บทความโดย
ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
นายศักดิ์สิทธิ์ สว่างศุข
นางสาวปภัช สุจิตรัตนันท์
การศึกษาฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลิตภาพการผลิตภาคบริการ ทั้งในเชิงรายสาขาการผลิตและเชิงพื้นที่ด้วยข้อมูลระดับจุลภาครายสถานประกอบการ เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างของผลิตภาพการผลิตของภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเสนอแนะนโยบายเพื่อการปรับปรุงผลิตภาพการผลิตซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
1. ความหมายของผลิตภาพการผลิต (Total Factor Productivity: TFP)
Solow (1957) ได้ให้ความหมายของผลิตภาพการผลิต (TFP) คือ ประสิทธิภาพการผลิต ที่หน่วยผลิตสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตผลผลิตจำนวนหนึ่ง ๆ ได้โดยใช้ปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยแรงงานและปัจจัยทุนที่ก่อให้เกิดต้นทุนต่ำที่สุด ดังนั้น TFP ที่สูงสะท้อนความสามารถในการผลิตที่มากกว่าซึ่งอาจเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพดีกว่า โดยผลิตภาพการผลิตนี้ถือเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
2. ความสำคัญของผลิตภาพการผลิตรวม (TFP) ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ
ผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.6 ต่อปี โดยปัจจัยทุนเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโต อย่างไรก็ตาม ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงที่สุดหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมา โดยปัจจัย TFP มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต
3. บทบาทของภาคบริการในอุตสาหกรรมการผลิต
ภาคบริการถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของ GDP และมีสัดส่วนแรงงานสูงกว่าร้อยละ 50 ของกำลังแรงงาน โดยในปี 2566 มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP ให้อยู่ในระดับสูงเทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่ใช้ภาคบริการ เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนของภาคบริการสูงถึงร้อยละ 70-80 ของ GDP และมีสัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงสอดคล้องกัน รายละเอียดดังรูปที่ 1 และ 2
รูปที่ 1 มูลค่าเพิ่มของภาคบริการ (Service Value, Added)

ทั้งนี้ สาเหตุที่ผลผลิตและแรงงานภารบริการของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าบางประเทศส่วนหนึ่งอาจมาจากข้อจำกัดด้านเงินทุนและเทคโนโลยี รวมทั้งคุณภาพของแรงงานไทยในภาคบริการยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากแรงงานในภาคบริการส่วนใหญ่จบการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา และยังมีจุดอ่อนที่สำคัญด้านเทคโนโลยี ทักษะด้านภาษาและความคิดสร้างสรรค์ จึงทำให้ภาคบริการของไทยส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเป็นบริการแบบดั้งเดิม (Traditional Services) เช่น ภาคบริการในสาขาการค้าส่งและค้าปลีก โรงแรมและร้านอาหาร และสาขาการท่องเที่ยวเป็นต้น ซึ่งบริการประเภทนี้ไม่ค่อยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจมาก ดังนั้น การจะทำให้ภาคบริการของไทยสามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพและช่วยรอบรับปัญหาวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนนั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ การเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้านบริการ เน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและทักษะแรงงานขั้นสูง ซึ่งจะนำประเทศไทยไปสู่การบริการแบบสมัยใหม่ (Modern Services) เช่น บริการด้านการเงินการธนาคาร การวิจัยตลาด ลิขสิทธิ์ทางปัญญา และบริการด้านเทคโนโลยีสามารสนเทศ ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคบริการได้เป็นอย่างมากต่อไป
4. เนื้อหา
ผลิตภาพการผลิตรวม (TFP) หมายถึง การเพิ่มขึ้นของผลผลิต ซึ่งเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technical Progress) ที่มีการวิจัยและพัฒนาโดยนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นการสร้างมูลค่าสินค้าและบริการ จากการออกแบบ พัฒนาคุณภาพ และสร้างความแตกต่างที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และสามารถกำหนดทิศทางตลาดได้ รวมทั้งการยกระดับและพัฒนาทักษะแรงงานให้เพียงพอและสอดประสานกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการใช้บริการจัดการภาครัฐให้ครอบคลุมและเพียงพอ ดังนั้น ผลิตภาพการผลิตจึงเป็นข้อมูลที่ใช้วัดว่าการใช้ปัจจัยการผลิต (เช่น ปัจจัยแรงงาน ทุน และที่ดิน) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด
- การวัดผลิตภาพการผลิต
การวิเคราะห์สมการการผลิต (Production Function) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตที่เกิดขึ้นกับการใช้ปัจจัยการผลิต (Input) ที่ใส่เข้าไป โดยทั่วไปปัจจัยการผลิตประกอบด้วยทุน (Capital) แรงงาน (Labor) และที่ดิน (Land) ซึ่งมีรูปแบบสมการดังนี้

ทั้งนี้ โดยทั่วไปปัจจัยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในระบบเศรษฐกิจมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่
1) การเพิ่มขึ้นของปัจจัยการผลิตที่ทำให้ผลผลิตในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และ
2) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิตรวม ที่แม้ว่าจะใช้ปัจจัยการผลิตเท่าเดิมและผลผลิตที่เกิดขึ้นเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในการคำนวณผลิตภาพการผลิต งานศึกษาส่วนใหญ่นิยมใช้ฟังก์ชั่นการผลิตแบบ Cobb-Douglas Production Function เนื่องจากมีความง่ายในการคำนวณแต่ Cobb-Douglas Production Function มีข้อจำกัดคือ ผลได้ต่อขนาดการผลิต (Return to Scale) มีค่าคงที่ นั้นคือ ถ้าเพิ่มปัจจัยการผลิตแล้วนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผลผลิตในสัดส่วนที่เท่ากัน และความยืดหยุ่นของการทดแทนกันเท่ากับ 1 หมายความว่า ผลผลิตจะเท่าเดิม หากปัจจัยการผลิตที่ 1 เพิ่มร้อยละ 1 ขณะที่ปัจจัยการผลิตที่ 2 ลดลงร้อยละ 1 สำหรับงานศึกษาฉบับนี้จะกำหนดรูปแบบของ Cobb-Douglas Production Function โดยมีปัจจัยการผลิต 3 ด้านที่ก่อให้เกิดผลผลิตโดยประยุกต์จากงานศึกษาของธนาคารโลก (2563) ดังนี้

หรือเขียนในรูปแบบ Logarithm และสมการเชิงเส้น รายละเอียดดังนี้

อย่างไรก็ดี งานศึกษาฉบับนี้คำนวณผลิตภาพการผลิตของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมการบริการจำนวน 27 หมวดอุตสาหกรรมย่อย ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย (Thailand Standard Industrial Classification) หมวดย่อย 2 หลัก (Digit)
ผลิตภาพการผลิตรวมระดับประเทศ
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมาเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการขยายตัวในเชิงปริมาณ มากกว่าคุณภาพ โดยอาศัยปัจจัยทุน (Capital) แรงงาน (Labor) และผลิตภาพการผลิต (TFP) ประกอบกัน รายละเอียดดังรูปที่ 3
รูปที่ 3 แหล่งที่มาของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากพิจารณาแหล่งที่มาของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจรายละเอียดดังตารางที่ 1 และรูปที่ 1 พบว่า ในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2535 ถึง 2565 เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 3.6 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทุนเกินครึ่งหนึ่งหรือประมาณร้อยละ 2.6 ของเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในขณะที่ปัจจัยแรงงานมีส่วนเพียงร้อยละ 0.3 และจากผลิตภาพการผลิตรวมประมาณร้อยละ 0.7 จึงอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยทุนเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนอัตราการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจไทย
หากแบ่งเศรษฐกิจของเป็นช่วงระยะเวลาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนพัฒนา ฯ) ช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน ภายใต้แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2535 – 2539 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากเฉลี่ยร้อยละ 8.1 ต่อปี เนื่องจากมีการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน เขื่อน ท่าเรือ นอกจากนี้ยังมีการขยายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก จะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของปัจจัยการผลิตทุนเฉลี่ยจึงสูงมากถึงร้อยละ 7.8 ในช่วงนี้ปัจจัยการผลิตแรงงานที่เข้าสู่ระบบการผลิตยังมีสูงเช่นกัน ในขณะที่ผลิตภาพการผลิตรวมเฉลี่ยหดตัวที่ร้อยละ -0.03 สะท้อนว่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าวมิได้มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และนำมาสู่ปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในที่สุด
ต่อมาเป็นช่วงระยะเวลาภายใต้แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540 – 2544 เศรษฐกิจไทยเผชิญกับเกิดภาวะถดถอยจากวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงินปี พ.ศ. 2540 มีการปิดสถาบันการเงินที่มีปัญหาจำนวนมาก การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการโจมตีค่าเงินบาท นำมาสู่การประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ภายใต้ความเปราะบางดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เฉลี่ยหดตัวที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี จากการลดลงของการลงทุนจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล การว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ผลิตภาพการผลิตรวมเฉลี่ยลดลงร้อยละ -1.7 แต่ปัจจัยทุนยังคงมีส่วนผลักดันภาวะเศรษฐกิจโดยรวมร้อยละ 1.4
ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน พ.ศ. 2540 ภายใต้แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2545 – 2549 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.8 ต่อปี มาจากปัจจัยการผลิตแรงงานร้อยละ 0.7 ปัจจัยทุนร้อยละ 2.1 และผลิตภาพการผลิตรวมร้อยละ 3.0 ของเศรษฐกิจไทยโดยรวม
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2551- 2552 เป็นช่วงที่เกิดวิฤตเศรษฐกิจการเงินโลก แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบของวิกฤตดังกล่าวทำให้การส่งออกสินค้าและการลงทุนในปี พ.ศ. 2552 หดตัวที่ร้อยละ -13.5 และ -10.9 ต่อปี ตามลำดับ แต่หลังจาก ปี พ.ศ. 2552เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2554 แต่ภายใต้ แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550 – 2554 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ทำให้การเพิ่มขึ้นของปัจจัยการผลิตทุนอยู่ที่ร้อยละ 1.9 การเพิ่มขึ้นของปัจจัยแรงงานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 และผลิตภาพการผลิตรวมลดลงเมื่อเทียบกับแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 9 ที่ร้อยละ 0.5
หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 ถึงต้นปี พ.ศ. 2557 อย่างไรก็ดี หลังจากช่วงเวลาดังกล่าวมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐบาล และการลงทุนของภาคเอกชนและความต้องการในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วง แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555 – 2559 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยในช่วงนี้มีปัจจัยที่ขับเคลื่อนสูงที่สุดคือ ปัจจัยด้านผลิตภาพการผลิตรวมที่เติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี รองลงมาเป็นปัจจัยการผลิตทุนอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และในช่วงนี้ประเทศไทยเริ่มขาดแคลนแรงงานเข้าสู่ภาคการผลิตเนื่องจากเข้าสู่สังคมสูงอายุทำให้ปัจจัยการผลิตแรงงาน ลดลงร้อยละ -0.2
แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2565 แม้ว่าในช่วงแรกของดังกล่าว โดยเฉพาะช่วงสองปีแรก เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวได้ดี แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2564 เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากมาตรการควบคุมและยับยั้งต่อสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคการผลิตในหลายสาขาชะลอตัวลง แต่ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ทำให้ภาครัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมเฉลี่ยในช่วงแผน ฯ ดังกล่าว ขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี โดยแหล่งที่มาของการขยายตัวเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากการใช้ปัจจัยทุน ที่มีส่วนร้อยละ 0.8 และปัจจัยผลิตภาพการผลิต TFP มีผลร้อยละ 0.5 ในขณะที่ปัจจัยแรงงานมีส่วนร้อยละ 0.2 และหากพิจารณาเทียบกับแผนพัฒนา ฯ ก่อนหน้า โดยเฉพาะ แผนพัฒนา ฯ ที่ 9 ที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 5.8 ต่อปี และมีผลิตภาพการผลิตขยายตัวสูงสุดในรอบสามสิบปีที่ร้อยละ 3.0
แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570 ในปี 2566 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ตามการลดลงต่อเนื่องของภาคการส่งออก การใช้จ่ายของรัฐบาลด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการลงทุนภาครัฐ ล่าสุดในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสแรกของปี 2567 รวมครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทย ขยายตัวร้อยละ 1.9 มีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการอุปโภคภาครัฐบาลและภาคเอกชน การส่งออกสินค้าและบริการ
ตารางที่ 1 อัตราการขยายตัวและแหล่งที่มาของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
หน่วย: ร้อยละ
แผนฯ 7 (2535-2539) | แผนฯ 8 (2540-2544) | แผนฯ 9 (2545-2549) | แผนฯ 10 (2550-2554) | แผนฯ 11 (2555-2559) | แผนฯ 12 (2560-2565) | |
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (%YoY) | 8.1 | -0.1 | 5.8 | 3.0 | 3.5 | 1.4 |
แรงงาน (Labor) | 0.4 | 0.3 | 0.7 | 0.5 | -0.2 | 0.2 |
ทุน (Capital) | 7.8 | 1.4 | 2.1 | 1.9 | 1.7 | 0.8 |
ผลิตภาพการผลิต (TFP) | -0.03 | -1.7 | 3.0 | 0.5 | 2.0 | 0.5 |
อย่างไรก็ดี การขาดประสิทธิภาพในการใช้ปัจจัยการผลิตในภาพรวม และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่สมดุลของประเทศที่จำเป็นต้องพึ่งพาทุนและแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มขึ้นของปัจจัยทุนจะเป็นแหล่งที่มาสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ผลิตภาพการผลิตโดยรวมมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ปัจจัยทุนของประเทศถือว่ามีจำนวนจำกัด จำเป็นต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ และมีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก หากขาดการควบคุมที่เหมาะสม ดั่งที่ประสบมาในอดีต ขณะเดียวกันปัจจัยแรงงานของประเทศอยู่ในสภาวะการจ้างงานเต็มที่ ซึ่งปัญหาของปัจจัยเหล่านี้เป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว ในบทความตอนต่อไปจะนำเสนอผลการศึกษาการวิเคราะห์ผลิตภาพการผลิตด้านบริการในระดับกลุ่มอุตสาหกรรมและระดับสถานประกอบการ ด้วยข้อมูลระดับจุลภาค



ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายศักดิ์สิทธิ์ สว่างศุข
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวปภัช สุจิตรตนนท์
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน