจของพื้นที่ EEC ต่อไป โปรดติดตาม

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวปภัช สุจิตรตนนท์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน