Smart watch แบรนด์ดังแม่นยำแค่ไหน?

Smart watch แบรนด์ดังแม่นยำแค่ไหน?

บทความโดย
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
Twitter, Instagram: @thidakarn

กาลครั้งหนึ่งก่อนยุคโควิด สมัยที่เรายังประชุมแบบนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน หมอสังเกตข้อมือของผู้ร่วมประชุมทั้งหมด 8 คนแล้วพบว่า 7 ใน 8 สวมใส่ Smart watch คนเดียวที่ไม่เข้าพวกคือหมอนั่นเอง!

ไม่ใช่ว่าหมอไม่สนใจในเรื่องเทคโนโลยีนะคะ จริงๆ แล้วหมอสนใจและทดลองเล่นกับ Wearable Devices มาหลายปีแล้ว เริ่มใส่ตั้งแต่ปี 2012 สมัย Jawbone UP กำลังดัง ยังจำได้ว่าคนมักจะถามว่า กำไลสีดำๆ ที่อยู่บนข้อมือคืออะไร จนตอนนี้บริษัทที่บุกเบิก Wearable Devices อย่าง Jawbone ได้ปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว สวนทางกับเทรนด์ของ Smart Watch ที่มาแรงขึ้นเรื่อยๆ หมอเองก็ยังสนใจติดตามความคืบหน้าของ Wearable Devices ต่างๆ อยู่เสมอ แม้จะไม่ได้ใส่ติดข้อมือในทุกวันก็ตาม

ล่าสุดมีงานวิจัยที่น่าสนใจจากวารสาร Digital Medicine ได้ศึกษาความแม่นยำในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate) ของ Wearable Devices แบรนด์ดังต่างๆ  ทั้งสินค้าที่มีเป้าหมายสำหรับผู้บริโภคทั่วไป (Consumer Grade) อย่าง Apple Watch 4, Fitbit Charge 2, Garmin Vivosmart 3, Xiaomi Miband และสินค้าที่มีเป้าหมายเพื่อใช้ในการวิจัย (Research Grade) อย่าง Biovotion Everion และ Empatica E4 รวมทั้งสิ้นหกแบรนด์ ซึ่งทุกแบรนด์ใช้เทคโนโลยี Photoplethysmography (PPG) ในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจเหมือนกัน โดยนำผลมาเทียบกับการวัดด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบมาตรฐาน เพื่อดูความคลาดเคลื่อนทั้งในขณะพักและขณะทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเทียบว่าสีผิวมีผลต่อความคลาดเคลื่อนหรือไม่

เมื่อเทียบความสามารถในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักของแต่ละแบรนด์ พบว่าแบรนด์ที่เป็น Consumer Grade มีความคลาดเคลื่อนจากค่าจริงราว 7.2 +/- 5.4 bpm (beats per minute) ในขณะที่แบรนด์ที่เป็น Research Grade กลับมีความคลาดเคลื่อนมากกว่าคือ 13.9 +/- 7.8 bpm โดยในกลุ่มแบรนด์ที่เรารู้จักกันดีในหมู่คนไทย พบว่า Apple มีความคลาดเคลื่อนน้อยสุด ตามมาด้วย Fitbit และ Garmin ที่ทำคะแนนได้สูสีกัน

ต่อมาที่อัตราการเต้นของหัวใจขณะมีกิจกรรมเคลื่อนไหว เช่น เดิน พิมพ์ดีด พบว่าทุกแบรนด์มีความแม่นยำลดลงเฉลี่ย 30% เมื่อเทียบกับการวัดในขณะพัก โดย Apple ยังคงทำคะแนนได้ดีสุด ตามมาด้วย Garmin ส่วน Xiaomi และ Fitbit ยังทำได้ไม่ดีเท่า ที่น่าสนใจคืออัตราการเต้นของหัวใจที่วัดได้ของทุกแบรนด์มีแนวโน้มมากกว่าค่าอัตราการเต้นของหัวใจจริง

ตัวแปรต่อมาคือสีผิว ซึ่งนักวิจัยตั้งสันนิษฐานว่าอาจมีผลต่อความคลาดเคลื่อน เพราะเทคโนโลยี Photoplethysmography อาศัยหลักการดูดซับแสงของเม็ดเลือดแดง ซึ่งแสงสีเขียวที่ฉายออกมาจากด้านหลังนาฬิกาต้องผ่านชั้นผิวหนังที่มีเม็ดสี แต่งานวิจัยชิ้นนี้กลับพบว่าสีผิวที่อ่อนหรือเข้ม ไม่มีผลมากนักต่อความคลาดเคลื่อนของค่าที่วัดได้

สรุปได้ว่า Smart Watch แบรนด์ดังต่างๆ มีความแม่นยำประมาณหนึ่งในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ โดยเฉพาะการวัดในขณะพักอยู่นิ่งๆ แต่การวัดในขณะออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวต่างๆ ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก โดยค่าที่วัดได้มีแนวโน้มที่จะมากกว่าค่าจริง ซึ่งผู้ที่สวมใส่ควรต้องทราบและระวังในจุดนี้

หมอเองเชื่อว่าความแม่นยำของ Smart Watch จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประกอบเข้ากับกลไกหรือ Algorithm ต่างๆ ที่จะส่งผลให้ข้อมูลถูกนำมาใช้ประโยชน์เชิงลึกมากขึ้น ในโลกอนาคต Smart Watch จะไม่เป็นเพียงแต่นาฬิกาที่บันทึกอัตราการเต้นของหัวใจหรือข้อมูลทางชีวภาพอื่นๆ แต่จะ Smart ไปถึงขั้นเป็นผู้ช่วยแพทย์ ตรวจพบความผิดปกติก่อนจะเกิดโรค รวมถึงติดตามอาการต่างๆ ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพื่อให้เกิดการรักษาที่ต่อเนื่องอย่างแท้จริง

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
ผู้เขียน
หมอที่ขี้เกียจเหมือนแมว ออกหนังสือมา 16 เล่ม เพราะอยากให้คนไทยสุขภาพดี
จะได้ไม่มีคนไข้ให้แมว..เอ้ยหมอตรวจ ^ IG : @thaidakarn