Indo-Pacific Economic Partnership: Understanding New US Position toward the Region

Indo-Pacific Economic Partnership: Understanding New US Position toward the Region

บทความโดย
จุฑาทิตย์ ภุมรินทร์
ชุติกาญจน์ ภาคย์ประเสริฐ

บทนำ

เมื่อเดือนตุลาคม 2021 สหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ได้เปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่สำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ภายใต้ชื่อ Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF ซึ่งถือเป็นกรอบความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจแรกภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเป็นกลไกสำคัญของสหรัฐฯ ในการเพิ่มอำนาจต่อรองเชิงเศรษฐกิจ (Economic Leverage) ในภูมิภาค เพื่อคานดุลอำนาจกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ที่มีบทบาทและอิทธิพล
จนก้าวมาเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคอย่างเปิดเผย โดยบทความฉบับนี้จะกล่าวถึงบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ แรงผลักดัน และเหตุผลของการสร้าง IPEF รวมถึงสาระสำคัญของ IPEF และความเกี่ยวเนื่องกับยุทธศาสตร์สำหรับภูมิภาค
อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ และสุดท้ายจะเสนอแนะท่าทีของไทยต่อ IPEF เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากกรอบความร่วมมือดังกล่าว

เมื่อสหรัฐฯ เริ่มหลุดวงโคจรทางเศรษฐกิจ

Source: Fiscal Policy Office (2022)
Note: The map highlights the linkages between the IPEF, BRI, CPTPP, RCEP, DEPA, and QUAD trade agreements.

แม้ว่าสหรัฐฯ ยังคงบทบาทนำในด้านความมั่นคงและด้านเทคโนโลยี ในช่วงที่ผ่านมาบทบาทเชิงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้ลดลงเมื่อเทียบกับการขยายบทบาทและเพิ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ในขณะที่สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่สหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่มขึ้น จีนก็ได้ประสบความสำเร็จในการผลักดันข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวนมาก รวมถึงรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อระหว่างนครคุนหมิงของจีนกับกรุงเวียงจันทน์ของลาว ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและได้เปิดบริการเมื่อเดือนธันวาคม 2021 นอกจากนี้ จีนยังประสบความสำเร็จในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ที่มีจีนถือหุ้นเป็นอันดับหนึ่ง และมีสมาชิก (Approved Members) แล้ว 105 ประเทศ ซึ่งถือเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกลุ่มธนาคารโลกที่ถือหุ้นใหญ่โดยสหรัฐฯ รวมทั้งการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ของจีน ซึ่งได้มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2022 และการแสดงเจตจำนงของจีนเพื่อเข้าร่วม CPTPP และความตกลงทางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement: DEPA) กับสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และชิลี ก็ได้แสดงถึงบทบาทที่จีนต้องการเข้ามาเป็นพี่ใหญ่ในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ แทนสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ที่เคยมีบทบาทนำในเวทีเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ตกอยู่ในที่นั่งข้างเวที (Side line) และนำไปสู่ข้อเรียกร้องจากบรรดาสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ต้องการให้สหรัฐฯ กลับมามีบทบาทนำเชิงเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น ดังนั้น เมื่อเดือนตุลาคม 2021 ในงาน East Asian Summit ประธานาธิบดีไบเดน จึงได้ประกาศแนวคิดในการจัดทำ IPEF ขึ้นมา เพื่อทวงคืนอำนาจทางการค้าและเศรษฐกิจแก่สหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจากจีน

IPEF คืออะไร และเชื่อมโยงอย่างไรกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ

Sources: Fiscal Policy Office (2022), based on FACT SHEET: Indo-Pacific Strategy of the United States

IPEF เป็นส่วนหนึ่งภายใต้กลยุทธ์เพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง (Prosperity) ในกรอบยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ (Indo-Pacific Strategy of the United States) ที่ได้เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยกรอบยุทธศาสตร์ได้กล่าวย้ำถึงบทบาทการเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในภูมิภาค (US as an Indo-Pacific Power) และมีเป้าหมายหลักเพื่อต้านทานอิทธิพลของจีนที่ใช้กำลังเชิงเศรษฐกิจ การทหาร การทูต และเทคโนโลยี โดยมีพฤติกรรมที่รุนแรงและคุกคาม (Harmful and Bullying Behavior) ต่อพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ในภูมิภาค และเป็นภัยต่อรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก[1] โดยสหรัฐฯ จะร่วมมือกับประเทศพันธมิตร เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐฯ และพันธมิตรในภูมิภาค แต่พร้อมร่วมมือกับจีนในมิติการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ และการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non Proliferation) โดยสหรัฐฯ ต้องการให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่:


[1] Indo-pacific Strategy of the United States, February 2022, page 5.

1. เสรีและเปิดกว้าง (FREE AND OPEN) โดยสหรัฐฯ จะผลักดันการลงทุนในสถาบันและภาคประชาสังคมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนประชาธิปไตย พัฒนาความโปร่งใสด้านการเงินการคลังในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อป้องกันการทุจริต รวมทั้งดูแลน่านน้ำและน่านฟ้าของภูมิภาคให้มีการบริหารจัดการและใช้งานตามกฎหมายระหว่างประเทศ

2. เชื่อมโยง (CONNECTED) โดยสหรัฐฯ จะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในภูมิภาค ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ฟิลิปปินส์ ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และหมู่เกาะแปซิฟิก อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับอินเดีย เพื่อให้ก้าวมาเป็นผู้นำในภูมิภาค

3. มั่งคั่ง (PROSPEROUS) โดยสหรัฐฯ จะลงทุนเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน
ทางเศรษฐกิจ สร้างงานที่มีรายได้ดี ฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทาน และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในภูมิภาค
อินโด-แปซิฟิก รวมทั้งส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เสรี เป็นธรรม และเปิดกว้าง ผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบ IPEF และสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการ Build Back Better World กับพันธมิตร
กลุ่มประเทศ G7

4. มั่นคง (SECURED) โดยสหรัฐฯ ดำรงบทบาทด้านความมั่นคงซึ่งจำเป็นต่อการสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความมั่งคั่งในภูมิภาค โดยสหรัฐฯ กำลังขยายและปรับปรุงบทบาทนั้นให้ทันสมัย

5. มีภูมิคุ้มกัน (RESILIENT) โดยสหรัฐฯ จะผลักดันให้ภูมิภาคสามารถเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การป้องกันจากการแพร่ระบาดของโรคระบาด การป้องกันจากภัยธรรมชาติ การขาดแคลนทรัพยากร ความขัดแย้งภายใน และความท้าทายด้านการเมืองการปกครอง ที่อาจทำลายเสถียรภาพของภูมิภาค

IPEF ครอบคลุมอะไรบ้าง

แม้สหรัฐฯ ยังไม่ได้เผยแพร่รายละเอียดของ IPEF ที่ชัดเจน แต่ก็เข้าใจได้ว่า IPEF จะเป็นกรอบความร่วมมือลักษณะยืดหยุ่น ไม่ใช่ความตกลงทางการค้าซึ่งมีข้อผูกมัดการเข้าถึงตลาด (Market Access) และไม่จำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาคองเกรส โดยจะเป็นความร่วมมือที่เปิดกว้างและให้สิทธิแก่ประเทศที่สนใจในการเลือกที่จะเข้าร่วมได้ในทุกสาขา หรือเป็นรายสาขา (Module) ก็ได้ ซึ่งสหรัฐฯ ได้มอบหมายให้ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพหลัก โดยจะมีการเปิดเจรจากับสมาชิกที่สนใจให้เสร็จสิ้นภายใน 12 – 18 เดือน

Sources: Fiscal Policy Office (2022), based on FACT SHEET: Indo-Pacific Strategy of the United States

ประกอบด้วยความร่วมมือใน 4 สาขา ได้แก่

1. การค้า (Trade) โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาแนวทางการค้าใหม่ ๆ ที่ได้มาตรฐานสูง มีกฎระเบียบที่ชัดเจนและโปร่งใส และให้ความสำคัญกับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม และจะมีกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
ซึ่งครอบคลุมการใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัล การบริหารข้อมูลข้ามพรมแดน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

2. การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่น (Supply Chain Resilience) โดยจะเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานเพื่อป้องกันการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทาน โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ผลักดันให้บริษัทสหรัฐฯ ย้ายแหล่งการผลิตกลับมาในสหรัฐฯ (On-Shoring) เพื่อลดผลกระทบจากความชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) และการพึ่งพาแหล่งผลิตนอกประเทศมากเกินไป อย่างไรก็ดี นางจีนา เรมอนโด (Gina Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้กล่าวในการประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ว่า สำหรับห่วงโซ่อุปทาน
ที่มีความซับซ้อน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นไปได้ยากที่จะดำเนินการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานได้ภายในสหรัฐฯ
ซึ่งสำหรับกรณีดังกล่าว สหรัฐฯ ก็พร้อมผลักดันการผลิตในฐานที่มั่นของพันธมิตรแทน (Friend-Shoring)

3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonized Infrastructure) โดยเป็นนโยบายหลักภายใต้ประธานาธิบดีไบเดนที่ต้องการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาดตามแผน Build Back Better World และสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์ด้านอุปทานสมัยใหม่ (Modern Supply-Side Economics) ของนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่จะเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการสร้างงาน เพื่อเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯ

4. การส่งเสริมนโยบายภาษีและต่อต้านคอร์รัปชัน (Tax and Anticorruption) โดยสหรัฐฯ ต้องการส่งเสริมนโยบายการเงินและภาษีที่โปร่งใสและต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึงสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการกัดกร่อนฐานภาษีและเคลื่อนย้ายกำไร (Base erosion and profit shifting: BEPS) ของบริษัทข้ามชาติและสนับสนุนการกำหนดฐานภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ซึ่งสหรัฐฯ ได้ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้อยู่ที่อัตราร้อยละ 15

ข้อแนะนำสำหรับไทย

Sources: Fiscal Policy Office (2022)

โอกาสของไทย

1. เพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐฯ และอินเดีย

เนื่องจาก IPEF เป็นกรอบความร่วมมือที่มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ได้มีข้อผูกมัดในแง่การเปิดตลาด ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน และไม่ต้องขออนุมัติจากสภาคองเกรส เป็นเพียงอำนาจของประธานาธิบดีผ่าน Executive Order ทำให้ IPEF น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วและสามารถจูงใจให้ประเทศพันธมิตรต่าง ๆ เข้าร่วมได้โดยง่ายโดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้เข้าร่วมทั้ง RCEP และ CPTPP ทั้งนี้ อินเดียคือประเทศที่สหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากและต้องการผลักดันให้ขึ้นมาเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคเพื่อคานอำนาจกับจีน โดยนอกเหนือจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ก็ได้มีความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลียในนามกลุ่ม QUAD ดังนั้น การที่ไทยได้เข้าร่วม IPEF นอกจากจะเป็นการต่อยอดความเป็นพันธมิตรเก่าแก่ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็น Treaty Alliance ที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาค จะยังเป็นการเปิดประตูเพิ่มความร่วมมือระหว่างไทยกับอินเดีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนให้เป็นพี่รองในภูมิภาคและมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน และเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อจากการขยายตัวของฐานกลุ่มคนชั้นกลาง ทำให้โอกาสในการขยายตัวในมิติการค้าและการท่องเที่ยวของไทยสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกมาก

2. การใช้ประโยชน์จาก Friend Shoring

เมื่อสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนนโยบายจากการย้ายฐานผลิตกลับบ้านหรือในสหรัฐฯ มาเป็นการลงทุนในบ้านเพื่อนหรือ Friend-Shoring สำหรับห่วงโซ่อุปทานที่มีความซับซ้อน ก็นับเป็นโอกาสสำหรับไทยในการผันตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญได้ ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพร้อมด้านการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์อยู่แล้ว จึงควรต่อยอดฐานการผลิตเพื่อผลิตสินค้าเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูง และเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคให้ได้ อย่างไรก็ดี ไทยก็คงไม่ได้เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีความมุ่งหมายดังกล่าว จึงต้องแข่งขันกับพันธมิตรอื่น อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งถึงแม้อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทย (Ease of Doing Business) ซึ่งจัดโดยธนาคารโลก ได้มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอันดับที่ 49 ในปี 2016 เป็นอันดับที่ 21 ในปี 2020 แต่ไทยยังคงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมในการเป็นฐานผลิต หรือแม้หากไทยไม่ได้เป็นฐานผลิตโดยตรง ก็ควรต้องหาแนวทางเพื่อให้ไทยเป็นฐานในการขนส่งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค

3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี

การเข้าร่วม IPEF อาจเปิดโอกาสเข้าถึงตลาดทุน (Capital Market) ของสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีความแข็งแกร่ง และอาจเพิ่มความร่วมมือด้านเทคโนโลยีที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ มีความเป็นผู้นำ ทั้งจากบริษัทที่เป็นแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ บริษัท Amazon Google Netflix Facebook Airbnb Uber เป็นต้น ดังนั้น ไทยควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาโครงการในภาคอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ต้องการผลักดัน อาทิ พลังงานสะอาดและโครงการเพื่อลดคาร์บอน และเพิ่มความร่วมมือด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพแก่ภาคเอกชนไทย ตลอดจนเพิ่มช่องทางในการระดมทุนแก่ภาคเอกชนไทยจากผู้ลงทุนสถาบันสหรัฐฯ

ความท้าทายของไทย

Sources: Fiscal Policy Office (2022)

1. ความท้าทายในแง่ความต่อเนื่องและยั่งยืนของ IPEF

เนื่องจาก IPEF เป็นข้อตกลงที่ยืดหยุ่นและไม่ได้มีข้อผูกมั ดในแง่การเปิดตลาด จึงไม่มีข้อผูกมัดสมาชิกให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าทีของสหรัฐฯ ที่อาจเปลี่ยนไปภายหลังการเปลี่ยนรัฐบาล นอกจากนี้ ปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งกลางเทอมในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งจากผลคะแนนล่าสุดก็บ่งบอกได้ว่าคะแนนนิยมของประธานาธิบดีไบเดนได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีความเป็นไปได้ที่พรรค Republican จะได้กลับมาครองเสียงข้างมากในสภาและอาจส่งผลต่อการกลับมาของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้าได้ซึ่งก็คงส่งผลกระทบถึงความต่อเนื่องเชิงนโยบายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. การแข่งขันของไทยในภูมิภาค

กลุ่มประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ ในภูมิภาค อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ต่างมียุทธศาสตร์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน คือการคานดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยทั้งอินเดีย อินโดนีเซียน และเวียดนาม ต่างมีข้อได้เปรียบประเทศไทยในเชิงประชากรและโครงสร้างวัยทำงาน โดยสัดส่วนประชากรวัยแรงงานของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงและกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักลงทุนในการเลือกฐานผลิตที่มีความพร้อมด้านแรงงานและตลาดที่มีศักยภาพสูงจากโครงสร้างและจำนวนประชากร ดังนั้น ไทยจึงต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน ยกระดับกำลังซื้อของประชากร และชิงความได้เปรียบจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิต อาทิ การขนส่งที่พร้อมกว่า ตลอดจนความพร้อมของปัจจัยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัยและทำงานที่ดี ซึ่งเป็นจุดเด่นของไทย

บทสรุป

แม้ว่าสหรัฐฯ ยังไม่ได้สรุปรายละเอียดเกี่ยวกับ IPEF แต่ IPEF ได้แสดงเจตนารมณ์ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดนที่ต้องการแข่งขันกับจีนในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สำหรับไทย ควรใช้โอกาสนี้ผลักดันการลงทุนและดึงดูดเม็ดเงินจากสหรัฐฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไทยสนใจเพื่อให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และควรจับตามองอนาคตและความยั่งยืนของ IPEF ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นเพียงแค่อีกกลไกหนึ่งที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ ที่ถูกลืมเลือนไปเมื่อเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลขึ้น สำหรับในภาพใหญ่นั้น ไทยก็ยังคงต้องรักษาสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองมหาอำนาจคือจีนกับสหรัฐฯ และควรเพิ่มความสัมพันธ์กับมหาอำนาจขนาดรอง อาทิ อินเดีย ในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการค้าการลงทุนและประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป

บรรณานุกรม

1. Brock R. Williams, Mark E. Manyin, Rachel F. Fefer (2022). Biden Administration Plans for an Indo-Pacific Economic Framework. Congressional Research Service, จาก https://crsreports.congress.gov /product/pdf/IN/IN11814

2. Diane Farrell (2022). Indo-Pacific Economic Framework. Department of Commerce, 87(48), 13971-13972. จาก https://www.govinfo.gov/content/pkg/FR-2022-03-11/pdf/2022-05206.pdf

3. Matthew P. Goodman & William Reinsch (2022). Filling In the Indo-Pacific Economic Framework. สืบค้น 20 มีนาคม 2022,จาก https://www.csis.org/analysis/filling-indo-pacific-economic-framework

4. Steptoe & Johnson LLP (2022). The indo-Pacific economic framework: How the United States intends to re-engage with Asia on trade. สืบค้น 15 มีนาคม 2022, จาก https://www.lexology.com/library/ detail.aspx?g=a51bed8f-9c38-46e3-9b9e-f24be6986999

5. The White House (2022). FACT SHEET: Indo-Pacific Strategy of the United States. สืบค้น 22 มีนาคม 2022, จาก https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2022/02/11/fact-sheet-indo-pacific-strategy-of-the-united-states/ 6. U.S. Chamber of Commerce (2022). Indo-Pacific Economic Framework: Business Recommendations. สืบค้น 18 มีนาคม 2022, จาก https://www.uschamber.com/international/indo-pacific-economic-framework-business-recommendations

ธอส. สลาก ขาลเพิ่มพูน สลากมิติใหม่ "ทำให้คนไทยมีบ้าน"
จุฑาทิตย์ ภุมรินทร์

นายจุฑาทิตย์ ภุมรินทร์
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน


ชุติกาญจน์ ภาคย์ประเสริฐ

นางสาวชุติกาญจน์ ภาคย์ประเสริฐ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน