การส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ในระดับตำบลด้วยแนวคิด “Smart Tambon Model”

การส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ในระดับตำบลด้วยแนวคิด “Smart Tambon Model”

บทความโดย
นายชัยวัฒน์  หาญพิทักษ์พงศ์
นายธณัฐ พวงนวม
นายกานต์  แจ้งชัดใจ

1. บทนำ

          แม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมไปพร้อมกัน ๆ รวมถึงมีการกระจายความเจริญ (Decentralization) ไปสู่ท้องถิ่น เพื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม พื้นที่บางแห่งของประเทศยังขาดการพัฒนาอย่างทั่วถึง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแนวคิด “Smart Tambon Model” ของบริษัท สฤก จำกัด (อ่านว่า สะ – ริก) (บริษัทฯ) ที่มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เเละนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่เเบบองค์รวม (Holistic Area – based Community Development หรือ HAB) ในระดับตำบล ผ่านการสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อทำให้ชีวิตของประชาชนเกิดความสะดวกสบาย และมุ่งเน้นการพัฒนาใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านอาชีพ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยการสร้าง “Social Lab” เพื่อใช้เป็นแหล่งในการศึกษา ค้นคว้า แก้ไขปัญหาของชุมชน และท้ายที่สุดก่อให้เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาที่ใช้มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นกลไกกลางของระบบการดำเนินงานด้านข้อมูล องค์ความรู้ รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ขึ้นมาเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ของชุมชน และเนื่องจากแนวคิด Smart Tambon Model ในบทความฉบับนี้จะกล่าวถึงกรณีศึกษาของตำบลนาขอม จังหวัดนครสวรรค์ จึงจะเริ่มจากการนำเสนอข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานของจังหวัดนครสวรรค์ตลอดจนการชี้วัดถึงระดับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตำบลนาขอมเพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาพื้นที่ในหัวข้อที่ 2 หลังจากนั้นจะลงรายละเอียดของการดำเนินการผ่านบทสรุปการสัมภาษณ์คุณบัญญัติ  คำบุญเหลือ (คุณบัญญัติฯ) กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ที่ได้ให้โอกาสมาถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับแนวคิด “Smart Tambon Model” ผ่านรายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค ประจำเดือนมกราคม 2566 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ในหัวข้อที่ 3 ดังต่อไปนี้

2. ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดนครสวรรค์ และตำบลนาขอม

          สำหรับข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของจังหวัดนครสวรรค์ ในปี 2563 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จังหวัดนครสวรรค์มีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) เท่ากับ 111,441 ล้านบาท ประกอบด้วยภาคการเกษตร 30,750 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคนอกการเกษตร 80,691 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด ทั้งนี้ ภาคนอกการเกษตร ประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม 22,958 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด และภาคบริการ 57,733 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของผลิตภัณฑ์จังหวัด (รายละเอียดตามภาพที่ 1) อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) เท่ากับ 121,070 บาท

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์จังหวัดนครสวรรค์

ที่มา: สศช. ประมวลผลโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการคลัง จะพบว่า โดยในเดือนธันวาคม ดัชนี RSI ของจังหวัดนครสวรรค์ชะลอตัวลงอยู่ที่ระดับ 62.8 แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50.00 โดยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปัจจัยจากภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ภาพที่ 2 ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค

ที่มา: สศค.

และเมื่อเราพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ของตำบลนาขอม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปดำเนินโครงการดังกล่าวผ่านดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (SEFI) ที่พัฒนาและจัดทำโดยกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. โดยการสร้างดัชนีที่ประกอบด้วยตัวชี้วัด 88 ตัว เพื่อบ่งชี้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่ต่าง ๆ ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข กำลังซื้อ ปัญหาของทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดย SEFI ของพื้นที่ดังกล่าวบ่งชี้ว่า มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดีเป็นอันดับที่ 125 ของตำบลในจังหวัดนครสวรรค์ และเป็นอันดับที่ 5 ของตำบลในอำเภอไพศาลี (จากทั้งหมด 8 ตำบล) ทั้งนี้ SEFI ของตำบลนาขอมอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตำบลในจังหวัดนครสวรรค์ และตำบลในอำเภอเมืองไพศาลี จึงสามารถสรุปได้ว่า การพัฒนาตำบลนาขอมมีความท้าทายในการพัฒนาเป็นอย่างมากเมื่อพิจารณาจากกลุ่มปัจจัยพื้นฐานทั้ง 6 มิติ

ภาพที่ 3 ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่

ที่มา: สศค.

3. ความเป็นมาของการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ในระดับตำบลด้วยแนวคิด “Smart Tambon Model”

          เพื่อเจอะลึกถึงแนวทางการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ในระดับตำบลด้วยแนวคิด Smart Tambon Model ที่ตำบลนาขอม อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ร่วมกับวารสารการเงินการคลังจึงได้จัดการสัมภาษณ์ในรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ประจำเดือนมกราคม 2566 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ขึ้นโดยได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากคุณบัญญัติฯ มาถ่ายทอดรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและการดำเนินงานที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

คุณบัญญัติ คำบุญเหลือ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สฤก จำกัด

3.1 แนวคิด Smart Tambon Model คืออะไร ?

ในการสัมภาษณ์ คุณบัญญัติฯ ได้ให้ข้อมูลว่า แนวคิด Smart Tambon Model นั้นเป็นการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เเละนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่เเบบองค์รวม (Holistic Area – based Community Development หรือ HAB) ในระดับตำบล โดยการสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อทำให้ชีวิตของประชาชนเกิดความสะดวกสบาย ซึ่งคำว่า “Smart” นั้นคือความสามารถในการคิดผนวกกับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในสังคมยุค 4.0 ด้วยการมองเห็นถึงโอกาสและปัญหาที่แท้จริง รวมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โครงการตำบลอัจฉริยะ (Smart Tambon) จึงเป็นกุศโลบายของทุกภาคส่วนที่มาทำงานร่วมกันในพื้นที่เล็ก ๆ โดยมีการตั้งเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ร่วมกันอย่างเหมาะสม อีกทั้ง โครงการ Smart Tambon เป็นการใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า TPMAP และแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri – Map ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ ด้านอาชีพ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแบบองค์รวมทั้ง 5 มิติ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่

ภาพที่ 4 องค์ประกอบการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ในระดับตำบล
ด้วยแนวคิด Smart Tambon Model

ที่มา: บริษัท สฤก จำกัด

3.2 บทบาทของบริษัท สฤก จำกัด กับการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ในระดับตำบล

สำหรับคำว่า “สฤก” ซึ่งมีอักษรย่อภาษาอังกฤษว่า “SLIG” นั้น คุณบัญญัติฯ ได้เล่าว่ามีที่มาจาก “Social Lab For Inclusive Growth” ซี่งเป็นแนวคิดที่ริเริ่มจากการให้ความช่วยเหลือชุมชนจากเดิมที่เป็นการดำเนินการผ่านกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) และต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนผ่าน “Social Lab” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งในการศึกษาและค้นคว้าหาปัญหาของชุมชนจนกระทั่งเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือของการพัฒนาที่มุ่งเน้นไปที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นกลไกกลางของระบบการดำเนินงานด้านข้อมูลความรู้จำนวนมาก โดยบริษัทฯ นั้นมีบทบาทในการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ของชุมชน ผ่านกลยุทธ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1) การบริหารจัดการที่ดีกว่า (Better Management) และ 2) การบูรณาการที่ดีกว่า (Better Integration) เพื่อนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่า (Better Result)

ภาพที่ 5 องค์ประกอบการบริหารองค์กรของบริษัท สฤก จำกัด

ที่มา: บริษัท สฤก จำกัด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจะเห็นได้จากกระแสของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มักเกิดจากแนวคิดการพัฒนา
แบบรวมศูนย์ความเจริญ (Centralization) ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐาน (Migration) ของผู้คนในชุมชนไปอาศัยอยู่นอกพื้นที่โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อประกอบอาชีพ จนส่งผลให้ในชุมชนเหลือเพียงเด็กและผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในพื้นที่ ในขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายการพัฒนาในรูปแบบดังกล่าว แม้ว่าจะสามารถสร้างความเจริญได้ แต่ก่อให้เกิดปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำตามมา เนื่องจากความเจริญไม่ได้ถูกกระจายไปในทุกพื้นที่ของประเทศ ดังนั้น แนวคิด Smart Tambon Model โดยบริษัทฯ จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นผ่านแนวคิดการกระจายความเจริญ (Decentralization) เพื่อดึงผู้คนกลับไปพัฒนาถิ่นฐานในชุมชนของตนเอง (Reverse Urbanization) ควบคู่ไปกับการสร้างความอุดสมบูรณ์ของชุมชนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG Model) ผ่าน 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย

1) การสร้างทีม โดยเริ่มต้นจากการสร้างการรับรู้ สร้างความชัดเจนของโจทย์ปัญหา รวมทั้งการสร้างความเชื่อใจผ่านการลงนามความร่วมมือ (Memorandum of Understanding หรือ MOU) การศึกษาดูงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม

2) การหาข้อมูลพื้นฐานจากระบบหรือกลไกหลัก ซึ่งเริ่มจากการเก็บข้อมูลพื้นฐานจากแหล่งข้อมูล
ทุติยภูมิ เช่น ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform หรือ TPMAP และแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri – Map

3) การเก็บข้อมูลชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยการเก็บข้อมูลเชิงลึกในระดับครัวเรือนที่เรียกว่า “HAB Family” เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวมและนำไปสร้างข้อมูลพื้นฐานตำบล ที่เรียกว่า “Tambon Profile”

4) การวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และคืนข้อมูลชุมชน เป็นกระบวนการในการค้นหาความต้องการของชุมชน (Need & Want) โดยแบ่งเป็น 5 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติการศึกษา มิติสุขภาพ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถมองเห็นถึงประเด็นที่สำคัญสำหรับการพัฒนา รวมถึงการแลกเปลี่ยนประเด็นในแต่ละมิติ ซึ่งจะสะท้อนในเรื่องของข้อมูล ข้อเท็จจริง และปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และนำไปสู่การระดมความคิดในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

5) การพัฒนาแผนโครงการ โดยการกำหนดประเด็นการพัฒนา ประเด็นในการปรับปรุง รวมทั้งผู้รับผิดชอบให้ออกมาในรูปแบบของแผนดำเนินงาน 5 มิติ หรือที่เรียกว่า “Tambom Blueprint” เพื่อนำไปสู่กระบวนการบูรณาการวางแผนแบบมีประสิทธิภาพ (Effective Planning)

6) การดำเนินการตามแผนโครงการ ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นการกำหนดโครงสร้างในการทำงานผ่านการกำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ โดยมีแบบฟอร์ม Check list ในการควบคุมกระบวนการทำงาน

7) การสรุปและการขยายผล โดยเริ่มจากกระบวนการสนทนากลุ่ม หรือ Focus Group เพื่อสร้างต้นแบบและขยายผลด้วยการประยุกต์หลักการบริหารจัดการเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย (Ideal Management) และนำไปสู่การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ภาพที่ 6 พื้นที่ดำเนินงานต้นแบบและภาคีเครือข่ายโครงการ Smart Tambon

ที่มา: บริษัท สฤก จำกัด

3.3 พื้นที่ดำเนินงานต้นแบบ: กรณีศึกษาตำบลนาขอม คุณบัญญัติฯ ได้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาทางบริษัท สฤก จำกัด ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสำหรับการดำเนินโครงการ Smart Tambon ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยในส่วนของตำบลนาขอม จังหวัดนครสวรรค์นั้นเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างตำบลนาขอม สศช. และบริษัทฯ ที่ได้ร่วมมือกันทำ Social Lab ในชุมชน ซึ่งเริ่มจากการค้นหาปัญหาและอุปสรรคจากข้อมูล TPMAP และ Agri – Map โดยพบว่าความยากจนเป็นประเด็นความท้าทายของตำบลนาขอมที่ควรได้รับการแก้ปัญหา บริษัทฯ และภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่าน 4 เครื่องมือหลักในการทำงานประกอบด้วยแนวคิด 1) Smart Tambon 2) CIGU 3) Total Solution และ 4) กิจการเพื่อสังคม ทั้งนี้ กรณีตำบลนาขอมนั้นได้ดำเนินการผ่าน 4 กระบวนการ 12 กิจกรรมหลัก โดยมีโครงการที่สำคัญอยู่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังตามหลักวิชาการ และโครงการบริหารจัดการผักตลอดห่วงโซ่อุปทาน ( Supply Chain) ซึ่งดำเนินการ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น จำนวน 4 เดือน ระยะกลาง จำนวน 1 ปี และระยะยาว จำนวน 2 – 3 ปี โดยอาศัยแนวคิด “Smart Tambon Model” มาประยุกต์ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ในตำบลนาขอมซึ่งช่วยให้กลุ่มเกษตรกรที่ประกอบอาชีพปลูกมันสำปะหลังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตด้วยแนวคิดทางวิชาการ จนเกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรภายใต้ชื่อ “กลุ่มมันแปลงใหญ่” ตลอดจนมีการวางแผนในการดำเนินธุรกิจมันเส้นสะอาดเพื่อต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตมันสำปะหลังได้ในอนาคต ส่วนการปลูกผักปลอดภัยซึ่งเป็นอาชีพเสริมของเกษตรกรนั้น ได้มีการสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคมภายใต้ชื่อ “ผักรวม ร่วมใจ ตำบลนาขอม” โดยมีการดำเนินการตามแผนการปลูกเพื่อรองรับความต้องการของตลาดตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

ภาพที่ 7 สรุปแผนการดำเนินโครงการ Smart Tambon กรณีศึกษาตำบลนาขอม

ที่มา: บริษัท สฤก จำกัด

3.4 มุมมองการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ในระดับตำบลของโครงการ Smart Tambon ในอนาคต

คุณบัญญัติฯ ได้กล่าวว่า หากพูดถึงคำว่า “Smart” อาจนึกถึง “Smart City” ซึ่งเต็มไปด้วย “Smart Technology” แต่ “Smart Tambon” จะมุ่งเน้นการพัฒนาด้วยองค์ความรู้ ความสามารถในการพัฒนาองค์ความรู้ และความสามารถในการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดได้อย่างเต็มภาคภูมิด้วยศักยภาพของเเต่ละหน่วยงาน เเต่ละพื้นที่ และเเต่ละตำบล ซึ่งคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เเต่ละตำบลที่เป็นหน่วยเล็ก ๆ ของสังคมจะสามารถขยายการพัฒนาไปในวงกว้างเเละเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยหากในชุมชุนชนบทมีโอกาสในการปรับปรุงวิธีบริหารชุมชน วิธีการบริหารทรัพยากรในพื้นที่ได้ด้วยตนเองจากการช่วยเหลือของภาครัฐ ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูล และเทคโนโลยี โครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยยกระดับการบริหารของชุมชนได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาชุมชนด้วยตัวเองในอนาคต อีกทั้งยังเป็นต้นเเบบการพัฒนาประเทศที่บูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงจากระดับตำบลสู่วงกว้าง โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เเละนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกด้านและสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ได้อย่างเเท้จริง

3.5 ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ (Key Success) ของโครงการ

คุณบัญญัติฯ ได้ทิ้งท้ายในการสัมภาษณ์ไว้ว่า นอกจากบริษัทฯ จะอาศัยกระบวนการจากแนวคิด Smart Tambon Model มาประยุกต์ใช้กับการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ในระดับตำบลแล้ว อีกกลไกในการดำเนินโครงการที่สำคัญ คือ การมีชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้นำชุมชนมีวิสัยทัศน์ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้ รวมทั้งการมีภาคีพันธมิตรร่วมสนับสนุนการดำเนินงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาและนำไปต่อยอดขยายผล อันนำไปสู่การพัฒนาประเทศแบบบูรณาการโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมในระดับตำบล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านอาชีพ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

นายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน