บทความโดย
ดร. ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย
บทย่อ
บทความนี้เป็นการสรุปผลการลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 10 (จังหวัดบึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบังลำภู และอุดรธานี) เมื่อวันที่ 2 – 5 เมษายน 2564 ของรองนายก รัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) (1) เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้ ตำบลนางิ้ว อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ที่ได้การสนับสนุนเงินงบประมาณจากงบประมาณของรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ (วงเงินงบประมาณทั้งหมด 140,000,000 บาท ซึ่งได้รับการจัดสรรตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 241/2563 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2563) (2) เพื่อตรวจเยี่ยมการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมจากฝั่งประเทศไทยไปจนถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ผ่านด่านพรมแดนไทย – ลาว ในแต่ละจุด ได้แก่ (2.1) ท่าอากาศยานเลย (2.2) ด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย (2.3) ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ ไทย – ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย (2.4) โครงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ตอน 1 – 3 จังหวัดบึงกาฬ และ (2.5) พื้นที่ดอนโคลาด ตำบลนากั้ง อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ (3) เพื่อสำรวจสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเขตตรวจราชการที่ 10 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการส่งออกสินค้าไทย ผ่านเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน – เวียงจันทร์ สปป.ลาว (เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน – ลาว) ที่จะเข้ามายังประเทศไทย โดยผลการลงพื้นที่ครั้งนี้จะนำไปสู่การช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด -19) การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก และผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทย รวมถึงการเตรียม ความพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยรองรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน – ลาว ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในวันชาติ ของ สปป. ลาว (วันที่ 2 ธันวาคม 2564)
เมื่อวันที่ 2 – 5 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค เขตตรวจราชการที่ 10 (จังหวัดบึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) โดยการลงพื้นที่และติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคครั้งนี้ รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ได้กำหนดวัตถุประสงค์การลงพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน 3 ข้อ ได้แก่ 1. เพื่อติดตามโครงการของเขตตรวจราชการที่ 10 ที่ได้การสนับสนุนและอยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณของรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ (วงเงินงบประมาณทั้งหมด 140,000,000 บาท ซึ่งได้รับการจัดสรรตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 241/2563 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2563) อันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด – 19) 2. เพื่อตรวจเยี่ยมการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมจากฝั่งประเทศไทยไทยไปจนถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ผ่านด่านพรมแดนไทย – ลาวในแต่ละจุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกและผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทย 3. เพื่อสำรวจสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเขตตรวจราชการที่ 10 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการส่งออกสินค้าไทย ผ่านเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน – เวียงจันทร์ สปป.ลาว (เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน–ลาว) ทั้งนี้ มีรายละเอียดในการลงพื้นที่และติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคครั้งนี้ ตามวัตถุประสงค์ ทั้ง 3 ข้อ ที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้
1. เพื่อติดตามโครงการของเขตตรวจราชการที่ 10
โครงการของเขตตรวจราชการที่ 10 (จังหวัดบึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) ที่ได้การสนับสนุนจากงบประมาณของรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ (วงเงินงบประมาณทั้งหมด 140,000,000 บาท เพื่อจัดสรรให้แก่พื้นที่เขตตรวจราชการที่ 2 (จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรปราการ) 8 (จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) และ 10 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 241/2563 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2563)
จากวัตถุประสงค์ข้อนี้ปัจจุบัน (ณ วันที่ 26 เมษายน 2564) รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ได้อนุมัติเงินงบประมาณให้กับโครงการในเขตตรวจราชการที่ 10 ไปแล้ว ทั้งหมด 36 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 54,927,798 บาท โดยมีรายละเอียดจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติเงินงบประมาณในแต่ละจังหวัดของเขตตรวจราชการที่ 10 ดังนี้
จังหวัดภายใต้เขตตรวจราชการที่ 10 | จำนวนโครงการ | งบประมาณที่ได้รับ (บาท) |
---|---|---|
จังหวัดบึงกาฬ | 3 | 14,516,318 |
จังหวัดเลย | 20 | 10,180,940 |
จังหวัดหนองคาย | 6 | 10,273,760 |
จังหวัดหนองบัวลำภู | 4 | 9,814,780 |
จังหวัดอุดรธานี | 3 | 10,142,000 |
รวม | 36 | 54,927,798 |
จากโครงการทั้งหมด 36 โครงการของ 5 จังหวัดในเขตตรวจราชการที่ 10 นั้น มีความน่าสนใจที่แตกต่างกันไป โดยในการจัดสรรเงินงบประมาณมุ่งเน้นการพิจารณาโครงการที่สามารถต่อยอดรายได้ ยกระดับความเป็นอยู่ เกิดการส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนให้มีความเข้มแข็งโดยครั้งนี้รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ได้ติดตามการดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้ (โครงการโกโก้ฯ) ตำบลนางิ้ว อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ที่ได้รับการอนุมัติเงินงบประมาณไปแล้ว จำนวนเงิน 387,900 บาท เพื่อนำไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด อาทิ พุดดิ้งโกโก้ บราวนี่โกโก้ ผงโกโก้ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าโกโก้ให้มีมูลค่าสูงขึ้น และสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มสังคมโกโก้ ซึ่งมีนายบุญช่วย แสงมณี เป็นผู้ริเริ่มนำโกโก้เข้ามาปลูกในพื้นที่ โดยได้เลือกโกโก้พันธุ์ IM1 ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกในพื้นที่อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย โดยเริ่มทดลองปลูกในพื้นที่ของตนเองก่อน หลังจากการปลูกต้นโกโก้ 1.8 – 2 ปี โกโก้เริ่มให้ผลผลิตที่ดี จึงได้มีเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ให้ความสนใจหันมาทำการปลูกโกโก้เพิ่มขึ้น และเกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มสังคมโกโก้ จังหวัดหนองคาย ในการลงพื้นที่ติดตามโครงการโกโก้ฯ พร้อมท่านรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรสังคมโกโก้ ได้สัมผัสถึงรอยยิ้ม ความปลาบปลื้ม ของสมาชิกกลุ่มสังคมโกโก้ที่มาให้การต้อนรับ และมาแสดงความขอบคุณสำหรับเงินงบประมาณที่สนับสนุนเพื่อต่อยอดให้แก่โครงการโกโก้ฯ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าการจัดสรรเงินงบประมาณของรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ แก่โครงการโกโก้ฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์โดยสะท้อนให้เห็นจาก ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สมาชิกกลุ่มสังคมโกโก้นำมาจัดแสดง และช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ นอกเหนือไปจากนั้น คือ ความสุขทางใจจากรอยยิ้มของสมาชิกกลุ่มสังคมโกโก้ที่มาให้การต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่น โดยรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ได้มอบหมายให้ทีมงานของรองนายกฯ ช่วยกันติดตามและช่วยเหลือโครงการโกโก้ฯ อย่างต่อเนื่องต่อไป
2. เพื่อกำกับและติดตามการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานฝั่งไทยจนถึงด่านพรมแดนไทย-ลาว ในแต่ละจุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกและผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทย
สำหรับวัตถุประสงค์ข้อนี้ รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ มีจุดหมายปลายทางในการลงพื้นที่และติดตามการปฏิบัติราชการ จำนวน 5 สถานที่ ดังนี้
1. ท่าอากาศยานเลย
ท่าอากาศยานเลย ทางจังหวัดเลยได้ดำเนินการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณโครงการ/แผนงาน จำนวน 2 โครงการ/แผนงาน ได้แก่ (1.1) แผนงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ระยะเวลาดำเนินการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567 วงเงิน 975,500,000 บาท และ (1.2) การก่อสร้างลานจอดเครื่องบิน ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2566 – 2567 วงเงิน 120,000,000 บาท โดยการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และการก่อสร้างขยายลานจอดเครื่องบิน เพื่อรองรับการลงจอดของเครื่องบินเพิ่มขึ้น จากเดิมรองรับได้เพียง 2 ลำ และจะขยายเพื่อให้รองรับได้ 4 ลำในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเลย
2. ด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง
ด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี สปป. ลาว ได้ของบประมาณโครงการพัฒนาด่านศุลกากรท่าลี่ อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าและการท่องเที่ยวที่ด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง และสะพานมิตรภาพน้ำเหือง ไทย – ลาว โดยจะเป็นการก่อสร้างด่านพรมแดนพร้อมสิ่งประกอบอาคาร สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมิตรภาพน้ำเหือง ไทย – ลาว คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 รับทราบโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อรองรับการค้าชายแดนกับ สปป. ลาว เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้สัญจร เป็นการประหยัดเวลาในการขนส่งระหว่างประเทศและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เนื่องจากระยะทางลดลงและรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดนซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
3. ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ ไทย – ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย
ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ ไทย – ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย ด่านพรมแดนนี้นับเป็นด่านศุลกากรที่มีบทบาทสำคัญในการจัดเก็บรายได้ของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2563 สามารถจัดเก็บรายได้เข้ารัฐบาลทั้งหมด 647,209,281 บาท ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณ 2562 คิดเป็น 38.74 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สินค้าส่งออกที่สำคัญ 3 อันดับแรก คือ น้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์นั่ง และพลังงานไฟฟ้า สำหรับสินค้านำเข้าที่สำคัญ 3 อันดับแรก คือ พลังงานไฟฟ้า ทองคำ และชุดสายไฟ โดยด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 นี้ จัดเป็นด่านชายแดนหลักในการขนส่งสินค้าจากฝั่งประเทศไทยไป สปป. ลาว ในช่วงที่ผ่านมาก่อนการแพร่ระบาดของโควิด – 19 สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 เป็นจุดรองรับการคมนาคมผ่านเข้า-ออกของรถบรรทุกสินค้า รถยนต์ รถโดยสารสาธารณะ และรถไฟ โดยเส้นทางการจราจรสามารถใช้ช่องทางการเดินรถไป – กลับได้เพียงด้านละหนึ่งช่องทางเท่านั้น ทำให้การจราจรขนส่งข้ามสะพานมักจะติดขัด และต้องหยุดการเดินรถทุกครั้งที่มีรถไฟวิ่งผ่าน ทำให้เสียเวลา
4. โครงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ)
โครงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ตอน 1 – 3 จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง โดยเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady Chao Phraya Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา – สปป. ลาว – สหภาพเมียนมา – ไทย – เวียดนาม เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในกลุ่มอนุภาคตอนบน และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและขนส่งระหว่างประเทศไทยกับ สปป. ลาว สำหรับรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยแนวเส้นทางประกอบด้วยโครงข่ายทางหลวงในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นที่อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ บริเวณทางหลวงหมายเลข 222 กิโลเมตร 123+430 ตัดผ่านทางหลวงชนบทหมายเลข บึงกาฬ 3217 ทางหลวงชนบทหมายเลข บึงกาฬ 3013 และทางหลวงหลวงหมายเลข 212 ข้ามสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ในฝั่ง สปป.ลาว เพื่อให้สอดคล้องกับโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ คาดว่าโครงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมกราคม 2567
5. พื้นที่ดอนโคลาด
พื้นที่ดอนโคลาด ตำบลนากั้ง อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ เป็นดอนที่มีผืนแผ่นดินเชื่อมติดกับ ฝั่งประเทศไทย ห่างจาก สปป. ลาว 700 เมตร ซึ่งเกิดจากสภาพตามเส้นทางน้ำไหลของแม่น้ำโขง ดอนโคลาดมีความยาวประมาณ 2,600 กิโลเมตร มีช่วงกว้างที่สุดบริเวณหัวตอนประมาณ 540 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 1.07 ตารางกิโลเมตร (688 ไร่) ปัจจุบัน สปป. ลาว นำราษฎรขึ้นไปทำกินบนดอน 36 ครอบครัว ประชากรประมาณ 100 คน มีโรงเรียน 1 แห่ง (ป.1 – ป. 3) มีวัด 1 แห่ง มีการนำระบบไฟฟ้าจากเมืองท่าพะบาด แขวงบอลิคำไซมาใช้บนดอน มีน้ำประปา จากสาเหตุปัญหาเรื่องหลักเส้นเขตแดน ทำให้หน่วยงานส่วนราชการในพื้นที่ของไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับประชาชนไทยในการทำกินบนพื้นที่ตามแนวชายแดนพื้นที่ดอนโคลาด โดยให้ประชาชนสามารถทำกินได้เหมือนเดิม จนกว่าจะมีการทำหลักเส้นเขตแดนเสร็จสิ้น อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องจัดการปัญหาเรื่องหลักเส้นเขตแดนระหว่างสองประเทศให้เรียบร้อยโดยเร็ว เพื่อลดอุปสรรคของการขนส่งสินค้าข้ามแดน รวมถึงการขนส่งสินค้าที่ไม่ถูกกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน
จาก 5 สถานที่ที่ได้ลงพื้นที่และติดตามการปฏิบัติราชการ ทำให้เห็นถึงปัญหาที่แตกต่างกัน โดยภายใต้ปัญหาเหล่านั้น หากมีการปรับแก้ให้ตรงจุด ก็จะสามารถสร้างโอกาส และเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกและผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยได้
3. เพื่อสำรวจสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเขตตรวจราชการที่ 10 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการส่งออกสินค้าไทย ผ่านเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน – ลาว
สำหรับการสำรวจสถานที่สำคัญต่าง ๆ ครั้งนี้ ได้แวะตามสถานที่ที่เส้นทางการเดินทางการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค เขตตรวจราชการที่ 10 จำนวน 6 สถานที่ ดังนี้
1. สกายวอล์ค พระใหญ่ภูคกงิ้ว
สกายวอล์ค พระใหญ่ภูคกงิ้ว อำเภอเชียงคาน แลนด์มาร์กท่องเที่ยวชายแดนแห่งใหม่ ที่สามารถสัมผัสความสวยงามและความเสียวจากพื้นทางเดินที่เป็นกระจกใส โดยวิวทิวทัศน์โดยรอบสวยงาม เป็นธรรมชาติ มองลงไปจะเห็นแม่น้ำเหืองที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงที่กั้นพรมแดนไทย – ลาว มีพระใหญ่ภูคกงิ้วเป็นพระพุทธรูปปางลีลาประทานพร สูงกว่า 19 เมตร อยู่บริเวณใกล้ ๆ
2. ตลาดถนนคนเดินวิถีเชียงคาน
ตลาดถนนคนเดินวิถีเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมตลาด ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชนถนนชายโขงระยะทาง 2 กิโลเมตร พร้อมเยี่ยมชมขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวเชียงคาน โดยพบว่าสินค้าที่ขายในถนนคนเดิน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าของที่ระลึกของเชียงคาน อาทิ เสื้อยืด สกรีนความหมายเชียงคาน เสื้อผ้าผลิตจากผ้าขาวม้า อาหารพื้นถิ่น ได้แก่ กุ้งฝอยแม่น้ำโขงเสียบไม้ เมี่ยงคำ และอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย ถนนคนเดินเชียงคานเปิดขายของทุกวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 – 23.00 น.
3. จุดชมวิวสกายวอร์ค
จุดชมวิวสกายวอร์ค วัดผาตากเสื้อ ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เป็นจุดชมทัศนียภาพแบบพาโนรามา ซึ่งตรงข้ามกับเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน คือ นครหลวงเวียงจันทร์ สปป. ลาว โดยเป็นทางเดินพื้นกระจกใส รูปร่างคล้ายเกือกม้า ยื่นออกไปบริเวณหน้าผา เรียกว่า “SKY WALK” นับเป็น Landmark การท่องเที่ยวใหม่ที่สำคัญของจังหวัดหนองคาย ที่จะเกิดการเชื่อมต่อโครงข่ายการท่องเที่ยวริมน้ำโขง ระหว่างอุดรธานี เลย หนองคาย บึงกาฬ และหนองบัวลำภู ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด ช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนตามเส้นทางของการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงเป็นอย่างดี
4. แหล่งท่องเที่ยวหินสามวาฬ
แหล่งท่องเที่ยวหินสามวาฬ ตำบลโคกก่อง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงสีชมพู มีเนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ ครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อำเภอบึงกาฬ และอำเภอศรีวิไล เป็นภูเขามีหน้าผาสูงชัน ทอดยาวไปในแนวเหนือ-ใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 325 เมตร ซึ่งมีจุดท่องเที่ยวที่ต้องแวะชม 9 จุด คือ จุดชมวิวหินสามวาฬ จุดชมวิวถ้ำฤาษีจุดชมวิวหัวช้าง ถ้ำใหญ่ จุดชมวิวหินช้าง กำแพงภูสิงห์ ลานธรรม ประตูสวรรค์ และจุดชมวิวส่างร้อยบ่อ
5. ตลาดชุมชนห้วยเดื่อ
ตลาดชุมชนห้วยเดื่อ (ตลาดประชารัฐ ลานค้าชุมชนห้วยเดื่อ) ตำบลโนนทัน อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตลาดส่งเสริมเศรษฐกิจภายในชุมชน และเป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน โดยเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารพื้นถิ่น และวัตถุดิบประกอบอาหาร อาหารป่า และสินค้า OTOP เช่น ไข่มดแดง ผักหวาน หมูป่า เห็ด หน่อไม้ แมลงต่าง ๆ ผลไม้ฤดูกาล สมุนไพรจากธรรมชาติ เป็นต้น โดยตลาดนี้มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ เสน่ห์ของวิถีชุมชน อันโอบล้อมด้วยภูเขาและต้นไม้ อัธยาศัยของแม่ค้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส บริการประทับใจ และสินค้าราคาถูก
6. นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่กว่า 600 ไร่ที่ติดอยู่กับเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – หนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์ ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะเป็นเส้นทางผ่านของรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงจากจีน โดยภายในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จะมีพื้นที่รองรับโรงงานขนาดเล็ก (Micro Factory) บนพื้นที่ 100 ไร่ อาคารคลังสินค้า ขนาดใหญ่ 3 หลัง ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
จากการสำรวจสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเขตตรวจราชการที่ 10 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการส่งออกสินค้าไทย ผ่านเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จีน – ลาว ทำให้เกิดความมั่นใจในฐานะคนไทยคนหนึ่งว่า เมืองไทยของเราเป็นหนึ่ง ไม่เป็นสองรองใครแน่นอน เพราะสถานที่สำคัญ ทั้ง 6 แห่ง ล้วนมีเสน่ห์ มีความน่าสนใจ ที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอน รวมถึงการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หรือผู้ประกอบการที่สนใจมาจัดตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี
นอกจากนี้ รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ได้ติดตามผลการลงพื้นที่ครั้งนี้ โดยการกำหนดแนวทางการดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
1. แนวทางการดำเนินการระยะสั้น (เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักลงทุนที่มีแผนจะมาลงทุนในประเทศไทย)
โดยได้มีการมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ซึ่งมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นฝ่ายเลขานุการ เร่งดำเนินการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สัญจร ณ จังหวัดหนองคายเพื่อจัดทำแผนระยะสั้นและแผนระยะยาวบูรณาการการสัญจรของประเทศไทยกับ สปป. ลาว ระหว่าง กบส. กับผู้เกี่ยวข้องกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และด้านโลจิสติกส์ของด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคนเข้าเมืองและด้านศุลกากร จังหวัดหนองคาย อาทิ การจัดเตรียมอาคารสถานที่ และเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ การจัดเตรียมวัคซีน โควิด – 19 ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงาน ณ ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ ไทย – ลาว แห่งที่ 1 รวมถึงบุคลากรด่านหน้าทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยภายหลังการแพร่ระบาดจากโควิด – 19 และซักซ้อมแผนการรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่มีโอกาสจะเดินทางเข้ามายังช่องผ่านแดนด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ ไทย – ลาว แห่งที่ 1 ตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จีน – ลาว
2. แนวทางการดำเนินการระยะยาว (เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน)
รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างโครงการการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ณ จังหวัดหนองคาย และการเร่งรัดขยายเส้นทางรถไฟรางคู่จากจังหวัดขอนแก่นให้มาถึงจังหวัดหนองคาย เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศจากท่าเรือแหลมฉบังถึงจังหวัดหนองคาย การวางแผนซ่อมแซม/สร้างสะพานมิตรภาพ ไทย – ลาว ใหม่ เนื่องจากสะพานสะพานมิตรภาพ ไทย – ลาว แห่งที่ 1 ปัจจุบันทรุดโทรม และมีข้อจำกัดในการรองรับรถบรรทุกขนของข้ามแดนจากไทย – ลาว และลาว – ไทย อีกประเด็นสำคัญด้านยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศนั้น ประเทศไทยควรมีการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อไม่ให้สินค้าจากจีนหลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทย แบบไม่ได้มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย โดยอาจส่งเสริมการสร้างโรงงานประกอบ (Assembly) จากวัตถุดิบบางชิ้นที่จำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศจีนพร้อมกับการใช้วัตถุดิบบางชิ้นที่ผลิตในประเทศไทย โดยส่งเสริมให้มีโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคายหรือจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้เกิดการสร้างงาน และการใช้ผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนในประเทศที่ถูกกว่าการนำเข้า
โดยสรุป จากผลการลงพื้นที่ครั้งนี้จะนำไปสู่การช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด – 19 การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก และผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทย รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยรองรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน – ลาว ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในวันชาติ ของ สปป. ลาว (วันที่ 2 ธันวาคม 2564)
ดร. ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย
ผู้เขียน