บทความโดย
ดร.พนิดา ร้อยดวง
นายวิทวัส ขัดทาน
นายพีรวิชญ์ แก้วดี
บทคัดย่อ
ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรปัจจุบันสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ของประเทศต่าง ๆ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ความท้าทายดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างจำกัด และรัฐบาลอาจจำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณ ซึ่งจะทำให้เป็นภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น และจะส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต บทความนี้ได้ค้นคว้ารวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสารและงานวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งได้วิเคราะห์ผลกระทบของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านความยั่งยืนทางการคลัง และมิติด้านอันดับความน่าเชื่อถือ ตลอดจนได้ศึกษาแนวทางการรับมือกับสังคมสูงอายุของต่างประเทศประเทศต่าง ๆ เพื่อประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการรับมือในการเข้าสู่สังคมสูงอายุให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ผลการศึกษาพบว่า หากประเทศต่าง ๆ ไม่มีการปฏิรูปนโยบายการคลังที่เกี่ยวข้องกับประชากรสูงอายุการขาดดุลทางการคลังและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอาจเพิ่มโอกาสในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ สำหรับประเทศไทยปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้วและคาดว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged society) ภายในปี 2577 ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลผู้สูงอายุเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลังต่อไปในอนาคต โดยในระยะแรกรัฐบาลและภาคเอกชนควรเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) โดยการพัฒนาและยกระดับทักษะและศักยภาพการปฏิบัติงานของแรงงานปัจจุบัน ตลอดจนรัฐบาลควรจัดแผนการดูแลผู้สูงอายุและการบริหารหนี้สาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม และในระยะปานกลาง รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี โดยอาจจัดเก็บภาษีบางประเภทเพิ่มขึ้นในและนำเข้ากองทุนสำหรับการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ รวมถึงส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนพิจารณาขยายเวลาเกษียณอายุการทำงานสำหรับบุคลากรสูงอายุที่มีศักยภาพ ซึ่งจะลดปัญหาแรงงานขาดแคลนในอนาคต และลดภาระทางการคลังที่จะมีผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะต่อไป
คำสำคัญ: 1)สังคมผู้สูงอายุ 2) ภาระทางการคลัง 3) อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
1. บทนำ
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศต่าง ๆ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะนำข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งการคาดการณ์ในอนาคตมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการพิจารณาจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้กับประเทศนั้น ๆ ซึ่งปัจจัยที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือพิจารณา ได้แก่ ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ความแข็งแกร่งขององค์กรภาครัฐ ความแข็งแกร่งทางการคลัง และความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ความเสี่ยงหรือความเปราะบางของประเทศ โดยในระยะที่ผ่านมาความท้าทายจากปัญหาด้านโครงสร้างจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ของประเทศต่าง ๆ เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลักระดับสากล ได้แก่ S&P Global Rating, Moody’s และ Fitch Rating ได้ให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งความท้าทายดังกล่าวจะจำกัดการขยายตัวของเศรษฐกิจ และรัฐบาลอาจจำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต
ปัจจุบันกว่าร้อยละ 52.84[1] ของประเทศในโลกได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยองค์กรสหประชาชาติคาดว่าจำนวนประชากรสูงอายุจะอยู่ที่ระดับ 1 พันล้านคนและเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.6 พันล้านคนภายในปี พ.ศ. 2573 และ 2593 ตามลำดับ อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 ผู้สูงอายุทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านคน (องค์การสหประชาชาติ, 2566) ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาก คือ การพัฒนาคุณภาพทางการแพทย์ซึ่งทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดในประเทศกลับลดลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีบุตรน้อยลงมากเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน ดังนั้น สัดส่วนของประชากรสูงอายุจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก และนับว่าเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศต้องเผชิญและอาจได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบหลายประการ อาทิ ผลกระทบต่อกำลังแรงงงานและผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ตลอดจนผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายของรัฐบาล รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกปี ขณะที่รายได้ของรัฐบาลมีอยู่อย่างจำกัด สำหรับประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล อยู่ที่ร้อยละ 38-40 ของรายได้สุทธิ ดังนั้น หากสัดส่วนการพึ่งพิงผู้สูงอายุต่อประชากรวัยทำงาน (old-age dependency ratio) เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก จะสร้างท้าทายอย่างมากในการบริหารการคลังในอนาคต
ดังนั้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงเป็นสถานการณ์สำคัญที่รัฐบาลต้องวางแผนและเตรียมมาตรการและแผนงานเพื่อเกิดการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม บทความนี้ได้นำเสนอการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของโลกรวมถึงประเทศไทย ความท้าทายและผลกระทบมิติต่าง ๆ ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านการคลัง และมิติด้านอันดับความน่าเชื่อถือ โดยศึกษาจากแนวทางการรับมือจากประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการวาฃแผนหรือจัดทำมาตรการและแผนงานที่มีประสิทธิภาพ ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยนอกจากนี้ การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อเกิดประสิทธิผลและความยั่งยืนต่อไป
2. สถานการณ์สังคมสูงอายุของโลก
องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) นิยามระดับการเข้าสู่สังคมสูงวัย ดังนี้
ตารางที่ 1 ระดับการเข้าสู่สังคมสูงวัย
ระดับ | สัดส่วนประชากรสูงอายุ (ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) | สัดส่วนประชากรสูงอายุ (ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป) |
ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) | > ร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ | > ร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ |
สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) | > ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ | > ร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ |
สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) | > ร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ | > ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ |
จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกภูมิภาคของโลกจาก 260 ล้านคนในปี 2523 สู่ 761
ล้านคนในปี 2564 (แผนภาพที่ 1) และ UN คาดว่า จำนวนประชากรสูงอายุจะแตะระดับ 1 พันล้านคนและเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.6 พันล้านคนภายในปี 2573 และ 2593 ตามลำดับ อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 จะมีผู้สูงอายุทั่วโลกประมาณ 2.5 ล้านคน (องค์การสหประชาชาติ, 2566)
แผนภาพที่ 1 จำนวนประชากรของโลกและภูมิภาคที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ในปี 2523 2564 และ 2593 (หน่วย: ล้านคน)
องค์การสหประชาชาติคาดว่า ปี 2564 – 2593 ประชากรสูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลางและเอเชียใต้รวมกันจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 540 ล้านคน หรือมากกว่า 60% ของการเพิ่มขึ้นทั่วโลก ขณะที่ภูมิภาคแอฟริกาเหนือ เอเชียตะวันตก และแอฟริกาใต้สะฮารา จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุรวดเร็วที่สุด นอกจากนี้จำนวนประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไปทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าภายในปี 2593 จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 459 ล้านคน หรือประมาณ 3 เท่า จาก 155 ล้านคนในปี 2564
ปี 2564 ประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก พบว่า มีสัดส่วนประชากรสูงอายุ มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก จากการคาดการณ์ พบว่า ภายในปี 2593 เขตปกครองพิเศษฮ่องกงและเกาหลีใต้จะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะขึ้นไปเป็นลำดับที่ 1 และ 2 ของโลกด้วยสัดส่วนประชากรสูงอายุที่ 40.6% และ 39.4% ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลกแทนที่ภูมิภาคยุโรป และอเมริกาเหนือ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ อัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility Rates) ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยหรืออายุขัยเมื่อแรกเกิดของประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่าง นอกจากนี้สัดส่วนประชากรอายุน้อยต่อประชากรทั้งหมดปี 2593 มีแนวโน้มลดลงเป็น 28% จาก 33% ในปี 2564 โดยภูมิภาคยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จะเข้าสู่การมีประชากรสูงอายุในสัดส่วนสูงภายในปี 2593 ขณะที่ภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน และภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียใต้จะเข้าส่สังคมผู้สูงอายุ ภายในปี พ.ศ.2603 และ 2623 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา แอฟริกาเหนือ เอเชียตะวันตก และโอเชียเนีย (ไม่รวมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) จะยังคงมีประชากรอายุน้อยในสัดส่วนสูงจนสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 (ปี 2643) (แผนภาพที่ 3)
แผนภาพที่ 3 สัดส่วนประชากรของโลก
3. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่ออันดับความน่าเชื่อถือ
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากการมีผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้ปัจจัยการผลิตด้านแรงงานและการออมลดลง และรัฐบาลอาจจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการและการรักษาพยาบาลเพื่อดูแลและปฐมพยาบาลผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณเพื่อการลงทุน และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการลดลงของรายได้ประชาชาติ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นโดยปราศจากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไป ตลอดจนผลกระทบต่อภาระทางการคลังและผลกระทบต่อภาคอื่น ๆ อย่างเป็นพลวัติ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ความสำคัญในการวิเคราะห์และพิจารณาจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
จากรายงาน Global Aging 2023: The Clock Ticks ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P Global rating (S&P) พบว่า ผลกระทบและแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
3.1 ผลกระทบหากไม่มีการปฏิรูปนโยบายการคลังที่เกี่ยวข้องกับประชากรสูงอายุ
ปัจจุบันรัฐบาลส่วนใหญ่อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) เพื่อเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ โดยคาดว่า หลังจากปี 2568 สังคมสูงอายุจะเริ่มส่งผลกระทบต่อรายจ่ายของภาครัฐบาล และทำให้การขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2578 และปี 2603 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่จะขาดดุลทางการคลังสูงถึง 4.3% ในปี 2578 และจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 15.9% ในปี 2603 (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 การขาดดุลทางการคลังเฉลี่ย (% ต่อ GDP)
นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงอายุจะทำให้ค่าเฉลี่ยของสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 49% ภายในปี 2573 และจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 142% ภายในปี 2603
ดังนั้น หากไม่มีการปฏิรูปนโยบายการคลังที่เกี่ยวข้องกับประชากรสูงอายุ คาดว่าจำนวนกลุ่มประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ AAA และ AA จะมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญขณะที่กลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเก็งกำไร (Speculative Grade) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยS&P คาดว่า ปี 2568 สัดส่วนประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเก็งกำไร จะมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของประเทศทั้งหมดที่ S&P ดำเนินการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหากรัฐบาลไม่มีการเพิ่มมาตรการที่เกี่ยวข้องกัประชากรสูงอายุ สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2603 (แผนภาพที่ 4)
แผนภาพที่ 4 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ
3.2 ผลกระทบจากหากการมีดำเนินการปฏิรูปนโยบายการคลังที่เกี่ยวข้องกับประชากรสูงอายุ
3.2.1 ผลกระทบต่อภาคการคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
หากมีการดำเนินนโยบายปฏิรูปการคลังเกี่ยวกับผู้สูงอายุ พบว่า ปี 2568 ดุลทางการคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มดีขึ้น จากการดำเนินมาตรการแบบระบุเป้าหมายเพื่อควบคุมรายจ่ายที่เกี่ยวกับประชากรสูงอายุ อาทิ การขยายอายุเกษียณ การปฏิรูประบบภาษี และการปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบระบบบำเหน็จบำนาญ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือและทำให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วสามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือระดับน่าลงทุน (Investment Grade) (AAA ถึง BBB-) ได้ในระยะยาว
แนวทางการรับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ผ่านมาของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ประเทศอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรของประเทศอังกฤษทำให้ประชากรในวัยทำงานมีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรสูงอายุ รัฐบาลของอังกฤษจึงได้ปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการจัดการด้านการจ้างงานของแรงงานผู้สูงอายุ การจัดสวัสดิการสังคมและการมีหลักประกันทางสังคมเพื่อประกันรายได้ขั้นต่ำของผู้สูงอายุ
ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลเห็นว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่มีคุณค่าและยังมีศักยภาพในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทางสังคม โดยมีมาตรการจ้างงานผู้สูงอายุที่ยังคงสามารถทำงานได้และต้องการรายได้เพิ่ม เพื่อลดอัตราความยากจนในผู้สูงอายุ ตลอดจนสร้างเสริมกิจกรรมให้สูงอายุได้มีส่วนร่วมทางสังคม นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายว่าด้วยสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งครอบคลุม
1) ด้านสุขภาพและการดูแลระยะยาว
2) ด้านการมีส่วนร่วมในสังคมและการเรียนรู้
3) ด้านสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัย
4) ด้านการจ้างงานและรายได้ของผู้สูงอายุ
ประเทศเยอรมนี จุดเด่นของนโยบายสวัสดิการของประเทศเยอรมนีเป็นการบังคับการจัดเก็บภาษี โดยภาษีที่จัดเก็บจะถูกส่งต่อไปยังกองทุนเพื่อนำเข้าระบบสวัสดิการ โดยสวัสดิการในเยอรมนีประกอบด้วย 4 รูปแบบ ได้แก่ ระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพของรัฐ ประกันบำนาญของรัฐ และการช่วยเหลือทางสังคมของรัฐบาล ทั้งนี้ ผู้สูงวัยจะได้รับการประกันบำนาญเมื่ออายุ 67 ปี กรณีจ่ายค่าเบี้ยประกันครบ 45 ปี ในจำนวนร้อยละ 70 ของรายได้เฉลี่ยตลอดช่วงที่ยังทำงานและการประกันอุบัติเหตุจากการทำงานและการประกันสุขภาพระยะยาว ทั้งนี้ ปัจจุบันเยอรมนีได้เพิ่มอายุเกษียณเป็น 67 ปี เพราะตระหนักถึงความไม่สมดุลของจำนวนประชากรกับการจัดการสวัสดิการในอนาคต
ประเทศสิงคโปร์ สิงคโปร์มีนโยบายเพื่อรับมือประชากรสูงวัยหลายประการ อาทิส่งเสริมการจ้างงานและเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน โดยการเพิ่มทักษะและจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงานเพื่อเป็นหลักประกันยามเกษียณและเป็นการส่งเสริมการออม ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม พร้อมทั้งส่งเสริมให้องค์กร/ชุมชนท้องถิ่นเพื่อเป็นกลไกหลักในการดูแลประชาชนทุกช่วงวัยในชุมชนให้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมเพื่อสร้างระบบที่เน้นให้สมาชิกในครอบครัวดูแลและเลี้ยงดูบิดามารดายามชรา และหากไม่เลี้ยงดู บิดามารดาสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากบุตรได้
ประเทศสวีเดน สวีเดนได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่มีระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีกฎหมายรับรองสิทธิของผู้สูงอายุให้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในส่วนที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ตั้งแต่ปี 2523 และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนผู้สูงอายุและการบริการกองทุน เพื่อให้ในการบริหารจัดการสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ มาตรการด้านการเสริมสร้างหรือป้องกัน มาตรการด้านการเยียวยา รวมถึงการจัดตั้งระบบการดูแลสุขภาพระยะยาว (Health Care and Long Term Care)
3.2.2 ผลกระทบต่อภาคการคลังของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง ประกอบกับอัตราส่วนการพึ่งพิง (Age-Dependency Ratios) และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับประชากรสูงอายุยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้อันดับความน่าเชื่อถือมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าระดับระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ในระยะยาว
แนวทางการรับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ผ่านมาของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
ประเทศชิลี จุดแข็งของการรับมือของชิลี คือ ผู้สูงอายุในชิลีส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 ยังคงได้รับจ้างงานและมีความสามารถในการสร้างรายได้ให้กับตนเอง อีกทั้งผู้สูงอายุหลังเกษียณมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงทำให้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณมากนัก แม้ผู้สูงวัยในชิลีจะเน้นการพึ่งพาตนเอง แต่รัฐบาลชิลียังจัดทำนโยบายเชิงบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุ โดยได้ออกแบบรัฐสวัสดิการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ อาทิ การป้องกันและฟื้นฟูด้านสุขภาพ กองทุนแห่งชาติสำหรับผู้สูงอายุ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการวมกลุ่ม (Francisco Ganga Contreras, 2016)
ประเทศมาเลเซีย ระบบสวัสดิการสังคมของมาเลเซียเน้นการดูแลและคุ้มครองผู้สูงอายุ ซึ่งจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลตรวจสอบความจำเป็นและความเหมาะสมของผู้สูงอายุแต่ละรายในการรับเบี้ยยังชีพ และจะมอบเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุเฉพาะรายที่สมควรได้รับเท่านั้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ ได้แก่
1) บ้านพักคนชรา
2) ศูนย์ดูแลเฉพาะกลางวัน (Day Care)
3) บริการให้คำปรึกษา
4) การช่วยเหลือด้านการเงิน
5) การช่วยเหลือที่บ้านโดยได้รับความช่วยเหลือจาก NGOs
3. สถานการณ์สังคมสูงอายุในประเทศไทย
โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเนื่องจากอัตราการเกิดลดลงและอายุเฉลี่ยของประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society) แล้วในปี 2545 ด้วยสัดส่วนประชากรสูงอายุที่ 7.02% ของประชากรทั้งหมด และใช้ระยะเวลาเพียง 20 ปี ในการเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เป็นลำดับที่ 6 ของภูมิภาคเอเชีย ในปี 2565 ถัดจากประเทศญี่ปุ่น (พ.ศ. 2537) ฮ่องกง (พ.ศ. 2555) เกาหลีใต้ (พ.ศ. 2560) ไต้หวัน (พ.ศ. 2562) และสิงคโปร์ (พ.ศ. 2564) โดยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุที่ 14.15% และคาดว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ภายในปี 2577
แผนภาพที่ 5 โครงสร้างประชากรไทย ปี พ.ศ. 2523, 2543, 2563 และคาดการณ์ปี 2660
อัตราภาวะเจริญพันธุ์ (Total Fertility Rate: TFR) ของไทยปี 2565 ลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 1.1 (แผนภาพที่ 6) ส่งผลให้จำนวนการเกิดใหม่ของประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีประชากรเกิดใหม่เพียง 502,107 คน (อัตรา 7.6 ต่อประชากร 1,000 คน) ขณะที่อัตราการตายเพิ่มขึ้นสวนทางอัตราการเกิด ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการตายเป็นครั้งแรกในปี 2564 และช่องว่างดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 อัตราการการตายของประชากรไทยสูงถึง 595,965 คน (อัตรา 8.9 ต่อประชากร 1,000 คน) ซึ่งสูงกว่าอัตราการเกิดถึง 93,858 คน (แผนภาพที่ 7) ส่งผลให้จำนวนประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงในอนาคตเช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งสอดคล้องกับวารสาร The Lancet ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ที่คาดว่า ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องและภายในปี 2643 หรือ 77 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะลดลงเหลือเพียง 35 ล้านคน (The Lancet, 2563) จากปัจจุบันอยู่ที่ 66,080,812 คน
แผนภาพที่ 6 อัตราภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศไทย พ.ศ. 2555 – 2565
แผนภาพที่ 7 อัตราการเกิด-ตาย ของประชากรไทย ปี 2555-2565 (คน)
4. ผลกระทบของสังคมสูงอายุต่อความยั่งยืนทางการคลังของประเทศไทย
4.1 การวิเคราะห์ผลกระทบต่อภาคการคลังของประเทศไทย
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุสร้างความท้าทายต่อความยั่งยืนทางการคลัง หลายประการ อาทิ
1) การลดจำนวนประชากรวัยทำงานซึ่งเป็นผู้เสียภาษีหลักของประเทศ
2) การเพิ่มค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และเงินดูแลผู้สูงอายุ อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการดูแลรักษาพยาบาลอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นภาระทางการคลังในระยะยาว กล่าวคือ ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงเนื่องจากฐานผู้เสียภาษีมีขนาดเล็กลง (แผนภาพที่ 8) ขณะที่รายจ่ายภาครัฐโดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (แผนภาพที่ 9)
4.2 การวิเคราะห์พื้นที่ทางการคลังเพื่อรับมือที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย
การสร้างความแข็งแกร่งทางการคลังอย่างยั่งยืนจะต้องเกิดจากการดำเนินนโยบายและการจัดการพื้นที่ทางการคลังที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ทั้งด้านการจัดเก็บรายได้ และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามความจำเป็น อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดงบประมาณที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากภาวะสังคมสูงวัย โดยรัฐบาลจำเป็นต้องนำเงินจากคนวัยทำงานไปดูแลคนวัยเกษียณและเมื่อสัดส่วนของวัยทำงานลดลงและวัยเกษียณปรับสูงขึ้น จึงทำให้เงินดังกล่าวอาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับลดภาระค่าใช้จ่าย อาทิ รายจ่ายประจำหรือรายจ่ายเพื่อการลงทุน รวมถึงการหาช่องทางหารายได้เพิ่ม อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อไม่ให้รัฐบาลก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเกินความจำเป็นและเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทยมีมากขึ้นกว่าในอดีต และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีของไทยจะเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 15% ของประชากรในปี 2565 เป็น 30% ในปี 2589 (องค์การสหประชาชาติ, 2565) ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 61.63 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 70 ดังนั้น รัฐบาลยังมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เพียงพอเพื่อใช้ดำเนินมาตรการเกี่ยวกับกับสังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม แม้จะยังคงมีพื้นที่ทางการคลัง แต่หากมีการก่อหนี้สาธารณะเพื่อนำมาใช้จ่ายในแผนการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสวัสดิการซึ่งไม่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก อาจเป็นการสร้างภาระทางการคลังในอนาคต บั่นทอนเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว และกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต
5. นโยบายและมาตรการในการรับมือผู้สูงอายุในประเทศไทย
ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้กำหนดกรอบนโยบายเพื่อเตรียมพร้อมและรับมือกับปัญหาสังคมสูงอายุ อาทิ
1) นโยบายของรัฐบาลด้านผู้สูงอายุ คณะรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน 11 ด้าน โดยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ คือ นโยบายด้านที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ข้อที่ 4 เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการมีงานหรือกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อสร้างสรรค์และไม่ก่อภาระต่อสังคมในอนาคต โดยจัดเตรียมระบบการดูแลในบ้าน สถานพักฟื้น และโรงพยาบาล ที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และครอบครัว รวมทั้งพัฒนาระบบการเงินการคลังสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ
2) มาตรการของกระทรวงการคลัง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ 4 มาตรการ ได้แก่ (1) การจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อสร้างหลักประกัน/ความมั่นคงในเรื่องรายได้ของผู้สูงอายุให้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ยาวนานขึ้น (2) การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุโดยส่งเสริมให้มีการสร้างที่พักอาศัยทั้งในรูปแบบมีความเหมาะสมและมีสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นการเฉพาะให้กับผู้สูงอายุ (3) สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse mortgage) โดยให้เงินกู้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 80 ปี ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่มีเงินสำรองเพียงพอต่อการใช้ชีวิต และไม่มีลูกหลานดูแล วงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท โดยใช้ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระหนี้ของผู้สูงอายุเป็นหลักประกัน และ 4) การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ
3) การให้เงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเพื่อการยังชีพ ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้แหล่งที่มาของเงินเพื่อดำเนินโครงการมาจากรายได้จากการจัดเก็บเงินภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราและยาสูบ ในอัตราร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาทต่อปี และเงินบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพื่อเข้ากองทุนผู้สูงอายุ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยท่ได้ลงทะเบียนและผ่านการพิจารณาอนุมัติ
มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุข้างต้นจะช่วยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และมีโอกาสได้ทำงานต่อ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างหลักประกันในชีวิตให้แก่ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและบรรเทาภาระงบประมาณภาครัฐด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาว
6. บทสรุป: ถอดบทเรียนและก้าวต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2565 และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดภายในปี 2577 ผู้ศึกษาได้รวบรวมประสบการณ์การรับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศต่าง ๆ ทั้งของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา พบว่า นโยบายและมาตรการการรับมือกัสังคมสูงวัยของหลายประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเน้นให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเอง การขยายอายุเกษียณการจัดสรรสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนการเพิ่มทักษะแรงงานมีความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุ การใช้มาตรการด้านภาษีและการเพิ่มการออม ตลอดจนการจัดตั้งกองทุนเพื่อจัดสรรสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้น เพื่อคง/สร้างการเจริญเติบโตทางเศราฐกิจและสังคม ตลอดจนยังคงอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade เห็นควรมีนโยบายการรับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย ดังนี้
6.1 ข้อเสนอแนะสำหรับภาครัฐบาล
1. รัฐบาลต้องดำเนินการแบบบนลงล่าง (Top-Down) โดยทำหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายและแผนการขับเคลื่อนการเตรียมการและการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ (Master plan)พร้อมทั้งกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนดำเนินการ (Action Plan) ระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว รวมทั้งกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด
2. รัฐบาลควรกำหนดชุดโครงการ/แผนงานที่มีศักยภาพ (Flagship) ในการเพิ่มการดูแลสังคมสูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืน
3. รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดตามความจำเป็นเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการรับมือสังคมสูงวัยและการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเร่งประเมินภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยละเอียด รวมทั้งต้องกำหนดแผนการดูแลผู้สูงวัยและการบริหารหนี้สาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม โดยระบุถึงแนวทางรับมือและการวางแผนการใช้เงินให้สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรในอนาคตทั้งในระยะปานกลางไปจนถึงระยะยาว พร้อมทั้งปรับแผนให้ทันต่อสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นต่อการรับมือในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยแก่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่อไป
4. รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อให้มีรายได้ โดยการดำเนินการจัดเก็บภาษีบางประเภทเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น และจัดสรรรายได้บางส่วนเข้ากองทุนเพื่อจัดสวัสดิการผู้สูงอายุเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดสรรสวัสดิการผู้สูงอายุ
6.2 ข้อเสนอแนะสำหรับภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
1. ภาครัฐบาลและภาคเอกชนควรเร่งรัดการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ได้แก่
การพัฒนาและยกระดับทักษะและศักยภาพการปฏิบัติงานของแรงงานปัจจุบัน (Upskill and Reskill) ตลอดจนเสริมสร้างควรเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อผู้สูงวัยในการปฏิบัติงานในช่วงหลังเกษียณ เพื่อให้มีแรงงานที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมทั้ง พิจารณาขยายเวลาเกษียณอายุการทำงานของบุคลากรที่มีศักยภาพทั้งบุคลากรของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการคลังในการดูแลบุคลากรวัยเกษียณและรองรับปัญหาแรงงานขาดแคลนในอนาคต และลักษณะงานที่เหมาะสม
2. การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้สูงอายุ ภาคประชาสัมคม (Partnership Participetion) ในการบริหารจัดการสังคมสูงอายุของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน อาทิ การออกแบบและจัดพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุหรือการอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัย โดยอาจสร้างเป็นศูนย์สำหรับดูแลผู้สูงอายุโดยความร่วมมือของชุมชนและสังคม และจัดพื้นที่สำหรับให้คนทุกช่วงวัยได้ดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงจัดกิจกรรมนันทนาการหรือกิจกรรมสืบทอดศิลปวัฒนธรรม หรือฝึกอาชีพที่เหมาะสมเพื่อสร้างคุณค่าของชีวิตและรายได้แก่ผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน
3. ควรส่งเสริมการออมของประชากรทั้งในระบบและนอกระบบประกันสังคมในอัตราที่มากขึ้นเพื่อให้มีหลักประกันทางรายได้เมื่อถึงวัยเกษียณอายุ
เอกสารอ้างอิง
Francisco Ganga-Contreras.(2016). The role of the State before population aging:
the case of Chile. Convergencia vol.23 no.71 Toluca may./ago. 2016.
Geyer, J. and Korfhage, T. (2015). Long-term care insurance and Carers’ labor supply–A structural model. Health Economics, 24(9), 1178-1191.
United Nations. (2022). World population prospects 2022. United Nations New York, NY, USA.
S&P Global rating.Global Aging 2023: The Clock Ticks. January 18, 2023
ธนภรณ์ จิตตินันทน์และณัคนางค์ กุลนาถศิริ. (2560). ถอดบทเรียนนโยบายรับมือสังคมสูงวัยจากต่างประเทศ. สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
(http://themoment.om.co/happy.lifeaging.society.)
พิทวัส พูนผลกุล และคณะ.(2565). สังคมสูงวัยกับภาระทางการคลัง.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.(2557). สังคมผู้สูงอายุ: นัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ. (สืบค้นจากwww.stou.ac.th/stounline/lom/data/ )
มัทยา ศรีพนา. (2557). การจัดสวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุในประเทศไทย. บทความวิชาการ
สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. (สืบค้นจาก library.senate.go.th)
ดร.พนิดา ร้อยดวง
ผู้เขียน
นายวิทวัส ขัดทาน
ผู้เขียน
นายพีรวิชญ์ แก้วดี
ผู้เขียน