บทความโดย
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
นางสาวนภัสวรรณ บุญช่วย
สภาอุตสาหกรรมจังหวัดมีหน้าที่เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรม ในการดำเนินบทบาทในฐานะองค์กรเอกชนเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของจังหวัดเชียงใหม่รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ภาคเศรษฐกิจของท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลักดันจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการค้า การลงทุน การพาณิชย์ การเงินการธนาคาร การบริการ และการท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอนุภูมิภาค
บทความนี้จะพาผู้อ่านไปติดตามแนวทางและความคืบหน้าของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการ เพื่อช่วยพัฒนาสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดให้ดียิ่งขึ้น
จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ ซึ่งเป็นจังหวัดขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีประชากรราว 1.8 ล้านคน โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2563 มีมูลค่าเท่ากับ 237,701 ล้านบาท เมื่อพิจารณาตามภาคการผลิต จะเห็นถึงภาคบริการของเชียงใหม่มีสัดส่วนที่สูงถึง 69% และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัวของเชียงใหม่ในปี 2563 เท่ากับ 131,967 บาท (ดังภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 สัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเชียงใหม่แต่ละภาคของการผลิต ปีพ.ศ. 2563
ข้อมูลผลิตภัณฑ์จังหวัดของจังหวัดเชียงใหม่ย้อนหลัง 10 ปี แสดงให้เห็นว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาตลอด จนถึงปี พ.ศ. 2563 มีแนวโน้มที่ลดลงมาเนื่องจากภาคบริการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังของภาคการเกษตรเท่ากับ 1% ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตที่ 4% และภาคบริการมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5% ขณะที่อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์จังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 4% (ดังภาพที่ 2)
ภาพที่ 2 ข้อมูลทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ย้อนหลัง 10 ปี แยกตามภาคการผลิต
เพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดแนวทางของการดำเนินงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่มากยิ่งขึ้น กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และวารสารการเงินการคลัง ได้รับโอกาสสัมภาษณ์ คุณจักริน วังวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่
1. ตามกรอบแผนพัฒนาภาคเหนือปี 2566 – 2570 จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ทางสภาอุตสาหกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีบทบาทอย่างไรบ้าง
สภาพเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีเศรษฐกิจที่ดี แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 สภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทางสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่จึงมีแนวคิดในการแก้ปัญหา โดยการเน้นให้เกิดความแตกต่างเพื่อให้มีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น ทั้งนี้ หลังจากที่คุณจักรินได้รับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ก็ได้ใช้นโยบาย 3I (Innovation, Implementation, Investment) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการหลังสถานการณ์โควิด – 19 โดยจำแนกกลุ่มอุตสาหกรรมเป็น 5 คลัสเตอร์ ได้แก่
- อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
- อุตสาหกรรม Wellness
- อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
- อุตสาหกรรมดิจิทัล
- อุตสาหกรรมก่อสร้าง, พลังงาน, บรรณจุภัณฑ์ และอื่นๆ
การดำเนินการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากรองประธานสภาอุตสาหกรรมในการหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 5 คลัสเตอร์ เพื่อจัดทำ SWOT วิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำแผนการขับเคลื่อนทั้ง 5 คลัสเตอร์ ตลอดจนการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาภาค NEC (Northern Economic Corridor 2566 – 2570) ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ของแต่ละจังหวัดร่วมหารือเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ โดยมีภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมเพื่อให้ขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่
อนึ่ง แผนพัฒนาภาค NEC (Northern Economic Corridor 2566 – 2570) ได้กำหนดเป้าหมายให้ภาคเหนือเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ตามแนวคิด “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สานสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ สุขภาวะดี วิถีชีวิตยั่งยืน” หรือ N direction 4C ได้แก่
Creative คือ การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีมูลค่าสูง โดยสร้างระบบนิเวศ เมือง พื้นที่สร้างสรรค์ ตลอดจนพัฒนาสินค้าและบริการสร้างสรรค์
Connect คือ สร้างโอกาสในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั้งในประเทศและอนุภูมิภาค เขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองสร้างสรรค์ และผู้คนสร้างสรรค์
Clean คือ การพัฒนาตามวิถีใหม่ (New normal) บนฐานการเติบโตอย่างยั่งยืน ดูแลรักษาความสะอาดของเมือง และใช้พลังงานสะอาด โดยที่คำนึงถึง
Care ซึ่งให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการพัฒนาศักยภาพแรงงาน
ในส่วนของ C-Creative โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหัตถกรรมเคยประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 จำนวนทักท่องเที่ยวลดลง ส่งผลให้จำนวนกิจการหัตถกรรมลดน้อยลง ผู้ประกอบการเดิมส่วนใหญ่เลิกกิจการ ไปทำธุรกิจใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวกลับมารองรับการท่องเที่ยวอีกครั้ง
2. สถานการณ์แรงงานของภาคอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน
ภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหากับสถานการณ์โควิด-19 แรงงานออกจากภาคอุตสาหกรรม หลายธุรกิจหยุดชะงัก ปิดกิจการ ไปทำงานอิสระไม่อยากกลับมาทำกิจการเดิม ตามตัวเลขสถิติแรงงานในช่วงต้นปี 2564 อัตราการจ้างงานลดลง กลุ่มแรงงานออกจากตลาดแรงงานไม่ต่ำกว่า 30% ยกตัวอย่างเช่น โรงงานจิวเวอร์รี่ กลุ่มแรงงานที่มีฝีมือลาออกเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และหลังจากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น แรงงานใหม่ที่เข้ามา ต้องฝึกงาน หัดทำใหม่ แต่กลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ไม่มีความอดทนมากนัก ทำให้มีปัญหาการทยอยลาออกเป็นระยะ ส่งผลให้โรงงานขาดแรงงานมีฝีมือจำนวนมาก นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีจบใหม่ มักมีความรู้ที่ไม่ตรงกับสายงานที่ภาคธุรกิจต้องการ เนื่องจากกลุ่มวิชาหรือหลักสูตรในมหาวิทยาลัยไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน จึงควรปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับสาขาภาควิชาที่กลุ่มอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนต้องการ ทั้งนี้ ควรส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และสถาบันอาชีวศึกษาภาคเหนือ โดยการจัดทำ MOU เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ระหว่างสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่กับ กับสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
3. การจัดงาน FTI expo 2022 สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคธุรกิจของจังหวัดเชียงใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน
งาน FTI expo 2022 จัดขึ้นโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ 11 คลัสเตอร์ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ถือเป็นโอกาสอันดีและเป็นงานแรกในจังหวัดเชียงใหม่หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งหมด 141 รายและมีการจัดตั้งบูธการแสดงสินค้าประมาณ 200 บูธ โดยสภาอุตสาหกรรมกรุงเทพฯ ได้เชิญผู้ประกอบการมาร่วมออกบูธแสดงสินค้าด้วย โดยเน้นเรื่องของ BCG ระยะเวลาในการจัดงานทั้งหมด 5 วัน มีจำนวนผู้เข้าชมงาน 60,000 -70,000 คน เกิดการจ้างงานใน 5 วันประมาณ 2,000 คน เป็นฝ่ายบริการ สามารถสร้างมูลค่าถึง 400 ล้านบาท สามารถจุดกระแสการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ให้กลับมาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสัมมนา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ งานวิจัยไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง หรือพัฒนาต่อยอดได้มากนัก เนื่องจากหาคนร่วมลงทุนไม่ได้เพราะไม่ตอบโจทย์ตลาด หรือติดข้อบังคับต่างๆ เช่น เครื่องมือแพทย์หรือเตียงผู้ป่วย ที่ได้พัฒนาและจัดทำขึ้นพร้อมส่งออกสู่ตลาดแต่แพทย์ไม่มั่นใจในคุณภาพของตัวเองสินค้าที่จะนำมาใช้กับผู้ป่วยของตน จึงไม่สามารถแทนสินค้าที่มีอยู่แล้วของต่างประเทศได้ ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องพร้อมรับฟังและสนับสนุนในการรับรองคุณภาพมาตรฐานต่างๆ อย่างเต็มที่
4. การผลักดันโครงการ Northern Thailand Food Valley ส่งผลต่อภาคธุรกิจตอนนี้อย่างไรบ้าง
โครงการ Northern Thailand Food Valley ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดโครงการหนึ่ง โดยภาคเหนือได้แสดงศักยภาพในภาคการผลิตอาหาร และสามารถอยู่รอดจากสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งออกแม้ยังสามารถส่งออกได้ แต่การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์และการขนส่งทางเรือมีปัญหาจากมาตรการควบคุมของหลายๆ ประเทศซึ่งมีนโยบายไม่รับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูง ทำให้การนำเข้าส่งออกทางเรือมีการชะลอตัวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จึงต้องเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งไปทางอื่นแทน
โครงการ Food Valley เป็นการรวมผู้ประกอบการที่ค่อนข้างใหญ่ จึงมีการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มานำเสนอและไปปรับใช้ นอกจากนี้ ได้สนับสนุนในเรื่องของอุปกรณ์ เช่น เครื่องสุญญากาศ เครื่องฆ่าเชื้อ และอื่นๆ ที่สามารถยืมมาใช้พัฒนาในตัวสินค้าได้ มีคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยช่วยในการปฏิบัติการ ศึกษา ให้ข้อมูล ช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องลงทุนในอุปกรณ์บางอย่าง พัฒนาจนเกิดโรงงานต้นแบบได้ และการดำเนินการเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้
5. ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการผลักดันโครงการ Northern Thailand Food Valley ในสถานการณ์ปัจจุบัน
คุณจักรินเสนอแนะว่าควรเริ่มจากการขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการเป็นสำคัญตามแนวทาง 3I โดยเฉพาะ ด้าน Investment โดยการรวมกลุ่มผู้ประกอบการเอกชนภาคเหนือตอนบนเพื่อหาเอกลักษณ์จุดเด่นของแต่ละพื้นที่โดยมีโครงการหรือนโยบายของแต่ละจังหวัดมาร่วมนำเสนอ โดยภาครัฐอาจเข้ามาช่วยเหลือบ้าง เช่น การใช้พื้นที่ของภาครัฐในการจัดงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การผลักดันโครงการ Food Valley อาจต้องใช้เวลาและต้องใช้หน่วยงานกลางเข้ามาช่วยในการผลักดันให้ฟื้นตัว
6. ทิศทางการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน
สภาอุตสาหกรรมเห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) เนื่องจากสามารถทำให้เกิดการลงทุนได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องหาผู้ร่วมลงทุนที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนไว้ใจที่จะร่วมลงทุน
ภาคเหนือมีธุรกิจมากมายที่คนต่างชาติสนใจจะมาร่วมลงทุนแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยโครงการได้ ภาครัฐควรมีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยจับคู่ธุรกิจให้ถูกต้อง ควรส่งเสริมให้มีการพูดคุยกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนมีความสนใจที่จะลงทุนในเรื่องอาหารของจังหวัดเชียงใหม่หลายบริษัท ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมก็ได้เสนอโครงการ Food Valley เพื่อเตรียมแผนการลงทุน นอกจากนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนมีการพัฒนามากขึ้น ในอนาคตอาจระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพื่อเพิ่มแหล่งเงินทุนในระยะยาวอีกด้วย
7. โครงการ หรือแนวทางอื่นๆ ที่ได้วางแผนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
สภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ได้เน้นยุทธศาสตร์ 2566 – 2570 ทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 4 ปีข้างหน้า
1. NEC Creative ล้านนา
2. Industry corporation 5 คลัสเตอร์ ร่วมตัวกัน เพื่อร่วมมือหาทางออกและผลักดันให้เข้มแข็งมากขึ้น
3. Smart SME พัฒนาคนสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมแข่งขันภายใต้แนวคิด BCG Economy
4. Smart platform service เช่น โรงพยาบาลภายในจังหวัดสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลคนไข้ได้จาก platform ทำให้ไม่เสียเวลาในการทำงานของบุคลากรตลอดจนประหยัดเวลาของผู้ป่วย
8. การจัดตั้งหน่วยงานหรือบริษัทในการระดมทุนพัฒนาเศรษฐกิจ
จังหวัดเชียงใหม่มีบริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมือง แต่เป็นการรวมตัวหลวมๆ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้คนในพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทำให้บางโครงการถูกคัดค้านโดยองค์การนอกภาครัฐ (NGO) ของจังหวัดเชียงใหม่เอง นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการส่วนกลางเป็นหลัก แต่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเนื่องด้วยงบประมาณของแต่ละองค์กร อำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรไม่เหมือนกันไม่สามารถทำแทนกันได้ จึงต้องพูดคุยหารือกันเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เหมาะสม
อีกปัญหาหนึ่งของเรื่องทุนคือ การย้ายทุนออกไปยังต่างประเทศกล่าวคือ ปัจจุบันหลายโรงงานได้ย้ายไปประเทศอื่น เนื่องจากปัญหาโลจิสติกส์ที่มีต้นทุนสูง และค่าขนส่งแพงเกินความจำเป็น
9. กุญแจสำคัญที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ
กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ คือ การดูแลผู้ประกอบการและสมาชิก ตามยุทธศาสตร์ NEC ให้ได้ประโยชน์และสามารถขับเคลื่อนในรูปแบบใหม่ ให้เกิดรูปแบบ New S-curve ซึ่งจำเป็นต้องเลือกช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สามารถไปต่อได้ โดย SME Bank ควรเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อช่วยเป็นกลไกของภาครัฐในการสนันลนุนผู้ประกอบการที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด
ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน
น.ส.นภัสวรรณ บุญช่วย (นิสิตฝึกงาน)
ผู้เขียน