มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

บทความโดย จารุพัสตร์ พลทรัพย์

ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกแบบเสรีนิยม มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรีมากขึ้นมีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2523 มีการลงทุนของต่างประเทศรวมทั่วโลกประมาณ 50 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มเป็น 2.09 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 โดยมูลค่าการลงทุนของต่างประเทศมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจนเริ่มมาทดแทนมูลค่าทางการค้า

ภาพจาก เว็บไซต์ สำนักงาน EEC

การเกิดเขตการค้าเสรี(Free Trade Area) เขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone) ซึ่งอุตสาหกรรมส่งออกดังกล่าวมุ่งเน้นกิจกรรมการผลิตเพื่อส่งออก และการบริหารจัดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรในเขตอุตสาหกรรมส่งออกจะเป็นการบริหารจัดการโดยภาครัฐเท่านั้น โดยภายหลังเมื่อมีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น การเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประกอบกับมีความต้องการใช้แรงงานและวัตถุดิบท้องถิ่น (Local Content) และการผลิตเพื่อใช้ในประเทศร่วมด้วย อีกทั้งข้อจำกัดในการห้ามอุดหนุนสินค้าส่งออกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) จึงทำให้เกิดแนวความคิดในการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษเพื่อส่งเสริมให้การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษให้มีความพิเศษมากยิ่งขึ้นกว่าเขตการค้าเสรีและเขตอุตสาหกรรมส่งออก โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้แล้วยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภายในเขตพัฒนาพิเศษอีกด้วย

เขตพัฒนาพิเศษเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของนโยบายที่จะตอบสนองความต้องการที่จำเพาะของประเทศ และเป็นนโยบายที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว โดยการออกกฎหมายกำหนดพื้นที่ของเขตพัฒนาพิเศษ และการให้สิทธิประโยชน์ผ่านทางมาตรการภาษี รวมทั้งนโยบายด้านแรงงาน เพื่อให้พื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษมีความพร้อมต่อการลงทุน ดึงดูดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษแล้วประมาณ 3,000 แห่ง ใน 120 ประเทศ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวม 600 ล้านเหรียญสหรัฐและมีการจ้างงาน ประมาณ 50 ล้านคน

ประเทศที่ได้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษ โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ส่วนกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วไม่พบการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษ เนื่องจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ได้วางระบบการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และเมื่อมีปัญหาจะเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง หรือมีการจัดตั้งเฉพาะส่วนของนิคมอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษในอดีตมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่มิใช่เขตพัฒนาพิเศษ แต่จัดตั้งขึ้นเพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

ส่วนในประเทศไทยได้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง สำหรับกิจการเป้าหมายซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ สร้างประโยชน์อย่างสูงต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องเป็นอุตสาหกรรมประเภทใหม่ที่ไม่เคยมีการผลิตหรือการให้บริการในประเทศมาก่อน หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่หรือใช้ความรู้ในการผลิตขั้นสูงเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรม ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (คณะกรรมการนโยบายฯ) ประกาศกำหนด

มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หากแบ่งตามประเภทของกฎหมายที่ให้การส่งเสริมการลงทุนใน EEC มี 4 กฎหมาย คือ

1) พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561

2) พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560

3) พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 641) พ.ศ. 2560 และ

4) ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 3/2561 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งกฎหมายข้างต้นได้มีการให้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้การลงทุนและการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นไปตามวัตถุประสงค์*
*ภายหลังปรับปรุงเป็น ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 6/2561

โดยสามารถสรุปสิทธิประโยชน์ได้ ดังนี้

1. สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561

สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแบ่งออกเป็น 1) สิทธิประโยชน์สำหรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ 2) สิทธิประโยชน์สำหรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ ประกาศกำหนดตามมาตรา 40 โดยมีรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1.1 สิทธิประโยชน์สำหรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

1.1.1) การร่วมลงทุน

ในกรณีที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนดกระบวนการพิจารณาการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน และวิธีการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการตามกระบวนการและวิธีการดังกล่าวโดยให้ถือว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแล้ว (มาตรา 12)

1.1.2) การอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือให้สัมปทาน

คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือให้สัมปทานแก่บุคคลซึ่งดำเนินการอันเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนา EEC ตามกฎหมายดังนี้ 1) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของกระทรวงการคลัง 2) กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย 3) กฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวง 4) กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน 5) กฎหมายว่าด้วยทางหลวงสัมปทาน และ 6) กฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (มาตรา 37)

1.2 สิทธิประโยชน์สำหรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

1.2.1) สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

1) การยกเว้นและการลดหย่อนภาษีตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยศุลกากร ประมวลรัษฎากร และ พ.ร.บ. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

(1) ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษมีสิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (มาตรา 56)

(2) คณะกรรมการนโยบายฯ สามารถให้สิทธิและประโยชน์อื่นแก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (มาตรา 59(2))

(3) คณะกรรมการนโยบายฯ อาจกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดหรือบางรายได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน หรือเขตประกอบการเสรีด้วยก็ได้ (มาตรา 56 วรรคสอง)

2) ภาษีเงินได้

เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาประกอบกิจการหรือทำงานใน EEC บุคคลดังกล่าวรวมทั้งคู่สมรส บุพการี และบุตรที่อยู่อาศัยใน EEC อาจได้รับการลดหย่อนภาษีตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ ประกาศกำหนดก็ได้ (โดยลักษณะของบุคคลและสิทธิที่จะได้รับให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา) (มาตรา 51)

คณะกรรมการนโยบายฯ อาจประกาศให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกซึ่งประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมดหรือบางส่วนโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด (มาตรา 57) ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรดังกล่าวประกอบด้วย 1) การลดหรือยกเว้นอากรขาเข้า อากรขาออก 2) อนุมัติให้ใช้สิทธิประโยชน์เขตปลอดอากร สำหรับการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นในเขตปลอดอากร ซึ่งประกอบด้วย (1) การยกเว้นอากรขาเข้า (2) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และ (3) การยกเว้นภาษีสรรพสามิต (หากมี)

1.2.2) สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากร

1) การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด

(1) ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน (มาตรา 49)          

(2) ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการตามมาตรา 49 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ แต่มิได้มีการประกอบกิจการภายในเวลา 3 ปี หรือหยุดประกอบกิจการในที่ดินดังกล่าว ผู้ประกอบกิจการนั้นต้องจำหน่ายที่ดินดังกล่าวภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายฯ แจ้งให้ทราบ (มาตรา 50)

2) การเช่าหรือเช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์

(1) การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มิให้นำความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ (มาตรา 52)

 (2) การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงตามข้อ (1) ห้ามมิให้ทำสัญญาเช่าเป็นกำหนดเวลาเกิน 50 ปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็น 50 ปี การต่อสัญญาเช่าอาจทำได้แต่จะต่อสัญญาเกิน 49 ปีนับแต่วันครบ 50 ปีไม่ได้ (มาตรา 52 วรรคสอง)          

(3) หากคณะกรรมการนโยบายฯ มีมติให้นำที่ราชพัสดุมาใช้เพื่อประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าหรือให้เช่าช่วง ให้อำนาจทั้งปวงของกรมธนารักษ์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุนั้นเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายฯ แต่หากที่ราชพัสดุนั้นอยู่ในครอบครองของหน่วยงานรัฐอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากหน่วยงานรัฐนั้นก่อน โดยคณะกรรมการนโยบายฯ อาจกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายฯ แบ่งสัดส่วนรายได้ที่ได้รับจากการใช้ที่ราชพัสดุนั้นให้เป็นรายได้ของหน่วยงานของรัฐที่ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุนั้นอยู่เดิมหรือกรมธนารักษ์ก็ได้ (มาตรา 53)

3) การทำธุรกรรมทางการเงิน

ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

(1) ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด

 (2) สามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด 

โดยการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตาม (1) และ (2) ให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาตกลงร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน (มาตรา 58)

4) การเข้าเมืองของคนต่างด้าว
เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ คู่สมรส บุพการี และบุตร เข้ามาอยู่อาศัยใน EEC คณะกรรมการนโยบายฯ อาจประกาศให้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับการเข้าเมืองและการขออนุญาตทำงานก็ได้ (มาตรา 51)

5) การขออนุญาตประกอบวิชาชีพของคนต่างด้าว
ในกรณีที่การประกอบวิชาชีพใดมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพ หรือผู้ขออนุญาตต้องมีสัญชาติไทยหรือต้องได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองก่อนการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการนโยบายฯ อาจประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองให้ประกอบวิชาชีพนั้นในประเทศที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด สามารถประกอบวิชาชีพนั้นเพื่อกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ (มาตรา 59 (1))

6) การอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งตามกฎหมายเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ หรือเป็นผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมาย ดังนี้ 1) กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน 2) กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 3) กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร 4) กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข 5) กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เฉพาะเพื่อการอนุญาตให้คนต่างด้าวตามมาตรา 54 (1) หรือ (2) อยู่ต่อในราชอาณาจักร 6) กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ 7) กฎหมายว่าด้วยโรงงาน และ 8) กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน (มาตรา 43)

2. สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560

ผู้ได้รับการส่งเสริมอาจได้รับสิทธิและประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้

1) สิทธิและประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน แต่ไม่รวมถึงสิทธิและประโยชน์ในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล (มาตรา 23 (1))

2) สิทธิและประโยชน์ในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสําหรับกําไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามระยะเวลาที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายกําหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 15 ปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น (มาตรา 24)

3) สิทธิและประโยชน์ในการได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขนาด 10,000 ล้านบาท (มาตรา 30)

3.1) เป็นเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

3.2) เป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานของกองทุนตามที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายกําหนด              

ทั้งนี้ กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป

3. สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามประมวลรัษฎากร

พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 641) พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิจัยต่างชาติที่ทำงานใน EEC: ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ในการหักภาษี ณ ที่จ่าย และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 17 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการเป้าหมายและมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ซึ่งเมื่อคำนวณภาษีตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สูงกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ ทั้งนี้ กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป

4. สิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 3/2561

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 3/2561 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) เพื่อให้เกิดการลงทุนในกิจการเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ใน 3 กรณี ดังนี้
1) เขตส่งเสริมพิเศษเฉพาะทาง ได้แก่ เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล 2) เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ ประกาศกำหนด และ 3) นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม ทั้งนี้ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ซึ่งการลงทุนในกิจการเป้าหมายที่ตั้งในเขตส่งเสริมดังกล่าวจะได้รับสิทธิและประโยชน์ (หากปฏิบัติตามเงื่อนไข) โดยสรุปได้ ดังนี้

4.1 สิทธิประโยชน์สำหรับเขตส่งเสริมพิเศษเฉพาะทาง

1) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 2 ปี

2) ให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

4.2 สิทธิประโยชน์สำหรับเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

4.3 สิทธิประโยชน์สำหรับนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม

ให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ เป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

สรุป

เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง อันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและก้าวพ้นกับดักความยากจนต่อไป ซึ่งการดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาใน EEC นี้ ได้รับการสนับสนุนจากกฎหมายต่างๆ จำนวน 4 กฎหมาย ได้แก่ 1) พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 2) พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 3) พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 641) พ.ศ. 2560 และ 4) ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 3/2561 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

จารุพัสตร์ พลทรัพย์
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

อ้างอิง : ภาพประกอบจาก Facebook และเว็บไซต์ สำนักงาน EEC