การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตามแนวคิด Smart City เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตามแนวคิด Smart City เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง

บทความโดย
นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์
นายธณัฐ พวงนวม
นางสาวณัฏฐธิดา  จันภักดี

1. บทนำ

ภาพที่ 1 ผังเมืองเทศบาลนครยะลาภายใต้โครงการยะลาเมืองอัจฉริยะ (Yala Smart City)

ที่มา: https://www.isoc5.net/articles/view/380/

เมื่อกล่าวถึงจังหวัดยะลาทุกท่านมักนึกถึงผังเมืองที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองในการร่วมพัฒนาเมืองจากทุกภาคส่วนในจังหวัดยะลาทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ โดยสำหรับเทศบาลนครยะลานั้นถือได้ว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองภายใต้แนวคิดยะลาเมืองอัจฉริยะ (Yala Smart City) โดยบทความฉบับนี้จะเป็นการนำเสนอการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตามแนวคิด Smart City เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองของเทศบาลนครยะลา ซึ่งประกอบไปด้วย นโยบายและกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเทศบาลนครยะลาอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินงาน มุมมองการพัฒนาเมืองยะลาในอนาคต และกุญแจสำคัญ (Key Success) ในการดำเนินงาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2. ข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานของจังหวัดยะลา

ข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของจังหวัดยะลา ในปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จังหวัดยะลามีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) เท่ากับ 50,837 ล้านบาท ซึ่งไปประกอบด้วยภาคการเกษตร 17,176 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคนอกการเกษตร 33,211 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด โดยสำหรับภาคนอกการเกษตร ประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม 5,102 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 28,109 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด จึงส่งผลให้จังหวัดยะลามีผลิตภัณฑ์ต่อหัว (GPP Per Capita) อยู่ที่ราว 105,453 บาทต่อปี

ภาพที่ 2 ผลิตภัณฑ์จังหวัดยะลา

ที่มา: สศช. ประมวลผลโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ซึ่งจัดทำโดย สศค. กระทรวงการคลัง พบว่า ดัชนี RSI เดือนสิงหาคม 2566 ของจังหวัดยะลาอยู่ที่ระดับ 89.8 โดยอยู่ในระดับที่สูงกว่าดัชนี RSI ของประเทศและภาคใต้ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการ
และภาคลงทุน

ภาพที่ 3 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค

จัดทำโดย: นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์ เศรษฐกรชำนาญการ
ที่มา: กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (กศม.) สศค.

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamental Index: SEFI) ของเทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ที่พัฒนาและจัดทำโดย กศม. สศค. ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด จำนวน 88 ตัวชี้วัด เพื่อบ่งชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข กำลังซื้อ ปัญหาของทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดย SEFI ของเทศบาลนครยะลา บ่งชี้ว่า เทศบาลนครยะลามีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดีติดอันดับที่ 16 ของตำบลหรือเทศบาลในจังหวัดยะลาโดยมีจุดแข็งด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เทศบาลนครยะลายังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านเศรษฐกิจ ตามลำดับ

ภาพที่ 4 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ของเทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

จัดทำโดย: นางสาวปภัช  สุจิตรัตนันท์ เศรษฐกรปฏิบัติการ
ที่มา: กศม. สศค.

3. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตามแนวคิด Smart City เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง

จากรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า เทศบาลนครยะลามีจุดแข็งจากภาคบริการโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนในพื้นที่จากด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นจุดแข็งที่สำคัญในการส่งเสริมให้เทศบาลนครยะลาเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองภายใต้แนวคิด Smart City ในการนี้ กศม. สศค. ร่วมกับวารสารการเงินการคลังได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากคุณพงษ์ศักดิ์  ยิ่งชนม์เจริญ (คุณพงษ์ศักดิ์ฯ) นายกเทศมนตรีนครยะลา มาถ่ายทอดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตามแนวคิด Smart City เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ประจำเดือนกันยายน 2566 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

คุณพงษ์ศักดิ์  ยิ่งชนม์เจริญ
นายกเทศมนตรีนครยะลา

3.1. นโยบายและกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเทศบาลนครยะลา

คุณพงษ์ศักดิ์ฯ ได้เล่าว่า ภายหลังจากที่สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดยะลามีสัญญาณที่ดีขึ้น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทางเทศบาลนครยะลาก็ได้เริ่มฟื้นฟูเมืองยะลา โดยริเริ่มจากการนำจุดแข็งที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาเมือง ได้แก่ ความเป็นเมืองสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยจากการวางผังเมืองที่ดี ความอุดมสมบูรณ์จากพื้นที่สีเขียว ความเป็นเมืองตักศิลาทางการศึกษา และความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม โดยเริ่มดำเนินการไปพร้อมกับการปรับกระบวนการทำงานใหม่โดยการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง (Restructuring Logistic) เนื่องจากจังหวัดยะลาเป็นเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รถไฟมาถึงกลางเมือง ซึ่งหากมองย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อนที่ผ่านมาจะพบว่า จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage ในด้านการขนส่ง แต่เมื่อรูปแบบของการเดินทางได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเครื่องบินและรถยนต์ จึงส่งผลให้จังหวัดยะสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันข้างต้นของเมืองไป และทำให้ต้องพยายามปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับการปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ (Restructuring Economy) เนื่องจากในอดีตเศรษฐกิจของจังหวัดยะลาพึ่งพายางพาราเป็นหลัก แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจึงส่งผลให้จังหวัดยะลามุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญ 4 ส่วน ได้แก่ (1) การควบคุมปริมาณและคุณภาพของยางพารา (2) การพัฒนาด้านการตลาดด้วยการสร้างแบรนด์ (Branding) ให้กับทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดยะลา ตลอดจนการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการผลิต (3) การพัฒนาคุณภาพของลองกองด้วยเทคโนโลยีในการผลิตและการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มอุปทาน (Supply) ในตลาดลองกอง และ (4) การส่งเสริมการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าของจังหวัดยะลาซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ทั้งนี้ ภายใต้วิสัยทัศน์ “นครยะลา เมืองพหุวัฒนธรรม สร้างสรรค์นวัตกรรม สู่คุณภาพชีวิตที่ดี” นำไปสู่การกำหนดนโยบายและกลไกในการขับเคลื่อนเมืองยะลา โดยเริ่มจากการดำเนินโครงการยะลาเมืองอัจฉริยะ (Yala Smart City) ขึ้น ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ส่วนที่สำคัญ ดังนี้

1) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) ผ่านการมุ่งใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมโดยการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการเทศบาลนครยะลาสำหรับเป็นช่องทางเชื่อมต่อกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการรับเรื่องร้องเรียน การสื่อสารกับประชาชน การทำประชามติ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการรองรับภัยพิบัติ หรือโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกกลุ่มวัยอย่างทั่วถึง

2) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ผ่านการมุ่งยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตด้วยการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Free WiFi) ที่ครอบคลุมทุกมุมเมือง อีกทั้งการมีระบบกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชนในเขตเมือง(Urban Safety) ระบบเสาไฟอัจฉริยะ (Smart Pole) บนฐานของการใช้นวัตกรรม IoT (Internet of Things) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หรือส่งข้อมูลระหว่างกันด้วยอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ

3) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ผ่านการมุ่งพัฒนาจุดเด่นของเมืองยะลาด้านการเป็นเมืองสีเขียว มีผังเมืองสวยตามมาตรฐานสากล และเมืองแห่งความสะอาด ให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการตรวจวัดและรายงานคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อากาศ เป็นต้น อีกทั้งจัดให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องจำกัด โดยการนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าแทนในการหล่อเลี้ยงเมืองด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

4) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ผ่านการมุ่งใช้ต้นทุนอัตลักษณ์ในพื้นที่และการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่รองรับการขยายตัวของธุรกิจดิจิทัล และเสริมมูลค่าให้กับการตลาด การค้า การลงทุน และตลาดแรงงานในพื้นที่ ด้วยการพัฒนาระบบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ธุรกิจการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เพิ่มโอกาสในการขาย และสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้อย่างเท่าเทียม ตลอดจนสร้างระบบนิเวศน์เพื่อดึงดูดบริษัทจัดตั้งใหม่ (Startup) เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น

3.2 อุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินงาน

คุณพงษ์ศักดิ์ฯ ได้อธิบายว่า อุปสรรคและข้อจำกัดที่สำคัญในการดำเนินงานของเทศบาลนครยะลา ประกอบด้วย (1) ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งหากมีการส่งเสริมให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งสามารถจัดหารายได้เป็นของตนเองได้เพิ่มมากขึ้นก็จะเป็นความท้าทายที่ทำให้เกิดการแข่งขันในแต่ละพื้นที่ในการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนเนื่องจากมีงบประมาณเพิ่มมากขึ้น (2) ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ โดยที่ผ่านมาทางเทศบาลนครยะลาได้มีแนวคิดในการจัดทำบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Understanding: MOU) ในการร่วมลงทุนสำหรับสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า โดยคิดค่าบริการในอัตราที่ต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนให้คนในพื้นที่หันมาใช้รถไฟฟ้ากันมากขึ้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบจึงเป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการโครงการดังกล่าว และ (3) ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ โดยหากมีการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ให้แก่ทรัพยากรมนุษย์ก็จะช่วยให้มีเครือข่ายของทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน เนื่องจากองค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเมือง

3.3 มุมมองการพัฒนาเมืองยะลาในอนาคต

คุณพงษ์ศักดิ์ฯ ได้เสริมว่า โครงการการพัฒนาในอนาคตที่ทางเทศบาลนครยะลาตั้งเป้าหมายไว้ คือ การสร้างสนามบินในจังหวัดยะลาบนเส้นทางรถไฟที่มีอยู่เดิมเพื่อผสมผสานการเดินทางรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ โดยไม่เป็นการทำลายรูปแบบการดำรงชีวิตและระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งตลาดกลางการเกษตรเพื่อส่งเสริมการส่งออกทุเรียน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรสำคัญที่สามารถส่งออกได้ปีละ 75,000 ตันต่อปี โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปีหน้าต้องส่งออกได้ถึง 100,000 ตันต่อปี บนพื้นที่เพาะปลูกภายในจังหวัดประมาณ 100,000 ไร่ ตลอดจนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยให้ทุนเรียนฟรีแก่นักศึกษา เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์และเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดยะลาได้ด้วยวิทยาการในการใช้เทคโนโลยีใหม่

3.4 กุญแจสำคัญ (Key Success) ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตามแนวคิด Smart City
เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง

คุณพงษ์ศักดิ์ฯ ได้สรุปว่า กุญแจสำคัญซึ่งเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนให้เทศบาลนครยะลาประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการต่าง ๆ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ การมีเสถียรภาพของการเมือง ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อการวิจัยและสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่ ตลอดจนการมีบุคลากรของเทศบาลนครยะลาที่มีคุณภาพและมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ซึ่งนำไปสู่การยึดโยงกับการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ในการร่วมมือกันขับเคลื่อนเทศบาลนครยะลาให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

สุดท้ายนี้ทางคณะผู้เขียนขอขอบคุณ ดร. พิสิทธิ์  พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ดร.พงศ์นคร  โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค และ ดร. นรพัชร์  อัศววัลลภ บรรณาธิการวารสารการเงินการคลัง ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ สำหรับรายการ Local Reach เอื้อมลึกถึงภูมิภาค

นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวณัฏฐธิดา จันภักดี
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน