บทความโดย
ชานน ลิมป์ประสิทธิพร
บทนำ
ทุเรียนเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่สำคัญในตลาดส่งออกไทย โดยความนิยมของทุเรียนทั่วโลกเติบโตขึ้นมากกว่า 10 เท่าภายในทศวรรษที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยส่งออก 80,000 ตันต่อปีในปี 2003 ขยายตัวก้าวกระโดดที่ 870,000 ตันในปี 2022 สาเหตุหลักมาจากประเทศจีนมีความนิยมบริโภคทุเรียนสูงมาก ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการส่งออกทุเรียนไปจีน ทั้งนี้ ทุเรียนที่สร้างโอกาสให้เกษตรกรและผู้ส่งออกไทย มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความท้าทายทั้งจากคู่แข่งและสภาพอากาศโลก ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องหาแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต
ตลาดการส่งออกและนำเข้าทุเรียนทั่วโลก
อ้างอิงจากฐานข้อมูลล่าสุดของ The Observatory of Economic Complexity (OEC) พบว่าในปี 2022 ขนาดตลาดทุเรียนสดทั่วโลก มีมูลค่าราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกหลักที่ร้อยละ 80.60 ฮ่องกงที่ร้อยละ 11.20 เวียดนามร้อยละ 7.18 มาเลเซียร้อยละ 0.89 และประเทศอื่น ๆ ร้อยละ 0.13 ตามลำดับ ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 สัดส่วนมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดทั่วโลก ณ ปี 2022
ขณะที่ทางฝั่งผู้นำเข้าทุเรียนในปี 2022 ได้แก่ ประเทศจีน นำเข้าร้อยละ 92.70 ฮ่องกง นำเข้าร้อยละ 3.64 ประเทศอื่น ๆ นำเข้าร้อยละ 2.01 ไทเป ร้อยละ 0.95 และลาว ร้อยละ 0.70 ตามลำดับ ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 สัดส่วนมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดทั่วโลก ณ ปี 2022
เนื่องจากประเทศจีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ จึงทำให้มีบทบาทในการกำกับมาตรฐานในการส่งออกอย่างมาก โดยได้กำหนดมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพ เช่น ต้องมีการทำ Phytosanitary Certificate เพื่อรับรองสุขอนามัยพืช มีการระบุประวัติการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงที่สามารถติตตามได้ และออกใบอนุญาตนำเข้าทุเรียนในจีน ซึ่งจุดนี้ถือเป็นหนึ่งในกำแพงสำคัญที่ทำให้ผู้ส่งออกรายใหม่เข้าถึงได้ยาก ทำให้ไทยได้ประโยชน์เนื่องจากผู้ส่งออกมีใบรับรองอยู่แล้ว ทั้งนี้ ช่วงสองปีที่ผ่านมา ประเทศอื่น ๆ เริ่มได้รับใบอนุญาตจากทางการจีนให้ส่งออกทุเรียนเข้าสู่จีนได้มากขึ้น
การผลิตและส่งออกทุเรียนของประเทศไทย
การผลิตทุเรียนและราคาทุเรียนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนจากข้อมูลดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาทุเรียนหมอนทองคละ (ปรับฤดูกาล) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรสหกรณ์ ขณะที่ทิศทางราคามีการขยายตัวสูงขึ้นกว่าผลผลิตโดยเปรียบเทียบ สะท้อนถึงความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ ทำให้เกษตรกรและผู้ส่งออกสามารถขายทุเรียนได้ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปี 2024 มีทิศทางราคาและผลผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2023 ซึ่งคาดว่าผลผลิตได้รับผลกระทบมาจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากเอลนีโญและด้านราคามาจากคู่แข่งที่เยอะขึ้นในตลาด ดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 ดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาทุเรียนหมอนทองคละ (ปรับฤดูกาล) รายไตรมาส ตั้งแต่ปี 2005 – 2024
ภาพรวมการส่งออกทุเรียนสดของไทย 4 เดือนแรก ปี 2024 มีมูลค่ารวมที่ 1,134.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -36.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกทุเรียนแช่เย็นจนแข็งของไทย 4 เดือนแรก ปี 2024 มีมูลค่ารวมที่ 96.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ผลิตภัณฑ์ทุเรียนสดและแช่เย็นจนแข็งมีมูลค่ารวม 1,231.07 และคิดเป็นร้อยละ 65.65 ของสินค้าส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ทั้งหมดที่ส่งออกจากไทย โดยสินค้าทุเรียนส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศจีน
สำหรับภาพใหญ่ของตลาดทุเรียนไทยตลอดระยะเวลา 20 ปี พบว่ามูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกส่วนใหญ่มาจากทุเรียนสด ขณะที่ทุเรียนแช่เย็นจนแข็งมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย สาเหตุหลักมาจากที่การส่งออกไปยังประเทศจีนมีระยะทางไม่ไกล ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งทุเรียนไปในรูปแบบแช่เย็นเพื่อยืดระยะการขนส่งและกระจายสินค้า นอกจากนี้ สัดส่วนมูลค่าการส่งออกทุเรียนต่อการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (ผลไม้ทั้งหมดที่ส่งออกจากประเทศไทย) มีสัดส่วนสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน จากเดิมอยู่ในช่วงร้อยละ 20 ในปี 2003 ปรับมามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 68.9 ในปี 2023 ดังภาพที่ 4
ภาพที่ 4 มูลค่าการส่งออกทุเรียนสดและแช่เย็นจนแข็งเปรียบเทียบกับสัดส่วนการส่งออกทุเรียนต่อผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รายปี ตั้งแต่ปี 2003 – 2024 (4 เดือนแรก)
โอกาสในตลาดทุเรียนไทย
ทุเรียนไทยถือเป็นเจ้าตลาดในการส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งผู้นำเข้าได้ตระหนักถึงคุณภาพและคุ้นเคยกับทุเรียนไทยอยู่แล้ว ไทยจึงมีโอกาสดีมากในการเพิ่มมูลค่าทุเรียนโดยการนำเสนอสินค้าทุเรียนแปรรูปให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงนำเสนอทุเรียนสายพันธุ์เฉพาะถิ่นสู่ตลาดส่งออกมากขึ้น ด้วยชื่อเสียงและขนาดตลาดที่มีอยู่ในปัจจุบัน โอกาสที่จะทดลองสินค้าใหม่และเปิดใจรับมีสูงกว่าคู่แข่งที่กำลังต้องเร่งสร้างฐานลูกค้าอยู่มาก
การสร้างตลาดใหม่ถือเป็นอีกโอกาสสำคัญของไทย โดยเฉพาะในตลาดที่มีระยะทางในการส่งออกไม่ไกลมาก เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งการขยายสู่ตลาดใหม่ต้องใช้ความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการประชาสัมพันธ์และดึงดูดให้ชาวต่างชาติเปิดใจลองทุเรียน ในจุดนี้การประยุกต์ใช้ Soft power ผ่านสื่อบันเทิง เช่น ละครและเพลงอย่างที่เกาหลีใต้ได้ทำในการนำเสนอโซจูอาจเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยตัวอย่างที่ชัดเจนคือช่วงที่ MILLI สร้างปรากฏการณ์ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ให้ไทยในงาน Coachella ปี 2022
ด้านการผลิต ไทยยังมีโอกาสในการสร้างสายพันธุ์ทุเรียนใหม่ โดยมุ่งเน้นลักษณะทุเรียนท้องถิ่นกับทุเรียนที่เป็นที่นิยมในการส่งออกเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนการปลูกให้เกษตรกร ทนแล้งให้มากขึ้น รวมถึงออกผลผลิตสูงขึ้นกว่าพันธุ์เดิมที่เป็นอยู่ ควรมีการลงทุนวิจัยเมล็ดพันธุ์ สร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและเกษตรกรเพื่อให้ความรู้ใหม่และรักษาองค์ความรู้เดิมไม่ให้สูญหายไป
ความเสี่ยงในตลาดทุเรียนไทย
ความเสี่ยงสำคัญในการส่งออกทุเรียนมาจากการพึ่งพาตลาดจากประเทศจีนอย่างมาก เนื่องจากสัดส่วนการนำเข้าทุเรียนกว่าร้อยละ 90 ของโลกมาจากประเทศจีน หากอุปสงค์การบริโภคของจีนมีการเปลี่ยนไปในทิศทางที่ลดลง หรือจีนสามารถผลิตเพื่อบริโภคในประเทศได้บางส่วนจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกทุเรียนโดยรวมของไทยให้ลดลงได้ ขณะที่การหาตลาดใหม่ในภาพรวมของโลกยังเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะทุเรียนถือเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม มีราคาแพง และไม่เป็นที่นิยมเท่ากับผลไม้เขตร้อน (Tropical Fruit) ชนิดอื่น เช่น กล้วย สับปะรด มะม่วง และอโวคาโด
นอกจากนี้ ตลาดทุเรียนเป็นตลาดสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง จึงทำให้หลายประเทศเริ่มสนใจและเข้ามามีบทบาทในการส่งออกทุเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่มีภูมิประเทศเหมาะสมในการปลูกทุเรียน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะเวียดนามที่ได้เปรียบในเรื่องผลผลิตที่มักออกสู่ตลาดในไตรมาสที่ 1 ทุกปี ทำให้ในระยะต่อไปจากนี้ อุปทานทุเรียนจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอาจส่งผลต่อราคาทุเรียนให้ลดลงอย่างมากได้ เกิดการแย่งส่วนแบ่งตลาดในการส่งออกทุเรียน ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือเกิดการผลิตที่ล้นตลาด (Oversupply) กดราคาต่ำกว่าต้นทุนการปลูกทุเรียนที่สูง ส่งผลต่อเนื่องทำให้รายได้เกษตรกรลดลงและความสามารถในการชำระหนี้สินของเกษตรกรอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกผลไม้โดยรวมของประเทศไทยด้วย
ผลกระทบจากโลกร้อนก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญ โดยเอลนีโญที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝนน้อยและน้ำแล้ง โดยปกติทุเรียนจะสามารถทนทานต่ออุณหภูมิร้อนได้สูงถึง 46 องศาเซลเซียส แต่ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้นและน้ำที่น้อยลงในเขื่อน ทำให้ต้นทุเรียนออกลูกน้อย ไม่ออกลูก รวมถึงบางกลุ่มมีการตายทั้งกิ่งหรือยืนตายต้น ทำให้เกษตรกรไม่มีผลผลิตเพียงพอ แม้ตลาดจะให้ราคาทุเรียนสูง
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
ทุเรียนไทยยังคงแข็งแกร่งในเวลาที่ตลาดส่งออกโลก แม้ว่ายังมีโอกาสในการพัฒนาการส่งออกทุเรียนหลายด้าน แต่ต้องจับตาความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยเฉพาะความเสี่ยงจากคู่แข่งจากประเทศในอาเซียนที่พยายามจะแข่งขันแย่งส่วนแบ่งตลาดทุเรียนจากประเทศจีน
นอกจากนี้ ประเทศไทยควรถอดบทเรียนที่เคยผิดพลาดในการสูญเสียส่วนแบ่งการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรสำคัญในอดีต เช่น ข้าวและยางพารา เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดและการสูญเสียตลาดให้กับประเทศอื่น ซึ่งการรักษาสัดส่วนการส่งออกเป็นความจำเป็นอันดับแรกที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน
สุดท้ายนี้ การพัฒนาทุเรียนไทยให้ยั่งยืนต้องดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ สร้างความเข้มแข็งและยืดหยุ่นให้แก่เกษตรกรผู้ผลิต เช่น การผลักดัน พ.ร.บ. ทุเรียนไทย ฉบับต่าง ๆ ที่พยายามกำกับดูแลทุเรียนอย่างครบวงจร และสามารถเยียวยาเกษตรกรได้ในยามที่เกิดภัยธรรมชาติ ต้องมีการรักษาผลประโยชน์การส่งออกให้เกิดกับผู้ส่งออกและผู้ผลิตไทยอย่างแท้จริง รวมถึงต้องรักษาชื่อเสียงและคุณภาพของทุเรียนไทยเพื่อให้ทุเรียนไทยอยู่ในระดับเวทีโลกอย่างยั่งยืน
นายชานน ลิมป์ประสิทธิพร
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน