บทความโดย
นางสาวเมวลี เทียมเทศ
1. เกริ่นนำ
ปัจจุบันบริษัทประกันวินาศภัยไทยส่วนใหญ่มีรูปแบบการถือหุ้นจากบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย ได้ถึงร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และมีกรรมการที่เป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทประกันวินาศภัยอีกจำนวนหนึ่งที่สามารถมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้เกินกว่าร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และมีกรรมการบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ซึ่งได้แก่ (1) บริษัทประกันวินาศภัยที่เป็นสาขาของบริษัทต่างประเทศ และ (2) บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับการผ่อนผันให้ขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยตามความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ข้อกฎหมายในการกำกับดูแลการถือหุ้นของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยในบริษัทประกันวินาศภัยในช่วงระยะเวลาประมาณ 50 ปี ที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเริ่มจากในอดีตที่ไม่ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับการถือหุ้นของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไว้ในกฎหมายเลย จนกระทั่งในปัจจุบันที่มีบทบัญญัติการผ่อนผันให้มีการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นผู้ไม่มีสัญชาติไทยในหลายระดับ
2. การเปลี่ยนแปลงกฎหมายการถือหุ้นผู้ไม่มีสัญชาติไทยของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยในบริษัทประกันวินาศภัยตั้งแต่อดีตตนถึงปัจจุบัน
2.1 การถือหุ้นของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510
หากย้อนกลับไปก่อนปี พ.ศ. 2510 ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายควบคุมการประกันวินาศภัยเป็นการเฉพาะ แต่ในขณะนั้นภาครัฐมีการดูแลธุรกิจประกันภัยโดยใช้เงื่อนไขในในการควบคุมกิจการซึ่งออกตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัย หรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. 2471 ต่อมาภาครัฐมองว่า กฎหมายฉบับดังกล่าว อาจไม่มีความสอดคล้องกับลักษณะของการประกอบธุรกิจประกันภัยมากนักจึงทำให้บริษัทประกันวินาศภัยมีฐานะทางการเงินไม่มั่นคง และผู้เอาประกันวินาศภัยไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร ดังนั้น จึงมีการจัดทำพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510 ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัยมีการคำนึงถึงผู้เอาประกันภัยมากขึ้น และเพื่อให้ธุรกิจประกันวินาศภัยในภาพรวมมีความก้าวหน้า รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมในการลงทุนในประเทศไทย อย่างไรก็ดี เนื่องจากในขณะนั้นการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยยังไม่ได้ลักษะการประกอบธุรกิจในรูปแบบการร่วมลงทุนกับชาวต่างชาติ ในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510 จึงไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฃยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวต่างในบริษัท
ประกันวินาศภัย
2.2 การถือหุ้นของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
ต่อมาพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510 ได้ถูกยกเลิกไป และมียกการร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้น คือพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 (เป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) โดยกฎหมายฉบับนี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถือหุ้นของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยอีกจำนวน 2 ฉบับ คือพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ กฎหมายแต่ละฉบับมีบทบัญญัติการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการถือหุ้นชาวต่างชาติ ดังต่อไปนี้
(1) พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มาตรา 9 กำหนดว่า บริษัทต้องมีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และต้องมีกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายที่มีบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยในบริษัทประกันวินาศภัยอย่างชัดเจนเป็นฉบับแรก และหากตีความตามกฎหมายฉบับนี้จะเห็นได้ว่า ในอดีตภาครัฐกำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้ไม่เกินร้อย 25 ของจำนวนผู้จำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และมีกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด โดยไม่อนุญาตให้มีการผ่อนผันสัดส่วนผู้ถือหุ้นในกรณีอื่น ๆ
(2) พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2551 ได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อความตามมาตรา 9 ดังนี้
มาตรา 9 บริษัทต้องมีกรรมการซึ่งมีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมีบุคคลตาม (1) หรือ (2) หรือ หรือ (1) และ (2) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
(1) บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย หรือห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งไม่จดทะเบียนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดมีสัญชาติไทย
(2) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยมีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) มีบุคคลตาม (1) ถือหุ้นอยู่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือ
(ข) มีบุคคลตาม (1) หรือนิติบุคคลตาม (2) (ก) หรือบุคคลตาม (1) และนิติบุคคลตาม (2) (ก) ถือหุ้นอยู่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
ในกรณีที่เห็นสมควรคณะกรรมการอาจอนุญาตให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้ถึง 49 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และให้มีกรรมการเป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยได้เกินกว่า 1 ใน 4 แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ทั้งนี้ การพิจารณาอนุญาตให้นำหลักเกณฑ์การถือหุ้นของบุคคลตามวรรคหนึ่งมาบังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่บริษัทมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจผ่อนผันให้บริษัทมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการแตกต่างไปจากที่กำหนดตามวรรคสองได้ ในการผ่อนผันนั้นจะกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนเวลาไว้ด้วยก็ได้
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2551 มีการกำหนดคุณลักษณะของผู้ถือหุ้นชาวไทยในรายละเอียดมากขึ้น และเริ่มมีการผ่อนผันให้บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยสามารถถือหุ้นในบริษัทประกันวินาศภัยมากขึ้น โดยให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของ คปภ. ตามลำดับ โดยกรณีที่การผ่อนผันให้บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้เกินกว่าร้อยละ 49 และมีบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทำได้เพียงกรณีเดียวเท่านั้น คือบริษัทประกันวินาศภัยต้องมีฐานะหรือการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยได้
(3) ในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการแก้ไขบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถือหุ้นของบุคคลผู้มไม่มีสัญชาติไทย อีกครั้งหนึ่ง โดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้ยกเลิกข้อความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2551 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
มาตรา 9 บริษัทต้องมีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และต้องมีกรรมการเป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยได้เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
ในกรณีที่บริษัทมีฐานะการดำเนินการอยู่ในในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน หรือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของบริษัทใดหรือเพื่อความมั่นคงของธุรกิจประกันวินาศภัย รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจผ่อนผันให้บริษัทมีจำนวนหุ้นหรือกรรมการแตกต่างไปจากที่กำหนดในวรรคสองได้
การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคสอง การขอผ่อนผันและการผ่อนผันตามวรรคสามเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่คณะกรรมการหรือรัฐมนตรีกำหนด
เมื่อคณะกรรมการได้อนุญาตหรือรัฐมนตรีได้ผ่อนผันแล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยประกาศการอนุญาตหรือการผ่อนผันนั้นพร้อมด้วยเหตุผลและเงื่อนเวลาในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ ในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2558 ในส่วนของผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ เนื่องจากภาครัฐเห็นว่า คำนิยามของผู้ถือหุ้นและกรรมการที่เกี่ยวกับโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ถือเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยในช่วงก่อนปี 2558 ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาธุรกิจและสร้างความเข้มแข็งแก่บริษัทประกันวินาศภัย รวมทั้งมีความแตกต่างจากกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน กระทรวงการคลังจึงเสนอกฎหมายฉบับนี้เพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัย (ข้อมูลจากหนังสือกระทรวงการคลัง เว็ปไซต์มติคณะรัฐมนตรี) โดยในปัจจุบันการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นไปตาม พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2558
สำหรับพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2558 ได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระในส่วนของการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้
(1) สำหรับกรณีการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 49 ของผู้ไม่มีสัญชาติไทยในบริษัทประกันภัย สามารถเป็นไปได้ 2 กรณี (กฎหมายเดิมมีเพียงกรณีเดียว) ได้แก่ 1) กรณีเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของบริษัทประกันวินาศภัยหรือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของธุรกิจประกันวินาศภัย และ 2) กรณีบริษัทประกันวินาศภัยมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน
(2) การขออนุญาตและการอนุญาตการผ่อนผันจำนวนผู้ถือหุ้นผู้ไม่มีสัญชาติไทยเกินกว่าร้อยละ 49 และกรรมการผู้ไม่มีสัญชาติไทย เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่คณะกรรมการหรือรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งปัจจุบันได้มีการออกประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว
(3) สำนักงาน คปภ. ต้องประกาศการอนุญาตหรือการผ่อนผันนั้นพร้อมด้วยเหตุผลและเงื่อนเวลาใน
ราชกิจจานุเบกษา
2.3 การถือหุ้นของผู้ไม่มีสัญชาติไทยตามร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ….
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. กลุ่มที่ 2 บทบัญญัติเกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท (ร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ กลุ่มที่ 2) ซึ่งมีสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 9 อีกครั้ง โดยตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ไม่ได้มีสาระสำคัญเป็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ถือหุ้นผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยตรง แต่เป็นการเพิ่มความรัดกุมในการกำกับดูแลผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่อให้ทราบแหล่งที่มาของเงินทุนและมีความโปร่งใสในการดำเนินการมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการรายงานการถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 5 หรือขอรับความเห็นชอบการถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 10 อย่างไรก็ดี ร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. …. ฉบับนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
3. บริษัทประกันวินาศภัยไทยที่มีการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยเกินกว่าร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของในปัจจุบัน
เนื่องจากตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2558 (กฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) กำหนดให้การขยายขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยเกินกว่าร้อยละ 49ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด กระทรวงการคลังจึงได้มีการออกประกาศกระทรวงการคลัง จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนหรือเงื่อนเวลาการขอผ่อนผันและการผ่อนผันให้มีบุคลลผู้ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้เกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือมีกรรมการเป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ในกรณีเพื่อเสริมสร้างความมั่งคงของบริษัทประกันวินาศภัยหรือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของธุรกิจประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559 และ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาการขอผ่อนผันและการผ่อนผันให้มีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้เกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือมีกรรมการเป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ในกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน พ.ศ. 2559 โดยประกาศกระทรวงการคลังทั้ง 2 ฉบับ ได้กำหนดลักษณะและหลักเกณฑ์ในภาพรวมของบริษัทประกันวินาศภัยที่ต้องการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นให้มีการนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญเฉพาะมาพัฒนาบริษัทประกันวินาศภัยไทย ในขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องมีความมั่นคงทางการเงินควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทประกันวินาศภัยจำนวน 2 แห่ง ที่มีการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นผู้ไม่มีสัญชาติไทยเกินกว่าร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และมีกรรมการผู้ไม่มีสัญชาติไทย เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ได้แก่
(1) บริษัท เอไอจี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (บมจ. เอไอจีฯ) ซึ่งการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นของ บมจ. เอไอจีฯ เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินและความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ให้สามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น และในระยะยาวเมื่อมีการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีของบริษัท จะเป็นประโยชน์กับบริษัทประกันภัยและธุรกิจประกันภัย (ข้อมูลการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นจาก ประกาศสำนักงาน คปภ. ผ่อนผัน บมจ. เอไอจีฯ)
(2) บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) (บมจ. ไทยศรีฯ) ได้รับการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นได้เกินกว่าร้อยละ 49 แต่ไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่งในการรับการผ่อนผัน ได้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่ บมจ. ไทยศรีฯ ได้รับการผ่อนผัน จะต้องดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนและให้ขยายธุรกิจโดยการควบรวมหรือเข้าซื้อ และ/หรือควบรวมกิจการกับบริษัทประกันวินาศภัยอื่นในประเทศ ซึ่งการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นของ บมจ. ไทยศรีฯ เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินและความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของบริษัทและธุรกิจประกันภัยในอนาคต (ข้อมูลการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นจากประกาศ สำนักงาน คปภ. ผ่อนผัน บมจ. ไทยศรีฯ )
4. สรุป
โดยสรุปแล้วกฎหมายการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยในบริษัทประกันวินาศภัยของประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการตามลำดับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้งเป็นไปตามบริบทของธุรกิจประกันวินาศภัย และสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหากวิเคราะห์ในภาพรวมจะเห็นได้ว่า ภาครัฐหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยได้คำนึงถึงการพัฒนาธุรกิจประกันภัยและคุ้มครองประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ
นางสาวเมวลี เทียมเทศ
เศรษฐกรชำนาญการ
สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน
ผู้เขียน