การขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

บทความโดย
นายธณัฐ พวงนวม
นางสาวกันตา ศุขสาตร
นายกานต์ แจ้งชัดใจ

1. บทนำ

ปัจจุบันความสําคัญของความยั่งยืน (Sustainability) เป็นที่ตระหนักและรับรู้มากยิ่งขึ้นในภาคธุรกิจทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเด็นความยั่งยืนกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของ การพัฒนาองค์กรที่เริ่มต้นจากแนวคิดด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ซึ่งเป็นพื้นฐานสําคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและการมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จนกระทั่ง มีการต่อยอดสู่การกําหนดวิธีการและแนวทางในการดําเนินการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นภายใต้มาตรฐานด้าน ESG โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกํากับดูแลที่มุ่งเน้นเรื่องความโปร่งใส และการสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ แต่ยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในตลาด ผู้บริโภค และนักลงทุนอีกด้วย

นอกจากนี้ การบูรณาการนโยบายการคลังที่เอื้อต่อการพัฒนาและการเตรียมความพร้อมของทุกฝ่าย นับเป็นสิ่งสําคัญที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถขับเคลื่อนกลยุทธ์ความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับ การเปิดเผยข้อมูลธุรกิจที่โปร่งใสและการดําเนินงานที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจะสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจ หมุนเวียนและส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หรือช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพในการดําเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสําหรับสังคมและสิ่งแวดล้อม และทําให้ ธุรกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย

บทความฉบับนี้ จะพาผู้อ่านทุกท่านไปเรียนรู้กับการถอดบทเรียนจากการดําเนินการ ESG ในประเทศไทย โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานการลงทุน และการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเข้าร่วมการประเมินหุ้นยั่งยืน ซึ่งนอกจากเป็นการตอบสนองต่อกระแสโลกแล้ว ยังช่วยให้บริษัทในประเทศไทยสามารถเตรียมพร้อมในการรับมือ กับความท้าทายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการนี้ กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สํานักงานเศรษฐกิจการคลังร่วมกับวารสารการเงินการคลังได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก ดร.ศรพล  ตุลยะเสถียร (ดร.ศรพลฯ) รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ (ดร.สวนิตย์ฯ) คณะทํางาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานกลยุทธ์และบริหารความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) มาแบ่งปันเรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านรายการ “Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ประจําเดือนกันยายน 2567 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

2.ภาพรวมการดําเนินการด้าน ESG ของตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทย


ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร
รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์
หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน
และหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร

2.1 ความสําคัญของความยั่งยืน (ESG)

ดร.ศรพลฯ ได้เล่าถึงหนึ่งในแนวคิดที่เป็นกระแสสําคัญในระดับโลกที่เกี่ยวกับการดําเนินและพัฒนาองค์กร ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนคือ ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลายประเทศได้มีการนํามาตรฐานด้านความยั่งยืนต่าง ๆ เข้ามา จัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศใหม่ ซึ่งในมุมหนึ่งอาจถือเป็นการกีดกันการทางการค้าโดยอาจส่งผลกระทบต่อ ผู้ประกอบการในการสร้างความสามารถทางการแข่งขันทางการค้า แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการยกระดับ มาตรฐานสากลของภาคการค้าในการอยู่ร่วมกันระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น มาตรการ CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism ซึ่งเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป เพื่อปกป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) อันเป็นมาตรการที่ทางสหภาพยุโรป ได้กําหนด่าธรรมเนียมราคาสินค้านําเข้าในบางอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนไม่ได้มาตรฐาน โดยสหภาพ ยุโรปได้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 นอกจากนี้ สําหรับด้านการลงทุนในตลาดตราสารหนี้พบว่า มีจํานวนเงินลงทุนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในตลาดตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับ SCG ซึ่งประเทศไทยในหลายหน่วยงานโดยเฉพาะ กระทรวงการคลังได้มีการสนับสนุนและผลักดันในเรื่องดังกล่าว จึงทําให้ประเทศไทยนับเป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคที่ออกตราสารหนี้ Green Bond หรือ Sustainable Bond โดยจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับ SCG ค่อนข้างมาก ในขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการจัดทําประเมินหุ้นยั่งยืนเช่นกัน  โดยใช้ระบบ  SET ESG Rating  คือการประเมินผลการดําเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการพิจารณาจากการตอบแบบสอบถามการดําเนินงาน ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของบริษัทในการตัดสินใจต่อการลงทุนควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูล ทางการเงินของบริษัท โดยจะเป็นการให้คะแนน 4 ระดับ (คล้ายกับการประเมิน Investment Grade แต่เป็นเรื่อง ความยั่งยืนแทน) โดยเริ่มตั้งแต่ BBB A AA และสูงที่สุดคือ AAA ซึ่งผลการประเมินหุ้นยั่งยืนจะเป็นประโยชน์ แก่นักลงทุนในการนําไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ การประเมินมูลค่าหุ้น การให้คําแนะนําในการลงทุน และการพิจารณาเพื่อตัดสินใจในการลงทุนเพิ่มเติม

อีกทั้ง หลายประเทศในตลาดหลักทรัพย์โลกยังได้มีการปรับปรุงมาตรฐานใหม่สําหรับการรายงานผล การประเมินหุ้นยั่งยืน โดยจะเห็นได้จากในการประชุมเวทีระดับนานาชาติ IOSCO Annual Meeting ประจําปี พ.ศ. 2566 ณ กรุงเทพมหานคร ที่สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เป็น เจ้าภาพในการจัดงาน ซึ่งได้มีการพูดถึงมาตรฐานที่เรียกว่า IFRS S1 และ IFRS S2 ที่ปัจจุบันได้มีการเริ่มนํา ไปใช้บ้างแล้วในต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวนั้นจะสะท้อนความแตกต่างของการรายงาน ด้านบัญชี โดย IFRS S1 จะเป็นการรายงานด้านบัญชีที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนโดยรวม ในขณะที่ IFRS S2 จะเจาะลึกในเรื่องของคาร์บอน ทั้งนี้ เชื่อว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อออกมาตรฐานใหม่ ๆ เพิ่มเติมตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป อาทิ ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) หรือการตรวจสอบ และประเมินสถานะขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence: HRDD) โดยมีสิ่งสําคัญคือ การจัดทําตัวชี้วัดและประเมินผลในแต่ละประเด็นให้ได้มาตรฐานต้องเป็นอย่างไร รวมทั้งผู้ประกอบการ มีการตระหนักและให้ความสําคัญกับประเด็นเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

2.2 ความพร้อมของประเทศไทยในการพัฒนาด้านความยั่งยืน

ดร.ศรพลฯ อธิบายว่า ในระดับประเทศนั้นได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่อง ESG แล้วพอสมควร โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการให้สัญญา (Commit) และกําหนดเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 อย่างไรก็ตาม ในระดับจุลภาคอาจมีผู้ประกอบการที่มีความพร้อมยังไม่มากนัก โดยจะเห็นได้จากบริษัทที่มีความพร้อม ในตลาดทุน ซึ่งมักจะเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่และมีทรัพยากรเพียงพอ หรือหากเป็นบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็กก็จะเป็นบริษัทที่มีเจ้าของหรือผู้นําที่มีความมุ่งมั่น (Passion) ในการขับเคลื่อนบริษัทเป็นอย่างสูง ตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ ปัจจุบันมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่เปิดเผยข้อมูลคาร์บอนของตนเองเกือบ 900 บริษัท ซึ่งทาง ก.ล.ต. มีความประสงค์ให้บริษัทที่จดทะเบียนต้องทําการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนในรายงานประจําปีของบริษัท (One Report) เพื่อนําส่งต่อให้ ก.ล.ต. โดยบริษัทต้องระบุปริมาณคาร์บอนที่บริษัทได้ปล่อยออกมา และระบุผู้ที่ทําการตรวจสอบข้อมูลของบริษัท เนื่องจากทาง ก.ล.ต. ต้องการให้มีพยานหรือบุคคลที่สามมาช่วย ยืนยันในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของบริษัทด้วย ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนของบริษัทในรายงานประจําปี ยังเป็นเพียงความประสงค์หรือเงื่อนไข (Requirement) ของทาง ก.ล.ต. ซึ่งไม่ใช่การบังคับใช้ทั้งหมด จึงมีบริษัท ที่ทําการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนของตนเองเพียงครึ่งเดียวหรือประมาณ  400 กว่าบริษัท และเป็นบริษัทที่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลคาร์บอนแล้วไม่ถึง 200 บริษัทโดยประมาณ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมหรืออาจจะ ยังไม่ตระหนักถึงความเร่งด่วนและความสําคัญของการที่ทั่วโลกกําลังจะก้าวเข้าสู่เรื่องความยั่งยืน

