บทความโดย
นางสาวอภิญญา เจนธัญญารักษ์
นางสาวภณิดา ปรัชญกุล
1.ภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบันความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความถี่มากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น กลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในชั้นบรรยากาศในปริมาณที่เกินกว่าระบบนิเวศตามธรรมชาติจะดูดซับได้ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน และเชื้อเพลิงในภาคพลังงานและภาคคมนาคม คิดเป็นร้อยละ 70 – 80 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคเกษตรกรรมและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ร้อยละ 15 – 20 และผลพลอยได้จากกระบวนการอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมซีเมนต์หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมกับการย่อยสลายของขยะอีกประมาณ ร้อยละ 5 – 10
1.1 ภาพรวมของทั้งโลก
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่าก่อนปี 2473 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นในระดับต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แต่หลังจากนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มสูงถึง 1.4 องศาเซลเซียส ในปี 2563 จึงนำไปสู่ผลกระทบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ อุทกภัย สภาพภูมิอากาศแปรปรวน และจากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นไปตามความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ
ผลสำรวจจาก World Resource Institute (2021) จากรูปที่ 3 พบว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 29.4 ของทั้งโลก รองลงมาคือสหรัฐอเมริกาคิดเป็นร้อยละ 14.4 ของทั้งโลก สหภาพยุโรปคิดเป็นร้อยละ 9.6 และประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากอื่น ๆ เช่น สาธารณรัฐอินเดีย สหพันธรัฐรัสเซีย ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า ปัญหาการปล่อยก๊าซาร์บอนไดออกไซด์ในภูมิภาคเอเชียและเอเชีย-แปซิฟิกเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
1.2 ภาพรวมของภูมิภาคเอเชียและอาเซียน
จากปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภูมิภาคเอเชียและอาเซียน พบว่า ความท้าทาย
ด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ (1) การเข้าถึงพลังงาน โดยภูมิภาคดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัยและยังใช้พลังงานดั้งเดิม เช่น ถ่านหิน น้ำมันก๊าด เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหามลภาวะเป็นพิษ (2) ปัญหาการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน พบว่าภูมิภาคดังกล่าวมีปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติจากการใช้พลังงานที่มีการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก การใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับสูง (3) การขาดความมั่นคงทางพลังงาน คือ ความจำเป็นในการพึ่งพาพลังงานและเชื้อเพลิงฟอสซิลจากตลาดภายนอก โดยต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานและราคาพลังงานที่ผันผวน และ (4) ปัญหาการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ต้องมีมาตรการ อาทิ การเปลี่ยนผ่านเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ การลงทุนในพลังงานไฟฟ้า การสร้างงานในภาคพลังงานสะอาด การดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนเข้าสู่การลงทุนพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน เป็นต้น ภูมิภาคเอเชียจึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ให้สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานที่มั่นคง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืน
2.การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศช่วยกันแก้ไข
โดยประเทศต่าง ๆ ในโลกได้เริ่มจัดทำกรอบความร่วมมือในระยะแรกขึ้นในปี 2535 ได้แก่ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) โดยกำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำร่องในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมให้มีการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งมีการจัดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties of United Nations Framework Climate Change Convention: COP) ต่อมาได้มีการจัดทำพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ภายใต้กรอบ UNFCCC ในปี 2540 เป็นการกำหนดกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นข้อผูกพันตามกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว จากนั้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดฮา (Doha Amendment) ในปี 2555 จนกระทั่งล่าสุดได้มีการจัดทำความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2558 ที่จะมุ่งไปสู่การจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และได้มีแนวคิด Net-Zero ซึ่งหมายถึง การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น พร้อมกับมีวิธีการกำจัดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันได้มีการตรวจพบระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 420 ส่วนในล้านส่วน (Parts Per Million: PPM) (ข้อมูลปี 2021) สูงสุดในรอบหลายล้านปี และหากยังคงเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั่วโลกรวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีความตั้งใจที่จะไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว ประเทศต่าง ๆ ได้มีการกำหนดแนวทางเพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลากหลายวิธี โดยวิธีการที่เป็นที่นิยม คือ การค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงกิจกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก โดยเฉพาะในภาคพลังงานไปสู่กิจกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจกน้อย หรือไม่มีเลย (Mitigation) เช่น การยกเลิกการใช้พลังงานจากถ่านหินหรือน้ำมัน มาสู่การพัฒนาพลังงานประเภทใหม่ พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เป็นต้น และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) เช่น การป้องกันภัยน้ำท่วม การรับมือกับภัยพิบัติ เป็นต้น
การจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Reform) จะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งต้องการความรู้และเทคโนโลยีในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจไม่เป็นปัญหาสำหรับประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง และมีระดับเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีแหล่งเงินทุนไม่เพียงพอและไม่มีเทคโนโลยี การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก ทั้งในด้านแหล่งเงินทุน และความช่วยเหลือทางวิชาการ รวมถึงเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3.บทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี (Multilateral Development Banks: MDBs) กับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยเงินทุน องค์ความรู้ และเทคโนโลยี เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงานและคมนาคม ซึ่งประเทศกำลังพัฒนามักมีทรัพยากรไม่เพียงพอ องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี (Multilateral Development Banks: MDBs) จึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย MDBs มีบทบาทในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านการเป็นแหล่งเงินทุนที่มาพร้อมกับความช่วยเหลือทางวิชาการ
MDBs เป็นองค์กรระหว่างประเทศจัดตั้งขึ้นโดยรัฐอธิปไตยจากประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ในฐานะผู้ถือหุ้น และร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ MDBs โดยมุ่งลงทุนในโครงการที่เป็นสินค้าสาธารณะ ซึ่งไม่เหมาะกับการลงทุนโดยภาคเอกชนหรือการลงทุนเชิงพาณิชย์ โดย MDBs มีข้อได้เปรียบในการมีแหล่งทุนต้นทุนต่ำในระยะยาว การเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่หลากหลาย ความสามารถในการระดมทุนจากภาคเอกชน ประกอบกับกระบวนการคัดกรองการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการดำเนินงานที่ผ่านมา MDBs จึงให้ความช่วยเหลือ เช่น เงินกู้ (Loans) ความช่วยเหลือทางการเงินแบบมีเงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Lending) ความช่วยเหลือทางวิชาการ (Technical Assistance: TA) ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grants) เป็นต้น โดยมุ่งส่งเสริมพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศสมาชิกผ่านการดำเนินโครงการในประเทศกำลังพัฒนา เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งยังมีส่วนช่วยออกแบบนโยบายแก่ภาครัฐให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 และสามารถจัดการประเด็นที่สำคัญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ และปัญหาโรคระบาด ตัวอย่างของ MDBs เช่น กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group: WBG) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (The European Investment Bank: EIB) ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและพัฒนา (The European Bank for Reconstruction and Development: EBRD) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา (The African Development Bank Group: AfDB) กลุ่มธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนา (Islamic Development Bank Group: IDBG) ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) เป็นต้น
MDBs ได้ตระหนักถึงปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้จัดทำกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งแต่ปี 2558 ได้ประกาศเป้าหมายการดำเนินงานให้สอดคล้องกับความตกลงปารีสและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 โดยมุ่งเน้นเป้าหมายขยายการให้ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับกิจกรรมที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบัน MDBs หลายแห่งเน้นการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นแนวทางการดำเนินการหลัก โดยมีการร่วมทุนระหว่าง MDBs และสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเพิ่มศักยภาพพลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งกระแสไฟฟ้า การรับมือกับวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ MDBs ยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยเฉพาะกองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพหุภาคี เช่น Climate Investment Fund และกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เป็นต้น โดยนำเงินจากกองทุนเหล่านี้รวมกับเงินทุนของตัวเองเพื่อใช้ในงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) นอกจากนี้ MDBs ยังให้ความช่วยเหลือทางวิชาการโดยนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
