บทความโดย[1]
นายศศิน พริ้งพงษ์
[1] บทความนี้เป็นความเห็นเชิงวิชาการ ไม่อาจสะท้อนความคิดเห็นของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
1. บทนำ
ไม่มีอะไรแน่นอนมากกว่าความตายกับการเสียภาษี
มีวลีที่โด่งดังกล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรแน่นอนมากกว่าความตายกับการเสียภาษี” แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเสียภาษีก็ยังมีความไม่แน่นอน กล่าวคือ ยังมีการหลีกเลี่ยงและหลบหนีการจ่ายภาษีอยู่ในแทบทุกแห่งบนโลก ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นที่ภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีนั้นให้ความสำคัญ เนื่องจากสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบทางลบต่อระบบสวัสดิการสังคม ทำให้ภาครัฐขาดรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไป นอกจากนี้ อาจส่งผลให้รัฐบาลยังจำเป็นจะต้องหารายได้จากแหล่งอื่นมาใช้เพิ่มเติม เช่น การกู้เงินจากต่างประเทศที่มีภาระผูกพันและความเสี่ยงในระยะยาว เป็นต้น
การหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) คือ การที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีลดลง โดยการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายภาษีอากร (Tax Loophole) หรือจากการวางแผนภาษี (Tax Planning) เพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีลดลง ในขณะที่ การหนีภาษี (Tax Evasion) คือ การที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายที่ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีลดลง และมีความเสี่ยงที่จะต้องได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย บทความนี้จะกล่าวถึงงานศึกษาเชิงวิชาการที่ได้รวบรวมแนวคิดทางทฤษฎี ผลการศึกษาเชิงประจักษ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยและคุณลักษณะที่อาจส่งผลต่อการเลือกที่จะชำระหรือเลี่ยงและหนีภาษีมากขึ้น โดยจะกล่าวถึงภาษีที่เป็นภาษีทางตรงในรูปแบบของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นหลัก
2. ทฤษฎี Economic-of-crime on Tax Compliance
แบบจำลองทฤษฎีพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจที่จะชำระหรือหลีกเลี่ยงภาษีนั้นเริ่มต้นมาจากงานของ Allingham and Sandmo (1972) ซึ่งเป็นการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์รูปแบบของทฤษฎีอรรถประโยชน์คาดหวัง (Expected utility theory) ที่คิดค้นโดย Von Neuman and Morgenstern (1947) นำมาใช้วิเคราะห์ โดยแนวคิดของแบบจำลอง Economic-of-crime model of tax compliance กำหนดแค่เพียงว่าบุคคลจะจ่ายภาษีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความกลัวที่จะโดนจับได้แล้วต้องได้รับบทลงโทษ ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องการเพิ่มอรรถประโยชน์ให้มากที่สุดจากการเสี่ยงโชคในการหนีภาษีจากการชั่งน้ำหนักระหว่างอรรถประโยชน์จากผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากหลีกเลี่ยงภาษีโดยการรายงานรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง (Underreporting) ได้สำเร็จ และอรรถประโยชน์ผลเสียจากการโดนลงโทษหากโดนตรวจสอบและต้องจ่ายค่าปรับ ตามสมการ ดังนี้
EU(I) = p.U{I – t.R – f [t. (I – R)]} + (1 – p).U(I – t.R)
อรรถประโยชน์จากกรณีที่โดนตรวจสอบ: p.U{I – t.R – f [t. (I – R)]}
อรรถประโยชน์จากกรณีที่ไม่โดนตรวจสอบ: (1 – p).U(I – t.R)
โดยกำหนดให้
I รายได้ (Income)
EU(I) อรรถประโยชน์ที่คาดหวังจากการสร้างรายได้ I
p ความเป็นไปได้ที่จะโดนตรวจสอบการรายงานภาษี (Probability value)
t อัตราภาษีที่เก็บจากเงินที่รายงานภาษี (Tax rate)
R การรายงานเงินได้ที่ต้องภาษี (Reported tax income)
f อัตราค่าปรับจากส่วนต่างของเงินได้ที่ไม่ได้รายงาน (Fines)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากสมการดังกล่าว หากตัวแปร ความเป็นไปได้ที่จะโดนตรวจสอบการรายงานภาษีไม่ครบถ้วน p และอัตราค่าปรับจากส่วนต่างของเงินได้ที่ไม่ได้รายงาน f ปรับตัวเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะมีการรายงานเงินได้ที่เข้าระบบต้องภาษีมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แนวคิดของแบบจำลองดังกล่าวนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานของ Neoclassical economic ว่ามนุษย์ทุกคนมีความเหมือนกัน (Representative agent) มีเหตุมีผล (Rationality) เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก (Purely self-interest) และได้รับอรรถประโยชน์จากการเงินเพียงอย่างเดียว (Utility maximization based on financial consideration) ซึ่งแบบจำลองดังกล่าวถูกวิจารณ์ในเชิงข้อจำกัดในการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริงค่อนข้างมาก
ต่อมาก็ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมที่เข้ามาพัฒนาข้อจำกัดดังกล่าวเพื่อให้งานศึกษาสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น โดยจากการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์เชิงพฤษติกรรม (Behavioral economics) พบว่ามนุษย์ไม่ได้มีความเหมือนกัน ไม่ได้มีความเป็นเหตุเป็นผลเสมอ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล นอกจากนี้ มนุษย์ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและสนใจแต่เรื่องการเงินเสมอไป แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆที่นำมาพิจารณาในการตัดสินใจในการจ่ายภาษีด้วย อาทิ ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ความเห็นอกเห็นใจ ความเชื่อใจ บริบททางสังคม และอื่นๆ ซึ่งนำมาสู่ผลการศึกษาในรูปแบบของงานวิจัยเชิงประจักษ์มากขึ้น โดยแบ่งออกเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเงิน (Financial consideration) และไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน (Non-financial consideration) ดังนี้
3. ปัจจัยด้านที่เกี่ยวข้องกับการเงิน (Financial consideration factors)
เมื่อยามที่ต้องพิจารณาการชำระภาษี ปัจจัยด้านที่เกี่ยวข้องกับการเงินย่อมเป็นข้อพิจารณาลำดับต้นๆที่คำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นอัตราภาษีที่คิดเป็นสัดส่วนของรายได้ หรือบทลงโทษค่าปรับในกรณีที่พบว่ามีการชำระภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งนี้ การศึกษาของ Alm (2018) พบว่าแต่ละปัจจัยที่กล่าวมามีผลต่อแนวโน้มของการที่ผู้เสียภาษีจะชำระภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือตัดสินใจหลบเลี่ยงภาษีมีดังนี้
3.1 อัตราภาษี
งานศึกษาเชิงประจักษ์ของ Alm, McClelland & Schulze (1999) และ Alm, Cherry, Jones & McKee (2010) ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราภาษีและแนวโน้มการจ่ายภาษี ส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าการที่อัตราภาษีปรับเพิ่มขึ้น มักส่งผลให้ผู้เสียภาษีมีการรายงานรายได้ที่ต้องภาษีลดลง นอกจากนี้ ความไม่เท่าเทียมกันทางการคลัง (Fiscal inequity) นั้นก็ส่งผลต่อการตัดสินใจการชำระภาษี กล่าวคือ หากผู้เสียภาษีคนหนึ่งพบว่าตัวเองต้องอากรรายได้ในอัตราที่สูงกว่าผู้เสียภาษีอีกบุคคลหนึ่ง ก็จะมีแนวโน้มที่รายงานรายได้ต้องภาษีลดลง หรือมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาษีมากขึ้นด้วย เช่นกัน
3.2 อัตราค่าปรับ
ผลการศึกษาของ Beck, Davis & Jung (1991) พบว่าอัตราค่าปรับในรูปของเม็ดเงินที่เพิ่มมากขึ้นนั้นส่งผลให้ผู้เสียภาษีมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาษีลดลง นอกจากนี้ บทลงโทษที่ไม่ได้เป็นรูปแบบเม็ดเงิน อาทิ การถูกลงโทษจากแรงกดดันทางสังคมที่หนักหน่วงที่เพิ่มมากขึ้น ก็เป็นอีกตัวขับเคลื่อนนึงที่ส่งผลให้ผู้เสียภาษีมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาษีลดลง
4. ปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน (Non-financial consideration factors)
ผลการศึกษาในแขนงของเศรษฐศาสตร์เชิงพฤษติกรรมพบว่าปัจจัยที่กำหนดการตัดสินใจในการชำระภาษีนั้นมีความซับซ้อนและหลากหลายมิติมากกว่าเพียงแค่การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องด้านการเงินเพียงอย่างเดียว โดยปัจจัยสำคัญที่อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะชำระหรือเลี่ยงภาษีมีดังนี้
4.1 ผลตอบแทนของการจ่ายภาษี
ในระดับบุคคล การมีรางวัลหรือผลตอบแทน อาทิ การมีสวัสดิการของภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้เสียภาษีที่มีการชำระภาษีอย่างถูกต้องและเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นสามารถจูงใจให้ผู้เสียภาษีมีการชำระภาษีอย่างครบถ้วนมากขึ้น นอกจากนี้ ในระดับกลุ่มบุคคล หรือระดับมหภาค การที่รัฐบาลมีการให้สวัสดิการและสินค้าสาธารณะในระดับสูงมากพอที่ทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนให้ผู้เสียภาษีในประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีลดน้อยลง
4.2 บริบทของสังคม
บริบทของสังคมที่ผู้เสียภาษีอาศัยอยู่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อแนวโน้มการเลี่ยงการจ่ายภาษี โดยผลการศึกษาเชิงประจักษ์ของ Hasegawa, Hoopes, Ishida, & Slemrod (2013) พบว่า ผู้เสียภาษีที่อาศัยอยู่ในสังคมที่มีเพื่อนบ้านและผู้คนแวดล้อมที่ชอบเลี่ยงภาษีก็มีแนวโน้มที่จะเลี่ยงภาษีมากกว่าในสังคมที่มีผู้คนแวดล้อมที่ชำระภาษีตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ผู้เสียภาษีที่อาศัยอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างสูง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านชนชั้น หรือสีผิว มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีมากกว่าสังคมที่มีความแตกต่างต่ำ ในขณะเดียวกัน ผู้เสียภาษีที่อาศัยอยู่ในสังคมที่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลสูง หรือมีความชื่นชอบรัฐบาลโดยรวม ก็มีแนวโน้มที่จะชำระภาษีอย่างถูกต้องเต็มรูปแบบมากกว่าในสังคมที่มีทัศนคติต่อรัฐบาลเป็นลบและขาดความเชื่อมั่น
4.3 กลุ่มประชากร
ผลการศึกษาของ Clotfelter (1983) และ Friedland, Maital, & Rutenberg (1978) พบว่าผู้เสียภาษีที่มีอายุน้อยในวัยเริ่มทำงานมีแนวโน้มที่จะเลี่ยงภาษีมากกว่าผู้เสียภาษีที่ได้มีการทำงานมานานและมีอายุที่เยอะกว่า นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่า ผู้เสียภาษีเพศชายที่โสดและมีอาชีพอิสระ มีแนวโน้มที่จะเลี่ยงภาษีมากขึ้น
นอกจากปัจจัยที่ได้กล่าวมาแล้ว ความเป็นปัจเจกบุคคลต่างๆก็อาจส่งผลต่อแนวโน้มในการชำระภาษีให้ครบถ้วนหรือหลีกเลี่ยงภาษีได้ อาทิ ผู้เสียภาษีที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือมีความรักชาติ มักจะมีแนวโน้มที่จะชำระภาษีมากกว่าผู้เสียภาษีที่ไม่ได้มีคุณสมบัติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเชิงประจักษ์นั้นค่อนข้างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการวิเคราะห์ดังกล่าวอาจไม่สามารถใช้แบบจำลองที่เป็น Generalization model หรือ One size fits all จากการกำหนดรูปแบบพฤติกรรมแบบ representative agent ได้เนื่องจากความเป็นปัจเจกบุคคลที่แตกต่างกันของผู้เสียภาษีแต่ละบุคคล
5. คุณลักษณะของบริษัท (Firm-specific characteristics)
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มการชำระภาษีเงินได้ทั่วไป นอกจากปัจจัยที่ได้กล่าวมาแล้ว ในบริบทของการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล คุณลักษณะเฉพาะของบริษัทก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สามารถนำมาอธิบายแนวโน้มที่บริษัทจะชำระภาษีเงินได้ หรือหลบเลี่ยงภาษีได้ โดยในส่วนนี้ จะขอกล่าวถึงผลการศึกษาเชิงวิชาการที่พิจารณาจากคุณลักษณะของบริษัทได้แก่ 1) ขนาด 2) ข้อจำกัดทางการเงิน 3) อำนาจผูกขาดทางการตลาด และ 4) หลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ว่าคุณลักษณะดังกล่าวจะส่งผลต่อแนวโน้มที่บริษัทจะตัดสินใจชำระภาษี หรือหลีกเลี่ยงภาษีอย่างไร
5.1 ขนาดของบริษัท (Size)
งานศึกษาทางวิชาการในส่วนของทฤษฎีที่นำมาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างขนาดบริษัท และการปฏิบัติตามการจ่ายภาษีเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจมายาวนานกว่า 40 ปี โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ทฤษฎีหลัก (ที่มีความขัดแย้งกัน) ได้แก่ 1) ทฤษฏีอำนาจทางการเมือง (Political Power Theory) ของ Siegfried (1972) กล่าวไว้ว่าเมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะมีอำนาจในการต่อรองและสร้างความสัมพันธ์กับนักการเมือง กระบวนการทางการเมือง และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการเอื้อให้บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้มากขึ้น 2) ทฤษฎีต้นทุนทางการเมือง (Political Cost Theory) ของ Watt & Zimmerman (1978) นั้นกลับมองว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่ จะเป็นที่สนใจและถูกจับตามองโดยภาคการเมืองและภาครัฐอย่างใกล้ชิดมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก จึงมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาษีได้ยากกว่า ทั้งนี้ ผลจากการศึกษาเชิงประจักษ์ของ Belz, Hagen, and Steffens, 2018 พบว่าทั้ง 2 ทฤษฏีสามารถอธิบายความสัมพันธ์ได้ แต่ขึ้นอยู่กับบริบทของปัจจัยแวดล้อมด้านการเมือง สังคม และการกำกับดูแลของภาครัฐเป็นสำคัญ แต่ทฤษฎีต้นทุนทางการเมืองนั้นสามารถอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าวโดยรวมได้ค่อนข้างดีกว่า
5.2 ข้อจำกัดทางการเงิน (Firm’s Financial Constraint)
บริษัทที่มีข้อจำกัดทางการเงิน และสภาพคล่องมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงและหนีภาษีมากกว่าบริษัทที่มีข้อจำกัดทางการเงินต่ำ ซึ่งมาจากสองสาเหตุหลัก ได้แก่ 1) บริษัทที่มีข้อจำกัดทางการเงินมากจะมีต้นทุนในการเพิ่มทุนจากแหล่งเงินทุนภายนอก (External Financing) ที่สูง ดังนั้น การเพิ่มทุนจากแหล่งเงินทุนภายใน (Internal Financing) ที่มีช่องทางมาจากการหลบเลี่ยงภาษีจึงเป็นทางเลือกที่บริษัทเหล่านี้นิยมเลือกใช้ และ 2) บริษัทที่มีข้อจำกัดทางการเงินเหล่านี้มักอยู่ในประเทศที่มีการพัฒนาของตลาดทุนอยู่ในระดับต่ำ มีความหละหลวมในด้านการกำกับดูแล ขาดความโปร่งใส ซึ่งอาจทำให้ง่ายต่อการหลีกเลี่ยงและหนีภาษี
5.3 อำนาจการผูกขาดทางการตลาด (Market/Monopoly Power)
ผลการศึกษาของ Li (2010) และ Kubick, Lynch, Mayberry & Omer (2015) พบว่าอำนาจการผูกขาดทางการตลาดของบริษัทนั้น ส่งผลต่อการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม บทสรุปของความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ยังมีข้อขัดแย้งกัน แนวคิดที่ 1 มองว่าบริษัทที่มีอำนาจทางการตลาดที่ผูกขาดย่อมทำให้บริษัทมีผลกำไรที่ดี มีทรัพยากรที่ล้นเหลือ สามารถหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวางแผนภาษีมาช่วยลดภาระภาษีได้ และการที่บริษัทมีอำนาจผูกขาด มีอำนาจต่อรองมาก ทำให้บริษัทดังกล่าวสามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงแรงกดดันจากคู่แข่งมากนัก ดังนั้น บริษัทที่มีอำนาจผูกขาดมักจะมีแนวโน้มที่จะเลี่ยงภาษีเพิ่มมากขึ้น แนวคิดที่ 2 มองว่าการที่บริษัทนั้นมีอำนาจผูกขาดในอุตสาหกรรม มักจะเป็นที่เพ่งเล็งจากภาครัฐและจากประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อบริษัทจะต้องทำการชำระภาษีซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้บริษัทที่มีอำนาจผูกขาดทางการตลาดมักมีความระแวดระวัง ในการชำระภาษีให้ครบถ้วน กล่าวคือ บริษัทที่มีอำนาจผูกขาดทางการตลาดจะชำระภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า ทั้งนี้ ผลการศึกษาเชิงประจักษ์ค่อนข้างจะบ่งชี้ว่าแนวคิดที่ 1 อธิบายผลลัพธ์ได้แม่นยำกว่า
5.4 บรรษัทธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility and Governance)
ความสัมพันธ์ระหว่างหลักธรรมาภิบาล (Governance) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) และการหลีกเลี่ยงภาษี เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจ เพราะนอกจากองค์กรจะมีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลกำไรให้ได้มากที่สุดแล้ว ก็ยังต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ต่อสังคมและการมีหลักธรรมาภิบาลที่ดีด้วย โดยผลการศึกษาในประเด็นนี้รวบรวมโดย Stephenson & Vracheva (2015) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ทฤษฎีหลัก (ที่ขัดแย้งกัน) ได้แก่ ทฤษฎีวัฒนธรรมขององค์กร (Corporate Culture Theory) ซึ่งเป็นมุมมองจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัท ที่มองว่าการชำระภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นหน้าที่ของบริษัทที่จำเป็นต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ก็มองว่าการหลีกเลี่ยงภาษีนั้นส่งผลลบต่อสังคม ประเทศชาติ และเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี ดังนั้น ในมุมมองนี้ บริษัทที่มีหลักธรรมาภิบาลที่ดีและภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมก็มักจะชำระภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทฤษฎีกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง (Risk-management Strategy Theory) เป็นมุมมองจากผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งให้ความสำคัญกับผลตอบแทนเชิงกำไรทางการเงินมากกว่า และมีความเห็นว่าการสร้างภาพพจน์ให้องค์กรดูดีนั้น เป็นต้นทุนของบริษัท ซึ่งสามารถนำไปหักจากค่าใช้จ่ายเพื่อชำระภาษีได้ กล่าวคือ เมื่อได้มีการลงทุนในการสร้างภาพจน์ที่ดีแล้ว ก็สามารถใช้ภาพพจน์ที่ดีนั้นลดการจ่ายภาษีได้ นอกจากนี้ ในบางประเทศ การที่บริษัทมีการจัดทำประโยชน์ให้กับสังคมแล้ว ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งภายใต้ทฤษฎีนี้ บริษัทที่มีการทำกิจกรรมเชิง CSR มากอาจจะมีการหลีกเลี่ยงภาษีมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ผลการศึกษาเชิงรวมในด้านความสัมพันธ์นี้จากทั้ง 2 หลักทฤษฎีพบว่าทฤษฎีวัฒนธรรมขององค์กรสามารถอธิบายความสัมพันธ์ต่อการหลีกเลี่ยงภาษีได้ดีกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานและปัจจัยอื่นๆ ของบริษัทด้วย
6. บทสรุป
ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีนั้นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งในแง่รายได้ของภาครัฐ โครงสร้างความเป็นธรรมของระบบเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาระดับโลกที่หน่วยงานภาครัฐต้องแก้ไขจัดการ ซึ่งการออกแบบนโยบายภาษีเพื่อการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติตามได้ถูกต้องตามภาระที่แท้จริงนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดังนั้น ความเข้าใจในปัจจัยและคุณลักษณะที่จะส่งผลให้บุคคลและนิติบุคคลมีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงภาษี (หรือชำระภาษีอย่างถูกต้อง) จะเป็นข้อมูลสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้เพื่อการพิจารณาออกแบบนโยบายภาษีต่อไป
บรรณานุกรม
ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม. (2010). การวางแผนภาษีอากร (Tax planning)
พิเชษฐ์ โสภาพงษ์. (2017). ปัจจัยและแนวทางป้องกันการหนีภาษีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. Journal of Humanities and Social Sciences Valaya Alongkorn, 12(3).
Alm, J., Cherry, T.L., Jones, M. and McKee, M. (2010) Taxpayer information assistance services and tax reporting behavior. Journal of Economic Psychology 31(4): 577-586
Alm, J. (2018), What motivates tax compliance? Journal of Economic Surveys, 33: 353-388.
https://doi.org/10.1111/joes.12272
Alm, J., McClelland, G.H. and Schulze, W.D. (1999) Changing the social norm of tax compliance by voting. Kyklos 52(2): 141-171.
Allingham, M.G. and Sandmo, A. (1972), Income tax evasion: A theoretical analysis, Journal of Public Economics 1(3-4): 323-338.
Beck, P.J., Davis, J.S. and Jung, W-O. (1991) Experimental evidence on taxpayer reporting behavior. The Accounting Review 66(3): 535-558
Belz, T., von Hagen, D., & Steffens, C. (2019). Taxes and firm size: Political cost or political power? Journal of Accounting Literature, 42, 1-28.
Clotfelter, C.T. (1983), Tax evasion and tax rates: An analysis of individual returns. The Review of Economics and Statistics 65(3): 363-373
Fortin, B., Lacroix, G. and Villeval, M.-C. (2007) Tax evasion and social interactions. Journal of Public Economics 91(11-12): 1-19
Friedland, N., Maital, S. and Rutenberg, A. (1978) A simulation study of income tax evasion. Journal of Public Economics 10(1): 107-116
Hasegawa, M., Hoopes, J.L., Ishida, R. and Slemrod, J. (2013) The effect of public disclosure on reported taxable income: Evidence from individuals and corporations in Japan. National Tax Journal 66(3): 571-608
Kubick, T. R., Lynch, D. P., Mayberry, M. A., & Omer, T. C. (2015). Product market power and tax avoidance: Market leaders, mimicking strategies, and stock returns. The Accounting Review, 90(2),
Li, X. (2010). The impacts of product market competition on the quantity and quality of voluntary disclosures. Review of Accounting Studies, 15(3), 663-711.
Siegfried, J. J. (1972). The relationship between economic structure and the effect of political influence: Empirical evidence from the federal corporation income tax program. The University of Wisconsin-Madison.
Stephenson, D., & Vracheva, V. (2015). Corporate social responsibility and tax avoidance: A literature review and directions for future research.
Von Neumann, J., & Morgenstern, O. (1947). Theory of games and economic behavior (2nd rev. ed.). Princeton University Press. Watts, R. L., & Zimmerman, J. L. (1978). Towards a positive theory of the determination of accounting standards. Accounting review, 112-134.
นายศศิน พริ้งพงษ์
เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ผู้เขียน