บทความโดย
เมวลี เทียมเมศ
ในเวลานี้มีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกองทุนประกันวินาศภัย เนื่องจากในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ผ่านมา มีผู้เอาประกันภัยที่ขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการประกันโควิดจำนวนมากแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งส่งผลให้มีบริษัทรับประกันวินาศภัยหลายแห่งแห่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวจนถึงขั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบในการจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัยหลังการเพิกถอนใบอนุญาตก็คือ “กองทุนประกันวินาศภัย”
ในช่วงแรกของการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัย(ปี 2551 – 2553) ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยรับตรงประมาณ 100,000 – 125,000 ล้านบาท ซึ่งในขณะนั้นกองทุนประกันวินาศภัยได้รับอัตราเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัยอยู่ที่ประมาณ 100 – 200 ล้านบาทต่อปี และเมื่อเวลาผ่านไปมากกว่า 10 ปี ในปี 2565 กองทุนประกันวินาศภัยได้รับจำนวนเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็น 685 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยภัยที่มีเบี้ยประกันภัยจำนวน 274,000 ล้านบาท และ กองทุนประกันวินาศภัยมีเงินกองทุนอยู่ประมาณ 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปัจจุบันเงินกองทุนได้ลดลงอย่างมาก เนื่องจากนำไปจ่ายให้กับเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย
หากกล่าวถึงกองทุนประกันวินาศภัยหลายคนอาจนึกถึงหน่วยงานของรัฐที่จะเป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยหากบริษัทประกันวินาศภัยได้รับการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งนับว่าเป็นบทบาทหลักของกองทุนในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี อาจมีน้อยคนที่ทราบว่า กว่าจะมาเป็นกองทุนประกันวินาศภัยในวันนี้ รูปแบบการบริหารจัดการกองทุน และกระบวนการในการชำระค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย ได้เปลี่ยนแปลงไปจากครั้งอดีตที่เริ่มจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัย
1. ก่อนจะมีกองทุนประกันวินาศภัย
ในปี พ.ศ. 2535 ประเทศไทยมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายแม่บทของการกำกับดูแลธุรกิจประกันวินาศภัยในปัจจุบัน ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่หลายครั้ง อย่างไรดี ในขณะนั้น (พ.ศ. 2535) ประเทศไทยยังไม่ได้มีการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัยขึ้น แต่มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัย” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งคือ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยเงินที่นำส่งเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยในขณะนั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ไม่ได้เรียกร้องจากบริษัทประกันวินาศภัยจนล่วงพ้นอายุความ บริษัทประกันวินาศภัยจึงต้องนำส่งเงินดังกล่าวเข้ากองทุนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดอายุความ โดยเงินในส่วนนี้ในปัจจุบันถูกเรียกว่า“ค่าสินไหมล่วงพ้นอายุความ”
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ภาคธุรกิจประกันภัยมีกองทุนซึ่งมีเงินสะสมจากค่าสินไหมล่วงพ้นอายุความ เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจประกันภัย
2. จุดเริ่มต้นกองทุนประกันวินาศภัย
ต่อมาได้มีแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 โดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของกองทุนประกันวินาศภัย เนื่องจากมีการแก้ไขเพิ่มบทบัญญัติที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันวินาศภัยหลายประการ
โดยผู้เขียนขอกล่าวเพียงบางประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
2.1 จัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัย
ตอนเริ่มต้นที่มีการเสนอพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ขณะนั้นกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันวินาศภัยอยู่ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยมีการเติบโตมากขึ้น ซึ่งหากบริษัทประกันวินาศภัยล้มละลาย หรือมีหนี้สินพ้นล้นตัวจนไม่อ่าจชำระหนี้ให้กับผู้เอาประกันภัยได้ หรือประสบวิกฤติทางการเงินอย่างร้ายแรง หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย การจัดสรรเบี้ยประกันภัยไว้เป็นเงินสำรองและการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วอาจไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองประชาชนผู้เอาประกันภัย จึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการแก้กฎหมายให้มีการจัดตั้ง “กองทุนคุ้มครองผู้เอาประกันวินาศภัย” เพื่อคุ้มครองผู้เอาประกันภัยและสร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจประกันภัยซึ่งหมายความว่า หากเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอในครั้งแรก จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมการประกันภัยมี 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัย และกองทุนคุ้มครองผู้เอาประกันวินาศภัย
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในขั้นตอนการพิจารณาจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ได้มีการพิจารณาให้รวมกองทุนทั้ง 2 กองทุนเป็นกองทุนเดียวคือ “กองทุนประกันวินาศภัย” โดยให้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ
2.2 กำหนดองค์ประกอบทรัพย์สินของกองทุนประกันวินาศภัย
เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มีการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัย ดังนั้น จึงมีการกำหนดองค์ประกอบทรัพย์สินของกองทุนประกันวินาศภัยไว้ด้วย อาทิ เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากกองทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เงินค่าสินไหมทดแทนค่าสินไหมล่วงพ้นอายุความที่ได้รับจากบริษัทประกันวินาศภัย เงินที่บริษัทประกันวินาศภัยนำส่งให้กองทุนประกันวินาศภัย เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้ เงินสนับสนุนจากรัฐบาล ฯลฯ
2.3 กำหนดอัตราเงินที่ให้บริษัทนำส่งเข้ากองทุนประกันวินาศภัย
ในช่วงแรกของการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 กระทรวงพาณิชย์เห็นว่า ควรกำหนดให้บริษัทนำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองผู้เอาประกันวินาศภัย (ซึ่งต่อมาได้ปรับเป็นกองทุนประกันวินาศภัย) ในอัตราตามที่รัฐมนตรีว่าประกาศกำหนด โดยไม่เกินร้อยละหนึ่งของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทประกันวินาศภัยได้รับในแต่ละปี
อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการพิจารณาพระราชบัญญัติฯ ได้มีการปรับอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัยจากไม่เกินร้อยละหนึ่งเป็นร้อยละศูนย์จุดห้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระของกองทุนประกันวินาศภัยมากเกินไป
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2552 – ปี 2555 กองทุนประกันวินาศภัย มีการเก็บอัตราเงินนำส่งจากบริษัทประกันวินาศภัย เริ่มจากร้อยละ 0.1 (ปี 2552) ร้อยละ 0.15 (ปี 2553) ร้อยละ 0.2 (ปี 2554) และร้อยละ 0.25 (ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาจนถึงปี 2566) ซึ่งทำให้กองทุนประกันวินาศภัยได้รับเงินนำส่งในปี 2552 จำนวน 192 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 219 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 316 ล้านบาท และปี 2555 จำนวน 449 ล้านบาท
2.4. กำหนดจำนวนเงินในการคุ้มครองเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัย
ในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มีการกำหนดเรื่องที่มีความสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการจำกัดการให้ความคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้เกิดจากการเอาประกันภัยไว้เฉพาะกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตธุรกิจประกันวินาศภัย และจำกัดวงเงินที่จะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยไว้ที่คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยมีความระมัดระวังในการเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยมากขึ้น
ทั้งนี้ บทบัญญัติส่วนใหญ่ที่บังคับตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ยังคงมีการบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน
3. การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกองทุนประกันวินาศภัย
ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 อีกครั้ง โดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 เนื่องจากกระทรวงการคลัง (ซึ่งในขณะนั้นเป็นกระทรวงที่กำกับดูแลธุรกิจประกันวินาศภัย) ได้เล็งเห็นว่า เมื่อบริษัทประกันวินาศภัยล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต กองทุนประกันวินาศภัยจะเข้าไปช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการล้มละลายเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น ซึ่งทำให้กองทุนประกันวินาศภัยไม่สามารถคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยได้อย่างทันท่วงที และเห็นควรแก้ไขบทบัญญัติที่จะช่วยให้กองทุนประกันวินาศภัยทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยโดยสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันวินาศภัยมีดังนี้
3.1 แก้ไขวัตถุประสงค์ของกองทุนประกันวินาศภัย
กำหนดให้กองทุนประกันวินาศภัยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยแทนบริษัทวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และแก้ไขวัตถุประสงค์ของกองทุนประกันวินาศภัย โดยจากเดิมที่กองทุนประกันวินาศภัยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย
ในกรณีที่บริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ เป็น ให้กองทุนประกันวินาศภัยคุ้มครองเจ้าหนี้ในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น
ทั้งนี้ หากตีความตามถ้อยคำอาจดูเหมือนว่า กองทุนประกันวินาศภัยให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยน้อยลง อย่างไรก็ดี ในแนวทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเมื่อบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเข้าสู่กระบวนการชำระบัญชีแล้ว กองทุนประกันวินาศภัยยังคงมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และได้รับการตรวจสอบแล้วทุกราย และเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนล้มละลาย ดังนั้น ถึงแม้ว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะมีการตัดเรื่องการชำระหนี้ให้กับผู้เอาประกันภัยในกรณีที่บริษัทล้มละลายออก ก็ไม่ได้ทำให้สิทธิในการรับชำระหนี้ของผู้เอาประกันภัยน้อยลง
3.2 แก้ไขเพิ่มเติมขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกองทุน
พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดเพิ่มเติมให้ กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชีเมื่อบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและให้กองทุนประกันวินาศภัยสามารถกู้ยืมเงินได้เพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยจากกรณีถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจะทำให้การชำระหนี้ของกองทุนประกันวินาศภัยมีความคล่องตัวมากขึ้น
3.3 กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินจากกองทุนประกันวินาศภัย
พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดเพิ่มเติมให้ กำหนดให้กองทุนสามารถให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้สิ้นสุดกระบวนการล้มละลาย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ย 5-7 ปี โดยยังคงหลักการเดิม คือ ให้เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยได้รับชำระหนี้จากเงินหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองของบริษัทก่อน หากไม่เพียงพอจึงให้กองทุนประกันวินาศภัยจ่ายเติมในส่วนที่ขาดอยู่
4. กองทุนประกันวินาศภัยในปัจจุบัน
ในปัจจุบันกองทุนประกันวินาศภัยได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมาโดยตลอด โดยกองทุนประกันวินาศภัยยังคงมีหน้าที่หลักในการชำระหนี้ให้กับผู้เอาประกันภัยที่ยื่นขอรับชำระหนี้ในกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต และจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่วงพ้นอายุความ โดยกองทุนประกันวินาศภัยมีรายได้หลักจากเงินที่บริษัทประกันวินาศภัย โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่า ไม่เกินร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ดี ที่ผ่านกองทุนประกันวินาศภัยไม่ได้จัดเก็บเงินนำส่งเต็มเพดานแต่จัดเก็บที่อัตราร้อยละ 0.25 ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ และเพิ่งจะมาปรับเพิ่มเงินนำส่งเป็นอัตราร้อยละ 0.5 ขอเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ ซึ่งทำให้กองทุนประกันวินาศภัยได้รับเงินนำส่งในแต่ละปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,200 – 1,300 ล้านบาท แต่ถึงกระนั้น อัตราเงินนำส่งที่เข้ามาในแต่ละปี ประกอบกับเงินกองทุนสะสมที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยที่มีจำนวนมากหลักจากที่มี 4 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตในช่วงสถานการณ์โควิด (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2567)
บทสรุป
กองทุนประกันวินาศภัยถือเป็นกลไกสำคัญของภาคส่วนการประกันภัยที่คอยคุ้มครองผู้เอาประกันภัยมาโดยตลอด แต่หากวันใดที่กลไกนี้ไม่สามารถที่จะทำหน้าของตนเองได้อย่างที่เคยเป็นมา กองทุนประกันวินาศภัยอาจต้องพิจารณาทบทวนถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจรวมถึงการแก้ไขกฎหมายและการหาทางออกร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะทำให้กองทุนประกันวินาศภัยสามารถทำหน้าที่ส่งเสริมระบบการประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
บรรณานุกรม
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบร่างพระพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. . (2550). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535.(2535, เมษายน 10). ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๖
พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551. (2551, กุมภาพันธ์ 5) ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 125 ตอนที่ 27 ก
พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 (2558, มีนาคม 5) ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132 ตอนที่ 15 ก
กองทุนประกันวินาศภัย. วัตถุประสงค์/อำนาจหน้าที่,งบการเงิน, สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 https://gif.or.th/purpose
กองทุนประกันวินาศภัย. งบการเงิน, สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 https://gif.or.th
นางสาวเมวลี เทียมเทศ
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน
ผู้เขียน