บทความโดย
นางสาวอรกันยา เตชะไพบูลย์
นางสาวมัทยา บุตรงาม
นางสาวจิตมาศ แสงสุวรรณ
นายติณณวัฒน์ เดิมบางชัน
บทนำ
การกระจายอำนาจทางการคลังไปสู่ท้องถิ่นเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะและสะท้อนความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการวัดจากสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้รวมของรัฐบาล ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด สะท้อนถึงลักษณะโครงสร้างรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันที่มีความเปราะบาง เนื่องจากยังคงต้องพึ่งพารายได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลในส่วนกลางเป็นหลัก นอกจากนี้ในส่วนของรายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเองในบางท้องถิ่นยังคงมีศักยภาพในการจัดหารายได้ที่ต่ำ และยังได้รับความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลรวมถึงสภาวการณ์เศรษฐกิจมหภาคในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น การสำรวจเพื่อแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่เพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีความจำเป็นและสำคัญเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและเสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้การคลังท้องถิ่นไทยในระยะต่อไป
บทความนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจแหล่งรายได้ใหม่เพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในไทย โดยถอดบทเรียนจากภาษีท้องถิ่นที่จัดเก็บในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จในการใช้แนวคิดนอกกรอบ มาปรับใช้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีสามารถเลือกที่จะบริจาคภาษีไปให้ยังท้องถิ่นที่ต้องการได้โดยตรง โดยภาษีบ้านเกิด (Hometown Tax) เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2551 และดำเนินการควบคู่กับการจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัย (Inhabitant Tax) หรืออาจเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าภาษีบ้านอยู่ ซึ่งดำเนินการมาอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ปี 2497 เพื่อเป็นการวิเคราะห์โอกาสและความท้าทาย และสรุปความเป็นไปได้หรือเสนอเงื่อนไขที่เหมาะสมในการพิจารณานำภาษีบ้านอยู่และภาษีบ้านเกิดมาปรับใช้ในบริบทท้องถิ่นไทย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในไทยจำเป็นต้องเพิ่มรายได้จัดเก็บเอง
ในเชิงรัฐศาสตร์ แนวคิดการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่นเริ่มเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในประเทศไทยในปี 2540 เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดว่า“รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น”
ในเชิงเศรษฐศาสตร์การคลัง แนวคิดการกระจายอำนาจทางการคลังเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในประเทศไทยในช่วงปี 2542 เมื่อพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ โดยมีการกำหนดสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาลเป็นเป้าหมายอย่างชัดเจน โดยในภายหลังได้มีการปรับเป้าหมายดังกล่าวในพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 มาตรา 30 (4) กำหนดให้การจัดสรรภาษีและอากร เงินอุดหนุน และรายได้อื่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 และการจัดสรรเงินอุดหนุนมีจำนวนไม่น้อยกว่าเงินอุดหนุนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549
ภาพที่ 1 รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วงระหว่างปี 2549 – 2565
จากข้อมูลรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาพรวมช่วงระหว่างปี 2549 – 2565 พบว่า นับตั้งแต่ที่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2549 รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรายได้ในแต่ละปีรวมถึงเงินอุดหนุนมีจำนวนมากกว่าที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จัดเก็บเองเฉลี่ยอยู่ที่ 46,724 ล้านบาท รายได้ที่รัฐบาลเก็บให้และแบ่งให้เฉลี่ยอยู่ที่ 250,498 ล้านบาท และเงินอุดหนุนเฉลี่ยอยู่ที่ 216,540 ล้านบาท
