การพัฒนาเมืองแสนสุขภายใต้แนวคิด “Saen Suk Smart Living and Sport Tourism City”

การพัฒนาเมืองแสนสุขภายใต้แนวคิด “Saen Suk Smart Living and Sport Tourism City”

บทความโดย
นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์
นายธณัฐ พวงนวม
นายกานต์  แจ้งชัดใจ

1. บทนำ

          เมื่อพูดถึงชายทะเลที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ชายหาดบางแสนจะเป็นสถานที่ลำดับต้นๆ
ที่ทุกท่านนึกถึง เนื่องจากใช้ระยะเวลาเดินทางจากรุงเทพฯ เพียง 1 ชั่วโมง 30 นาที ชายหาดบางแสนจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวไทยมาช้านาน[1] ในช่วงก่อนการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(โควิด-19) การท่องเที่ยวได้สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายหาด
เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการเดินทางของนักท่องเที่ยว และความไร้ระเบียบของผู้ค้า
ที่ประกอบธุรกิจบริเวณชายหาด ทำให้เทศบาลเมืองแสนสุข โดยคุณณรงค์ชัย คุณปลื้ม (คุณณรงค์ชัยฯ) นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุขดำเนินนโยบายจัดระเบียบบริเวณพื้นที่ชายหาดบางแสนจนทำให้ชายหาดบางแสน
ในปัจจุบันกลับมามีทัศนียภาพที่สวยงาม และมีการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการในการพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิด “Saen Suk Smart Living and Sport Tourism City” ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาศัยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของเทศบาลเมืองแสนสุข ประกอบไปด้วย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริม
การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านการบริหารจัดการที่ดีและการพัฒนาการเมือง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เทศบาลเมืองแสนสุขสามารถบรรลุวิสัยทัศน์
“เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เศรษฐกิจมั่นคง รักษาสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
ขับเคลื่อนเมืองด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ชุมชนสามัคคี ประชาชนมีสุขภาวะสมบูรณ์”
โดยรายละเอียด
จะเป็นอย่างไร สามารถติดตามอ่านได้ในลำดับต่อไป

2. ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดชลบุรี และเทศบาลเมืองแสนสุข

          สำหรับข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของจังหวัดชลบุรี ในปี 2563 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จังหวัดชลบุรีมีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) เท่ากับ
892,062 ล้านบาท ประกอบด้วยภาคการเกษตร 17,872 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคนอกการเกษตร 874,190 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด ทั้งนี้
ภาคนอกการเกษตร ประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม 501,541 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 372,649 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด (รายละเอียดตามภาพที่ 1) และมีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) เท่ากับ 471,723 บาท

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดชลบุรี ปี 2563
ที่มา สศช. ประมวลผลโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) [1] ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการคลัง พบว่าในเดือนพฤศจิกายน 2565 นั้น RSI ของจังหวัดชลบุรีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 81.2  โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ภาคการลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อันเป็นผลมาจากผู้ประกอบการในพื้นที่มีแผนที่จะขยายกิจการของตนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้
จะเห็นได้ว่าในปี 2565 ดัชนี RSI ของจังหวัดชลบุรีมีระดับสูงกว่า ดัชนี RSI ของภาคตะวันออกและประเทศตลอดทั้งปี ดังแสดงในภาพที่ 2


[1] RSI คือ ดัชนีที่สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของแต่ละจังวัดและภูมิภาคในอนาคต ตั้งแต่ 1 – 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งดัชนีมีค่ามากกว่า 50.0 จะสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปัจจุบัน และดัชนีมีค่าเท่ากับ 50.0 จะสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่มีแนวโน้มที่ทรงตัว และหากดัชนีมีค่าน้อยกว่ากว่า 50.0 จะสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่มีแนวโน้มชะลอตัวกว่าปัจจุบัน

ภาพที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค
ที่มา กระทรวงการคลัง โดย สศค.

เมื่อเราพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ของเทศบาลเมืองแสนสุข จากดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (SEFI) ที่จัดทำโดย สศค. ประกอบด้วยตัวชี้วัด 88 เครื่องชี้ เพื่อบ่งชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐาน 2) การศึกษา 3) สาธารณสุข 4) กำลังซื้อ 5) ปัญหาของทรัพยากรมนุษย์ และ 6) สิ่งแวดล้อม จะพบว่าพื้นที่ของเทศบาลเมืองแสนสุขมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่ในลำดับที่ 11 ของจังหวัดชลบุรี และเป็นอันดับที่ 6 ของอำเภอเมืองชลบุรี ทั้งนี้ โดยรวมแล้ว SEFI ของเทศบาลเมืองแสนสุข สูงกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดชลบุรี และ อำเภอเมืองชลบุรี ดังแสดงในภาพที่ 3

ภาพที่ 3 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (SEFI) ของเทศบาลเมืองแสนสุข
ที่มา สศค

3. ความเป็นมาของการพัฒนาเมืองแสนสุขภายใต้แนวคิด “Saen Suk Smart Living and Sport Tourism City”             

จากรายละเอียดที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้เมืองบางแสนและเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดชลบุรีและบริเวณพื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุขจะสังเหตได้ว่าบริเวณที่อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลเมืองแสนสุขมีการพัฒนาจากในอดีต อย่างเห็นได้ชัดในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการผลักดันการพัฒนาเมืองแสนสุขภายใต้แนวคิด “Saen Suk Smart Living and Sport Tourism City” ที่คุณณรงค์ชัยฯ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุขเป็นผู้ผลักดันการพัฒนา โดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ร่วมกับวารสารการเงินการคลังได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากคุณณรงค์ชัยฯ มาถ่ายทอดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” เมื่อวันที่
7 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ชั้น 7 อาคารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

คุณณรงค์ชัย คุณปลื้ม
นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสขสุข

จากการสัมภาษณ์ คุณณรงค์ชัยฯ ได้ให้ข้อมูลว่า การพัฒนาเมืองแสนสุขภายใต้แนวคิด “Saen Suk Smart Living and Sport Tourism City” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทศบาลเมืองแสนสุขให้เป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ (Smart City) ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของเทศบาลเมืองแสนสุข ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และด้านการบริหารจัดการที่ดีและการพัฒนาการเมือง
โดยการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วน
ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมทั้งเครือข่ายชุมชนในเขตเทศบาลเมือง
แสนสุข เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดความมั่นคงตลอดจนสามารถรักษาสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการท่องเที่ยว
ได้อย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันนำไปสู่การมีชุมชนที่เข้มแข็งและประชาชนมีสุขภาวะสมบูรณ์

ภาพที่ 4 ระบบนิเวศของหน่วยงานที่มีส่วนในการผลักดันนโยบาย Smart City ของเทศบาลเมืองแสนสุข
ที่มา: การสัมภาษณ์คุณณรงค์ชัยฯ ประมวลผลโดย สศค.

สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของเมืองแสนสุขภายใต้แนวคิดดังกล่าวนั้น คุณณรงค์ชัยฯ ได้เน้นย้ำว่า การพัฒนาฐานข้อมูลเป็นกุญแจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเมืองแสนสุข ซึ่งทางเทศบาลเมืองแสนสุขได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ในการพัฒนาการจัดเก็บฐานข้อมูลที่เรียกว่า “City Data Platform” สำหรับนำมาใช้ในการวิเคราะห์สภาพปัญหาของเมืองแสนสุข รวมทั้งความต้องการของประชาชน
ในพื้นที่ เพื่อนำไปออกแบบโครงการที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเมืองแสนสุขให้เป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ (Smart City)

4. ตัวอย่างโครงการการพัฒนาเมืองแสนสุขภายใต้แนวคิด “Saen Suk Smart Living and Sport Tourism City” ในปัจจุบัน

ที่ผ่านมาเทศบาลเมืองแสนสุขมีโครงการที่ขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดการเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ (Smart City) มากมายหลายโครงการ โดยมีเป้าหมายในการมุ่งเน้นเมืองแสนสุขให้เป็นเมืองที่มีการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เพื่อแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน มีระบบสาธารณสุขอัจฉริยะ (Smart Health) สำหรับ
การแก้ไขปัญหาด้านระบบการดูแลสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงมีการท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism) ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ของเทศบาลเมืองแสนสุขให้เกิดความยั่งยืน

4.1 โครงการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology)

สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี นอกจากการเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพโรคเรื้อรังแล้ว
ปัญหาการถูกทิ้งให้อยู่บ้านเพียงลำพังโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้น เพื่อลดข้อจำกัดให้ผู้สูงอายุสามารถขอความช่วยเหลือและเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว เทศบาลเมืองแสนสุขจึงริเริ่มโครงการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุ
ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology) โดยร่วมมือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA
และมหาวิทยาลัยบูรพาด้วยการประยุกต์ใช้อุปกรณ์สายรัดข้อมือและสร้อยคอที่เป็นตัวส่งสัญญาณเตือน
เมื่อผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ โดยหากมีเหตุฉุกเฉินหรือผิดปกติอุปกรณ์ดังกล่าว
จะส่งสัญญาณไปยังเทศบาลเมืองแสนสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถให้ความช่วยเหลือ
ได้ทันทีท่วงที ซึ่งในปัจจุบันเป็นการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 โดยเป็นการพัฒนาระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะดังกล่าวให้มีความสะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาฐานข้อมูลที่นำมาใช้ในการกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ให้มีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เช่น ฐานข้อมูลด้านสุขภาพ ฐานข้อมูลด้านรายได้ เป็นต้น

โครงการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุข้างต้นเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม Internet Of Things (IoTs) มาช่วยในการพัฒนาระบบการบริการสุขภาพของประชาชน เพื่อลดข้อจำกัดและขจัดความเหลื่อมล้ำ
ในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี จากการลงพื้นที่ในชุมชนของเมืองแสนสุขเพื่อสำรวจปัญหาและอุปสรรคจากการใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะดังกล่าว พบว่า ในระยะแรกผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าว จึงต้องมีการสาธิตและแนะนำวิธีการใช้งานที่ถูกต้องอย่างใกล้ชิด
โดยอาศัยความร่วมมือจากครอบครัวของผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย คณะกรรมการชุมชุมในเขตเทศบาล
เมืองแสนสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเข้าไปติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด
ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากการมีเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology) ที่มีประสิทธิภาพแล้ว การมีพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างรูปธรรมและยั่งยืน

4.2 โครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายหาดบางแสนตามแนวคิดการท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism)

หากมองย้อนกลับไปในอดีตภาพจำของชายหาดบางแสน นอกจากจะมีร้านค้า หาบเร่ แผงลอยมากมาย
ตามชายหาดและมีนักท่องเที่ยวที่หนาแน่นแล้ว ยังมีภาพจำของขยะจำนวนมากที่ก่อให้เกิดปัญหาโดยตรงกับ
การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายหาดบางแสน ประเด็นปัญหาขยะทั้งจากนักท่องเที่ยวและจากโรงงานอุตสาหกรรม
ในเขตพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้เทศบาลเมืองแสนสุขดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายหาด
บางแสนตามแนวคิดการท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism) โดยการปรับภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณชายหาดและ
การจัดระเบียบผู้ประกอบการในพื้นที่รวมทั้งการจัดระเบียบนักท่องเที่ยว ซึ่งมีการนำแนวคิดการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาขยะรวมทั้งสิ่งแวดล้อมบริเวณชายหาดบางแสน อาทิ
การควบคุมคุณภาพน้ำให้มีค่า BOD (Biological Oxygen Demand) อยู่ในระดับมาตรฐาน และการควบคุมมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาใช้ในการควบคุมขยะและมลพิษจากบุหรี่ของนักท่องเที่ยวบริเวณรอบชายหาด

นอกจากการปรับภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณชายหาดและการจัดระเบียบผู้ประกอบการในพื้นที่รวมทั้งการจัดระเบียบนักท่องเที่ยวแล้ว การส่งเสริมการตลาดและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) เป็นจุดเด่นที่สำคัญภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายหาดบางแสนตามแนวคิดการท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism) โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้จากการจัดงานบางแสนซีรีส์ 2022 ซึ่งเป็นการจัดงาน
วิ่งมาราธอนในระยะทาง 10 กิโลเมตร 21 กิโลเมตร และ 42 กิโลเมตรที่มีการเชื่อมโยงกับแนวคิด
MICE (Meetings, Incentives, Conferences and Exhibitions) และมีรูปแบบของการจัดงานเฉกเช่นเดียวกับงานวิ่งระดับโลกด้วยการปรับภูมิทัศน์โดยรอบให้มีความสะอาดและปลอดภัย การมีระบบแพทย์สนามที่เพียงพอ รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำหรับรายงานสถิติการวิ่งในการแข่งขันที่ทันสมัยและมีมาตรฐานในระดับโลก
ซึ่งการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองแสนสุขด้วยกิจกรรมข้างต้นสามารถสร้างมูลค่าเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ
ได้อย่างมหาศาล โดยจะเห็นได้จากผลของการจัดงานดังกล่าวสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 80 ล้านบาท จากการใช้งบประมาณในการจัดงานเพียง 1.5 ล้านบาท อีกทั้งยังทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 คนอีกด้วย

5. มุมมองการพัฒนาเมืองแสนสุขในอนาคต

การพัฒนาเมืองแสนสุขในอนาคต คุณณรงค์ชัยฯ ได้กล่าวถึง การพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของเทศบาลเมืองแสนสุขไปพร้อม ๆ กัน โดยสำหรับมุมมองของเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจของเทศบาลเมืองแสนสุขเติบโตอย่างเห็นได้ชัด อันมีสาเหตุมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภาคเอกชนจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณเมืองแสนสุขให้เป็นโรงแรม คอนโด และธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้การท่องเที่ยวของเมืองแสนสุขเป็นแหล่งท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Tourism) อันนำไปสู่
การมีเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ สำหรับมุมมองด้านสังคมการสร้างพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)
ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเทศบาลเมืองแสนสุขให้เป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ (Smart City)
ในอนาคต และจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เทศบาลเมืองแสนสุขบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็น “เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เศรษฐกิจมั่นคง รักษาสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ขับเคลื่อนเมืองด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ชุมชนสามัคคี ประชาชนมีสุขภาวะสมบูรณ์” ต่อไป

นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน