บทความโดย
นายกานต์ แจ้งชัดใจ
นางสาวณัฏฐธิดา จันภักดี
นางสาวภูริดา ปราบสูงเนิน
1. บทนำ
เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) มีบทบาทสำคัญในการเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจประเทศแต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การขาดแคลนรายได้ที่เพียงพอ และความเปราะบางทางการคลัง ยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ จากข้อมูลที่แสดงถึงความไม่สมดุลระหว่างความเจริญในพื้นที่เมืองใหญ่กับความอ่อนแอในชนบท แสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้ถูกกระจายอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ปัญหาด้านโครงสร้าง เช่น การพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และหนี้สินครัวเรือนที่สูง ยังสะท้อนถึงข้อจำกัดในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของประเทศ บทความนี้จึงมุ่งนำเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในมิติที่ลึกซึ้งกว่าเดิม โดยเฉพาะในด้านการปลดปล่อยศักยภาพของชุมชน การสร้างกลไกสนับสนุนจากทุกภาคส่วน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไม่ใช่เพียงการบรรเทา แต่คือการเสริมสร้างคุณค่าให้แก่ประชาชนทุกคน
ในการนี้ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับวารสารการเงินการคลังได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ดร.กอบศักดิ์ฯ) มาแบ่งปันเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ประจำเดือนตุลาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก กับ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” (รายการเสวนาฯ) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
2. ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ในช่วงแรกของรายการเสวนาฯ ดร.กอบศักดิ์ฯ ชี้ให้เห็นว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากถือเป็นโจทย์สำคัญทางด้านการคลังของประเทศที่รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญและดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง การพัฒนาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนผ่านนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การจัดการหนี้สิน การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาความแตกแยกในสังคมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงเป็นภาระสำคัญที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศในระยะยาว ในบริบทของเศรษฐกิจฐานราก ประเด็นสำคัญสองประการที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) ศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ 2) ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศโดยประเทศไทยมีเป้าหมายในการก้าวข้ามสถานะจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยังประสบปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันประชากรไทยประมาณ 20 ล้านคนมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 3,000–4,000 บาท ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการยกระดับรายได้ของประเทศให้อยู่ในเกณฑ์ของประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องเน้นการสร้างงานและสร้างอาชีพให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวมีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายให้รายได้ของประชากรอยู่ในระดับใกล้เคียงกับมาตรฐานของประเทศพัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้ยกประเด็นปัญหาด้านการพัฒนามนุษย์ในระดับฐานรากยังส่งผลกระทบต่อศักยภาพการพัฒนาในระยะยาว เช่น การที่ประชาชนในกลุ่มรายได้น้อยอาจไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ศักยภาพทางปัญญา (IQ) ของประชากรรุ่นต่อไปอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อันจะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค โดย 15 จังหวัดที่มีความเจริญสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล เชียงใหม่ ภูเก็ต และเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC มีสัดส่วน GPP รวมกันถึงร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ในภูมิภาคมีสัดส่วน GPP รวมกันเพียงร้อยละ 30 การลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน
3. ความอ่อนแอทางการคลังมาจากฐานรากที่อ่อนแอ
ลำดับต่อมา ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจฐานรากที่อ่อนแอส่งผลให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระการช่วยเหลือประชาชนในหลากหลายมิติอย่างต่อเนื่อง เช่น การช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนที่เกิดขึ้นปีแล้วปีเล่า นอกจากนี้ ปัญหาภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง ยังเพิ่มภาระการใช้งบประมาณของรัฐบาลในทุกปี ขณะเดียวกัน ประชาชนกลุ่มด้อยโอกาสและปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความยากลำบากในการส่งออกสินค้า ส่งผลให้รัฐบาลต้องพิจารณามาตรการเยียวยาหรือการลดภาษีเป็นระยะ การแก้ปัญหาเหล่านี้ที่มุ่งเน้นเพียงระดับมหภาคโดยไม่ได้จัดการที่ต้นตอของปัญหาทำให้ภาระทางการคลังไม่ยั่งยืน และยังคงมีการร้องขอการพักชำระหนี้ในรอบใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การแก้ไขไม่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้เริ่มปรับแนวทางโดยเน้นการพัฒนาระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงรุกและเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดของ ศ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนในอดีต โดยหากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากได้สำเร็จ จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีในระยะยาว.

จากรูปที่ 1 ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้อธิบาย การใช้ไฟฟ้าในเวลากลางคืนของประเทศไทยมีการกระจุกตัวสูงในพื้นที่จังหวัดขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศ ในขณะที่พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าในระดับต่ำ สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างพื้นที่เมืองและชนบท ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้ยังเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เช่น ปัญหาโรคตานขโมยที่พบในเด็กเล็กอายุ 3-4 เดือน ซึ่งเกิดจากการขาดสุขอนามัยและการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ปัญหาดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับฐานรากที่ยังขาดการดูแลอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้กล่าวถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น ดินโคลนถล่มและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้กับการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชนบท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่เปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม โดยพื้นที่เหล่านี้ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ รวมถึงการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขและการศึกษา แนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมจึงควรเน้นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งโดยอาศัยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทักษะแรงงาน และการส่งเสริมการผลิตสินค้าในท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังควรดำเนินมาตรการเพื่อยกระดับสุขอนามัยของประชาชน เช่น การพัฒนาระบบสาธารณสุขในชนบท การส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการ และการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน
เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืน ดร.กอบศักดิ์ฯ มองว่า แนวทางเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนควบคู่ไปกับการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การป้องกันภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การแก้ไขปัญหาที่ต้นตอและการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท และสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในระยะยาว

จากรูปภาพที่ 2 ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้นำเสนอปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทุกปี อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในเขตกรุงเทพมหานครยังพบปัญหาชุมชนแออัดในพื้นที่สลัมและบริเวณริมคลอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรราว 30% ของพื้นที่เมือง สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนี้ไม่เพียงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้กล่าวถึงประเด็นการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่กรุงเทพมหานครเพื่อแสวงหาโอกาสด้านเศรษฐกิจและสังคม ยิ่งเพิ่มความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่เมืองและนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น ความยากจน ความไม่มั่นคงทางอาชีพ และปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ถึงความไม่สมดุลในการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่เมืองและชนบท ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ
สุดท้ายนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้สรุปจากรูปดังกล่าวเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมจึงควรมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ ควบคู่กับการพัฒนาชุมชนเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและการกระจายโอกาสด้านเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ชนบท การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การสร้างงานในพื้นที่ชนบท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคจะช่วยลดแรงกดดันจากการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่ และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ

จากรูปที่ 3 ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้นำเสนอประเด็นปัญหาเศรษฐกิจฐานรากที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPL) และหนี้พิเศษ (Special Mention) ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหานี้ชัดเจนในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ที่มีสัดส่วน NPL สูงถึงร้อยละ 16 สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประชาชนในระดับฐานรากที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้และการดำรงชีวิต
ในเชิงเปรียบเทียบ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้เปรียบประเทศไทยเสมือนต้นไม้ โดยประชาชนในระดับฐานรากเปรียบเสมือนรากของต้นไม้ หากรากเริ่มเน่าหรืออ่อนแอ ต้นไม้ย่อมไม่สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ปัญหาหนี้สินในระดับฐานรากจึงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อปัจเจกบุคคล แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศในระยะยาว
แนวทางการแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งผ่านการส่งเสริมการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มประชากรที่เปราะบาง นอกจากนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างเป็นระบบ เช่น การลดภาระดอกเบี้ยหรือการปรับโครงสร้างสินเชื่อเพื่อรองรับการชำระหนี้ในระยะยาว อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง การดำเนินการอย่างจริงจังในประเด็นนี้จะช่วยสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตของประเทศในอนาคต
4. การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอีกครั้ง
ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้ตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับวิธีการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นว่าการซ่อมแซมฐานรากเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากการเน้นพัฒนาเฉพาะในระดับบนของโครงสร้างเศรษฐกิจไม่สามารถแก้ปัญหารากฐานที่อ่อนแอได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ปัญหาในระดับฐานรากยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาด้านสวัสดิการสังคม เช่น ระบบประกันสังคมและการแจกจ่ายสวัสดิการถ้วนหน้า ตัวอย่างเชิงตัวเลขที่ ดร.กอบศักดิ์ฯ นำเสนอคือ 66×2997×12 ซึ่งคำนวณจากจำนวนประชากรไทย 66 ล้านคน คูณกับเส้นความยากจน 2,997 บาทต่อเดือน และจำนวน 12 เดือน พบว่าต้องใช้งบประมาณถึง 2.4 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณประจำปีของประเทศทำให้การดำเนินนโยบายการแจกจ่ายรายได้ถ้วนหน้า เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท หรือการขยายสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคม เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากต่อศักยภาพทางการคลังของประเทศ
นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้ยกตัวอย่างประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุม แต่ยังคงเผชิญปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมเช่นกัน บทเรียนเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการจัดทำสวัสดิการในประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบโดยการจัดสรรงบประมาณต้องมุ่งเน้นประสิทธิภาพและความยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษี พร้อมกับลดความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก เช่น การกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชนบท
ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้เสนอแนะนโยบายในระยะยาวของประเทศไทยว่า ควรเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาและสุขภาพ การสนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงาน และการสร้างงานที่ยั่งยืนในทุกภูมิภาค การลดความเหลื่อมล้ำที่ต้นตอจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีความมั่นคงมากขึ้น และส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวโดยไม่สร้างภาระทางการคลังที่ไม่ยั่งยืน
5. สำหรับประเทศไทย…ภาพลวงตาของความสำเร็จ

ลำดับต่อมา ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ยากจนเป็นเพียง “ภาพลวงตา” ที่อาศัยการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐมากกว่าการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจฐานราก ในรูปที่ 4 มีการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างเส้นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : สศช.) และเส้นสีส้ม ซึ่งสะท้อนถึงงบประมาณที่รัฐบาลใช้ในการช่วยเหลือประชาชนผ่านโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยตลอดช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินเบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยเด็ก และเบี้ยคนพิการ ซึ่งส่วนใหญ่มีมูลค่าประมาณ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่ากังวลคือครัวเรือนที่ยากจนที่สุดยังคงมีรายได้ครึ่งหนึ่งของรายได้คนจนในระดับต่ำสุด หากตัดเงินช่วยเหลือเหล่านี้ออก รายได้ของกลุ่มดังกล่าวแทบไม่เปลี่ยนแปลงและยังอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนอย่างชัดเจน
อีกประเด็นที่น่าหนักใจ คือ โครงสร้างประชากรของกลุ่มครัวเรือนยากจน โดยร้อยละ 64 ของครัวเรือนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีผู้สูงอายุเป็นหัวหน้าครัวเรือน ซึ่งแสดงถึงความไม่สามารถหารายได้ของกลุ่มนี้ ตัวเลขดังกล่าวชี้ว่าจากครัวเรือนยากจน 4 ล้านครัวเรือน มีถึง 1.5 ล้านครัวเรือนที่พึ่งพารายได้จากเงินช่วยเหลือของรัฐบาลโดยตรง การตัดเงินช่วยเหลือกลุ่มนี้จะทำให้พวกเขาไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้และตกอยู่ในภาวะยากจนถาวร
ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้สรุปว่า รัฐบาลมักพูดถึงความสำเร็จของนโยบายในแง่ของผลกระทบทางเศรษฐกิจ “ก่อนและหลังการเก็บภาษี” แต่คำถามที่สำคัญยิ่งกว่าคือ เราต้องการลดการพึ่งพารัฐบาลของประชาชนหรือไม่ และจะสร้างระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างไร ตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่า แม้รัฐบาลจะแจกเงินสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนก็ยังคงอยู่หากการช่วยเหลือขึ้นอยู่กับงบประมาณรัฐเพียงอย่างเดียว เมื่อรัฐบาลหมดเงิน ประชาชนก็จะหมดโอกาสที่จะอยู่รอดอย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองของประชาชนควบคู่กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่ง

10 ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลในรูปที่ 5 แสดงให้เห็นว่าค่าดังกล่าวแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ประสบผลสำเร็จของนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง ซึ่ง ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้เน้นย้ำว่าการพัฒนานโยบายเศรษฐกิจฐานรากที่แท้จริงควรมุ่งเน้นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับประชาชน แทนที่จะเป็นการกระจายเงินแบบชั่วคราวเพื่อเพิ่มรายได้ในระยะสั้น
นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ยังชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีความสามารถในการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำและต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนหรือการแบ่งปันรายได้จากรัฐบาลกลางอย่างมาก หากการช่วยเหลือดังกล่าวลดลง อปท. จะประสบปัญหาในการดำเนินงานและยืนบนพื้นฐานของรายได้ตนเองได้ยาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาท้องถิ่นโดยรวม
ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ สรุปว่า ปัญหานี้เป็นความท้าทายเชิงโครงสร้างที่กำลัง “ฆ่าประเทศไทย” เนื่องจากรัฐบาลใช้งบประมาณรายปีมากถึง 1 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม แต่ผลลัพธ์ยังไม่ชัดเจน สาเหตุหลักอาจมาจากการบริหารจัดการงบประมาณที่ไม่ตรงจุด โครงสร้างเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและการขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนในการแก้ไขปัญหา แนวทางการปรับปรุงควรมุ่งเน้นการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมาย โดยใช้กลยุทธ์ที่ส่งเสริมการลงทุนในศักยภาพของประชาชน เช่น การพัฒนาทักษะแรงงาน การสร้างงานที่ยั่งยืน และการยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกภูมิภาค ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลาง อปท. ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุด การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องดำเนินการในทุกมิติและทุกระดับอย่างบูรณาการ เพื่อสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่แข็งแกร่ง ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ยั่งยืนในระยะยาว
6. ทางออกของปัญหาเหล่านี้
ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้นำเสนอแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย โดยเน้นว่า รัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่ขาดความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ตลอดไป การเปรียบเทียบที่ใช้คือ หากครอบครัวมีลูก 4 คน แต่ลูกเพียงคนเดียวที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ขณะที่อีก 3 คนยังต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่ สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นภาระที่หนักหน่วงในระยะยาว ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญคือการปลดปล่อยศักยภาพของประชาชนและชุมชน เพื่อให้พวกเขาสามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้ โดย ดร.กอบศักดิ์ฯ เสนอว่า หน่วยงานภาครัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดจากการจัดสรรงบประมาณหรือโครงการช่วยเหลือชั่วคราว ไปสู่การสร้างศักยภาพและความยั่งยืนให้กับประชาชน เปรียบได้กับการสอนลูกให้เรียนรู้การเดิน การปั่นจักรยาน หรือวิ่งด้วยตนเอง แม้จะมีอุปสรรคหรือความล้มเหลวเล็กน้อยในระยะแรก แต่ท้ายที่สุดจะช่วยลดภาระในระยะยาว
ตัวอย่างความสำเร็จของชุมชน
1) ตลาดน้ำคลองลัดมะยม : ตลาดน้ำคลองลัดมะยมเป็นตัวอย่างของการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเป็นคลองรกร้างเต็มไปด้วยขยะ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงการปลดปล่อยศักยภาพของชุมชนในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน
2) โครงการออมทรัพย์และสถาบันการเงินประชาชน : โครงการนี้เริ่มต้นจากการออมเงินวันละบาท ปัจจุบันชุมชนบางแห่งสามารถสะสมเงินออมได้ถึง 160 ล้านบาท พร้อมเครือข่ายอีกกว่า 600 ล้านบาท เงินออมเหล่านี้นำไปใช้สร้างสวัสดิการชุมชน เช่น การจัดการด้านสุขภาพ การศึกษา และการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
3) บ้านมั่นคง : โครงการบ้านมั่นคงช่วยให้ชุมชนสามารถสร้างบ้านเป็นของตนเองโดยการออมและกู้ยืมร่วมกัน บ้านที่สร้างขึ้นเป็นทรัพย์สินของชุมชน ไม่สามารถขายต่อได้ แต่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัย พร้อมทั้งจัดตั้งสหกรณ์และสวัสดิการร่วมกัน
4) ป่าชุมชน : ชุมชนในจังหวัดกาฬสินธุ์รวมตัวกันฟื้นฟูป่าที่เคยเสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้มีรายได้จากการเก็บเห็ดป่ามากกว่า 20 ล้านบาทต่อปี โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้กล่าวถึง แนวคิดธนาคารต้นไม้ช่วยส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ โดยให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้เป็นทรัพย์สินระยะยาว ต้นไม้ที่โตเต็มที่สามารถสร้างรายได้ในอนาคต โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากการแก้ไขกฎหมายป่าไม้ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ แม้รัฐบาลจะใช้งบประมาณจำนวนมากกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปีในการพัฒนาชุมชน แต่ผลลัพธ์ยังไม่ตรงเป้าหมาย เนื่องจากปัญหาการจัดสรรงบประมาณในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การขาดการวิเคราะห์ข้อมูล และการขาดผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ตัวอย่างเช่น การสร้างตลาดชุมชนในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพ ทำให้กลายเป็นพื้นที่รกร้าง แนวทางแก้ไขคือการใช้ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาโครงการให้ตรงกับความต้องการของชุมชน สนับสนุนการพัฒนาผู้นำชุมชนและเครือข่าย พร้อมเปลี่ยนเป้าหมายจากการเน้นตัวเลขเชิงปริมาณไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ เน้นว่าการพัฒนาชุมชนต้องเริ่มต้นจากการสร้างศักยภาพและความยั่งยืนให้กับประชาชนในระดับฐานราก โดยไม่พึ่งพาการแจกจ่ายงบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและการสนับสนุนในรูปแบบที่ส่งเสริมความสามารถในการพึ่งพาตนเอง การดำเนินการผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น ตลาดน้ำคลองลัดมะยม บ้านมั่นคง และป่าชุมชน แสดงให้เห็นว่าชุมชนสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาฐานรากและสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจะช่วยลดภาระทางการคลังและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศในระยะยาว
7. การพัฒนาองค์กรชุมชน
ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้ชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญในประเทศไทยเกี่ยวกับการดำเนินโครงการนำร่อง (Pilot Project) ที่มีจำนวนมากเกินไป แต่ขาดความต่อเนื่องและการขยายผลอย่างยั่งยืน โดยโครงการส่วนใหญ่มักจบลงเมื่อผู้ริเริ่มหรือผู้สนับสนุนโครงการไม่อยู่ เช่นเดียวกับปัญหาของระบบราชการหรือองค์กรที่พึ่งพาผู้นำเพียงคนเดียว ซึ่งทำให้โครงการไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้เมื่อผู้นำออกจากตำแหน่ง โดย ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้ยกตัวอย่างการดำเนินโครงการของรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น โครงการ Digital Wallet ที่เน้นการแจกจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง แม้จะมีผลในระยะสั้น แต่หากระบบไม่สามารถรองรับได้ เช่น ปัญหาความล่มของระบบ Mobile Banking ในช่วงแรก อาจทำให้โครงการประสบปัญหาทั้งในเชิงเทคนิคและการดำเนินการ
นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้สรุปหัวใจของการพัฒนาองค์กรชุมชน จำนวน 3 ประเด็น ประกอบด้วย
- การพัฒนาผู้นำชุมชน : การพัฒนาผู้นำชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อ่อนแอ การมีผู้นำที่เข้มแข็งช่วยสร้างแรงบันดาลใจและความไว้วางใจในชุมชน จากนั้นผู้นำจะเป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ เปลี่ยนจากผู้นำคนเดียวให้กลายเป็นกลุ่มคนที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาได้
- การสร้างองค์กรชุมชนและเครือข่าย : จากผู้นำเพียงคนเดียว สามารถพัฒนาไปสู่การสร้างเครือข่ายผู้นำที่ทำงานร่วมกันในพื้นที่ เมื่อองค์กรชุมชนมีโครงสร้างและเครือข่ายที่แข็งแกร่ง การดำเนินโครงการต่าง ๆ จะสามารถตกผลึกและบรรลุผลได้ โดย “แก่น” ของชุมชนที่เข้มแข็งจะทำให้ผลกระทบของโครงการเป็นไปอย่างยั่งยืน
- การพัฒนาทักษะการขยายผล (Scale Up) : หนึ่งในความท้าทายสำคัญคือการขยายผลจากโครงการเล็ก ๆ ไปสู่โครงการขนาดใหญ่ ครอบคลุมทุกพื้นที่ เช่น การขยายผลจาก 100 ตำบลเป็น 500 ตำบล และต่อยอดจนสามารถดำเนินการได้ครบทุกตำบลในประเทศไทย ทักษะการ Scale Up จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรในประเทศไทยยังขาดแคลน
สำหรับแนวทางการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้นำเสนอ 4 แนวทาง ประกอบด้วย
1) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้นำและเครือข่ายชุมชน : การพัฒนาองค์กรชุมชนต้องเริ่มจากการสร้างผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ และเชื่อมโยงผู้นำในแต่ละพื้นที่เข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายที่แข็งแกร่ง
2) ออกแบบโครงการที่มีเป้าหมายชัดเจนและยืดหยุ่น : โครงการต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนแต่ละแห่ง และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เช่น การใช้งบประมาณจำกัดแต่สร้างผลกระทบที่ยั่งยืน
3) การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ : หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดการฝึกอบรมในเรื่องการบริหารโครงการ การขยายผล และการจัดการทรัพยากร เพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินโครงการด้วยตนเอง
4) การวางแผนการขยายผล : ควรมีแผนการขยายผลที่ชัดเจน โดยเน้นการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเริ่มต้นในพื้นที่นำร่อง 100 ตำบล แล้วขยายผลในระยะยาวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการวางรากฐานที่แข็งแกร่ง โดยเริ่มจากการพัฒนาผู้นำชุมชน การสร้างองค์กรชุมชนที่ยั่งยืน และการขยายผลโครงการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ การดำเนินโครงการต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและผลกระทบระยะยาว ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนาทักษะการขยายผลและการบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพได้ จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างยั่งยืน
8. บทบาทของเอกชน
ดร.กอบศักดิ์ฯ มองว่า เอกชนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการจัดสรรทรัพยากร องค์ความรู้ และโอกาสทางการค้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในระยะยาว โดยการสนับสนุนนี้รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มช่องทางตลาด และสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ศูนย์เด็กเล็กหรือพื้นที่เรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของประชากรในระดับฐานราก ตัวอย่างที่ชัดเจนในประเทศไทย ได้แก่ โครงการไก่ย่างจีระพันธ์ ซึ่งเดิมมียอดขายเพียง 4 ล้านบาทต่อปี แต่หลังจากได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปตท. ผ่านการจัดตั้งซุ้มขายในสถานีบริการน้ำมันกว่า 100 แห่ง ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ร้านโอ้กะจู๋ ซึ่งเริ่มต้นจากการปลูกผักและพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีรายได้รวมประมาณ 7 พันล้านบาท โดยขยายสาขาทั่วประเทศ เป็นตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรและความรู้ของเอกชนในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจฐานราก
นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้ยกตัวอย่างในระดับนานาชาติ เช่น กรณีของประเทศจีนได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางที่ประสบความสำเร็จผ่าน “Taobao Villages” ของอาลีบาบา ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงตลาดโลกผ่าน e-commerce และระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ แนวทางดังกล่าวลดการพึ่งพารัฐบาลและส่งเสริมการพัฒนาชุมชนด้วยความร่วมมือจากเอกชน ในประเทศไทย การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ช่วยสร้างแรงจูงใจให้เอกชนมีบทบาทในโครงการพัฒนาชุมชน เช่น การยกระดับสินค้าในชุมชน การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ และการสนับสนุนโครงการที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรเอกชนอย่างยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน ดร.กอบศักดิ์ฯ มองว่า การสนับสนุนให้ชุมชนปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล เช่น การพัฒนาทักษะด้าน e-commerce และโลจิสติกส์ มีความสำคัญต่อการสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว ทั้งนี้ บทบาทของเอกชนที่มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐ ชุมชน และองค์กรเอกชน นับเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศในระดับฐานรากอย่างแท้จริง
9. บทสรุป : หัวใจสำคัญของการพัฒนาชุมชนฐานราก
ในช่วงท้ายของรายการเสวนาฯ ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้กล่างถึงแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนฐานรากมีหัวใจสำคัญที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนผ่าน 5 ด้านหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างศักยภาพชุมชน การกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง การปรับปรุงกฎหมายและนโยบาย การพัฒนากิจกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ และการสร้างความยั่งยืนและพึ่งพาตนเอง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- เสริมสร้างศักยภาพชุมชน : การสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของชาวบ้านเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เช่น การฝึกทักษะด้านอาชีพและการจัดการทรัพยากร นอกจากนี้ การส่งเสริมบทบาทผู้นำชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนของการพัฒนายังช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถบริหารจัดการด้วยตนเอง
- การกระจายทรัพยากรและโอกาสอย่างทั่วถึง : การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน น้ำ ไฟฟ้า และการสื่อสาร เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตในชุมชน การจัดสรรทรัพยากรควรสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม
- ปรับปรุงกฎหมายและนโยบาย : การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน รวมถึงการผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมความมั่นคง เช่น พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน และ พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
- พัฒนากิจกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ : การสนับสนุนโครงการที่สอดคล้องกับศักยภาพของชุมชน เช่น ธนาคารต้นไม้ที่ส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต ธนาคารปูม้าที่พลิกฟื้นทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดมูลค่า และการพัฒนาสวัสดิการชุมชนที่ริเริ่มโดยชาวบ้าน ล้วนเป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่นำโดยประชาชน
- สร้างความยั่งยืนและพึ่งพาตนเอง : การลดการพึ่งพาจากรัฐบาลและส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรภายในชุมชน เช่น การออมทรัพย์หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความมั่นคงในระยะยาว
ท้ายที่สุด ดร.กอบศักดิ์ฯ ได้ให้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวเข้าสู่สถานะประเทศพัฒนาแล้วได้ หากยังคงละเลยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาที่แท้จริงต้องเริ่มต้นจากการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มผ่านการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม การสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิต และการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น โครงการตลาดน้ำคลองลัดมะยม หรือธนาคารต้นไม้ ล้วนสะท้อนถึงศักยภาพของชุมชนในการพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น การนำเทคโนโลยีมาจัดการข้อมูล หรือการพัฒนาทักษะด้าน e-commerce เพื่อเพิ่มรายได้และลดต้นทุนของประชาชน ถือเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน หากประเทศไทยสามารถปรับแนวทางการพัฒนาใหม่ โดยเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากแทนที่จะพึ่งพามาตรการชั่วคราว ประเทศจะสามารถก้าวข้ามความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจและสร้างความสมดุลและมั่นคงในระยะยาวได้อย่างแท้จริง



นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวณัฏฐธิดา จันภักดี
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวภูริดา ปราบสูงเนิน
เศรษฐกร
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน