สหรัฐอเมริกา-อิหร่าน: ความสัมพันธ์ที่ผันแปร (ตอนที่ 2/2)

สหรัฐอเมริกา-อิหร่าน: ความสัมพันธ์ที่ผันแปร (ตอนที่ 2/2)

บทความโดย
ดร.อารีฝีน ยามา

บทนำ

ตะวันออกกลางเริ่มต้นทศวรรษใหม่ในปี 2020 ภายใต้ร่มเงาแห่งความขัดแย้งครั้งใหญ่อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลจากนานาชาติต่อความตึงเครียดที่อาจเพิ่มขึ้นสู่วงกว้างทั้งในภูมิภาคและระดับโลกจากเหตุการณ์การลอบสังหารบุคคลสำคัญของอิหร่านโดยสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าความคุกรุ่นจากเหตุการณ์ครั้งนี้อาจสร้างความโกลาหล ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค และนำไปสู่สงครามในที่สุด และอาจเป็นไปได้ที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ฉบับก่อนหน้าได้กล่าวถึงประวัติความสัมพันธ์อันซับซ้อน และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านที่ดำเนินมาอย่างยาวนานไปแล้ว ฉบับนี้จะขอกล่าวถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งล่าสุดว่าแนวโน้มความน่าจะเป็นและผลกระทบต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ อย่างไร

เหตุการณ์นำไปสู่การสังหารนายพลกัสเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษของอิหร่าน

วันที่ 27 ธันวาคม 2019 ได้มีการโจมตีด้วยจรวดในเมืองเคิร์กคุก (Kirkuk) ส่งผลให้ผู้รับเหมาชาวอเมริกันและพลเมืองอิรักบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย ในการแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยืนยันว่าเป้าหมายในการโจมตีครั้งนี้คือ พื้นที่ที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐอเมริกาได้กล่าวหากลุ่ม ‘คาตาอิบ ฮิซบุลเลาะห์ (Kata’ib Hezbullah)’ ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีความใกล้ชิดกับอิหร่านเป็นผู้ลงมือโจมตีในเหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐอเมริกาได้ยกประเด็นความขัดแย้งกับอิหร่านโดยอ้างข้อมูลใหม่จากหน่วยข่าวกรองสหรัฐว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของชาวอเมริกันในตะวันออกกลางที่จำเป็นต้องสกัดกั้นล่วงหน้า

อีกสองวันต่อมากองกำลังสหรัฐอเมริกาได้โจมตีพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตประเทศอิรักและซีเรียที่เชื่อว่าเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังติดอาวุธคาตาอิบ ฮิซบุลเลาะห์ ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างว่าเป็นการตอบโต้กรณีการสังหารผู้รับเหมาชาวอเมริกัน แหล่งข่าวของทหารอิรักรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน และอีก 55 คนได้รับบาดเจ็บ กองกำลังติดอาวุธฮิซบุลเลาะห์อย่างน้อย 4 นาย เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวเสริมว่าเป้าหมายหลักของการโจมตีคือสำนักงานใหญ่ของกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านใกล้กับเขตอัลไคม์ตะวันตก (Western al-Qaim) ติดชายแดนประเทศซีเรีย

แน่นอนว่าอิหร่านได้ประณามการโจมตีครั้งนี้อย่างรุนแรง ด้านโฆษกรัฐบาลอิหร่านกล่าวหาสหรัฐอเมริกาว่าได้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ก่อการร้าย มิหนำซ้ำยังเพิกเฉยต่อความเป็นอิสระและอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอีกด้วย พร้อมประกาศกร้าวว่าสหรัฐอเมริกาต้องยอมรับผลที่จะตามมาสำหรับการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ

วันที่ 31 ธันวาคม 2019 กลุ่มผู้โกรธแค้นในอิรักบุกเข้าไปในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสาธารณรัฐอิรัก ซึ่งเป็นสถานทูตที่ใหญ่ที่สุดในโลกของสหรัฐอเมริกาที่มีการจัดการความปลอดภัยอย่างแน่นหนา แต่ก็ไม่สามารถต้านกลุ่มประท้วงได้ และทรัมป์ได้กล่าวโทษอิหร่านสำหรับการสังหารผู้รับเหมาชาวอเมริกันและการก่อจลาจลรอบๆ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงแบกแดด กองกำลังทหารสหรัฐอเมริกาได้ทำการสลายกลุ่มประท้วงด้วยการยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มประท้วงที่เชื่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธ Popular Mobilisation Forces (PMF) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองรัฐบาลอิรักและเป็นกลุ่มกองกำลังหนึ่งจาก 50 กลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับอิหร่าน และประสบความสำเร็จในการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายไอซิสในอิรักอีกด้วย

วันที่ 2 มกราคม 2020 รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกาอ้างว่ามีข้อบ่งชี้ที่เป็นไปได้ว่าอิหร่านและกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากเตหะรานอาจวางแผนโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มเติมอีก เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากศูนย์บัญชาการเพนตากอน (The Pentagon) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ‘หากมีอะไรเกิดขึ้นเราจะลงมือปฏิบัติการโจมตีทันทีและหากมีบางอย่างบ่งชี้ว่าจะเกิดขึ้น เราจะดำเนินการตอบโต้ล่วงหน้าเพื่อปกป้องบุคลากรและผลประโยชน์ของชาวอเมริกันทันที’

ปฏิบัติการสังหารบุคคลสำคัญของอิหร่าน

ความขัดแย้งล่าสุดที่ปะทุขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านได้สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาคมโลกเป็นอย่างมาก โดยต่างหวั่นเกรงกันว่าจะบานปลายนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้แก่ เหตุการณ์การลอบสังหารนายพลกัสเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังรบพิเศษคุดส์ (Quds Force) ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็น ‘ผู้นำเงา’ หรือรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศตัวจริงของอิหร่านที่โดยพฤตินัยถือเป็นบุคคลสำคัญลำดับสองรองจากผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน นายพลสุไลมานีถูกโจมตีโดยสหรัฐอเมริกาด้วยเครื่องบินไร้คนขับ (Drone) ใกล้สนามบินนานาชาติในกรุงแบกแดดช่วงเวลารุ่งสางของวันที่ 3 มกราคม 2020 ส่งผลให้นายพลสุไลมานีและคณะผู้ติดตาม ซึ่งหนึ่งในนั้นยังรวมถึงอาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดีส์ (Abu Mahdi al-Muhandis) ผู้บัญชาการกลุ่มติดอาวุธ PMF แห่งอิรักเสียชีวิตอีกด้วย และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ยังได้ทวีตอีกด้วยว่า หากอิหร่านตอบโต้กลับ สหรัฐอเมริกาจะโจมตีด้วยอาวุธสมัยใหม่ล่าสุด

ผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน อยาตุลลาฮฺ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ได้ประกาศกร้าวและให้คำมั่นที่จะแก้แค้นอย่างสาสมสำหรับการเสียชีวิตของนายพลคนสนิท ซึ่งบรรยากาศการไว้อาลัยในกรุงเตหะราน เมืองหลวงอิหร่านเป็นไปอย่างเศร้าโศก เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่เข้าร่วมพิธีไว้อาลัยต่อการจากไปของเขา ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานหลังจากการเสียชีวิตของท่านอิหม่ามโคมัยนีผู้นำปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

เพียงไม่กี่วันหลังจากสหรัฐอเมริกาใช้วิธีปฏิบัติการโจมตีทางอากาศสังหารนายพลสุไลมานีและผู้ติดตาม อิหร่านได้ตอบโต้กลับด้วยการยิงขีปนาวุธมากกว่า 12 ลูก โจมตีฐานทัพอเมริกา 2 แห่งในอิรัก โดยขู่ว่าหากสหรัฐอเมริกาตอบโต้ อิหร่านจะตอบสนองด้วยขั้นที่รุนแรงยิ่งขึ้น จากรายงานข่าวกล่าวว่าไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปฏิบัติการครั้งนี้สร้างความตึงเครียดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางระลอกใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตามก็ไม่มีการตอบโต้ใดๆ เพิ่มเติมจากสหรัฐอเมริกาตามคำขู่ของประธานาธิบดีทรัมป์

การลงมือปฏิบัติการโจมตีทางอากาศด้วยเครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐอเมริกา โดยคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ไม่มีการแจ้งต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกาให้ทราบ โดยอ้างว่าเป็นการโจมตีเพื่อป้องกันตนเอง (self-defense) และสกัดกั้นแผนการของอิหร่านที่จะทำลายบุคลากรและผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในตะวันออกกลาง โดยถ้อยคำของทรัมป์กล่าวว่า “ไม่ใช่เป็นการเริ่มทำสงครามแต่เป็นการยับยั้งการเกิดสงคราม” ทั้งยังได้ส่งกองกำลังทหารเพิ่มอีก 3,000 นายเข้าสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางด้วยหลังถูกตอบโต้กลับจากอิหร่าน จากความตึงเครียดครั้งนี้ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลางและประเทศอิรัก อาจยกระดับความเข้มข้นของสงครามในรูปแบบตัวแทน (Proxy War) ที่สร้างความกังวลให้กับนานาประเทศ

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอิหร่านได้ชักธงแดงขึ้นเหนือมัสยิดกรุงเตหะรานที่มีข้อความว่า “เลือดต้องล้างแค้นด้วยเลือด” ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับอิหร่านยุคใหม่ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอิหร่านต้องทำอะไรสักอย่างที่สหรัฐอเมริกาไม่อาจจินตนาการได้ในอนาคต แต่ที่แน่นอนคือเป็นการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์ที่มีผลทางจิตวิญญาณและจิตวิทยาที่อิหร่านกำลังจะบอกว่านายพลสุไลมานีมีความสำคัญต่อชาวอิหร่านมากเพียงใด อิหร่านยังเรียกร้องให้สหประชาชาติออกมาประณามถึงการละเมิดอำนาจอธิปไตยโดยสหรัฐอเมริกา ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวว่าการตอบโต้อย่างรุนแรงกำลังรออยู่ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านขู่ว่าเวลาของอเมริกาในภูมิภาคแห่งนี้ได้จบลง ซึ่งรัฐสภาอิหร่านได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประกาศว่ากองกำลังทหารสหรัฐอเมริกาทั้งหมดเป็นผู้ก่อการร้าย

แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา – อิหร่านในตะวันออกกลาง

อิหร่านเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิรักเกือบสี่เท่า และมีประชากรมากกว่า 80 ล้านคน ถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองในภูมิภาคตะวันออกกลางรองจากอิยิปต์ และตามข้อมูลของธนาคารโลกอิหร่านเคยมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในตะวันออกกลางรองจากซาอุดิอาระเบีย แต่ด้วยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถูกมาตรการคว่ำบาตรจากนานานชาติที่นำโดยสหรัฐอเมริกาทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านฝืดเคือง อย่างไรก็ตามถึงแม้จะถูกคว่ำบาตรและถูกกดดันระดับสูงสุด (Maximum pressure) แต่อิหร่านก็ยังคงเป็นตลาดใหญ่ด้านสินค้าการเกษตร ยังคงเป็นตลาดทางการเกษตรที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกอยู่

ส่วนอิรักมีความสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางสำหรับสหรัฐอเมริกาและอิหร่านมาก ครั้งหนึ่งสหรัฐอเมริกาเคยมีอิทธิพลอย่างสูงในอิรัก แต่หลังจากซัดดัม ฮุซเซ็น (Saddam Hussein) ถูกโค่นล้มในปี 2003 ภูมิทัศน์ทางการเมืองในอิรักได้เปลี่ยนไป อิหร่านเริ่มเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นอันเนื่องมาจากรัฐบาลชุดใหม่ของอิรักเป็นรัฐบาลมุสลิมสำนักคิดชีอะห์ที่มีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงกับเตหะราน

ในปี 2014 รัฐบาลนูรี อัล-มาลีกี (Nouri al-Maliki) ของอิรักได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เพื่อมาช่วยปราบปรามกองกำลังก่อการร้ายไอซิส (ISIS) ที่ได้เคลื่อนตัวจากประเทศซีเรียรุกคืบเข้าไปในอิรักและยึดเมืองโมซูล (Mosul) เมืองใหญ่อันดับสองของอิรักได้ในที่สุด ส่งผลให้รัฐบาลของอิรักวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะเกรงว่ากลุ่มก่อการร้ายไอซิสจะเข้ามายึดกรุงแบกแดดและประเทศอิรักในช่วงเวลาอันใกล้ อย่างไรก็ดี สหรัฐอเมริกาไม่ทำตามคำร้องขอของรัฐบาลอิรัก โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barak Obama) อ้างว่าการที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนกองกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ออกจากอิรักแล้วการที่จะเข้าไปอีกครั้งจึงเป็นเรื่องยาก อิทธิพลทางการทหารของอิหร่านจึงได้เริ่มเข้ามาในอิรัก โดยการเข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่อิรักในการปราบปรามไอซิสตามการร้องขอของรัฐบาลอิรักทันทีภายในเวลา 24 ชั่วโมง ช่วงเวลานี้เองที่อิหร่านเข้ามาสร้างเครือข่ายกับกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ภายใต้การนำของนายพลกัสเซ็ม สุไลมานี (Qasem Soleimani) ซึ่งแน่นอนยิ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกายอมไม่ได้และต้องทวงคืนเขตอิทธิพลของตนเหนือดินแดนประเทศอิรักให้เด็ดขาดอีกครั้ง ทำให้อิรักกลายเป็นพื้นที่ตัวแทนแห่งความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ในภูมิภาคตะวันออกกลางอิหร่านถือได้ว่ามีกองกำลังทางทหารที่ใหญ่ แม้ศักยภาพยังมีจำกัดถ้าเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาดคืออิหร่านมีเครือข่ายกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ต่างพร้อมจะทำสงครามตัวแทนที่เพิ่มขึ้น และสามารถขยายอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งหมายความว่าความขัดแย้งใดๆ หากต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังทหารสหรัฐอเมริกาแล้วอาจจะเป็นไปในรูปของสงครามเชิงจรยุทธ์ตามแนวพื้นที่ต่างๆ โดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่มีความใกล้ชิดกับอิหร่าน

ในขณะที่หลายคนเปรียบเทียบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านครั้งล่าสุดจะนำไปสู่การบุกอิหร่านของสหรัฐอเมริกาเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับอิรักในปี 2003 แต่กระนั้นก็ยังคงมีความแตกต่างที่น่าสนใจ เพราะอิหร่านเองก็ไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างที่อิรักเคยประสบมาเหมือนครั้งตอนที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปทำสงครามยืดเยื้อยาวนาน แต่กลับกันอิหร่านมีมหาอำนาจเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดอย่างจีนและรัสเซีย ฉะนั้นสหรัฐอเมริกาคงไม่ผลีผลามทำอะไรลงไปโดยไม่ไตร่ตรอง ที่สำคัญจากการโจมตีของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ก่อให้เกิดกระแสความรักชาติและสร้างความสามัคคีมากขึ้นในบรรดาชาวอิหร่านไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มหัวก้าวหน้า เป็นกระแสตีกลับที่ไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยนัก อาจนำมาซึ่งความเป็นปึกแผ่นและสร้างแข็งแกร่งให้กับอิหร่านในอนาคตก็เป็นได้

ในแถลงการณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ดูมีท่าทีอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากถูกตอบโต้โดยอิหร่านต่อกรณีสังหารนายพลสุไลมานี ซึ่งทำให้นานาชาติรู้สึกโล่งอกและผ่อนคลายไประดับหนึ่ง จากปฏิกิริยานี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นการปูทางลงให้กับสหรัฐอเมริกาที่มีปัญหาภายในประเทศอยู่ ประกอบกับทางสหรัฐอเมริกาเองก็คงยังไม่พร้อมที่จะทำสงครามใหญ่เต็มรูปแบบ อันเนื่องมาจากเคยมีประสบการณ์การทำสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักมาแล้ว ที่นำมาซึ่งการสูญเสียบุคลากรทางทหาร สูญเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล และการที่ต้องติดหล่มอยู่กับสงครามที่ยาวนานจนไม่รู้ว่าเมื่อไรจะสะเด็ดน้ำ ฉะนั้นสหรัฐอเมริกาเองคงต้องคิดหนักหากต้องทำสงครามเต็มรูปแบบกับอิหร่าน

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเชื่อได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะยังไม่เกิดขึ้นเพราะสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่สงครามที่มีต้นทุนมหาศาลไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ และปัจจัยสำคัญคือยังขาดกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ให้การสนับสนุนเหมือนสงครามใหญ่ในอดีตที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เห็นได้ชัดว่าไม่มีประเทศมหาอำนาจใดที่เข้าไปสนับสนุนในความขัดแย้งครั้งนี้ จากท่าทีของจีนและรัสเซียที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอิหร่านที่ต้องการให้อิหร่านมีความอดทนอดกลั้นต่อความตึงเครียด และต้องการเห็นการเจรจามากว่าการใช้กำลังทางทหาร เพราะไม่ต้องการสูญเสียผลประโยชน์ที่มีร่วมกับอิหร่านและตะวันออกกลางโดยรวม ส่วนท่าทีพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาในกลุ่มประเทศยุโรปและตะวันออกกลางเองมีการตอบสนองต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่แตกต่างจากกรณีของสงครามอิรักที่นำโดยจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ในปี 2003 อย่างชัดเจน ซึ่งบรรดาสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) ไม่เห็นด้วยกับสหรัฐอเมริกาในกรณีการโจมตีโดยปราศจากการปรึกษาหารือ เห็นได้จากความลังเลที่จะให้การสนับสนุนต่อวิกฤติการณ์ความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน แม้แต่พันธมิตรของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอล ก็ยังคงสงวนท่าทีอย่างเห็นได้ชัด การนิ่งเฉยของประเทศเหล่านี้บ่งบอกว่าพวกเขาไม่ต้องการที่จะเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งกับอิหร่าน

สงครามตัวแทน

หลายทศวรรษที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านดำเนินอยู่และอุณหภูมิความตึงเครียดได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2014 ที่อิทธิพลทางการทหารของอิหร่านเริ่มเข้ามามีบทบาทในอิรัก อันเนื่องมาจากอิรักเป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งสองประเทศจึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทั้งสหรัฐอเมริกาและอิหร่านต่างเข้ามามีอิทธิพลในอิรักนับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรรุกรานอิรักในปี 2003 ที่ต่อมาทิ้งไว้เพียงกองเศษซากปรักหักพังและความไร้เสถียรภาพของประเทศ จนถึงทุกวันนี้สหรัฐอเมริกายังคงมีกองทัพอยู่ในอิรักบางส่วนโดยอ้างเหตุผลที่ยังคงต้องรักษากองกำลังทางทหารไว้ในประเทศอิรักเพื่อการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย อัลกออิดะฮฺ (Al-Qaeda) และ ไอซิล (ISIL) หรือไอซิส ส่วนอิหร่านใช้อิทธิพลด้วยการแทรกแซงทางการเมืองในอิรักอย่างได้ผลและสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธ PMF ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่พยายามขับไล่กองกำลังสหรัฐอเมริกาออกจากอิรักมาอย่างยาวนาน

อิหร่านนั้นถูกห้อมล้อมโดยกองกำลังของศัตรู การที่จะฝ่าวงล้อมของศัตรูที่มีฐานทัพรายรอบภูมิภาคตะวันออกกลาง อิหร่านจำเป็นต้องสร้าง ‘เส้นทางอิทธิพล’ (Iran Land Corridor) ของตนเองเพื่อรับประกันความปลอดภัย เส้นทางอิทธิพลของอิหร่านประกอบด้วยอิรัก ซีเรีย และเลบานอน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทอดยาวจากกรุงเตหะราน สู่กรุงแบกแดดของอิรักเข้าไปยังกรุงดามัสกัสของซีเรีย และไปบรรจบที่กรุงเบรุตของเลบานอน ตอนนี้อิหร่านมีเครือข่ายมากมายในซีเรียและเลบานอนเรียบร้อยแล้ว ที่ยังขาดอยู่คืออิรักเพราะถือว่ายังอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นเพื่อความสมบูรณ์ของ ‘เส้นทางอิทธิพล’ อิหร่านจำเป็นต้องมีอิทธิพลเหนืออิรักอย่างสมบูรณ์

สำหรับสหรัฐอเมริกาแล้วการที่เข้ามาทำสงครามกับอิรักในปี 2003 แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของน้ำมันเท่านั้น แต่เพราะอิรักเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่ออเมริกาในการสร้างเขตอิทธิพลของตนในภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด การที่สหรัฐอเมริกาจะควบคุมตะวันออกกลางได้จำเป็นอย่างยิ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องมีอิทธิพลเหนืออิรักอย่างเบ็ดเสร็จ ความสัมพันธ์อิรัก-อิหร่านที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลังจากซัดดัมถูกโค่นอำนาจลงและการก้าวขึ้นมามีบทบาทของรัฐบาลมุสลิมชีอะห์แห่งอิรัก ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอิหร่านทั้งทางด้านวัฒนธรรม การเมือง และการทหาร รวมถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพรรคการเมืองรัฐบาลอิรักกับกองกำลังติดอาวุธ PMF จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องการลดอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลาง และต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแย่งชิงความได้เปรียบในประเทศอิรักกลับมาอีกครั้ง

ไมค์ ปอมปีโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน ได้เดินทางไปยังแบกแดดโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อที่จะกำชับและเตือนว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาอ้างว่าสิ่งที่เขาพูดไปมีหลักฐานสำคัญที่ผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังตกอยู่ในอันตราย ความกังวลของสหรัฐอเมริกาจดจ่อไปที่กองกำลังปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน หรือ IRGC (Islamic Revolutionary Guard Corps) และความเชื่อมโยงกับกองกำลังมุสลิมชีอะห์แห่งอิรัก โดยอ้างว่ามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่า IRGC กำลังวางแผนที่จะระดมกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในอิรักและซีเรียเพื่อทำสงครามตัวแทนโจมตีกองกำลังทหารและผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกายังชี้ว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อเรือพาณิชย์ขนส่งสินค้าและการโจมตีอาจจะเกิดขึ้นได้ พร้อมกันนั้นยังมีกองกำลังติดอาวุธที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่านที่อาจมีการโจมตีฐานทัพสหรัฐอเมริกาในอิรักอีกด้วย

ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศจึงเป็นความตึงเครียดที่พยายามแย่งชิงการสร้างอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลางโดยเฉพาะจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างอิรัก สุดท้ายแล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งในอิรักจะยังคงอยู่ต่อไป อิรักจะกลายเป็นสมรภูมิแห่งความตึงเครียดที่ยาวนานอีกครั้ง อันเนื่องมาจากมีความสำคัญต่อทั้งสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน และความเป็นปรปักษ์จะยังคงดำเนินต่อไป อันเนื่องมาจากรากลึกของความแย้งของทั้งสองประเทศไม่เคยได้รับการแก้ไข นั่นคืออุดมการณ์อิสลามของอิหร่านที่นำไปสู่การขับไล่อิทธิพลและทำลายผลประโยชน์ของอเมริกาออกจากประเทศในปี 1979 และความโกรธแค้นของอิหร่านจากการถูกตีตราว่าเป็นแกนนำแห่งความชั่วร้าย (Axis of Evil) และถูกสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีความขัดแย้งอาจไม่ถึงกับเกิดสภาวะการแห่งสงครามเต็มรูปแบบ แต่สันติภาพก็ยากที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน (No War, No Peace)

อ้างอิง

1.  AL JAZEERA. (2020). Iran’s Qassem Soleimani killed in US air raid at Baghdad airport: Pre-dawn raid also killed Iraqi militia commander Abu Mahdi al-Muhandis in a major escalation of regional tensions. https://www.aljazeera.com/news/2020/01/iraq-3-katyusha-rockets-fired-baghdad-airport-200102232817666.html

2. CBS News. (2020). Who was Qassem Soleimani, the Iranian general killed in a U.S. strike? https://www.cbsnews.com/news/qassem-soleimani-iran-general-quds-force-commander-killed-us-airstrike-2020-01-03/

3. Fisher, Max. (2020). The U.S., Iran and a No-Win Game. New York Times. https://www.nytimes.com/2020/01/09/world/middleeast/us-iran-conflict.html

4. Kenner, David. (2015). Nobody Puts Nouri in the Corner. Foreign Policy. https://foreignpolicy.com/2015/02/24/nobody-puts-nouri-in-the-corner-maliki-iraq-isis-abadi/

5. Laub, Zachary., & Robinson, Kali. (2020). What Is the Status of the Iran Nuclear Agreement. Council on Foreign Relations. https://www.cfr.org/backgrounder/what-status-iran-nuclear-agreement

6. Maloney, Suzanne. (2019). 1979: Iran and America. Brookings. https://www.brookings.edu/opinions/1979-iran-and-america/

7. Orton, Kyle. (2020). The Middle East After Qassem Sulaymani. European Eye on Radicalization. https://eeradicalization.com/the-middle-east-after-qassem-sulaymani/

8. Roberts, Dan. (2014). US denies role in plot to oust Iraqi prime minister Nouri al-Maliki. The Guardian. https://www.theguardian.com/world/2014/aug/11/us-plot-oust-iraqi-pm-nouri-al-maliki-iraq

9. Ryan, Missy., Dawsey, Josh., Lamothe, Dan. & Hudson, John. (2020). How Trump decided to kill a top Iranian general. Washington Post. https://www.washingtonpost.com/national-security/how-trump-decided-to-kill-a-top-iranian-general/2020/01/03/77ce3cc4-2e62-11ea-bcd4-24597950008f_story.html

10. Vatanka, Alex. (2016). U.S.-Iran Relations: Recommendations for the Next President. Policy Focus Series. United States: Middle East Institute. https://www.mei.edu/sites/default/files/publications/PF17_Vatanka_IranUS_web.pdf

ดร.อารีฝีน ยามา

ดร.อารีฝีน ยามา
ศูนย์มุสลิมศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้เขียน