รู้จักนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา

รู้จักนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา

บทความโดย
สุมาลี สถิตชัยเจริญ
10 กุมภาพันธ์ 2564

เจเน็ต เยลเลน
เจเน็ต เยลเลน

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือ นายโจ ไบเดนจากพรรคเดโมแครต อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 และได้เสนอชื่อนางเจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ  ซึ่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้มีมติรับรองการแต่งตั้งให้นางเยลเลนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 78 และเป็นผู้หญิงคนแรกของสหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยคะแนนเสียง 84 ต่อ 15 เสียงโดยมีผู้ไม่ออกเสียง 1 เสียง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ซึ่งถือได้ว่าได้รับการยอมรับในระดับที่สูงเกินกว่า 2 ใน 3 ทั้งจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับริกันที่มีคะแนนเสียงฝ่ายละครึ่ง (50 ต่อ 50) ในวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากคุณเยลเลนมีชื่อเสียงจากการทำงานที่ผ่านมาในฐานะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหญิงคนแรกมาก่อน รวมทั้งได้รับการชื่นชมและความเชื่อถือจากทั้งภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด บทความนี้จึงขอเล่าชีวิตการศึกษา การทำงาน รวมทั้งภารกิจ แนวทางการทำงาน และความเห็นในประเด็นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเราจะได้รู้จักเธอมากขึ้นในฐานะผู้นำหญิงคนแรกของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และด้านการเงินการคลังของสหรัฐฯ

ประวัติการศึกษาและการทำงาน

ปัจจุบันคุณเยลเลนอายุ 74 ปี (เกิดเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489) โดยคุณเยลเลนจบการศึกษาปริญาตรีจากมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) และจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและแรงงาน โดยเน้นในเรื่องการจ้างงาน จากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) เมื่อ พ.ศ.  2514  วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก คุณเยลเลนศึกษาเรื่อง “Employment, Output and Capital Accumulation in an Open Economy: A Disequilibrium Approach” ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาชื่อ James Tobin นักเศรษฐศาสตร์ผู้ซึ่งได้รางวัลโนเบลเมื่อ พ.ศ. 2524 จากการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับตลาดการเงินและความสัมพันธ์ของการตัดสินใจในการใช้จ่าย การจ้างงาน การผลิต และราคา และเป็นนักเศรษฐศาสตร์แนวคิด New Keynesian คุณเยลเลนจึงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในหลักการของ New Keynesian เช่นกันว่าเศรษฐกิจจะไม่กลับไปสู่ภาวะปกติหากรัฐบาลไม่เข้าไปช่วยเหลือ

คุณเยลเลนเคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard university) ก่อนเริ่มทำงานที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ใน พ.ศ. 2519 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) เมื่อ พ.ศ. 2537 และอีก 3 ปีต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบขาวในสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน  คุณเยลเลนมีบทบาทอย่างมากในช่วงวิกฤตฟองสบู่ราคาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2551 โดยได้ช่วยบริหารจัดการวิฤติการเงินและภาวะเศรษฐกิจถดถอยในขณะนั้น

เมื่อ พ.ศ. 2553 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้แต่งตั้งให้คุณเยลเลนเป็นรองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ก่อนที่จะแต่งตั้งให้เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2557 – 2561 นอกจากนี้คุณเยลเลนยังอยู่ในรายชื่อผู้มีอิทธิพลด้านธุรกิจและการเงินจากการจัดอันดับของนิตยสาร เช่น Forbes Time 100 และ Bloomberg Markets เป็นต้น ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังจากครบวาระการเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คุณเยลเลนได้เป็นนักวิชาการกิติมศักดิ์ในโครงการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ของ Brookings Institution ซึ่งถือเป็นสถาบันมันสมอง (Think Tank) ที่โดดเด่นด้านเศรษฐศาสตร์สถาบันหนึ่งของสหรัฐฯ

คุณเยลเลนยังได้เขียนตำราวิชาการหลายเล่มเกี่ยวกับด้านแรงงาน ได้แก่  Efficiency Wage Models of Labor Market  และ The Fabulous Decade: Macroeconomic Lessens from the 1990s รวมทั้งบทความในเรื่อง A Near-Rational Model of the Business Cycle, with Wage and the Price Inertia และ The fair wage-effort Hypothesis and Unemployment เป็นต้น จะเห็นได้ว่าคุณเยลเลนมีความสนใจในเรื่องแรงงาน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการว่างงาน รวมทั้งการมีค่าจ้างที่มีประสิทธิภาพซึ่งการศึกษาของเธอที่ผ่านมาพบว่าบริษัทที่จ่ายค่าจ้างและมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีจะได้รับผลตอบแทนจากการทำงานของพนักงานที่ซื่อสัตย์ ลดการลาออก และมีประสิทธิภาพของงานที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามคำกล่าวของคุณไบเดนตอนที่เสนอชื่อคุณเยลเลน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าเธอเป็นผู้ที่ทุ่มเทตลอดชีวิตการทำงานให้กับเรื่องการว่างงานและเป้าหมายในการทำให้คนมีงานทำอย่างเหมาะสมเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ภารกิจ

คุณเยลเลนตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการเงินของวุฒิสภาสหรัฐฯ เพื่อรับรองการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ถึงภารกิจหลักของเธอว่าคณะบริหารภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ความสำคัญมากที่สุดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือครัวเรือน ธุรกิจ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสฯ และเป้าหมายระยะยาวมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะและการอบรมแรงงานที่จะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถแข่งขันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ นางเยลเลนได้ให้สัมภาษณ์เมื่อได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการว่าภารกิจแรกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคือการช่วยให้ชาวอเมริกันพ้นจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19  และทำให้ชาวอเมริกันสามารถกลับไปทำงานได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกำลังจะสูญเสียแรงขับเคลื่อน ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น

แนวทางการทำงาน

วันแรกในการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณเยลเลนได้มีจดหมายถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จำนวน 84,000 คนถึงแนวทางการทำงานของเธอผู้ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์และเข้าอกเข้าใจในการทำงานเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชาวอเมริกัน ซึ่งเนื้อหาในจดหมาย[1]มี ดังนี้

เธอรู้สึกเป็นเกียรติที่เป็นส่วนหนึ่งในกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่มีเจ้าหน้าที่จำนวน 84,000 คน ในฐานะที่เคยทำงานที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินมาก่อน และจะเป็นเช่นนั้นอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้แตกต่างไปจากวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อ พ.ศ. 2551 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจและชาวอเมริกันไม่มีงานทำ และทราบดีว่าที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ แต่เราจะต้องทำงานของเราให้สำเร็จต่อไปในการช่วยเหลือชาวอเมริกันให้มีบ้านอยู่ มีข้าวกินในช่วงสุดท้ายของการแพร่ระบาดโควิด-19 และเราต้องช่วยให้ชาวอเมริกันสามารถกลับไปทำงานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งงานนี้เราต้องทุ่มเทเวลาของเราอาจจะทั้งวันและทั้งคืนในระยะอันใกล้นี้ ในขณะที่เรามีภารกิจเร่งด่วนในการฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจจากผลกระทบทบของการแพร่ระบาดครั้งนี้ เราก็ไม่สามารถละทิ้งงานประจำของกระทรวงการคลังที่สำคัญไปได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลตลาดเงิน การจัดการด้านการเงินของชาติ การทำให้เศรษฐกิจโลกเข้มแข็ง รวมทั้งการต่อต้านการเงินที่ผิดกฎหมาย (Illicit Finance) โดยการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ของสหรัฐ และยังมีเป้าหมายในระยะยาวตามนโยบายของประธานาธิบดีไบเดนที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วิกฤตการเหยียดสีผิว และวิกฤตเศรษฐกิจที่มีมานานกว่า 50 ปี ผู้คนจำนวนมากกังวลต่อการฟื้นตัวแบบรูปตัวเค (K shape)[2] ซึ่งที่จริงเราอยู่ในเศรษฐกิจแบบ K shape มาก่อนหน้าการแพร่ระบาดโควิด-19  จากการที่คนที่ร่ำรวยมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนอีกกลุ่มตกลงไปและห่างไกลความมั่งคั่งไปมากขึ้นเรื่อยๆ เธอเชื่อว่าพวกเราสามารถมีบทบาทที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

นอกจากนี้เศรษฐศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงบางสิ่งที่เราสามารถหาได้ในตำราเรียน และไม่ใช่แค่การสะสมทฤษฎี แท้ที่จริงแล้วเหตุผลที่เธอเรียนจนกระทั่งมาทำงานในรัฐบาล เนื่องจากเชื่อว่านโยบายเศรษฐศาสตร์สามารถเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการทำให้สังคมดีขึ้น ซึ่งเราควรใช้มันเพื่อช่วยในเรื่องความไม่เท่าเทียม การเหยียดสีผิวและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีเป้าหมายที่เธออยากทำให้สำเร็จมากมายและเชื่อว่าไม่สามารถทำให้สำเร็จได้เพียงจากการทำงานของทีมงานเล็ก ๆ ในสำนักงานรัฐมนตรีเท่านั้น พวกเราต้องทำงานร่วมกันทั้งกระทรวงเราต้องรวมพลังผู้เชี่ยวชาญและพรสวรรค์ของหน่วยงานอย่างเต็มกำลัง และนี่คือเหตุผลที่เธอวางแผนจะไปพบกับทุกสำนักงานในกระทรวงการคลังเพื่อรับฟังว่าอะไรบ้างที่เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเปลงและทำให้ดีขึ้น คุณเยลเลนใช้คำว่า “Listening Tour” ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการพบปะผ่านสื่อทางไกล

ในจดหมายเธอได้เล่าถึงเหตุผลว่าทำไมเธอเลือกที่จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เหตุผลมาจากคุณพ่อของเธอที่เป็นคุณหมอผู้ซึ่งทำงานอยู่ที่เมืองบรูคลิน นครนิวยอร์ก และเป็นคนในยุคหลังสงครามที่มักจะกลับบ้านมาในตอนค่ำและเล่าว่าคนไข้ของเขาตกงานและไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา คุณพ่อของเธอเข้าใจต่อความยากลำบากของเศรษฐกิจ ความรู้สึกในขณะนั้นทำให้ชีวิตของเธอชัดเจนขึ้นว่าทำไมเธอถึงเรียนเศรษฐศาสตร์ ก็เพื่อให้เหมือนกับที่คุณพ่อของเธอช่วยเหลือผู้คน

เธอคิดว่าหลายคนเห็นเหมือนเธอว่านโยบายเศรษฐศาสตร์เป็นเหมือนแนวทางในการทำชีวิตคนให้ดีขึ้น ซึ่งเธอเองก็ไม่แน่ใจในอนาคต แต่เธอคาดหวังว่าเมื่อนักเศรษฐศาสตร์มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์พวกเขาจะได้เห็นว่ามุมมองนี้จะช่วยให้เราทิ้งความแข็งแกร่งและความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศไว้ข้างหลังเพิ่มขึ้น

โดยสรุปเนื้อหาของจดหมายที่คุณเยลเลนมีถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้บอกความมุ่งมั่นของเธอในการทำหน้าที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายซึ่งเป็นสิ่งที่เธอทำมาโดยตลอดชีวิตอย่างชัดเจน รวมทั้งเป็นการบอกกล่าวกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ทุกคนในกระทรวงการคลังมีเป้าหมายการทำงานร่วมกันในการช่วยเหลือประชาชนชาวอเมริกันให้มีชีวิตที่ดีขึ้น รวมไปถึงเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งข้อความในทวิตเตอร์ของเธอก็ได้เน้นย้ำในเรื่องนี้

ข้อความในทวิตเตอร์ของคุณเจเน็ต เยลเลนในวันที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

Economics isn’t just something you find in a textbook. It can be a potent tool to right past wrongs and improve people’s lives. That’s why so many of Treasury’s 84,000 public servants joined the Department. Today, I am proud to be one of them.

เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เป็นเพียงบางสิ่งที่คุณหาได้ในตำราเรียนแต่มันสามารถเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการทำสิ่งที่ผิดในอดีตให้ถูกและทำชีวิตคนให้ดีขึ้น นั้นคือเหตุผลที่พนักงานจำนวน 84,000 คนร่วมงานกับกระทรวงการคลัง และวันนี้ฉันภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น

[1] สามารถดูเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ https://home.treasury.gov/news/press-releases/jy0003

[2] การฟื้นตัวแบบรูปตัวเค (K shape) เกิดขึ้นหลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วมีบางกลุ่มฟื้นตัวกลับเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางกลุ่มไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้หรือลดลงไปจากเดิมทำให้มีลักษณะรูปร่างเหมือนตัวอักษร K

ความเห็นต่อประเด็นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ

คุณเยลเลนได้ให้ความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจทั้งในเรื่องมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของประธานาธิบดี โจ ไบเดน การขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 21 เป็น 28 การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระดับชาติจากชั่วโมงละ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ ความกังวลต่อหนี้สาธารณะของประเทศ และในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นนักเศรษฐศาสตร์แนวคิด New Keynesian ของเธอ ดังนี้

ประเด็นมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจ

คุณเยลเลนได้ให้ความเห็นมาโดยตลอดถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจขนาดใหญ่ตามที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เสนอต่อรัฐสภาสหรัฐฯ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคุณเยลเลนได้กล่าวถึงรายงานของสำนักงบประมาณแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ต่อภาวะเศรษฐกิจและคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่า พ.ศ. 2563 เศรษฐกิจหดตัวมากสุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจคาดว่าในปี 2567 ประเทศจึงจะสามารถเข้าสู่การจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพได้ อีกทั้งยังมีคำถามอีกมากมายที่จะต้องตอบ เช่น เราจะสามารถแจกจ่ายวัคซีนได้เร็วขึ้นหรือไม่ ประชาชนจะยังคงมีบ้านอยู่ สวัสดิการว่างงานจะครอบคลุมไปจนจบวิกฤตโควิด-19 หรือไม่ ผู้คนจะอดยาก ธุรกิจขนาดเล็กจะอยู่รอดหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐบาลได้เสนอแผนการช่วยเหลือชาวอเมริกัน (American Rescue Plan) เพื่อให้ชาวอเมริกันสามารถอยู่รอดได้อย่างเข้มแข็งพร้อมกับเศรษฐกิจที่เติบโต นอกจากนี้คุณเยลเลนยังได้กล่าวว่าราคาของการไม่ทำอะไรเลยสูงมากเมื่อต้องช่วยเหลือเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐสภาสหรัฐฯจะต้องดำเนินการและผ่านมาตรการช่วยเหลือชาวอเมริกันโดยเร็วเพื่อช่วยให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ถึงแม้ว่าจะมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายลอเรน ซัมเมอร์ ว่าการใช้เงินจำนวนมากถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของรัฐบาลไบเดนอาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพและกระทบต่อตลาดการเงินได้ แต่คุณเยลเลนกลับเห็นว่าสถานการณ์เงินเฟ้อไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวลเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีเครื่องมือที่จะดูแลอัตราเงินเฟ้อได้อย่างดีจากประสบการณ์ของเธอในฐานะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ มาก่อน และเห็นว่าปัญหาที่สำคัญในขณะนี้คืออัตราการว่างงานที่ยังคงสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19

ประเด็นภาษี

ตามถ้อยแถลงที่คุณเยลเลนให้ต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการเงินต่อนโยบายด้านภาษีในการปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คุณไบเดนได้เสนอในนโยบายตอนหาเสียงว่าจะปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 21[3] เป็น ร้อยละ 28 ว่าเธอจะพิจารณาขึ้นอัตราภาษีเมื่อเศรษฐกิจมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นและการปรับขึ้นอัตราภาษีจะสอดคล้องกับประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ โดยจะหารือร่วมกับประเทศอื่นในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในการเจรจาเกี่ยวกับภาษีของบริษัทข้ามชาติและพยายามที่จะหยุดไม่ให้มีการแข่งขันการลดภาษี และมั่นใจว่าบริษัทอเมริกันจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจเป็นกังวลเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเนื่องจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนทำได้ง่ายและอ่อนไหวต่ออัตราภาษีที่สูง

Tax foundation ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรและเป็น Think Tank ด้านนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์จากแบบจำลองของหน่วยงานพบว่าการขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นร้อยละ 28 จะส่งผลต่อขนาดเศรษฐกิจในระยะยาวลดลงร้อยละ 1 ลดค่าจ้างร้อยละ 0.8 และลดการจ้างงาน 187,000 งาน อย่างไรก็ดีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 21 ใน พ.ศ. 2560 ซึ่งเริ่มใช้ในพ.ศ. 2561 ทำให้รายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงร้อยละ 31 ก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่เท่ากับระดับก่อนการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และประเด็นนี้คุณเยลเลนน่าจะพิจารณาอย่างจริงจังตามนโยบายของคุณไบเดน เห็นได้จากการแต่งตั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษีระหว่างประเทศมาช่วยทำงานด้านนโยบายภาษีในกระทรวงการคลังสหรัฐฯ คงต้องติดตามกันดูต่อไปเนื่องจากการหารายได้ก็เป็นสิ่งสำคัญหลังจากมีการใช้จ่ายอย่างมากในช่วงวิกฤตโควิด-19 และยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกมากตามนโยบายของประธานาธิบดีไบเดน


[3] ร้อยละ 21 เป็นอัตราที่รัฐบาลกลางจัดเก็บซึ่งหากรวมกับการจัดเก็บเพิ่มเติมของแต่ละมลรัฐจะทำให้มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณร้อยละ 26 ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉลี่ยถั่วน้ำหนักของโลกที่ร้อยละ 24

ประเด็นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

นโยบายการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ[4]จาก 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงในระดับชาติ (Federal) คุณเยลเลนเห็นว่าจะช่วยแรงงานได้เป็นจำนวนมากให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนการสูญเสียงานที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้สำนักงบประมาณแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ประมาณการว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมงจะทำให้สูญเสีย 1.4 ล้านงานภายในปี 2568 ในขณะที่จะทำให้คนจำนวน 9 แสนคนพ้นจากความยากจน นอกจากนี้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระดับชาติส่งผลต่อการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ มีนักวิเคราะห์คาดว่าการปรับขึ้นในครั้งเดียวน่าจะเป็นไปได้ยากและอาจต้องใช้วิธีการทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นระยะๆ เนื่องจากมีผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกหลายท่านไม่เห็นด้วยเนื่องจากจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงหลังวิกฤตอาจเป็นการทำร้ายเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นได้


[4] ปัจจุบันแต่ละมลรัฐมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันไปแต่ต้องไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในระดับชาติ (Federal) ซึ่งปัจุบันกำหนดไว้ที่ชั่วโมงละ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใช้มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 โดยปัจจุบัน ดีซี เมืองหลวงของประเทศสหรัฐฯ เป็นเมืองเดียวที่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง

ประเด็นด้านหนี้สาธารณะ

ส่วนความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ซี่งใน พ.ศ. 2563 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 98 ของ GDP และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกจากมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจเพิ่มเติม  คุณเยลเลนเห็นว่าไม่ใช่ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในขณะนี้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ต่ำกว่าร้อยละ 2 แต่หากไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับความเสี่ยงและภาวะถดถอยที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่าหากต้นทุนในการกู้เงินเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจมีอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจแสดงว่าประเทศยังมีศักยภาพในการชำระหนี้ทำให้ความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะไม่น่ากังวล

ประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนและการตอบโต้ประเทศจีนด้านการค้า

สำหรับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนคุณเยลเลนเห็นว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินสกุลอื่นๆ ควรเป็นไปตามกลไกตลาด โดยสหรัฐฯ จะไม่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า และจะต่อต้านความพยายามของประเทศอื่นๆ ที่จะลดค่าเงินของตนเพื่อความได้เปรียบทางการค้าด้วย (Currency Manipulator) นอกจากนี้สหรัฐฯ จะใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างเต็มที่และร่วมมือกับประเทศพันธมิตรเพื่อปรามการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและผิดกฎหมายของจีน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักวิชาการที่ใช้มาตรฐานสากลในการบริหารจัดการเรื่องการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้การผลึกกำลังกับประเทศพันธมิตร ทั้งนี้การทำงานในวันแรกๆ ของคุณเยลเลนได้โทรศัพท์หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศกลุ่ม G7 ด้วย

ประเด็นเกี่ยวกับเงินคริปโต (Cryptocurrency)

ภาพจาก CNBC มีผู้ชูป้าย “buy bitcoin” ระหว่างการให้ข้อมูลของนางเยเลนต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงิน สภา Congress สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2560 ครั้งที่ยังเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ

คุณเยลเลน ได้กล่าวในการประชุมเสวนาว่าด้วยนวัตกรรมด้านการเงิน โดยเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการใช้เงิน คริปโต (cryptocurrency) ในทางที่ผิด โดยสกุลเงินคริปโตและสินทรัพย์เสมือนจริง (virtual assets) มีประโยชน์  แต่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดเนื่องจากกลุ่มผู้ลักลอบค้ายาเสพติดและขบวนการก่อการร้ายได้นำสกุลเงินคริปโตมาใช้ในการฟอกเงินที่ได้จากการกระทำผิด และกล่าวว่าเทคโนโลยีด้านการเงินแบบใหม่และนวัตกรรมจะมีส่วนช่วยในการปราบปรามอาชญากรรมและช่วยลดความไม่เสมอภาคในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะต่อสู้กับการใช้เงินคริปโตที่ไม่ถูกต้อง และจะเร่งให้มีนวัตกรรมอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ความเห็นของคุณเยลเลนเกิดขึ้นในขณะที่หลายบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ เช่น Tesla Bank of New York Mellon Corp Mastercard PayPal กำลังพิจารณาใช้เงินคริปโตในการทำธุรกรรม ส่งผลให้ราคาบิตคอยน์เพิ่มขึ้นแตะระดับกว่า 48,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อบิตคอยน์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นมากจากตอนสิ้นปี 2563 ที่อยู่ที่ระดับกว่า 28,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่าร้อยละ 70 ภายในเวลาไม่นาน

ท้ายนี้เราจะเห็นได้ว่าคุณเยลเลนเป็นนักวิชาการที่มากประสบการณ์และให้ความสนใจในเรื่องแรงงานเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งภารกิจที่สำคัญของเธอในการผลักดันนโยบายสำคัญของประธานาธิบดีไบเดนตามความเร่งด่วนในขณะนี้คือมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มมีความหวังจากการมีวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญเพื่อช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตและธุรกิจสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ จากพื้นฐานคุณเยลเลนมีความเชื่อว่าการจ้างงานและค่าแรงที่สมเหตุสมผลจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันชนชั้นแรงงานดีขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบ้างต่อทั้งภาครัฐและเอกชน  เราคงต้องติดตามชมฝีมือของคุณเยลเลนในการทำงานขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย นโยบายด้านการเงินการคลังต่อสภาวการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งการเห็นชนชั้นแรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านชนชั้นในประเทศว่าจะประสบผลสำเร็จเป็นไปตามที่เธอตั้งใจไว้หรือไม่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ในรอบ 231 ปี