จากอ่าวเบงกอลสู่เทือกเขาหิมาลัย EP2 : เลห์ ลาดัก โลกที่อยู่ท่ามกลางขุนเขา

จากอ่าวเบงกอลสู่เทือกเขาหิมาลัย EP2 : เลห์ ลาดัก โลกที่อยู่ท่ามกลางขุนเขา

วณัช บัณฑิตาโสภณ

ในโลกนี้มีดินแดนมากมายที่ยากแก่การไปถึง ทั้งดินแดนที่อยู่ในป่าลึก เกาะที่อยู่ไกลโพ้นหรือจะเป็นเมืองรกร้างกลางทะเลทราย แต่วิธีการเดินทางในปัจจุบันทำให้มนุษย์เดินทางเข้าไปได้เกือบทุกที่ที่มนุษย์อยากจะไปถึงแม้ว่าที่แห่งนั้นจะเป็นดินแดนของสงครามก็ตาม ตั้งแต่มนุษย์เดินทางออกจากแอฟริกา เวลากว่า 10,000 ปีทำให้มนุษย์ก้าวย่ำไปแทบจะทุกที่ในโลก สองขาก้าวย่ำผ่านทุ่งหญ้า เนินเขา ปีนป่ายหน้าผาสูงชัน และแหวกว่ายข้ามลำธารน้อยใหญ่ที่ขวางกั้นหนทางไปยังจุดหมาย

เทือกเขาหิมาลัย (Himalayas) ถือกำเนิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นคือแผ่นยูเรเซียที่ครอบคลุมทวีปยุโรปและเอเชียกับแผ่นออสเตรเลียที่รองรับอนุทวีปอินเดียและทวีปออสเตรเลีย เมื่อเกิดการชนกับแผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่งมุดลงใต้แผ่นเปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง มวลสารส่งแรงต่อกันดันแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ด้านบนให้ปูดโปนเป็นเทือกเขาหิมาลัยซึ่งมียอดเขาเอเวอร์เรส (The Everest) ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกสถิตอยู่

ผมเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบทางลัด เพียงแค่นั่งเครื่องบินจากนิวเดลี (New Delhi) เมืองหลวงของอินเดียมายังเลห์ (Leh) เมืองหลักเมืองหนึ่งในเขตลาดักส์ รัฐจามมูแคชเมียร์ของอินเดีย เพียงชั่วโมงกว่าๆ ก็ได้มาอยู่ท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัยนี้แล้ว (การเดินทางมายังเลห์มีทั้งทางอากาศและทางบก ซึ่งทางบกใช้เวลา 2-3 วัน โดยต้องขึ้นเขามาจากเมืองจามมู (เมืองหลวงของรัฐจามมูแคชเมียร์ในฤดูหนาว) ซึ่งอยู่บริเวณตีนเขาหิมาลัยผ่านเมืองศรีนาคา (เมืองหลวงของแคว้นในฤดูร้อน) และลัดเลาะไปตามถนนข้ามเทือกเขามายังเลห์)

ภาพเทือกเขาหิมาลัยจากบนเครื่องบิน

แต่ทางลัดนี้ก็เป็นทางที่ถูกต้อง ภาพของเทือกเขาหิมาลัยจากเครื่องบินเป็นภาพหนึ่งที่สวยที่สุดในชีวิตของผมคราแรกมันเหมือนสรวงสวรรค์ที่ได้รับการสรรค์สร้างจากพระเจ้า คราที่สองมันเหมือนเกล็ดหิมะรสโอวัลตินหลายร้อยหลายพันถ้วย หลังจากนั้นห้วงคำนึงของผมถูกตรึงไปด้วยความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่อยู่เบื้องล่างจนความคิดต่างๆ
พลันหายไป

ระหว่างเที่ยวบิน ผมนั่งข้างหนุ่มชาวเลห์คนหนึ่ง รู้ไหมว่าเขากำลังทำอะไร เขากำลังอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์ “The EURO and its Threat to the Future of Europe” ของ Joseph E. Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

ผมบอกเขาว่าผมก็กำลังอ่าน “Flashpoints: The Emerging Crisis in Europe” ของ George Friedman เจ้าของผลงาน “The Next 100 Years” หนังสือขายดีของ New York Tomes ดูเหมือนเราทั้งคู่จะมีบางสิ่งร่วมกัน เทือกเขาหิมาลัยอาจเคยเป็นปราการธรรมชาติที่ปิดกั้นมนุษย์มาหลายล้านปี แต่ความอยากรู้อยากเห็นของเราก็มักจะข้ามอุปสรรคต่างๆไปได้เสมอ ถึงแม้ว่าผมกับเขาจะอยู่ห่างกันเหมือนคนละโลก เลห์ กับ กรุงเทพฯ แต่เราก็มีความสนใจร่วมกันและสามารถสร้างบทสนทนายืดยาวให้เกิดขึ้นได้

การเดินทางท่องเที่ยวในเลห์และบริเวณใกล้เคียงสามารถทำได้หลากหลายวิธี บางคนเลือกใช้จักรยานบางคนเช่ามอเตอร์ไซค์ขับ แต่กระนั้นก็ต้องตรวจเช็คสภาพอากาศให้ดี แต่ผมกับเพื่อนซื้อแพ็คเกจทัวร์จาก Ree-yul Guest House (เพื่อนผมน่าจะตามมาจากกระทู้ pantip และเช็คหน้าเพจเฟซบุ๊คพบว่ามีคนไทยเลือกพักและซื้อแพ็คเกจทัวร์ที่นี่เยอะมาก) พอเครื่องบินแตะถึงพื้นจึงมีคนจาก Guesthouse มารอรับเราถึงที่

ช่วงเดือน เม.ย. หากเป็นอินเดียเบื้องล่างถือได้ว่าอากาศร้อนถึงร้อนที่สุด กรุงนิวเดลีมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ราว 37 องศา ยังไม่นับรวมอุณหภูมิที่รู้สึกจริง (Feels Like Temperature) ที่ต้องมากกว่าอย่างแน่นอน หรือโกลกาตาที่อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ราว 36 องศา ที่ร้อนไม่แพ้กัน ตรงกันข้าม ณ เลห์ อุณหภูมิสูงสุด 12 องศา ต่ำสุด -1 องศา เหมาะแล้วที่จะเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าสรวงสวรรค์

ภาพเมืองเลห์ (Leh) จากพระราชวังเลห์ (Leh Palace)

วันแรกบนหลังคาโลก ห้วงคำนึงผมถูกตราตรึงไปด้วยทิวทัศน์ตระการตา หลังจากเก็บสัมภาระในที่พัก คนขับก็พาเราไปเยือนสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต้องไปทั้ง Leh Palace, Shanti Stupa, Thiksay Monastry (ค้นหาข้อมูลแต่ละที่ละเอียดได้จาก Wikipedia เลยจ้า) จะว่าไปดินแดน Ladakh แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดพักของคาราวานที่ทำการค้าระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Valley) กับที่ราบสูงทิเบต จนภายหลังจักรวรรดิทิเบต (Tibetan Empire) ล่มสลายลงในปี ค.ศ. 842 เจ้าชายจากทิเบตได้มายังดินแดนแถบ Ladakh นี้และตั้งตนเป็นกษัตริย์

ดินแดนแถบนี้มีการเปลี่ยนมือ เปลี่ยนผู้ปกครองหลายครั้ง จากราชวงศ์เดิมเปลี่ยนมาเป็นราชวงศ์ Namgyalในตอนต้นศตวรรษที่ 17 และมีการย้ายศูนย์กลางการปกครองมายัง Leh Palace ต่อมาถูกจักรวรรดิซิกข์ (Sikh Empire) เข้ายึดครองเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จนดินแดนตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย และบังกลาเทศตกเป็นของอังกฤษ ดินแดน Ladakh จึงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษด้วย  

วันที่รุ่งขึ้นเราร่วมเดินทางกับคนไทยอีก 3 คน เมื่อมีเวลามากขึ้น คนขับพาเราออกมาไกลนอกเมืองเลห์มากขึ้น คนขับพาเรามายังจุดที่แม่น้ำซันสการ์ (Zanskar) ไหลมารวมกับแม่น้ำสินธุ เกิดเป็นแม่น้ำสองสี แต่ไม่ใช่มีแค่รถของเราคันเดียวเท่านั้นที่บรรทุกไปด้วยมนุษย์สัญชาติไทย เรามีเพื่อนร่วมทางที่ดูเหมือนว่าวันนี้จะไปท่องเที่ยวที่ต่างๆ นอกเลห์คล้ายกับเรา

ภาพแม่น้ำสองสี และคณะคนไทยที่ไปเจอกัน

เราเดินทางต่อไปยังเนินเขาแม่เหล็ก (Magnetic Hill) ซึ่งได้ชื่อมาจากลักษณะภูมิประเทศที่เมื่อจอดรถปลดเกียร์ว่างไว้ รถจะค่อยๆ ขยับขึ้นภูเขาราวกับถูกแม่เหล็กดูด แต่จริงๆ แล้วภาพที่เห็นเป็นภาพลวงตาและถนนตรงบริเวณนั้นก็เป็นทางลาดลงเขาต่างหาก

ภาพ Magnetic Hill

นอกจากทิวทัศน์ระหว่างทางที่ตื่นตาตื่นใจแล้ว เรามองเห็นป้ายสีเขียวติดอยู่ตามรายทางเป็นระยะ ตอนแรกเราไม่ได้ใส่ใจกับมันมากนักเพราะดูเหมือนจะเป็นป้ายจราจรทั่วไป แต่เมื่อนั่งรถไปเรื่อยๆ พบว่ามีป้ายตั้งอยู่เป็นระยะตลอดทาง แถมสิ่งที่เขียนในป้ายยังไม่ซ้ำกันด้วย มันไม่ใช่ป้ายบอกทางธรรมดาแล้วล่ะ

ป้ายดังกล่าวเขียนข้อความว่า “Feel the Curves, Don’t Hug Them” หรือ “โค้งน่ะ เอาแค่รู้สึกก็พอ อย่าได้ถลันไปโอบกอดมันเชียว” อีกป้ายเขียนว่า “Don’t be Gama in the Land of Lama” หรือ “อย่าทำเหมือนว่ารู้ในดินแดนของลามะ” ซึ่งต้องถอดความอีกทีว่า “อย่าทำตัวอวดเก่ง” เนื่องจาก ‘Gama’ นั้นสื่อถึงคำว่า ‘Layman’ ซึ่งแปลว่า ฆราวาส ขณะที่ ลามะ นั้นสื่อถึงเหล่าพระภิกษุ

ป้ายข้างต้นจัดเป็นส่วนหนึ่งใน Project Vijayak หรือก็คือโครงการสร้างเครือข่ายถนนเพื่อเชื่อมต่อดินแดน Ladakh ที่ห่างไกลแห่งนี้เข้ากับส่วนอื่นๆ ของอินเดีย นำพาทั้งผู้คน ทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร เข้าและออกจากที่แห่งนี้ การสร้างเส้นทางนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกันการสัญจรบนเส้นทางเหล่านี้ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารไม่ควรประมาท

ภาพ ป้ายบอกทางของ Project Vijayak

หลังจากได้รับการเตือนสติหลายครั้งหลายหน รถของเราก็เดินทางมาถึงดวงจันทร์ (ไม่มีสติเอาเสียจริงๆ) แต่ก็ช่วยไม่ได้เพราะหากมองไปยังข้างทางเบื้องล่างจะพบว่ามันไม่เหมือนว่าเรากำลังอยู่บนโลกมนุษย์เอาเสียเลย

ภาพ Moon Valley (Moon Land)

ที่มา: flickr.com

จากตัวเมืองเลห์มายัง Moon Valley แห่งนี้ คิดเป็นระยะทางกว่า 112 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางกว่า 3 ชั่วโมง (รวมเวลาแวะชมแต่ละที่และถ่ายรูปด้วย) ซึ่งเราต้องเดินทางกลับเลห์ด้วยเส้นทางเดิมทำให้เมื่อถึงเลห์ก็ตกเย็นและอากาศเริ่มหนาวอีกครั้ง

วันที่ 3 เรามีสมาชิกเพิ่มมาในรถอีก 2 คน เป็นคู่รักระหว่างหญิงไทยกับหนุ่มฝรั่งที่ออกเดินทางด้วยกัน สิริรวมกับกลุ่มเมื่อวานและคนขับจึงมีมนุษย์ในรถโดยสารทั้งหมด 8 ชีวิต (ลืมบอกไปว่ารถยนต์ที่พาเราเดินทางไปที่ต่างๆ นั้นคือ Toyota Innova อย่างที่ขับอยู่ที่กรุงเทพฯ เนี่ยล่ะ เรายังแอบคิดเลยว่ารถคันนี้ถูกผลิตแถวระยองไม่ก็ชลบุรี
แล้วส่งขึ้นภูเขามาที่นี่หรือเปล่า)

วันนี้จะเป็นการเดินทางที่ไกลกว่าเดิมและเราจะไม่ได้กลับมาพักที่เลห์ แต่เราจะไปกันที่ Nubra Valley แค่ขาไปอย่างเดียวมีระยะทางกว่า 160 กิโลเมตร แต่เส้นทางโหดกว่าวันที่ 2 มาก เพราะจะต้องผ่าน Khardung La บริเวณที่ได้ชื่อว่าเป็น “World’s Highest Motorable Pass” หรือ “เส้นทางที่รถผ่านได้ที่สูงที่สุดในโลก” ในเมื่อยิ่งสูงยิ่งหนาว หิมะจึงตกกระหน่ำและปูพรมผิวทางไปด้วยหิมะกองพะเนินสีขาว รถเคลื่อนที่ได้ช้าลงและต้องใช้ความระมัดระวังสูงมากซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ของลิงจากเมืองร้อนอย่างพวกเราที่อย่างมากก็เคยขับรถบนถนนลูกรังสีแดงฉานการเดินทางขาไปนี้จึงใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงด้วยกัน

ภาพ Khardung La – World’s Highest Motorable Pass

ที่มา: telegraphindia.com

เมื่อเรามาถึง Nubra Valley สิ่งแรกที่เราทำคืออะไรรู้ไหม ขี่อูฐไงล่ะ

ภาพ การขี่อูฐท่ามกลาง Nubra Valley

Nubra Valley เป็นพื้นที่ระหว่างภูเขาที่มีแม่น้ำ Nubra ไหลผ่าน มีทัศนียภาพรอบด้านตื่นตาตื่นใจทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในฉากภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับอวกาศสักเรื่อง ที่นี่ลมค่อนข้างแรงและมักจะพัดฝุ่นและทรายให้หมุนอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นภาพที่งดงามมาก ขณะเดียวกันพอตกดึกอากาศที่นี่หนาวเย็นลงกว่าเลห์เสียอีก

ภาพ Nubra Valley

หลังจากค่ำคืนอันหนาวเย็นผ่านพ้นไป (ผมไม่ได้อาบน้ำมากี่วันแล้วนะ วันนี้คงเป็นวันที่ 4 แล้วล่ะ >.<!) วันนี้เป็นวันที่เราจะเดินทางกลับไปเลห์ โดยระหว่างทางกลับเราจะใช้อีกเส้นทางหนึ่งเพื่อแวะไปยังหนึ่งในทะเลสาบ ที่ขึ้นชื่อในดินแดน Ladakh แห่งนี้ซึ่งก็คือ ทะเลสาบ Pangong (Pangong Tso)

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผมยิ่ง

อย่างแรก ผมคิดว่าทิวทัศน์สองข้างทางจาก Nubra Valley ไปทะเลสาบ Pangong นั้นงดงามยิ่งกว่าช่วงใดๆที่เราพบเจอมา

ภาพ ทิวทัศน์ระหว่างทางจาก Nubra Valley ไปทะเลสาบ Pangong

อย่างที่สอง ฝรั่งที่เป็นแฟนกับคนไทยในคณะของเราเป็นผู้รู้เรื่องการดูสัตว์ เขาจะชี้และเรียกบอกคนในรถ “เฮ้ย ยู นกอินทรีย์ !!” ไอเราก็ตั้งตาดูพลางคิดในใจว่า “เหย มันจะตาดีไปไหม” แต่พอลงจากรถแล้วค่อยๆ พินิจ
เราก็เห็นนกอินทรีย์หิมาลัยตัวเป็นๆ (มาคิดดูตอนนี้ผมชักไม่แน่ใจว่ามันคือนกอินทรีย์หรือว่าเหยี่ยวกันแน่)

ภาพ นกอินทรีย์หรือเหยี่ยวกันนะ

ซึ่งนอกจากนกแล้วก็มีสัตว์ที่อยู่ในรูหรือก็คือตัวมาร์มอต (Marmot) แสนน่ารัก โดยตัวมาร์มอตที่เราพบก็เป็นสายพันธุ์ที่อยู่บนเขาซึ่งพบได้ตั้งแต่เทือกเขาแอลป์ (The Alps) ในยุโรป เรื่อยมาจนถึงเอเชียตะวันตกเฉียงเหนือเชื่อมต่อมายังเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้

ภาพ การตามหาตัวเจ้ามาร์มอต

อย่างที่สาม ผมได้เต้นบนเทือกเขาหิมาลัย!! อันนี้ต้องยอมรับว่าได้รับแรงบันดาลใจจากฝรั่งคนเดิมที่โยกมาตั้งแต่อยู่ในรถตามจังหวะเพลงที่คุณลุงคนขับรถเปิดแล้ว พอขับมาได้สักระยะ ถึงจุดพักรถและพักคนให้เข้าห้องน้ำ คุณลุงก็อุตส่าห์เปิดเพลงดังสนั่น (รอบข้างตอนนั้นมีแต่พวกเรา 8 คนกับความเวิ้งว้าง) แล้วผม ไอฝรั่ง แล้วก็คุณลุงก็เต้นเพลง ‘Fire Burning – Sean Kingston’ กันท่ามกลางเทือกเขาอันหนาวเหน็บนี้

เข้าเรื่อง เดินทางกันต่อ และแล้วเราก็มาถึงทะเลสาบ Pangong กันจนได้

ที่แห่งนี้มีความสำคัญอย่างไร?

ทะเลสาบ Pangong มีลักษณะเป็นรูปตัว ‘W’ คล้ายๆ ไอคอนแอพพลิเคชัน Messenger ของ Facebook เช่นกัน ผืนน้ำไม่ได้อยู่แค่ในอินเดียแต่ยังทอดยาวเข้าไปทิเบตซึ่งปัจจุบันเป็นของจีนด้วย และที่สำคัญสำหรับผมไปมากกว่านั้น ทะเลสาบแห่งนี้ปรากฏในฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง 3 Idiots (2009) ภาพยนตร์อินเดียที่ดังไกลไปถึงระดับ Hollywood

ภาพ ทะเลสาบ Pangong ที่กลายเป็นน้ำแข็ง

ภาพ ป้ายโปสเตอร์ภาพยนตร์ 3 Idiots ริมทะเลสาบ Pangong

ภาพยนตร์เรื่อง 3 Idiots บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนสนิทสมัยมหาวิทยาลัย 3 คนที่สัญญากันว่าหลังจากเรียนจบแล้วผ่านไปอีก 10 ปี พวกเขาจะกลับมาเจอกัน แต่เมื่อถึงเวลา เพื่อนคนหนึ่งกลับหายไป ทั้งสองจึงเริ่มออกเดินทางเพื่อตามหาเพื่อนคนนั้น ภาพยนตร์จะค่อยๆ เล่าเรื่องราวถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้น จนในที่สุดเพื่อนทั้ง 3
มาเจอกันที่ทะเลสาบ Pangong แห่งนี้

แต่นั่นไม่ใช่หัวใจสำคัญของเรื่อง เช่นเดียวกับการเดินทาง แก่นสารของมันอยู่ที่เรื่องราวระหว่างทาง รับรองได้ว่าด้วยบุคลิกของตัวละคร ความคิดนอกกรอบของผู้กำกับ การวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาที่เจ็บแสบ รวมถึงความเข้าใจในสังคมอินเดียอย่างถึงรากจะทำให้คนที่ได้ดูรับรู้ถึงความรู้สึกบางอย่างที่หาได้ยากและอาจเกิดความสนอกสนใจอยากเดินทางมาอินเดียรวมถึงทะเลสาบ Pangong แห่งนี้เหมือนผมก็เป็นได้

ภาพ ในที่สุดทั้งสามก็มาเจอกันที่ทะเลสาบ Pangong

ภารกิจเสร็จสิ้น เราเดินทางกลับและถึงเลห์ได้ทันฉิวเฉียดก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน

หากใครได้มาเลห์ เราก็มีอาหารแนะนำเหมือนกันนั่นคือ ซี่โครงแพะย่าง ซึ่งนอกจากแพะก็มีแกะ มีไส้ที่ผสมเครื่องเทศ กินคู่กับแผ่นแป้งและสลัดคล้ายโคลสลอว์ ร้านอาหารเป็นห้องแถวริมทาง เดินเลยจาก Main Bazaar มาตรงบริเวณที่เป็นหัวโค้งก็จะเห็นควันโขมงโฉงเฉง หรือจะลอง copy พิกัด 34.1621,77.5859 ไปค้นหาใน Google Maps ก็ได้เหมือนกันจ้า

จริงๆ ที่เรากลัวว่าพอกลับถึงเลห์แล้วจะมืดเสียก่อนก็เพราะกลัวจะกลับมาไม่ทันกินเนื้อย่างที่ขายดิบขายดีนี่ล่ะ  

ภาพ ร้านเนื้อย่างริมทาง ใกล้บริเวณ Main Bazaar กับพี่ๆ คนไทยสามคน

เนื่องจากพรุ่งนี้เราจะบินลงเขาและเตรียมตัวกลับบ้าน พอถึงที่พักเราจึงต้องจัดการค่าใช้จ่ายกันให้เรียบร้อย มาถึงจุดนี้เราก็ได้บทเรียนก่อนกลับบ้านล้ำค่ากันอีกครั้ง ในตอนแรกผมกับเพื่อนอาจมองโลกในแง่ร้ายไปสักนิด เราคิดกันตั้งแต่วันแรกว่าเราต้องเหมาจ่ายคุณลุงเจ้าของ Guest House กันในราคาคงที่ซึ่งควรจะเป็นราคาสำหรับคน 2 คนในการเดินทาง แต่วันที่ 2 และ 3 เราเดินทางกันเป็นกลุ่ม จากผมกับเพื่อนแค่ 2 คน มีเพิ่มมาเป็น 5 คนในวันที่ 2 และ 7 คน
ในวันที่ 3 จนถึงวันสุดท้ายของการเดินทาง เรายังกังวลกันว่าแล้วค่าใช้จ่ายจะเหมาจ่ายคงที่ในราคาเดิมไหม ซึ่งถึงแม้จะมีความสุขที่ได้โดยสารร่วมกับนักเดินทางคนอื่นแต่ก็ต้องยอมรับว่าการนั่งกัน 5-7 คนใน Toyota Innova ที่ลัดเลาะไปตามถนนของเทือกเขาหิมาลัยนั้นไม่ใช่สิ่งที่สะดวกสบายนัก

ปรากฏว่าคุณลุงเจ้าของ Guest House คิดราคาตามจริง หารทั้งค่าบริการและค่าน้ำมันตามสัดส่วนคนที่อยู่ในรถในวันนั้นๆ จากงบที่ผมกับเพื่อนตั้งไว้ว่า การเดินทางรวมถึงค่าที่พักและค่ากินอยู่บนดินแดนหิมาลัยแห่งนี้น่าจะตกราวๆ คนละ 8,000 บาทต่อคน แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนดังกล่าวค่าใช้จ่ายต่อคนลดไปกว่าครึ่ง !! เหลือเพียงคนละ 4,000 บาทเท่านั้น 5 วัน ทำไปได้ !!

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ การร่ำลาเพื่อนร่วมทางชาวไทย 4 คนกับฝรั่งอีก 1 คน โดยกลุ่มพี่ที่มากัน 3 คน ตัดสินใจไปเที่ยวทะเลสาบ Moriri (Tso Moriri) ในวันพรุ่งนี้ซึ่งต้องออกตั้งแต่เช้ามืด พี่เขาก็แอบข่มว่า “สวยกว่า Pangong อีกนะ” แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการเดินทางที่ไกลกว่าโดยแค่เพื่อไปที่ทะเลสาบเพียงแห่งเดียวก็มีระยะทางกว่า 220 กิโลเมตร กินเวลากว่า 5 ชั่วโมงแล้ว !! เราจึงต้องร่ำลากันเสียตั้งแต่เย็นวันนี้ ส่วนคู่รักคนไทยกับฝรั่งก็หายตัวไปเลยพอเรากลับมาถึงเลห์ ฮ่าๆ

การเดินทางและการลาจากเป็นของคู่กัน การเดินทางคือการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง เราต้องลาจากสิ่งเก่าไปสิ่งใหม่ซึ่งก็จะกลายเป็นสิ่งเก่าไปทันทีเมื่อเราพบสิ่งใหม่ที่ใหม่กว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นทั้งผู้คน สถานที่ ไปจนถึงความรู้สึก

การเดินทางและการจากลาจึงต้องเป็นของคู่กัน

ใช่ที่ไหนล่ะ! ปัจจุบันเป็นยุคของอินเตอร์เน็ต เราสามารถติดต่อกันได้ทั้งทาง Facebook, E-mail และ Instant Messaging เช่น Line เพราะเรามีรูปที่เราต้องส่งให้กันเพื่อไปลง Instagram อีกมากโข!

วันที่ 5 บทดินแดนหิมาลัย ผมกับเพื่อนถึงสนามบินแต่เช้า สนามบิน Leh (Kushok Bakula Rimpochee Airport) นั้นขนาดเล็กจิ๋ว แต่ก็คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ปี ค.ศ. 2017 จำนวนผู้สัญจรแตะระดับ 5.6 แสนคน ขยายตัว
จากปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 38 ปริมาณเครื่องบินที่ลงจอดกว่า 5 พันเที่ยว และสินค้าที่ขนส่งกว่า 1.6 พันตัน

ดูเหมือนผู้คนจะมุ่งหน้าสู่ดินแดนแห่งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวไหลเวียนเข้ามา เรื่องราวทั้งดีทั้งร้ายก็จะเกิดขึ้น การติดต่อกับอินเดียเบื้องล่างกับโลกภายนอกเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น สิ่งที่หลงเหลือในตัวผมจะเป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเราเคยเดินทางท่ามกลางขุนเขา เคยเจอคนที่สนใจเศรษฐศาสตร์เหมือนกันที่นี่ เคยเต้นท่ามกลางความหนาวเหน็บ ได้รับมอบความเมตตากรุณาจากคนที่นี่ และได้รับรู้ว่า บนโลกที่เราเกิดมา มีสถานที่แห่งนี้ดำรงอยู่ด้วยเหมือนกันนะ

จากสนามบิน Leh เราบินมาเปลี่ยนเครื่องที่ Indira Gandhi International Airport กรุงนิวเดลี และบินกลับไทยโดยสวัสดิภาพ

สรุปค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สิริรวมอินเดียทั้งเบื้องล่างและเบื้องบน รวมค่าเดินทาง ค่าเครื่องบิน ค่าอาหาร ค่าที่พักและค่าจิปาถะอื่นๆ ผมใช้เงินไปเพียง 24,760 บาท เท่านั้นนะครัช

วณัช บัณฑิตาโสภณ (แตงโม)

ผู้เขียน
“ยากที่จะนิยามตัวเอง เป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ เป็นเศรษฐกรปฏิบัติการ เป็นนักเขียนนู่นเขียนนี่ แต่ที่แน่ๆสนใจปัญหาบ้านเมืองและอยากแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น”