ตามรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการ (ระยองและชลบุรี)

ตามรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการ (ระยองและชลบุรี)

บทความโดย
ดร.ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย

เมื่อวันที่ 25 และ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) ลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการ ในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 8 จังหวัดชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 พื้นที่เขตตรวจราชการที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ เป็นผู้รับผิดชอบกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการ

พื้นที่เขตตรวจราชการ (ที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย ให้รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ)จังหวัดที่รับผิดชอบกำกับ และติดตามการปฏิบัติราชการ
2นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรปราการ
8ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
10บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบังลำภู และอุดรธานี

ในการเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ได้มีกำหนดการติดตามการปฏิบัติราชการ รวม 5 แห่ง ดังนี้ (1) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ศรีราชา ซึ่งอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Eastern Economic Corridor of Digital: EECd) (2) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) (3) โครงการการใช้หลักรุกขกรรมบำรุงรักษาต้นสนทะเลแนวชายหาดสวนสน ตำบลแกลง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง (4) โครงการคุ้มครอง เฝ้าระวัง บริหารจัดการขยะที่ตกค้างในทะเลอย่างเป็นระบบ (จุดที่ 3 หินกลางร่อง) ตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และ (5) บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) โดยใช้เวลาตรวจเยี่ยมเป็นระยะเวลา 2 วัน ซึ่งมีรายละเอียดความน่าสนใจแตกต่างกันไป ดังนี้

(1) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ศรีราชา อยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล(Eastern Economic Corridor of Digital: EECd)

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ศรีราชา อยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล(Eastern Economic Corridor of Digital: EECd) หรือ Digital Park Thailand ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางค้าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคเน้นให้เกิดการลงทุนธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ตลอดจนยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเดิมไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ (New S-Curve Digital Industry) อีกทั้งยังเป็นศูนย์สร้างธุรกิจดิจิทัลใหม่ๆ ที่เป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0

รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ได้รับฟังความคืบหน้าการดำเนินของการขับเคลื่อนจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT Instittute) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต จากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์) ซึ่งสถาบันไอโอทีดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรไอโอที แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนศูนย์ทดสอบนวัตกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะด้านไอโอที และระบบอัจฉริยะให้กับธุรกิจขนาดเล็ก และนักเรียนนักศึกษา

(2) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi)

(2) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่วังจันทร์วัลเลย์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่นวัตกรรมใหม่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนในพื้นที่ เพื่อช่วยยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ อันจะนำไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ได้รับฟังความพร้อมต่อการรองรับโลกแห่งอนาคต รวมถึงการสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคตของประเทศไทย โดยมีการรองรับด้วยสิทธิประโยชน์และข้อเสนอเพื่อสนับสนุนนักลงทุน อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย การอำนวยความสะดวกด้านสมาร์ทวีซ่าให้กับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติและครอบครัว เป็นพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณ 5G และการจัดระบบการจัดการพลังงานและของเสียที่นำสมัย โดยภายใน EECi ยังมีสถาบันศึกษาชั้นนำเพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ รองรับอุตสาหกรรม S-Curve ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัตสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อีกทั้งยังมี Reskill-Upskill Center ที่กำลังอยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับแผนกลยุทธ์กับพันธมิตรต่างๆ ซึ่งนับว่า EECi มีโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ โดยภายใน EECi ยังมีโรงงานที่มีการพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่สมัยใหม่ สนามทดสอบรถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ (CAV Proving Ground) สนามทดสอบโดรน (UAV Sandbox) เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน (Synchrotron) (ที่มีความสว่างกว่าแสงในเวลากลางวันมากกว่า 1 ล้านเท่า และปัจจุบันมีเพียงประมาณ 50 แห่งทั่วโลก) และศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center: IOC) ที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุมระบบทั้งหมดด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

(3) โครงการการใช้หลักรุกขกรรมบำรุงรักษาต้นสนทะเลแนวชายหาดสวนสน ตำบลแกลง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง

โครงการการใช้หลักรุกขกรรมบำรุงรักษาต้นสนทะเลแนวชายหาดสวนสน ตำบลแกลง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณที่อยู่ในกำกับของรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีวัตถุประสงค์สร้างความปลอดภัยต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ประกอบกิจกรรมในพื้นที่หาดสวนสน และให้เกิดการบำรุงรักษาต้นสนทะเลบริเวณแนวชายหาดสวนสนในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ ตามหลักวิชาการรุกขกรรม ระยะทาง 2,700 เมตร ด้วยวงเงินงบประมาณ 1,500,000 บาท เพื่อไปจ้างเหมาบำรุงรักษาต้นสนทะเลแนวชายหาดสวนสน (สำรวจ ประเมินสภาพ ตัดแต่งกิ่ง ศัลยกรรมโพรง ฟื้นฟูรากต้นไม้ที่มีสภาพทรุดโทรม ตัดต้นไม้ที่ตายแล้ว)

(4) โครงการคุ้มครอง เฝ้าระวัง บริหารจัดการขยะที่ตกค้างในทะเลอย่างเป็นระบบ (จุดที่ 3 หินกลางร่อง) ตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

โครงการคุ้มครอง เฝ้าระวัง บริหารจัดการขยะที่ตกค้างในทะเลอย่างเป็นระบบ (จุดที่ 3 หินกลางร่อง) ตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณที่อยู่ในกำกับของรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการปัญหาขยะตกค้างที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเล บริเวณปะการังธรรมชาติปะการังเทียม และที่จะส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก เพื่อคุ้มครองเฝ้าระวังการทำการประมงพาณิชย์ที่จะส่งต่อระบบนิเวศในแนวปะการังธรรมชาติและปะการังเทียม ด้วยวงเงินงบประมาณ 2,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนจัดกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะในแนวปะการังธรรมชาติและปะการังเทียมจังหวัดระยอง และกิจกรรมคุ้มครองเฝ้าระวังพื้นที่ทรัพยากรปะการังธรรมชาติ ปะการังเทียมและช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากจังหวัดระยอง

(5) บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG)

บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) เป็นบริษัทในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งให้บริการท่าเทียบเรือเพื่อรับหรือขนส่ง LNG[1] ที่ลูกค้า คือ ปตท. นำเข้ามาจากต่างประเทศ และขนถ่าย LNG จากเรือลงสู่ถังเก็บ แล้งจึงทำการเปลี่ยนสถานะ LNG ที่อยู่ในสภาพของเหลวให้กลับเป็นก๊าซจากนั้นจึงส่งก๊าซให้กับ ปตท. โดยส่งเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซ เพื่อส่งต่อให้กับลูกค้าต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า โรงงาน และ NGV โดยสถานีรับ-จ่าย LNG เปรียบเสมือนแหล่งก๊าซแหล่งหนึ่งที่จะส่งก๊าซเพิ่มเติมให้กับเครือข่ายของระบบท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ

จากการติดตามการลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการครั้งนี้ ทำให้ได้ทราบถึง ความก้าวหน้าของการพัฒนาพื้นที่ทั้งใน EECd และ EECi รวมถึงความร่วมมือกันของพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ทั้ง EECd และ EECi คือ พื้นที่แห่งอนาคต อันสะท้อนศักยภาพของประเทศ เพื่อให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้อย่างมหาศาล สร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจที่ดำเนินการด้านอุตสาหกรรมใหม่ และนำไปสู่การเตรียมพร้อมของประเทศไทยภายหลังผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 หรือ Covid-19 ได้อย่างแน่นอน

อีกทั้งการสนับสนุนงบประมาณที่อยู่ในกำกับของรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ  ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 เขตตรวจราชการ คือ เขตตรวจราชการที่ 2 (นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรปราการ) เขตตรวจราชการที่ 8 (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) เขตตรวจราชการที่ 10 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบังลำภู และอุดรธานี) ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 เขตตรวจราชการ (ณ วันที่ 29 มีนาคม 2564) ได้รับอนุมัติเงินไปแล้วรวม 68 โครงการ จำนวนเงินรวม 109,689,508 บาท คิดเป็นร้อยละ 78 ของวงเงินงบประมาณที่อยู่ในกำกับของรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ฯ (วงเงินงบประมาณทั้งหมด 140,000,000 บาท) โดยเม็ดเงินนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้ง 3 เขตตรวจราชการในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ท้ายสุดคือการรับทราบการเตรียมพร้อมด้านพลังงานเพื่อรองรับแผนการจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าและเสริมสร้างความมั่นคงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว ซึ่งนับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทยในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืนต่อไป


[1] LNG คือ องค์ประกอบส่วนใหญ่ของก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas) เป็นก๊าซมีเทนหลังจากการแปรสถานะเป็นของเหลวแล้ว ซึ่งกระบวนการเริ่มจากการแยกสิ่งปลอมปนและองค์ประกอบต่างๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ปรอท และกำมะถัน จากนั้นจึงทำการลดอุณหภูมิลงมาที่ -160 องศาเซลเซียส เพื่อแปรสภาพจากก๊าซเป็นของเหลวที่ความดันบรรยากาศ ทำให้มีปริมาตรลดลงประมาณ 600 เท่าของสถานะก๊าซ ซึ่งสะดวกต่อการขนส่งทางเรือ หลังจากนั้นก๊าซที่อยู่ในสถานะของเหลวจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้กลับสู่สถานะก๊าซเช่นเดิม ก่อนส่งไปยังระบบท่อส่งก๊าซต่อไป การแยกสิ่งปลอมปนต่างๆ ออกก่อนการแปรสถานะจนเหลือก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลัก ทำให้ LNG เป็นก๊าซที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่มีพิษ ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน และเป็นก๊าซที่มีคุณภาพสะอาดมาก