ภาพรวมของงานศึกษา “แผนที่การเงินครัวเรือนไทย: เข็มทิศการพัฒนาทักษะทางการเงิน”

ภาพรวมของงานศึกษา “แผนที่การเงินครัวเรือนไทย: เข็มทิศการพัฒนาทักษะทางการเงิน”

บทความโดย
ดร.นรพัชร์  อัศววัลลภ
นางสาวเบญญาภา  สุขีนุ
ดร.กวิน  เอี่ยมตระกูล
นายสัณหณัฐ  เศรษฐศักดาศิริ
นายอิทธิพัฒน์  ประภาประเสริฐ

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จัดงานสัมมนา Fis and Fin Forum 2023 ณ ห้องอินฟินิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนายกฤษฎา  จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดงาน จากนั้นเป็นการนำเสนองานศึกษาของ สศค. เรื่อง “แผนที่การเงินครัวเรือนไทย: เข็มทิศการพัฒนาทักษะทางการเงิน” ในภาคเช้าของงาน และมีการเสวนาในภาคบ่ายภายใต้หัวข้อ “ถอดรหัสแผนที่การเงินครัวเรือนไทย สร้าง Financial Well-being” เพื่อนำผลการศึกษาในภาคเช้ามาใช้ประโยชน์และเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อขยายผลให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีเนื้อหาโดยสรุปทั้งในภาคเช้าและภาคบ่าย ดังนี้

เกริ่นนำ

ทักษะทางการเงินเป็นทักษะชีวิต (Life Skills) ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนและมีความสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการ โดยเฉพาะการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีเงินออมเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณ ประชาชนจำนวนมากยังมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวังและมีการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายครัวเรือนมีปัญหารายรับไม่พอรายจ่าย และมีความเปราะบางทางการเงินสูง การชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ยังมีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้ประโยชน์หรือป้องกันตนเองจากภัยที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินดังกล่าวได้ ดังนั้น การพัฒนาความรู้ และทักษะทางการเงินจึงถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยจัดการกับปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่ระดับรากฐานของปัญหา เพื่อให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการและวางแผนทางการเงินให้ตัวเองและครอบครัว ให้มีระดับหนี้ที่เหมาะสม มีเงินออมอย่างเพียงพอไปตลอดช่วงชีวิต เข้าถึงแหล่งข้อมูลทางการเงินที่เชื่อถือได้ และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินและความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินให้กับประชาชนได้ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 (แผนปฏิบัติการฯ) ขึ้น
เพื่อเป็นกรอบนโยบายและกลไกบูรณาการการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินของประเทศไทยโดยมีคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงินที่ประกอบด้วยหน่วยงานจากหลายภาคส่วนของประเทศ เช่น หน่วยงานจากภาคการเงิน ภาคการศึกษา ภาคการพัฒนาสังคม เป็นต้น ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการซึ่งการพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับประชาชนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญด้านการสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของ สศค.

แผนปฏิบัติการฯ เป็นแผนที่มุ่งหมายให้ “คนไทยมีความตระหนักรู้ ความรู้ และทักษะในการบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและมีวินัยทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับตนเองและครอบครัว” โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดให้มีการบูรณาการระบบข้อมูลในประเทศและการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อช่วยวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและตอบโจทย์การส่งเสริมทักษะทางการเงินของประชาชนแต่ละกลุ่มให้ตรงจุดยิ่งขึ้น และนำไปสู่สุขภาวะทางการเงินที่ดี (Financial Well-being) หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุมประชาชนไทยทุกคนในทุกช่วงวัย และได้ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างเร่งด่วนเนื่องจากความรุนแรงของสภาพปัญหา ได้แก่ กลุ่มผู้มีความเปราะบางทางการเงินสูงประกอบด้วยผู้ประสบปัญหาภาวะหนี้รุนแรงและยากจน รวมถึงผู้พิการ กลุ่มประชาชนระดับฐานราก กลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งความท้าทายคือการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากทรัพยากรของหน่วยงานภาครัฐมีอยู่จำกัด การที่จะเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีกลุ่มเป้าหมายจึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูล เพื่อบ่งชี้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนที่มีอยู่เพื่อให้การส่งเสริมการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ เป็นไป
อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

วิธีการศึกษา

สศค. จึงได้พัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลังและการเงินเชิงพื้นที่ เช่น การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิตด้วยวิธี Data Envelopment Analysis (DEA) การจัดทำความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจรายจังหวัด รวมถึงได้พัฒนาเครื่องชี้เศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถวิเคราะห์ลงลึกถึงระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ครัวเรือน (Household Data) และตัวบุคคล (Personal Data) เช่น ดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Spatial Economic Fundamental Index: SEFI) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การออกแบบนโยบายสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดของแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยมีการใช้ฐานข้อมูลที่เต็มศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ฐานข้อมูลดาวเทียม ฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ และฐานข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ของหน่วยงานต่าง ๆ

การศึกษานี้จึงเป็นการนำเสนอเครื่องมือในการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนนโยบายและการดำเนินการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในแผนปฏิบัติการฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้การดำเนินการในระดับพื้นที่ โดยได้เลือกใช้ชุดข้อมูลและรูปแบบการวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดคล้องกับเป้าหมายวัตถุประสงค์ และรูปแบบการดำเนินการของแผนปฏิบัติการฯ และยังสามารถนำเครื่องมือการวิเคราะห์ดังกล่าวไปปรับใช้กับการจัดทำนโยบายด้านการคลังและการเงินอื่น ๆ ได้อีกด้วย

การศึกษาประกอบด้วย 2 ส่วน โดยส่วนแรกของการศึกษาเป็นการสร้างฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงิน โดยการศึกษาระดับทักษะทางการเงินเชิงพื้นที่และจัดทำดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางการเงิน (Spatial Financial Fundamental Index: SFFI) ด้วยการจัดทำดัชนีผสม (Composite Index) จากข้อมูลทางการเงินระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด รวมทั้งสิ้น 56 รายการ จากแหล่งข้อมูล 16 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสะท้อนระดับการบริหารจัดการทางการเงิน การออมและการลงทุน และการเข้าถึงบริการทางการเงินในมิติต่าง ๆ เชิงพื้นที่ จากนั้น ผลงานวิชาการจะนำเสนอการระบุตำแหน่งกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างเร่งด่วนในพื้นที่ต่าง ๆ และนำผลจากการคำนวณดัชนี SFFI และความหนาแน่นของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ รวมทั้งวิเคราะห์แบบกลุ่ม (Cluster Analysis) ซึ่งจะทำให้ทราบตำแหน่งและสภาพปัจจัยพื้นฐานทางการเงิน
ของกลุ่มเป้าหมายของพื้นที่หนึ่งว่ามีลักษณะเกาะกลุ่มกับพื้นที่ใกล้เคียงหรือไม่ อย่างไร เปรียบเสมือนการสร้างแผนที่ทางการเงินของครัวเรือนไทย

สำหรับส่วนที่สองจะเป็นการนำเสนอแบบจำลองการวิเคราะห์สุขภาวะทางการเงิน โดยนำเสนอปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการมีสุขภาวะทางการเงินที่ดีของประชาชนนอกเหนือไปจากระดับคะแนนทักษะทางการเงินที่สูงขึ้น ซึ่งแสดงด้วยดัชนีรวมสุขภาวะทางการเงินที่ถูกออกแบบให้ครอบคลุมตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่คาดหวังตามแผนปฏิบัติการฯ ไม่ว่าจะเป็นคะแนนทักษะทางการเงิน อัตราส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้ อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ อัตราส่วนเงินออมต่อครัวเรือน และความหลากหลายทางการออม ดังนั้น ผลการศึกษาจึงทำให้สามารถระบุได้ทั้งพื้นที่ที่ควรให้ความช่วยเหลือ และปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ควรได้รับการพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นเข็มทิศในการออกแบบนโยบายและนำการพัฒนาทักษะทางการเงินไปสู่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

จากการวิเคราะห์สุขภาวะทางการเงินและปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่ข้างต้น ทำให้ผลงานวิชาการนี้สามารถนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในการออกแบบการดำเนินการหรือโครงการพัฒนาทักษะทางการเงินโดยจัดลำดับความสำคัญเชิงพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ของแผนปฏิบัติการฯ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนไทยมีระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่สุขภาวะทางการเงินที่ดี หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงต่อไป

ผลการศึกษา

จากการประมวลผลดัชนี SFFI บ่งชี้ว่าอำเภอ/เขตในจังหวัดพื้นที่ภาคกลางของประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมถึงเขตหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญมีความพร้อมทางปัจจัยพื้นฐานทางการเงินสูง ขณะที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน มีความพร้อมที่ต่ำกว่า ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับผลการสำรวจระดับทักษะทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และเมื่อพิจารณาร่วมกับกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะทางการเงินตามแผนปฏิบัติการฯ อย่างเร่งด่วนแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่กระจุกตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน ส่วนพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญ มีกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวนเบาบาง ซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่มีระดับทักษะทางการเงิน และระดับความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางการเงิน (ดัชนี SFFI) ที่สูง ทำให้สามารถเห็นถึงสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ที่มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน อันจะนำมาซึ่งการส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะทางการเงินที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  สำหรับการส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะทางการเงินที่ดีนั้น จากการวิเคราะห์แบบจำลองถดถอยเชิงพื้นที่ในส่วนที่สองของการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาวะทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ สัดส่วนผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการพัฒนาตนเอง อัตราประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจน ดัชนีความไม่เสมอภาคด้านรายได้ สัดส่วนประชากรที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษา สัดส่วนประชากรที่ทำงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ สุขภาวะทางการเงินของอำเภอโดยรอบ โดยเฉพาะดัชนี SFFI ซึ่งมีผลกระทบเชิงบวกกับสุขภาวะทางการเงิน ดังนั้น การพัฒนาระดับความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางการเงินรวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมข้างต้นจึงมีส่วนช่วยให้สุขภาวะทางการเงินสูงขึ้น

  เมื่อเชื่อมโยงผลการศึกษาทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน ส่งผลให้สามารถจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของพื้นที่ต่าง ๆ ได้ กล่าวคือ พื้นที่เป้าหมายเร่งด่วน (First Priority) เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายอยู่มากและมีสุขภาวะทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางส่วนของภาคเหนือ และภาคใต้ตอนล่าง เช่น ศรีสะเกษ (18 อำเภอ) อุบลราชธานี (15 อำเภอ) สุรินทร์ (14 อำเภอ) ชัยภูมิ (11 อำเภอ) นราธิวาส (10 อำเภอ) แม่ฮ่องสอน (4 อำเภอ) เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ

  การดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อันนำไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับโครงสร้างที่จะช่วยสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนได้นั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการในหลายมิติและหลายองค์ประกอบร่วมกัน ทั้งด้านการเงิน เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา รวมทั้งการเข้าถึงบริการและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการการดำเนินงานของหลายภาคส่วน ดังนั้น
เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินในระดับพื้นที่ของแต่ละหน่วยงานซึ่งมีพันธกิจหลัก ขีดความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรที่แตกต่างกันไป เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หน่วยงานผู้ดำเนินการพัฒนาทักษะ
ทางการเงินในระดับพื้นที่สามารถใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์การเงินเชิงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการกระจายตัวของกลุ่มเป้าหมาย ระดับทักษะทางการเงิน ดัชนี SFFI และการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะทางการเงินที่ดี ที่ได้นำเสนอในผลการวิจัยนี้ เป็นแผนที่และเข็มทิศนำทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะทางการเงินและปัจจัยพื้นฐานทางการเงินของประชาชนแบบองค์รวม โดยจัดลำดับความสำคัญเชิงพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมายและออกแบบมาตรการหรือโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการความจำเป็นเร่งด่วนหรือความรุนแรงของสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ และสอดคล้องกับองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และช่องทางในการเข้าถึงประชาชนของแต่ละหน่วยงานเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มความทั่วถึงของการดำเนินการ

  ทั้งนี้ การวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางในการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจและสังคมที่จะสนับสนุนระบบนิเวศด้านข้อมูลเชิงนโยบายและเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กับการพัฒนาทักษะทางการเงินและสุขภาวะทางการเงินที่ดีของประชาชนและนโยบายด้านต่าง ๆ ของภาครัฐด้วย

  • ความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ

ในภาคบ่ายของงานสัมมนา Fis and Fin Forum 2023 สศค. ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้ความเห็นภายใต้หัวข้อ “ถอดรหัสแผนที่การเงินครัวเรือนไทย สร้าง Financial Well-being” ได้แก่ 1) ดร. พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 2) นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3) รศ. ดร. พรอนงค์  บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4) นายวิทัย  รัตนากร ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และ 5) นายผยง  ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เข้าร่วมการเสวนา โดยมีนายวารินทร์  สัจเดว เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเป็นการให้ความเห็นต่อยอดในเชิงนโยบายจากการนำเสนอผลงานในภาคเช้า โดยสรุป ดังนี้

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า สศค. ได้พัฒนางานศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับ Micro Fiscal Policy เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินนโยบายของภาครัฐภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด ซึ่งจะสนับสนุนการออกแบบนโยบายแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้อย่างเหมาะสม โดยหากพิจารณาจากหลักการทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ว่าจะส่งผลให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นเท่าใด หรือที่เรียกว่า Marginal Propensity to Consume (MPC) พบว่า การสนับสนุนงบประมาณให้แก่กลุ่มเปราะบางจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และดัชนี Spatial Financial Fundamental Index (SFFI) เป็นข้อมูลบ่งชี้ถึงระดับปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่ของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ออกนโยบายสามารถจำแนกกลุ่มประชากรที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนที่แตกต่างกันตามพื้นที่ได้ ทั้งนี้ การเพิ่มทักษะทางการเงินเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะทางการเงินที่ดีสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนมีการออมเงินเพิ่มมากขึ้น โดยควรมีแนวคิดว่าจะบริหารจัดการทางการเงินอย่างไรให้สามารถใช้จ่ายได้อย่างพอเพียง หรือ “อิ่ม” หลังจากนั้นยังมีเงินเหลือเก็บหรือ “ออม” เพื่อที่จะมีเงินเพียงพอให้ “อุ่น” ใจในยามเกษียณอายุ หรือเรียกว่าแนวทาง “อิ่ม ออม อุ่น”

นายดนุชา  พิชยนันท์ กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการจัดทำระบบ Thai People Map and Analytics Platform (TPMAP) ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลความยากจนของครัวเรือนไทยเชิงพื้นที่สอดคล้องกับการจัดทำดัชนี SFFI ของ สศค. อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ปัญหาในภาคการเงินของประชาชนจากการเป็นหนี้เร็วและนาน อาจอาศัยการปรับทัศนคติในการใช้จ่ายของประชาชน และสนับสนุนให้เกิดการออมเพิ่มมากขึ้น โดยประชาชนควรได้รับการดูแลภายใต้โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) อย่างน้อย 1 โครงข่าย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน

รศ. ดร. พรอนงค์  บุษราตระกูล ให้ความเห็นว่าดัชนี SFFI ของ สศค. ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบได้แก่ การบริหารจัดการทางการเงิน การออมและการลงทุน และการเข้าถึงบริการทางการเงิน เมื่อพิจารณาจากผลการศึกษาพบว่า องค์ประกอบด้านการออมและการลงทุน มีปัญหาความแตกต่างเชิงพื้นที่มากที่สุด ในขณะที่การเข้าถึงบริการทางการเงินมีความแตกต่างเชิงพื้นที่ไม่มากนักโดยเปรียบเทียบ ดังนั้น การดำเนินนโยบายจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องของการส่งเสริมการออมและการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้ ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า หาก สศค. สามารถบูรณาการชุดข้อมูลที่มีอยู่กับข้อมูลสุขภาวะของประชาชนในด้านอื่นๆ เช่น ด้านสาธารณสุข เป็นต้น ก็จะทำให้สามารถชี้วัดระดับสุขภาวะเชิงพื้นที่ของประชาชนที่มีมิติหลากหลายครบถ้วนยิ่งขึ้น

นายวิทัย  รัตนากร กล่าวว่างานศึกษาของ สศค. เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ทราบว่าการทำงานเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ควรจะไปที่ไหน กลุ่มเป้าหมายคือใคร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่ควรให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยองค์รวมที่ต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือเชิงพื้นที่มีความครอบคลุมทุกมิติโดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ปัจจัยด้านการเงินเพียงอย่างเดียว

นายผยง  ศรีวณิช กล่าวว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ (Megatrends) ที่ทุกคนต้องเผชิญในอนาคตที่จะมาถึงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นต้น ดังนั้น งานศึกษาของ สศค. จะมี
ส่วนช่วยในการช่วยให้ประชาชนสามารถที่จะเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงข้างต้น โดยได้กล่าวเสริมว่า ฐานข้อมูลของ สศค. เป็นฐานข้อมูลที่ดี หากนำมารวมกับฐานข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆ เช่น สศช. เป็นต้น ก็จะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายต่างๆ ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุป ผู้ทรงคุณวุฒิต่างเห็นว่าการร่วมกันสร้างและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่จะช่วยให้ภาครัฐสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายทั้งในเชิงพื้นที่ บุคคล และมิติอื่นๆ ได้ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้อย่างแม่นยำและประหยัดทรัพยากร ผลการศึกษาเรื่อง “แผนที่การเงินครัวเรือนไทย: เข็มทิศการพัฒนาทักษะทางการเงิน” จะเป็นส่วนสำคัญที่สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐมีความเฉพาะเจาะจง (Tailor-Made Policy) มากขึ้นได้ในอนาคต ในโอกาสถัดไป คณะผู้จัดทำการศึกษาจะได้นำรายละเอียดของการศึกษาที่น่าสนใจมานำเสนอต่อไป

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ
ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมข้อมูลเศรษฐกิจและงานวิจัย
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นางสาวเบญญาภา สุขีนุ
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายการออมและการลงทุน
ผู้เขียน

ดร.กวิน เอี่ยมตระกูล
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ
เศรษฐกรชำนาญการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน

นายอิทธิพัฒน์ ประภาประเสริฐ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
ผู้เขียน