เป้าหมายของ MDBs ต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือด้าน Climate Finance
MDBs | เป้าหมายการให้ความช่วยเหลือด้าน Climate Finance |
1. กลุ่มธนาคารโลก | ในปี 2564 กลุ่มธนาคารโลกมีมูลค่าการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา คิดเป็นมูลค่า 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ตั้งเป้าว่าในช่วงระหว่างปี 2564 – 2568 จะให้ความช่วยเหลือด้าน Climate Finance ร้อยละ 35 ของเงินลงทุนทั้งหมด |
2. ธนาคารพัฒนาเอเชีย | ADB ยังได้ตั้งเป้าให้งานด้านสภาพภูมิอากาศมีส่วนอย่างน้อยร้อยละ 75 ของการดำเนินการทั้งหมด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 |
3. ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป | ในปี 2564 ได้มีการลงทุนในโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวน 27,600 ล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 51 ของการลงทุนทั้งหมด และในช่วงปี 2564 – 2573 จะสนับสนุนการลงทุนในงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้จำนวน 1 ล้านล้านยูโร รวมทั้งจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2568 |
4. ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและพัฒนา | มุ่งเป็นผู้นำด้าน Climate Finance และธนาคารสีเขียวภายในปี 2568 และจะลงทุนในโครงการเพื่อสนับสนุนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือมีผลลัพธ์ในด้านสิ่งแวดล้อมคิดเป็นร้อยละ 40 ของ การลงทุนทั้งหมด |
5. ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา | เพิ่มการลงทุนด้าน Climate Finance เป็น 3 เท่า คิดเป็นร้อยละ 40 ของการลงทุนทั้งหมด |
6. กลุ่มธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนา | เพิ่มการลงทุนด้าน Climate Finance เป็น 2 เท่า และให้การอนุมัติเงินกู้คิดเป็นร้อยละ 30 ของทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี |
7. ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย | ประกาศเป้าหมายในการอนุมัติเงินลงทุนเพื่องานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 50 ของเงินลงทุนทั้งหมด ภายในปี 2568 และดำเนินกิจกรรมทางการเงินให้สอดคล้องกับ ความตกลงปารีสภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 โดยภายในปี 2573 ยอดสะสมของการอนุมัติการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ |
สำหรับประเทศไทย เป็นสมาชิก MDBs ประกอบด้วย กลุ่มธนาคารโลก ADB และ AIIB โดย MDBs เหล่านี้มีตัวอย่างการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้
กลุ่มธนาคารโลก มุ่งเน้นไปที่ (1) การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัว
ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนและการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (2) การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) โดยจะเร่งระดมทุนภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ และ (3) การปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ โดยช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุข้อตกลงปารีสและการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) รวมทั้งร่วมมือกับประเทศสมาชิกในการออกแบบและดำเนินการนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ
ตัวอย่างโครงการของกลุ่มธนาคารโลกที่ได้ดำเนินการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศ
ประเทศ | ชื่อโครงการ | ประเภทโครงสร้างพื้นฐาน | รายละเอียดโครงการ | จำนวนเงิน (ล้านดอลลาร์สหรัฐ) |
สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ | โครงการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย การขนส่งพลังงานในภูมิภาคตะวันออก | พลังงาน | เพิ่มศักยภาพในการขนส่งเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ | 450.64 |
สาธารณรัฐตุรกี | โครงการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติในโรงเรียน | การปรับตัวและการรับมือ | เพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลากรการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวสูง | 300 |
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ | โครงการพัฒนาชนบทในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ | ภาคการเกษตร | เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ในชนบทและยกระดับการผลิต พืชสวนและการประมง | 849.82 |
สาธารณรัฐประชาชนจีน | โครงการพัฒนาการคมนาคมแบบบูรณาการในอู่ฮั่น | การคมนาคม | พัฒนาการสัญจรทางคมนาคม (ความปลอดภัยทางถนน ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบคมนาคมอัจฉริยะ) | 120 |
ราชอาณาจักรโมร็อกโก | โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ | พลังงาน | ติดตั้งและพัฒนาศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ | 400 |
สาธารณรัฐอินเดีย | การพัฒนาการจัดการน้ำบาดาล | พลังงาน | พัฒนาการจัดการแหล่งน้ำบาดาล | 450 |
ADB มีการสนับสนุนการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 8 ด้าน ได้แก่ (1) การลงทุนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและการเข้าถึงพลังงาน รวมทั้งการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (2) ด้าน Climate Finance โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2562 – 2573 (3) การสนับสนุนเมืองสีเขียวที่น่าอยู่ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการจัดหาน้ำ จัดการขยะ การคมนาคมที่สะอาด การวางผังเมือง และโครงการพลังงานที่สะอาด (4) การบูรณาการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยลงทุนเพื่อช่วยประเทศสมาชิกรับมือกับภัยพิบัติ เช่น การควบคุมน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น (5) การสนับสนุนการบริหารที่ดินและการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ยั่งยืน (6) การตอบสนอง การฟื้นฟู และการบูรณะภายหลังภัยพิบัติ (7) การพัฒนาด้านการฟื้นฟู สนับสนุนการลงทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการลงทุนในการจัดหาน้ำประปา ความสะอาด ระบบชลประทาน การควบคุมน้ำท่วม โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและพลังงาน รวมทั้งลงทุนในภาคสาธารณสุขและการศึกษา และ (8) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของนโยบาย
ตัวอย่างโครงการของ ADB ที่ได้ดำเนินการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเทศ | ชื่อโครงการ | ประเภทโครงสร้างพื้นฐาน | รายละเอียดโครงการ | จำนวนเงิน (ล้านดอลลาร์สหรัฐ) |
สาธารณรัฐ อุซเบกิสถาน | โครงการการพัฒนาพลังงานน้ำและสนับสนุนความยั่งยืน | พลังงานสะอาด | เสริมสร้างการผลิตพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานผสมผสาน รวมทั้งสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำ | 1,000 |
ระดับภูมิภาค | เตรียมความพร้อมแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการยกระดับการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | ให้ความช่วยเหลือในการสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อยกระดับการรับมือกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | 238 |
ระดับภูมิภาคแปซิฟิก | สนับสนุนการลงทุนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | การปรับตัว เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | ยกระดับการลงทุนในการปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน | 1,000 |
เอเชียกลางและเอเชียตะวันตก | เศรษฐกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก | การปรับตัว เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบด้านลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก | 1,250 |
AIIB มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสภาพภูมิอากาศ 3 ประเภท ได้แก่ (1) โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) โครงสร้างพื้นฐานเพื่อระดมทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเงินลงทุนและทุนหมุนเวียนเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ และ (3) โครงสร้างพื้นฐานที่มีคาร์บอนต่ำ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตัวอย่างโครงการได้รับการอนุมัติของ AIIB ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเทศ | ชื่อโครงการ | ประเภทโครงสร้างพื้นฐาน | รายละเอียดโครงการ | จำนวนเงินอนุมัติ (ล้านดอลลาร์สหรัฐ) |
สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน | โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท | รับมือกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | ลงทุนร่วมกับธนาคารโลก ในด้านการเข้าถึงน้ำดื่ม ระบบชลประทาน การเกษตร รวมทั้งฟื้นฟูถนน ทางเท้า สะพาน การเข้าถึงไฟฟ้า และการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงาน | 82 |
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ | โครงการรับมือและปรับตัว ต่อน้ำท่วม | รับมือกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | ลงทุนร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิด น้ำท่วมและป้องกันการเกิด น้ำท่วม | 100 |
หลายประเทศ | กองทุนพลังงานหมุนเวียนในตลาดเกิดใหม่ | ระดมทุนด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | ระดุมทุนภาคเอกชนและสนับสนุนการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนของประเทศสมาชิกภูมิภาคของ AIIB | 100 |
หลายประเทศ | พันธบัตรสภาพภูมิอากาศเอเชีย | ระดมทุนด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ | พัฒนาตลาดพันธบัตรสภาพภูมิอากาศผ่านการจัดตั้งพอร์ตการลงทุนที่บริหารรายได้ที่กำหนดไว้ | 100 |
สาธารณรัฐตุรกี | โครงการขยายรถไฟฟ้าใต้ดินสาย Narlidere ระยะ 4 | ลงทุน ในคาร์บอนต่ำ | เป็นโครงการที่ขยายการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกสำหรับการคมนาคมที่เป็นพลังงานสะอาด | 56 |
สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ | โครงการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ระยะที่ 2 | ลงทุน ในคาร์บอนต่ำ | สร้างโรงงานผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อรองรับ ความต้องการใช้พลังงานและลดการพึ่งพาก๊าซและเชื้อเพลิง | 210 |
4.เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิกอาเซียน และความร่วมมือจาก MDBs ในบางประเทศสมาชิกอาเซียน (ช่วงเปลี่ยนผ่าน)
ในปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ยังคงมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสาขาการใช้ประโยชน์ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและการป่าไม้ (Land Use, Land-Use Change and Forestry: LULUCF) รวมถึงการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel Combustion) ทั้งนี้ แต่ละประเทศในอาเซียนต่างได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป้าหมาย Net-Zero (รูปที่ 4) และดำเนินนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งที่ได้รับความร่วมมือจาก MDBs และการดำเนินมาตรการด้านการเงินการคลังที่เกี่ยวข้อง
บรูไนดารุสซาลาม
บรูไนดารุสซาลามมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 ภายในปี ค.ศ. 2030 และมีเป้าหมาย Net-Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยจะเน้นด้านการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เป็นอย่างน้อยร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตพลังงานต่าง ๆ รวมทั้งลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 โดยการบริหารจัดการด้านอุปทานและอุปสงค์ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2035 โดยการดำเนินงานของบรูไนอยู่ภายใต้แผนแม่บท Economic Blueprint for Wawasan Brunei 2035 ซึ่งจะเน้นการดำเนินการลงทุนในอุตสาหกรรมและกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน การใช้การคมนาคมขนส่งโดยสารสาธารณะที่ยั่งยืน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้มีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมันและเชื้อเพลิง (Non-oil-and-gas Sector) โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมปลายสายของน้ำมันและเชื้อเพลิง (Downstream Oil and Gas) อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ และอุตสาหกรรมบริการ
กัมพูชา
กัมพูชามีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 41.7 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเน้นการประหยัดพลังงาน การลดมลพิษ การลดสารเคมี และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมน้ำยางสดและไม้ยางพารา (Latex and Rubber Timber) รวมไปถึงการลดก๊าซเรือนกระจกโดยการใช้ไฟฟ้าบนท้องถนนแบบระบบออนกริด (Grid Street Lighting) ในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2030 ร้อยละ 95 ของหมู่บ้านต่าง ๆ ในกัมพูชาจะเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ (National Grid) และอีกร้อยละ 5 จะเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าอื่นที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับ National Grid
นอกจากนี้ กัมพูชาได้การดำเนินงานภายใต้กองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance: ACGF) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นกลไกทางการเงินถาวรของกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) ซึ่ง ACGF ได้พัฒนามาจากโครงการการให้เงินกู้เพื่อโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและเงินกู้เพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้น้อยเพื่อการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Green and Inclusive Infrastructure Window: GIIW) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนด้านการเตรียมความพร้อมและการจัดหาทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ โดยในส่วนของกัมพูชา เมื่อปี ค.ศ. 2019 ACGF ได้ให้ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาโครงการสวนพลังงานแสงอาทิตย์ของกัมพูชา (Cambodia National Solar Park Project) ซึ่งส่งผลให้กัมพูชาเป็นประเทศที่มีอัตราค่าไฟฟ้าที่ใช้แผงโซล่าเซลล์ (Tariff for Grid-Connected Solar Photovoltaic) ต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 29 ภายในปี ค.ศ. 2030 และมีเป้าหมายการมุ่งไปสู่ Net-Zero ภายในปี ค.ศ. 2060 ซึ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 22.4 ภายในปี ค.ศ. 2026 เช่น การใช้พลังงานน้ำ (Hydro/Mini-Hydro Power Plants) และการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Power Plants) เป็นต้น พร้อมทั้งเพิ่มการใช้การคมนาคมขนส่งสาธารณะ โดยตั้งเป้าหมายให้มีจำนวนผู้โดยสารสาธารณะที่ร้อยละ 60 ของการขนส่งผู้โดยสารทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2029 เป็นต้น
อินโดนีเซียได้ออกพันธบัตรเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sovereign ASEAN-aligned SDG Bond) และพันธบัตรเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) เพื่อจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และเพื่อดำเนินโครงการที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและโครงการด้านคมนาคมที่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามลำดับ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
สปป. ลาว มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 60 ภายในปี ค.ศ. 2030 และมีเป้าหมาย Net-Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยสำหรับด้านพลังงาน สปป. ลาว ได้ตั้งเป้าหมายการใช้พลังงานน้ำในประเทศที่13 กิกะวัตต์ (Gigawatt: GW) ภายในปี ค.ศ. 2030 และมีเป้าหมายบริหารจัดการขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลให้ได้วันละ 500 ตัน
สำหรับในด้านการดำเนินงานที่ผ่านมา สปป. ลาว ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และการส่งเสริมจาก GCF ซึ่งเป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้จัดทำแผนที่จะลดการเกิดอุทกภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าแผนดังกล่าว เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์ต่อประชากรราว 74,600 คน และสามารถที่จะฟื้นฟูพื้นที่ได้กว่า 2.4 เอเคอร์
มาเลเซีย
มาเลเซียมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 45 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีเป้าหมายให้มีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 550 ตึก ภายในปี ค.ศ. 2020 และเพิ่มจำนวนเป็น 1,750 ตึกที่ได้รับมาตรฐานภายในปี ค.ศ. 2030 และสำหรับด้านพลังงาน มาเลเซียมีเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ร้อยละ 31 ภายในปี ค.ศ. 2025 พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณการใช้การคมนาคมขนส่งสาธารณะในเขตเมืองให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030
ผ่านมา มาเลเซียได้ดำเนินการออกพันธบัตร Sovereign ASEAN Sustainability Sukuk เป็นจำนวน 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระยะเวลา 10 ปี และจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระยะเวลา 30 ปี เพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ซึ่งคาดว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้มาเลเซียสามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสได้
เมียนมา
เมียนมามีเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบไม่มีเงื่อนไขภายในปี ค.ศ. 2030 โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซดังกล่าวลงปริมาณ 105.24 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Tons of Carbon Dioxide Equivalence: tCO2e) และได้ตั้งเป้าหมาย Net-Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยจะเน้นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรกรรมให้มีความต้านทาน (Resilient) ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และสำหรับด้านพลังงาน เมียนมาจะเพิ่มสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าโดยการใช้พลังงานน้ำ และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับการใช้ไฟฟ้าในชุมชนและครัวเรือน ในด้านการดำเนินงานที่ผ่านมาเมียนมาได้รับความช่วยเหลือจาก GCF เช่นเดียวกับ สปป. ลาว อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือดังกล่าวยังเป็นเพียงในแง่ของการให้คำปรึกษาและการดำเนินงานด้านเทคนิคเท่านั้น
ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 2.71 ในปีภายในปี ค.ศ. 2030 โดยจะเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Capacity) พลังงานน้ำ (Hydropower Capacity) รวมถึงการใช้พลังงานลมที่ 2,345 เมกะวัตต์ (Megawatt: MW) และพัฒนาพลังงานน้ำจากมหาสมุทร (Ocean Energy) ภายในปี ค.ศ. 2025 นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีแผนที่จะสร้างถนนและระบบรางเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้การคมนาคมขนส่งสาธารณะให้มากยิ่งขึ้น
ในด้านการดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ฟิลิปปินส์ได้ออกพันธบัตร ASEAN Green Bond เพื่อส่งเสริมการสร้างโรงงานพลังงานความร้อนใต้พิภพที่มีกำลังการผลิตประมาณ 700 MW นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2020 ฟิลิปปินส์ได้รับความช่วยเหลือจาก ACGF สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นในกรุงมะนิลาและลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย
สิงคโปร์
สิงคโปร์มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 36 ภายในปี ค.ศ. 2030 และมีเป้าหมาย Net-Zero ภายในครึ่งหลังของศตวรรษ โดยเน้นการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็น 1.5 กิกะวัตต์ (peak) (Gigawatt-peak: GWp) ภายในปี ค.ศ. 2025 และอย่างน้อยที่ 2 GWp ภายในปี ค.ศ. 2030 นอกจากนี้ สิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการคมนาคมขนส่งระบบรางเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ภายในปี ค.ศ. 2040
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้ออกพันธบัตร Green Bonds เพื่อสนับสนุนโครงการบริหารจัดการขยะ (Tuas Nexus Integrated Waste Management Facility) นอกจากนี้ สิงคโปร์ได้ออกพันธบัตร Sustainability-Linked Bond (SLB) ในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งถือเป็น SLB แรกที่ออกโดยบริษัทเอกชนในภูมิภาคอาเซียน โดย SLB ดังกล่าวได้มุ่งเน้นโครงการที่นำไปสู่การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเป็นสำคัญ
เวียดนาม
เวียดนามมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 9 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเน้นการดำเนินงานด้านสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดปริมาณการใช้พลังงานถ่านหินจากร้อยละ 34 ในปี 2020 เป็นร้อยละ 27 ภายในปี ค.ศ. 2030 และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากยิ่งขึ้นที่ 17 GW ในปี ค.ศ. 2020 – 2025 และที่ 19 – 20 GW ในปี ค.ศ. 2030
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา เวียดนามได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลกและ GCF เป็นจำนวน 86.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานในเวียดนาม นอกจากนี้ เวียดนามได้ออกพันธบัตร Green Bond ในปี ค.ศ. 2016 เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ
ไทย
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุดในช่วงปี 2542 – 2561 ซึ่งสะท้อนในดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ (Climate Risk Index) ที่จัดทำโดยองค์กร GermanWatch เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบทั้งจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น อุทกภัย ภัยแล้ง วาตภัย และการกัดเซาะชายฝั่งที่มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ผลสำรวจดังกล่าวยังพบอีกว่า ความพยายามแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยยังอยู่ในระดับไม่สูงมาก โดยอยู่ที่อันดับ 26 ของโลกจากการจัดอันดับ 60 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในปี 2564 พบว่าภาคพลังงานและภาคขนส่งเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 36 และ 28 ของจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด ตามลำดับ
สำหรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าร่วม UNFCCC (พ.ศ. 2537) พิธีสารเกียวโต (พ.ศ.2545) การแก้ไขเพิ่มเติมโดฮา (พ.ศ. 2558) และความตกลงปารีส (พ.ศ.2559) และล่าสุดเมื่อปี 2564 ในการประชุม COP 26 ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในหรือก่อนปี 2608 (ค.ศ. 2065) และหากได้รับการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี การเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้ UNFCCC ที่เหมาะสม ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ประเทศไทยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 40
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี 2563 ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วร้อยละ 17 ในปี 2562 ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 2 เท่า และสามารถทำได้ก่อนระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ 1 ปี และล่าสุดใน NDCs ปี 2564 ได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2573
ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกองทุนต่าง ๆ เช่น GCF กองทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Fund) กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) เป็นต้น แต่อาจยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้ในที่ประชุม COP26 ซึ่ง MDBs เองก็เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่มีศักยภาพที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ไทย รวมถึงมีการตั้งพันธกิจในด้านนี้ไว้อย่างชัดเจนดังเช่นใน Country Partnership Strategy ฉบับที่ 3 ระหว่าง ADB กับประเทศไทย อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังรับการสนับสนุนจาก MDBs ในรูปตัวเงินไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากต้นทุนทางการเงินจาก MDBs สูงกว่าต้นทุนการระดมทุนในประเทศ ทำให้ภาครัฐเลือกใช้แหล่งเงินทุนจากภายในประเทศก่อน โดยในปัจจุบัน การสนับสนุนทางการเงินจาก MDBs จะมุ่งไปที่การสนับสนุนภาคเอกชนมากกว่า เพื่อให้ภาคเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อนตามแนวนโยบายภาครัฐ
5. การเปรียบเทียบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิกอาเซียนกับทั่วโลก
จากการเปรียบเทียบผ่าน Climate Change Performance Index (CCPI) ที่จัดทำขึ้นโดย Germanwatch, NewClimate Institute และ Climate Action Network (CAN) ซึ่งได้วิเคราะห์การดำเนินงานของกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันคิดเป็นราวร้อยละ 90 ของปริมาณการปล่อยก๊าซดังกล่าวทั้งหมด พบว่า ในปี ค.ศ. 2022 ประเทศที่บริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจกได้ดีที่สุดนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในแถบสแกนดิเนเวีย รวมไปถึงโมร็อกโกและสหราชอาณาจักร (รูปที่ 5) ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ใน CCPI ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 23 อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 27 ไทยอยู่ในอันดับที่ 31 และมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 57 โดยหากพิจารณาจาก CCPI ในปี 2022 จะเห็นได้ว่าประเทศในอาเซียนที่กล่าวมาส่วนใหญ่ทำได้ค่อนข้างดีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวม อย่างไรก็ตาม อาจต้องดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียน (สีเขียว) และการดำเนินนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (สีส้ม) (รูปที่ 6)
6. สรุป
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันแก้ไข และดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือ เช่น ความตกลงปารีส และ COP26 เป็นต้น โดยในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน แม้จะมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและรอบด้านให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ การเข้าถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศและแหล่งเงินทุนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดย MDBs สามารถมีบทบาทในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคหรือเป็นกลไกจัดหาทุนให้กับประเทศต่าง ๆ โดยไทยเอง แม้จะประสบความสำเร็จในการลดก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ควรพิจารณาดำเนินการร่วมกับ MDBs โดยให้ MDBs เป็นกลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนให้มากขึ้น และเป็นแหล่งรวมความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เพื่อให้ไทยสามารถขับเคลื่อนงานด้านสภาพภูมิอากาศและบรรลุเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ตั้งใจไว้ นอกจากนี้ ในส่วนของ MDBs เอง อาจจะพิจารณาเพิ่มบทบาทจากการเป็นผู้สนับสนุนเม็ดเงินในการลงทุนเป็นผู้สนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการกำหนดนโยบายและแก้ไขปัญหาของโลก ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
นางสาวอภิญญา เจนธัญญารักษ์
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน
นางสาวภณิดา ปรัชญกุล
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ผู้เขียน