ภาพที่ 2 เป้าหมายสัดส่วนรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลระหว่างปี 2543 – 2568
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาลพบว่า ในช่วงต้นของการกระจายอำนาจการคลังไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สัดส่วนดังกล่าวมีการปรับขึ้นอย่างชัดเจน แต่ในระยะหลังจนถึงปัจจุบันสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาลในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยและมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 29.0 – 30.0
ภาพที่ 3 สัดส่วนรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2565
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนของรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละประเภทพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสัดส่วนของรายได้จัดเก็บเองค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่รัฐบาลเก็บให้และแบ่งให้ และเงินอุดหนุน โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงร้อยละ 9.4 ขณะที่มีสัดส่วนรายได้ที่รัฐบาลเก็บให้และแบ่งให้ที่ร้อยละ 49.1 และเงินอุดหนุนที่ร้อยละ 41.5
ด้วยเหตุนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพารายได้จากรายได้ที่รัฐบาลเก็บให้และแบ่งให้ และเงินอุดหนุนที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีอยู่มาก ส่งผลให้การดำเนินการจัดให้มีบริการสาธารณะในพื้นที่อาจยังต้องเผชิญข้อจำกัดและยังไม่อยู่ในลักษณะที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีอิสระเพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการในแต่ละพื้นที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่น
ภาพที่ 4 สัดส่วนรายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเอง ปี 2565
เมื่อพิจารณาในเชิงลึกถึงรายละเอียดรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฉพาะในส่วนที่จัดเก็บเองจะพบว่า มากกว่าครึ่งเป็นการพึ่งพารายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ55.3 โดยรายได้จากแหล่งอื่นมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ได้แก่ รายได้เบ็ดเตล็ดร้อยละ 22.9 ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาตร้อยละ 9.3 ภาษีป้ายร้อยละ 7.0 ภาษีบำรุงจากน้ำมันยาสูบ และค่าธรรมเนียมจากผู้เข้าพักโรงแรมร้อยละ 5.0 และอากรฆ่าสัตว์และอากรรังนกอีแอ่นรวมกันร้อยละ 0.5
การพึ่งพารายได้จัดเก็บเองจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ตามกฎหมายที่ค่อนข้างใหม่เป็นหลัก แม้คาดว่าจะช่วยยกระดับศักยภาพของท้องถิ่นให้สามารถจัดเก็บรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้ แต่ในช่วงต้น อาจต้องเผชิญกับความท้าทายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตีความกฎหมาย รวมถึงการนำหลักเกณฑ์และวิธีการไปสู่การปฏิบัติ ประกอบกับทันทีหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้ประกาศลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงร้อยละ 90 ในปี 2563 และ 2564 และร้อยละ 15 ในปี 2566 ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้ในส่วนที่จัดเก็บเองลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงความเสี่ยงจากนโยบายรัฐบาลในแต่ละช่วงที่อาจมีผลกระทบโดยตรงต่อการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ดังนั้น เช่นเดียวกับการดำเนินนโยบายการคลังในมิติมหภาคเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการคลัง การดำเนินนโยบายในมิติการคลังท้องถิ่นจึงมีความจำเป็นต้องสำรวจช่องทางการขยายฐานภาษีและการจัดหาแหล่งรายได้ใหม่ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและเพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ อีกทั้ง หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพึ่งพารายได้ที่จัดเก็บเองได้มากขึ้น จะทำให้สามารถมีอิสระทางการคลังและบริหารจัดการการคลังท้องถิ่นเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้
ภาษีเพื่อการอยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่น
ภาษีเพื่อการอยู่อาศัยเป็นภาษีที่จัดเก็บตั้งแต่ปี 2497 เพื่อทดแทนรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ที่ได้ยกเลิกการจัดเก็บไป โดยภาษีเพื่อการอยู่อาศัยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อาศัยอยู่ในอาณาเขตของท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณะในท้องถิ่นนั้น เช่น การศึกษา สวัสดิการ บริการดับเพลิง/ฉุกเฉิน การกำจัดขยะ โดยผู้เสียภาษีจะต้องชำระภาษีเพื่อการอยู่อาศัยต่อเทศบาลที่อยู่อาศัยและจังหวัดที่เทศบาลนั้นตั้งอยู่ โดยภาษีเพื่อการอยู่อาศัยจะจัดเก็บจากบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนั้น ณ วันที่ 1 มกราคมของทุกปี
การจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยของประเทศญี่ปุ่นในแต่ละปี สำหรับบุคคลธรรมดาจะคำนวณจากรายได้ที่ได้รับจากการทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคมของปีก่อนหน้า รวมกับรายได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ย เงินปันผล และผลกำไรที่เกิดจากการโอนหลักทรัพย์การลงทุน โดยหลังหักรายการลดหย่อนรายได้แล้วนำมาคูณด้วยอัตราภาษีร้อยละ 10 ซึ่งสามารถหักลดหย่อนจำนวนเงินภาษี่ที่ต้องชำระได้ แล้วจึงนำมารวมกับภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มต่อคนซึ่งมีรายละเอียดอัตราการจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยและภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มต่อคน ดังนี้ ตารางที่ 1 อัตราภาษีเพื่อการอยู่อาศัยสำหรับบุคคลธรรมดา
ประเภทภาษีที่ต้องชำระ | อัตราภาษี1 | ภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม ต่อคน |
ภาษีเพื่อการอยู่อาศัยระดับจังหวัด | ร้อยละ 4 | 1,000 เยน |
ภาษีเพื่อการอยู่อาศัยระดับเทศบาล | ร้อยละ 6 | 3,000 เยน |
ภาษีสิ่งแวดล้อมป่าไม้2 | – | 1,000 เยน |
รวม | ร้อยละ 10 | 5,000 เยน |
1. อัตราภาษี หมายถึง ร้อยละของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี โดยคำนวณจากรายได้ทั้งหมด – รายได้ที่ได้รับการลดหย่อน = จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี
2. ภาษีสิ่งแวดล้อมป่าไม้ หมายถึง ภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บเพื่อการจัดการและพัฒนาสิ่งแวดล้อมป่าไม้ โดยเก็บเพิ่มจากภาษีเพื่อการอยู่อาศัยในอัตราคนละ 1,000 เยน
ตารางที่ 2 หลักเกณฑ์การคำนวณภาษีเพื่อการอยู่อาศัยสำหรับบุคคลธรรมดา
ขั้นตอนที่ 1 | จำนวนรายได้ทั้งหมด – รายได้ที่ได้รับการลดหย่อน = จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี |
ขั้นตอนที่ 2 | (จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี * อัตราภาษีร้อยละ 10) – จำนวนเงินภาษีที่หักลดหย่อนได้ = จำนวนภาษีเงินได้ |
ขั้นตอนที่ 3 | จำนวนภาษีเงินได้ + ภาระภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มต่อคน (5,000 เยน) = จำนวนภาษีเพื่อการอยู่อาศัยสำหรับบุคคลธรรมดา |
สำหรับนิติบุคคล การจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัย แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ จัดเก็บเป็นร้อยละจากจำนวนภาษีนิติบุคคล และจัดเก็บเป็นเงินก้อนคงที่ ซึ่งการจัดเก็บจากร้อยละของจำนวนภาษีนิติบุคคลจะคำนวณด้วยการนำรายได้ที่ต้องเสียภาษีคูณกับอัตราภาษีนิติบุคคล และหักลบจำนวนเครดิตภาษีแล้ว คูณด้วยอัตราภาษีเพื่อการอยู่อาศัยร้อยละ 7.0 (ระดับจังหวัดร้อยละ 1.0 และระดับเทศบาลร้อยละ 6.0) ส่วนการจัดเก็บเป็นเงินก้อนคงที่จะจัดเก็บตามขนาดของนิติบุคคล โดยในระดับจังหวัดและระดับเทศบาลมีการกำหนดภาระภาษีตามจำนวนเงินทุนจดทะเบียน ซึ่งภาระภาษีจะอยู่ระหว่าง 70,000 เยน (ในกรณีที่มูลค่าทุนจดทะเบียนไม่เกิน 10 ล้านเยน) ถึง 3.8 ล้านเยน (ในกรณีที่มูลค่าทุนจดทะเบียนเกิน 5 พันล้านเยน) นอกจากนี้ ในระดับเทศบาลยังพิจารณาตามจำนวนพนักงาน โดยกรณีจำนวนพนักงานไม่เกิน 50 คน ภาระภาษีจะอยู่ระหว่าง 50,000 เยน ถึง 410,000 เยน ขณะที่กรณีจำนวนพนักงานมากกว่า 50 คน ภาระภาษีจะอยู่ระหว่าง 120,000 เยน ถึง 3 ล้านเยน ทั้งนี้ จำนวนภาษีเพื่อการอยู่อาศัยที่แท้จริงจะถูกกำหนดโดยหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง ซึ่งมีรายละเอียดอัตราการจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยและภาระภาษีส่วนเงินก้อนคงที่ ดังนี้
ตารางที่ 3 อัตราภาษีเพื่อการอยู่อาศัยสำหรับนิติบุคคล
ประเภทภาษีที่ต้องชำระ | อัตราภาษี1 | ภาระภาษีส่วนเงินก้อนคงที่ | |
ภาษีเพื่อการอยู่อาศัยระดับจังหวัด | ร้อยละ 1 | 20,000 – 800,000 เยน | |
ภาษีเพื่อการอยู่อาศัยระดับเทศบาล | ร้อยละ 6 | 50,000 – 3,000,000 เยน | |
กรณีจำนวนพนักงาน ไม่เกิน 50 คน | กรณีจำนวนพนักงาน มากกว่า 50 คน | ||
50,000 – 410,000 เยน | 120,000 – 3,000,000 เยน | ||
รวม | ร้อยละ 7 | 70,000 – 3,800,000 เยน |
ตารางที่ 4 หลักเกณฑ์การคำนวณภาษีเพื่อการอยู่อาศัยสำหรับนิติบุคคล
ขั้นตอนที่ 1 | รายได้ทั้งหมด – ต้นทุนทั้งหมด = รายได้ที่ต้องเสียภาษี |
ขั้นตอนที่ 2 | (รายได้ที่ต้องเสียภาษี * อัตราภาษีนิติบุคคล) – จำนวนเครดิตภาษี = จำนวนภาษีนิติบุคคล |
ขั้นตอนที่ 3 | (จำนวนภาษีนิติบุคคล * อัตราภาษีร้อยละ 7) + ภาระภาษีส่วนเงินก้อนคงที่ = จำนวนภาษีเพื่อการอยู่อาศัยสำหรับนิติบุคคล |
ในส่วนวิธีการชำระภาษีเพื่อการอยู่อาศัย สามารถชำระได้ 2 วิธี คือ การชำระแบบธรรมดา ซึ่งสามารถชำระภาษีที่สำนักงานเทศบาลตามที่มีหนังสือแจ้งการชำระภาษีส่งให้ และในส่วนของลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนมักชำระด้วยวิธีการแบบพิเศษ โดยบริษัทจะหักชำระภาษีจากเงินเดือนส่งให้สำนักงานเทศบาล ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างการจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยเป็นภาระภาษีต่อคนหรือเป็นเงินก้อนคงที่กับอัตราที่คำนวณเป็นร้อยละ คือบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจะชำระอัตราภาษีเป็นร้อยละเมื่อมีรายได้เข้าเกณฑ์ที่ต้องชำระภาษีให้กับประเทศเท่านั้น ในขณะที่ภาระภาษีที่เก็บเป็นเงินก้อนคงที่จะจัดเก็บเป็นจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ณ วันที่ 1 มกราคม และมีรายได้ในปีก่อนหน้ายังจำเป็นต้องชำระภาษีเพื่อการอยู่อาศัย แม้ว่าในปีต่อมาจะมีรายได้ลดลงหรือว่างงาน หรือกรณีนิติบุคคลที่ขาดทุน ดังนั้น ภาระภาษีต่อหัวที่จัดเก็บเป็นเงินก้อน จึงมีลักษณะที่ชัดเจนว่าเป็นค่าธรรมเนียมสมาชิกที่จ่ายในฐานะสมาชิกของชุมชนท้องถิ่นนั้น
ภาพที่ 5 รายได้จากภาษีเพื่อการอยู่อาศัยของประเทศญี่ปุ่นช่วงระหว่างปี 2561 – 2565
ตารางที่ 5 สัดส่วนรายได้จากภาษีเพื่อการอยู่อาศัยของประเทศญี่ปุ่น ช่วงระหว่างปี 2560 – 2564
รายได้ภาษี (หน่วย : พันล้านเยน) | 2560 | 2561 | 2562 | 2563 | 2564 | |
(1) | รายได้ภาษีเพื่อการอยู่อาศัย | 15,833 | 16,231 | 16,381 | 15,743 | 15,854 |
(2) | รายได้ภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง | 39,904 | 40,751 | 41,211 | 40,826 | 42,409 |
(3) | สัดส่วนต่อรายได้ภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง [ (3) = % (1) ÷ (2) ] | 39.7% | 39.8% | 39.7% | 38.6% | 37.4% |
(4) | รายได้ภาษีทั้งหมด | 171,805 | 175,564 | 175,432 | 177,321 | 187,904 |
(5) | สัดส่วนภาษีเพื่อการอยู่อาศัยต่อรายได้ภาษีทั้งหมด [ (5) = % (1) ÷ (4) ] | 9.2% | 9.2% | 9.3% | 8.9% | 8.4% |
เมื่อพิจารณาข้อมูลรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยย้อนหลัง 5 ปีของประเทศญี่ปุ่น พบว่า ประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยลดลงในปี 2563 อยู่ที่ 15,743 พันล้านเยน จาก 16,381 พันล้านเยนในปีก่อนหน้า แต่รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยในปี 2564 ได้กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 15,854 พันล้านเยน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 16,311 พันล้านเยน ในปี 2565 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนของรายได้จากภาษีเพื่อการอยู่อาศัยพบว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยจากบุคคลธรรมดามากกว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยจากนิติบุคคลอย่างชัดเจน โดยค่าเฉลี่ยการจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยอยู่ที่ 16,104 พันล้านเยน ซึ่งประกอบด้วยภาษีเพื่อการอยู่อาศัยจากบุคคลธรรมดาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,292 พันล้านเยน คิดเป็นร้อยละ 82.5 และภาษีเพื่อการอยู่อาศัยจากนิติบุคคลเฉลี่ยอยู่ที่ 2,812 พันล้านเยน คิดเป็นร้อยละ 17.5 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลสัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงระหว่างปี 2560 – 2564 เปรียบเทียบกับรายได้ภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองพบว่า สัดส่วนอยู่ระหว่างร้อยละ 37.4 – 39.8 และพบว่า สัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพื่อการอยู่อาศัยเปรียบเทียบกับรายได้จากภาษีทั้งหมดของรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นอยู่ระหว่างร้อยละ 8.4 – 9.3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของรายได้จากภาษีเพื่อการอยู่อาศัยอย่างชัดเจน
ภาษีบ้านเกิดในประเทศญี่ปุ่น
ภาษีบ้านเกิดในประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นขึ้นในปี 2551 เนื่องจากรัฐบาลต้องการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตชนบทและเขตเมือง จึงได้นำแนวคิดที่เรียกว่า ฟุรุซาโตะ โนะเซอิ (Furusato Nozei) หรือภาษีบ้านเกิด เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว โดยแนวคิดภาษีบ้านเกิด เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เสียภาษีเพื่อการอยู่อาศัยบริจาคเงินให้กับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ ด้านการลดหย่อนภาษี (Tax Deduction) และผู้บริจาคจะได้รับของขวัญตอบแทน (Thank You Gift) จากเทศบาลที่เลือกส่งภาษีบ้านเกิดให้ ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดได้ถึงร้อยละ 30 ของจำนวนเงินบริจาคอีกด้วย
ปีงบประมาณของประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นในเดือนเมษายน และชาวญี่ปุ่นจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ภายในกลางเดือนมีนาคมของปีถัดไป เพื่อคำนวณและกำหนดจำนวนรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงปีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 31 ธันวาคม รวมถึงจำนวนภาษีเงินได้ที่เรียกเก็บจากรายได้ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังสามารถยื่นแบบแสดงรายการหักลดหย่อนภาษีบ้านเกิดที่จ่ายไปในปีที่แล้วได้ โดยขั้นตอนแรก คือ ผู้บริจาคต้องตรวจสอบจำนวนเงินสูงสุดที่สามารถส่งภาษีบ้านเกิดให้ท้องถิ่นได้ ซึ่งขึ้นกับจำนวนรายได้ของบุคคลนั้น หลังจากนั้นผู้บริจาคจะต้องเลือกพื้นที่ในการบริจาค ซึ่งสามารถเลือกบริจาคให้ท้องถิ่นที่อาศัยอยู่หรือท้องถิ่นอื่นได้เช่นกัน โดยสามารถเลือกบริจาคให้ท้องถิ่นได้ไม่เกิน 5 แห่ง และขั้นตอนสุดท้ายคือ นำใบเสร็จจากการนำส่งภาษีที่บริจาคมาใช้ลดหย่อนภาษีในปีต่อไป การบริจาคภาษีบ้านเกิด ผู้บริจาคต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น หากบริจาคเป็นสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่น ผู้บริจาคจะไม่สามารถนำมูลค่าของทรัพย์สินที่บริจาคมาหักค่าใช้จ่ายหรือหักลดหย่อนภาษีได้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการกำหนดจำนวนเงินบริจาคขั้นต่ำ หากผู้เสียภาษีบริจาคมากกว่า 2,000 เยนต่อปีขึ้นไป จะสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้และภาษีเพื่อการอยู่อาศัยได้ โดยมีวิธีการคำนวณตามที่กฎหมายกำหนด แต่รวมกันแล้วต้อง ไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีเพื่อการอยู่อาศัยที่ต้องชำระ
การดำเนินนโยบายภาษีบ้านเกิดในประเทศญี่ปุ่นถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง สาเหตุหนึ่งมาจากระบบภาษีของประเทศญี่ปุ่นที่มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ จึงทำให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการบริจาคมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์โดยเฉพาะท้องถิ่นที่อยู่ในเขตชนบทที่มีขนาดเล็กในการนำเงินบริจาคไปใช้พัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเกิดภัยพิบัติหรือการจัดการบริการสาธารณะในท้องถิ่นนั้น นอกจากนี้ การนำสิ่งของที่มีมูลค่าหรือมีชื่อเสียงมาเป็นของขวัญในการสร้างแรงจูงใจในการบริจาค ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริจาคได้เช่นกันว่าจะได้รับของขวัญตอบแทนที่มีคุณภาพและมาจากแหล่งผลิตโดยตรงอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ การที่หน่วยงานท้องถิ่นซื้อผลผลิตของประชาชนในพื้นที่มาเป็นของขวัญตอบแทนผู้บริจาค ถือเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย โดยก่อให้เกิดการใช้จ่ายและมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของท้องถิ่นนั้น รวมถึงเป็นแรงกระตุ้นทำให้เกิดการแข่งขัน การพัฒนา ที่ช่วยสร้างความเจริญในพื้นที่ท้องถิ่นนั้นด้วย ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการนำภาษีบ้านเกิดมาเป็นเครื่องมือช่วยลด
ความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองและชนบท
โอกาสและความท้าทายในการนำภาษีบ้านอยู่และภาษีบ้านเกิดมาปรับใช้ในบริบทท้องถิ่นไทย
การพิจารณานำภาษีเพื่อการอยู่อาศัยมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย จะเป็นการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีแหล่งรายได้ใหม่ซึ่งอาจส่งผลให้มีจัดเก็บรายได้ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี ในบริบทของประเทศไทยที่มีความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่สูง จำเป็นจะต้องคำนึงถึงศักยภาพที่แตกต่างกันขององค์กรปกครองท้องถิ่นแต่ละแห่ง โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินการที่อาจส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากท้องถิ่นที่เป็นศูนย์รวมความเจริญทางเศรษฐกิจจะยิ่งมีความสามารถในการจัดเก็บรายได้มากขึ้น ตรงกันข้ามกับท้องถิ่นขนาดเล็กและท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลความเจริญซึ่งมักมีอัตราการจ้างงานต่ำและมีผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากประกอบกับโครงสร้างระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยมี ความแตกต่างกัน ทั้งการกำหนดประเภท ขนาด จำนวน และอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษี ทำให้การนำภาษีเพื่อการอยู่อาศัยมาใช้ จำเป็นต้องคำนึงถึงความซ้ำซ้อนของระบบการบริหารและภาระภาษีที่เกิดขึ้นกับประชากรในท้องถิ่น
นอกจากนี้ สังคมไทยมีการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ ทำให้มีประชากรแฝงอาศัยอยู่ในเขตเมืองที่มีความเจริญ ในขณะที่ภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎรยังคงอยู่ในเขตชนบท อาจทำให้การบริหารจัดการและจัดเก็บยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านควรคำนึงถึงแนวทางการบริหารจัดการรายได้ท้องถิ่นให้เพียงพอ เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดให้มีบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานในแต่ละท้องถิ่นได้ไม่น้อยกว่าเดิมด้วย
สำหรับการจัดเก็บภาษีบ้านเกิดควรทำโดยคำนึงถึงความสะดวก เข้าใจง่าย และควรคำนึงถึงการมีระบบฐานข้อมูลของระบบภาษีที่มีการจัดเก็บเป็นมาตรฐานและเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้ ควรประยุกต์ใช้เครื่องมือของระบบภาษีที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ เช่นระบบ e-Donation ที่สามารถประยุกต์ใช้ในการจัดเก็บภาษีบ้านเกิดและการใช้ข้อมูลเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นต้น
ในส่วนของการเลือกของขวัญตอบแทนตามหลักการของภาษีนี้การกำหนดของขวัญตอบแทนในบริบทของไทยสามารถทำได้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบสินค้าและบริการ หรือการท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือเขตเมืองรอง ซึ่งคาดว่านอกจากช่วยกระตุ้นการแข่งขันระหว่างองค์กรท้องถิ่นเพื่อจัดทำและพัฒนาบริการสาธารณะแล้วยังจะช่วยเปิดโอกาสและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศได้อีกด้วย
ภาษีบ้านเกิดเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท โดยประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือทางการคลังรูปแบบใหม่ที่ช่วยบรรเทาภาระการคลังในภาวะฉุกเฉิน เช่น กรณีเมืองคุมาโมโตะ จังหวัดคุมาโมโตะ ประสบเหตุอุทกภัยดินถล่มฉับพลันหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2562 แต่ภาษีบ้านเกิดทำให้คุมาโมโตะได้รับเงินบริจาคมากกว่า 570 ล้านเยน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่วนผู้บริจาคได้รับเครื่องปั้นดินเผาที่แตกสลายจากแผ่นดินไหว นำทองคำมาเชื่อมต่อด้วยเทคนิคเฉพาะถิ่นเป็นของขวัญแทนคำขอบคุณ เป็นต้น ซึ่งแนวทางนี้อาจเป็นประโยชน์เหมาะสมที่จะนำมาปรับใช้ในบริบทของไทย ซึ่งมีหลายพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินอยู่เป็นระยะ
บทสรุป
ภาษีเพื่อการอยู่อาศัยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อาศัยอยู่ในอาณาเขตของท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณะในท้องถิ่นนั้น เช่น การศึกษา สวัสดิการ บริการดับเพลิง/ฉุกเฉิน และการกำจัดขยะ เป็นต้น ซึ่งเป็นรายได้จัดเก็บเองของท้องถิ่น มีอัตราภาษีคำนวณจากฐานรายได้ ซึ่งจัดเก็บจากประชากรและนิติบุคคลที่อาศัยในประเทศญี่ปุ่น ณ วันที่ 1 มกราคม ซึ่งการเก็บภาษีตามฐานรายได้นี้ทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บรายได้ได้มาก และเป็นรายได้สำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่น
ขณะที่ภาษีบ้านเกิดนอกจากจะเป็นแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำได้แล้ว ภาษีบ้านเกิดยังเป็นแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น เนื่องจากหน่วยงานท้องถิ่นจะนำสินค้าที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นเป็นของขวัญตอบแทนแก่ผู้บริจาค และยังเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าให้ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อของเพิ่มเติมจากพื้นที่นั้นได้ ทำให้เกิดช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และทำให้มีเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจของพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นได้
สำหรับการนำแนวทางภาษีเพื่อการอยู่อาศัยและภาษีบ้านเกิดของประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้ในประเทศไทย จำเป็นต้องศึกษากระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะข้อมูลของประชากรแฝงที่ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้รับบริการสาธารณะเช่นเดียวกับผู้อยู่อาศัยและเสียภาษีในเมืองนั้น แต่ยังไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีต่อท้องถิ่นดังกล่าว เนื่องจากทะเบียนบ้านของตนอาจยังอยู่ในภูมิลำเนาเดิม นอกจากนี้ การกำหนดอัตราการลดหย่อนภาษีและเครดิตภาษี รวมถึงมูลค่าและรูปแบบของขวัญตอบแทนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเช่นกัน เพื่อให้ท้องถิ่นได้รับประโยชน์สูงสุดและสามารถนำเงินบริจาคที่ได้รับไปใช้ดำเนินการจัดบริการด้านสาธารณะหรือพัฒนาด้านต่าง ๆ ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
- กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (2565). รู้จัก “ภาษีบ้านเกิด” ภาษีสุดแฮปปี้ที่ญี่ปุ่น ยิ่งจ่าย ยิ่งได้ของอร่อย. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.bangkokbiznews.com/business/1009769
- จาตุรนต์ เทพเดชา. (2563). สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการบริจาคเงินและทรัพย์สินให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 3.
- พิทูร ชมสุข, เพชรลักษณ์ บุญญาคุณากร และจิรวัฒน์ ภู่งาม. (2564). ลดความเหลื่อมล้ำบ้านเกิดด้วย Hometown Tax. Regional Letter, (9), สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/regional-articles/reg-article-2021-09.html
- รวิ รัชนีกร. (2564). Hometown Tax : ภาษี (รัก) บ้านเกิด ลดภาษี ได้ของขวัญ เพิ่มรายได้ท้องถิ่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.creativethailand.org/article-read?article_id=33198
- ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ และ พินิตพันธุ์ บริพัตร, ม.ล., (2548). ระบบและรูปแบบการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณีประเทศญี่ปุ่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M10_210.pdf
- Beyer, Vicki L. (1992). The Legacy of the Shoup Mission: Taxation Inequities and Tax Reform in Japan. Retrieved July 17, 2024 from https://escholarship.org/content/qt7wn0f37c/qt7wn0f37c.pdf?t=n4ovrz
- Forest Environment Tax: Constantly Review Allocation of Revenue Based on Actual Situation. (2024). The Japan News. Retrieved July 17, 2024 from https://japannews.yomiuri.co.jp/editorial/yomiuri-editorial/20240531-189354/
- Hideaki Hirata. (2024). Growing Distortions in the Hometown Tax Scheme (3): Cash Flows and Challenges for Urban Municipalities. Retrieved July 30, 2024 from https://www.tokyofoundation.org/research/detail.php?id=975
- Hiromitsu Ishi. (1988). Historical Background of the Japanese Tax System. Retrieved July 17, 2024 from https://hermes-ir.lib.hit-u.ac.jp/hermes/ir/re/7843/HJeco0290100010.pdf
- Kenichiro Harada. (2009). Local Taxation in Japan. Retrieved July 17, 2024 from https://www.clair.or.jp/j/forum/honyaku/hikaku/pdf/BunyabetsuNo10en.pdf
- Local PwC tax specialists. (2024). Corporate – Taxes on corporate income. Retrieved July 30, 2024 from https://taxsummaries.pwc.com/japan/corporate/taxes-on-corporate-income
- Luis Fernando Wasilewski. (2005). Economic Analysis of the Japanese Individual Income Tax. Retrieved July 17, 2024 from
- https://www.gov.br/receitafederal/pt-br/centrais-de-conteudo/publicacoes/trabalhos-academicos/wasilewski-economic-analysis-ofthe-japanese-individual-income-tax-completo
- Naoko Kutty. (2023). The pros and cons of Furusato Nozei, Japan’s hometown tax programme. Retrieved July 30, 2024 from https://www.weforum.org/agenda/2023/02/japans-hometown-tax-programme-show-challenges-for-the-future-tax-system/
- Oecd. (2024). Revenue Statistics in Asia and the Pacific 2024 (Tax Revenue Buoyancy in Asia 1990-2022). Retrieved July 17, 2024 from https://www.oecd-ilibrary.org/taxation/revenue-statistics-in-asia-and-the-pacific-2024_e7fecb7e-en
- Ruby Doan. (2024). Residence Tax in Japan for Foreigners: An Easy 2024 Guide. Retrieved July 17, 2024 from https://mailmate.jp/blog/understand-residence-tax-in-japan
- Statistics Bureau, Ministry of Internal Affairs and Communications. (2023). JAPAN STATISTICAL YEARBOOK 2024. Retrieved August 2, 2024 from https://www.stat.go.jp/english/data/nenkan/73nenkan/index.html
- Tokyo Metropolitan Government Bureau of Taxation. (2022). Guide to Metropolitan Taxes for FY2022. Retrieved July 17, 2024 from https://www.tax.metro.tokyo.lg.jp/book/guidebookgaigo/guidebook2022e.pdf
นางสาวอรกันยา เตชะไพบูลย์
ผู้อำนวยการส่วนนโยบายการคลังท้องถิ่น
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ผู้เขียน
นางสาวมัทยา บุตรงาม
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายการคลัง
ผู้เขียน
นางสาวจิตมาศ แสงสุวรรณ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
ผู้เขียน
นายติณณวัฒน์ เดิมบางชัน
เศรษฐกร
ผู้เขียน