ดังนั้น บทบาทหนึ่งที่สําคัญของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคธุรกิจ คือ การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่บริษัทต่าง ๆ ผ่านการจัดงานสัมมนา การทํา Work Shop การเข้าไปพบ เพื่อพูดคุยหารือกับคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหารของบริษัทต่าง ๆ โดยตรง โดยการที่เจ้าหน้าที่ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พบกับผู้บริหารสูงสุดอย่าง CEO หรือ CFO ของบริษัทจะเป็นการกระตุ้น และสะท้อนถึงความจําเป็นเร่งด่วนที่บริษัทควรหันมาให้ความสําคัญกับประเด็นความยั่งยืน โดยทาง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้มีการชักชวนให้บริษัทเข้ามารับการประเมินหุ้นยั่งยืน ซึ่งจากบริษัท ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยทั้งหมดเกือบ 900 บริษัท มีบริษัทที่สมัครใจเข้ามาขอรับการประเมินเพียงกว่า 200 บริษัทเล็กน้อย และมีบริษัทที่ผ่านการประเมินในปี พ.ศ. 2566 หรือเป็น Investible List ที่คนให้ความสนใจ จํานวน 192 บริษัท หรือคือประมาณ 1 ใน 4 ของจํานวนบริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งหมด และที่น่าแปลกใจไปกว่านั้น ใน 100 อันดับบริษัทต้นของ SET100 ที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ของไทยกลับพบว่า มีถึง 35 บริษัทที่ไม่ได้สมัครใจเข้ามาขอรับการประเมิน ดังนั้น การทําให้การประเมินหุ้นยั่งยืนเป็นที่แพร่หลายนั้น จําเป็นต้องอาศัยการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการ และต้องทําให้กระบวนการต่าง ๆ มีความง่าย หรือไม่ซับซ้อนมากจนเกินไป

2.3แนวทางการผลักดันและสร้างแรงจูงใจให้มีจํานวนบริษัทเข้าร่วมการประเมินหุ้นยั่งยืนเพิ่มขึ้น

ดร.ศรพลฯ กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการ Thai ESG Fund ซึ่งเป็นการให้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนที่ลงทุน  ในหุ้น Thai ESG ที่ผ่านการประเมินหุ้นยั่งยืนแล้ว (Investible List) ในจํานวนทั้งหมด 192 บริษัท หรือไปลงทุน ในบริษัทที่มีการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนที่ได้รับการตรวจสอบแล้วและมีการตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซ  คาร์บอน โดยผลจากการดําเนินมาตรการ Thai ESG Fund ของกระทรวงการคลัง ทําให้มีจํานวนบริษัทที่ยินยอม เปิดเผยข้อมูลคาร์บอนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 จากเดิมที่มีบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลคาร์บอนจํานวนประมาณ 300 บริษัท ได้เพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 400 บริษัท จะเห็นได้ว่านโยบายของรัฐบาล (Public Policy) ส่งผลกระทบต่อ พฤติกรรม การปรับตัว และการตัดสินใจของบริษัทอย่างเห็นได้ชัด และในปี พ.ศ. 2567 นี้ มีบริษัท ที่สมัครใจขอเข้ารับการประเมินหุ้นยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ 300 บริษัท อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไป ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีแผนจะร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange Group) โดย FTSE Russell ผู้ประเมิน ESG ระดับโลก ให้เข้ามาช่วยยกระดับการประเมินความยั่งยืน SET ESG Ratings โดยมีระยะเวลาการดําเนินงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ประมาณ 2 ปี รวมถึงจะเปลี่ยนวิธีการ ประเมินจากเดิมที่ให้บริษัทสมัครใจเข้ามาและเป็น Survey Based จะเปลี่ยนเป็นการใช้ข้อมูลที่ทาง FTSE Russell สามารถค้นหาได้ตามสื่อสาธารณะ อาทิ ในรายงานประจําปีใน One Report ของ ก.ล.ต. บนเว็บไซต์ ของหน่วยงานกํากับดูแล หรือในข่าวต่าง ๆ ที่เป็นเชิงประจักษ์ ซึ่งจะช่วยให้มีจํานวนบริษัทที่เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น โดย ดร.ศรพลฯ ตั้งเป้าไว้ว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้าจะทําให้มีบริษัทที่เป็น Investible List เพิ่มขึ้นจากจํานวน 192 บริษัทในปัจจุบัน มาเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของตลาดทั้งหมด หรือคือประมาณ 400 บริษัท อีกทั้ง บริษัทจะไม่ต้อง เสียเวลาและใช้แรงงานในการตอบแบบสอบถาม เนื่องจากที่ผ่านมามีบางบริษัทที่เคยได้รับเครดิตแต่ในปีถัดมา กลับไม่ได้เข้ามาขอรับการประเมินจัดอันดับ เพียงเพราะบริษัทขาดแคลนพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะมาช่วยกรอก ข้อมูลหรือตอบแบบสอบถาม รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้ข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่บนสื่อสาธารณะที่หลายฝ่าย สามารถตรวจสอบได้จะช่วยสร้างความโปร่งใสและมีเชื่อถือมากกว่าการใช้ข้อมูลจากการตอบแบบสอบถาม ซึ่งมีผู้รับรู้ข้อมูลเพียงผู้ตอบแบบสอบถามและผู้ประเมินเท่านั้น นอกจากนี้ ผลจากการดําเนินการของกระทรวงการคลัง ยังช่วยให้ Thai ESG fund สามารถขยายตัวได้จากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุน ในกองทุนดังกล่าวจาก 100,000 บาท เป็น 300,000 บาท ประกอบกับกระทรวงการคลังยังได้ประกาศขาย “กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” รอบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG ปรับตัวดีขึ้นด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น นอกเหนือจากการให้แรงจูงใจและสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ประกอบการแล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังได้พัฒนาระบบ SET Carbon เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยอํานวยความสะดวก ให้บริษัทสามารถจัดการ จัดเก็บ และคํานวณรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตแต่ละหน่วยได้ โดยทั่วไปแล้วการคํานวณ Carbon Footprint มีต้นทุน ที่สูงมาก เนื่องจากต้องอาศัยการวางระบบการจัดเก็บข้อมูลที่เหมือนกับระบบบัญชี และต้องนําข้อมูล มาคํานวณหาปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา โดยหากต้องการคํานวณ Carbon Footprint เป็นรายสินค้า บริษัท จะต้องทําการ Cut Grade ลงไปเป็นรายสินค้าด้วย และที่สําคัญบริษัทจําเป็นต้องให้มีบุคคลสามเข้ามาตรวจสอบ ดังนั้น ในปีนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้จัดทําเครื่องคํานวณ Carbon เพื่อช่วยลดภาระของบริษัท ในการคํานวณ Carbon Footprint และส่งมอบให้บริษัทนําร่องนําไปทดลองใช้งาน โดยปัจจุบันมีบริษัทนําร่องอยู่ 20 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ใน 8 อุตสาหกรรมของตลาดหลักทรัพย์ และในปีหน้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีแผนที่จะเปิดให้บริษัทที่จดทะเบียนมาร่วมทดสอบด้วย ซึ่งขณะนี้กําลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องการลงทุน ในเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มเติม

3. การนํากลยุทธ์ด้านความยั่งยืนไปพัฒนาธุรกิจ


ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์
คณะทํางาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานกลยุทธ์และบริหารความยั่งยืนองค์กร
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน)

3.1 บทบาทของสภาอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อน ESG สู่การปฏิบัติ

สําหรับบทบาทของสภาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการขับเคลื่อน ESG สู่การปฏิบัติจริงนั้น ดร.สวนิตย์ฯ กล่าวไว้ว่า ในปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมได้มีการดําเนินการขับเคลื่อน ESG ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ผ่านการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงในภาคอุตสาหกรรมเก่า หรือที่เรียกว่า “First Industry” โดยที่ผ่านมา ได้มีการดําเนินการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษน้อย สําหรับอุตสาหกรรมใหม่ หรือ “New S Curve Industry” ก็ได้มีการขับเคลื่อนด้าน ESG ผ่านการคํานึงถึงเรื่อง Climate Change ด้วยการนํา BCG Model เข้ามาประยุกต์ใช้ ประกอบกับในปัจจุบันทางสภาอุตสาหกรรมได้ให้ความสําคัญเกี่ยวกับ Next Generation Industry ซึ่งมีผู้ประกอบการ มากกว่า 16,000 รายที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโดยมีทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ รวมทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

3.2การส่งเสริมแนวคิด ESG ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร

ดร.สวนิตย์ฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมในส่วนของการส่งเสริมแนวคิด ESG เพื่อช่วยส่งเสริมการเติบโต ทางเศรษฐกิจว่า ในยุคที่เศรษฐกิจโลกกําลังมุ่งสู่ความยั่งยืน แนวคิด Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ได้รับการสนับสนุนอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่านการใช้ ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดของเสีย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

            (1)  การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชีวมวลและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Industry)นําทรัพยากรชีวมวลมาผลิตเป็นสารเคมีชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ และผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติ ซึ่งกําลัง เติบโตอย่างต่อเนื่อง  ยกตัวอย่างเช่น  การพัฒนาไบโอพลาสติกที่ช่วยลดการพึ่งพาพลาสติกจากปิโตรเคมีโดยอุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าในอนาคต สร้างโอกาสทางธุรกิจ ใหม่ ๆ และส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

            (2) การจัดการขยะและหมุนเวียนทรัพยากร ในด้าน Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนสภาอุตสาหกรรมได้จัดตั้ง Circular Material Hub ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมและเชื่อมโยงทรัพยากรหมุนเวียน ที่สามารถนํากลับมาใช้ได้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยการรีไซเคิลและนําวัสดุกลับมาใช้ใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การนําพลาสติกเหลือใช้จากหนึ่งบริษัทไปเป็นวัตถุดิบให้กับบริษัทอื่นๆ อีกทั้ง ยังมีโครงการความร่วมมือระดับโลก เช่น “Alliance to End Plastic Waste” ที่เกิดจากการร่วมมือของแบรนด์ ชั้นนําอย่างยูนิลีเวอร์ โคคาโคล่า และเอสซีจีในการส่งเสริมโครงการรีไซเคิลและจัดการขยะพลาสติกในชุมชนคลองเตย

            (3) การเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปวัสดุใช้แล้ว ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติกตกทะเลสูง ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและภาพลักษณ์ของประเทศ การส่งเสริมการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นสินค้า แฟชั่น เช่น เสื้อผ้าที่ผลิตจากขวดพลาสติก เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและช่วยสร้างความตระหนักในสังคม โดยมีแบรนด์แอมบาสเดอร์ชื่อดังมาเข้าร่วมรณรงค์ ทําให้สินค้าเหล่านี้ได้รับความนิยมและกระตุ้นให้สังคม หันมาสนใจการรีไซเคิลมากขึ้น

            (4) มาตรฐานการใช้ขวดนํ้าพลาสติกในประเทศไทย จากปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยที่สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก สภาอุตสาหกรรมได้ทํางานร่วมกับสํานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ผลักดัน การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการใช้ขวดน้ำพลาสติก จากขวดสีเป็นขวดใส ซึ่งรีไซเคิลได้ง่ายกว่า ส่งผลให้การจัดการ ขยะพลาสติกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุรีไซเคิลในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

            (5) การลดคาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในด้าน Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว ประเทศไทยมีความพยายามลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริม ให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ แนวคิด BCG เป็นตัวอย่างของการร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐที่ทํางานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานใหม่ในการใช้ทรัพยากร และบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าในฐานะประเทศที่มีการพัฒนา อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3.3 ภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุน ESG อย่างไร

สําหรับการขับเคลื่อนแนวคิด ESG นั้น ดร.สวนิตย์ฯ มีเล่าว่า ภาครัฐควรมีบทบาทสําคัญ ในการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ที่ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปสหราชอาณาจักร รวมถึงสหประชาชาติต่างก็ได้กําหนดแนวทางและมาตรการด้าน ESG เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน อย่างจริงจังโดยในประเทศไทยอาจมีการสนับสนุน ESG ผ่านหลายกลไกสําคัญ ได้แก่

            (1) มาตรการทางภาษี โดยการลดภาษีสําหรับธุรกิจที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG ซึ่งจะเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการหันกลับมาดําเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และปัจจุบัน กรมสรรพสามิตกําลังอยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับมาตรการภาษีที่เหมาะสมสําหรับธุรกิจสีเขียว

            (2) การส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI ผ่านนโยบายการลงทุนของ BOI (Board of Investment) โดยอาจควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับกิจการที่มีมาตรการ ESG โดยมุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อลด Carbon Footprint ในภาคอุตสาหกรรม

            (3) การสนับสนุนทางการเงิน ผ่านการจัดหาแหล่งทุนหรือสิทธิประโยชน์ทางการเงินจากความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย รวมถึงการสนับสนุน จากกระทรวงการคลัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อดําเนินโครงการสีเขียว รวมทั้งช่วยลดปัญหาค่าใช้จ่ายสูงในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับ ESG

            (4) การพัฒนากรอบการเปิดเผยข้อมูล ESG ซึ่งปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้ริเริ่ม “Thailand Taxonomy” ซึ่งเป็นกรอบที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ตามมาตรฐานสากล โดยการพัฒนา กรอบมาตรฐานนี้ยังครอบคลุมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้านความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้กับการลงทุนสีเขียวในประเทศไทย

            (5) กลไกการซื้อขายคาร์บอน โดยตลาดคาร์บอนเป็นกลไกสําคัญที่สามารถช่วยให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าปัจจุบันสหภาพยุโรปยังไม่ยอมรับกลไกคาร์บอนของไทย ในมาตรฐานสากล แต่การพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศไทยยังคงมีความสําคัญ โดยต้องมีการสร้างความเข้าใจ และปรับปรุงกลไกนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยสามารถขยายตลาดและสร้างมาตรฐานระดับโลกที่ได้รับการยอมรับ

นอกจากนี้ การพัฒนา ESG ยังต้องการการเปลี่ยนผ่านที่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะ ด้านอนาคต (Future Skills) เพื่อให้ผู้ประกอบการและบุคลากรมีความพร้อมในการปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินอย่างทั่วถึง สภาอุตสาหกรรมจึงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการให้บริการ คําปรึกษาและสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนา ESG ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับ ความเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้นจากการสนับสนุน ESG และนําพาประเทศไทยเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างมั่นคง

3.4ปัจจัยที่นําไปสู่ความสําเร็จในฐานะ ESG Company

ดร.สวนิตย์ฯ สรุปว่า ปัจจัยที่นําไปสู่ความสําเร็จในฐานะ ESG Company ได้แก่

            1) Integration – Collaboration – Alliance ภาคเอกชนมีการทํางานร่วมกันในระดับสากล ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค เนื่องการปรับปรุงธุรกิจเป็นสีเขียวจึงจําเป็นต้องไปทั้งระบบ Ecosystem ซึ่งรวม MSMEs SMEs การได้รับการส่งเสริม สนับสนุน จากภาครัฐจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ในเวทีโลก

            2) Inclusive Growth: Catalytic Financing การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใคร ไว้ข้างหลัง ต้นทุนทางการเงิน เทคโนโลยี การลงทุน การสร้างผลิตภัณฑ์ ตลาดใหม่ สร้างทักษะ ผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม

            3) Impact on Global Supply Chain ภาคเอกชนไทยมีทางไปที่ยั่งยืนทางเดียว ESG การเติบโตแบบยั่งยืน หมายรวมถึงโซ่อุปทานทั้งหมด กลไกตลาดในอนาคต แรงกดดันด้าน ESG จะมีบทบาทสูง เกมเดียวกัน และความรู้เท่าทันเหตุการณ์

            4) Improve Communication & Engagement การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว  มีข้อมูลเชิงเทคนิคมาก การสื่อสารฉบับประชาชน การเข้าถึงข้อมูลของ MSMEs SMEs การประยุกต์ใช้เครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. บทสรุป

การนําแนวคิดความยั่งยืน (Sustainability) มาใช้ในภาคธุรกิจของประเทศไทย โดยมีการพัฒนาจาก CSR สู่การใช้มาตรฐาน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล) ซึ่งช่วยสร้างความโปร่งใสและส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีการประเมินหุ้นยั่งยืนเพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ และมีการริเริ่มมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เช่น IFRS S1 และ S2 เพื่อพัฒนาแนวทางการรายงานที่ชัดเจน และโปร่งใส โดยประเทศไทยมีการผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero โดยในภาค ธุรกิจขนาดใหญ่มีการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนมากขึ้น  การเตรียมความพร้อมในด้านนี้รวมถึงการให้แรงจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษีสําหรับการลงทุนในหุ้น ESG และการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง

อีกทั้ง บทบาทของสภาอุตสาหกรรมยังเน้นที่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวด้วยการใช้ โมเดล BCG (Bio-Circular-Green) ซึ่งเป็นแนวทางเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดของเสีย และเพิ่มมูลค่า โดยมีการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวในหลายด้าน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชีวภาพและการรีไซเคิลขยะพลาสติก นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีบทบาทสําคัญในการสนับสนุน ESG ผ่านมาตรการภาษี การส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว การพัฒนาตลาดคาร์บอน และการสนับสนุน ทางการเงินจากองค์กรระหว่างประเทศ

สุดท้ายนี้ทางคณะผู้เขียนขอขอบคุณ ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อํานวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ดร.พงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ดร. นรพัชร์ อัศววัลลภ บรรณาธิการ วารสารการเงินการคลัง และนายชัยวัฒน์ หาญพิทักษ์พงศ์ ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ เกี่ยวกับ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคสําหรับ “รายการ Local Reach เอื้อมลึก ถึงภูมิภาค” ตลอดมา

นายธณัฐ พวงนวม
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวกันตา ศุขสาตร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายกานต์ แจ้งชัดใจ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน