เศรษฐกิจบันเทิงสีรุ้ง โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย

เศรษฐกิจบันเทิงสีรุ้ง โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย

บทความโดย
กาญจนา จันทรชิต
ชานน ลิมป์ประสิทธิพร

1. เศรษฐกิจสีรุ้งคืออะไร

เศรษฐกิจสีรุ้ง (Rainbow Economy) คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่สูงอย่างมาก อ้างอิงจากรายงานของ LGBT Capital พบว่ากำลังซื้อของกลุ่มนี้ต่อปีมีมูลค่าสูงถึง 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 170.7 ล้านล้านบาท(มีขนาดใหญ่ราว 9.5 เท่าของ Nominal GDP ประเทศไทย ณ ปี 2566) และความมั่งคั่งของกลุ่มนี้มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1,089.6 ล้านล้านบาท

สำหรับด้านจำนวนกลุ่ม LGBTQ+ โดยการสำรวจของ GAY TIMES และ LGBT Capital พบว่ามีจำนวน 500 ล้านคน (คิดเป็น 7.58 เท่าของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด) โดยแบ่งเป็นกลุ่มในเอเชีย 288 ล้านคน และกลุ่มในประเทศไทย 4 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 6 ของประชากรไทยทั้งหมด) ซึ่งคาดว่ากลุ่มนี้จะมีการขยายตัวสู่จำนวน 1 พันล้านคนในปี 2593

ด้านพฤติกรรมการใช้จ่าย กลุ่ม LGBTQ+ มีกำลังซื้อที่สูงกว่ากลุ่มอื่นโดยเปรียบเทียบ มูลค่าการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวสูงกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นโดยเฉลี่ย ชื่นชอบการซื้อสินค้า มีความเป็น Brand Loyalty ที่สูง และจากการสำรวจของ Community Marketing & Insights ณ ปี 2563 พบว่ากลุ่ม LGBTQ+ มากกว่าร้อยละ 70 มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าจากบริษัทที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและยอมที่จะจ่ายราคาแพงกว่าเพื่อการสนับสนุนอย่างจริงใจ

2. ธุรกิจบันเทิงสีรุ้งไทย ปรากฎการณ์ใหม่ในสู่เวทีโลก

ธุรกิจบันเทิงสีรุ้งของไทยเป็นหนึ่งใน Soft power ของไทยที่สนับสนุนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวซึ่งมีธุรกิจบันเทิงสีรุ้ง 2 ด้านที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ 1) ธุรกิจในด้านอุตสาหกรรมแดร็ก (DRAG) และ 2) ธุรกิจในด้านอุตสาหกรรมซีรีส์วาย (Y)

2.1 ธุรกิจในด้านอุตสาหกรรม DRAG

มีที่มาจากคำว่า Dressed Resembling A Girl ซึ่งเป็นการแต่งกายเป็นลักษณะผู้หญิง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่ประเทศไทยจัดงาน Bangkok Pride Festival 2024 ก็ได้มีการจัด DRAG Bangkok Festival 2024 เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย ที่ได้รวมตัวศิลปิน DRAG จากทั่วโลกมากกว่า 500 คนเข้าร่วม และมีกิจกรรมที่หลากหลายทั้งระดับประเทศ เช่น Miss Trans Thailand และระดับโลก เช่น DRAG ARENA International ด้านอุตสาหกรรม DRAG นอกจากความบันเทิงเฉพาะตัวที่มอบให้ผู้ชมแล้ว ยังมีเรื่องการกระจายรายได้ให้กับร้านเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวด้วย เนื่องจากการแต่งตัวรูปแบบ DRAG มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในระดับหลักพันจนถึงหลายหมื่น การแต่งตัวต้องมีความโดดเด่นและนิยมแต่งชุดที่มีความเอกลักษณ์ใหม่ในการออกงานเสมอ เกิดการกระจายรายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ข้อมูลและสถิติต่าง ๆ ของอุตสาหกรรม DRAG ยังมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ยากต่อการวิเคราะห์เชิงลึกในปัจจุบัน

2.2 ธุรกิจในด้านอุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะซีรีส์วาย

ประกอบไปด้วยตัวเอกที่มีความสัมพันธ์แบบชายรักชาย (Yaoi หรือ Boys love) และความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง (Yuri หรือ Girls love) ซึ่งประเทศไทยได้มีการส่งออกอุตสาหกรรมนี้ราว 1,000 ล้านบาทในปี 2566 จากมูลค่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซีรีส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่มีมูลค่าทั้งหมด 8,000 ล้านบาทในปี 2566 และคาดว่าอุตสาหกรรมซีรีส์วายจะขยายตัวต่อเนื่องและมีมูลค่าเกิน 2,000 ล้านบาท ในปี 2567 โดยอุตสาหกรรมนี้สามารถสร้างรายได้หลักจาก 2 ช่องทาง ได้แก่ การขายลิขสิทธิ์ในการฉายเนื้อหาซีรีส์ และการจัดการนักแสดง (Artist Management) เนื่องจากศิลปินในซีรีส์วายโดยมาก มักมีความใกล้ชิดกับกลุ่มแฟนคลับสูง จึงมีกิจกรรมระหว่างอย่างต่อเนื่องไม่จำกัดแค่การแสดงในซีรีส์ ซีรีส์วายของไทยถือเป็นหนึ่งในซอฟท์พาวเวอร์สำคัญ โดยได้รับความสนใจซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และเวียดนาม เป็นต้น

3. ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างภาพยนตร์หรือซีรีส์ในไทยที่ประสบความสำเร็จปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างภาพยนตร์หรือซีรีส์ในไทยที่ประสบความสำเร็จ

3.1. จำนวนประชากรที่เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ มีจำนวนสูงขึ้น

ซึ่งข้อมูลจาก World population review ระบุว่าจำนวนกลุ่ม LGBTQ ในปี 2564 มีประมาณร้อยละ 8.0 ของจำนวนประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Generation Z และกลุ่ม Millennials ที่มีแนวโน้มจะเป็นกลุ่ม LGBTQ+ อย่างเปิดเผยมากขึ้น นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ของ GAY TIMES คาดการณ์ว่าในปี 2593 ทั่วโลกจะมีจำนวนประชากรที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ประมาณ 1,000 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีประชากรกลุ่ม LGBTQ+ มีจำนวนประมาณ 4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.0 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด (ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวกลุ่มผู้บริโภค หรือ Demand ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของสินค้า การท่องเที่ยว และด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ต่าง ๆ มีโอกาสจะที่เติบโตเพิ่มมากขึ้น

3.2. ในสภาวะปัจจุบันทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากประเทศไทยมีลักษณะทางสังคมที่เป็นแบบพหุวัฒนธรรมมาตั้งแต่ในอดีต ทำให้มียืดหยุ่นและยอมรับความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม รวมถึงความหลากหลายทางเพศได้ง่ายกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ส่งให้การสร้างซีรีส์สามารถสะท้อนมุมมองหรือเนื้อหาจากนิยายต้นฉบับได้โดยไม่ต้องปรับปรุงเนื้อหามากนัก

3.3. ความเท่าเทียมทางเพศทั้งในด้านสิทธิและทางกฎหมายต่าง ๆ

เช่น การผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดัชนีด้านสิทธิที่อยู่ในระดับสูง (ภาพที่ 1) และดัชนี Gay Travel Index 2024 ที่ไทยอยู่อันดับที่ 54 สถานที่ท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางเพศ (คาดว่าอันดับจะก้าวกระโดดหลังจากที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้อย่างเป็นทางการ) สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการสะท้อนถึงความจริงใจในเรื่องการสร้างความเท่าเทียมและเข้าใจความหลากหลาย ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้าง Brand Loyalty ให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงสีรุ้งไทยอีกทอดหนึ่ง

ภาพที่ 1  ดัชนีด้านสิทธิ LGBT+ ณ ปี ค.ศ. 2019
ที่มา: Our World in Data

3.4. การสร้างซีรีส์จากนิยายต้นฉบับ

ซึ่งส่วนใหญ่นิยายต้นฉบับจะมีฐานแฟนคลับนิยายอยู่แล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้นการสร้างซีรีส์จากนิยายต้นฉบับ จะทำให้ซีรีส์ในเรื่องนั้น ๆ มีกลุ่มคนสนใจอยู่แล้วส่วนหนึ่ง และเมื่อประกอบกับการสร้างซีรีส์ที่เป็นที่ถูกใจของตลาด ทำให้มีกลุ่มฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้น

3.5. เนื้อหาของซีรีส์วายมีความแปลกใหม่แตกต่างจากนิยามเดิม ๆ

ที่ยังมีมุมมองด้านสังคมที่ค่อนข้างเป็นยุคก่อน คือตัวละครจะมีความตบตี แย่งชิงตัวเอก และมีความเอะอะโวยวาย ขณะที่ซีรีส์ที่มีความหลากหลายทางเพศ จะสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมในปัจจุบันที่ค่อนข้างตรงประเด็นและเข้าใจง่าย นอกจากนี้ซีรีส์ที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีเนื้อเรื่องที่มีความหลากหลาย เช่น ซีรีส์เกี่ยวกับชีวิตรักวัยรุ่น วัยมัธยม (อาทิ เรื่องแฟนผมเป็นประธานนักเรียน My School President) วัยมหาวิทยาลัย (อาทิ เรื่อง SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง และเรื่องเพราะเราคู่กัน 2gether The Series) ซีรีส์เกี่ยวกับมาเฟีย (อาทิ เรื่องคินน์พอร์ช เดอะซีรีส์ ลา ฟอร์เต้) ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมากขึ้น

3.6. กลุ่มนักแสดงนำของซีรีส์ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ส่วนใหญ่จะมีกลุ่มนักแสดงนำผู้ชายที่หน้าตาหน้าตาดีมาเล่นเป็นพระเอก ส่วนตัวนางเอก (นายเอก) จะเป็นนักแสดงที่มีหน้าตาน่ารัก ทำให้ผู้หญิงซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ดูซีรีส์แล้วอิน (ฟิน) ได้ง่าย นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือ กลุ่มนักแสดงนำเอง ก็มีความสามารถเข้าถึงบทบาทที่ได้รับเป็นอย่างดี และมีเคมีของนักแสดงนำ ทำให้เป็นที่ถูกใจผู้ดูซีรีส์ ซึ่งในเวลาต่อมากลุ่มคนดูดังกล่าว ก็ตั้งตนเป็นฐานแฟนคลับ และนำไปสู่การต่อยอดสู่บทบาทอื่น ๆ อาทิ พรีเซนเตอร์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และนักร้อง เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าทางตลาดมากขึ้น

3.7. ช่องทางการประชาสัมพันธ์และการออนแอร์ซีรีส์

มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันจะมีฉายทั้งบนจอทีวีช่องต่าง ๆ อาทิ ช่อง One 31 ช่อง GMM 25  และฉายผ่าน Platform ออนไลน์ต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยเฉพาะ X (Twitter) ก็ส่งให้ผู้บริโภคจากทั่วโลก สามารถเข้าถึงซีรีส์เหล่านี้ได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ด้วยการฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ อาทิ We TV และ  iQIYI เป็นต้น

เรื่องนักแสดงนำปีที่เข้าฉายช่องทางออกอากาศ
SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่งปราชญา เรืองโรจน์ (สิงโต) รับบท ก้องภพ พีรวัส แสงโพธิรัตน์ (คริส)  รับบท อาทิตย์2560One 31
Tharntype The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดี ๆศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ (มิว) รับบท ธาร คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์ (กลัฟ) รับบท ไทป์2562One 31
เพราะเราคู่กัน 2gether The Seriesวชิรวิชญ์ ชีวอารี (ไบร์ท) รับบท สารวัตร เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร (วิน) รับบท ไทน์2563GMM 25
คินน์พอร์ช เดอะซีรีส์ ลา ฟอร์เต้ภาคภูมิ ร่มไทรทอง (มาย) รับบท คินน์
ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ (อาโป) รับบท พอร์ช
2565One 31
นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ Cutie Pie Seriesพฤกษ์ พานิช (ซี) รับบท เฮียเหลียน ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์ (นุนิว) รับบท เกื้อ2565Workpoint
แฟนผมเป็นประธานนักเรียน My School Presidentนรวิชญ์ ฐิติเจริญรักษ์ (เจมีไนน์) รับบท ติณณ์ ณัฐวรรธน์ จิโรชน์ธิกุล (โฟร์ท) รับบท กันต์2565GMM25
Show Me Love The Series แค่อยากบอกรักอิงฟ้า วราหะ รับบท มีนา  ชาล็อต ออสติน รับบท เฌอรีน youtube Grand TV.
ชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babeจิรัชพงศ์ ศรีแสง (ฟอส) รับบท กันต์ กษิดิ์เดช ปลูกผล (บุ๊ค) รับบท  เชร์2566GMM25
ตารางที่ 1 ตัวอย่างภาพยนตร์/ซีรีส์ในไทยที่ประสบความสำเร็จ
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

4. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ (SWOT Analysis) ธุรกิจบันเทิงสีรุ้งของไทย

นอกจากปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจบันเทิงสีรุ้งของไทยแล้ว ความเข้าใจในด้านสภาพแวดล้อมและศักยภาพของธุรกิจบันเทิงสีรุ้งของไทยก็มีความสำคัญ ซึ่งผู้เขียนจึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะด้วยเครื่องมือ SWOT Analysis โดยมีรายละเอียดดังนี้

จุดแข็ง (Strengths)จุดอ่อน (Weaknesses)
เนื้อหาของซีรีส์มีความแปลกใหม่และมีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ ซีรีส์เกี่ยวกับชีวิตรักวัยรุ่น วัยมัธยม วัยมหาวิทยาลัย ดรามาเข้มข้น พีเรียด แฟนตาซี และแอคชั่น   กลุ่มนักแสดงนำของซีรีส์ที่หน้าตาดีมาเล่นเป็นพระเอก ส่วนตัวนางเอก (นายเอก) จะเป็นนักแสดงที่มีหน้าตาน่ารัก ทำให้ผู้หญิงซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ดูซีรีส์แล้วเข้าอินได้ง่าย กลุ่มนักแสดงนำมีความสามารถเข้าถึงบทบาทที่ได้รับเป็นอย่างดี และมีเคมีของนักแสดงนำ ทำให้เป็นที่ถูกใจผู้ดูซีรีส์ ทำให้มีฐานแฟนคลับและนำไปสู่การต่อยอดสู่บทบาทอื่น ๆ อาทิ พรีเซนเตอร์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และนักร้อง เป็นต้นการสนับสนุนของภาครัฐ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังไม่ครอบคลุมมากนัก รวมถึงหากต้องการสนับสนุนจากภาครัฐจะมีขั้นตอนและกฎเกณฑ์การดำเนินการค่อนข้างมากการกระจุกตัวของผู้ผลิตซีรีส์ ที่ส่วนใหญ่กระจุกตัวเพียงไม่กี่บริษัท อาทิ สตูดิโอวาบิซาบิ GMM นาดาว ขณะที่บริษัทใหม่ ๆ จะมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน
โอกาส (Opportunities)อุปสรรค (Threats)
จำนวนประชากรที่เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจากการวิเคราะห์ของ GAY TIMES คาดการณ์ว่าในปี 2593 ทั่วโลกจะมีจำนวนประชากรที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ประมาณ 1,000 ล้านคน เป็นโอกาสของซีรีส์ความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้นในสภาวะปัจจุบันทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเปิดกว้าง เรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นมีความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ด้วยการฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ อาทิ We TV และ  iQIYI เป็นต้นตลาดการแข่งขันสูง เนื่องจากตลาดซีรีส์ความหลากหลายทางเพศเป็นที่ต้องการของตลาดค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ จูงใจให้ตลาดประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น เริ่มผลิตซีรีส์เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดสูงขึ้นบางประเทศอาจออกกฎระเบียบห้ามนำเข้าเนื้อหาที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้ตลาดที่เคยส่งออกได้ลดลง  
ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน

5. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

5.1. ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการสร้างและการผลิตซีรีส์ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงลดการการกระจุกตัวของผู้ผลิตซีรีส์ที่ส่วนใหญ่กระจุกตัวเพียงไม่กี่บริษัท

5.2. ลดขั้นตอนและกฎเกณฑ์การดำเนินการในการขอรับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านงบประมาณจากภาครัฐ

5.3. ดึงดูดให้ผู้บริโภคสื่อบันเทิงสีรุ้งต่าง ๆ กลายเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการด้านอื่น ๆ ของไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และความงามที่จะช่วยกระจายรายได้ไปได้อีกหลายภาคส่วน

5.4. สื่อสารและสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนากฎระเบียบให้ครอบคลุมความหลากหลายทางเพศและให้สิทธิต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม

6. สรุป

เศรษฐกิจสีรุ้ง (Rainbow Economy) ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่สูงอย่างมาก โดยพบว่ากำลังซื้อของกลุ่มนี้ต่อปีมีมูลค่าสูงถึง 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 170.7 ล้านล้านบาท (มีขนาดใหญ่ราว 9.5 เท่าของ Nominal GDP ประเทศไทย ณ ปี 2566) นอกจากนี้ด้านพฤติกรรมการบริโภคหรือการใช้จ่ายของกลุ่ม LGBTQ+ มีมูลค่าการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวสูงกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นโดยเฉลี่ย ชื่นชอบการซื้อสินค้า และมีความเป็น Brand Loyalty ที่สูง สำหรับประเทศไทยธุรกิจบันเทิงสีรุ้งของไทยเป็นหนึ่งใน Soft power ของไทยที่สนับสนุนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งมีธุรกิจบันเทิงสีรุ้ง 2 ด้านที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ 1) ธุรกิจในด้านอุตสาหกรรมแดร็ก (DRAG) และ 2) ธุรกิจในด้านอุตสาหกรรมซีรีส์วาย (Y) และการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ (SWOT Analysis) ของภาพยนตร์หรือซีรีส์วายในไทยพบว่าจุดเด่นและโอกาสอยู่ที่เนื้อหาของซีรีส์มีความแปลกใหม่และมีความหลากหลายมากขึ้น และจำนวนประชากรที่เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่มีข้อจำกัดและอุปสรรคอยู่ที่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐและตลาดมีการแข่งขันสูง เนื่องจากตลาดซีรีส์ความหลากหลายทางเพศเป็นที่ต้องการของตลาดค่อนข้างสูง ที่สำคัญ แม้ว่าในปัจจุบันไทยจะเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจบันเทิงสีรุ้ง แต่ยังคงต้องการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานตลาดและขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง

Okuda, K., & Mckenty, T. (2023, January 17). Finding Pride: ส่องเทรนด์ Search ให้แบรนด์มีส่วนร่วมกับกลุ่ม LGBTQ+. Think With Google. https://www.thinkwithgoogle.com/intl/th-th/marketing-strategies/search/inclusivity-diversity-marketing-lgbtq-th/

Thansettakij. (2023, June 8). กําลังซื้อ LGBTQ+แรง แนะรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนตลาดแสนล้าน. Thansettakij. https://www.thansettakij.com/business/marketing/567439

Thansettakij. (2022, July 2). ตลาดสีรุ้ง พลังเงียบที่นักการตลาดต้องจับตามอง. Thansettakij. https://www.thansettakij.com/business/531119#google_vignette

Posttoday. (2023, June 8). แนะรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนตลาดสินค้าและบริการ กลุ่ม LGBTQ เจาะธุรกิจแสนล้าน. Posttoday. https://www.posttoday.com/business/695604

Sanook. (2024, June 14). รวมซีรีส์วาย-ยูริไทย 2023-2024 สุดฮอต เขินจนจิกหมอน ไม่ดูไม่ได้แล้ว. www.sanook.com/movie. https://www.sanook.com/movie/151463/

 ปีกพญา. (2020). ทําไม “ซีรี่ย์วาย” ถึงฮิตมากสําหรับคนไทย. https://entertainment.trueid.net. https://entertainment.trueid.net/detail/8wgzKAWOO1yp

World Population Review. LGBTQ+ population by country / Which country has the largest LGBTQI+ population? 2024. (n.d.). https://worldpopulationreview.com/country-rankings/lgbtq-population-by-country

The MATTER. (2020, October 12). Y-Economy: เมื่ออุตสาหกรรมซีรีส์วายกลายเป็นจักรวาลยิ่งใหญ่ในสื่อบันเทิง. https://thematter.co/social/y-economy/125936

Thansettakij. (2024, May 24). ทิศทางการเติบโต “ซีรีส์วาย” ไทย สู่ Soft Power โกอินเตอร์ระดับโลก. Thansettakij. https://www.thansettakij.com/business/economy/580878

LGBT Market Statistics. (n.d.). LGBT Capital. https://www.lgbt-capital.com/index.php?menu_id=2

Nick Wolny. What is pink money? The LGBTQ+ economy, explained. (n.d.). https://nickwolny.com/what-is-pink-money

MGROnline. (2023, June 1). ตลาดสีรุ้ง Pride Month เจาะ LGBTQIAN+ กระเป๋าหนักซื้อเก่ง. https://mgronline.com/business/detail/9660000050651#:~:text=%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%20%2D%20%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99,%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%20%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%87

Our World in Data. LGBT+ rights index. (2020, July 24). https://ourworldindata.org/grapher/lgbt-rights-index

Policy Watch. Policy Forum ครั้งที่ 11 | นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีรุ้ง. (n.d.). https://policywatch.thaipbs.or.th/forum/11

กาญจนา จันทรชิต
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายชานน ลิมป์ประสิทธิพร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน