บทบาทของกระทรวงการคลังต่อสินค้าสิ่งแวดล้อม (Environmental Goods: EGS) ภายใต้กรอบเอเปค

บทบาทของกระทรวงการคลังต่อสินค้าสิ่งแวดล้อม (Environmental Goods: EGS) ภายใต้กรอบเอเปค

บทความโดย
นางสาวนาริณี คมกฤส
นางสาวสุธาสินี แก้วจินดา

เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี 2565 ไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคที่มีสมาชิกเขตเศรษฐกิจรวมกันถึง 21 เขตเศรษฐกิจ จึงทำให้ทั่วโลกหันมาจับตามองการประชุมดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ของการประชุมย่อมส่งผลสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเมืองโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังไม่คลี่คลาย เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา ไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะช่วยผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อเขตเศรษฐกิจมากที่สุด ทั้งนี้ ไทยจะหยิบยกประเด็นสำคัญ (Priorities) ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565 จำนวน 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

(1) การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยให้มีการจัดทำ Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy เพื่อย้ำเจตนารมณ์ในการผลักดันการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม และบรรลุเป้าหมายระยะยาวด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศของเอเปค

(2) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน โดยให้มีการขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) เป็น Key Deliverables                    

(3) การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว โดยให้มีการรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในเอเปค เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19

จากประเด็นสำคัญดังกล่าว เห็นได้ว่าไทยได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมไปกับการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม Priorities ของไทยในปี 2565 และเพื่อสนองตอบต่อแถลงการณ์ร่วมของสมาชิกเขตเศรษฐกิจในปี 2555 ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนด้านสินค้าและบริการที่รักษาสิ่งแวดล้อม การผลักดันการลดอัตราภาษีสิ่งแวดล้อม (Environmental Goods: EGS) ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปคจึงนับเป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่ไทยสามารถดำเนินการให้สำเร็จระหว่างการเป็นเจ้าภาพเอเปค

ความเป็นมาในการลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อม

ย้อนกลับไปในปี 2555 เขตเศรษฐกิจเอเปคได้ออกแถลงการณ์ร่วมในประเด็นที่เกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนด้านสินค้าและบริการที่รักษาสิ่งแวดล้อม และให้มีการกำหนดรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลโดยตรงและในทางบวกต่อการเติบโตสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจและไม่กระทบท่าทีการเจรจาของเขตเศรษฐกิจภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และมอบหมายให้คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุนหรือ Committee on Trade and Investment (CTI) ในกรอบความร่วมมือเอเปค พิจารณาดำเนินการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม

ต่อมา ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2555 และการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 2555 ที่สหพันธรัฐรัสเซีย ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ให้การรับรองรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปคจำนวน 54 รายการ โดยจะลดภาษีศุลกากรเก็บจริงจากสินค้าในรายการดังกล่าวให้ไม่เกินร้อยละ 5 ภายในปี 2558

การดำเนินการของไทย

ในการพิจารณาช่วงแรกนั้น กระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปคทั้ง 54 รายการ พบว่า มีสินค้าจำนวน 43 รายการของไทยที่มีอัตราภาษีร้อยละ 0-5 อยู่แล้ว และมีสินค้าอีกจำนวน 11 รายการที่ยังมีอัตราภาษีสูงกว่าร้อยละ 5 การพิจารณาลดภาษีจึงมุ่งเน้นไปที่การพิจารณารายการสินค้าจำนวน 11 รายการดังกล่าว จนกระทั่งในปี 2559 ไทยได้ปรับลดอัตราภาษีขาเข้ารายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 8 รายการ ลงเหลือร้อยละ 0-5 ได้แก่

(1) แผงไม้ปูพื้นที่ประกอบแล้ว (ระบุเฉพาะแผ่นปูพื้นทำจากไม้ไผ่)

(2) เครื่องทำน้ำร้อนแบบทำน้ำร้อนชั่วขณะหรือแบบทำน้ำร้อนเก็บสะสมที่ไม่ใช้ไฟฟ้า (ระบุเฉพาะเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์)

(3) เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับที่ให้กำลังเกิน 750 เควีเอ 

(4) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขับด้วยกำลังลม

(5) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอื่น ๆ (ระบุเฉพาะ Biogas generator sets, Gas generator sets และ Small hydro, Ocean, Geothermal and Biomass gas turbine enerating sets)

(6) ส่วนประกอบที่เหมาะสำหรับใช้เฉพาะหรือส่วนใหญ่ใช้กับเครื่องจักรตามประเภท 85.01 หรือ 85.02 ได้แก่ ส่วนประกอบของมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ไม่รวมถึงชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ส่วนประกอบของชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดหมุน (โรตารี่คอนเวอร์เตอร์) เป็นต้น

(7) กลอุปกรณ์ เครื่องใช้ และอุปกรณ์อื่น ๆ (ระบุเฉพาะระบบความร้อนเฮลิโอสแตต)

(8) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ (ระบุเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของระบบความร้อนเฮลิโอสแตต) จึงทำให้ขณะนั้นไทยยังเหลือรายการสินค้าที่ยังมีอัตราภาษีเกินร้อยละ 5 จำนวน 3 รายการ

อุปสรรคและปัญหาที่ไทยต้องเผชิญ

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากว่าที่ไทยจะสามารถดำเนินการลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมได้นั้น ไทยต้องเผชิญ ปัญหาและอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

(1) นิยามของสินค้าสิ่งแวดล้อมไม่มีความชัดเจนจึงทำให้การพิจารณาความเป็นสินค้าสิ่งแวดล้อมของแต่ละรายการสินค้าเป็นไปได้ยาก

ประเด็นสำคัญที่ทุกเวทีการหารือเกี่ยวกับสินค้าสิ่งแวดล้อมยังไม่สามารถหาข้อตกลงได้ก็คือ การกำหนดนิยามของสินค้าสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนและสามารถตีความได้ตรงกัน แม้แต่การเจรจาความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าสิ่งแวดล้อมภายใต้องค์การการค้าโลก (Environmental Goods Agreement: EGA) ที่ค้างคามานานก็มีปัญหาดังกล่าว จนกระทั่งภายหลังเริ่มมีความพยายามกำหนดแนวทางในการเจรจา โดยแบ่งสินค้าสิ่งแวดล้อมออกเป็น 10 กลุ่ม ตามประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การควบคุมมลพิษทางอากาศ (Air Pollution Control) การจัดการขยะที่เป็นพิษ (Hazardous Waste Management) การจัดการขยะ (Waste Management) และการบริหารจัดการน้ำ (Water Management) เป็นต้น การจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบเอเปคก็ประสบปัญหาเดียวกัน เนื่องจากไม่มีนิยามสินค้าสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน รายการสินค้าทั้งหมดเป็นการเสนอจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค และมีการเห็นชอบรายการสินค้าผ่านการเจรจาซึ่งดูเหมือนว่าจะมุ่งเน้นที่ประโยชน์ของการส่งออกและนำเข้าของเขตเศรษฐกิจเป็นหลักมากกว่าการพิจารณาความเป็นสินค้าสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง จึงทำให้การพิจารณาการลดภาษีสินค้าดังกล่าวของไทยเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากบางรายการสินค้าไม่มีความเป็นสินค้าสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน จึงยากต่อการชี้แจงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมที่ไทยเสนอมักเป็นสินค้าที่มีการใช้เทคนิคที่มีความซับซ้อน และสามารถนำไปใช้งานได้หลายประเภทและหลายอุตสาหกรรม (Multiple Use) จึงเป็นการยากที่จะตัดสินใจว่าสินค้าชนิดใดเป็นสินค้าสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง

(2) ภาคเอกชนและเจ้าหน้าที่ศุลกากรของไทยไม่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมบางอย่าง

โดยปกติการระบุรายการสินค้าขณะดำเนินพิธีการนำเข้าหรือส่งออกกับกรมศุลกากรนั้น จะระบุโดย “พิกัดศุลกากร” ซึ่งจะมีสมาชิกองค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization) ร่วมกันกำหนดพิกัดตัวเลขระดับ 6 หลัก และคำอธิบายรายการสินค้า เพื่อเป็นมาตรฐานให้ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกใช้ร่วมกัน ซึ่งพิกัดศุลกากรระดับ 6 หลักนี้ แต่ละพิกัดศุลกากรอาจหมายรวมถึงสินค้าหลายชนิด เช่น พิกัด 441872 ระบุคำอธิบายว่าแผงไม้ปูพื้นที่ประกอบแล้ว จึงอาจประกอบด้วยแผงไม้ปูพื้นที่ทำด้วยวัสดุชนิดใดก็ได้ เป็นต้น ดังนั้น แต่ละประเทศจึงสามารถระบุพิกัดตัวเลขที่มีความละเอียดมากขึ้นเพื่อใช้สำหรับประเทศตนเอง ซึ่งสมาชิกอาเซียนรวมทั้งไทยเองก็มีการกำหนดพิกัดศุลกากรระดับ 8 หลัก ที่เป็นการระบุสินค้าที่ละเอียดขึ้นภายใต้พิกัดศุลกากรระดับ 6 หลักอีกชั้นหนึ่ง

สำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปคนั้น เป็นการกำหนดโดยใช้พิกัดศุลกากรระดับ 6 หลัก ดังนั้น แม้จะบอกว่ารายการสินค้ามีจำนวนรวม 54 รายการ แต่หากดูในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า ใน 1 รายการสินค้า ประกอบด้วยรายการสินค้ามากกว่า 1 รายการ ซึ่งบางรายการอาจไม่ใช่สินค้าสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการลดภาษีสินค้าจำนวนมากที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการของไทย ทำให้กระทรวงการคลังต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพยายามระบุเฉพาะสินค้าสิ่งแวดล้อมที่แฝงอยู่ในรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปคให้ได้ แต่ผลจากปัญหาการกำหนดนิยามหรือเกณฑ์การคัดเลือกสินค้าสิ่งแวดล้อมที่ไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า ทำให้การระบุเฉพาะสินค้าสิ่งแวดล้อมที่แฝงอยู่ในรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปคต้องอาศัยความรู้จากหลายฝ่ายเพื่อช่วยกันพิจารณาว่าสินค้าใดเป็นสินค้าสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เนื่องจากสินค้าสิ่งแวดล้อมในไทยยังไม่เป็นที่นิยมและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ในแต่ละสาขาด้านสิ่งแวดล้อมมีอย่างจำกัด ทำให้เป็นอุปสรรคในการพิจารณาลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปคมาโดยตลอด

(3) เนื่องจากในการกำหนดรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปคบางรายการ ผู้ส่งออกเป็นผู้ระบุและเขียนรายละเอียดสินค้าสิ่งแวดล้อม รายละเอียดของสินค้าจึงอาจไม่ถูกต้องตามหลักการเขียนรายละเอียดสินค้าของศุลกากร รวมถึงการระบุพิกัดศุลกากรของสินค้าบางรายการอาจไม่ถูกต้องเช่นกัน ทำให้ยากต่อการพิจารณาความเหมาะสมในการลดภาษี และการนำมาใช้ในการสำแดงสินค้าขณะนำเข้า

ความสำเร็จของไทย

แม้ว่าไทยจะต้องเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ในความพยายามลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมตามกรอบเอเปค โดยการดำเนินการนั้นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศภายหลังดำเนินการลดภาษีด้วย ทำให้กว่าจะการดำเนินการเพื่อลดอัตราภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมทั้งหมดได้นั้นใช้ระยะเวลานาน แต่ด้วยความมุ่งมั่นของกระทรวงการคลังซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจะช่วยนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุล และด้วยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ในปี 2564 ไทยได้ดำเนินการพิจารณารายการสินค้าสิ่งแวดล้อมที่เหลืออีก 3 รายการสำเร็จ โดยได้มีการออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยได้ปรับลดอัตราภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมที่เหลืออีก 3 รายการ เป็นร้อยละ 5 แล้ว ดังนี้

(1) ประเภทย่อย 9032.89.39 (07) ระบุเฉพาะอุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์สำหรับควบคุมโดยอัตโนมัติที่ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ไม่ประกอบรวมกันกับแหล่งพลังงานอื่น

(2) ประเภทย่อย 9032.90.90 (02) ระบุเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของอุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์สำหรับควบคุมโดยอัตโนมัติที่ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่ประกอบรวมกันกับแหล่งพลังงานอื่น

(3) ประเภทย่อย 9033.00 (01) ระบุเฉพาะอุปกรณ์บริหารจัดการด้านพลังงานที่มีการวัดก๊าซ ของเหลว และไฟฟ้า ที่ประกอบอยู่ในเครื่องเดียวกัน

ปัจจุบันไทยจึงได้ดำเนินการลดอัตราภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อมของเอเปคครบถ้วนแล้วทั้งสิ้น จำนวน 54 รายการ ณ พิกัดศุลกากรที่ระดับ 6 หลัก เป็นผลสำเร็จก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565 นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญอย่างหนึ่งของกระทรวงการคลังที่สอดคล้องกับประเด็นสำคัญของการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 ในการสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปค

นาริณี คมกฤส

นางสาวนาริณี คมกฤส
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักงานนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน

นางสาวสุธาสินี แก้วจินดา
เศรษฐกร
สำนักงานนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน